(๑๓) “ความเชื่อเรื่องแถน กับ นาฏพิธีหมอลำผีฟ้าพญาแถน”

ภาพสังคมวัฒนธรรมคนไท-ลาวสมัยก่อนนั้นมีการนับถือผีอย่างแนบแน่น จนอาจเรียกว่า ถือ “ศาสนาผี” (ผีแถน หรือ ผีฟ้า) ก็ว่าได้ ความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไท-ลาวแต่ปางบรรพ์ มีความรู้ความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองมายาวนาน

แถนฟ้า หรือ พญาแถน หรือที่ชาวไทชาวลาวทั่วไปเรียกว่า ‘ผีฟ้า’ หรือ ‘ผีแถน’ นั้น ตามคติความเชื่อชาวไท-ลาวมีความนับถือยำเยงว่าเป็น “เทพ” มากกว่าเป็นผีหรือวิญญาณของผู้ล่วงลับในความหมายทั่วไป

ผู้เขียนตีความว่า ในระบบความเชื่อเรื่องผีบรรพชนของชมรมโคตรวงศ์ไท-ลาวนั้นเดิมที “แถน” น่าจะครองสถานะเป็นผีบรรพชนต้นด้ำไท-ลาวสายใหญ่สายหนึ่งเท่านั้น เริ่มแรก “ผีแถน” น่าจะเป็นผีที่มิใช่เทพ แต่ได้กลายเป็นเทพสูงสุดในระบบความเชื่อผีบรรพชนไท-ลาวไปเพราะสถานภาพทางการเมืองของ “สายด้ำแถน” ปรับเปลี่ยนสถานภาพสูงขึ้นเป็นลำดับไปตามการคลี่คลายขยายตัวของบ้าน-เมือง แว่นแคว้น และอาณาจักรน้อยใหญ่ ระบบความเชื่อในผีแถนนี้จึงถูก ‘บริหารจัดการ’ (Administration) ภายใน “ระบบด้ำไท-ลาว” อย่างค่อยเป็นค่อยไป

เริ่มจากปลายสมัย “ปางด้ำนาย” ที่สายแม่ค่อย ๆ ลดบทบาทลง อย่างไรก็ตามคงต้องให้ความชัดเจนในที่นี้ว่า แม้ “แถน” ที่ถือกันทุกวันนี้เป็นผีใหญ่ที่ดูเหมือนว่าจะมีเพศเป็นบุรุษ แต่ก็มีร่องรอยของ “ผีด้ำนาย (สตรี)” แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างความเชื่อและพิธีกรรม

เครื่องดนตรี “ติง” (คำดั้งเดิม ต่อมาคนไทยเรียกตามแขกว่า “พิณ”) ของชาติพันธุ์จ้วง ภาษาจีนปัจจุบันเรียกว่า “เทียนฉิน” (พิณฟ้า) สมัยโบราณเรียก “เทียนติง” (พิณฟ้า หรือติงแถน) เป็นเครื่องดนตรีประกอบพิธีกรรมเข้าทรงของ “แม่มด” เพื่อรักษาโรค และ/หรือพยากรณ์ และเข้าทรงประจำปีของหมู่บ้านให้ชาวบ้านบูชาและตอบปัญหาของชาวบ้าน น่าสังเกตว่า ในพิธีเข้าทรงของแม่มดชาวจ้วง นิยมใช้ “ติงแถน” ไม่นิยมใช้แคน แม่มด (เป็นวัฒนธรรมจ้วงใต้) จะเข้าทรงเวลากลางคืน บรรเลงติงแถนและสวดมนต์ (ขับลำ) ไปตลอดคืน ปัจจุบันยังมีปฏิบัติอยู่บ้างในภาคใต้ของกวางสี ปัจจุบันการแสดง “เทียนฉิน” ส่วนใหญ่กลายเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงไปแล้ว (บรรณาธิการ)

นาฏพิธี “หมอลำผีฟ้าพญาแถน”

“หมอลำผีฟ้าพญาแถน” เป็นนาฏพิธีสำคัญในระบบความเชื่อเรื่องแถนของชุมชนไท-ลาว เป็นพิธีเพื่อการเยียวยารักษาผู้ป่วย (Healing ritual performance) ของชุมชนไท-ลาว ทางภาคอีสานของประเทศไทย นอกจากมีหมอลำผีฟ้าและหมอแคนเป็นองค์ประกอบหลักของนาฏพิธีดังได้กล่าวไปบ้างแล้วในบทก่อนหน้า อีกหนึ่งในองค์ประกอบหลักคือตัวผู้ป่วย

จากการวิจัยสนามในชุมชนผู้ไททางภาคอีสาน ‘ผู้ป่วย’ จะต้องแต่งกายตามที่ได้กำหนดไว้แต่โบราณ คือ มีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า มีดอกมะละกอซึ่งถักร้อยเป็นพวงทัดหู ผู้ป่วยอาจจะลุกขึ้นฟ้อนรำกับหมอลำได้ระหว่างพิธี ในนาฏพิธีนี้ ‘หมอผีฟ้า’ ต้องจัดสำรับ ‘เครื่องคาย’ เป็นเครื่องบูชาในพิธีอัญเชิญผีฟ้าและประดาครูอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้มาช่วยเหลือรักษาผู้ป่วย อันประกอบด้วย บายศรีหมากเบ็ง ๑ ต้น เหล้า ไข่ ขันห้า ผ้าแพรวา และเงิน แล้วแต่หมอจะเรียก โดยปกติ ๖ บาท (คือหนึ่งตำลึง) พร้อมด้วยด้ายผูกแขน (บางแห่งอาจมีมากประเภทกว่านี้)

ทำนองเดียวกับพิธีไหว้ครูช่างแคนดังที่ได้กล่าวแล้วในบทก่อนหน้านี้ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ ถาดหรือตะกร้าเครื่องผ้า ประกอบด้วยผ้าแพรผ้าสไบสำหรับสตรี และ “ผ้าซิ่น”

นาฏพิธีนี้ต้องกระทำที่เรือนผู้ป่วย มีญาติผู้ป่วยอยู่ในพิธีด้วย หมอลำผีฟ้าจะอยู่กับบริวารคือบรรดาผู้คนที่หมอลำผีฟ้ารักษาหายแล้ว และหมอแคน

การลำผีฟ้าแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ที่เหมือนกันคือในการเชื้อเชิญครูบาเก่าเข้าสิงร่าง โดยผู้ทำพิธีจะต้องสวม ‘ผ้าซิ่น’ ทับผ้าโสร่งที่ตนนุ่งอยู่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นชาย หากผู้ป่วยเป็นผู้หญิง ครูบาจะใช้ผ้าแพรหรือผ้าสไบห่มทับชุดที่ใส่อยู่

ระหว่างกระบวนการรักษาอันจัดว่าเป็นช่วงของ “นาฏพิธี” นั้น ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องร่วมฟ้อนรำกันทุกคน รวมทั้งผู้ป่วยด้วย ถ้าผู้ป่วยต้องการชมการฟ้อนรำก็ค่อยออกจากขบวน แต่หมอลำผีฟ้าจะทำหน้าที่รำต่อไปจนสิ้นกระบวนความ จากนั้นก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปตั้งบนหิ้งผีฟ้า แล้วก็มาร่วมกันรับประทานอาหาร

สาเหตุที่หมอลำผีฟ้าต้องนุ่งผ้าซิ่น/ห่มผ้าสไบ ขณะประกอบพิธีลำผีฟ้า ก็เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง “ต้นผีด้ำนาย” สายแม่ เพราะในทางตรรกะ ผู้หญิงใน “ปางด้ำนาย” ผู้เป็น ‘แม่ด้ำ’ เป็นต้นคิด เป็นผู้บุกเบิก เป็นผู้รู้วิชาและเป็นมดหมอผู้ทรงวิทยาอาคมในการรักษาลูกหลานที่เจ็บป่วย

