ข้าพเจ้าขอเรียก ชาวไตในภาคตะวันตกของยูนนาน ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ (ปัจจุบัน) ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียปัจจุบันว่าชาวไตสาย “ไตหลวง” หรือ “ไตสายตะวันตก” เนื่องจากมีตำนานกำเนิดและรากเหง้าวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันมาก
ส่วนชาวไตในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูนนาน, ในเวียดนาม, ใน สปป.ลาว, ในประเทศไทยข้าพเจ้าขอเรียกว่า “ชาวไท-ลาว” หรือ “ไทสายตะวันออก” ไปพลาง ๆ ก่อนจนกว่าจะพบชื่อที่เหมาะสมกว่านี้
(ต้องเน้นว่า นี่เป็นการตั้งชื่อเรียกเพื่อเทียบเคียงให้เข้าใจง่าย ๆ เท่านั้น มิใช่การจำแนกแบ่งสายตามหลักทฤษฎีวิชาการใด ๆ ทั้งสิ้น)
จากความรู้สึกของข้าพเจ้า (ยังมิได้มีการวิจัย การใช้คำว่า “แถน” ทาง “ปริมาณ”) ในกลุ่ม “ไทสายตะวันออก” มีคำว่า “แถน” ปรากฏการใช้แพร่หลายสืบเนื่องกัน มากกว่าในกลุ่ม “ไตสายตะวันตก”
นั่นคือ ไทยใหญ่บางสาขา และไทอาหมใช้คำว่า “แลงดอน – เลงดอน – แล้งหลอน” (มีตัวเขียนแตกต่างกันหลายแบบ) เป็นประมุขของเทพหรือพญา แถนหลวง และมักเอ่ยนาม “แลงดอน” มากกว่าการเขียนคำว่า “แถน” ลอย ๆ
จากข้อมูลในบทความเรื่อง “ไก่แสง :ไก่เสี่ยงทายตัวแรกในตำนานปรัมปราของชนชาติไท” โดย
สุกัญญา สุจฉายา (วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ http://human.bsru.ac.th/search/sites/default/) ส่วนที่กล่าวถึงตำนานการส่งขุนหลวง ขุนหลาย (ขุนลุง
ขุนไล) ลงมา “เมืองคน” แม้จะเล่าไว้โดยย่อ แต่ก็พอจะเห็นความแตกต่างในการใช้คำว่า “แลงดอน” กับคำว่า “แถน” ได้คร่าว ๆ ดังนี้ (ข้าพเจ้ายังมิได้อ่านเปรียบเทียบ พงศาวดารไทใหญ่, ไทอาหม, ไทพาเก และไทอื่น ๆ ทั้งหมดทุกฉบับ)
๑. พงศาวดารไทยใหญ่ ฉบับของ N.Elias พิมพ์ขึ้นที่กัลกัตตาในพ.ศ.๒๔๑๙ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แปลเป็นภาษาไทย ว่าในพ.ศ.๑๑๑๑ ขุนตูงคำแห่งเมืองสวรรค์ส่งลูกชายสองคน ขุนลู – ขุนไล พร้อมโหราจารย์ชื่อขุนตุน ขุนพุน ไต่สะพานทองคำลงมายังลุ่มแม่นํ้าเมา
๒. พงศาวดารเมืองมาว จากหนังสือ คนไทยในพม่า ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ว่า ขุนตึงคาเมืองสวรรค์
มอบไก่หนึ่งตัว มีด(ดาบ)หนึ่งเล่มให้ขุนลูขุนลาย ก่อนส่งลงไปครองเมืองมาว
พงศาวดารไทใหญ่สองเรื่องข้างต้น เรียกประมุขสูงสุดของเมืองฟ้าหรือสวรรค์ว่า ขุนตูงคำ, ขุนตึงคา (ในฉบับอื่น ๆ ยังเรียก ขุนทูงคำ ฯลฯ ) ขุนตูงคำ คือประมุขสูงสุดของ “เมืองฟ้า”เทียบได้กับ “แถนหลวงฟ้าคื่น”
