“นางกวักเอย อีลักถักแถก อีแม่เจ้าแยก อีแม่เจ้ายอง
หาคนยกคนย่อง ให้เจ้าสูงเทียมฟ้า
เจ้าอวดอ้างข้างขึ้นเดือนหงาย กะลิงกะลายเดือนแจ้ง
อีแม่แอ้งแม่ง อีแม่นางกวัก …
เชิญเอ๋ย เชิญลง พระองค์เขาเขียว
ช้างงาเดียวเสด็จลงมา จะลงตัวข้าหรือจะลงตัวใคร
ลงทักลงทาย อีแม่ยายยมเอย”
(คำร้องเชิญผีนางกวัก ลาวครั่ง บ้านลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม)
ยันต์นางกวักกับนกกวัก
วิถีชุมชนไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเดินเหินไปย่านใดก็จะพบ ‘นางกวัก’ กวักมือเรียกทักทายเราให้เข้าไปซื้อหาสินค้าอันเป็นสิ่งต้องประสงค์ เพราะพ่อค้าแม่ขายเชื่อกันว่านางกวักเป็นจิตวิญญาณที่มีลักษณะพิเศษ มีเมตตามหานิยม ช่วยโน้มนำ ‘คุณลูกค้า’ มาเข้าร้าน จากนั้นก็ควักกระเป๋าหยิบสตางค์ แลกกับสินค้าข้าวของบางอย่างติดไม้ติดมือออกจากร้านไป บางร้านต้องการดึงดูดวัยรุ่น เริ่มมี ‘แมวกวัก’ กระโจนข้ามวัฒนธรรมมาจากญี่ปุ่น เราจะยังไม่ไปยุ่งเรื่อง ‘แมวกวัก’ เพราะจะพาวุ่นโค้งออกนอกแนว “ปางด้ำนาย” ที่กำหนด
กลับมาที่ ‘นางกวัก’ ของคนไทยเราทางฝั่งสยามบ้าง อย่างไรสยามก็หนีไม่พ้น การ ‘ปน’ (ที่ไม่เปื้อน) ทางวัฒนธรรม ความนิยม ‘นางกวัก’ มีสูงขึ้นเป็นลำดับ เพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ‘นางกวัก’ ก็ถูกนำไปผูกเป็นเรื่องเป็นราว แบบ ‘ลากเข้าพุทธ’ ให้นางกวักเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอินเดียตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังมีคำอธิบายความเป็นมาของ ‘นางกวัก’ ถึงกับอ้างว่า ‘นางกวัก’ มี “ชื่อจริง” ทีเดียว นางกวักถูกเข้ารหัสในภาษาบาลีเป็นสาย“ตระกูล-สุ” ที่แปลว่า ดี งาม และได้รับการยกสถานภาพทางชนชั้นวรรณะให้เป็นพราหมณ์ ความว่า
“…นางกวักชื่อจริงว่า สุภาวดี บิดาชื่อ สุจิตตพราหมณ์ มารดาชื่อ สุมณฑาเกิดที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ (อยู่ห่างไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี) มีครอบครัวประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ ได้ขยายกิจการซื้อเกวียนมาหนึ่งเล่ม นำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น บางครั้งบุตรสาวขออนุญาตเดินทางไปด้วย เพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ระหว่างการค้าขาย นางสุภาวดีได้มีโอกาสพบกับ “พระกัสสปเถระ” เป็นอริยสงฆ์แสดงธรรม หลังจากสุภาวดีฟังธรรมเทศนาอย่างตั้งใจแล้ว พระกัสสปเถระเจ้าได้กำหนดจิตเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสิทธิ์ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัว โดยได้ตั้งกุศลจิตประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่สุภาวดีมีโอกาสไปฟังจนจบแล้วอำลากลับ ต่อมาสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาไปทำการค้า และมีโอกาสฟังธรรมพระอริยสงฆ์อีกท่านหนึ่ง นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” นางสุภาวดีได้ฟังธรรมอย่างตั้งใจ จึงมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่าง ๆ เป็นอันมาก พระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น คือ ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน จึงคลอดออกมาพร้อมด้วยวาสนา บารมี ที่ติดมากับวิญญาณธาตุของท่าน ท่านจึงเป็นผู้มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอดเมื่อถึงคราวจำเป็นและต้องการ ทุกครั้งที่สุภาวดีได้ฟังธรรมและลากลับ พระสิวลีเถระเจ้าได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัวเช่นเดียวกัน จิตของสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ส่งผลให้บิดาทำการค้าได้กำไรไม่เคยขาดทุน นางได้รับพรว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่าง ๆ สมความปรารถนาเถิด สุจิตตพราหมณ์ผู้บิดารู้ว่านางสุภาวดีคือผู้เป็นสิริมงคลที่แท้จริง เป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัว ครอบครัวร่ำรวยขึ้นเป็นมหาเศรษฐีมีเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบได้กับธนัญชัยเศรษฐี – บิดาของนางวิสาขาแห่งแคว้นโกศล บิดาของสุภาวดีได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรมด้วยความศรัทธา เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตแล้วชาวบ้านจึงปั้นรูปแม่นางสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง ความเชื่อดังกล่าวนี้ได้แพร่หลายเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิจากการเผยแพร่ของพราหมณ์ และยังคงเป็นความเชื่อที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้”
ยังมีความเป็นมาของ ‘นางกวัก’ อีกสำนวนหนึ่ง ที่ถูกลากเข้าเรื่องราวมหากาพย์สำคัญของอุษาคเนย์ คือ เรื่อง “รามายณะ” โดยผูกโยงกับ ‘ปู่เจ้าเขาเขียว’ อันเป็นความเชื่อฟากฝั่งพื้นบ้านแบบไท/ลาว ความว่า
“…สืบเนื่องมาจากเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระรามออกตามหานางสีดา พระรามได้พบกับท้าวอุณราช พญายักษ์เจ้านครสิงขร พระรามได้เอาต้นกกเป็นศร แผลงศรมาปักยอดอกท้าวอุณราช คนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า ท้าวกกขนาก พระรามได้สาปให้ศรตรึงท้าวอุณราชอยู่ภายในถ้ำเขาวงพระจันทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของลพบุรี แล้วยังสาปสำทับไว้ว่า ท้าวกกขนากจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำเขาวงพระจันทร์จนกระทั่งถึงศาสนาพระศรีอาริย์ นางประจันทร์ธิดาของท้าวอุณราช ทราบเรื่องก็เข้ามาเฝ้าปฏิบัติเป็นเพื่อนบิดา ทั้งยังเอาใยบัวมาทอทำเป็นจีวร เตรียมไว้ถวายเมื่อถึงคราวพระศรีอาริย์เสด็จมา เป็นการสร้างกุศลอุทิศให้บิดา ข้างชาวเมืองต่างก็เกรงกลัวว่าท้าวอุณราชหรือท้าวกกขนาก จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอาละวาด เห็นนางประจันทร์เอาน้ำส้มสายชูไปหล่อที่ศรก็พากันขับไล่นางประจันทร์ พร้อมกับกลั่นแกล้งด้วยนานาประการ ความได้ทราบไปถึง ปู่เจ้าเขาเขียว ผู้เป็นสหายของท้าวอุณราช จึงส่งธิดาซึ่งมีรูปโฉมงดงามเป็นที่สุด เป็นที่แสนเสน่หาแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดิน มาเป็นเพื่อนนางประจันทร์ เพื่อนางประจันทร์จะได้เสื่อมคลายความเศร้าโศกลงบ้าง นับแต่ธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวมาอยู่เป็นเพื่อนนางประจันทร์ แล้วประชาชนที่เคยเกลียดชังนางประจันทร์มาแต่ก่อนก็กลับใจเป็นรักใคร่ นำของกำนัลต่าง ๆ มาให้นางประจันทร์เป็นบรรณาการอยู่เสมอไม่ขาดแม้การเดินทางจะแสนทุรกันดารเพียงไรก็หาย่อท้อไม่ ต่างพยายามเดินทางมาด้วยความรักและเมตตาต่อนางประจันทร์เป็นที่ยิ่ง และมุ่งหน้ามาทำบุญกุศลกันอย่างคับคั่งมากมาย จนความเกลียดชังที่ท่วมท้นเป็นอันเสื่อมสลายไปสิ้น ด้วยเหตุนี้ นางประจันทร์จึงตั้งชื่อให้ธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวว่า “แม่นางกวัก” ด้วยนางได้กวักเอาคนเข้ามาหา เพราะคุณงามความดีอันมหาศาลนี้ พระเกจิอาจารย์ผู้ขลังทางเวทมนตร์จึงได้สร้างรูป “แม่นางกวัก” ขึ้นไว้เป็นที่สักการบูชา เพื่อผลทางมหานิยมในการค้าขาย พร้อมทั้งมีคาถาบูชาแม่นางกวักหลายสำนวน อาทิ เช่น
