(15) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (06-04-2020)
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
สมาร์ทโฟนต้านไวรัส
จีน ไต้หวัน เกาหลี มีการใช้ “แอป” เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ แล้วให้กักตัวในบ้านหรือไปโรงพยาบาล ประเทศในยุโรปอเมริกายังรีรอ ตั้งคำถามเรื่องสิทธิส่วนบุคคล เพราะแอปนั้นจะบอกว่า ตั้งแต่ติดเชื้อ หลายวันที่ผ่านมาตนเองใกล้ชิดกับใคร จะได้ติดตามตรวจโรคได้ทัน
แต่วันนี้ หลายประเทศเริ่มเชื่อแล้วว่า การใช้แอปน่าจะมีประโยชน์ลดการระบาดลงได้ และไม่น่าจะไปละเมิดสิทธิอะไรนัก การกักคนในบ้านในเมืองยังดูรุนแรงกว่าอีก แนวโน้มน่าจะมีการใช้ในเยอรมันและประเทศอื่น ๆ คล้ายกับหน้ากากอนามัย ที่ประเทศประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยที่จะให้ทุกคนสวมใส่ แต่วันนี้ก็กำลังกลับลำกัน
ที่เชื่อประสิทธิภาพของ “แอป” เพราะมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด*ในอังกฤษยืนยันด้วยผลการวิจัยว่า การใช้แอปน่าจะช่วยได้ไม่น้อย โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลการรายงานการติดเชื้อในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งที่ทำเองในอังกฤษพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสวันนี้จาก 1 คนไปสู่ 2 คน (ลดจากเมื่อก่อนที่แพร่ไป 2.5 คน) มีอยู่ 4 ทาง คือ
1.แพร่โดยผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแล้ว 0.8 (symptomatic)
2.แพร่โดยผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ 0.9 (pre-symptomatic)
3.แพร่โดยผู้ติดเชื้อที่จะไม่แสดงอาการเลย 0.1 (asymptomatic)
4.แพร่โดยสิ่งแวดล้อม 0.2 (environment)
รวมจำนวนการแพร่ระบาดทั้ง 4 แบบแล้วได้ 2 พอดี ซึ่งงานวิจัยได้แสดงต่อไปว่า การแพร่ระบาดไปเร็วเกินกว่าที่คนจะตามได้ทัน เพราะช้าเกินไปกว่าจะมีการตรวจพบ กว่าจะติดตามทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อได้ เชื้อก็ได้แพร่กระจายระบาดไปไกลแล้ว สถานการณ์จึงเป็นอย่างที่เห็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และทั่วโลก
งานวิจัยนี้เชื่อว่า ถ้าหากมีการใช้แอปนี้ถึง 60% จากนั้นมีการกักบริเวณให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้าน 60% การระบาดจะลดลงต่ำกว่า 1 และจะหยุดไปในที่สุด อย่างที่เกิดขึ้นที่เมืองจีนที่ทำวิธีนี้ตั้งแต่ต้น โดยการ lock down ตรวจ ติดตามอย่างเคร่งครัดได้ทุกราย
งานวิจัยนี้เชื่อว่า ถ้าใช้วิธีนี้ และประชาขนร่วมมือได้ไม่น้อยกว่า 60% อาจไม่ต้องมีการ lock down ต่อไป ให้ชีวิตกลับไปสู่ภาวะเกือบปกติได้ ไปโรงเรียน ไปทำงาน ไปกินข้าว ซื้อของ เพียงแต่ว่า เมื่อมีการแจ้งเตือนว่าติดเชื้อก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว lock down อยู่บ้านหรือไปโรงพยาบาล คนไม่ติดก็ดำเนินชีวิตตามปกติ
อย่างไรก็ดี นักวิจัยบอกว่า มาตรการอื่น ๆ ที่ใช้กันมาก็ยังจำเป็น การใช้หน้ากากอนามัยก็น่าจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ทางหนึ่ง วิธีต่าง ๆ น่าจะเสริมกันได้
ที่เยอรมัน มีการสำรวจเมื่อต้นเดือนเมษายนพบว่า 47% เห็นด้วยกับมาตรการใช้แอป อีก 45% ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่มีสมาร์ทโฟน แต่เมื่อมีการให้ข้อมูลนักการเมือง รัฐบาลและประชาชนมากขึ้น ที่สุดก็เป็นไปได้ที่จะมีการใช้แอปนี้ เริ่มจากสมัครใจ แล้วค่อยไปเป็นภาคบังคับ
