ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมเบิ่งลาว
ตามฮอยศรัทธาญาคูขี้หอม
๑. บ้านดงกึม
เมื่อวันที่ ๖-๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปทำบุญทอดผ้าป่ากับคณะศิษย์หลวงปู่ภูพาน (พระครูปลัดศรีธรรมวัฒน์) ณ วัดบ้านดงกึม เมืองอาดสะพังทอง แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งมีจุดประสงค์ ๒-๓ ข้อ คือ เพื่อทำบุญตามฮอยศรัทธาญาคูขี้หอม เพื่อเยี่ยมเยือนพี่น้องผู้ไท ในบ้านดงกึม สปป.ลาว และเพื่อท่องเที่ยวหาความสุขสำราญ เบิกบานใจในบั้นปลายของชีวิต
สี่นาฬิกากว่า ๆ ของวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ผู้เขียนกับคู่ชีวิตขับรถมาถึงบริเวณวัดโนนสวรรค์ (ภูดินแดง) ก่อนใคร ๆ หลังจากเลือกจอดรถบริเวณที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว นั่งพักรอคณะผ้าป่าอยู่ในรถเงียบ ๆ มองดูบรรยากาศภายนอกยังมืดมิด บนยอดภูมองเห็นหมอกควันปกคลุมสลัวราง เสียงไก่ป่าที่อยู่ในบริเวณวัดส่งเสียงขันรอรับรุ่งอรุณ ดังเจื้อยแจ้วเป็นทอด ๆ ท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขาที่ห่างไกลจากความวุ่นวาย
รถโดยสารสองคันซึ่งเป็นรถจาก สปป.ลาว มาจอดรอรับคณะผ้าป่าที่ลานจอดรถ หลังผู้เขียนมาถึง เล็กน้อย คณะผ้าป่าเริ่มทยอยกันมา หลายคนขับรถมาเอง หลายคนให้ลูกหลานมาส่ง เสียงพูดคุยสนทนาเริ่มดังจอแจ ม่านฟ้าคลี่ขยายเปิดกว้าง เช้าวันใหม่ได้มาเยือนอีกหน บรรยากาศรอบ ๆ แจ้งกระจ่างตาขึ้น
หกนาฬิกาตรงเผ๋ง ! คณะผ้าป่าราว ๘๐ กว่าชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัย ต่างมาพร้อมหน้ากัน ณ วัดโนนสวรรค์ (ภูดินแดง) บ้านโนนสวรรค์ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร แต่ละคนทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะได้ขึ้นรถบัสคันไหน จาก “ไลน์กลุ่มเที่ยวลาว” ที่หัวหน้าทัวร์แจ้งไว้ก่อนหน้านั้น จึงไม่เป็นการวุ่นวายสับสนในการขึ้นรถ ถือว่าเป็นการบริการจัดการที่ดีของหัวหน้าทัวร์ ผู้เขียนกับภรรยาอยู่บัสที่ ๒
กระเป๋าเดินทางและสัมภาระต่าง ๆ ของลูกทัวร์ถูกจัดวางเรียงไว้ใต้ท้องรถ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ละคนขึ้นไปจับจองมองหาที่นั่งตามอัธยาศัย ยกเว้นที่นั่งด้านหน้า ๓-๔ เบาะ เอาไว้ให้หัวหน้าทัวร์ ไกด์ และพระสงฆ์นั่ง
ก่อนออกเดินทาง หัวหน้าทัวร์และผู้ช่วย ได้เช็คจำนวนคนว่าถูกต้องครบถ้วนหรือยัง โดยการขานชื่อเหมือนเด็ก ๆ นักเรียน ทุกอย่างเป็นไปด้วยเรียบร้อย
รถบัสคันที่หนึ่งเริ่มเคลื่อนตัวออกจากบริเวณวัดตามด้วยรถบัสคนที่สอง มุ่งหน้าไปยังจังหวัดมุกดาหาร
รถคณะผ้าป่าแล่นไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๓ สายสกลนคร–บ้านต้อง เป็นทางหลวงแนวตะวันตก-ตะวันออกที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสกลนครกับอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดนครพนม มีระยะทางตลอด ทั้งสาย ๖๕.๐๕๒ กิโลเมตร
ทางหลวงสายนี้มีเส้นทางเชื่อมต่อมาจากถนนมัธยมจันทร์ ในเขตเทศบาลนครสกลนคร มีเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านอำเภอโคกศรีสุพรรณ แล้วเข้าสู่ จังหวัดนครพนม ผ่านอำเภอนาแก และสิ้นสุดที่บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒
แต่เดิมทางหลวงเส้นนี้คือ “ทางหลวงสายสกลนคร-นาแก-ธาตุพนม” ได้รับการขนานนามว่า “ถนนมัธยมจันทร์” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๓ เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย ประจวบ มัธยมจันทร์ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางสกลนคร ผ่านอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอนาแก บ้านต้อง
สองฟากถนนส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนา ภาพบรรยากาศ นวัตวิถี ชีวิตชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นภาพที่งดงาม ทำให้มองลึกลงไปเห็นรากเหง้าของบรรพบุรุษเราอย่างแท้จริง หลายคนบนรถคันที่ ๒ นั่งเงียบ คงคิดไปต่าง ๆ นานา สำหรับผู้เขียน เพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางอย่างเอิบอิ่มใจ เหลือบมองดูคนนั่งอยู่ข้าง ๆ กาย อ้าว ! ไปเลบานอนและอาหลับตั้งแต่เมื่อใดไม่รู้
ผ่านอำเภอนาแกไม่นานนัก ก็มาถึงสามแยกบ้านต้อง รถเลี้ยวขวาบ่ายหน้าไปจังหวัดมุกดาหาร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ สายหนองคาย–อุบลราชธานี หรือ ถนนชยางกูร เริ่มจากแยกถนนมิตรภาพสายเก่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๓๓ ใน อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย ไปทางทิศตะวันออก ทอดยาวไปตามแม่น้ำโขง ผ่านเข้าจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีระยะทางประมาณ ๕๘๓.๕๗๕ กิโลเมตร
เดิมมีชื่อเรียกว่า ทางหลวงแผ่นดินสายอุบลราชธานี-มุกดาหาร-นครพนม ได้รับการตั้งขนานนามว่า ถนนชยางกูร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อ เป็นเกียรติแก่หม่อมเจ้าวิเศษศักดิ์ ชยางกูร อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางอำนาจเจริญ
แปดนาฬิกากว่า ๆ คณะผ้าป่าของศิษย์หลวงปู่ภูพาน โดยการนำของพระมรกต อิสฺสโร (พระเลขาฯ หลวงปู่ภูพาน) ก็เดินทางมาถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๒) ทุกคน ลงจากรถเข้าแถว ยื่นพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐาน ประทับตรา เพื่ออนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ ตามวัตถุประสงค์
แต่ละคนไม่มีปัญหาและอุปสรรคใด ๆ จากนั้นไปขึ้นรถคันเดิม ไกด์ลาว เป็นชายอายุกลางคน (จำชื่อไม่ได้) ขึ้นมากล่าวทักทายต้อนรับคณะทัวร์บุญ ก่อนเดินทางข้ามสะพานเข้าสู่ดินแดนสะหวันนะเขต สปป. ลาว เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว พวกเราลงจากรถอีกครั้ง เข้าแถวยื่นพาสปอร์ต ให้เจ้าหน้าที่ลาว ตรวจเอกสาร และประทับตราอนุญาตให้เข้าประเทศได้ตามระเบียบ เราใช้เวลาที่นั่นไม่นานนักก็เดินทางสู่ เป้าหมายแรก คือไปนมัสการพระธาตุอิงฮัง
พระธาตุอิงฮัง เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมศิลป์ที่สวยงาม ทั้งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ สปป.ลาว ตั้งอยู่แขวงสะหวันนะเขต ห่างจากสะหวันนะเขต ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ระหว่างเส้นทางสะหวันนะเขต – เซโน พระธาตุสูงกว้างด้านละ ๙ เมตร มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมเหมือนหอปราสาท เป็นเจดีย์แบบผสมวิหาร คือใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เพราะมีประตูเข้าออกได้ องค์พระธาตุเจดีย์จัด เป็น ๓ ฐานลดหลั่นกันเป็นลำดับฐานล่าง ฐานกลางเป็นศิลปะดั้งเดิม ฐานบน และยอดเจดีย์เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง
พระธาตุอิงฮัง หรือธาตุอิงฮัง ตามประวัติการสร้างธาตุอิงฮัง สร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร ประมาณ พ.ศ.๔๐๐ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม สูง ๒๕ เมตร คำว่า “อิงฮัง” มาจากคำว่า “พิงรัง” หรือพิงต้นรัง นั่นเอง เป็นพระธาตุคู่แฝดของพระธาตุพนม เมื่อค้นประวัติของพระธาตุพนมพบว่า มีส่วนสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ตามตำนานพระธาตุพนมในอุรังคนิทานกล่าวว่า “สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระอานนท์ได้เสด็จมาที่ พระบาทเวินปลาอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์เมืองรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้า หนึ่งคืน รุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขงไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง แล้วกลับมาทำภัทกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ” ภูกำพร้า ที่กล่าวถึงปัจจุบันก็คือที่ตั้งของพระธาตุพนม ตรงตำแหน่งที่ต้นรังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จพักรับบาตรที่เมืองศรีโคตรบูรนั้น ต่อมาได้มีการสร้างเป็นธาตุกู่ในสมัยพระเจ้าสุมิตราช ภายหลังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนกระดูกสันหลังมาประดิษฐานไว้ในกู่ธาตุหรือพระธาตุอิงฮัง
การมานมัสการพระธาตุนั้น คนลาวนุ่งซิ่นไปไหว้พระธาตุกันมีบทสวดมนต์เป็นภาษาลาวสำหรับไหว้พระธาตุ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาก็ต้องนุ่งซิ่นด้วยเหมือนกัน ถึงจะเข้าไปไหว้พระธาตุได้ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงกับเรื่องการนุ่งผ้าถุง เพราะที่นี่เขาได้จัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่า สาวไทยที่นุ่งกางเกงเอวต่ำ เอวสูง ไม่มีสิทธิเข้าไปกราบ นอกจากจะซื้อบัตรผ่านแล้วไปเอาผ้าถุงมาใส่ทับกางเกงเข้าไป ซึ่งเขามีบริการ สุภาพสตรี ค่าบัตรผ่านก็ราคา ๕,๐๐๐ กีบ คิดเป็นเงินไทย ๒๐ บาท (ข้อมูล ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑)
ผู้ที่จะไปกราบพระธาตุจะต้องซื้อเครื่องบูชา เหมือนบายศรี จะมีชาวบ้านทำมาวางขายริมทาง ก่อนถึงพระธาตุ ที่บริเวณวัดจะไม่มีเครื่องบูชานี้ขาย จะมีแต่ธูปเทียนเท่านั้น
ไฮไลท์ของการมาเยือนที่นี้ก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการมากราบขอพร และก็มีหลายท่านที่เดินทางมาเพื่อบนขอพรกับพระธาตุ เมื่อได้สมดังตั้งใจแล้วก็จะกลับมาอีกครั้งเพื่อแก้บน โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขาย ที่นี่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยอดฮิตของสะหวันนะเขต ท่านใดไม่มีกล้องและมือถือสำหรับ ถ่ายภาพก็ไม่ต้องวิตกว่าจะไม่ได้ภาพเป็นที่ระลึก เพราะมีช่างภาพอิสระระดับมืออาชีพ มาคอยบริการถ่ายภาพด่วนให้ สนนราคาถ้าแจ้งความจำนงให้เขาถ่ายให้ตกแผ่นละ ๘๐ บาท แต่ถ้าเราไม่ได้แจ้งความ จำนง เรามีกล้องถ่ายกันเอง แต่พวกเขามาถ่ายแจมให้เราด้วย แล้วอัดมาขายให้ เราอาจจะต่อรองได้แผ่นละ ๔๐-๕๐ บาท เพราะเราไม่ต้องการให้เขาถ่ายให้ แต่เขาเสนอหน้ามาถ่ายให้เอง ถ้าไม่ยอมขาย ๔๐-๕๐ บาท ก็เสียกระดาษและหมึกพิมพ์ฟรี จำเป็นต้องยอมขายให้ แต่ยอมรับว่าภาพถ่ายของเขาคมชัด ฝีมือเข้าขั้น