ลายนกคู่ บนเศษภาชนะดินเผา แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง อายุเจ็ดพันปี
(จากหนังสือ “การบูชานกในจีน” ศ.เฉินจิ้นเจี้ยน 中国 鸟 信仰 :陈 勤 建,学苑出版社 2003)
คาถาบูชาแม่นางกวัก
ตั้งนะโม ๓ จบ
“โอมปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียว ชื่อว่าแม่นางกวัก
หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายรัก อยู่ทุกถ้วนหน้า
เอหิมามะมะ อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ
จะค้าขาย ก็ขอให้เป็นเศรษฐี หนึ่งปีให้เป็นพ่อค้าสำเภาทอง
จะค้าเงิน ขอให้เงินเข้ามากอง
จะค้าทอง ขอให้ไหลมาเทมาเต็มบ้านเต็มเรือน
จะค้าขายสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้ซื้อง่ายขายคล่อง
ขอให้ซื้อง่ายขายดี ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ นะมะอะอุ นะชาลีติ อิกะวิติ
พุทธะสังมิ ทุสะมะนิ อิธะคะมะ จะพะกะสะ นาสังสิโม สุมะโมโล
นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมตตา โมขายดี
พุทธไม่ต่อ ธาซื้อดี ยะใจดี มิใจอ่อนรัก
พุทโธ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง
สิทธิโภคา สิทธิพะลา สิทธิจะมหาเดชา นะชาลีติ เอหิจงมา
พุทธะสังมิ นิมามะมามา มาช่วยกันค้า มาช่วยกันขาย
กวักเอาเงินมา กวักเอาทองมา กวักเอาโชคลาภ
แก้วแหวนเงินทองข้าวของ หน้าที่การงาน ผู้คน
ชื่อเสียงเกียรติยศ ข้าทาสหญิงชายมา
มาด้วยนะโมพุทธายะ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง ฯ”
“นางกวักเป็นใครในบริบทไท-ลาวพื้นบ้าน”
ลองย้อนกลับไปหาลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ไม่น่าจะเป็นการหลงทิศผิดทาง หากจะวิเคราะห์ว่า ความเชื่อเรื่อง ‘นางกวัก’ มีเค้ามูลมาจากความเชื่อและพิธีกรรมบูชาบรรพชนผู้เป็น ‘บรรพสตรี’ นางหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับการปั่นฝ้ายตำหูก (ทอผ้า) ซึ่งเดิมเป็นวิถีการผลิตเพื่อประโยชน์ใช้สอยและการประกอบพิธีกรรมในครัวเรือนและชุมชน มีความเป็นไปได้ด้วยว่าใน(หมู่) บ้าน ที่วิถีการค้าเริ่มเข้ามาในหมู่บ้านก็สามารถส่งผลให้หัตถกรรม “ผ้าทอมือ” กลายเป็น “สินค้า” หรือในชั้นแรกเป็นผลิตผลสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการยังชีพ (Barter system) จนในที่สุดสามารถแปรเป็นทรัพย์ ผู้ทอสามารถได้เงินตราประเภทเบี้ยหอยอีแปะ เหรียญ เงินพดด้วง ฯลฯ มาจับจ่ายใช้สอยในครอบครัวและภายในหมู่บ้าน
การวิจัยสนามพบว่า “การเล่นนางกวัก” เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวไท-ลาวบางกลุ่ม เช่น ในชุมชนชาวไทพวน (ที่บ้างเรียกว่า ลาวพวน) และพบว่ามีบ้างในชุมชนของชาวลาวครั่งในแดนสยาม ชาวไททั้งสองกลุ่มนี้มีประวัติว่าอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเวียงจันทน์ เมื่อครั้งยังเป็นประเทศลาว การย้ายถิ่นก็คงจะมีที่มาทำนองเดียวกับชาวไทดำหรือที่เรียกว่าลาวโซ่งดังได้กล่าวไปแล้ว
