แหล่งตัดหินสร้างประสาทของขอมโบราณในอีสานใต้

แหล่งตัดหินสร้างประสาทของขอมโบราณในอีสานใต้

มรดกอารยธรรมในอีศานใต้อย่างหนึ่งคือ ปราสาทขอมโบราณ  สาเหตุที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ไม่ดับไปก็เพราะว่า สร้างด้วยหิน ความทนทานของหิน ทำให้รูปจำหลัก และลวดลายยังคงรูปทรงไว้ อนุชนรุ่นหลังจึงได้เห็นได้ภูมิใจ และได้ศึกษาภูมิปัญญาของบรรพชน

            หินที่คนโบราณนำมาสร้างปราสาทมี 2 ชนิดที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ 1.ศิลาแลง ภาษาแขมร์เรียกว่า “ถมอ-บาย-เกรียม” แปลตรงตัวว่า “หินข้าวไหม้” คิดเล่น ๆ ดูก็เห็นจริง ศิลาแลงดูอย่างไรก็เหมือนข้าวไหม้เอามาก ๆ ยังมีหินอีกชนิดหนึ่งที่ชาวขอมโบราณนำมาสร้างปราสาท นั่นคือ 2.หินทราย หินชนิดนี้คนโบราณหาแหล่งตัดจากภูเขา อดจินจนาการไม่ได้ว่า ก่อนที่จะสร้างปราสาทขึ้นแต่ละแห่งนั้น เอาเข้าจริงคนโบราณต้องหา “แหล่งหิน” เพื่อตัดมาเป็นวัสดุก่อสร้างก่อนหรือไม่ อย่างไร

            แต่ที่พบคือ ปราสาทขอมต่าง ๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นในแผ่นดินไทย และในแผ่นดินของกัมพูชา ใกล้ ๆ กับปราสาทเหล่านั้น นักโบราณคดีจะพบ “แหล่งตัดหิน”  อย่างปราสาทในเมืองพระนครของขอมโบราณ ก็มีแหล่งตัดหินแห่งหนึ่งบนเขาใกล้ ๆ กับ “กบาลสเปียล” โบราณสถานธารศิวลึงค์ และต้นธารของแม่น้ำเสียมเรียบ

            นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า หลังจากคนโบราณตัดหินแล้ว อาจจะใช้ช้างชักลากหินลงมา แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งว่าจะเป็นส่วนสำคัญคือ ผูกแพล่องแม่น้ำลงมา

            ส่วนร่องรอยตัดหิน ไม่ว่าจะเป็นในไทยและกัมพูชา ยังปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน แม้กาลเวลาจะผ่านมานับ 1,000 ปีแล้วก็ตาม 

            ดินแดนภาคอีสานของไทย มีปราสาทขอมโบราณอยู่หลายแห่ง อาทิ ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำปราสาทหินปลายบัด และปราสาทหินพิมาย  ปราสาทแต่ละหลังนั้น จะสร้างขึ้นมาได้นอกจากมีกำลังคน กำลังทรัพย์แล้ว ยังต้องมีวัสดุสำคัญคือหิน

            ดังนั้น พื้นที่ใกล้ปราสาทหินพนมรุ้ง จึงมีนักโบราณคดีพบแหล่งตัดหินสำคัญ อย่างแหล่งตัดหินที่ “วัดป่าลานหินตัด”  ตั้งอยู่ในเขตบ้านสายตรี 3 ตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณวัดป่าลานหินตัด นักโบราณคดีพบร่องรอยของคนอาศัยอยู่มาแต่โบราณ คนที่มาอยู่อาศัยส่วนหนึ่ง อาจเป็นตัดหินไปสร้างปราสาทบริเวณใกล้เคียงด้วยก็อาจเป็นได้