ออกจากพระธาตุอิงฮัง เป้าหมายที่สองคือไปรับประทานอาหารเที่ยงที่เมืองเซโน เขตเศรษฐกิจ พิเศษสะหวัน-เซโน ตั้งอยู่บนเส้นทางหมายเลข ๙ อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor- EWEC) จึงเป็นจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุน และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอื้ออำนวยให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน–เซโน เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยของ ประเทศ ช่วยสร้างอาชีพและยกระดับความรู้ความสามารถด้านฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมของประเทศ และที่สำคัญคือเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหาร ได้รับการยกระดับเป็นเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษของไทย ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองแห่งกำลังจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน
“ลีลาเพ็ด แก้วดวงสี” รองหัวหน้าคณะบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ได้เดินทางมาร่วมงานสัมมนา “มุกดาหาร : “ท่าเรือบก” ประตูตะวันออกสู่อาเซียน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้น พร้อมให้สัมภาษณ์ กับสำนักข่าว THAI QUOTE ถึงทิศทางความร่วมมือของสองประเทศในอนาคต
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน โอกาสของนักลงทุนใน สปป.ลาว
บรรยากาศในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน คืบหน้าอย่างไรบ้าง?
รัฐบาลลาวยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราแบ่งโซนของพื้นที่เป็น ๔ จุดคือ โซน A ศูนย์รวมการค้าการลงทุน โซน B อุตสาหกรรมเบา โซน C ศูนย์โลจิสติกส์ และ โซน D ที่อยู่อาศัย ซึ่งโซนที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือโซน C ที่มีนักลงทุนจากมาเลเซียเข้าไปลงทุนให้บริการด้านโลจิสติกส์ เท่ากับว่าระบบการขนส่งคือจุดเด่นของสะหวัน-เซโน
เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนตั้งอยู่บนเส้นทางหมายเลข ๙ (ถนนสองเลนมีระยะทางราว ๑,๕๐๐ กิโลเมตร นอกจากเป็นถนนเพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างทะเลอันดามันกับทะเลจีนใต้ยังเชื่อมต่อกับเส้นทางหมายเลข ๑๓ ในแขวงสะหวันนะเขตของลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง เศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ที่เชื่อมระหว่างมณฑลยูนนานของจีน ลาว และไทย ซึ่งมีความสำคัญรองจากเส้นทางหมายเลข ๙) ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายังนครหลวงเวียงจันทน์ และเชื่อมต่อเข้ามายังสะหวันนะเขต เราจึงมองว่าระบบโลจิสติกส์คือจุดเด่นที่สามารถขนส่งสินค้าจากสะหวัน-เซโน หรือจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหารไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้ รวมถึงหากมีนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโนผลิตสินค้าก็สามารถ ขนส่งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สะหวัน-เซโนมีความร่วมมือกับมุกดาหารอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าเราจะร่วมมือกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและก้าวเดินไปด้วยกัน ใครมีศักยภาพด้านไหนก็ดำ เนินการด้านนั้นและให้อีกฝ่ายช่วยส่งเสริมสนับสนุน อาจมีการนำวัตถุดิบจากสะหวันนะเขตเข้ามา ผลิตในมุกดาหารแล้วส่งกลับไปยังสะหวัน-เซโนเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลก ซึ่งการเดินทางระหว่างมุกดาหารกับสะหวัน-เซโนก็สะดวกด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ๒
หากนักลงทุนอยากเข้าไปลงทุนในสะหวัน-เซโน จะได้รับสิทธิอะไรบ้าง?