โดยเฉพาะถ้าหากประชาชนมั่นใจว่า จะได้กลับไปสู่สภาพปกติโดยเร็ว เพราะการ lock down ทำร้ายจิตใจผู้คนไม่น้อย ทำให้เกิดความเครียด และเกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เพราะมีรายงานว่า การกักให้อยู่บ้านแบบนี้ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เกิดการละเมิดทางเพศเด็กและสตรีมากขึ้น
ลองนึกถึงใจคนที่อยู่ประเทศอากาศหนาว พออากาศดี มีแดด อบอุ่นขึ้นก็อยากออกไปเดินเล่น ไปชมนกชมไม้ในสวนสาธารณะ ต้นเชอรรี่และอีกหลายต้นกำลังออกดอกสวยงาม อยากออกไปปิกนิก ปิ้งย่างกลางแดดเดือนเมษากลางทุ่งหญ้าสวนสาธารณะ ถูกกักตัวอยู่ในบ้านเป็นความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง
ที่เยอรมันยังมีเทคโนโลยีที่เพิ่งออกมา ที่จะช่วยให้ตรวจพบคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการที่เกิดภูมิต้านทานแล้ว จะทำให้แยกแยะคนเหล่านี้ออกมา เพื่อให้ไปทำงานได้ตามปกติ
———————————–
*งานวิจัยที่อ็อกซ์ฟอร์ด (หาได้ใน google) ชื่อว่า Quantifying SARS-CoV-2 transmission suggests epidemic control with digital contact tracing, โดย Christophe Fraser และคณะ 31.03.2020
———————————–
1984 จอร์จ ออร์เวล
1984 เป็นชื่อนวนิยายของจอร์จ ออร์เวล เรื่องราวเกี่ยวเมืองที่ไม่น่าอยู่ (dystopia) ตรงกันข้ามกับเมืองในอุดมคติ (utopia) ของโทมัส โมร์ แต่เรื่องนี้ไม่โด่งดังเท่า “Animal Farm” ฟาร์มสัตว์ ที่ “สัตว์ทุกตัวเท่ากันหมด แต่มีบางตัวเท่ามากกว่าตัวอื่น” (All animals are equal, but some animals are more equal than others) เขาเสียดสีสังคมนิยมคอมมิวนิสท์รัสเซียที่ปฏิวัติโค่นระบอบ “เผด็จการ” หนึ่ง แล้วกลายเป็น “เผด็จการ” อีกรูปแบบหนึ่งเสียเอง
จอร์จ ออร์เวล เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ (1903-1950) ที่เขียนนวนิยาย บทความเสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบ นวนิยาย 1984 เป็นเรื่องสุดท้ายของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1949 หนึ่งปีก่อนที่เขาถึงแก่กรรม เขาจินตนาการเมืองใน “ฝันร้าย” 35 ปีให้หลัง เขาปลีกตัวไปเขียนที่เกาะแห่งหนึ่งเป็นปี ขณะที่ตนเองป่วยเป็นวัณโรค และเสียชีวิตด้วยโรคนี้
1984 อาจไม่โด่งดังหรือถูกพูดถึงเท่า Animal Farm แต่ 1984 ได้รับการแปลไปถึง 65 ภาษา ออร์เวลวิจารณ์เรื่องอำนาจเผด็จการที่กำลังก่อเกิดในยุคหลังสงครามที่คนตายนับ 100 ล้าน จากสงครามและความอดอยาก
ประเด็นสำคัญของนวนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “อำนาจ” แบบ Animal Farm แต่เป็นเรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล” ที่ถูกละเมิด ตัวละครเอกเป็นนักการเมืองที่ถูก “ติดตาม” ข้อมูลส่วนตัวจนต้องเลิกกับคนรัก อันเป็นฝีมือของพรรคการเมืองที่ควบคุมข้อมูลของประเทศในจินตนาการนี้ ที่ออร์เวลบอกว่า “ไม่น่าอยู่เลย”
ถ้าลุกมาจากหลุมวันนี้ จอร์จ ออร์เวล คงตกใจไม่น้อยที่มี Google มี Amazon มี Facebook และเทคโนโลยีอีกมากมายที่เก็บข้อมูลเป็น Big Data ที่ทำให้รู้แทบทุกอย่างของ “บุคคล” ที่ใช้ “แอป” เหล่านี้ หน่วยงานต่างๆ จึงเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้คน แต่ละวันเราจึงได้รับโทรศัพท์ขายของ ขายประกันและอะไรต่อมิอะไร เขาได้เบอร์โทร.เรามาจากไหน เขารู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นใคร มีอาชีพอะไร ทำงานที่ไหน มีรายได้เท่าไร