ตามความเชื่อของชาวไทโบราณ มีความนิยมในเรื่องการอัญเชิญผีบรรพชนมาเยี่ยมยามลูกหลาน จิตวิญญาณหรือผีที่นำมา ‘เล่น’ กันมีหลายรูปหลายรอย ซึ่งมักจะผ่านการเข้าทรงเพื่อจะได้ติดต่อถึงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว สามารถไต่ถามสารทุกข์สุกดิบและเรื่องราวต่าง ๆ หลังความตายได้ว่า มีความเป็นอยู่อย่างไร ต้องการอะไรบ้าง ทางญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้เซ่นไหว้ หรืออุทิศส่วนกุศลไปให้ตามแนวทางพุทธศาสนา ดวงวิญญาณจะได้สงบสุขมีความเป็นอยู่ในภพที่ดี ระหว่างนั้นลูกหลานบางคนก็จะถามถึงเรื่องโชคลาภ วาสนา เนื้อคู่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว หรือบางคนก็อาจจะถามถึงเลขเด็ด (ถ้าเล่นกันใกล้วันหวยออก)
การเล่นนางกวัก มีกระบวนการที่เยียวยาจิตใจของลูกหลานอยู่ในที ด้วยลักษณะของการพูดคุยซักถามกับผีนางกวักคล้ายกับการดูหมอ มีส่วนทำให้ผู้ถามมีความกระจ่างใจ พูดคุยซักถามผีนางกวักแล้วเกิดความสบายอกสบายใจในสิ่งที่เป็นกังวลอยู่
การอัญเชิญผีนางกวักมักเชิญกันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ และจะต้องเชิญที่ทางสามแพร่งตามความเชื่อว่าเป็นทางที่ผีโคจรมาได้ โดยการทำขัน ๕ ใส่ธูปเทียน เงินค่าครู ๕ สตางค์ ในสมัยก่อน ปัจจุบันถ้าไม่มีเหรียญ ๕ สตางค์ ก็ใช้เหรียญ ๕ บาทแทนได้ บางชุมชนมีสากตำข้าวอีก ๑ อัน เพื่อเอาไว้ให้นางกวักเข้าร่างหุ่นไม้ไผ่นางกวักได้เร็วขึ้น เป็นการจำลองยุคสมัยแห่งความเป็นพื้นบ้านที่ชุมชนมีวิถีเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง (Subsistent Economy) ยังใช้ครกสากตำข้าวกันอยู่ทุกครัวเรือน
การเล่นนางกวัก มีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ ตัวของนางกวักเอง ซึ่งสร้างจากการนำ ‘กวัก’ (อุปกรณ์ที่ใช้ปั่นด้าย) มาเป็นตัวนางกวัก ใช้กะลามะพร้าวแห้งผ่าซีกทำเป็นส่วนหัวและใบหน้าเจาะรูมัดไว้บนหัวนางกวัก ชาวบ้านก็จะวาดคิ้ว ตา จมูก ด้วยถ่านไม้ และทาปากด้วยปูนแดงนำเสื้อแขนยาวสีดำหรือเสื้อหม้อฮ่อมเก่ามาสวม เอาตอกมัดแขนเสื้อกับไม้ไผ่ให้แน่น โดยฝ่ายลูกหลานจะนำอุปกรณ์เครื่องจักสานมาเตรียมไว้ บ้างนำไม้คานมาผูกทำเป็นส่วนแขน บ้างนำเสื้อผ้ามาแต่งตัวให้กับนางกวัก บ้างเตรียมทรายใส่กระด้งไว้สำหรับทำเป็นที่เขียนหนังสือของนางกวัก แล้วทำพิธีอัญเชิญวิญญาณผีนางกวักเข้าสิง
พิธีเริ่มด้วยการให้ผู้หญิงสาว ถือ ‘กวัก’ กันสองคน คนละข้าง ยก ‘กวัก’ ขึ้นไว้ แล้วนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปอัญเชิญ โดยมีตัวแทนของผู้เล่นที่มีอาวุโส (ผู้หญิงคนแก่) เป็นผู้อัญเชิญและทำพิธีขอขมาลาโทษต่อเจ้าที่เจ้าทางและ ‘ผีทางหลวง’ ก่อนที่จะทำการเล่น ส่วนคนอื่นหรือผู้ดูนั่งล้อมวงกันอยู่รอบ ๆ กระด้งที่มีทรายใส่ไว้จนเต็มซึ่งปาดหน้าให้เรียบ เมื่อขอขมาเสร็จแล้วพวกที่นั่งล้อมวงอยู่ก็จะช่วยกันกล่าวคำร้องเชิญดวงวิญญาณเข้าทรงนางกวัก คำร้องเชิญนางกวักมีหลายสำนวน แตกต่างไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น
“นางกวักเอย นางกวักทักแท่ เห่เจ้าแหญ่ อีแม่แญญอง หาคนญาคนญอง
เห้อสูงเพียงช้าง เจ้าอย่าอ้างต่างหู เดือนหงาย สานลิงสานลาย
เดือนหงายเดือนแจ้ง เจ้าอย่างแอ้ง อีแท่นางกวัก กวักเจ้ากวัก นางกวักทักแท”
(ไทพวน ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี)
“เต้าอีแม่นางกวัก เจ้าไปยัวะแหย่ เจ้าไปแหย่ยอง
ปลูกเถียงไฮ่ตีกลอง ปลูกเถียงนาคล้องช้าง
สาวอวดอ้างเล่นบ่าวกลางเวน สาวฝันเห็นซู่ค่ำซู่ค่ำ
สาวต่ำหูกเดือนหงาย สาวตาลินตาลายเดือนแจ้ง
แม่แล่งแค้งเจ้าลงมาเยอ”
(ไม่ระบุแหล่งเนื้อเพลง ข้อมูลจากเว็บมหัศจรรย์แดนสยาม การเสี่ยงแม่นางกวัก)
“นางกวักเอ้ย อีพ่อหยักแหย่
ก้นหยุกก้นหยอ เจ้าอวดเจ้าอ้าง
ตกดินตกทราย เจ้าแอ้งแม่ง นางสีดา
นางกวักเจ้าแม่กวัก อีแม่แหย่ยอ