เรามีสิทธิประโยชน์หลายอยางที่ระบุไว้ชัดเจน (อ่านละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนอย่างมาก สามารถดำเนินการด้านเอกสารได้อย่างรวดเร็ว
รายละเอียดสิทธิพิเศษ นโยบายส่งเสริมการลงทุนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน อาทิ
ได้รับการยกเว้นภาษีกำไร (อากรกำไร) เป็นระยะเวลา ๒-๑๐ ปีนับตั้งแต่เริ่มมีผลกำไร หลังจากนั้นจะเสียในอัตราร้อยละ ๘-๑๐ (ตามปกติจะยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลา ๒-๗ ปี หลังจากนั้นจะเสียในอัตรา ร้อยละ ๑๐-๒๐ สำหรับนักลงทุนต่างชาติ และในอัตราร้อยละ ๓๕ สำหรับนิติบุคคลลาว)
เสียภาษีรายได้ส่วนบุคคล (อากรรายได้ส่วนบุคคล) สำหรับคนต่างชาติในอัตราร้อยละ ๕ (ตามปกติคนต่างชาติเสียในอัตราร้อยละ ๑๐)
ได้รับการยกเว้นภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีการค้า (อากรตัวเลขธุรกิจ) และ ภาษีสรรพสามิต หรือ อากรชมใช้ (ตามปกติจะเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๕-๑๐ และภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ ๕-๙๐) ได้รับการยกเว้นภาษีในการส่งออก และยกเว้นภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
ได้รับสัมปทานเช่าที่ดินมีระยะเวลานานสุดถึง ๙๙ ปีและสามารถขอต่อสัมปทานได้ นอกจากนี้ หากเช่าที่ดินเกิน ๓๐ ปี จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา ๑๒ ปี
นักลงทุนที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐขึ้นไป พร้อมคู่สมรสและบุตรอายุต่ำกว่า ๒๑ ปี จะได้รับ Foreign ID Card ซึ่งอนุญาตให้ทำงานใน สปป.ลาว ได้ และได้รับวีซ่าประเภทเข้าออกได้หลายครั้ง มีอายุอย่างน้อย ๑ ปี หากมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ ๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป จะได้รับ Permanent Resident ID Card หรือได้รับวีซ่าประเภทเข้าออกได้หลายครั้ง มีอายุอย่างน้อย ๑ ปี หรือได้รับหนังสือเดินทางลาว
ประเภทธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน
ธุรกิจการผลิตและการแปรรูป เช่น การผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การประกอบชิ้นส่วน ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป การแปรรูปสินค้านำเข้าเพื่อส่งขายต่อภายในหรือต่างประเทศ การแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตสินค้าหัตถกรรม โรงงานรับบรรจุหีบห่อสินค้าและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ธุรกิจการค้า เช่น ร้านค้าปลอดภาษี การขายส่งสินค้าผ่านแดนปลอดภาษี การขายส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใน (เช่น สินค้าหัตถกรรม ไม้เนื้อหอม และอื่น ๆ) ศูนย์แสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุมการส่งออกนำเข้า และการค้าผ่านแดน
