โฮบ-รับประทาน, ซี-กิน, จฺร็อม-แดก

การกินข้าวในครอบครัวของข้าพเจ้า
ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: อุษาคเนย์เห่กล่อม
Column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน: วีระ สุดสังข์


อาจกล่าวได้ว่าชาวเขมรในชาติพันธุ์อีศานนั้น มีอารยธรรมสูงกว่าชนเผ่าอื่น ๆ ถึงจะเป็นขะแมร์ลือ (เขมรสูง-อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์) ขะแมร์ลือก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมมาแต่โบราณ, จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ ไม่ได้แตกต่างจากขะแมร์กร็อม (เขมรล่าง-กัมพูชา) แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเขมรหรือขอมมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน แผ่อาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับพันปี คือนับแต่มนุษย์ได้รู้จักการรวมตัวเป็นหน่วยทางการเมืองของกลุ่มชน และเริ่มตั้งถิ่นฐานเกิดเป็นชุมชนบ้านเมืองที่เก่าแก่ที่สุดทางตอนเหนือของลุ่มน้ำชี

ประวัติศาสตร์บางหน้ากล่าวว่า กลุ่มชาวเขมรอพยพเข้ามาในดินแดนไทยในช่วง พ.ศ. ๒๓๒๔ – ๒๓๒๕ และยังมีเชื้อสายเขมรอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนจากประเทศกัมพูชาในสมัยอดีตซึ่งปัจจุบันกลุ่มหลังนี้จะกลมกลืนกับชาวไทยในปัจจุบันไปเสียแล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาอพยพ และชาวกัมพูชาอพยพซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยในภาวะสงคราม โดยบางส่วนได้อพยพกลับภูมิลำเนาเดิม ขณะที่บางส่วนยังคงปักหลักอยู่ในดินแดนไทยต่อไป

หากเราพิจารณาถึงร่องรอยทางวัฒนธรรมทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถาน หรือขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ซึมซับทั่วผืนแผ่นดินบริเวณนี้แล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ชาติพันธุ์เขมรจะอพยพมาอยู่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงพุทธศักราชดังกล่าว เพราะอาณาจักรขอมได้เริ่มก่อตั้งและรุ่งเรืองมาตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน, อาณาจักรเจนละบก, อาณาจักรเจนละน้ำ, อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์จนถึงอาณาจักรกัมพูชาและเพิ่งล่มสลายถอยร่นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยานี่เอง และเมื่ออาณาจักรต่าง ๆ เริ่มมีเขตแดนที่ชัดเจนขึ้นจนกลายเป็นประเทศในเวลาต่อมา ชาวเขมรก็เหมือนถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชาและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรสยาม โดยมีเทือกเขาพนมดองแร็ก (ไม้คาน) เป็นเขตแดน จนเกิดกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารจนถึงวันนี้

ข้าพเจ้ามีความสงสัยในคำว่า “ขอม” และคำว่า “เขมร” เมื่อสอบถามปัญญาชนจากประเทศกัมพูชาก็ได้รับคำตอบว่า ‘ขอม’ คือ วัฒนธรรม, ‘กัมพูชา’ คือประเทศ และ ‘เขมร’ คือชาติพันธุ์และคนกลุ่มนี้พอใจที่จะถูกเรียกว่า “เขมร” มากกว่าคำว่าขอมและกัมพูชา เหมือนคำว่า ‘สยาม’ ก็หมายถึงวัฒนธรรม มิได้หมายถึงชาติพันธุ์ตระกูลไท-ลาวแต่อย่างใด

ชาติพันธุ์เขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีสำเนียงภาษาพูดแตกต่างจากภาษาเขมรในประเทศกัมพูชา โดยภาษาเขมรที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจะเรียกว่าภาษาเขมรบน มีความต่างจากภาษาเขมรในกัมพูชาในเรื่องของหน่วยเสียงสระ การใช้พยัญชนะ รากศัพท์ และไวยากรณ์ ซึ่งผู้ใช้ภาษาเขมรบนจะสามารถเข้าใจภาษาเขมรทุกสำเนียง ส่วนผู้ใช้สำเนียงพนมเปญจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาเขมรบนแตกต่างจากภาษาเขมรล่างก็เนื่องมาจากมีการติดต่อกับชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยเฉพาะชาติพันธุ์ลาวและภาษาไทย ดังนั้น สำเนียงการพูดจึงปรับเปลี่ยนไปโดยธรรมชาติของภาษา เรื่องความแตกต่างทางด้านสำเนียงภาษานี้ แม้แต่เขมรศรีสะเกษกับเขมรสุรินทร์ก็แตกต่างกันไม่น้อย แถมเขมรบุรีรัมย์ยังกล่าวด้วยว่า เขมรบุรีรัมย์แตกต่างจากเขมรศรีสะเกษจนแทบฟังกันไม่รู้เรื่อง