๓. ตำนานเมืองเมาฉบับไตพ่าเก่ ศาสตราจารย์คุณบรรจบ พันธุเมธา ได้จากหมู่บ้านชาวไทพ่าเก หรือผาแก่ ในรัฐอัสสัม อินเดีย ได้เขียนเรียบเรียงไว้ในหนังสือ ยูนนาน สันนิษฐานว่าได้เค้ามาจากอาหมบุราณจี ฉบับของ G. Chandra Barua ซึ่งรวบรวมขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๓ สรุปความได้ว่า
- เมื่อแรกสร้างโลก มีแต่มนุษย์กับสัตว์ ยังไม่มีผู้ปกครองทำให้เกิดความยุ่งเหยิงเพราะคนแข็งแรงข่มเหงคนอ่อนแอ จึงไม่มีมนุษย์อยู่ได้จนแก่เฒ่า ย่าแสงฟ้า ผู้เรืองปัญญาสงสารมนุษย์จึงไปเฝ้า แล้งหลอน (เทพผู้เป็นใหญ่) พร้อมกับ
เฒ่าหลาวแข่ เฒ่านิปนิง เฒ่าหมวกส่าน และเฒ่ามากาง ขอประทานลูกหลานให้ลงมาเป็นเจ้าปกครอง แล้งหลอน จึงส่งสองพี่น้องอ้ายขุนลู้ และ หงี่ขุนไล้ ไต่บันไดจากเมืองสวรรค์ลงมายังเมืองฮี่ เมืองฮำ เพื่อปกครองและสั่งสอนคนเมืองเต้อ-อพ่า ( เมืองใต้ฟ้า) หรือเมืองลุ่ม คนเมืองลุ่มดีใจพากันสร้างหอถวายให้เจ้าขุนทั้งสองพำนักอ้ายขุนลู้จึงให้ขุนไลไปครองเมืองเมา และได้ขอให้ ขุนแซวไปครองเมืองปอง ละโคยไปครองเมืองแข่ (จีน) ไต้ผ่าไปครองเมืองโยน (ลาว) แล้งหลอนประทาน ไก่แสงฟ้าหงอนแสง มาให้ตัวหนึ่ง สั่งให้ฆ่าไก่เพื่อจะได้ใช้กระดูกไก่ทำนายอนาคต •
๔. ตำนานอาหม ใน อาหมบุรัญชี ฉบับพิมพ์ คุณบรรจบ พันธุเมธา เรียบเรียงไว้ ในหนังสือ ยูนนาน
- แลงดอนส่ง ขุนลุง ขุนไล ลูกหลานของแถนคำ มายังเมืองมนุษย์พร้อมกับให้ไก่แสงเมืองและดาบ ขุนทั้งสองไต่บันไดเหล็กลงมาจากสวรรค์จนถึงเมืองล่างแล้ว จึงนึกได้ว่าลืมดาบกับไก่แสงเมือง •
ในฉบับนี้ ปรากฏชื่อแถนองค์หนึ่งชื่อ “แถนคำ” ว่าเป็นพ่อของ ขุนลุง ขุนไล แถนคำมิใช่ประมุขสูงสุดของเมืองฟ้า
๕. อาหมบุรัญจี ฉบับของ G. L. Barua ม.จ.ประสบสุข สุขสวัสดิ์แปลให้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์อาหม”
- เลงดอน (พระอินทร์) สั่งให้ เจ้าสิงฟ้าเทพแห่งปัญญามาเฝ้า ให้ขุนหลวง ขุนหลาย ลูกของสิงห์เท้าเย็น ไก่ฟ้า หลานของเจ้าดาคำกับนางแสงดาวน้องสาวของเลงดอน พร้อมกับภูภิกษุลงไปเกิดเป็นกษัตริย์เพื่อให้โลกสงบสุข เลงดอนมอบไก่แสงเมือง ๑ ตัว ขุนหลวงขุนหลายลงมาบนพื้นโลกทางบันไดเหล็ก •
ในฉบับนี้ ขุนหลวง ขุนหลาย เป็นเหลนของ“เจ้าดาคำ” กับนางแสงดาวผู้เป็นน้องสาวของเลงดอน ซึ่งก็เท่ากับว่า ขุนหลวง ขุนหลาย เป็นหลานของเลงดอนนั่นเอง
อนึ่ง การถ่ายชื่อเป็นภาษาไทย ในฉบับนี้ออกจะสับสน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดง่าย เช่น คำว่า “ภูภิกษุ”