ธุรกิจบริการ และการจัดส่งกระจายสินค้า (Logistics) เช่น ระบบโกดังเก็บสินค้าศูนย์กระจายสินค้า บริษัทรับเหมาขนส่งโรงแรม อาคารหรือสำนักงาน ให้เช่าบ้านจัดสรร บริษัทนำเที่ยว การพัฒนาแหล่งพักผ่อน สถานที่เล่นกีฬา สวนสนุก แหล่งท่องเที่ยว ธนาคารหรือสถาบันการเงิน การประกันภัย กองทุนสวัสดิการสังคม โรงเรียนวิชาชีพและพัฒนาฝีมือ แรงงาน โรงเรียนสามัญศึกษา มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหาร ไปรษณีย์
สำนักงานตัวแทนและสาขาบริษัทภายในหรือต่างประเทศ
เช่น สำนักงานตัวแทนการค้าเพื่อส่งเสริมการส่งออก ด้านการท่องเที่ยว สาขาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ สาขาบริษัทการบินและการขนส่งต่างประเทศ
จะเห็นว่า ปัจจุบัน สปป.ลาว มีความรุดหน้าทางเทคโนโลยีไปมาก มีแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่สร้างงาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประชาชนและรัฐบาล ไม่เหมือนกับบางประเทศที่นับวันจะถอยหลังเข้าคลอง เพราะมัวเมาแต่ยึดอำนาจซึ่งกันและกัน เอาเงินหว่านแจกชาวบ้าน หวังความชื่นชอบ ชื่นชม และคะแนนนิยมในอนาคต พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
คณะของเรารับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านปิ้งไก่นางแอ๊ด เมืองเซโน เมืองนี้มีแม่ค้าขายไก่ย่างเป็นล่ำเป็นสัน เหมือนอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เมนูอาหารเที่ยง มีแกงหน่อไม้ ปิ้งไก่บ้าน ส้มตำ ทอดไข่คน (คือเอาช้อนคนให้ไข่แตกละเอียดก่อนทอด) ลวกผักจิ้มแจ่ว ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของคนไทยและลาว
เราใช้เวลาในการรับประทานอาหารเที่ยงประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นเดินทางสู่เป้าหมายที่สามคือ หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ วัดหนองลำจัน เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต
วัดหนองลำจัน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองจำพอนไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร อยู่ห่างจากบ้านชะคืนใต้ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ กิโลเมตร โบราณสถานแห่งนี้มีความเก่าแก่เท่า ๆ กับวัดชะคืนใต้ อันลือชื่อโด่งดังไปทั่วเมืองจำพอน และแขวงสะหวันนะเขต ได้แก่หอไตรหรือหอสมุดของสำนักวิปัสนากรรมฐานแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยตู้คัมภีร์ ๔ ตู้ ซึ่งเมื่อก่อนประกอบด้วยคัมภีร์ทางศาสนาถึงหกร้อยผูก แต่ปัจจุบันยังเหลือประมาณสี่ร้อยผูกเท่านั้น วัดบ้านชะคืนใต้นี้เริ่มสร้างมาแต่สมัยบ้านชะคืนตั้งเป็นภูมิลำเนาหนองปิ คือสามร้อยปีล่วงมาแล้ว แล้วอิงตามประวัติศาสตร์ของเมืองขามเปี้ย, ชุมพอน หรือเมืองลำเนาหนองปินี้ สร้างขึ้นก่อนสมัยของพระเจ้าศิริบุญยะสาร ครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ วิหารหลังที่ยังเหลือในวัดบ้านชะคืนใต้ก็สร้างมาตั้งแต่สมัยนั้น พอมาถึงสมัยศักดินาสยามมารุกรานประเทศล้านช้างในรัชกาลเจ้าอนุวงศ์ เมืองลำเนาหนองปิ ถูกพวกสยามจุดไฟเผา จึงตกเป็นเมืองร้างเป็นป่าดงรกเรื้อมาเกือบศตวรรษหนึ่ง ในต้นศตวรรษนี้จึงมีประชาชนตั้งบ้านชะคืนขึ้นใหม่
