สงกรานต์ ( ສົງການ, សង្រ្កា)

สงกรานต์  ( ສົງການ, សង្រ្កា)

เมื่อนึกถึงเทศกาลสงกรานต์    คนทั่ว ๆ ไปก็คงหลับตานึกภาพได้ว่า   เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลใหญ่สุดของสังคมไทย   ปัจจุบันเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงไประดับโลก  เรียกกันว่า  Water Festival   มีวันหยุดยาว   สร้างรายได้จากการการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก   แต่ถ้าคิดลึก ตั้งข้อสงสัยขึ้นมา  ก็จะพบว่า   มีปัญหาน่าสงสัยไม่น้อย  เป็นต้นว่า

เทศกาลสงกรานต์มีต้นตอมาจากไหน?  ความหมาย , พิธีกรรม , เนื้อหาแท้จริงดั้งเดิม , ของมันเป็นอย่างไรกันแน่?   เทศกาลสงกรานต์เป็นของแขกอินเดีย หรือของไทย หรือของมอญ  หรือของชนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิ?  วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือเปล่า?  วันตรุษกับวันสงกรานต์ เป็นวันเดียวกันหรือเปล่า?  ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ซับซ้อนทีเดียว   จะต้องปอกเปลือกกาลเวลาออกมาดูกันทีละยุค ๆ

เริ่มแรกมาดูชั้นผิวนอกในปัจจุบันกันก่อน

คำอธิบายใน “วิกิพีเดีย”  บอกว่า

“สงกรานต์  ประเพณีเดือน 5 ของ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนาน ของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย  สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ของเทศกาลเดิมกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน สงกรานต์ตกอยู่ในช่วงที่ร้อนที่สุดของปีในประเทศไทย คือ ปลายฤดูแล้ง  จนถึง พ.ศ. 2431 วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีในประเทศไทย หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายนถูกใช้เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่  คำว่า ตรุษ เป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี แต่ในปัจจุบันการเฉลิมฉลองในประเพณีสงกรานต์ได้ละทิ้งความงดงามของประเพณีในสมัยโบราณไปเกือบหมดสิ้น คงไว้เพียงแต่ภาพลักษณ์แห่งความสนุกสนาน

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์   นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว   ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข    ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่สังคมเปลี่ยนไป   มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน “กลับบ้าน” ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ…

รูปแบบทั่วไป
  • สงกรานต์ภาคเหนือ(สงกรานต์ล้านนา) หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ “วันสังขารล่อง” (13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา” หรือ “วันเน่า” (14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย “วันปากปี” (16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ “วันปากเดือน” (17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา และ “วันปากวัน” (18 เม.ย.)
  • สงกรานต์ภาคอีสาน
  • นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ”ตรุษสงกรานต์” บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
  • สงกรานต์ภาคใต้
  • ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน “วันว่าง” (14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น “วันรับเจ้าเมืองใหม่” (15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
  • สงกรานต์ภาคกลาง
  • เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันวันเถลิงศก ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย”

ความหมายของ “สงกรานต์”  พ.ศ.2556  เลื่อน – กลาย มาเป็นอย่างที่ “วิกิพีเดีย” บอกไว้ข้างต้น

ต่อไปผู้เขียนขอนำท่านย้อนอดีตดูประเพณีหลวง(ราชสำนัก)ไปที่ละลำดับ

ปัญหาแรก เรื่องวันปีใหม่ของไทย

ก่อนหน้า พ.ศ. 2432   ชาวไทยนับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า  เป็นวันขึ้นปีใหม่

พ.ศ. 2432 ร.5 ตั้งรัตนโกสินทร์ศก   ถือเอาวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

พ.ศ.2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของประเทศ  จากวันที่ 1 เมษายนของทุกปี  เป็นวันที่ 1 มกราคมตามสากล  ดังนั้น ใน พ.ศ.2483 ไทยจึงมีแค่ 9 เดือน นับตั้งแต่ 1 เมษายนจนถึง 31 ธันวาคม

ในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 – 6 รัฐไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกสากล  จึงจำเป็นต้องใช้ระบบปฏิทินฝรั่ง  เดิมทีการนับวันสงกรานต์นั้นใช้ปฏิทินจันทรคติ ระบบจุลศักราช  ร่องรอยต่อตรงนี้ออกจะสับสนสำหรับท่านที่มิได้สนใจศึกษามาก่อน

เดือนห้า (ไทย) ในสมัยอยุธยา  มีพระราชพิธีถึง 3 พิธี  ได้แก่ พระราชพิธีตรุษ (สิ้นปี)  , พระราชพิธีศรีสัจจปาน และพระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์   แต่ในรัชกาลที่ 6  ทรงโปรดให้รวมเข้าเป็นพระราชพิธีอันเดียวกันเรียกว่า  “พระราชพิธีตรุษมหาสงกรานต์”

 

