(18) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (13-04-2020)

(18) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (13-04-2020)

ภาพโดย Pete Linforth จาก Pixabay

#เรามีนัดกับประวัติศาสตร์

@ “เรามีนัดกับประวัติศาสตร์” “อย่าพลาดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันสมัครสมานสามัคคี” ประโยคแรกเป็นของจูเปซเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประโยคหลังเป็นของพระสันตะปาปาฟรันซิส ในสาส์นวันปาสกา

อิตาลีได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่งจากโควิด-19 มีการวิเคราะห์วิจารณ์ สรุปบทเรียนมากมาย การเมืองภายในก็ไม่นิ่ง ฝ่ายค้านก็ยังค้านหัวชนฝาไม่ว่าอะไรออกมา พอดีว่า นายกฯ คนนี้เป็นอาจารย์กฎหมายที่พรรคการเมืองเชิญมาเป็นนายกขัดตาทัพ แต่ปรากฎว่าเป็น ”ซุปเปอร์ซับ” อยู่ได้นานกว่า “นายกอาชีพ” ที่เปลี่ยนกันเกือบทุกปี ดูไม่เกรงใจใครด้วย เพราะไม่มีอะไรจะเสีย

บีบีซีสัมภาษณ์นายกคอนเต ถามว่า มีการวิจารณ์ว่าอิตาลีมีมาตรการรับโรคระบาดนี้ช้าเกินไป เขาตอบว่า “ถ้ากลับไปเวลานั้นอีก ผมจะทำเหมือนเดิม จะเอาอิตาลีไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นไม่ได้ (เขาหมายถึงมาตรการเข้มงวดของเมืองจีนที่ปิดอู่ฮั่นและอื่นๆ) เรามีรัฐธรรมนูญที่ให้กรอบไว้แล้ว ถ้าผมใช้มาตรการ lock down ตั้งแต่ต้น คนคงว่าผมบ้าแน่”

จูเซปเป คอนเต มีประวัติน่าสนใจมาก เขาเป็นคนจากภาคใต้ เรียนกฎหมายที่โรม แล้วยังไปเรียนต่อที่เยล ที่เวียนนา และได้ทำการวิจัยและสอนที่ซอร์บอนน์ แคมบริดช์ และนิวยอร์ค และเป็นองค์คณะในองค์กรกฎหมายระดับชาติของอิตาลี จึงมีประสบการณ์ทั้งในและระหว่างประเทศ ก่อนเป็นนายกฯ เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์

นายกฯ อิตาลีคนนี้เสนอให้อียูออกตราสารหนี้ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างอิตาลีและสเปน แต่เนเธอร์แลนด์และเยอรมันไม่เห็นด้วย และได้มีมาตรการอื่นออกมาเพื่อบรรเทาปัญหา

แต่คอนเตก็ยืนยันว่า หลังอีสเตอร์ เขาจะเสนอเรื่องนี้อีก และไม่เห็นทางอื่นที่อียูจะทำได้ดีกว่า ไม่เช่นนั้นก็เสี่ยงล้มเหลวในภารกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ “ช่วยเหลือกันในยามยาก” และต้องคอยดูว่า เมื่อโรคระบาดผ่านไป อียูยังจะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะถ้าขวาจัดชาตินิยมขึ้นมาครองอำนาจ อิตาลีออกจากอียูแน่

นายกคอนเตบอกว่า “เรามีนัดกับประวัติศาสตร์” เพื่อบอกว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติภัยธรรมดาจากโรคระบาดหนึ่ง แต่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลอย่างสำคัญต่อชีวิตและสังคมไม่ใช่ของอิตาลีหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ของโลก ที่จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เขาจึงเสนอว่า อียูควรใช้เหตุการณ์นี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อง “ส่วนรวม” ที่ควรร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมกันรับผิดชอบต่อภัยพิบัตินี้

พระสันตะปาปาฟรันซิส ในพระดำรัสวันปาสกา ก่อนการอวยพร “โรมและโลก” (Urbi et Orbi) จากมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์ที่ว่างเปล่า แต่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ได้เตือนให้คิดถึงคนที่ยากลำบากในสภาวะวิกฤตินี้ ประเทศที่ยากจน คนอพยพ คนที่เสี่ยงต่อโรคระบาดนี้มากที่สุด

ทรงบอกว่า โอกาสวิกฤตินี้อย่าพลาดที่จะแสดงให้เห็นถึงน้ำใจไมตรีและความเป็นหนึ่งเดียว คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประเทศร่ำรวยช่วยประเทศยากจน และมาตรการเข้มงวดบอยคอตต่างๆ ก็ควรจะผ่อนคลาย เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ (พระองค์ไม่ได้เอ่ยถึงใคร แต่ทั่วไปก็ทราบดีว่า สหรัฐอเมริกามีมาตรการลงโทษ (sanction) รุนแรงต่ออิหร่านและคิวบา จนประเทศต่างๆ ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นไปให้ได้)