มาสูงเอียงข้าง ต่ำหูกเดือนหงาย
เดือนแจ้งจากฟ้าลงมา
แก่นแหนต้อนแต้น ต้อนแต้น”
(ไทพวน ข้อมูลจากเว็บสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ http://www.sathorngoldtextile
museum.com/celebration.html)
การเล่นนางกวัก ลาวครั่ง บ้านลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
(ภาพจาก http://www.newsreport nakhonpathominside.com)
การเล่นแม่นางกวัก ของชาวไทพวน ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ภาพจากเว็บมารู้จักไทพวนกันเด้อพี่น้อง https://sites.google.com/site/ton๒๕๕๔๐๑/kar-la-len-nang-kwak
การร้องเชิญดวงวิญญาณเข้าทรง ‘กวัก’ จะร้องวนขึ้นต้นกันใหม่ ร้องซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าวิญญาณจะเข้าสิง ‘กวัก’ เมื่อผีเข้าสิงกวักจะรู้ได้โดยสังเกตจาก ‘กวัก’ ที่คนทรงถือคือกวักจะเริ่มสั่นไหว แล้วก็ดิ้นกระโดดโถมไปโถมมา ทางซ้ายทางขวา ตามจังหวะเสียงร้องคำเชิญ ถ้า ‘กวัก’ เคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าว แสดงว่าวิญญาณ ‘ผีนางกวัก’ เข้าทรงแล้ว คนทรงหรือคนถือกวักก็จะนำ ‘กวัก’ มานั่งใกล้ ๆ กับกระด้งที่เตรียมไว้ ขณะที่นำมานั้น ‘กวัก’ จะสั่นอยู่ตลอดเวลา จากนั้นผู้เล่นที่นั่งล้อมวงโดยเฉพาะหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็จะเริ่มตั้งคำถามต่าง ๆ ที่อยากรู้ ลักษณะคล้าย ๆ กับการทำนายทายทักแบบหมอดู ที่น่าสนใจก็คือ ‘การเล่นกวัก’ จะใช้วิธีตอบคำถามโดยการเขียนหนังสือโต้ตอบ เมื่อผู้ถาม ๆ จบ ผีนางกวักก็จะตอบโดยการใช้แขนที่ทำด้วยไม้คาน เขียนเป็นตัวหนังสือลงบนทรายที่กระด้ง คนถามก็จะได้คำตอบทันที การเขียนตอบจะเขียนไม่ยาว เป็นเพียงข้อความสั้น ๆ เช่น “ใช่ ไม่ใช่ ได้ ไม่ได้ ดี ไม่ดี” ฯลฯ การถามคำถามนั้นจะสลับไปกับการร้องเพลงประกอบ ขณะที่มีการร้องเพลง เคาะจังหวะ นางกวักก็จะเต้นล้มไปด้านซ้าย-ด้านขวา ตลอดเวลาตามจังหวะด้วย เป็นที่สนุกสนานทั้งนางกวักและผู้เล่น จนเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายและหมดคำถามที่จะถามแล้ว ก็จะเชิญวิญญาณที่เข้าสิงนางกวักออก โดยทำพิธีไปส่งที่จุดแรกที่เชิญเข้าทรง เมื่อวิญญาณออกแล้ว ‘กวัก’ ที่คนทรงถืออยู่ก็จะมีอาการสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว
คู่หนุ่มสาวที่มาเล่นสงกรานต์ตามหมู่บ้านจะเสี่ยงทายเรื่องคู่ครองบ้าง ลองหยั่งถามเรื่องตนเอาเงินไว้มือไหนบ้าง เรื่องใครมากับใครบ้าง คนต่างถิ่นที่มาร่วมพิธีใครเป็นพ่อเป็นแม่บ้างสารพัดคำถามแล้วแต่จะถามผีนางกวัก ถ้าเสี่ยงทายถูกก็จะนำเงินค่าครูมาใส่ในพานขัน ๕ ครั้งละ ๑ บาท ๒ บาท หรือ ๕ บาท แล้วแต่จะศรัทธาใส่พานให้ เงินที่ได้จากการเสี่ยงทายจะนำไปแห่ธงสงกรานต์ แล้วมอบให้วัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผีนางกวักตนนั้นต่อไปอีกด้วย การเล่นผีนางกวักมักเล่นในเวลากลางคืน หลังจากเลิกเล่นจะเชิญผีออกจากกวัก วันรุ่งขึ้นจะเชิญมาเล่นใหม่ การเล่นนี้จะเล่นจนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์ คือก่อนวันสรงน้ำพระ ๑ วัน เงินที่ได้จากการเล่นก็จะนำไปเข้าพุ่มผ้าป่าถวายวัดในการแห่ธงสงกรานต์