ตรุษ

ตรุษ  โบราณเขียน  ตรุษณ์, ตรุศ

ส. พลายน้อย อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “สงกรานต์” ว่า

“คำว่าตรุศนั้น  ท่านผู้รู้ว่าน่าจะมาจากคำว่า  ตฺรฏิ  หรือ ตฺรุฏ  ซึ่งแปลว่า ตัดปี  คือสิ้นปีเก่า  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6  ได้เปลี่ยนจาก ตรุศ มาเป็น ตรุษอย่างทุกวันนี้  ซึ่งในพจนานุกรมให้อ่านได้สองอย่าง  คืออ่านว่า ตะรุสะ  หรือ ตรุด  แล้วอธิบายว่า  นักษัตฤกษ์เมื่อเวลาสิ้นปี

“ตะรุสะ หรือตรุษ  แปลว่า ยินดี  ความหมายตรงกันข้าม  ความยินดีควรจะเป็นเรื่องขึ้นปีใหม่ คือสงกรานต์มากกว่า  หรือจะหมายความว่ายินดีที่ผ่านไปอีกปีโดยเรียบร้อยก็ได้อีกเหมือนกัน  รวมความว่าถ้าใช้ตรุษสงกรานต์ ก็หมายถึงยินดีได้  แต่ถ้าใช้ตรุศก็เป็นเรื่องของการตัดปี”

แล้วต้นตอของวันตรุษมาจากไหน

ต้นเดิมของตรุษไทยจะมาจากไหนนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า  “พิธีตรุษเดิมเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ของพวกอินเดียข้างฝ่ายใต้  เมื่อพวกทมิฬได้ครองเมืองลังกา  เอาพิธีตรุษตามลัทธิศาสนาของตนมาทำเป็นประเพณีบ้านเมือง  เป็นมูลเหตุที่จะมีพิธีตรุษในลังกาทวีป  ครั้นถึงสมัยชาวลังกาพวกถือพระพุทธศาสนากลับได้เป็นใหญ่ในเมืองลังกา  ชะรอยจะเห็นพวกลังกาเชื่อถือสวัสดิมงคลของพิธีตรุษอยู่มาก ไม่อาจเลิกพิธีนั้น  จึงคิดเปลี่ยนแปลงกระบวนทำพิธี  แก้ไขให้มาเป็นพิธีทางคติพระพุทธศาสนา  แล้วทำพิธีตรุษต่อมาในลังกาทวีป  ไทยเราได้ตำราที่ชาวลังกาคิดแก้ไขนั้นมาทำตาม  พิธีตรุษจึงมามีขึ้นในเมืองไทย”

พิธีตรุษนั้น มีการสระสรงทำความสะอาดพระพุทธรูปแล้วถวายพุ่มข้าวบิณฑ์

อย่างไรก็ตาม  พิธีตรุษนี้ทำเฉพาะที่ราชธานี เป็นประเพณีของราชสำนัก   ชาวบ้านอีสานไม่เกี่ยว   ที่ยกมาเล่าเพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ตรุษ”  เพราะมีคนใช้คำว่า “ตรุษสงกรานต์อยู่มาก

ประเพณีสิ้นปี-ปีใหม่ ในราชสำนักมีพระราชพิธีถึงสามพิธี  คือ

พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ตรุษ) ทำตั้งแต่แรม 11 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ สิ้นปีเป็นที่สุด

พระราชพิธีศรีสัจจปาน ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทำตั้งแต่เดือนห้า ขึ้น 2 ค่ำ ถึง 3 ค่ำ

พระราชพิธีเผด็จศกสงกรานต์ (กำหนดตามสุริยคติ  แล้วแต่พระอาทิตย์จะยกขึ้นราศีเมษในวันใด  วันนั้นก็เป็นวันสงกรานต์)

ร.6 ทรงรวมพระราชพิธีทั้งสาม แล้วเรียกว่า “พระราชพิธีตรุษสงกรานต์” เริ่มทำวันที่ 28 มีนาคมถึงวันที่ 30 มีนาคม ตอนหนึ่ง  และตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน ตอนหนึ่ง

ตรุษสงกรานต์-ประเพณีหลวง  จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ การสาดน้ำ การจุดบั้งไฟ ของชาวบ้านอีสาน

 

คนไทยเปลี่ยนมาใช้ “จุลศักราช”

ดั้งเดิมทีชาวไท-ลาว ใช้ปฏิทินหนไท  มีระบบแม่ปีลูกปี นับ 60 ปีเป็นรอบหนึ่ง  ซึ่งนับวันขึ้นปีใหม่ในเดือนเจียง หรือเดือนอ้าย  ตรงกับปฏิทินจีนยุคราชวงศ์ซาง (16 – 11 ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล)

ซึ่งวันขึ้นปีใหม่อยู่ในราวเดือนธันวาคม

ไท-ลาว โบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน  วันขึ้นปีใหม่จึงเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนเจียง (เดือนอ้าย)

เรื่องที่ปฏิทินหนไท ตรงกับปฏิทินราชวงศ์ซางนั้น แสดงว่าใกล้ชิดกับวัฒนธรรมหัวเซี่ย (จีนแท้) มาก่อน

