(16) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (08-04-2020)
ภาพโดย Elliot Alderson จาก Pixabay
ปัญหาเศรษฐกิจระหว่างการระบาดของโควิด-19 ก็หนักหนาแล้ว จะสาหัสมากกว่าอีกเมื่อโรคร้ายนี้ผ่านไป นี่เป็นการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสังคม ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ นอกจากจะหาทางเยียวยาระหว่างนี้แล้ว ยังต้องเตรียมรับมือกับ “เผาจริง” หลังจากนี้
แนวคิดเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (Universal Basic Income- UBI) หรือเรียกว่า “รายได้พื้นฐาน” เฉย ๆ เป็นการให้เงินแก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข จะใช้ทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่เคยมีการนำไปใช้อย่างจริงจัง มีแต่การทดลอง การวิจัยในหลายประเทศ
มีแนวโน้มว่าสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น คนจะตกงานจำวนวนมาก UBI น่าจะเป็นทางออก โควิด-19 เหมือนมาเร่งให้คนหันมาสนใจ UBI อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องรอ AI หรือปัญญาประดิษฐมาทำให้เกิดวิกฤติแรงงาน เพราะโควิด-19 เหมือนบังคับให้คนต้องหาทางออกจากวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ
UBI ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากหลายประเทศที่เริ่มเตรียมใช้มาตรการนี้เพื่อเยียวยาในภาวะฉุกเฉิน อย่างที่สหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ
ทั้งที่เป็นแบบมาตรการฉุกเฉินอย่างที่ไทยให้เงินคนบางกลุ่มคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 6 เดือน และช่วยคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วยมาตรการคล้ายกัน คล้ายกับหลายประเทศ แต่ก็มีบางประเทศอย่างสเปนที่เตรียมการทำให้ UBI เป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างถาวร คือ ให้เงินประชาชนทุกเดือนตลอดไป
ที่สหรัฐอเมริกา ส.ส. ส.ว. เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบคนละ 1,200 เหรียญต่อเดือนเป็นเวลา 4 เดือน แต่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่ได้แก้ปัญหาคนจนจำนวนมากที่ไม่ได้เสียภาษี ที่ถูกละเลย ต่างจากแนวคิดของนายเบอร์นี่ แซนเดอร์ส ที่เสนอให้คนละ 2,000 และแอนดรู ยัง ผู้เคยสมัครพรรคเดโมเครตที่เสนอให้ผู้ใหญ่คนละ 1,000 เหรียญต่อเดือน และให้ตลอดไป เพิ่มให้อีกเมื่อเกิดวิกฤติ
ที่อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี มีการเสนอเป็นรูปธรรม เป็นตัวเลขเพื่อเยียวยาประชากรที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกประเทศก็เหมือนเพียงเยียวยาแก้ปัญหายามฉุกเฉินเท่านั้น มีสเปนประเทศเดียวที่กำลังเตรียมเสนอสภาให้ผ่านเป็นกฎหมายเพื่อให้ “แจกเงิน” ชาวสเปนต่อไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมควรได้รับ
ที่สหราชอาณาจักร มีการเสนอโปรแกรม “Emergency universal income” (รายได้ถ้วนหน้าในภาวะฉุกฉิน) ให้แจกเงินประชาชนคนละ 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 40,000 บาท) ต่อเดือนสักระยะหนึ่ง แนวคิดที่ผู้รับผิดชอบการเงินการคลังปฏิเสธ อ้างว่ามีโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้วิกฤตินี้อยู่แล้ว
นักวิชาการอย่าง กาย สแตนดิง ชาวอังกฤษ แกนนำสำคัญของ UBI และผู้ก่อตั้งเครือข่ายรายได้พื้นฐานทั่วโลกบอกว่า หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกก็ง่อนแง่นเปราะบางอยู่แล้ว โควิด-19 มาทำให้เห็นว่า ถ้าไม่เปลียนวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาก็คงจะเกิดปัญหาต่อไปไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเพราะโรคระบาดหรือเพราะปัจจัยอื่น ๆ
ศาสตราจารย์จาก SOAS ผู้นี้บอกว่า UBI คือเครื่องมือแก้ปัญหาวิกฤติโควิดนี้ เพื่อให้ผู้คนมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ และในเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็จะได้ทำการทดสอบไปด้วยว่า มาตรการนี้สมควรขยายผล ขยายเวลาและให้เป็นนโยบายที่ถาวรหรือไม่
ที่สำคัญ รายได้พื้นฐานจะทำให้แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ ไม่มีการสร้างตราบาป “คนจน”