๖. อาหมบุราณจี ฉบับ British Library เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต ให้ชื่อ “พงศาวดารไทอาหม เล่ม ๑”
- หลังจากน้ำท่วมโลก ผีฟ้าลงมาปลูกน้ำเต้า นํ้าเต้าแตกเป็นคน ผีฟ้าลงมาใหม่หว่านพันธุ์คนแต่ยังไม่เต็มทุกเมือง จึงให้ เจ้าผาลาน ลงมาหว่านพันธุ์คนอีก ต่อจากนั้นให้ เฒ่าเล็บลิงกับเฒ่าวันแสง ลงมาสอนคนบนโลก แลงดอนเจ้า
ฟ้าแผดให้ หลานแถน คือ ขุนหลวง ขุนหลายลงมาอยู่ เมืองรีเมืองรำ พร้อมบริวาร ๘๐,๐๐๐ ขุน และมอบดาบล้างบ้าน กลองล้างเมืองและสั่งสอนให้เคารพญาติฝ่ายเมีย ต่อจากนั้น จึงให้เสี่ยงทายไก่ เมื่อฆ่าไก่และดูผลออกมาดี จึงชวนกันไต่บันไดเหล็กลงมายังพื้นโลก มาครองเมืองรีเมืองรำ •
ในฉบับนี้ ระบุเพียงว่า ขุนหลวง ขุนหลายเป็นหลานของแถนองค์หนึ่ง ไม่บอกว่าแถนองค์ไหน
๗. พื้นเมืองแสนหวี ฉบับหอคำเมืองไหญเรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต
ในฉบับนี้ เรียกผู้สร้างจักรวาล สร้างโลกว่า “ขุนสาง”
“ขุนสางได้ลงมาสร้างโลก สร้างจักรวาลอยู่ท่ามดอยเสาเมือง มีภูเขาทั้งเจ็ดสลับกับสระน้ำทั้งเจ็ดล้อมรอบ ขุนสางสร้างนักขัต เดือนตะวัน…” (หน้า ๓๑)
“แจกเงื่อนเจ้าเครือขุน ยามเมื่อ ขุนสางชายหญิงทั้งแปด อยู่ร่วมเรือนกัน เกิดเป็น ขุนลูขุนไล ก่ายบันไดเหล็กจากฟ้าลงมาเป็นเจ้าเมืองล่าง คือเมืองคน เชื้อเครือเจ้าขุนนั่งกันเต็มสามขอนไม้สนเฒ่า ทั้งข้าทั้งเจ้ารวมกัน ๓๐,๐๐๐
ครัวเรือน ๙๐,๐๐๐ คน มาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขงเมืองลา เมืองรี เมืองรำ ขุนลู ขุนไล และข้าไพร่ทั้งหลายมาปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกันว่าด้วยเรื่อง เชื้อสายเจ้าขุนที่จะปกครองบ้านเมือง ให้ขุนไลข้ามแม่น้ำโขงไปข้างหน้า (* มีหมายเหตุอธิบายว่า – ไปปกครองเมืองบริเวณล่มุ แม่น้ำมาวส่วนขุนลู ปกครองเมืองลุ่มแม่น้ำโขง *) เจ้าขุนลูจึงแบ่งเชื้อขุนเครือข้าให้เจ้าขุนไลครึ่งหนึ่ง และขุนลูก็กระจายขุนและข้าให้อาศัยอยู่ในเมืองรีเมืองรำ นั้น”
ในฉบับนี้ ขุนหลวง ขุนหลาย เป็นลูกของขุนสางชายหญิงทั้งแปด
ข้อมูลจากหนังสือเจ็ดเล่มข้างต้น มีคำศัพท์ที่ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นอีกหลายคำ ที่สำคัญคือ
ขุนผี ขุนสาง ขุนตูงคำ แลงดอน แถนคำ ขุนสางชายหญิงทั้งแปด ฯลฯ
ชื่อรูปธรรมของ ประมุขเมืองบน (สวรรค์) คือ ขุนผี, ขุนสาง, ขุนตูงคำ, แลงดอน (ยังมีคำว่า ฟ้าตือจึ้ง, ฟ้าเหนือหัว…)
หนังสือ “การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม” โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เรณู วิชาศิลป์(บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์จำกัด พ.ศ.๒๕๕๒) หน้า ๓๗-๓๙ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับถือ “ฟ้า” ของชาวไทอาหม ไว้ดังนี้