แล้วภายหลังเปลี่ยนความนิยมมาใช้ปฏิทินจันทรคติระบบจุลศักราช  ซึ่งนับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นต้นปีนักษัตรใหม่

กษัตริย์สิงหศ (ทางล้านนาเรียกพระยากาฬวรรณดิศ) ทรงตั้งจุลศักราชขึ้น   จุลศักราช  เริ่มต้นเมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์  ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เอกศก ตรงกับ พ.ศ.1182   จุลศักราชเป็นระบบจันทรคติ  แต่การนับวันสงกรานต์นับการเดินของดวงอาทิตย์ตามสุริยคติ  ปีใหม่กับวันสงกรานต์จึงยุ่งเหยิงมาตลอด

สงกรานต์

คำว่าสงกรานต์มีปรากฏในจารึกตั้งแต่ยุคสุโขทัยแล้ว   เช่น จารึกอักษรขอมปราสาทเขาพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา  จารึกไว้เมื่อมหาศักราช 1004 (ตรงกับ พ.ศ. 1625)  ใช้ในความหมายว่าเปลี่ยน ผ่าน(เวลา)    เช่น

“รงฺโก  ถลวง  มวยเนะต   สงฺกรานต  ต  ปรวา  ทิวสน” – ข้าวสารหนึ่งถลวง  เวลาขึ้นปีใหม่และในเวลาเปลี่ยนปักษ์”

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่   อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือนที่เรียกว่า สงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ 12 เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีกจัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

อินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน  และมีมหาสงกรานต์ปีละครั้ง

มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี  มหาสงกรานต์ในอษาคเนย์ตรงกับเดือนห้า   คือ “สงกรานต์” ที่คนไทยคุ้นเคยนั่นเอง

วันเนา แปลว่า “วันอยู่” คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่” หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

วันเถลิงศก แปลว่า “วันขึ้นศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ 3 ก็หมายความว่าอย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ไม่น้อยกว่า 1 องศา แล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

ที่เล่ามาข้างต้นเป็นประเพณีหลวงและเรื่องของระบบปฏิทิน  ยังไม่ใช่เรื่อง “วันสงกรานต์” ของชาวบ้านเลย


ไทมาว สาดน้ำสงกรานต์ (อำเภอเต๋อหง มณฑลยูนนาน)

นิทานสงกรานต์ที่แพร่หลายกันอยู่มาจากมอญ

ถึงวันสงกรานต์หนุ่มบางคนคงนึกถึงนางสงกรานต์  เพราะหญิงสาวที่จะได้ไปนั่งถือเศียรกบิลพรหมบนรถในขบวนแห่สงกรานต์ย่อมงดงามเป็นพิเศษ  หรือสาวคนใดประกวดได้เป็นเทพีสงกรานต์ก็จะมีแมวมองชักนำไปสู่การประกวดในเวทีอื่น ๆ ต่อไป

นิทานกบิลพรหมกับธรรมบาลทายปัญหา แพ้ชนะถึงตัดหัวกันนั้น  เป็นเรื่องที่ครอบงำความรู้ของคนไทยทั้งแผ่นดินไปแล้ว

แต่หลักฐานบันทึกเรื่องนี้เก่าแก่ที่สุดคือ จารึกวัดโพธิ์   ขึ้นต้นว่า  “เรื่องมหาสงกรานต์นี้  มีพระบาลีฝ่ายรามัญว่า  เมื่อภัทรกัปอันนี้  มีเศรษฐีคน 1  หาบุตรมิได้  อยู่บ้านใกล้กับนักเลงสุรา  นักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน  มีผิวเนื้อดังทอง………”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกเรื่อง “มหาสงกรานต์” ไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เป็นจารึกศิลา 7 แผ่น ติดไว้ที่คอสองในศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ (ปัจจุบันบางแผ่นหายไป)

ตำนานนี้อ้างว่าได้จากคัมภีร์ภาษาบาลีฝ่ายรามัญ   เนื้อเรื่องเป็นเรื่องกบิลพรหมทายปัญหาอย่างที่รู้ ๆ กันทั่วไปในปัจจุบัน

นิทานคล้าย ๆ กันนี้  มีในพม่า และไทลื้อสิบสองพันนาด้วย

สงกรานต์  สงกาน สังขาร ประเพณีราษฎร์

ต่อไปจะกล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ฝ่ายราษฎร  เน้นเรื่องราวทางอีสาน