@ บิลล์ เกตส์ ให้สัมภาษณ์ทีวีเยอรมัน (12 เมษษยน) ว่า น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ประเทศในแอฟริกาที่ระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจสังคมโดยรวมไม่พร้อมรับโรคระบาดนี้ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ตอนนี้ก็ระบาดไปเกือบทุกประเทศแล้ว แม้จะยังไม่มากเหมือนที่ยุโรป

บิลล์ เกตส์ ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนผ่านมูลนิธิของเขา เชื่อว่าวัคซีนเท่านั้นจะแก้ปัญหาไวรัสระบาดนี้วันนี้และในอนาคต ซึ่งจะมีการระบาดอีกอย่างแน่นอน แต่วันนั้น โลกคงจะเตรียมพร้อมมากกว่าครั้งนี้ ที่มีการเตือนกันนาน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ

เขาบอกว่า วัคซีนคงต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างน้อย 18 เดือน ถ้าโชคดีอาจจะเร็วกว่านั้น และจะมีปริมาณมากพอเพื่อใช้กับคน 7 พันล้าน และน่าจะเป็นไปได้ เพราะการพัฒนาวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหลายประเทศและหลายองค์กร

ถามว่า เขามองอนาคตหลังจากนี้อย่างไร บิลล์ เกตส์ บอกว่า โลกจะเป็น “โลกออนไลน์” มากขึ้น ไวรัสนี้เร่งให้โลกเป็น “โลกดิจิตอล” มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี บิลล์ เกตส์ ก็เคยพยากรณ์หลายอย่างผิดมาแล้ว อย่างกรณีสมาร์ทโฟน ที่เขาตกรถไฟขบวนสำคัญเพราะคาดการณ์ผิด กรณีการระบาดที่แอฟริกา เขามีส่วนช่วยการพัฒนาวัคซีนอีโบลา แต่ก็ทำนายผิดไป อีโบลาไม่ได้ระบาดหนักไปกว่าที่คิด โควิด-19 ก็เป็นไปได้ที่จะไม่ระบาดรุนแรงในแอฟริกา

เพราะที่ผ่านมา SARS ก็ดี MERS ก็ดี ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู ดูไม่สามารถ “เจาะ” แอฟริกาได้ ทำให้เมื่อมองภาพรวมโลกวันนี้ มีคำถามว่า

ทำไมโควิด-19 จึงระบาดหนักที่สุดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ร่ำรวย พัฒนา ก้าวหน้ามากที่สุด เทคโนโลยีดีที่สุด การแพทย์ดีที่สุด ดูเหมือนว่ายิ่งรวยมาก ยิ่งพัฒนามาก ก็ยิ่งระบาดมาก

ทำไมอิตาลีภาคเหนือ ที่ร่ำรวยกว่า พัฒนากว่าภาคใต้ของอิตาลี เหมือนเป็นคนละประเทศ จึงเป็นศูนย์กลางการระบาด โดยเฉพาะที่ลอมบาร์เดีย ที่มิลานเป็นเมืองหลวง คนจึงติดเชื้อมากที่สุดและล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

ทำไมประเทศในเอเชีย การระบาดจึงยังไม่รุนแรง และดูเหมือนจะควบคุมได้มากกว่าที่ยุโรปและอเมริกา

@ แสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์

คนยุโรปไม่ได้ออกจากบ้านเทศกาลอีสเตอร์ ไม่ได้ไปวัดไปโบสถ์ ไม่ได้ไปเยี่ยมญาติ เหมือนคนไทยไม่ได้ออกจากบ้านในเทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้เล่นน้ำ ไม่ได้กลับบ้านไปกราบพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ไม่ได้ไปทำบุญที่วัด เป็นความทุกข์ของฝรั่ง ของไทย ที่ถูก “จำกัดเสรีภาพ” ในนามของความปลอดภัยถ้วนหน้า

การกักบริเวณ การให้เว้นระยะห่างทางสังคม นับเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งถ้าถึงขั้น lock down ก็ยิ่งหนักหนาสาหัส ดูแต่คนจีนที่น่าจะคุ้นเคยกับกฎเหล็กของระบอบคอมมิวนิสท์ เอาเข้าจริง lock down ส่งผลให้คนจีนหย่ากันมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