“ความเชื่อพื้นฐานของชาวไทอาหม คือความเชื่อผี เมื่อเสือก่าฟ้านำชาวไทจากเมืองเมาหลวงในแคว้นฉาน ๙,๐๐๐ คน ข้ามช่องเขาปาดไก่เข้าไปปกครองลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ใน ค.ศ.๑๒๓๘ ชาวไทกลุ่มนั้นยังมิได้รับนับถือศาสนา
พุทธ และตลอดเวลา ๖๐๐ ปี ที่ราชอาณาจักรอาหมเป็นเอกราช สังคมอาหมไม่ได้รับความเชื่อพุทธเลย แม้ชาวไทกลุ่มน้อยอื่น (คำตี่ ผาแก่ คำยาง ตุรุง และอ่ายตน) ที่เข้าไปอาศัยในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรเพิ่มเติมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ รับนับถือศาสนาพุทธแล้วก่อนเดินทางเข้าไป ชาวไทกลุ่มน้อยอื่นเหล่านั้น ก็มีจำนวนน้อยและแยกกันอยู่ต่างหาก
ผีของชาวอาหมจากธรรมชาติและบรรพบุรุษ อาหม-บุราณจี ภาคสวรรค์ หรือ “เทพบุราณจี” กล่าวว่า “ฟ้า” (อีกชื่อหนึ่งคือฟ้าตือจึ้ง) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้สร้าง “เลงดอน” (ฟ้าเหนือหัว) ผู้ครองเมืองฟ้า เลงดอนส่งขุนหลวง ขุน
หลาย เป็นบรรพบุรุษของเสือก่าฟ้า ส่วนชาวฟ้าที่ลงมาด้วย คือต้นตระกูลของชาวไท เมื่อขุนหลวงขุนหลาย ลงมาจากฟ้า ครั้งนั้นบนพื้นดินมีคนชาติอื่นอยู่ก่อนแล้ว บนเมืองฟ้าหรือที่เรียกในภาษาอาหมว่า “เมืองผี” มีเทพหรือผีต่าง ๆ หลายองค์ที่ปรากฏชื่อในอาหม-บุราณจี เช่น “ฟ้าสางดิน” “แสงกำฟ้า” (เทพแห่งสายฟ้าผ่า) “งี่เงาคำ” (ฟ้าบดร่มสางดำ) “เจ้าสายฝน” “นางแสงดาว” “ย่าแสงฟ้า” (เทพแห่งปัญญา) “แลงแสง” “ลาวขรี” (เทพแห่งการก่อสร้าง) “ขุนเดือน” “ขุนวัน” เห็นได้จากชื่อว่า ผีเหล่านี้เป็นธรรมชาติ คือ ฟ้า ดิน แสง เดือน ตะวัน กล่าวคือสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติมีผีสิงสถิต”
อย่างไรก็ตาม ผีหรือเทพ บางองค์ของไทอาหม ก็สามารถเทียบเคียงได้ใกล้เคียงกับ เทพฮินดู Pasmeswar Gogal ปัทเมศวร โกกอย (ค.ศ.๑๙๐๗ – ๑๙๗๙ ) อาจารย์นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกาฮะตี (gauhati University)
ศึกษาเปรียบเทียบเสนอไว้ว่า
“เลงดอน” เป็นเทพเจ้าผู้ปกครองสวรรค์เทียบเท่ากับพระอินทร์ “ลังกูรี” (Langkuri) เทียบเท่ากับพระศิวะ “ฟ้าปินเบ็ด” (Pha-Pin-Bet) เทียบเท่ากับพระวิษณุ “ฟ้าบดร่มช้างดำ Chang – Dam” (บ้างว่า “แสงดำ”) เทียบเท่าพระพรหม “ย่าสิงฟ้า Ja-Shing-Pha” (บ้างว่า“แสงฟ้า” เทียบเท่า สรัสวดี “ปู่ผีเสื้อ” (Pu-Phi-Shu) เทียบเท่า “เทพารักษ์”