เมื่อความเชื่อศาสนาพราหมณ์ศาสนาพุทธซึมซ่านเข้าผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมือง(บูชาผีฟ้า ผีบรรพบุรุษ เคารพนับถือกลองมโหระทึก ฯลฯ)   มีอิทธิพลปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อของชนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิอย่างถึงรากถึงแก่น   วิถีชีวิตในห้วงหนึ่งปีปรับเปลี่ยนยึดถือเอา “งานบุญ” ทางพุทธศาสนาเป็นหลัก   เกิด “ฮีตสิบสองคองสิบสี่”   พราหมณ์ฮินดูผสมกลมกลืนกับพุทธ  พิธีพราหมณ์ พิธีพุทธ ช่วงเดือนห้าในราชสำนักก็ส่งแบบแผนสู่ชุมชนหมู่บ้านทำให้มีการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ตลอดจนมีประเพณีและการละเล่นในวัดสืบจนทุกวันนี้  อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกันสำหรับราษฎรแล้ว พิธีการและประเพณีที่แสดงออกกลับแตกต่างออกไป

ฮีตเดือนห้า

ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนห้าได้พวกไพร่ชาวเมือง  จงพากันสรงน้ำขัดสีพุทธรูป  ให้ทำทุกวัดแท้อย่าไลม้างห่างเสีย  ให้พากันทำแท้ ๆ  ไผ ๆ บ่ได้ว่า      ทั่วทุกทีปแนหล้าให้ทำแท้สู่คน จั่งสิสุขยิ่งล้นทำถืกคำสอน  ถือฮีตคองควรถือแต่หลังปฐมพุ้น ๐  (“ของดีอีสาน” โดย จารุบุตร  เรืองสุวรรณ)

ตำนานสงกรานต์ของทางอีสาน  ก็รับเอาเรื่องกบิลพรหมจากพระบาลีรามัญนั้นเองมาเล่าใหม่   ในส่วนพิธีต่าง ๆ ในงานสงกรานต์อีสานนั้น  หนังสือ “ประเพณีอีสาน”  ฉบับ ส. ธรรมภักดี ซึ่งปริวรรตจากคัมภีร์ใบลาน  กล่าวไว้ว่า

พิธีทำสงกรานต์

ครั้นว่าวันเพ็ญเดือน ๕ เมษายนมาฮอด  พอว่าบ่ายสามโมงแล้วอารามสงฆ์ร้องป่าว   ตีกลองเป็นสัญญาณบอกให้เวลานั้นเหล่าฮอม  ทั้งพระสงฆ์ก็ได้นำพระพุทธรูปมารวมทั้งองค์โตและองค์เล็กมารวมไว้ที่ศาลาใกล้โรงธรรมพอสะดวก  ให้ญาติโยมนำเครื่องสักการะมานอบน้อมยอไว้ที่ควร    แล้วจิงประชุมสงฆ์ได้ในโรงธรรมโดยด่วน  ให้ฝูงญาติโยมอาราธนาศีลเรียบร้อย  พระสงฆ์เจ้ากล่าวธรรมจนศีลม้วนเทศนากัณฑ์หนึ่ง  เลขจิงมานัดไว้วันหน้าต่อบุญ

ตื่นฮูงเซ้าเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์สามเณรมีวัดสู่องค์มวลพร้อม  พอเถิงบ่ายโมงแล้วตีกลองร้องป่าว  เพื่อประชุมญาติพี่น้องลงห้องซ่วงศาลา  รดสรงน้ำพุทโธพุทธรูป ทำอยู่อย่างนี้จนถึงวันเพ็ญเดือน 6 ล่วงพ้นสาแล้วจิงเซา

การสรงน้ำพระพุทธรูป

ก่อนจักเอาพระพุทธรูปลงตั้งแปลงสถานไว้กอน จัดเป็นหอน้อย ๆ กลางแจ้งหว่างสนาม  ตอนบ่าย 4 โมง  แล้วสาธุกาน้อยหนุ่มทั้งเฒ่าแก่หร้อมฮวมหั้นบ่อนเดียว  พากันหามน้ำหอมทั้งฝูงดอกไม้  นานาหอมกลิ่นเอาตลบพุ้งทั่วแดน  ชาวเราเว้าถือกันเรียงอาบ  เอาน้ำสรงพระลูบไล้ตัวแล้วว่าดี  ถือว่าหายโศกร้อนบ่มีไข้ป่วยเป็น

การสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ 

การรดสรงน้ำภิกษุสงฆ์ก็บุญมาก  ถือว่าเป็นพระไตรเลิศล้ำสังโฆเจ้าครบองค์  สรงพระพุทธรูปแล้วสรงแก่องค์สังโฆ  ทำกองสดกองบุญก็แม่นบุญเหลือล้น  ทำให้สงฆ์ทรงสร้างศีลธรรมล้นยิ่ง    มีจิตใจอยู่สร้างพระธรรมเจ้าสั่งสอน  นั่นแหลว

สรงน้ำผู้ใหญ่

ผู้หลักนั้นคือประกันภัยมาฮอด  มีกิจการเร่งร้อนมาเข้าสู่ตน   คนเจ้าเป็นเหย้าหลักเมืองชูช่วย   ทั้งผู้ใหญ่บ้านการเท่าฮอดอำเภอ  หรือว่ามีความรู้สูงศักดิ์ลืออำนาจ   เกิดตระกูลสูงพวกนี้ควรไหว้นับถือ  จิงมีการรดน้ำดำหัวถวายท่าน  ทั้งผ้าผ่อนแพรพันพวกนี้ควรให้ยืนถวาย  ท่านได้มีของผลัดเปลี่ยนไว้  บุญมากเหลือหลาย