คนเขมรส่วนใหญ่มีรูปร่างไม่แตกต่างจากชาติพันธุ์อีศานทั่วไป สีผิวมีทั้งดำจัดมาก, สีผิวดำแดง,ดำคล้ำ, ผิวคมขำ ส่วนน้อยที่มีผิวขาวเหมือนอย่างคนจีน นี่คือที่มาของคำว่า “เขมรป่าดง” เพราะเป็นคนอยู่ป่าอยู่ดง ราชอาณาจักรสยาม รัฐ และคนภายนอกจึงมองด้วยสายตาเหยียดชาติว่า “ล้าหลัง ไร้อารยธรรม” โดยหลงลืมไปว่าวัฒนธรรมของรัฐนับแต่กรุงสุโขทัยมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ทางด้านการปกครอง ด้านวัฒนธรรม เช่น ภาษาพิธีกรรม ความเชื่อ ฯลฯ ต่างก็รับอิทธิพลมาจากขอม และอิทธิพลวัฒนธรรมขอมของชาวเขมรนั้นได้แผ่ซ่านจนซึมลึกเข้าไปทุกระดับของสังคมไทย

วัฒนธรรมขอมเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมไทยหลายประการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนหรือตัวอักษร หากพูดถึงภาษาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากภาษาบาลี-สันสกฤตแล้วก็คือภาษาเขมรของวัฒนธรรมขอม คำราชการและคำราชาศัพท์จำนวนมากเป็นคำมาจากภาษาเขมรแม้แต่คำว่า บายศรี (บายศรีสู่ขวัญ) บายคือข้าว ซี(ศรี) คือรับประทาน ก็เป็นพิธีกรรมที่รับมาจากเขมร ซึ่งหมายถึงคนจะมีเรี่ยวแรงมีพลังก็มาจากการกินข้าวนี้เอง และก็มีหมอสูตรมาเสริมเพิ่มขวัญกำลังใจ ถ้ามองวิถีชีวิตคนเขมรเพียงเผิน ๆ เราอาจจะเห็นแค่สภาพการกิน การอยู่ การประกอบอาชีพ และบุคลิกภาพของผู้คน ไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงวิถีเขมร

ผู้คนในชาติพันธุ์เขมรมักจะเคร่งครัดในจารีต, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ อาจจะพูดได้ว่าเป็นชาติพันธุ์เจ้าระเบียบแม้แต่มวนยาเส้นใบตอง หรือมวนใบพลู เจียนหมากก็ยังเรียบร้อยสวยงาม ฉะนั้น ความเชื่อด้านไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถาอาคมและเครื่องรางต่าง ๆ ใคร ๆ จึงยอมรับว่า “ขลัง” ทั้งนี้เพราะผู้เรียนหรือผู้นิยมด้านไสยศาสตร์ “ถือ” ได้ คำว่า“ถือ” ในที่นี้ หมายถึงการปฏิบัติตนได้, การครองตนได้ตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ส่วนพิธีการและพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ นับแต่การเกิดจนถึงการตาย ทั้งด้านอาชีพ, ด้านสถาปัตยกรรม, ประติมากรรม,จิตรกรรม, นาฏศิลป์, บทเพลง, ดนตรี, งานฝีมืออาทิ การเย็บปัก, ถัก, ทอ, การประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอย, เครื่องประดับตกแต่ง, ของเล่น, การแต่งกายชายหญิง ตลอดจนถึงการประกอบปรุงอาหารการกินในชีวิตประจำวัน หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นความประณีตละเอียดลออทุกขั้นตอน

เมื่อนึกย้อนถึงวันเวลาที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี ข้าพเจ้าในฐานะลูกหลานชาติพันธุ์เขมรอีกผู้หนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นลูกหลานของชาติพันธุ์กวย จึงขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องราวของตัวเองและก็น่าเชื่อว่าจะมีประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษา

คุณตาข้าพเจ้าจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรสืบเชื้อสายเขมรผู้ดีจากเมืองขุขันธ์ ส่วนคุณยายเป็นชนชั้นล่างในกลุ่มชาติพันธุ์กวย บ้านโพธิ์กระสังข์ (สมัยนั้นขึ้นต่อเมืองขุขันธ์) คุณตาเป็นช่างและเป็นพ่อค้า ฉะนั้นจึงเป็นผู้มีความรู้เหมาะแก่อาชีพของตนพอสมควร เมื่อเลิกค้าขายก็หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็ไม่ได้ทิ้งวิชาช่างโดยเฉพาะวิชาช่างแกะสลัก คุณตาคุณยายมีบุตรชาย ๒ คน มีบุตรสาว ๔ คน บุตรชายที่แต่งงานแล้วก็ไปอยู่กับภรรยาทันที ในครอบครัวใหญ่จึงเหลือแต่บุตรสาว มีบุตรสาวแต่งงานก่อน ๓ คนคุณตาคุณยายจึงมีบุตรเขย ๓ คน และบุตรเขยทั้ง ๓ คนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกเรือน บุตรทุกคนต้องอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ทำนาทำไร่ปอแก้วร่วมกัน เมื่อได้ผลผลิตแล้วคุณตาจึงจะแบ่งผลผลิตนั้นให้เขยแต่ละคน เพื่อขายซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเครื่องประดับแก่ลูกเมียของตน โดยกันส่วนหนึ่งไว้เป็นเสบียงอาหารของครอบครัวใหญ่ ข้าพเจ้าเติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวแบบนี้ จนกระทั่งบิดามารดาข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจจากคุณตาแล้ว คุณตาจึงแบ่งที่ทำกินและให้ออกเรือนไปสร้างฐานะของตน สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับมาตั้งแต่วัยเด็กน้อยจนกระทั่งเป็นวัยรุ่นก็คือ ระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต และโดยเฉพาะระเบียบวินัยในการรับประทานอาหาร, ตามภาษาเขมร “โฮบบาย” เป็นคำสุภาพที่สุดของผู้ดีมีการศึกษา มีวัฒนธรรมสูงแปลว่า “รับประทานอาหาร” ส่วนคำว่า “ซีบาย” คนชั้นกลางธรรมดาสามัญจะพูดคำนี้ แปลว่า “กินข้าว” และคำว่า “จฺร็อม” แปลว่า “แดก” ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพนัก ใช้ในการด่าหรือในยามที่ตัวเองคับแค้นใจ ดั่งบทเพลง…

“กัญจัญเจกเวย กัญจัญเจกวับ คลูนพิบากนึงสลับ ตระเนือมเมียนโกนยุม

อามุยยุมซี อาปีรยุมจฺร็อม อาเจี๊ยดปะโอวมึนซะน็อม อันเจ็มโกนมึนรัวะ…”

เจ้าเขียดตะปาดเอย เจ้าเขียดตะปาด ตัวลำบากจะตาย ยังมีลูกร้องกิน

คนที่หนึ่งร้องกิน คนที่สองร้องแดก ไอ้ชาติพ่อไม่เอาไหน เลี้ยงลูกไม่รอด…

นอกเหนือจากคุณยายซึ่งมีหน้าที่ประกอบอาหารอย่างสะอาดและประณีตแล้ว การรับประทานอาหารต้องเป็นเวลา ไม่ว่าอาหารเช้าเที่ยง เย็น และรับประทานพร้อมเพรียงกัน หากใครยังไม่พร้อมก็ต้องรอจนกว่าจะพร้อม ไม่มีใครรับประทานก่อนแล้วมีคนอื่นมารับประทานทีหลังและเมื่อรับประทานแล้วก็ไม่มีอาหารว่างให้กินจุกกินจิกได้อีก แม้หิวเพียงใดก็ต้องรออาหารมื้อต่อไปคุณตามักจะอบรมสั่งสอนบุตรเขย บุตรสาว และลูกหลานในระหว่างการรับประทานอาหารนี้เองและหากใครมีข้อสงสัยเรื่องใดก็ถามไถ่กันระหว่างนี้ แต่น้อยนักที่ใครจะกล้าปริปากเอ่ยถามและปริปากพูด โดยเฉพาะเด็ก ๆ ด้วยแล้วห้ามพูดห้ามคุยระหว่างรับประทานอาหาร หากใครกินข้าวหกก็ถึงกับถูกบังคับให้เลียจากพื้น ทั้งชาวเขมรและชาวกวยต่างรับประทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักการรับประทานจึงต้องสำรวม ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าจำภาพการรับประทานอาหารหรือการกินข้าวแต่ละมื้อได้ดังนี้
๑. สำรับของคุณตา, มีคุณยายคอยปรนนิบัติใกล้ชิด
๒. สำรับลูกเขยคนโตพร้อมด้วยภรรยาและลูก ๆ
๓. สำรับลูกเขยคนกลาง พร้อมด้วยภรรยาและลูก ๆ
๔. สำรับลูกเขยคนเล็ก พร้อมด้วยภรรยาและลูก ๆ
๕. สำรับลูกสาวที่ยังโสด กินข้าวคนเดียว หากมีคนใช้อยู่ด้วยก็ร่วมสำรับนี้

ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงนั่งพับเพียบเรียบร้อยและก้มค้อมลงต่ำ ในครอบครัวใหญ่กินข้าวมื้อเช้ามื้อเย็นพร้อมกัน แต่กินคนละสำรับ ลูกเขยคนใดมีโอกาสร่วมสำรับกับพ่อตาลูกเขยคนนั้นได้รับเกียรติสูงยิ่ง ตลอดชีวิตมีแต่บิดาของข้าพเจ้าเท่านั้น… ถึงข้าพเจ้าจะเป็นหลานคนโตก็ไม่เคยได้ร่วมสำรับกับตาแม้แต่ครั้งเดียว

อาหารการกินส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติแต่ละฤดูกาล และนำมาประกอบปรุงเป็น “ซันลอ” หมายถึง แกงต่าง ๆ เช่น ซันลอเมือน (แกงไก่), ซันลอไตรย (แกงปลา), ซันลอจรูก (แกงเนื้อหมู) ฯลฯ “ซะโงล” หมายถึงต้มต่าง ๆ เช่น ซะโงลไซะกู (ต้มเนื้อวัว), ซะโงลจรูก (ต้มเนื้อหมู), ซะโงลเมือน (ต้มไก่), ซะโงลไตรย (ต้มปลา), ซะโงลเตีย (ต้มเป็ด) “อัง” หมายถึงย่างต่าง ๆ เช่น ไตรยอัง (ปลาย่าง), เมือนอัง (ไก่ย่าง), ฮืงเก๊บอัง (กบย่าง) อาหารยามยากก็อาจมี “บ๊ก” (ตำ) เช่น บ๊กกรืงไตรย (ป่นปลา), บ๊กกรืงฮืงเก๊บ (ป่นกบ), บ๊กละฮง (ตำส้มมะละกอ) หรือไม่ก็เต๊ะไปร (ปลาจ่อม), ปร๊ะฮก (ปลาร้า) ฯลฯ ที่พิเศษกว่านั้น ครอบครัวข้าพเจ้ารับประทานอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า “แกงบวน” คุณตาได้สูตรอาหารชนิดนี้มาจากวังเจ้าเมือง ซึ่งมีส่วนประกอบและเครื่องปรุงที่ประหลาดมาก นั่นคือ เนื้อหมูสามชั้นพร้อมด้วยเครื่องในทุกชนิด, ข่า, กระเทียม, ตะไคร้, ใบมะกรูด, น้ำย่านาง, ใบขี้เหล็ก, กะปิ, น้ำอ้อย, เกลือ, น้ำปลา นับว่าเป็นอาหารสุดอร่อยประจำครอบครัว

ภาพดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการกินอยู่แบบครัวใหญ่ของชาติพันธุ์เขมร และยังยึดถือระบบอาวุโสอย่างชัดเจน คือ ผู้อาวุโสสูงสุดเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจโดยเด็ดขาด อันเป็นการรับอิทธิพลการปกครองในระบบราชการหรือราชสำนักสมัยก่อนโน้น ที่กล่าวมานี้ ใช่ว่าทุกครอบครัวของชาติพันธุ์เขมรจะปฏิบัติเช่นนี้ไปเสียหมด ไม่ว่าชาติพันธุ์ใดต่างก็มีการแบ่งชั้นไว้เป็นระดับสูง ระดับปานกลาง และระดับล่าง (กึ่งทาส) ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาของแต่ละวงศ์ตระกูลด้วย วงศ์ตระกูลที่อยู่ในระดับสูงมักเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับระบบราชการหรือราชสำนักที่มีเจ้าเป็นผู้ปกครอง เกี่ยวข้องกับผู้มีการศึกษา กับผู้มีวัฒนธรรม จนซึมซับเกิดเป็นวิถีถือปฏิบัติกลายเป็นระเบียบแบบแผนในการดำรงชีวิต.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com