และในความเห็นของข้าพเจ้า “ขุนตูงคำ” หรือ “ขุนทิวคำ” ของไทอาหม (มิใช่ขุนตูงคำของไทใหญ่) ซึ่งเกิดจากทรวงอกของ “ฟ้า” เกิดแล้วไปนอนอยู่ในน้ำ มีดอกบัว และอื่น ๆ อีกมากโผล่จากสะดือขุนตูงคำ อาจเทียบได้กับ พระนารายณ์
คติความเชื่อเรื่อง “ฟ้า” นี้ ชาวอาหมเรียกว่า “พูราหลวง” หรือ “ฟ้าหลวง”
จากข้อมูลในหนังสือ “ขบวนการฟื้นฟูภาษา ความเชื่อ พิธีกรรมของไทอาหม” โดยสุมิตร ปิติพัฒน์, ดำรงพล อินทร์จันทร์ หน้า ๑๙ – ๒๐ ว่า
“สังคมโบราณของไทอาหมตามที่ปรากฏในเอกสารโบราณและยังสืบเนื่องมาในพิธีกรรมสมัยปัจจุบัน นับถืออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติซึ่งเป็นบรรพชนของไทอาหมเองด้วยฟ้าตือจิ้ง คือพระเจ้าสูงสุดผู้สร้างโลก ไทอาหมมีคำเรียกเทพชั้นสูงว่า “ฟ้า”
ทวยเทพเทวดาของไทอาหมนั้นมีลำดับชั้นสูงต่ำ และมีคำเรียกต่างกันไป อย่างเช่น ผี สางเสื้อ
ทุกวันนี้คนไทยอาหมเรียกลัทธิความเชื่อของตนว่า “พูราหลวง” หรือ “ฟ้าหลวง”
หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไทอาหมมีลัทธิบูชาธรรมชาติและบรรพชน ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์และเกี่ยวเนื่องกับปรัมปราคติโดยตรง…
พงศาวดารไทอาหมให้ภาพปรากฏร่องรอยความเป็นชุมชนบุพกาลอย่างมาก ด้วยการคลี่คลายเข้าสู่ยุคศักดินาตอนต้น ในสภาพชุมชนที่ธรรมชาติแวดล้อมมีบทบาทสำคัญ และครอบครัวเครือญาติเป็นหน่วยพื้นฐานยึดมั่นในความเชื่อบูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่อง “ฟ้าหลวง” ของชาวไทอาหม บูชา “ฟ้า” หรือ “ฟ้าตือจึ้ง” ฟ้าเหนือหัว หรือ เลงดอน แสงกำฟ้า ฟ้าร่มบดแสงดำ เจ้าสายฝน นางแสงดาวเลิงแสง ลาวขรี ขุนวัน และอื่น ๆ
เจ้าฟ้าใกล้ชิดกับฟ้าหรือเลงดอน พระนามกษัตริย์แทบทุกพระองค์ต้องมีคำว่า “ฟ้า” อยู่ด้วย คำเรียกขวัญในพิธีราชาภิเษก ยืนยันว่า เจ้าฟ้าอ้างตัวเป็นหลานของเลงดอน”
ในหนังสือ “การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เรณู วิชาศิลป์ ใช้คำว่า “ศาสนาฟ้าหลวง” (หน้า ๑๑๗) รายละเอียดดังต่อไปนี้
“ศาสนา ‘ฟ้าหลวง’ ของชาวอาหมบูชาฟ้า (อีกชื่อหนึ่งคือ ฟ้าตือจึ้ง ) ฟ้าเหนือหัว หรือเลงดอน แสงกำฟ้า (เทพแห่งสายฟ้าผ่า) ฟ้าบกร่มสางดำ เจ้าสายฝน นางแสงดาว เลิงแสง ลาวขรี (เทพแห่งการก่อสร้าง) ขุนวัน ฯลฯ นอกจาก
นั้นชาวอาหมยังต้องบูชาผีธรรมชาติอื่น เช่น ผีดิน ผีลม ผีไฟ ผีดอย ผีเดือน ผีขุนชั้นหมอก เป็นต้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง ซึ่งเสือก่าฟ้านำติดตัวมาด้วยจากเมืองเมาก็ถือว่าเป็นตัวแทนของ ฟ้า เจ้าฟ้าต้องเก็บรักษาอย่างดีใน