ของศักดิ์สิทธิ์เค้ามูล

บรรดาของคูณค้ำ  เขา นอ คุด แฮด  แข้วหมูต้น  จันทคร้อ  อากาศช้างพลาย  นอนิน  งาช้างน้ำ  ฝูงนี้หากมี  ถือว่าเป็นของคูณแท้  คนใดมีอยู่จักเป็นผู้สมบูรณ์ทุกสิ่งด้านของล้นหลามมี   เงินทองข้าวของใดบ่มีขาด   เพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์พวกนี้พาให้มั่งมี   การสรงน้ำผู้หลักใหญ่นั้นทั้งของดีคูณค่า   สรงปีละครั้งก็พอได้ดั่งประสงค์  เถิงเมื่อเพ็ญเดือน 6 แล้วมาประชุมฝูงญาติ  เอาน้ำหอมทั้งดอกไม้มาแล้วสู่ขวัญ

ก่อพระเจดีย์ทราย

ครั้นมาเพียงพร้อมฝูงโยมคณาญาติ  พร้อมกันก่อเจดีย์ทรายเป็นกองใหญ่ขึ้น  ตรงกลางนั้นใหญ่สูง   รอบ ๆ ข้างก่อธาตุเจดีย์กองพอควรบ่ใหญ่สูงเพียงด้าม  แล้วจิงเอาดอกไม้เทียนธูปของหอม  มาปักลงยอดเจดีย์ไว้  กลางคืนนั้นนิมนต์สงฆ์มาสวด  พุทธมนต์บอกไว้บุญนั้นมากมูล  ตื่นฮูงเซ้าตักบาตรถวายอาหาร  การก่อเจดีย์ทรายถือว่าขนทรายเข้าวัดวามีบุญล้น  หรือมีเรือนใกล้นทีธารแม่น้ำใหญ่  จะก่อกองทรายทำบุญก็ได้บ่มีข้องอย่างใด  จัดเป็นสิริมงคลได้ทำเนียมมาแต่เก่าก่อน

การปล่อยนกปล่อยกา 

หรือว่าสัตว์เหล่านั้นเวรได้แม่นบ่มีกลับ   เหล่าได้มีบุญล้นอภัยทานดีมาก   ความกรุณาปรานีพวกนี้มีไว้ยิ่งดีท่านเอย

บุญบั้งไฟ

ตกมาเถิงเดือนห้าเมษาร้อนเร่ง  เดือนหกมาฮอดแล้วควรสร้างก่อบุญ  แต่ก่อนนั้นมีเรื่องในนิทานปางก่อน  พระบาคันคากได้เมือขึ้นสู่แถน  ฝนบ่ตกลงได้ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เลยล่วงมาแล้ว ฝูงหมู่สัตว์สิ่งเมือบ่มีน้ำดื่มกิน เขาจิงชวนกันไปเร็วตีต่อ   ถือว่าแถนบ่มอบให้นาคเล่นน้ำเลยเว้าต่อกัน     สัตว์จำนวนมากล้นจับผูกเอาแถน  พระยาแถนยอมปล่อยฝนลงโฮง  ฝนก็นองเต็มพื้นพระยาแถนชมชื่น   นัดให้จุดดอกไม้บูชาไว้สู่ปี   เรื่องหนึ่งนั้นว่ามีเทพบุตรวัสสะการองค์แต่งฝนลงให้   วัสสะการเทวาชมยิ่งชอบดอกไม้ถวายให้แก่พระองค์  จิงได้ทำบั้งไฟขึ้นวอนหาองค์เทพ มาโปรดให้ฝนได้เร่งริน  นั่นแหล่ว

วิธีจุดบั้งไฟ

เมื่อว่าทำบุญตักบาตรอังคาสภิกษุสงฆ์  เลี้ยงอาหารเช้าแล้วจูงมือจัดแจง   เอาบั้งไฟของตนมาแห่รอบศาลาแล้วนั่งเซา    เอาไปรวมกันไว้ที่ค้างบั้งไฟเป็นหมู่   มีแต่คนคอยดูการจุดบั้งไฟสิขึ้นฟ้าหรือร้องแตกไป  ถ้าบั้งไฟเขาขึ้น  เขาก็หามแหนแห่ไปหาของดื่มเหล้าชาวบ้านอยู่รอ   ถ้าบั้งไฟไผบ่ขึ้นมันจำซุแตก   เขาก็จับเจ้าของฮูนั้นลงทิ้มใส่ตน