อาจวิเคราะห์ได้จากการสร้างหุ่น ‘ผีนางกวัก’ ได้ว่า บรรพสตรีท่านนี้เป็นชาวบ้าน ที่น่าจะเก่งทางการปั่นไหมปั่นฝ้ายเพื่อการทอผ้าเป็นพิเศษ ‘หุ่นนางกวัก’ ที่ทำจากไม้ไผ่ นำมาจักสานให้เป็นรูปร่างของ ‘กวัก’ คล้ายเครื่องทอผ้า หรือ “หูกตำผ้า” ของคนพื้นบ้านไท-ลาวที่มีหูกทอผ้าเอาไว้ใช้เอง การที่นางกวักมีแขนเป็นไม้ไผ่นั้น ตามความเชื่อว่าเอาไว้ให้ “ผู้หญิงที่มีจิตใจอ่อนโยน” มายกขึ้น ถ้าผีนางกวักเข้าสิง ‘หุ่นนางกวัก’ จะหนักมาก ทั้งนี้เวลาเข้าสิงผู้ทำพิธีจะถามผีนางกวักตนนั้นว่าชื่ออะไร มาจากที่ไหน ถ้าไม่ใช่ผีนางกวัก หมายถึงว่าเป็นผีตนอื่นหลงพลัดเข้ามาสิง ก็จะทำพิธีอัญเชิญออกจากหุ่นนางกวักก่อน แล้วค่อยทำพิธีอัญเชิญรอบใหม่
บางตำนานให้รายละเอียดว่า ‘กวัก’ คือเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการทอผ้าชนิดหนึ่งเป็นเครื่องจักสานรูปทรงกลม ลายโปร่งเหมือนตาชะลอม ปกติใช้สำหรับพันด้ายหรือเส้นไหมก่อนจะนำมาตั้งลายกับหูก หลังจากได้ตัวกวักมาแล้ว ก็นำกะลามะพร้าวด้านที่มีรู มาร้อยเชือกมัดกับตัวกวัก สมมุติให้มีลักษณะเป็นหัวคน แล้วนำไม้บงหรือไม้รวก ที่เป็นไม้เหยียบกี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าอีกชิ้นหนึ่ง มีความยาวประมาณ ๑ วา นำมาเสียบกลางตัวกวัก สมมุติให้เป็นแขนนางกวัก ต่อจากนั้นก็นำนางกวักที่มีหัวมีแขน มาสวมเสื้อ ส่วนมากใช้เสื้อชาวนาสีดำสวมทับลงบนตัวกวัก
บางชุมชนทางภาคอีสานมีการเตรียมเครื่องเซ่นเพื่อเชิญผีนางกวักมาลง โดยให้นำกระด้งมา ๑ อัน ใส่กระจก หวี ช้องผม ลงในกระด้ง แล้วนำกระด้งไปวางที่โคนต้นไม้ใหญ่ โดยนำไม้ไผ่ขนาดยาววางพาดกับต้นไม้ใหญ่นั้น ให้ปลายไม้ยาวด้านหนึ่งอยู่ติดกระด้ง สมมุติว่าเป็นบันไดให้นางกวักลงมาจากต้นไม้เพื่อมาเข้าตัวกวัก แล้วก็ร้องเชิญ
“นางกวักเอย นางกวักเจ้าแม่กวัก อี่พ่อยักแย่ อี่แม่แย่ยอ คนยกคนยอ
เจ้าสูงเพียงข้าง เจ้าอวดอ้างต่ำหูกเดือนหงาย ตกดินตกทรายเดือนแจ้ง
เจ้าแอ้งแม้งนางฟ้าลงมา นางสีดาแกว่งแขนต๊องแต๊ง ต๊องแต๊ง”
เมื่อร้องเพลงนางกวักกลับไปกลับมา ผีนางกวักก็จะมาเข้ากวักที่ทรงเครื่องไว้ เมื่อเข้าแล้วก็จะสามารถทำสิ่งที่คนล้อมรอบขอให้ทำ เช่น ทายชื่อคน ทายเนื้อคู่ เป็นต้น วิธีทายของนางกวักก็คือ ใช้แขนไม้ข้างหนึ่งเขียนตัวหนังสือหรืออักษรย่อบนพื้นดิน โดยที่หญิงที่ถือนางกวักในสมัยก่อนนั้นไม่รู้ตัวหนังสือเลย แต่นางกวักก็เขียนให้คนที่ล้อมวงอ่านได้ เป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง แต่สำหรับเด็ก ๆ นั้น ขณะดูก็จะเกิดความรู้สึกกลัวผีนางกวักมาก เพราะสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ตะเกียงและเทียนไข ให้แสงสว่างวอมแวม นอกจากนี้นางกวักยังถูกทาหน้าด้วยถ่านไม้และปูนแดง เมื่อมองดูแล้วน่ากลัวมาก
ชุมชนตำหูกทอผ้าอีกบางแห่งใช้ไม้ไผ่ขนาดยาวพาดหลังคาบ้าน โดยลำไผ่จะอยู่ชิดติดกับตัวนางกวักและกระด้งเครื่องเซ่นผีนางกวัก เมื่อกวักเกิดอาการสั่นแล้ว ผู้คนที่มาดูจะร่วมกันร้องเพลงให้นางกวักเต้น…
“นางกวักเอ้ย อีพ่อหยักแหย่ ก้นหยุก ก้นหยอ
เจ้าอวดเจ้าอ้าง ตกดินตกทราย เจ้าแอ้งแม่งนางสีดา
นางกวักเจ้าแม่กวัก อีแม่แหย่ยอ มาสูงเอียงข้าง
ต่ำหูกเดือนหงาย เดือนแจ้งจากฟ้าลงมา
แก่นแหนต้อนแต้น ต้อนแต้น”
ในขณะที่ร้องเพลงให้นางกวักเต้นอยู่นั้น จะมีการถามถึงโชคชะตาราศีหรือเรื่องอื่น ๆ ที่สนใจใคร่รู้ นางกวักจะตอบด้วยการแสดงกริยาอาการ เช่น ด้วยการใช้ปลายแขนเขียนเป็นตัวหนังสือหรือใช้ปลายแขนทิ่มดินนับเป็นครั้ง ได้คำตอบเป็นที่พอใจแล้วก็จะทำพิธีเชิญนางกวักออก ด้วยการเอาไม้พาดบนชายคาบ้านนั้นออก วิญญาณที่เชิญมาเล่นนางกวักก็จะออกจากร่าง เป็นการเสร็จพิธีการเล่นนางกวัก
“นางกวัก” มีนัยยะสำคัญในมุมมองทางมานุษยวิทยา
‘กวัก’ ที่เป็นคำนาม คือ ชื่อนกตัวขนาดนกเขา หากินตามพื้นดิน