ในบางท้องที่มีการตีกลองระหว่างประกอบพิธีด้วยกลองศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เฉพาะภายในสายตระกูลผู้สืบด้ำแถนผีฟ้า ตามความเชื่อว่าตีขึ้นเมื่อใดเสียงจะดังไปถึง ‘พญาแถนหลวง’ ในช่วงเวลานั้นใครขออะไรก็จะได้ทุกอย่าง ร่างทรงผีฟ้ามักใช้การตีกลองรักษาคนไข้ และยังใช้เสียงกลองนี้คุ้มครองคนในหมู่บ้านเมื่อจะออกเดินทางไกลเพื่อให้แถนหลวงคุ้มครอง

หัวหน้าหมอลำผีฟ้าเป็นผู้ประกอบพิธีรักษาคนป่วย ด้วยการอัญเชิญผีฟ้าคือแถนจากเบื้องบนให้ลงมา “เทียมในร่างทรง” ซึ่งก็คือตัวหัวหน้าหมอลำผีฟ้าเอง มักเป็นหญิงอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่รับให้ผีฟ้ามาอยู่ด้วยจะมีชื่อใหม่เป็นชื่อของนางฟ้าบนสวรรค์ ถ้าผู้ชายมาเข้าจะเรียกชื่อขึ้นต้นด้วยคำ ‘ท้าว’ ถ้ามีผู้หญิงมาเข้าก็จะเรียก ‘นาง’ มีข้อห้ามไม่ให้ร่างทรง ‘ท้าว-นาง’ ทะเลาะกับใคร ห้ามด่าทอพ่อแม่ ห้ามลอดราวตากผ้า และยังถือกันว่าเมื่อหายป่วยแล้ว ร่างทรงต้องมาร่วมพิธีเป็นบริวาร หรือรับเป็นหมอผู้รักษา หรือกระทั่งอาจจะเป็นหัวหน้าหมอลำผีฟ้าต่อไปด้วยตนเอง มิฉะนั้นก็จะป่วยอีกหรืออาจเป็นบ้าไปเลยก็ได้

นาฏพิธีหมอลำผีฟ้าจึงมี ‘การหน้าที่’ (Function) ที่สำคัญภายในชุมชน เป็นการจัดตั้งองค์กรทางสังคม (Social organization) รูปการณ์หนึ่ง ที่ใช้ความเชื่อในบรรพชนผีฟ้ายึดโยงเกาะเกี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน โดยที่สมาชิกหลักที่เป็นแก่นแกนเป็นผู้หญิงล้วน และผู้เป็นหัวหน้าทำการเป็นเจ้าพิธีกรรมสืบทอดภาระหน้าที่สำคัญนี้ตามสายตระกูล

สัญญะอีกอย่างหนึ่งที่แสดง ‘ความเป็นหญิง’ ในพิธีกรรมก็คือ ‘ดอกไม้’ ตอนเริ่มต้นเข้าสู่พิธี หมอลำผีฟ้าจะดมดอกไม้ ซึ่งมักเป็น ‘ดอกจำปา’ ทางไทยเราเรียกว่าดอกลั่นทม (ชื่อใหม่คือ ดอกลีลาวดี) มีความเชื่อว่าเป็นดอกไม้ประจำตัวของผีฟ้า ดอกจำปานี้ทางการลาวถือว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติลาว

การประกอบพิธี “ลำผีฟ้า” เริ่มด้วยการให้คนป่วยนั่งพับเพียบทางซ้ายสุดของเรือนหรือปะรำพิธี พนมมือถือกรวยดอกไม้ หมอลำผีฟ้ากราบลง ๓ ครั้ง แล้วทำพิธีเสี่ยงทายไข่ว่า พระยาแถนจะลงมาเข้าทรงหรือไม่ โดยการนำไข่มาวางลงในมือคนป่วย แล้วหมอลำผีฟ้าจะลำอัญเชิญพระยาแถนลงมา หากท่านลงมาสู่พิธี ไข่ไก่จะค่อย ๆ กระดกตัวขึ้น (บางแห่งใช้วิธีผ่าครึ่ง) ถ้าพระยาแถนไม่ลงมา ไข่ไก่จะนอนนิ่งอยู่อย่างนั้น

วิธีอัญเชิญผีฟ้า มีการลำเพื่อวิงวอนขอร้องและมีการฟ้อนประกอบ คลอกันไปกับเสียงแคน ช่วงเวลาที่ผีฟ้าพญาแถนเข้าทรงจะสังเกตได้จากการที่หมอลำมีอาการขนลุก จากนั้นหมอลำก็จะ “ลำส่อง” เป็นการลำเพื่อหาสาเหตุของการป่วย เมื่อทราบสาเหตุแล้วจะมีการ “ลำปัว” กล่าวขอโทษที่ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงแต่งคายเพื่อขอขมา และขอให้คนป่วยหายจากโรคที่ได้ทำผิดผีไป ช่วงนี้จะมีการฟ้อนประกอบ โดยหมอลำผีฟ้าจะฟ้อนก่อน แล้วบริวารของผีฟ้าก็จะฟ้อนตาม ในบางครั้งผู้ป่วยก็จะลุกขึ้นฟ้อนตามด้วย ลงท้ายด้วยการ “ลำส่ง” คือให้สัญญาว่าจะทำทุกอย่างที่ผีต้องการ เสร็จแล้วหมอลำผีฟ้าจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมนตร์แล้วเอาด้ายผูกแขนให้ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการลำผีฟ้า

ปิดท้ายด้วยพิธีสู่ขวัญปัดเป่ารังควาน หมอผีฟ้าจะไม่คิดค่ารักษานอกจากค่ายกครูเพียง ๔ บาท ผู้ที่หายป่วยแล้วจะถือว่าเข้าเป็นสมาชิกผีฟ้าโดยปริยาย จะต้องมาร่วมพิธีทุกครั้งที่มีการรักษาผู้ป่วยรายอื่น ถ้าไม่ติดธุระสำคัญจริง ๆ โดยเฉพาะใน “พิธีลงข่วงผีฟ้า” หรือพิธีไหว้ครูผีฟ้าที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนสามถึงเดือนหกที่บ้านหมอลำผีฟ้า

ลงข่วงผีฟ้า ชุมชนบ้านปากบุ่ง หมู่ที่ ๔ ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=wcKPR2K9hs)

นาฏพิธี “ลงข่วงผีฟ้า”

“ข่วง” เป็นคำไทดั้งเดิมอีกคำหนึ่ง หมายถึง พื้นที่ สนาม

“การลงข่วงผีฟ้า” จึงหมายถึง การลงมารวมที่สนาม หรือพื้นที่ที่ใช้ประกอบนาฏพิธีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปลงพาข้าว” หมายถึง การยกกระด้งกับข้าวไปถวายที่ฮ่าน (ย่าน) ของผีฟ้า นาฏพิธี “ลงข่วงผีฟ้า” มีการฟ้อนรำซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษ ทุกคนที่เข้าร่วมงานจะมีความสนุกสนานม่วนชื่นร่วมกัน

สมาชิกผีฟ้าทุกคนจะนำดอกไม้สีขาวร้อยเป็นพวงมาลัยมาเข้าร่วมพิธี พร้อมธูป เทียนแหวน ตุ้มหู และเครื่องประดับต่าง ๆ มารวมกันเพื่อไหว้ครู

