เมืองเสือพยัคฆภูมิพิสัย “ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่ารัก”
อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นเมืองเก่าอีกเมืองหนึ่งที่น่าเรียนรู้และน่าศึกษาค้นคว้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีร่องรอยความเป็นเมืองโบราณหลายแห่ง แถมยังมีการขุดพบวัตถุโบราณเป็นจำนวนมากและมีพื้นที่บางส่วนของอำเภออยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชื่อดังอีกด้วย
แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ เมืองแห่งนี้ได้เริ่มสืบค้นประวัติความเป็นมาของตนเองตามโครงการ “ประวัติศาสตร์สร้างคน เยาวชนสร้างชาติ” ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม ที่มีนายอำนวย ปะติเส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในนามประธานมูลนิธิพัฒนาจังหวัดมหาสารคามแถมยังเป็นลูกหลานคนเมืองพยัคฆภูมิพิสัยให้การสนับสนุน ร่วมกับพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันการศึกษาในพื้นที่หนุนเสริมในการจัดกระบวนการเรียนรู้สืบค้นด้วยการพานักวิชาการออกมาร่วมเรียนรู้กับครูและนักเรียนในพื้นที่
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นได้นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์การขยายตัวของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พ.ศ.๒๔๓๖-๒๕๖๐” ซึ่งกลายเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าที่น่าอ่านและเกิดประโยชน์กับผู้สนใจยิ่งนักข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการทำงานด้านวิชาการได้เป็นอย่างดีเนื่องจากมีกระบวนการสืบค้นที่ประสานความร่วมมือทั้งนักวิชาการ ปราชญ์ชุมชน นักเรียน และครูอาจารย์ในพื้นที่
อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของจังหวัดมหาสารคาม มีระยะทางห่างจากตัวอำเภอเมืองมหาสารคามประมาณ ๘๕ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ๔๑๕ กิโลเมตร มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ข้าวหอมมะลิเลื่องชื่อ ฝีมือทอผ้าไหม ศิลปาชีพน้ำพระทัย ทุ่งกุลาร้องไห้งามตา” เป็นอำเภอค่อนข้างใหญ่ และมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์มาอาศัยอยู่ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร กุยหรือส่วย เยอ เป็นต้น
ด้านภูมิประเทศอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มีลำน้ำที่สำคัญ ๆ หล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่หลายสายได้แก่ ลำน้ำเตา อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ลำพลับพลากั้นเขตด้านทิศใต้ ลำพังชูกั้นเขตด้านทิศตะวันตก และยังมีลำห้วยสายเล็ก ๆ ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนอีกหลายสายทั้ง ห้วยขามเรียน ห้วยคลองจอบและห้วยหว้า นอกจากนั้นในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยยังมีแหล่งน้ำที่ขุดเป็นสระจำนวนมาก อีกทั้งยังใช้น้ำจากคูน้ำคันดินโบราณของชุมชนโบราณที่มีกระจัดกระจายในพื้นที่ เช่น คูน้ำโบราณบ้านปะหลาน คูน้ำโบราณบ้านเมืองเสือ คูน้ำโบราณบ้านเมืองเตา ฯลฯ แต่เวลาหน้าน้ำจะมีน้ำท่วม ส่วนในหน้าแล้งจะใช้น้ำตามสระ ห้วย หนองต่าง ๆ
จากข้อมูลการศึกษาประวัติศาสตร์อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย โดย รศ.ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้พานักเรียน ครูโรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคารและชาวชุมชน สืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในโครงการ “ประวัติศาสตร์สร้างคน เยาวชนสร้างชาติ” เมื่อเดือนธันวาคมปี๒๕๖๐ และได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์การขยายตัวของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๖๐” ระบุว่า การสืบค้นประวัติศาสตร์ครั้งนี้เพื่อนำเสนอเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนที่ถูกละเลยหลงลืม เพื่อจะอธิบายการเปลี่ยนแปลงของชีวิตผู้คนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และแบ่งมิติเวลาเป็นช่วง ๆ ตามความแตกต่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากการศึกษาพบว่าการขยายตัวของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย แบ่งเป็น ๖ ระยะ การขยายตัวแต่ละระยะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อตั้งเมืองใน พ.