             บริเวณวัดแห่งนี้ มีสถานที่เยี่ยมชมสำคัญ รวมทั้งจุดตัดหินรวมอยู่ด้วย 4 จุด

            จุดแรก เป็นรูลึกลงไปใต้หิน ปากรูแคบ ภายในรูกว้าง สันนิษฐานกันว่า เดิมสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นทะเล น้ำพัดหินเจาะเนื้อหินลึกลงไป จนกลายเป็นรูขนาดใหญ่ ถ้าคนหรือสัตว์ตกลงไป ไม่สามารถขึ้นมาด้วยตนเองได้ ลักษณะเช่นนี้ ปรากฏอยู่ในถิ่นอื่น ๆ ด้วย และสันนิษฐานว่าเกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน

            จุดที่สองคือ แหล่งน้ำซับ น้ำซับคือน้ำที่ซึมออกมาจากดิน หิน อาจจะมาจากรากไม้ หรือตาน้ำใต้ดิน บริเวณนี้อดีตเคยเป็นแหล่งน้ำซับให้ชาวบ้านมาดื่มยามกระหาย สัตว์ต่าง ๆ ได้มาดื่ม แต่ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดอธิบายว่า หลังจากป่ายูคาลิปตัสเกิดขึ้นใกล้ๆวัด น้ำซับก็อันตรธานไปเหมือนถูกมนต์สะกด ข้อสันนิษฐานของท่านน่าสนใจ และทิ้งไว้ให้พิสูจน์ทราบ

            จุดที่สาม ชาวบ้านเรียกกันว่า “รอยเสือ” ลักษณะเป็นรอยขีดบนหินทราย คนโบราณอาจจะขีดเพื่อพิสูจน์เนื้อหิน ก่อนที่จะเซาะเอาไปสร้างปราสาท หรืออื่นใดก็ตาม มองรวมๆ แล้วเหมือนรอยเสือ จึงกลายเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสนใจ และหยุดพิจารณา

            จุดที่สี่ คือลานหินตัด ปรากฏร่องรอยตัดหินเป็นริ้วยาว แต่ยังไม่ได้เซาะออกไป รอยนี้ชี้ให้เห็นว่าคนโบราณตัดหินกันอย่างไร และเป็นหลักฐานชัดเจนว่า คนโบราณนำหินจากแหล่งนี้ไปสร้างปราสาท

            คนโบราณนำหินจากแหล่งนี้ไปสร้างปราสาทอะไรบ้าง การพิสูจน์ไม่น่าจะยาก เพราะสามารถนำเนื้อหินจากแหล่งตัดนี้ไปเปรียบเทียบกับหินที่ปราสาทใกล้เคียงได้

            การนำหินออกไปจากแหล่งตัด พระอาจารย์เจ้าอาวาสอธิบายว่า น่าจะใช้แรงช้างชักลากไป เพราะบริเวณใกล้ๆวัดมีร่องลึกคู่ขนานกันไปคล้ายรางรถไฟ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรอยช้างชักลากหินออกไปใช้งาน

            แหล่งตัดหิน เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า หินซึ่งเป็นวัสดุที่นำไปสร้างปราสาทนั้น เทวดาไม่ได้เนรมิตมาให้ แต่เกิดจากหินธรรมชาติ และต้องใช้แรงงานคนตัด เซาะ และลำเลียงไปยังสถานที่ก่อสร้าง

            ยืนอยู่บนบริเวณแหล่งตัดหิน อดจินตนาการไม่ได้ว่า เมื่อราว 1,000 ปีล่วงแล้ว ผู้คนมากมายกำลังเหงื่อไหลไคลย้อย ทุ่มโถมแรงกายเพื่อตัดหินออกไปสร้างปราสาท เพื่อเนรมิตตัวแทนเขาพระสุเมรุในศาสนาพุทธ หรือเขาไกลลาศในศาสนาพราหมณ์ ผู้คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ไหนก็ตามท่านเหล่านั้นคือบรรพชนของเรา

Related Posts

คนละเรื่อง
“หมอลำหลวง” เมืองอุบลฯ
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com