การเส็งกลอง

การเส็งกลองนั้นถือกันมาตลอด   ตอกลางคืนจะจับกลองเป็นคู่วางตั้งต่อกัน  ต่างก็จับไม้ค้อนตีต่อยกลองดั่ง  เสียงกลองดังนีนั้นเนืองก้อง คนฟังได้หูใยจวนสิแตก กรรมการตัดสินอย่าเอาคนหูบ่ดีแท้ ๆ ฟังแล้วม่วนยิน  การแข่งขันเสียงกลองนั้นถือกันเกินม่วน เวลาสองทุ่มสิพากันหลังเข้ามาตั้งต่อตี   คัดเลือกได้กลองขนาดเสียงดัง กรรมการคัดเลือกเอาแต่คนรู้

อ่านประเพณีอีสานแท้ ๆ แล้ว  ก็ยังไม่พบหลักฐานบันทึกกล่าวถึงการเล่นสาดน้ำเลย

ในหนังสือ “ของดีอีสาน” ของ จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า  การเล่นสาดน้ำกันนั้นเป็นเรื่องที่มีขึ้นทีหลัง

“เดือนห้า  ทำบุญขึ้นปีใหม่หรือตรุษสงกรานต์  สรงน้ำพระพุทธรูป  ไปเก็บดอกไม้ป่ามาบูชาพระ  ในระหว่างบุญนี้ทุกคนจะหยุดงานธุรกิจประจำวัน  โดยเฉพาะมีวันสำคัญดังนี้ คือ

  • วันสังขารล่วง เป็นวันแรกของงาน  จะนำพระพุทธรูปลงมาทำความสะอาดและตั้งไว้ ณ สถานที่อันสมควร  แล้วพากันสรงน้ำพระด้วยน้ำหอม
  • วันสังขารเน่า  เป็นวันที่สองของงาน  พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
  • วันสังขารขึ้น เป็นวันที่สามของงาน  ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระเณร  แล้วทำการคารวะแก่บิดามารดาและคนแก่  ส่งท้ายด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ  แล้วใช้น้ำที่เหลือจากการรดน้ำให้ผู้ใหญ่นำมารดให้แก่ผู้มาร่วมงาน  ภายหลังจึงแผลงมาเป็นการวิ่งไล่สาดน้ำกลั่นแกล้งกัน”

ต้นเค้าดั้งเดิมของพิธีกรรมเดือนห้า

เดือนห้าเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยว ชาวนามีอาหารกักตุนแล้ว จึงสามารถทำกิจกรรมทั้งส่วนตัวและส่วนรวมได้ เช่น ทำพิธีศพที่เก็บศพไว้ก่อน การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ตลอดจนการซ่อมแซมเครื่องมือ

ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีต้องทำกันทั้งชุมชน ต้องมีการละเล่นที่ทุกคนร่วมกันเล่น เครื่องมือสื่อสารในการละเล่นที่สำคัญคือ “ดนตรี” และ “เหล้า” เพื่อหลอมละลายพฤติกรรมของทุกคนในชุมชนให้อยู่ในบรรยากาศและจินตนาการอย่างเดียวกัน

ส่วน “น้ำ” ใช้ทำความสะอาดเรือนและเครื่องมือทำมาหากินที่ต้องชำระสะสางในพิธีเลี้ยงผี ด้วยการ รด ล้าง สาด นอกจากนี้ยังใช้อาบให้บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วแต่มีกระดูกหรืออัฐิไว้บูชาเซ่นไหว้ตามประเพณีดึกดำบรรพ์ของภูมิภาคนี้ที่เรียกว่า “ฝังศพครั้งที่สอง” รวมทั้งอาบให้บรรพบุรุษที่ยังมีชีวิต

หลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จากพราหมณ์อินเดียผ่านพุทธศาสนาลงสู่ชาวบ้านเมื่อราชสำนักรับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาไว้ ชาวบ้านเองก็ยังยึดปฏิบัติประเพณีเลี้ยงผีไว้ในช่วงเดียวกันด้วย อยู่ต่อมาพิธีกรรมเหล่านี้กลายมาเป็นบังสกุล และการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ทำกันในปัจจุบันในวันสงกรานต์ หรือกลายเป็นประเพณีในปัจจุบัน” (สุจิตต์ วงษ์เทศ)

ผู้เขียนขอขยายความเพิ่มเติมสักเล็กน้อย

ดินแดนภาคใต้ของประเทศจีน เป็นแหล่งกำเนิด”วัฒนธรรมข้าว”  มีหลักฐานการเพาะปลูกข้าวเก่ามากกว่าเจ็ดพันปี  เช่นที่  แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง   การเพาะปลูกข้าวขยายขึ้นเหนือถึงฝั่งใต้ของแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห)  และขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงเกาหลีและญี่ปุ่น   ขยายตัวลงใต้จนถึงสุวรรณภูมิและหมู่เกาะบางแห่ง    การปลูกข้าวก่อให้เกิดวัฒนธรรมร่วมกันซึ่งขอเรียกว่า “วัฒนธรรมข้าว”   วิถีชีวิตของผู้คนถูกกำหนดด้วยวิถีการผลิตและรอบฤดูกาล   ก่อเกิดเป็น “กลุ่มวัฒนธรรม ไป่ผู – ไป่เยวี่ย”  อันมีวัฒนธรรมร่วมกันดังนี้