ศ.๒๔๓๖ ปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของชุมชนคือตัวเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองตั้งโฮงหรือเรือนที่ใดชุมชนมักจะตั้งบ้านเรือนบริเวณใกล้ ๆ เรือนเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองย้ายเรือนที่อาศัยก็จะมีชุมชนใหม่ย้ายตามไปตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ เรือนแห่งใหม่จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มีการแต่งตั้งนายอำเภอจากกระทรวงมหาดไทยมาทำหน้าที่แทนเจ้าเมืองนายอำเภอได้สร้างสถานที่ราชการใหม่แทนการใช้โฮงเจ้าเมืองในการปฏิบัติราชการ สถานที่ราชการแห่งใหม่ อาทิโรงเรียน เรือนจำ สถานีอนามัยศาลได้เกิดขึ้นและมีชุมชนได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณใกล้ ๆ สถานที่ราชการใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเมืองพยัคฆภูมิพิสัยขยายตัวอย่างช้า ๆ นั่นหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองก็เป็นไปอย่างช้า ๆ เช่นกัน
ในด้านประวัติศาสตร์นั้นพบว่าอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย มีพื้นที่บางส่วนอยู่ ในบริเวณ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ในอดีตทุ่งกุลาร้องไห้มีคนอาศัยอยู่มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๔๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานที่เด่นชัดคือโคกเนินที่เป็นชุมชนโบราณมีการปลูกข้าวและทอผ้าเครื่องปั้นดินเผา เลี้ยงสัตว์ ทำเกลือสินเธาว์ถลุงโลหะ และมีแบบแผนพิธีศพชัดเจน ร่องรอยหลักฐานดังกล่าวได้ถูกขนานนามให้รู้จักกันในชื่อ “วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของคนโบราณที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงสมัยวัฒนธรรมแบบทวารวดี จากหลักฐานที่ขุดพบทั้งใบเสมาหินที่สวนพุทธธรรม พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีของพระกรุนาดูน
โดยวัฒนธรรมแบบทวารวดีในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัยนั้น เนื่องจากอำเภอแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำมูล ซึ่งปรากฏเมืองโบราณสมัยทวารวดีทอดยาวลงมาตามลำน้ำ เช่น เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เมืองหนองหงส์ อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และเมืองพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ห่างจากตัวอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยเพียง ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่าเคยมีคนเขมรมาอาศัยอยู่ก่อน เพราะพบหลักฐานวัฒนธรรมแบบเขมรหลายแห่ง ก่อนที่จะมาถึงสมัยศิลปะแบบขอมของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่แผ่อารยธรรมลงมา โดยเฉพาะอโรคยาศาลาที่มีอยู่ตามรายทาง ในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยพบอยู่ที่กู่ภารแอ่น บ้านภารแอ่น ตำบลภารแอ่น และยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเช่น เศษภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมเขมรที่พบกระจัดกระจายในพื้นที่ทั้งชุมชนบ้านเมืองเสือ ตำบลเมืองเสือ ชุมชนบ้านเมืองเตา ตำบลเมืองเตา ชุมชนปะหลาน ตำบลปะหลาน ฯลฯ
วัฒนธรรมเขมรอยู่ในพื้นที่ยาวนานก่อนที่จะมีวัฒนธรรมลาวล้านช้างเข้ามาแทนที่ หลังจากที่มีการขอแยกตั้งเมืองจากเมืองสุวรรณภูมิเพื่อตั้งเมืองเสือเป็นเมืองพยัคฆภูมิพิสัยในช่วง พ.ศ.๒๔๐๐ โดยหลังจากท้าวจารเดช พาไพร่พลอพยพจากที่ตั้งเมืองเดิมคือบ้านนาข่ามาตั้งอยู่บริเวณทุ่งปะหลาน วัฒนธรรมลาวก็เข้ามาแทนที่โดยก่อนจะตั้งเมืองจากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่พบว่ามีชาวเขมรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อน แต่จากการเจรจาและขอตั้งเมืองขึ้นทำให้ชาวเขมรที่เคยอาศัยอยู่ถอยไปที่อื่น