คำกริยา แปลว่า โบกมือให้เข้ามา (พจนานุกรมฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร)
คำแปลนี้ ยังไม่ได้ครอบคลุมอุปกรณ์พื้นบ้านชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านใช้ในการทอผ้า
จากการวิจัยอุปกรณ์ทอผ้า พบว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ‘อัก’ หรือ ‘กวัก’ ก็เรียก อยู่ในกลุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมเส้นด้ายหรือเส้นไหมก่อนลงมือทอผ้า ได้แก่
อิ้ว เป็นเครื่องมือสำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย
กงดีด ใช้สำหรับดีดฝ้ายให้ฟูเป็นปุยแตกออกจากกัน
ไนปั่นด้าย เป็นเครื่องมือใช้ปั่นด้าย หรือ กรอด้ายเข้าหลอดก่อนนำไปทอ
อัก หรือ กวัก เป็นเครื่องคัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม ทำด้วยไม้คล้ายหลอดด้าย เจาะรูตรงกลาง ปลายทั้ง ๔ ด้านมีไม้ประกบสำหรับสวมรูเพื่อให้กวักหมุน กวักเป็นเครื่องมือสำหรับใช้กรอด้ายจากระวิงให้เป็นระเบียบ ก่อนจะสาวเข้ากงเพื่อแยกเป็นปอย ๆ และแยกเป็นไจ ๆ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุคำแปลเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า
‘กวัก’ เป็นชื่อนกขนาดกลางชนิดหนึ่ง (Amaurornis phoenicur) หรือที่เรียกว่า Pennant อยู่ในวงศ์ Rallidae มีลำตัวสั้น รูปร่างป้อม ขาและนิ้วยาว หน้าผากและด้านล่างของลำตัวเป็นสีขาว อาศัยอยู่ตามหนองน้ำ เดินหากินบนพื้นดิน หรือบนใบพืชน้ำ เช่น ใบบัว จอก แหน ขณะเดินหางมักกระดกขึ้นกระดกลง ในตอนเช้าหรือพลบค่ำจะส่งเสียงร้องดัง “กวัก ๆ”
ในที่นี้จะยังไม่ด่วนสรุปว่า ‘นางกวัก’ มีที่มาจากอุปกรณ์กวักฝ้าย-ไหมเพื่อเตรียมการทอผ้า หรือมาจาก ‘นกกวัก’ ที่มีหางกระดกขึ้นลงเวลาเดิน และร้องกวัก ๆ
ว่ากันจากใจส่วนลึก ผู้เขียนชอบทั้งสองความหมาย เพราะทั้งสองความหมายจัดว่าเป็น‘สัญญะ’ ที่มีนัยยะสำคัญทางมานุษยวิทยา
ทั้ง ‘กวัก’ – เครื่องมือปั่นด้วย และ ‘นกกวัก’ ล้วนสามารถเชื่อมโยงไปถึงยุค “ปางด้ำนาย” ตามที่ได้นำเสนอมาเป็นลำดับขั้นได้อย่างหมดจด
ความหมายแรก : ‘กวัก’ บ่งบอกถึงการคิดค้นอุปกรณ์การ ‘กวัก’ ไหมหรือฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย ก่อนที่จะนำมาทอผ้า อันเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะต้องคิดค้นให้สำเร็จจึงจะดำเนินการทอผ้าได้ ‘กวัก’ จึงเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในสังคมชุมชนบรรพกาล ซึ่งมีบรรพสตรีสามารถคิดค้นขึ้นมาได้สำเร็จ จนต้องจดจำเล่าขานและเชื้อเชิญให้มาคุ้มครองลูกหลานโดยขนานนามให้ว่า ‘แม่นางกวัก’ ทำนองเดียวกับ ‘แม่นางช่างแคน’ ผู้คิดค้นการทำแคนขึ้นจากความหลงใหลในเสียงนกกรวิก แม่นางกวักในยุคต้น ๆ นั้นคงเป็นที่ลือเลื่องว่า นับเลขได้เขียนหนังสือได้ ดังที่ได้ตีความว่าชุมชนเศรษฐกิจพื้นบ้านเริ่มขยับตัวเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจการค้าขายหรือแลกเปลี่ยนแบบพื้นบ้าน สามารถหารายได้ออกมาเป็นตัวเลขได้ จึงมีการ ‘ลอง’ ทักทายให้ผีนางกวักตอบคำถามที่ต้องนับต้องเขียน
‘แม่นางกวัก’ ในระบบสัญญะนี้ ก็คือ แม่หญิงไท-ลาวยุคต้น ๆ ที่เริ่มรู้จักใช้ฝีมือกวักฝ้ายกวักไหมทอผ้าของตนในการทำมาหาเลี้ยงชีพจนมีอันจะกิน
ความหมายที่สอง : ‘นกกวัก’ บ่งบอกถึงวิถีชีวิตชาวไทที่แนบแน่นกับธรรมชาติอันเป็นที่ลุ่ม มีหนองน้ำ และผืนนา รวมทั้งทะเลสาบอันกว้างใหญ่ ซึ่งอาจจะมีพันธุ์ ‘นกกวัก’ ใช้ชีวิตอยู่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขสืบกันมาแต่โบราณ การไต่ลงจากต้นไม้ใหญ่ หรือไต่ลงจากหลังคาเรือนบ่งชี้ว่า ‘กวัก’ ในตำนานสองสำนวนหลังไม่ใช่เครื่องมือปั่นด้าย และนางกวักไม่ได้ทอผ้าอาการส่ายของผีนางกวักซึ่งเป็นไปตามท่วงทำนองและจังหวะของคำร้องเชื้อเชิญ ก็เข้าข่ายอาการเดินหางกระดกขึ้นลงของนกกวักขณะจิกหากุ้งหอยปูปลาตามหนองน้ำ ซึ่งมีสภาพ
คล้ายคลึงกับแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นระบบนิเวศแวดล้อมชุมชนไท-ลาวระยะแรกเริ่มในปางด้ำนาย ที่ทำให้เกิดการทำนาโดยระบบเหมืองฝาย อันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของแบบวิถีการผลิตทางการเกษตรดั้งเดิม เพื่อการยังชีพแบบพอเพียงของชุมชนชาวไทมาแต่โบราณสมัย
นอกจากนี้ ยังอาจตีความลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ภาพ “นกกวัก” ยังเข้ากันได้กับสัญญะรูปสัตว์ในระบบความเชื่อเรื่องด้ำของชมรมโคตรวงศ์ไทดำในเวียดนาม ที่ถือ “ด้ำแม่ลวง” (แม่งู) ที่สืบตระกูลสายแม่ คู่ขนานกันมากับ “ด้ำแม่นก” (ฤาจะเป็น ‘นกกวัก’ ?) ที่สืบตระกูลสายพ่อในระยะต่อมา
เมื่อถอดรหัสพุทธและพราหมณ์ออกไปแล้ว เราจึงได้พบว่า “นางกวัก” ผู้มีเมตตามหานิยม ก็คือ “แม่นางกวัก-ด้ำแม่นก” ที่สู้อุตส่าห์ระหกระเหิน ดั้นด้นติดตามเรามาถึงที่นี่…ที่แผ่นดินไทย-สยามประเทศ ในการทำความเข้าใจเรื่อง “ด้ำแม่ลวง-ด้ำแม่นก” ย้อนยุคแต่ปางบรรพ์เพื่อสาวหารกรากไท|ไต|ลาว|สยาม เราควรจะต้องไม่ย่อท้อ ช่วยกันติดตามเส้นทางอัน “ระหกระเหิน หาบคอนย่อนเยิ่น” ของ “แม่นกกวัก” กันต่อไป
ขวามือคือ “อัก” ซ้ายมือคือ “ไม้คอนอัก” เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการทอผ้าไหม มีลักษณะเป็นไม้ตั้งฉาก และมีไม้หรือเหล็กเสียบตรงกลางมีขนาดพอประมาณ เอาไว้เพื่อเสียบอักใช้ในการกวักเส้นไหม
(ภาพจาก http:// ๒๐๒.๒๙.๒๒.๑๖๗/newlocaldb/stdlocal/๒๕๕๔/chumrune/hb.html)
***
ข้อมูลประมวลจากหลายแหล่ง ประกอบกับการวิจัยสนาม :
http://www.sci.riubon.ac.th/chem/lao_thaipuan.html
http://lib/ary.rits.ac.th/il/lop/trad/trad๑.html
http://ora.kku.ac.th/Journal/journal1_44/
http://www.sac.or.th/database/ethnic/phuan.html
http://www.ksafe.com/profiles/p_code4/2060.html
** มีทายาท “ผีนางกวัก” ในชุมชนลาวครั่งแห่งหนึ่ง วอนขอให้ช่วยสืบทอดประเพณีการละเล่น “ผีนางกวัก” ซึ่งได้มีการเชิญ “แม่นางกวัก” กันมาตั้งแต่สมัยบรรพชน ยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี ตามความเชื่อที่ถือกันมาก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานจากลาวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแผ่นดินสยามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
โดยเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้เอง นายสนั่น กองกันยา อายุ ๖๗ ปี บ้านเลขที่ ๙๐ หมู่ ๔ ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔ ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ให้สัมภาษณ์และร้องเรียนว่า การเล่นผีนางกวักซึ่งเป็นการละเล่นของชาวบ้านลาวครั่ง ซึ่งตนได้สืบทอดจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มาถึงตนเองเป็นรุ่นสุดท้ายนั้น บัดนี้หาบุคคลจะมาสืบทอดประเพณีการเล่นผีนางกวักไม่ได้แล้ว หวังว่ากระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่นี้ไว้ เพื่อสืบทอดต่อไปยังลูกหลานชาว “ลาวครั่ง” ในจังหวัดนครปฐมให้คงอยู่ตลอดไป