ตะวันบ่ายคล้อย แต่อากาศยังร้อนอบอ้าว สอบถามชาวบ้านบอกว่าฝนไม่ตกมาหลายอาทิตย์แล้ว ชาวนาหลายครอบครัวต้องหยุดชะงักในการดำนาเพราะไม่มีน้ำ บ่ายสองกว่า ๆ คณะของเราก็อำลาวัดหนองลำจัน ย้อนคืนเส้นทางเดิมเพื่อเดินทางไปหมู่บ้านดงกึม
ถึงปากทางเข้าบ้านดงกึม รถขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในหมู่บ้านได้เพราะถนนขรุขระ และที่สำคัญคือ ต้องข้ามห้วยที่มีตลิ่งสูงชันถึงสองลำห้วย ต้องใช้รถกระบะ รถแต๊ก (รถไถพ่วงล้อ) และรถขับเคลื่อนสี่ล้อถึงจะไปได้
พวกเราต้องขนกระเป๋าและสัมภาระลงจากรถบัส เตรียมนั่งรถขนาดเล็กที่จะมารับเข้าไปในหมู่บ้าน ระยะจากปากทางเข้าไปประมาณ ๗-๘ กิโลเมตร ยืนรอรถมารับเกือบชั่วโมง บางคนอดไม่ไหวขออาศัยนั่งรถ แต๊ก ๆ ไปกับชาวบ้านที่ออกมาซื้อสินค้าไปบริโภค เป็นภาพที่ทรหดและหาดูได้ยาก
ไม่นานรถสองแถว และรถกระบะก็มาถึง ทุกคนต่างหอบกระเป๋าขึ้นรถ ยืนและนั่งยัดทะนานกันไปเหมือนรถบรรทุกหมูก็ไม่ปาน แต่ทุกคนก็ยิ้มได้ เพราะเรามาด้วยใจถึงลำบากเพียงใดเราก็ไม่หวั่นไหว นี่คือจุดประสงค์ของหลวงปู่ภูพาน ที่ต้องการให้ลูกศิษย์ ญาติโยมมาเห็นด้วยตาตัวเอง ว่ายังมีคนที่เขาลำบากกว่าเราอีกเยอะ
หมู่บ้านแห่งนี้ หมกตัวเองอยู่ท่ามกลางดงแมกไม้ ห่างไกลความเจริญ เป็นชุมชนเผ่าผู้ไท ผู้เขียนได้สอบถามชาวบ้านบอกว่า ดินแดนแถบนี้เคยเป็นของพวกขอมมาก่อน เมื่อชนเผ่าผู้ไทอพยพเข้ามา พวกขอมอาจจะสู้ไม่ได้จึงอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น
คำว่า “กึม” น่าจะเพี้ยนมาจาก “กะลึม” หมายถึงหวายเส้นใหญ่ หวายกะลืม หวายหลึม หวายกะลึมบอง หวายกะบอง ก็ว่า ดังนั้น “ดงกึม” จึงน่าจะหมายถึงหมู่บ้านดงหวายใหญ่ (ผู้เขียน)
คณะผ้าป่าทรหด ศิษย์หลวงปู่ภูพาน จากสกลนคร ๘๐ กว่าชีวิต มาถึงบ้านดงกึมเมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ต่างผมแดงไปด้วยฝุ่นตาม ๆ กัน นั่งพักร้อนพักเหนื่อยที่ศาลาและเต็นท์ประมาณ ๓๐ นาที ชาวบ้านก็นำอาหารมาต้อนรับที่โต๊ะอาหาร ทุกคนรับประทานอาหารเย็นมีนานาเมนู ส่วนใหญ่เป็น อาหารพื้นบ้าน เสร็จแล้วพระอาจารย์มรกต อิสฺสโร พระเลขาฯ หลวงปู่ภูพาน ก็นำขบวนไปที่วัดใต้บ้านดงกึม อยู่ห่างจากวัดเหนือ (วัดที่พวกเราจะมาทอดผ้าป่า) ประมาณ ๒๐๐ เมตร เพื่อไปนมัสการพระธาตุที่บรรจุอัฐิของญาคูขี้หอม