พ่อไพรัตน์ แย้มโกสุม อดีตครูเกษียณอายุราชการ หลานเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ปราชญ์ชุมชนวัย ๘๐ ปีผู้สืบค้นและรวบรวมประวัติการก่อสร้างเมืองเอาไว้ตามคำบอกเล่าของยายและแม่ เล่าให้ฟังว่า เมืองพยัคฆภูมิพิสัย ช่วงปี ๒๔๓๖–๒๔๔๔ หรืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัยในปี ๒๔๔๔ ถึงปัจจุบันนั้น นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า เมืองพยัคฆ์ หรือเมืองปะหลาน ก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๓๖ โดยพระศรีสุวรรณวงศา หรือท้าวจารเดช สภาพภูมิศาสตร์เป็นเนินหรือโนน ๓ โนน มีสระน้ำอยู่รายล้อมโนนนั้น ๆ กว่า ๑๐๐ สระ จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อว่า เมืองร้อยสระ และแต่ละสระนั้นในสมัยก่อนมีชื่อเรียกแทบทุกสระ ยามฤดูน้ำหลากโนนทั้งสามเหมือนเกาะอยู่กลางน้ำ ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรไปมา หรือหากมองดี ๆ โนนทั้ง ๓ โนนเหมือนก้อนเส้าที่เอาไว้ก่อไฟหุงข้าวต้มอาหารจึงมีชื่ออีกชื่อว่า เมืองสามก้อนเส้า
โดยโนนทั้งสามนั้นมีชื่อเรียกเช่นกันคือ โนนปะหลาน โนนสูงและโนนสวนพุทธ แต่พอเวลาผ่านไป สระร้อยสระที่อยู่รายล้อมโนนได้หายไป เพราะมีการขุดลอกรื้อจนสระเหล่านั้นได้กลายเป็นหนองน้ำล้อมรอบโนนที่ยังเหลืออยู่แทน
สำหรับชื่อ “พยัคฆภูมิพิสัย” นั้นพ่อไพรัตน์ บอกว่า เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือเรียกกันง่าย ๆ คือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย หมายถึง เขตแดนแผ่นดินเสือความเป็นจริงแล้วการตั้งเมืองท้าวจารเดชไม่ได้ไปสร้างเมืองที่เมืองเสืออย่างที่ขอเอาไว้ แต่ได้พาไพร่พลมาสร้างเมืองบริเวณโนนปะหลานเพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่าและได้ยึดเอาบริเวณสามก้อนเส้า ซึ่งมีต้นค้างคาวขนาดใหญ่เกิดอยู่เป็นชัยภูมิโดยก่อตั้งเมืองเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๓๖
นอกจากนั้น พ่อไพรัตน์ ยังได้เขียนโครงการเสนอให้พัฒนาบริเวณโนนทั้งสามโนนเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองพยัคฆภูมิพิสัยโดยเสนอให้ทำเป็นโครงการ “ท่องเที่ยวด้วยรักพยัคฆ์ก้อนเส้า” หวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ธรรมชาติพร้อมปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักตนเองเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีและเป็นอัตลักษณ์ของคนเมืองพยัคฆ์ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ซึ่งปัจจุบันโนนพุทธ หรือสวนพุทธธรรม ได้นำเอาใบเสมาและพระพุทธรูปไปตั้งประดิษฐานเพื่อให้คนมาเยี่ยมชม แต่ยังไม่ได้พัฒนาให้สวยงามและเป็นที่สนใจของประชาชนมากนัก
“อยากให้พัฒนาจุดนี้เป็นจุดท่องเที่ยวของอำเภอ เพราะเป็นพื้นที่บริเวณโนนเมืองเก่า คือโนนบ้านปะหลาน หมู่ ๒, ๑๓ และ ๑๕ ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ ทุกวันนี้ยังมีศาลเจ้าเมือง โฮงเจ้าเมือง ต้นค้างคาว และอนุสาวรีย์ท้าวจารเดชตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย แถมยังมีบ้านไม้และวัดเก่าแก่คือวัดทองนพคุณ อายุกว่า ๑๗๖ ปีอยู่ในพื้นที่ด้วย ในขณะที่โนนบ้านโนนสูงอยู่หมู่ ๑๐ พื้นที่ไม่ใหญ่มาก ส่วนโนนสวนพุทธที่อยู่ติดกัน หากพัฒนาทั้ง ๓ โนนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำสะพานเชื่อมทั้ง ๓ โนนเข้าหากัน จะทำให้เมืองพยัคฆภูมิพิสัยมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองได้อย่างดีเยี่ยม เพราะค้นพบแล้วว่าเมืองนี้เป็นเมืองโบราณ เหลือเพียงการพัฒนาให้น่าชม น่าดูเท่านั้น” พ่อไพรัตน์ เสนอแนะแนวคิดและอยาก ให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปสานต่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว ของเมือง
นอกจากประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจแล้ว ในโครงการ “แกนนำเยาวชนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ตามบริบทอัตลักษณ์ท้องถิ่นกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์” ที่จัดโดยสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๒ ร่วมกับเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังได้สานต่อการสืบค้นประวัติศาสตร์ของชาวชุมชนพยัคฆภูมิพิสัยแห่งนี้ด้วยการพาค้นหาของดีสถานที่สำคัญ และจัดทำแผนที่เดินดิน เพื่อให้ชาวชุมชน ปราชญ์ชุมชน ครูนักเรียนโรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันค้นหาของดีของบ้านตนเองเพื่อยกระดับและชูให้คนอื่นได้เห็นคุณค่า
วัลลีย์ ศรีรัตน์ รองศึกษาธิการ สำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๒ บอกว่า โครงการนี้หวังค้นหาความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการให้เยาวชน ครู ไปเรียนรู้ ไปสอบถามจากปราญช์ชุมชนหรือผู้รู้เพื่อนำเสนอให้คนภายนอกได้รู้จัก ทั้งในรูปแบบการเขียนและการถ่ายทำคลิปวีดีโอแบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์หากเยาวชนเอาไปทำต่อเนื่องแถมยังสามารถนำเอาของดีของชุมชนที่ได้ค้นพบนั้นมาพัฒนาให้เป็นสินค้าโอท็อปของชุมชน นำรายได้สู่ชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนได้เยาวชนจะได้คิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม ซักถาม นำความคิดมาจดบันทึกและเรียบเรียง ก่อนนำเสนอเป็นความเรียงและคลิปวีดีโอเพื่อเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป
จากการดำเนินโครงการเมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา พบว่าอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยแห่งนี้มีของดีที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ บ้านเก่าน้อยตำบลหนองบัวแก้ว มีสมาชิกในชุมชนที่ร่วมกันผลิตข้าวอินทรีย์จำนวน ๗๖ ครอบครัว การตลาดเน้นการขายในระบบชุมชน กลายเป็นของดีประจำตำบลเกิดการขายและการต่อยอดจนได้รับมาตรฐานจีเอ็มพีและยังนำเอาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปหมักเป็นน้ำส้มสายชูอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีปลาร้าบองแม่ประไพพิศ ปลาร้าบองอินเตอร์ ผลผลิตของอดีตครูเกษียณอายุราชการ ที่ทำมานานตั้งแต่ปี๒๕๑๒ โดยจุดเด่นคือ เอาใจใส่และคัดสรรวัตถุดิบอย่างดีคัดขนาดปลาทุกตัวต้องสดและขอดเกล็ดออกให้หมด ก่อนจะนำไปหมักทำปลาร้า นอกจากนั้นความพิเศษของปลาร้าบองเจ้านี้คือการเพิ่มสารอาหารด้วยการใส่ไข่และถั่ว ๖ ชนิดเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นอกจากทำขายในประเทศ แล้วยังส่งขายยังต่างประเทศอีกด้วย ราคาซื้อขายกระปุกละ ๘๐ บาทเท่านั้น
นอกจากของกินแล้ว ที่อำเภอแห่งนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปไม้ที่วัดสวนตาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเมืองพยัคฆ์มีเป็นมรดกตกทอดกันมายาวนาน
ในขณะที่สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น คือการทอผ้าไหมย้อมสีจากไม้มงคลที่บ้านโคกล่ามหมู่ ๑๐ ต.หนองบัว ที่ใช้สีจากไม้มงคลมาทำเป็นสีย้อมเส้นไหมก่อนจะทอเป็นผืน โดยไม้มงคลนั้นหาได้จากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองจากดอกดาวเรือง แก่นมะยม ยอป่า สีแดงจากครั่งสีน้ำตาลจากฟักคูน และอื่น ๆ และเมื่อได้สีแล้วมีสีสันสวยงามไม่เหมือนใครแถมปลอดภัยทั้งคนใส่และคนทออีกด้วย
โดยไม้มงคลที่ว่านั้นคนอีสานเชื่อกันว่าดาวเรือง หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ไม้มะยม หมายถึงความนิยมชมชอบ ต้นยอคือการยกยอยกย่อง ไม้ขนุนคือการหนุนเสริม ส่วนฟักคูนสื่อความค้ำคูน ในขณะที่ครั่งคือความมั่งคั่งยั่งยืนนั่นเอง