รักกันใหม่ๆ ก็อยากอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง “หายใจเข้าออกเป็นเธอ” อยู่กันไปนานเข้าก็อยากออกจากบ้านให้ห่างเธอบ้าง เห็นหน้ากันทั้งวันทั้งคืนแล้วอึดอัด ยิ่งตกงาน ขาดรายได้ เป็นหนี้เป็นสิน ปัญหาสารพัดบีบคั้น เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด ไม่ได้ออกไปสูดอากาศข้างนอก ไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย หลายคนจะบ้าตายเอาให้ได้

ข้อมูลของหลายประเทศในยุโรปบอกว่า มาตการ “อยู่บ้านเถอะ” มีผลข้างเคียงหลายอย่าง เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นร้อยละ 25 รวมไปถึงการละเมิดทางเพศเด็กก็เพิ่มากขึ้น ไม่เห็นข้อมูลว่าหย่าร้างกันไปเท่าใด อาจต้องรอให้โรคระบาดผ่านไป แล้วค่อย “คิดบัญชี” กันก็เป็นได้ เพราะข้อมูลของจีนหย่ากันหลังจากยกเลิกปิดบ้านปิดเมืองแล้วจึงได้ “ประกาศอิสรภาพ” ก็คอยดูทั้งฝรั่งทั้งไทยว่าผลจะออกอย่างไร

ตัวเลขหลายประเทศทำให้เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะเริ่มลดลง (บ้าง) และไม่พุ่งเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านๆ มา จึงคาดกันว่า น่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดลงไปบ้าง อย่างน้อยก็ทีละเล็กละน้อยก็ยังดี จึงมีการพูดคุยกันในรัฐบาลอย่างที่เยอรมันวันพุธนี้ (15 เมษายน) โดยจะเอาผลการวิจัยเบื้องต้นที่ไฮน์สแบร์กศูนย์การแพร่ระบาดเยอรมันมาประกอบการตัดสินใจว่า จะไปต่ออย่างไร จะผ่อนคลายบางมาตรการได้หรือไม่

เพราะการ lock down ในประเทศต่างๆ อย่างเข้มงวด มีผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มีการละเมิดกฎ การจับปรับเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง เป็นเงินนับหลายล้านแล้ว อย่างที่ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ที่ใช้กำลังตำรวจทหารเป็นหมื่นออกตระเวนตรวจจับปรับคนละเมิดกฎที่ออกมาในช่วงนี้

เมืองไทยได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกว่า จัดการกับการระบาดครั้งนี้ได้ดี ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ คนเสียชีวิต ซึ่งต่ำกว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่ไทยมีผู้ติดเชื้อเป็นประเทศแรกๆ ต่อจากจีน ส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก มีประสบการณ์จากการระบาดของโรคเอดส์มามาก ประชาชนให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ รัฐบาลก็มีหลายมาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจ

ชื่นชมการทำงานของทุกฝ่าย เห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ แต่ “ห้ามเล่นน้ำสาดน้ำในบ้าน” อันนี้จะไม่ข้ามเขตแดนเสรีภาพส่วนบุคคลมากไปหรือ อีกหน่อยอาจจะห้ามนอนเตียงเดียวกัน ห้ามกินข้าวโต๊ะเดียวกันในบ้าน ทำเหมือนว่าประชาชนโง่เง่า หรือเป็นเด็กเล็กที่ต้องห้ามไปเสียทุกเรื่องทุกรายละเอียด

มี common sense บ้างก็จะดี เครียดขนาดนี้แล้วอย่าซ้ำเติมเลยครับ

เรื่องใหญ่คงไม่ใช่โควิด-19 เท่านั้น แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกันถ้วนหน้า และจะตามมาอย่างแสนสาหัส ถ้าไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ สังคมไทยคงน้ำตาเช็ดหัวเขา และคงอีกนานกว่าจะฟื้นคืนมาได้

วันนี้ นอกจากผู้ประกอบการรายย่อยนับหมื่นนับแสนรายจะเจ๊ง เกษตรกรคนปลูกพืชผักผลไม้ก็กำลังเจ๊งกันถ้วนหน้า บางคนขนส้มมากองเป็นตันๆ เน่าเสีย ใครอยากได้ก็ไปเอาได้ฟรี ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าไปซื้อ ยังผลไม้อย่างมะม่วง เงาะ ขนุน ทุเรียน ลิ้นจี่ ก็ไม่เป็นราคา และลำไยที่จะตามมา

สงกรานต์นี้ ขอให้ทุกท่านมีทุกข์ก็ให้ทุกข์น้อยลง มีสุขก็แบ่งปันคนอื่น โดยเฉพาะที่กำลังทุกข์มาก ขอให้กุศลกรรมใดๆ ทำให้ท่านปลอดภัยจากโควิด-19 และโรคร้ายทั้งปวง

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com