ก่อนถึงวันงานที่จะมีพิธีลงข่วงผีฟ้า หมอผีฟ้าต้องเตรียมสถานที่และอาหารเพราะจะมีผู้มาร่วมงานมาก บางครั้งเป็นร้อยคนที่เดินทางมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ บรรดาสมาชิกผีฟ้าจะทยอยกันมา ส่วนมากนำอาหารของแห้งมาช่วยงานด้วย ขณะที่รอพิธีก็จะจับกลุ่มคุยถามสารทุกข์สุกดิบกัน บ้างช่วยทำอาหาร บ้างจัดสถานที่ ขณะที่หัวหน้าหรือหมอผีฟ้าทำความสะอาดหิ้งบูชาผีฟ้า โดยเอาดอกไม้แห้งหรือเครื่องบูชาจากปีที่แล้วออก เพื่อเตรียมที่ทางไว้สำหรับดอกไม้และพวกมาลัยใหม่ที่บรรดาสมาชิกนำมาร่วมพิธี

พิธีการลงข่วงผีฟ้าเริ่มประมาณสองทุ่ม เมื่อคณะหมอแคนราวสองสามคนมาถึงก็จะเริ่มเป่าแคนสร้างบรรยากาศ หมอผีฟ้าก็จะจุดเทียนทำพิธีอัญเชิญให้ผีฟ้ามาเทียม หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมจึงทยอยกันจุดเทียนเพื่อเข้าทรง แล้วเริ่มรำกันตลอดทั้งคืนฮอดแจ้ง (ถึงเช้า) พิธีจบลงเมื่อหมอผีฟ้าสู่ขวัญสมาชิกทุกคนที่มาร่วมงานด้วยการผูกด้ายที่ข้อมือเป็นการรับขวัญ จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

จาก “ผีด้ำแถน” สู่ “ผีแถนหลวง”

ในทางทฤษฎีของปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) อาจตีความได้ว่า การสถาปนา “ผีด้ำแถน” ให้กลายเป็น “ผีแถนหลวง” เริ่มขึ้นในยุค “ปางด้ำปู่” ตอนปลาย ๆ อาจจะมี “ปู่” บางท่านในบางสายด้ำ เริ่มมีบทบาททั้งการเมืองและการปกครอง ในเครือเมืองไท-ลาว และเริ่มยกสถานะท่านขึ้นมาเป็น “เจ้า” เข้าครองโภคทรัพย์ใน “บ้าน” และ“นาด้ำ” ของชาวไท-ลาว ตามระบบสายด้ำสายตระกูล ซึ่งมีผลผลิตทางการเกษตรรวมหมู่จากการทำ “นาด้ำ” ร่วมกัน