ส่วนสถานที่สำคัญของเมืองที่พร้อมยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประกอบด้วยวัดทองนพคุณวัดเก่าแก่ของเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณโนนปะหลาน ใกล้ ๆ กับโฮงเจ้าเมืองเก่า ที่มีอายุกว่า ๑๗๗ ปีและมีศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่สร้างด้วยไม้เนื้อดีที่ทางวัดและชุมชนยังใช้ประโยชน์อยู่ เดิมวัดนี้ชื่อวัดสระทอง แต่พอบูรณะใหม่จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดทองนพคุณ และวัดนี้เคยมีโบสถ์อยู่กลางน้ำด้วยแต่ตอนนี้โบสถ์ชำรุดและได้รื้อไป
นอกจากนั้นยังมีชุมชนโบราณบ้านเมืองเตา ชุมชนโบราณบ้านเมืองเสือ ที่มีโบราณวัตถุซึ่งเก็บรักษาไว้ในวัด และมีร่องรอยความเป็นเมืองเก่าให้เห็นได้ชัดทั้งคูเมืองโบราณ และวัตถุโบราณที่ขุดพบอยู่เนือง ๆ
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองที่ขณะนี้มีคนไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากนั่นคือปราสาทพระธาตุพนมอินทร์แปลง ก่อสร้างมาแล้วประมาณ ๓๐ ปีเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ มีหลวงพ่อสมาน เป็นคนออกแบบก่อสร้าง โดยสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่วัด เป็นเพียงสำนักปฏิบัติธรรม แต่มีประชาชนมาปฏิบัติศาสนกิจอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในวันสำคัญเช่นวันอาสาฬหบูชาวันวิสาขบูชาองค์พระธาตุด้านล่างจะก่อสร้างด้วยศิลปะแบบขอมประยุกต์บริเวณพระธาตุองค์กลางจำลองรูปแบบพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม มาไว้ ส่วนด้านบนจำลององค์พระธาตุนาดูนมาไว้มี ๒๔ ยอดและมีพระแก้วมรกตจำลองในทุกยอด ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นวัสดุจากท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น
นี่คือผลสัมฤทธิ์จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน ของดีของชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญของชุมชน ที่คนเมืองพยัคฆภูมิพิสัยได้ร่วมกันดำเนินการ และสิ่งที่พวกเขาได้รู้ได้รับ ล้วนนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ในการจะต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สิ่งที่จะก่อเกิดในอนาคต นอกจากเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่จะภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาสืบเสาะ สืบค้นแล้ว ยังจะทำให้เขาได้รู้จักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมากยิ่งขึ้น เล่าเรื่องราวดี ๆ ของชุมชนตัวเองได้อย่างเต็มปากเพราะเป็นคนลงมือสืบค้นด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังจะทำให้เขาเผยแพร่สิ่งดี ๆ เหล่านี้ออกสู่ภายนอก ด้วยความเข้าใจมั่นใจ ภาคภูมิใจให้สมกับเป็นลูกหลานของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย
เมื่อได้อ่านมาทั้งหมดนี้แล้ว คงทำให้หลายคนอยากจะไปเยือนเมืองโบราณแห่งนี้ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไปดูของดี ไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวของเมือง ซึ่งชาวเมืองพยัคฆ์รอต้อนรับผู้ที่สนใจไปเยือนอยู่ แต่หากได้ยินชื่อครั้งแรกอาจจะกลัวเพราะชื่อพยัคฆ์แปลว่าเสือ แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าเมืองนี้น่าไปเยือนยิ่งนัก ดังเช่นที่ ทองแดง ปินะเก ปลัดอาวุโสของเมืองนี้บอกเอาไว้ว่า “ชื่อพยัคฆ์อาจจะดูน่ากลัวแต่หากได้เห็นตัวจะรู้ว่าน่ารัก”
ขอบคุณ : ข้อมูลสำคัญจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์การขยายตัวของเมืองพยัคฆภูมิพิสัย พ.ศ.๒๔๓๖-๒๕๖๐” ฉบับประวัติศาสตร์สร้างคนเยาวชนสร้างชาติที่ระลึกงาน ๑๒๕ ปีพยัคฆ์ระลึก วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ และเอกสารบันทึก“ท่องเที่ยวด้วยรัก: พยัคฆ์ก้อนเส้า” ของ ไพรัตน์แย้มโกสุม รวมถึงภาพประกอบบางส่วนจาก ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เลขานุการเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน
***
คอลัมน์ รายงานทางอีศาน
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๗
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220