  • เพาะปลูกข้าว
  • อยู่บ้านเสาสูง (เรือน)
  • เชี่ยวชาญทางน้ำ
  • ไว้ผมสั้น เพราะอยู่กับน้ำ
  • สักร่างกาย
  • มีระบบความเชื่อเกี่ยวกับผีฟ้า ที่ดูแลดินฟ้าอากาศ อันมีผลต่อการเพาะปลูก , เชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและผีต่าง ๆ
  • เคารพบูชาน้ำเต้า เคารพบูชากลองมโหระทึก
  • มีการฝังศพครั้งที่สอง

ชนพื้นเมืองตระกูลภาษาม้ง-เย้า , ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (ชนพื้นเมืองในไต้หวัน, หมู่เกาะในแปซิฟิค, ในลาวใต้และเวียดนาม) , ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (มอญ เขมร ละว้า) , ตระกูลไท-กะได (จ้วง ไท ลาว ฯลฯ) อยู่ใน “กลุ่มวัฒนธรรมไป่ผู-ไป่เยวี่ย” นี้

ชนกลุ่มวัฒนธรรมไป่ผู-ไป่เยวี่ย เหล่านี้   มีวัฒนธรรมของตนเอง  มีระบบคิดของตนเอง  มีความเจริญทางเทคโนโลยีการหลอมโลหะ ฯลฯ อยู่แล้ว

ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ที่อยู่ในสุวรรณภูมิก็มีวัฒนธรรมความเจริญนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน ก่อนที่อิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียและหัวเซี่ย (จีนแท้) จะแพร่หลายเข้ามาถึง

เป็นเรื่องปกติที่ทุกเผ่าพันธุ์ในสมัยโบราณ  จะประกอบพิธีบูชาผีบรรพบุรษ  ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวธัญญาหาร ว่างการเพาะปลูกแล้ว     และบูชาผีฟ้าในช่วงก่อนเริ่มการเพาะปลูก  ซึ่งห้วงเวลาของสองพิธีนี้จะต่อเนื่องกันไปในช่วงประมาณสามสิบวัน

วันเวลาที่กลุ่มชนแต่ละเผ่าจะเลือกทำพิธีในท้องที่    ย่อมต่างกันไปตามตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ที่เผ่านั้น ๆ อยู่อาศัยว่าอยู่ในระดับเหนือ-ใต้ เส้นรุ้งที่เท่าใด

แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ตามปฏิทินสากล

จะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบคนกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได ที่อยู่เหนือ-ใต้

ชาวไท-ลาว ใช้ปฏิทินหนไท  ซึ่งตรงกับปฏิทินยุคราชวงศ์ซาง  แต่ชาวจ้วง ชาวผู้ญัย ในกวางสีใช้ปฏิทิน “ไท่ชูลี่” ซึ่งจีนใช้มาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ก่อนสามก๊กร้อยกว่าปี) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

ปีใหม่ของปฏิทินหนไท (คนไทย-ลาว)  อยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคมโดยประมาณ

ปีใหม่ของชาวจ้วง ชาวผู้ญัย รับเอาปีใหม่จีนมาใช้  จึงอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์โดยประมาณ

แต่พวกเขามีประเพณีบูชาผีบรรพบุรุษ  และบูชาผีฟ้า ต่อเนื่องกันหนึ่งเดือน  ในช่วงเดือนสามจีน  ตรงกับกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนโดยประมาณ    การทำพิธีนั้น  แต่ละหมู่บ้านจะเลือกวันประกอบพิธีหลักไม่ให้ตรงกัน  เพื่อที่คนหมู่บ้านอื่น ๆ จะได้หมุนเวียนไปร่วมงานกันได้

ผู้เขียนเชื่อว่า  เทศกาลการบูชาผีบรรพบุรุษ ต่อเนื่องไปถึงการบูชาผีฟ้า (แถน)   คือต้นเค้าดั้งเดิม  ก่อนจะรับคำว่า “สงกรานต์” จากอินเดียมาใช้

ชาวจ้วง ชาวผู้ญัย เรียกเทศกาลนี้ว่า “ซานเยวี่ยซาน” (สามเดือนสาม) ซึ่งจะยาวนานประมาณหนึ่งเดือน   เทศกาลจะเริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดบ้าน เก็บดอกไม้ป่ามาประดับ ร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกัน  เป็นโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบปะเลือกคู่   หลังจากนั้นประมาณสัปดาห์หนึ่งจะเริ่มพิธีบูชาเขียด (มะก่วยเจี๋ย)   อันเป็นพิธีเตรียมเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก   กบเขียดนั้นเป็นสัญลักษณ์ของฝน  ชาวจ้วง ชาวผู้ญัยเชื่อว่ากบเขียดเป็นลูกของ “ตัวเปี๊ยะ” (ตัวฟ้าผ่า)   ตัวเปี๊ยะมีมโหระทึกโลหะตีเรียกให้ฝนตก   มนุษย์จึงทำมโหระทึกขึ้นบ้าง  มีสัญลักษณ์ตัวกบ  ใช้ตีในพิธี “มะก่วยเจี๋ย”