เมื่อ “นาด้ำ” ขยายตัวเป็นหลายผืน เพราะพลังแรงงานรวมหมู่ของพี่น้องสายด้ำและสายตระกูลเดียวกัน โคตรด้ำที่มีศักยภาพก็เริ่มขยายอาณาเขต ด้วยการส่งลูก ๆ ไปบุกเบิกขยายพื้นที่ทำกินใหม่ ๆ โดยมีระบบความเชื่อเรื่อง “ผีด้ำแถน” เป็นประหนึ่ง ‘สายขวัญ’ ที่ยึดโยงใยพี่น้องร่วมสายตระกูลให้รู้รักผูกพันสามัคคีต่อกัน กาลเวลาได้ช่วยประกอบสร้างและกล่อมเกลาให้ “สำนึกความเป็นพวกแถน” เดียวกัน ประดิษฐานอยู่ในระบบความเชื่อของสังคม ณ โครงสร้างชั้นบนสุดของรูปการณ์จิตสำนึกของชาวไท-ลาว ทั่วทั้งสังคมในวงกว้างกระจายสู่เครือ ‘เจาเมือง’ ต่าง ๆ พร้อมกับแสนยานุภาพทางการทหาร ในห้วงเวลาอันเกรียงไกรโดยการแผ่แสนยานุภาพทางการทหาร อันเป็น “ปางแต่งเมือง” ของกลุ่มด้ำแถนนี้เอง ในแง่จิตสำนึกทางอุดมการณ์ ผู้คนและไพร่พลในสังกัดและเครือเมืองลูกหลวง เช่น “กลุ่มเมืองหาน|หาญ” รวมถึงเมืองบริวารน้อยใหญ่ที่อาจจะไม่ได้ถือด้ำแถนโดยตรง ได้ถูกทำให้เป็นพวกเดียวกัน คือ เป็น ‘แถนด้วยกัน’ (Thaen-ization) ในทางปฏิบัติการวาทกรรมก็เป็นช่วงที่ “ความเป็นแถนหลวง” ได้รับการยกสถานะให้กลายเป็น ‘เทพชั้นสูงสุด’ ที่ทรงศักดานุภาพอุปถัมภ์ค้ำจุนกลุ่มเมืองเครือเมืองต่างสายต่างด้ำ ให้ยอมรับนับถือ “แถนหลวง” พร้อมกันไปกับการแผ่แสนยานุภาพของผู้นำผู้ปกครองชาวด้ำแถนและสายตระกูลแถน รวมทั้งผู้ติดตามสวามิภักดิ์ต่างสายตระกูลอื่น ๆ ส่วนสำคัญคือ พลรบชนชาว (จิตสำนึก) แถนซึ่งย่อมต้องแสวงหาพลังศรัทธาทางจิตไปเพื่อรุกรบสยบคู่ต่อสู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของแดนอุษาคเนย์ ที่กองทัพชาว “แถน” ขยายอำนาจไปถึง เพื่อ “ต่อเมือง” และ “แปงเมือง”

เมื่อเวลาผันผ่านไป ทั้งบ้านและเมืองทั่วทั้งอาณาจักรแถนก็ยิ่งมีเสถียรภาพมั่นคง ผีบรรพชนชาวแถนก็ได้เมือสู่ฟ้าไปนานพอสมควรแล้ว ท่านจึงได้รับการยกระดับสถานภาพเหนือผีบรรพชนทั่วไป กลายเป็น “ผีฟ้าพญาแถน” แถนฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่นใดในโลกทัศน์ชาวไท-ลาว ในอาณาเขตยึดครองของชาวตระกูลแถน ในที่สุดเมื่อระบอบศักดินาสถาปนาขึ้นได้อย่างมั่นคงอันเนื่องมาจากกลุ่มวัฒนธรรมแถน ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายชนชาติในพื้นที่อันกว้างขวาง “ผีฟ้าพญาแถน”ในระบบจักรวาลทัศน์ของชาวไท-ลาว และชุมชนพหุชาติพันธุ์แห่งภูมิวัฒนธรรมแถนจึงได้กลายเป็นเทพสูงสุด แถนฟ้าที่ใหญ่เหนือกว่าแถนใดในที่สุดคือ “แถนหลวง” เทพที่มาพร้อมกับการแผ่แสนยานุภาพทางการทหารคู่ขนานกับการเกษตร บ้างก็เชื่อว่าแถนเป็น “พระอินทร์” ผู้มีอิทธิฤทธิ์ในท้องที่บางแห่งของฝั่งฟากสยามประเทศเมื่อมีอิทธิพลความเชื่ออื่นเข้ามาปะปน

ในทางสากลของวงการนักมานุษยวิทยานานาชาตินั้น ส่วนใหญ่วิเคราะห์และตีความว่า “แถนหลวง” เป็นประหนึ่ง “พระเจ้าสูงสุด” ใน “ศาสนาผี” ตามลัทธิความเชื่อดั้งเดิม (Animism) ที่เก่าแก่ที่สุดของกลุ่มวัฒนธรรมชาวไท-ลาวเท่าที่เคยนับถือกันมา ก่อนที่บางกลุ่มจะแยกตัวออกไป และยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา หรือศาสนาอื่น ๆ

(เช่น Prof.George Condominas; Dr.Gehan Wijeyewardene, สัมภาษณ์ส่วนตัวค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๑ ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย)

