กลยุทธ์สามก๊ก
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เรื่อยๆ มาเรียงๆ
Column: Easy… easy
ผู้เขียน: ปกรณ์ ปกีรณัม

e-shann11_easy

วงสนทนาวันนั้น มีผู้ เอ่ยถึงวรรณกรรมจีน กับวรรณกรรมอินเดีย  พูดคุยกันถึงสามก๊ก ฉบับวณิพก ของยาขอบ  ฉบับนายทุน ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน

ในวง ความคิดเห็นของแต่ละคนล้วนน่าสนใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงความตั้งใจของท่านผู้ถ่ายทอดแต่ละฉบับ

ผมบอกว่า จากที่ผมอ่านฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน ผมอ่านหลายต่อหลายเที่ยวด้วยความอยากรู้ อยากเข้าใจความคิดความเป็นไปของตัวละคร แต่ผมก็ยังงง ๆ ไม่เข้าใจในสำนวนจีน และจำชื่อตัวละครไม่ค่อยได้ จนกระทั่งมีโอกาสได้อ่าน สามก๊ก ฉบับวณิพกของ ยาขอบ  ซึ่งจะนำเอาตัวละครแต่ละตัวมาตั้งฉายา  เล่าถึงบทบาทตั้งแต่เริ่มต้น จนจบ   ทำให้ผมอ่านสามก๊กเข้าใจได้มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ  เล่าปี่ ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น  กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ  จิวยี่ ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า   โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ  และอื่น ๆ  ซึ่งในเวลาต่อมา ฉายาของ ตัวละครแต่ละตัว ก็เป็นที่รู้จักกันดีในผู้อ่านสามก๊ก

ต่อมา ผมอ่านสามก๊กฉบับนายทุน หรือฉบับเจ้าสัว ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ตอน  โจโฉ นายกตลอดกาล  ซึ่งท่านคึกฤทธิ์ เล่าถึงบทบาทของตัวละครเป็นตอน ๆ เช่นกัน  แต่ มองคนละมุมกับฉบับวณิพกของยาขอบ   ท่านคึกฤทธิ์ จะมองบทบาทของเล่าปี่ในมุมที่ว่า เป็นผู้คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ ก่อความวุ่นวายไปทั้งแผ่นดิน  ส่วนบทบาทของโจโฉ จะเป็นผู้ทำทุกอย่างในทางการเมือง เพื่อให้คงไว้ซึ่งอำนาจ  เพื่อจะทะนุบำรุงแผ่นดิน และเพื่อพระเจ้าเหี้ยนเต้

ครับ เรียกว่ามองต่างมุมต่างขั้วกันเลย  นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผม พอเห็นหนังสือ ที่มีคำว่าสามก๊ก เป็นต้องซื้อหามาอ่านมาเก็บ  แต่ก็พลาดไปหลายเล่ม

ในช่วงปี 2548 – 2551 สำนักพิมพ์บันลือสาร พิมพ์สามก๊กฉบับการ์ตูน โดย หมู นินจา จำนวน 45 เล่มจบ ราคาเล่มละ 50 บาท   หลานชายผม อายุ 9 ขวบ ติดงอมแงม ทำให้ผมต้องคอยตอบคำถาม ที่เขาไม่เข้าใจ ผมเลยยุให้เขาอ่าน ฉบับวณิพก ซึ่งตอนนี้เมื่อเขาว่างเป็นหยิบมาอ่าน   ครับการ์ตูนดี ๆ ฝึกนักคิดให้เป็นนักอ่านดี ๆ เช่นกัน

ผมพลาดอีกเล่ม ซึ่งเพิ่งจะมีโอกาสเป็นเจ้าของ ก็ปาเข้าไปเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14    ชื่อ กลยุทธ์ สามก๊ก  เรียบเรียง โดย ทองแถม นาถจำนง สำนักพิมพ์ชุมศิลป์ธรรมดา จัดพิมพ์จำหน่าย จำนวน 328 หน้า ราคา 295 บาท

ผู้เรียบเรียงบอกว่า หนังสือเล่มนี้ “ประสานหลักการบริหารยุคไอทีกับภูมิปัญญาตะวันออก ปรับกระบวนยุทธ์เพื่อชัยชนะที่ยั่งยืน”

ภาคผนวก เป็นบทความของ ศาสตราจารย์ ดร.เกร็ก เจ. เรย์โนลด์ “วัฒนธรรมธุรกิจจีน – ไทย : ยุทธศาสตร์, การจัดการ และสงคราม” ซึ่ง จั่วไว้ที่ ปกหลังว่า

“กลยุทธ์ทางธุรกิจบางอย่างจาก ‘สามก๊ก’ ซึ่งแปลจากภาษาจีนและญี่ปุ่นได้เพิ่มประกายเจิดจ้าขึ้น
โดยนักแปลชาวไทยที่กลั่นเอาบทเรียนที่ (ชาวไทย) พึงเรียนรู้
ความเชี่ยวชาญของผู้แปล-ผู้วิจารณ์ อยู่ที่การทำให้สำนวนการแปลเข้าได้ดีกับความรู้สึกของท้องถิ่น
ฟังดูดีสำหรับคนไทย หนึ่งในบรรดานักแปล-นักวิจารณ์ ก็คือ ทองแถม นาถจำนง
ผลงานของเขาทำให้ผู้อ่านต่างติดใจ ติดตามซื้อเล่มต่อ ๆ ไป เพื่อจะได้รับสิ่งใหม่ ๆ อันนำไปสู่ความสำเร็จ”

ครับ สามก๊ก ถูกนำมาย่อย นำมาชี้นำให้เห็นกลยุทธ์ ให้เห็นแก่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจการงานต่าง ๆ อีกมาก

และอีกหลายเล่ม ของคุณทองแถม นาถจำนง ผมพอนึกได้ คือ ขุนพลสามก๊ก,  สุมาอี้ คนชั่วช้าของแผ่นดิน,  เบ้งเฮ็ก ไม่ใช่คนไทย  

เขาเคยฝากคำที่ว่า ยังไม่ได้อ่านสามก๊ก อย่าพึงคิดการใหญ่… แต่ก็มีอีกประโยคที่คนไทยชินหู คือ  อ่านสามก๊กสามจบ คบไม่ได้

ไม่ทราบว่า มีนักการเมืองไทยคนใด อยู่ในข่ายนี้บ้าง

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com