รายได้พื้นฐาน อาจไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่ผ่อนคลายและช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนที่ทุกข์แสนสาหัสทุกภาคส่วน หรือทุกหย่อมหญ้าก็ว่าได้
ชีวิตของผู้คนทั่วไปเหมือนกับนักกายกรรมที่ไต่เชือกตีลังหาหกคะเมนในอากาศ อยู่ในความเสี่ยงสูง ถ้าไม่มีตาข่ายรองรับข้างล่าง ตกลงมาก็บาดเจ็บสาหัสหรือตาย UBI เป็น “ตาข่ายความปลอดภัย” ให้ประชาชนได้
เรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วหน้า” หรือแจกเงินประชาชน เป็นเรื่องของ “กระบวนทัศน์” ที่แตกต่างจากที่โลกมีกันวันนี้
ทุนนิยม สังคมนิยม เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ตลาด” และ “แรงงาน” (labour) คนทำงานก็จะได้ค่าตอบแทน คนไม่ทำก็ไม่ได้ โดยมองข้าม “งาน” ที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ การที่แม่ต้องเลี้ยงลูกเล็ก ๆ อยู่กับบ้าน เลี้ยงดูพ่อแม่คนแก่เฒ่า และงานอื่น ๆ อีกมากมายก็เป็น “งาน” ที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่างานทางการต่าง ๆ คนเหล่านี้สมควรได้รับเงินตอบแทน
ระบบเศรษฐกิจวันนี้ไม่มีแนวคิดแบบนี้ คิดได้แต่แบบเดียว คือ “ผลิตผลจากแรงงาน” เน้นที่ “การผลิต” การบริโภค ตลาด ไม่ได้คิดถึงคนทำงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ นวัตกรรมที่อยู่ “นอกระบบการผลิต” อีกมากมาย ที่ช่วยให้โลกนี้คงอยู่ได้และน่าอยู่
นายแอนดรู ยัง เดโมเครตที่อยากเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแต่ถอนตัวเพราะคะแนนไม่มาก เป็นคนที่เสนอแนวคิด “รายได้พื้นฐาน” นี้ เสียดายว่า โควิดมาช้าไป ถ้าเร็วกว่านี้ เขาอาจจะได้คะแนนไม่น้อย เขาบอกว่า UBI เป็นการ “ปันผลเสรีภาพ” (freedom dividend)
คนถามว่า เขาจะหาเงินจากไหนเป็นหลายล้านล้านเหรียญแต่ละปีเพื่อแจกคนอเมริกันเดือนละ 1,000 เหรียญ เขาบอกว่า ก็เอาจาก Amazon, Apple, Google ที่รวยมหาศาล ที่ควรจะแบ่งคืนให้กับประชาชนคนทั่วไปด้วย เขาไม่ได้พูดประชด แต่มีตัวเลขแสดงด้วย (ไม่ใช่พูดเหมือนคนสมัครผู้ว่ากทม.คนหนึ่งที่บอกว่า ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ แก้ได้ง่ายนิดเดียว คือ เปิดไฟเขียวตลอด)
ที่อเมริกามีตัวอย่างที่รัฐอลาสกา ที่มีเงิน “ปันผลน้ำมัน” ให้ชาวอลาสก้าทุกคนปีละประมาณ 1,000-2,000 เหรียญ ที่มาจากกองทุนน้ำมันที่มีมูลค่า 55,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ด้วยแนวคิดที่ว่า น้ำมันเป็นสมบัติร่วมของคนอลาสกา จึงควรได้รับ “ส่วนแบ่ง” หรือ “เงินปันผล” พิเศษ นอกจากที่นำไปใช้พัฒนาและบริการสาธารณะต่าง ๆ
UBI ไม่ใช่โลกสวยหรือฝันกลางวัน ถ้าสเปนผ่านกฎหมายนี้ได้ จะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เมืองไทยก็มีศักยภาพที่ทำได้เช่นกัน
รัฐบาลไทยแจกเงิน 5,000 บาท 6 เดือน ให้คนกลุ่มหนึ่ง 9 ล้านคน และจะขยายไปยังกลุ่มอื่น ๆ ด้วยมาตรการอื่น ๆ อีกเท่าไรไม่ทราบ รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้พิจารณาเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” อย่างจริงจัง
ถ้าทำได้ ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกในโลก เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและมาตรการ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า”
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ทำก็คงแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาแนวคิดพื้นฐานและระบบโครงสร้าง ขออ้างอิงไอน์สไตน์อีกครั้งที่ว่า
“โลกที่เราสร้างคือผลของวิธีคิดของเรา จะเปลี่ยนไม่ได้โดยไม่เปลี่ยนวิธีคิดของเรา” “เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดียวกันกับที่เราใช้สร้างมัน” และ “ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบถึงรากถึงโคน” (radically)
ไอน์สไตน์ไม่ใช่คนประเภทโลกสวย เพราะเขาคิดสมการที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว UBI อาจเป็นแนวคิดเปลี่ยนโลกก็ได้
เพราะอย่างที่วิคตอร์ ฮูโกบอก “พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)