โอกาสในวิกฤติ
มองในแง่บวก โควิดน่าจะเป็น “โชคดีที่มากับโชคร้าย” (blessing in disguise) หรือ “นาฬิกาปลุก” (wake-up call) ปลุกให้ตื่น ตระหนัก สำนึก ให้ลดอหังการลง อ่อนน้อมถ่อมตน และสรุปบทเรียน ปรับเปลี่ยนวิธีคิด จะได้อยู่รอด รับมือกับอะไรที่อาจร้ายแรงกว่าโควิดที่จะตามมา เพราะธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนทำให้เกิดโรคภัยไข้แจ็บและภัยพิบัติอะไรได้อีกมากและอย่างที่คาดไม่ถึง
อีกอย่างหนึ่ง โควิดทำให้เห็นว่า ระบบสังคมที่มีอยู่มีภูมิต้านทานไม่ดีพอที่จะรองรับวิกฤติแบบนี้ได้ และปัญหาไม่ใช่เรื่อง “เทคนิค” แต่เป็นเรื่อง “วิธีคิด” โดยรวมที่เรียกว่า “กระบวนทัศน์” สังคมต้องการระบบความปลอดภัยที่มาจากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยกันมากกว่านี้ ลดการทำลายธรรมชาติเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาแบบ “โตไม่หยุด” ที่ทำกันตลอดมา
เพราะการเกิดโควิด-19 นี้ แม้ว่ามีทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ว่ามาจากห้องแล็บ เป็นสงครามเชื้อโรค แต่ที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือคือพันธุกรรมข้ามมาจากสัตว์ ไม่ว่าค้างคาวหรืออื่น ๆ เพราะที่ผ่านมาก็มีไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก ที่ระบาดมาก่อนและดูเหมือนจะยังไม่หมดไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าคนยังรุกรานธรรมชาติ ทำลายดิน น้ำ ป่า ไม่ลดภาวะโลกร้อนลง ธรรมชาติจะปั่นป่วนและผิดเพี้ยนไปและส่งผลกระทบอีกมากมายต่อมนุษย์
ที่สำคัญ ระบบเศรษฐกิจไม่พร้อมที่จะรองรับวิกฤติ รัฐบาลหาวิธีเยียวยาชดเชยความเสียหายจากการลดการทำงานหรือปิดกิจการ คนตกงาน ขาดรายได้ มีแนวคิด “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” ที่เสนอกันมานานและถกเถียงกันมาหลายร้อยปี วันนี้อาจถึงเวลานำมาบูรณาการในระบบ เพื่อให้สังคมมีระบบเศรษฐกิจรองรับ ไม่ใช่เกิดวิกฤติทีก็กู้เงินทีเพื่อ “แจก” ชาวบ้าน บรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ตกหล่น ไม่ได้รับการเยียวยา และที่ได้รับก็น้อยเกินไปไม่เพียงพอ
ไม่มียุคไหนที่คนเราจะได้เรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ศัพท์แสงทางการแพทย์ หยูกยาวิธีการต่าง ๆ มากมายเท่ากับช่วงวิกฤตินี้ ที่ได้เรียนรู้มากที่สุดน่าจะเป็นข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ ของการบริหารจัดการบ้านเมือง และได้รู้ซึ้งในสัจธรรมที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
[“เสรี พพ” ~ บางส่วนจากนิตยสาร”ทางอีศาน” ฉบับ”ห่าตำปอด” ก.ย. 2564]