ชาวบ้านทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และลูกเล็กเด็กแดง ส่วนหนึ่งไปรอต้อนรับคณะพวกเราอยู่ที่วัดใต้ เมื่อพวกเราไปถึง คณะกองตุ้มของชาวบ้านได้แสดงการร่ายรำกองตุ้มให้พวกเราชม หลังจากนั้นพระอาจารย์มรกต อิสฺสโร นำคณะผ้าป่าและชาวบ้านจุดธูปเทียน เดินเวียนทักษิณาวรรต ๓ รอบ ขณะเดินทักษิณาวรรต ชาวบ้านก็แห่กองตุ้มไปด้วย เพื่อเป็นการบูชาพระธาตุญาคูขี้หอม จากนั้นพระอาจารย์มรกต อิสฺสโร และพระสงฆ์ ๔ รูป ก็พาสวดมนต์ไหว้พระ ถวายดอกไม้ธูปเทียน และเทียนพรรษาเป็นเสร็จพิธี
เสร็จพิธีสักการะพระธาตุญาคูขี้หอม คณะกองตุ้มก็แห่กองตุ้มนำขบวนผ้าป่ากลับไปยังวัดเหนือ ชาวคณะผ้าป่าเกิดความสนุกสนาน ครื้นเครงในอารมณ์ หลายคนฟ้อนรำกับชาวบ้านจนถึงวัดเหนือ และแห่รอบศาลาการเปรียญ ๓ รอบจึงหยุดการแสดง
หลังจากนั้นทุกคนต่างไปหาอาบน้ำตามบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ทางคณะกรรมการหมู่บ้านจัดไว้รองรับคณะผ้าป่า หลังคาเรือนละประมาณ ๔-๕ คน อาบน้ำเสร็จก็กลับมานอนรวมกันที่ศาลาการเปรียญ มีตำรวจและคณะกรรมการหมู่บ้านอยู่เวรยามรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งคืน
ในภาคกลางคืน มีมหรสพคบงันตามประเพณี คือชาวบ้านได้จ้างคณะดนตรีจากเมืองเซโน มาแสดงให้ชาวบ้านได้รับชม และฝ่ายคณะผ้าป่าก็มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมให้ชาวบ้านได้ชมเช่นกัน นั่นคือ การลำล่องชีวิตชาวนา การเป่าปี่ผู้ไท และการเป่าแคน จากศิลปินระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย นั่นคือ “อ้น แคนเขียว” อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีพื้นเมือง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้เดินทางร่วมกับคณะผ้าป่าครั้งนี้ด้วย
ใครไม่รู้จัก “อ้น แคนเขียว” รีบไปหาดูและฟังผลงานของเขาได้ในยูทูป เป็นศิลปินหนุ่มที่น่าจับตามอง และมีอนาคตไกลคนหนึ่งของภาคอีสาน
หอพระไตรปิฎกกลางน้ำ วัดหนองลำจัน เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต พระธาตุบรรจุอัฐิญาคูขี้หอมชาวบ้านดงกึมมาร่วมพิธีถวายสักการะพระธาตุญาคูขี้หอม คณะกองตุ้มของชาวบ้านดงกึม แสดงรอบพระธาตุญาคูขี้หอม
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
**********
ข้อมูลอ้างอิง/ภาพประกอบ
ชวนชมลาว. แขวงสะหวันนะเขต. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.travelfortoday.com/laos/laoinfoSavannakhet.htm.
ลีลาเพ็ด แก้วดวงสี สะหวัน-เซโน เขตศก.พิเศษ แห่งสปป.ลาว. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://www.thaiquote.org/content/16919.
อริสรา ภักดีพงษ์. แหล่งอารยธรรมลาว แขวงหลวงพระบาง (Luang Prabang). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : https://sites.google.com/site/arisaraphakdeephong/xarythrrm.
LAOS TRAVEL. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://laostravel.blogspot.com/. https://th.wikipedia.org/wiki/