เขาจะแห่ขบวนมโหระทึก  ออกไปหาเขียดตามท้องนา   ใครหาเขียดได้คนแรกจะมีเกียรติมาก   เมื่อได้เขียดมาแล้ว  เขาจะแห่ไปที่หลุมฝังศพของเขียดตัวเก่าที่ฝังไว้เมื่อปีก่อน ขุดซากเขียดตัวเก่าขึ้นมาให้ “พ่อหมอ” ทำนายพยากรณ์ว่าการเพาะปลูกปีนี้จะดีหรือไม่  แล้วนำเขียดที่ได้มาตัวใหม่ฝังในหลุมเดิมนั้น  แล้วปีต่อไปก็จะหมุนเวียนทำพิธีอย่างนี้อีกครั้ง

พิธีกรรมทำนองนี้ในท้องที่ใต้ลงมาคือในสุวรรณภูมิ  ช่วงเวลาล่าลงมาเป็นเดือนห้าทั้งเดือน   คือช่วงที่เรามาเรียกวันสงกรานต์ไปจนถึงปลายเดือนห้าจุดบั้งไฟ  ในสมัยก่อนจะรับวัฒนธรรมอินเดีย  เราอาจจะมีงานกันทั้งเดือนหมุนเวียนกันไปตามชุมชนต่าง ๆ  แบบเดียวกับที่ชาวจ้วง ชาวผู้ญัยในกวางสีเขามีงาน “ซานเยวี่ยซาน”

เนื้อหาสำคัญของงาน  ก็คงจะมีพิธีเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษ  ต่อเนื่องด้วยการบูชาแถน (จุดบั้งไฟ)

อย่างไรก็ตาม  เทศกาลนี้ของชาวจ้วง ชาวผู้ญัย ไม่ปรากฏร่องรอย หรือบันทึกเรื่องการเล่นสาดน้ำกันเลย   แต่วันสงกรานต์ของเรามีการเล่นสาดน้ำ

การเล่นสาดน้ำกัน  อาจจะแผลงมาจากเมื่อรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่แล้ว  ก็เลยเล่นสาดน้ำกัน  อย่างที่ “จารุบุตร เรืองสุวรรณ” สันนิษฐานไว้  หรือเป็นอย่างที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานไว้

แต่ก็มีร่องรอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า  “ข่าม้อย” ในเวียดนาม  มีประเพณีเล่นน้ำ  หลังจากทำพิธีบูชาผีบรรพบุรุษแล้ว

กลุ่มชนเผ่าตระกูลภาษามอญเขมรมีประเพณีเล่นน้ำหลังบูชาผีบรรพบุรุษ

นักวิชาการชาวเวียดนามได้เสนอข้อมูลว่า   ข่าม้อย (ชนเผ่าตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค) เมื่อประกอบพิธีบูชาผีบรรพชนประจำปีแล้ว  จะพากันไปที่ลำห้วย   ล้างเนื้อล้างตัว  และเล่นสาดน้ำกัน

เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว  ต้องล้างเนื้อล้างตัว  เพราะชาวม้อยเชื่อว่า  ล้างตัวอาบน้ำเป็นการตัดความผูกพันกับ “ผี” (ผู้ที่ตายไปแล้ว)

และก็เป็นธรรมดาเมื่ออยู่ในห้วย  ผู้คนก็ย่อมชอบสาดน้ำกันเล่น   จนความนิยมอาจกลายเป็นประเพณีไป

ข่าม้อยเผ่านั้น (น่าเสียดายที่เอกสารซึ่งผู้เขียนได้มาเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้น  หายไปเสียแล้ว  ผู้เขียนใช้เวลาไปครึ่งวันค้นหา  ยังไม่พบ)  เป็นชนเผ่าตระกูลภาษาเดียวกับชาวมอญ เขมร ละว้า ขมุ ฯลฯ จึงน่าค้นคว้าต่อไปให้ละเอียดขึ้นว่า คนตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติคกลุ่มต่าง ๆ มีประเพณีเล่นสาดน้ำหลังจากพิธีบูชาผีบรรพชนกันอย่างไรบ้าง ?

เทศกาลบูชาเขียด (มะก่วยเจี๋ย) ของชาวจ้วงกวางสีสัญลักษณ์กบ ในงานสงกรานต์เชียงตุง ชาวผู้ญัย ประโคมมโหระทึกในเทศกาลบูชาเขียดภาพแสดงลักษณะการ “ฟ้อนผีฟ้า” ภาพโดย “ครูเบิ้ม” – ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์

***

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

สงกรานต์ “รดน้ำ” สุวรรณภูมิ “ปีใหม่แขก” จากอินเดียสู่อุษาคเนย์
ซำบายดีปีใหม่
ประกาศสงกรานต์ ๖๑ เถลิงศก ปีเปิกเส็ด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com