คนอาจคิดว่า “Oceania” ประเทศในฝันร้าย 1984 ของออร์เวล น่าจะเป็นเมืองจีน ที่ว่ากันว่าที่นั่นเขาติดตามผู้คนทุกฝีก้าว ตาเป็นสับปะรด เขาจึงติดตามผู้ติดเชื้อไวรัสและบริหารจัดการโรคระบาดนี้ได้ด้วยข้อมูลและอำนาจเด็ดขาด พิสูจน์ว่าการจำกัดเสรีภาพระดับนั้นแก้วิกฤติได้
ขณะที่ประเทศแม่แบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษกำลังวุ่นวายหนัก นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันก็ติดไวรัสนี้และเพิ่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อวานนี้ (5 เมษายน) คนในรัฐบาลก็ทะเลาะกัน เพราะความไม่เป็นเอกภาพและไม่ชัดเจนในนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ประชาชนสับสน โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นทุกวัน
อีกประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ที่อ้างตัวเป็นแม่แบบประชาธิไตย ที่เที่ยวบังคับใครต่อใครให้เป็นเหมือนตน ตามมาตรฐานตนในเรื่องสิทธิเสรีภาพก็กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว อาจติดหลายล้าน ตายหลายแสน เพราะความไม่ชัดเจนของผู้นำ ที่ด้านหนึ่งก็ห่วงเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกกดดันให้เห็นว่า สุขภาพและชีวิตผู้คนสำคัญกว่า
จะไม่ให้ประชาชนสับสนและดิ้นรนหาทางช่วยตัวเองโดยไม่รอรัฐบาลกลางได้อย่างไร ในเมื่อหน่วยงานป้องกันการระบาดแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน นายทรัมป์ซึ่งเป็นประธานาธิบดีบอกว่า ใครจะใส่ก็ใส่ไปเถอะ ผมไม่เอาด้วย
แต่กระนั้นก็ยังใช้กฎหมายสงครามสั่งบริษัทผลิตรถยนต์ให้มาผลิตเครื่องช่วยหายใจ และสั่งบริษัท 3M ที่ผลิตหน้ากากแพทย์ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” ถึงกับทำตัวเป็น “โจรสลัด” สะกัดเวชภัณฑ์ของบริษัทนี้ที่ผลิตในจีนไม่ให้ไปเยอรมันที่สั่งก่อน แต่ให้ไปอเมริกา
จอร์จ ออร์เวลตายอายุเพียง 46 ปีเท่านั้น ถ้าอยู่ยืนมาถึงวันนี้คงตกใจว่า วันนี้โลกสับสนจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นประชาธิปไตย อะไรเป็นเผด็จการ อะไรดีกว่าอะไร มีประชาธิปไตยที่ใส่หน้ากากเผด็จการ และเผด็จการที่ใส่หน้ากากประชาธิปไตย
จับตาดูสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร บราซิล และเบลารุส และติดตามการเมืองใน 4 ประเทศนี้ว่า มีผลอย่างไรต่อการระบาดโควิด-19 และการแก้ปัญหา เพราะเป็นผู้นำที่ปรามาสโรคระบาดนี้ และมีนโยบาย “ตามน้ำ” มากกว่าเป็นฝ่ายนำ จึงตั้งรับมากกว่ารุก ต้องดูว่า จะรับไหวหรือไม่อย่างไร
วิกฤติครั้งนี้พิสูจน์ “จิตสำนึก” ของสังคมโดยรวม ของผู้นำและของประชาชนในแต่ละประเทศว่า “หน้าที่พลเมือง” ที่ดีในยามนี้ คือการเสียสละ “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” เพื่อ “ส่วนรวม”
จิตสำนึกดีที่ทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ เมื่อทำเต็มที่แล้ว บกพร่องอย่างไรก็ช่วยกันหาทางแก้ไข ไม่บั่นทอนกำลังใจคนทำงานทำหน้าที่ต่าง ๆ รวมไปถึงคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจสังคม ทางร่างกายและจิตใจ
แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานแก้ปัญหาโดยตรง แต่การปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมต่างๆ การกักตัวในบ้าน และอื่น ๆ ก็ถือเป็นการทำ “หน้าที่พลเมืองดี” ที่เสียสละอย่างสำคัญเพื่อส่วนรวมแล้ว