เรือนจุ้ม ข้างพระราชวังในเมืองเจ้ม่วน(Rangapur) ในพิธีเฮ้ดเจ้านั่งเมืองหรทอราชาภิเษก เจ้าฟ้าต้องนำจุ่มออกมากราบแล้วห้อยคอ หากมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผิดปกติธรรมดา เช่น กบกลืนเดือน (จันทรุปราคา) กบกลืนวัน (สุริยุปราคา) อิงสั่น (แผ่นดินไหว) ฟ้าผ่าเรือนผี ฝนตกเป็นเลือด วันออกสองลูกสามลูก (ตะวันออกพร้อมกันสองดวงสามดวง) เดือนออกสองลูก (พระจันทร์ออกพร้อมกันสองดวง) หินหลวงฟู (หินใหญ่ลอยน้ำ) ดาวขอนไฟออก (ดาวหางปรากฏ) ดาวค่ำเมืองออก (ดาวราหูปรากฏ?) เกิดกิ่วขุนกิ่วเมือง (เคราะห์เจ้าฟ้าเคราะห์บ้านเมือง) ต้องทำพิธีบูชาฟ้าสะเดาะเคราะห์ (แก้กิ่ว)…
ศาสนาบูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษของชาวอาหมต่างจากศาสนาฮินดูของชาวอารยัน “ฟ้าหลวง” เป็นความเชื่อของสังคมบุพกาลขณะที่ฮินดูเป็นความเชื่อที่เกิดแรกเริ่มในสังคมทาส ในความเชื่อ “ฟ้าหลวง” พระเจ้าคือธรรมชาติ ไม่มีรูปร่างแน่ชัด เป็นฟ้า เป็นเดือนเป็นตะวัน เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ ฯลฯ เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัว หรือผีบรรพบุรุษก็เป็นวิญญาณของผู้ที่ชุมชนคุ้นเคย ฟ้าและผีเป็นบรรพบุรุษเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เราคุ้นเคย แต่ในความเชื่อฮินดูมีตัวพระเจ้าที่ปรากฏในร่างมนุษย์ เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ ปาระวตี (เจ้าแม่กาลี) ฯลฯ เป็นนายเหนือมนุษย์ มนุษย์เหมือนเป็นทาส พระเจ้าเหล่านี้ต้องการพิธีอันโอฬาร ต้องการการสรรเสริญเยินยอ ต้องการการบูชายัญ
เมื่อรัฐไทอาหมอ้างอิงอยู่กับศาสนา “ฟ้าหลวง” เจ้าฟ้า หมอ (ชนชั้นพระ) และขุนนางก็ยังไม่แยกแตกต่างจากชาวบ้านธรรมดา “ลูกไท” มากนัก แม้กับชาวเขาโดยรอบ ชาวอาหมก็ปกครองอย่างอะลุ้มอล่วย เป็นที่ยอมรับของชาวเขาพื้นเมือง แต่ต่อมาเมื่อรัฐไทเริ่มรับศาสนาฮินดูตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๕ สังคมอาหมก็เริ่มมีระบบวรรณะ ต้องถือว่าพวกพราหมณ์อยู่วรรณะสูง รับพิธีของฮินดู คือพิธีต่าง ๆ พิธีราชาภิเษกและพิธีเผาศพสำหรับกษัตริย์ เป็นต้น ความ
สัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในสังคมหนึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันในสังคมนั้นเอง ศาสนา “ฟ้าหลวง” สะท้อนลักษณะสังคมไทที่ชนชั้นยังไม่แตกต่างกันมากยังมีลักษณะของความเป็นชุมชน ศาสนาฮินดูสะท้อนลักษณะสังคมอินเดียที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เป็นลักษณะของสังคมทาสและสังคมศักดินา รากฐานจิตใจของคนไทอาหมจึงต่างกับจิตใจของคนอินเดียหรือคนอัสสัมมิส”