แม้ว่าในแต่ละพื้นที่มีการขานชื่อ ‘แถน’ แตกต่างกันไป ความเชื่อประการหนึ่งที่ตรงกันก็คือ “แถนหลวง” ที่เป็นผีด้ำใหญ่นั้น สามารถดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้และช่วยเหลือลูกหลานได้ในเกือบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นขอคู่ ขอลูก ขอหลาน หรือกระทั่งขอฝนจากท่านก็ได้ตามความเชื่อของชาวลาวบางท้องถิ่นเช่นทางอีสาน นอกเหนือจากความเชื่อที่ว่าแถนช่วยแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนต่าง ๆ ได้

นาฏพิธีการลำผีฟ้าและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “แถน” กล่าวให้ถึงที่สุด จึงเป็นการอุปมาตามความเชื่อว่า “บรรพชนผีฟ้าแถนหลวง” ได้ลงมาสิงสู่ ‘ร่างทรง’ เพื่อเยียวยารักษาให้ผู้ป่วยหรือคนไข้มีพลังจิตจากพลังศรัทธาที่มีต่อแถน และใช้ความเชื่อมั่นศรัทธานี้ในการต่อสู้กับการเจ็บไข้ได้ป่วยของตน ช่วยให้มีอารมณ์ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด จิตใจปลอดโปร่ง ไร้วิตกกังวล ผลจากกระบวนการทางจิตวิทยาบำบัดของนาฏพิธีลำผีฟ้าและอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับแถน นอกจากเป็นการเยียวยาผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างเสริมจิตสำนึกแห่งความจดจำรำลึกถึงบรรพชนด้วยความนอบน้อม และเกิดสำนึกแห่งความกตัญญูต่อบุพการีของตนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ รักพี่น้องเครือญาติ และมิตรสหายลูกหลานแถนด้วยกัน จนกลายเป็น “อุดมการณ์เชิงโครงสร้าง” อันเป็นคตินิยมของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมา กลายเป็นจารีต ประเพณี พิธีกรรม และนาฏพิธีที่เคร่งครัด ชาวไท-ลาวเห็นว่า “ผีฟ้า” (แถน) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างมั่นคงที่สุด จึงมีคติเตือนใจว่า “คนไม่เห็น ผีเห็น”

สำหรับชาวลาวในประเทศลาวนั้น มีความเป็นมาว่านอกจากจะนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงนับถือผีแถนกันอยู่ ชาวลาวมักเรียกชื่อควบว่า “ผีฟ้าพญาแถน” โดยเชื่อว่าผีฟ้าพญาแถนเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องแถนของชาวลาวไม่ต่างกับทางภาคอีสานของไทย ถือว่าเป็นความเชื่อในกระบวนทัศน์ชุดเดียวกัน ซึ่งสะท้อนออกในพิธีกรรมที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเช่น พิธีแห่เซิ้งบั้งไฟเพื่อขอฝนจากผีฟ้าพญาแถน และมีการลำผีฟ้าเพื่อรักษาโรคด้วยเช่นเดียวกับทางภาคอีสานของไทย

มีเอกสารประวัติศาตร์ชาติลาว บันทึกความพยายามที่น่าสนใจว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๐๗๐ (ค.ศ. ๑๕๒๗) สมัยพระเจ้าโพธิสาลราช (ค.ศ. ๑๕๒๐-๑๕๕๐) พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ได้ออกพระราชอาญาให้ราษฎรเลิกนับถือผีฟ้าผีแถน เพื่อหันไปยอมรับนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ชาวลาวปัจจุบันแม้ได้ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็ยังสืบสานความเชื่อยำเยงในผีฟ้าพญาแถน และในชุมชนชาวลาวทั่วไปก็ยังมีพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในพญาแถนอีกมากมายในวิถีชีวิตประจำวันของชาวลาว ในวาระสำคัญต่าง ๆ ประจำปี ผีฟ้าพญาแถนยังคงทรงอำนาจและอิทธิพลในทุกพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อดั้งเดิมในแดนลาว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อในเรื่อง “ผีฟ้าพญาแถน” นั้น ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย งมงายหรือไร้สาระ “แถน” ไม่เพียง ‘ไม่ธรรมดา’ หากมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ทรงศักดิ์และอำนาจสูงสุดในยุคสมัยหนึ่งที่แน่นอน

หากตีความตามแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) อาจกล่าวได้ว่า “แถน” ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูก “เข้ารหัส” (Encode) ทางวัฒนธรรมความเชื่อ (Cultural Spiritual Code) ของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว แล้วอย่างแท้จริงมายาวนานนับพันปี ท่านจึงมีอิทธิฤทธิ์สืบสายแถนสาวสายแนนมาได้จนถึงทุกวันนี้

คนไท/ไต/ลาว เชื่อตรงกันหมดว่า “ผีฟ้าพญาแถน” สามารถที่จะกำหนดขีดเส้นการเกิดการตายของมนุษย์ได้ เมื่อคนเราตายไป “ขวัญ” จะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชนต้นโคตรด้ำ โดยย้อนรอยไปตามทางที่สายโคตรบรรพชนได้เดินทางผ่านมาจนกระทั่งถึงต้นทางอันเป็นถิ่นกำเนิด   “ขวัญ” ของผู้ตายจะไม่แตกดับเหมือนร่าง การตายเป็นเพียงการจากไปของร่าง (สังขาร) แต่จิตวิญญาณจะยังคงอยู่ ในพิธีศพของชาวไทจึงต้องมีการสวด “ส่งผีขวัญ” ให้คืนไปหาแถนหลวงที่เมืองฟ้า…

“สุดชั่วไม้ เจ้าจึงเมือบน

สุดชั่วคน เจ้าจึงเมือฟ้า

เจ้าฮักเมืองฟ้า เกินกว่าเมืองคน

ฮักเมืองบน เกินกว่าเมืองลุ่ม”

 

(บทสวดส่งวิญญาณชาวไทดำในเวียดนาม)

บริเวณวัดสังคะโลกปัจจุบัน (ภาพโดย ทองแถม นาถจำนง)
วัดสังคะโลก หรือวัดสีสะหวันเทวะโลก สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๐๗๐ ในสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช พระองค์สั่งให้ประชาชนเลิกเชื่อผีบูชาแถน แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา และรื้อถอน “หอผี” สำคัญ ๆ สร้างเป็นวัดแทน วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่แสดงถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในด้านความเชื่อและศาสนาของคนลาวคือ เปลี่ยนจากบูชาผีฟ้าผีแถน มาเป็นนับถือพระพุทธศาสนา (บรรณาธิการ)

เสมาหิน? วัดสังคะโลก (ภาพโดย ทองแถม นาถจำนง)
วัดสังคะโลก เดิมเป็น “หอผี-หอเงือก” ใหญ่ที่สุดในเชียงดงเชียงทอง มีความสำคัญในฐานะจุดศูนย์กลางการบูชาในความเชื่อผีฟ้าและเงือก เรียกว่า “สบดง” เมื่อศาสนาพุทธในเชียงดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) เริ่มมั่นคง (ในรัชกาลเจ้าฟ้างุ้ม ยังนำพระบางมาประดิษฐานในเชียงดงเชียงทองไม่ได้) พระเจ้าโพธิสาลราชรื้อหอผี เปลี่ยนเป็นวัด หินก้อนนี้อาจจะเป็นหินตั้ง มีมาตั้งแต่ยุคหอผี หรือเป็นใบเสมารุ่นแรกของวัดพุทธ? (บรรณาธิการ)

Related Posts

ชายเป็นใหญ่ : จาก “แถน” สู่ “เทพ”*
“ด้ำเสือ”
“เมรุนกหัสดีลิงค์” อริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com