(19) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (14-04-2020)
UBI universal basic income คือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า กำลังได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ อย่างจริงจัง ล่าสุด คือ สาส์นของพระสันตะปาปาฟรันซิสถึงผู้นำขบวนการทางสังคมทั่วโลกในวันปาสกาที่ผ่านมา มีประเด็นนี้ที่เนื้อหาน่าสนใจมาก เชื่อว่าจะมีผลต่อแนวคิดนี้อย่างสำคัญ
ขบวนการทางสังคมพระองค์หมายถึงประชาสังคม ผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สหภาพแรงงาน คนทำงานด้านสิทธิคนพื้นเมือง คนไร้บ้านและคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทรงเรียกพวกเขาว่า “กวีทางสังคม เพราะจากพื้นที่ชายขอบที่ถูกลืมที่พวกท่านอยู่ พวกท่านได้สร้างทางออกที่น่าชื่นชมให้กับปัญหาที่สาหัสเร่งด่วนของคนชายขอบ”
“ความเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้ทุกคนทุกข์มากกว่าเดิมเป็นสองเท่า หลายคนในพวกท่านมีชีวิตแบบวันต่อวัน” ท่านเอ่ยถึงคนจนที่ขายของตามถนน คนเก็บขยะไปขาย คนทำงานอาชีพอิสระในภาคที่ไม่ทางการ (informal sector) โดยเฉพาะในเศรษฐกิจฐานรากว่า คนเหล่านี้ “ไม่มีรายได้มั่นคงเพื่อจะฝ่าเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และ “การ lock down เป็นอะไรที่ไม่อาจทนได้” ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงบอกว่า
“นี่น่าจะเป็นเวลาที่จะพิจารณาเรื่องค่าจ้างพื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic wage) ที่จะยอมรับและให้เกียรติภารกิจที่สำคัญและสูงส่งที่พวกท่านทำอยู่ จะทำให้มั่นใจและบรรลุอุดมคติของความเป็นมนุษย์และความเป็นคริสต์ว่า นี่คือสิทธิของคนงานทุกคน”
“ท่านมีวัฒนธรรม มีวิธีการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีปัญญาญาณในการทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนอื่น ข้าพเจ้าอยากให้เราคิดถึงโครงการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน กลุ่มประชาชนหลากหลาย ให้ทุกคนเข้าถึงงาน ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินและอาหาร”
“ข้าพเจ้าหวังให้รัฐบาลเข้าใจว่า กระบวนทัศน์เทคโนเครต (ไม่ว่ารัฐเป็นศูนย์กลางหรือขับเคลื่อนโดยตลาด) ไม่เพียงพอเพื่อจัดการกับวิกฤตินี้ หรือปัญหาใหญ่อื่นๆ ที่มีผลต่อมนุษยชาติ วันนี้จึงจำเป็นกว่ายุคใดๆ ที่บุคคล ชุมชน และประชาชน จะต้องเป็นศูนย์กลาง รวมพลังเพื่อรักษา ดูแลและแบ่งปัน”
พระสันตะปาปาฟรันซิสเรียกร้องให้คน “กลับใจ” ใส่ใจในมนุษยธรรม สิ่งแวดล้อม หยุดบูชาเงินทอง และให้ชีวิตมนุษย์และศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
“อารยธรรมของเรามีแต่การแข่งขันกันและความเห็นแก่ตัว ผลิตและบริโภคอย่างบ้าคลั่ง ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย คนเพียงส่วนน้อยได้ประโยชน์ อารยธรรมนี้ต้องลดความร้อนแรงลง ครวญคิดพิจารณาและเปลี่ยนแปลงตนเอง”
สาส์นของพระสันตะปาปาฟรัสซิสได้รับการตอบรับจากทั่วโลก จากภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ที่ทำงานกับคนยากคนจน คนชายขอบ ที่ต้องการความช่วยเหลือที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การสงเคราะห์เพราะสงสาร แต่เป็นสิทธิของพวกเขาที่ควรได้รับ ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม เป็น “หุ้นส่วน” สำคัญ
ก่อนหน้านี้สองสามปี มีคนสำคัญอย่างอีลอน มัสก์ (เทสลา), มาร์ค ซุคเคอร์เบอร์ก (เฟสบุ๊ก) และอีกหลายคนที่อกมาแสดงความเห็นด้วยกับ UBI โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องโรคระบาด แต่เรื่อง AI หรือ ปัญญาประดิษฐที่จะทำให้คนตกงานเกือบครึ่งค่อนโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ว่าในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือภาคเกษตรกรรม
ถ้าไม่มี “รายได้พื้นฐาน” ต่อเดือน จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีหลักประกัน ไม่มีรายได้ ต้องไปขอเงินสวัสดิการจากรัฐอยู่ดี ทำไมไม่ทำให้เป็นระบบโดยรวม ตัดสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนออกไปเสีย ขนาดอินเดีย ประชากร 1,300 ล้านยังคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมีการทำวิจัยมาก่อน และกำลังทำอยู่ ทำให้มั่นใจว่า นี่น่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ได้ผลและยั่งยืน
นายแอนดรู ยัง พรรคเดโมเครตที่เคยอยากเป็นประธานาธิบดี ตอนเสนอแนวคิด UBI ไม่มีใครสนใจเท่าไร วันนี้เขากลายเป็นคนดังในอเมริกาไปแล้ว เพราะเป็นคนที่เสนอให้ทำเนียบขาวออกมาตรการคล้าย UBI เพื่อช่วยคนอเมริกันในยามวิกฤตินี้ ยิ่งวันนี้ที่โป๊ปเห็นด้วยกับ UBI แอนดรู ยัง ทวิตเตอร์ยินดีกว่าใครๆ
สังคมวันนี้ ไม่ว่าที่ไหน ใช้อำนาจมานานจนคุ้นชิน และชอบคิดแทนชาวบ้านไปเสียทุกเรื่อง คิดไปว่า ถ้าให้เงินแล้วบางคนจะเอาไปซื้อยาเสพติด ไปเล่นการพนัน ถ้าคน 5 คนทำเช่นนั้น ทำไมต้องลงโทษ 95 คน
มหาตมะ คานธีที่บอกว่า “อย่าหมดหวังกับมนุษยชาติ มนุษยชาติเปรียบเสมือนมหาสมุทร ถ้าน้ำไม่กี่หยดสกปรก มหาสมุทรไม่สกปรกดอก”
ที่สำคัญ ในวิกฤติมีโอกาส การที่คนไม่มีงาน “ทางการ” ทำ แต่มีรายได้พื้นฐานเป็นหลักประกัน ก็จะสามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ จะเกิดนวัตกรรมขึ้นมาอีกมากมาย สติปัญญาของมนุษย์คิดได้แบบไร้ขอบเขต ถ้าหากไม่ถูกกีดกัน เหมือนไม้ในกระถางที่ไม่มีทางเติบโต นอกจากจะทุบกระถางและเอาลงดิน จะได้โตเป็นไม้ใหญ่ ให้ดอกให้ผล พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องให้ใครไปรดน้ำ เป็นที่พึ่งพาอาศัยให้คน สัตว์ และพืชอื่น
ถ้าไม่มีการวิจัย ไม่มีการทดลองจากชีวิตจริง คงเถียงกันไปอีกนาน เพราะต่างก็คิดเอาเอง มโนเอาเอง คนที่จะไม่ยอมเปลี่ยนมากที่สุด คือ คนที่เสียประโยชน์ ส่วนใหญ่คือข้าราชการพนักงานหน่วยงานรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การช่วยเหลือสวัสดิการในโครงการร้อยแปด คนเหล่านี้จะค้านหัวชนฝาอย่างแน่นอน
ที่อินเดียมีการต่อต้าน เพราะโครงการสงเคราะห์ปัจจัยสี่ร้อยแปดโครงการเป็นแหล่งคอร์รัปชั่น ข้าวของเน่าเสีย ไม่ถึงมือชาวบ้าน ค่าจ้างค่าแรงเงินเดือน ค่าบริหารจัดการสูงมาก เอามาสมทบ UBI ได้ไม่น้อย
ผู้ต่อต้านอ้างเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่า อย่าให้ปลาชาวบ้าน แต่ให้เบ็ด และสอนตกปลา เขาจะได้มีปลากินตลอดชีวิต ซึ่งพูดมากี่ร้อยปี ให้เบ็ดไปเท่าไร สอนไปเท่าไรก็ไม่เคยแก้ปัญหาความยากจนได้ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านขาดไม่ใช่เบ็ด หรือจับปลาไม่เป็น แต่ไม่มีโอกาสและไม่มีที่จับปลาต่างหาก อันเนื่องมาจากระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน
มาตรการร้ายได้พื้นฐานถ้วนหน้า จะเปลี่ยนระบบโครงสร้างสังคม จะเป็น “สังคมสวัสดิการ” หรือเรียก “รัฐสวัสดิการ” ก็ได้ ที่ให้ความมั่นคงขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาต่อยอด สร้างสรรค์งาน ที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อนได้ ไม่ลากจูงคนตกงาน คนยากคนจน คนไร้บ้าน คนชายขอบอย่างที่ทำกันอยู่ (แบบถูลู่ถูกัง)
วันนี้ UBI กำลังกลายเป็น”วาระใหญ่” ที่โลกสนใจและถกเถียงกันแล้ว ไม่ใช่ไปสอดไส้เป็นวาระเล็กๆ พูดกันที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในการประชุมผู้นำโลกเหมือนหลายปีที่ผ่านมา แต่พูดกันอย่างเปิดเผย “ถ้วนหน้า” เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
“พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (วิคตอร์ ฮูโกบอก) (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)
—————–
ท่านที่เข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก อยากบอกว่า ผมได้เขียนบทความเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” และโพสท์ที่นี่สัปดาห์ที่แล้ว ทั้งบทความเก่าและบทความใหม่ อยากแนะนำให้ไปอ่าน เพื่อจะได้มีฐานข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอีกไม่นาน อาจมีเวทีมีกลุ่มพิเศษเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกัน