โลกของความบันเทิง โดยเฉพาะศิลปะด้านเสียงเพลง คงมีติดตัวสืบทอดกันมาตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์โน่นแหละ พัฒนาจากการร้องโหวกเหวก โหยหวน ร้องเลียนเสียงสัตว์ต่าง ๆ มาจนเป็นถ้อยคำสำนวนทำนองจนเรียกว่า “เพลง”
สมัยโบราณก็ร้องปากเปล่าเฉพาะในกลุ่มชุมชน ฟังกันเองไม่หลากหลายอะไร ต่อมาโลกเจริญพัฒนากันขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมีคนคิดเครื่องบันทึกเสียงเอาเสียงเพลงลงไปบันทึกไว้ในแถบเสียง นำมาเล่นในเครื่องเกิดเสียงดังฟังชัด พัฒนามาเป็น “จานเสียง” ต่อมาเรียก “แผ่นเสียง” ยุคแรกใช้วัสดุทำด้วยครั่ง เป็นแผ่นกลม ๆ ขนาด ๗ นิ้วเรียกว่า “แผ่นครั่ง” หรือ “แผ่นสปีด ๗๘” ต่อมาเป็นแผ่นทำด้วยครั่งผสมพลาสติก ขนาด ๕ นิ้ว เรียกว่าแผ่น “ซิงเกิล” หรือแผ่น “สปีด 45” จนเปลี่ยนมาเป็นขนาดใหญ่บรรจุได้ถึง ๑๒ เพลง หน้าละ ๖ เพลง เรียกว่าแผ่น “ลองเพลย์”
วิวัฒนาการด้านสิ่งบันทึกเสียงเพลง ยังก้าวต่อไป มาเป็น “เทปคาสเซ็ท” มาจนถึงยุคสุดท้ายคือแผ่น “ซีดี” และ “วีซีดี” นี่คงเป็นยุคสุดท้ายของสิ่งที่เรียกว่าเครื่องบันทึกเสียง เพราะยุคนี้เป็นยุค “ดิจิทัล” ออนไลน์ ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ขอบันทึกปีแห่งการสิ้นสุดเครื่องบันทึกเสียงคือ พ.ศ. ๒๕๕๙ “ค่ายเพลงต่าง ๆ” โรงงานผู้ผลิตซีดี วีซีดี ได้ปิดกิจการกันจดหมด บริษัทโรงงานผลิตเครื่องเล่นซีดีและวีซีดีก็คงเลิกผลิต กลายเป็นของสะสมเครื่องเล่นโบราณไป เหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นเทป ในอดีต
ย้อนอดีตไปถึงประวัติศาสตร์ยุคแผ่นเสียงเฟื่องฟู เมืองไทยเรามีบริษัทผู้ผลิตแผ่นเสียงแห่งแรก มีทั้งห้องบันทึกเสียง โรงงานผลิตแผ่นเสียงด้วย คือ “บริษัทกมลสุโกศล” เมื่อมีโรงงานผลิตแผ่นเสียง ก็มีร้านจำหน่ายแผ่นเสียงเกิดขึ้น แรก ๆ เรียกว่า “ร้ายขายแผ่นเสียง” เพราะเปิดร้านมาเพื่อรับแผ่นเสียงจากนักร้องหรือหัวหน้าวงดนตรีที่ผลิตแผ่นเสียงเองแล้วนำมาฝากขาย ต่อมาร้านขายแผ่นเสียงก็หันมาจ้างนักร้อง หรือนักแต่งเพลง มาบันทึกแผ่นเสียงขายเอง ขยับขยายกิจการขึ้นจึงเรียกว่า “ห้างแผ่นเสียง”
จากห้างแผ่นเสียงที่เป็นร้านรับจัดจำหน่ายแผ่นเสียงจากนักร้องหรือหัวหน้าวงที่นำแผ่นมาฝากขาย เมื่อมาผลิตแผ่นเสียงเองก็ใช้หน้าตรา ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้าเป็นของห้างเอง
ต่อมามีบริษัทผู้ผลิตเพลง ซื้อเพลงจากนักแต่งเพลง จ้างนักร้อง นักดนตรีมาผลิตเอง แต่ไม่มีร้านจำหน่ายเป็นประเภทขายส่ง ส่งไปให้ร้านขายแผ่นเสียงเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตเช่น “บริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น” “บริษัทแกรมมี่” เป็นต้น เป็นบริษัทผู้ผลิตครบวงจร จ้างนักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี โปรดิวเซอร์ ไว้ในสังกัด ผลิตเองจำหน่ายเอง จึงเรียกว่า “ค่ายเพลง”
แผ่นเสียงลองเพลย์ “ชุดเพลงนานาชาติ”
แผ่นเสียง “ซิงเกิล” สปีด ๔๕
ขอบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ย้อนยุคไปถึง “ร้านแผ่นเสียง” แห่งแรก ๆ ที่เกิดในเมืองไทย ยุคแรกเป็นบริษัทของคนต่างประเทศคือ “บริษัทยีซิมม่อน” ตั้งอยู่แถวถนนราชดำเนิน และร้านแรก ๆ ของคนไทยก็คือ “ร้าน ต.เง็กชวน” ตั้งอยู่ย่านบางลำพู ผลิตเพลงไทยเดิม ดนตรีบรรเลงมโหรีปี่พาทย์ เพลงพื้นเมือง ลิเก หมอลำ จำหน่าย ต่อมามีร้านแผ่นเสียงเปิดอีกแห่งคือ “ร้านแผ่นเสียงคาเธย์ ตรามงกุฎ” ตั้งอยู่ย่านเวิ้งนาครเกษม ถนนเจริญกรุง ผลิตเพลงไทยสากล ลูกกรุง และลูกทุ่งจำหน่าย เป็นยุครุ่งเรืองของเพลงไทย
ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๐ กว่า ๆ จึงมีร้านแผ่นเสียงเปิดกิจการตามมาอีกหลายร้าน รวมตัวกันอยู่ในย่าน เวิ้งนาครเกษม คนในวงการเพลงเรียกว่า “ย่านสะพานเหล็ก” มีแต่แผ่นเสียง “เสียงไทย” “ลักกี้แบมบู” “ร้านแผ่นเสียงบรอดเวย์” “ร้านแผ่นเสียงทองคำ” “ร้านเสียงสยามแผ่นเสียง” มีห้างแผ่นเสียงที่แยกตัวไปตั้งอยู่ย่านประตูน้ำ คือ “ห้างเมโทรแผ่นเสียง” เริ่มแรกก็จำหน่ายแต่เพลง สุนทราภรณ์ กับลูกกรุง
อีกห้างหนึ่งเปิดกิจการต่อมาตั้งอยู่ย่าน สามยอด ถนนเจริญกรุง คือ “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย” และห้างน้องใหม่ คือ “ส.รวมแผ่นเสียง” ตั้งอยู่เชิงสะพานเหล็ก และ “ห้างชัวร์ออดิโอ” ตั้งอยู่ย่านสยามสแควร์ นี่กล่าวเฉพาะห้างขายแผ่นเสียงที่เป็นมาตรฐาน ที่มีหน้าร้านขายแผ่นเสียง และผลิตเพลงผลิตแผ่นเสียงขายเองไปจนถึงสร้างนักร้องใหม่ขึ้นมาสังกัดห้าง
การเปิดร้านขายแผ่นเสียงจนต้องเป็นลักษณะห้างนั้น อย่างน้อยต้องมีห้องแถว ๑ คูหา ไปจนถึง ๒ – ๓ คูหา นั้นเพราะต้องใช้เนื้อที่เก็บกล่องแผ่นเสียง เนื้อที่วางโชว์ วางขายหน้าร้าน กว้างขวางพอสมควร
พ.ศ.๒๕๒๐ กว่าจะสิ้นสุดแผ่นเสียงเพลง มีสิ่งบันทึกเสียงแบบใหม่คือ “เทปคาสเซ็ท” เกิดขึ้น ห้างแผ่นเสียงก็ต้องปรับชื่อร้านใหม่เป็น “ห้างแผ่นเสียงและเทป”
พ.ศ.๒๕๔๐ กว่า มีสิ่งบันทึกเสียงแบบใหม่เข้ามาอีกคือ “แผ่นซีดี” และนอกจากฟังเสียงยังดูภาพได้ด้วยคือ “แผ่นวีซีดี” เป็นยุคที่ห้างแผ่นเสียงกระทบกระเทือน เพราะแผ่นซีดี แผ่นเล็กน้ำหนักเบา เก็บง่าย จึงเกิด “แผงขายซีดีขึ้นตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ตามแผงลอย มากมายราวดอกเห็ด มีเนื้อที่ ๑ – ๒ ตารางเมตร ก็ตั้งแผงขายซีดีได้ ราคาถูกกว่า เล่นง่ายกว่า บริษัทโรงงานผลิตแผ่นเสียง ผลิตเทป ก็เลิกผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นเทป ห้างขายแผ่นเสียงก็เริ่มซบเซา ปิดตัวไปทีละร้านสองร้าน บางห้างที่ผลิตเพลงไว้เป็นลิขสิทธิ์ของตัวเองจำนวนมากก็ปรับตัวเป็นบริษัทขายส่ง เป็นค่ายเพลงไป เช่น “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย” ต้องเปลี่ยนเป็น “บริษัทกรุงไทยออดิโอ” ห้าง “เมโทรแผ่นเสียง” ต้องเป็น “บริษัทเมโทรโปรโมชั่น” ห้างขายแผ่นเสียงปิดตัวกันจนหมด เหลือแต่แผงขายซีดี
พ.ศ.๒๕๕๙ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีขนานใหญ่ เมื่อระบบการฟังเพลงเปลี่ยนไป หันมาฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ หรือไอโฟน โรงงานผลิตแผ่นซีดี เครื่องเล่นซีดีปิดตัวลงจนหมด แผงขายซีดีหายไป สิ้นสุดยุคของเครื่องเล่นเพลง เครื่องฟังเพลง แบบเก่า คงเหลือไว้แค่เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการเพลง เอาไว้เล่าให้ลูกหลานฟังในอนาคต และสุดจะเดาได้ในอนาคตเทคโนโลยีสมัยใหม่มันจะเปลี่ยนแปลงวงการเพลงไปแบบไหน ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีไทย มันจะเป็นเช่นไร เหลืออะไร