ข้อสรุปตรงนี้สำคัญ การศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมแถน” มิได้มีประโยชน์เพียงแค่อธิบายรากเหง้าวัฒนธรรมทางคติความเชื่อด้านจารีตประเพณีวิถีชีวิตของชาวบ้านไทได้ทุกกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อธิบายถึงรากเหง้าประเพณีการปกครองชุมชน (ชาวไต/ไท เรียกว่า “บ้านเมือง”) ได้ด้วย
ก่อนที่ชาวไต/ไท ดึกดำบรรพ์ จะรับอิทธิพลวัฒนธรรมฮินดูและพุทธ ประมุข (ขุน, ท้าว, เจ้าหลวง, เจ้าฟ้า, พญา ฯลฯ), หมอผีหมอหลวง (ปุโรหิต) และลูกไท (ไพร่บ้านพลเมือง) อยู่ใต้อาณัติเดียวกันคือ “ฟ้า/แถน” มิได้แตกต่างห่าง
ไกลกันนัก ต่อเมื่อประมุขคนไทดึกดำบรรพ์เปลี่ยนอุดมคติเป็น “ธรรมราชา” (แบบพุทธ) และ/หรือ “เทวราชา” (แบบฮินดู) หรือผสมผสานทั้งสองแบบเข้าด้วยกันแล้ว วัฒนธรรมการปกครองรัฐไทยจึงเปลี่ยนแปลง “ระบอบฟ้า/แถน” เลือนจางหายไป ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างนิดหน่อยในประเพณีชาวบ้านภาคเหนือและภาคอีศานเท่านั้น
สรุป
คติความเชื่อเรื่อง “แถน” (ของชาวไทสายตะวันออก) กับเรื่อง “ฟ้า” (ของไทสายตะวันตก) เป็นรากเหง้าความเชื่อเดียวกัน เพียงแต่คำศัพท์รูปธรรมนิยมใช้แตกต่างกันไปเท่านั้น
เมื่อเทียบกับความเชื่อดึกดำบรรพ์เรื่อง “ตัวฟ้า” (หรือ ตัวผ่า) ของชาวจ้วงเหนือ ในกวางสี ก็พอจะสรุปได้ว่า มีรากเหง้าเดียวกัน (คติความเชื่อของชาวจ้วงเหนือ ในยุคต่อมา หลากเลื่อนเกิด “ตัวฟ้าผ่า” ขึ้นมาซ้อนอีกตนหนึ่ง ตัวฟ้าผ่านี้ มีทั้งบทบาทที่ดี และบทบาทที่ร้ายกาจ ทำร้ายมนุษย์)
น่าสังเกตว่า ชาวจ้วงใต้ (ที่ใกล้ชิดกับชาวไทสายตะวันออก) กลับนิยมเรียก “ตัวฟ้า” (เทพสูงสุดในเมืองบน) ว่า “แถน”
และในกลุ่มลาว-ไท ที่รับอิทธิพลพุทธศาสนา ก็มีอิทธิพลพุทธศาสนาเข้ามาแทรกปะปนด้วยมาก
อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารไทใหญ่ ก็มีคำว่า “แถน” เช่นกัน แต่น้อยกว่าทางไทสายตะวันออก
ส่วนของไทอาหมนั้น แม้จะมีอิทธิพลฮินดูเข้ามาแทรกปะปน แต่ก็ยังเห็นได้ชัดว่า บูชา “ฟ้า” หรือ “ฟ้าตือจึ้ง” เป็นสิ่งสูงสุด เรียกลัทธิความเชื่อของพวกตนว่า “พูราหลวง – ฟ้าหลวง” เรียกประมุขสูงสุดของเมืองฟ้าว่า “ฟ้าเหนือหัว
– เลงดอน”
“เลงดอน– แลงดอน” หรือ “ฟ้าเหนือหัว” นี้ เทียบกับไทสายตะวันออก ก็น่าจะคือ “แถนหลวงฟ้าคื่น” นั่นเอง
พิธี เมด้ำ เมผี ชองชาวไทอาหม ภาพจาก http://AssamInfo.Com