(20) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (17-04-2020)

(20) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (17-04-2020)

ภาพโดย Petanos จาก Pixabay

#คลายล็อคหรือล็อคต่อ

หลายประเทศเริ่มคลายล็อค แต่ด้วยความระมัดระวัง อ้างว่า ตัวเลขไม่พุ่งขึ้น เพิ่มแบบชะลอตัว จึงคาดว่าน่าจะเลยจุดสูงสุดไปแล้ว ไม่รู้ว่าปลอบใจตัวเองหรือไม่ เพราะในความเป็นจริง แม้จำนวนเพิ่มจะน้อยกว่าวันก่อนหน้านั้น แต่ก็เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต

อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดทุกวันแบบปลอบใจตัวเองและประชาชนว่า ไม่นานก็กลับไปสู่สภาวะปกติแล้ว ตอนแรกก็นึกว่าตนเองมีอำนาจสูงสุด จะสั่งทุกรัฐให้ปิดให้เปิดได้ เอาเข้าจริงก็หน้าแตก เพราะรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ให้อำนาจถึงขนาดนั้น (นายคัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คบอกว่า คุณไม่ใช่พระเจ้าทรัมป์ คุณเป็นประธานาธิบดีทรัมป์) แต่โดนัลด์ ทรัมป์ก็ไม่สน เปลี่ยนความคิดได้วันหลายครั้ง

สาเหตุที่ทุกประเทศต้องคลายล็อคเพราะปัญหาเศรษฐกิจหนึ่ง ปัญหาสังคมหนึ่ง คนเครียดจัด ไม่อาจรับการถูกกักตัวแบบเข้มได้นานเป็นเดือน ๆ เช่นนี้ มีปฏิกิริยาทั่วโลก มีการประท้วงในหลายรัฐที่อเมริกาและในยุโรปหลายประเทศ

ในแอฟริกาก็จลาจลแย่งชิงอาหารกัน ที่อินเดียก็ประท้วงให้เปิดเดินรถไฟรถบัส คนเป็นล้านที่ถูกกักในเมืองใหญ่อยากกลับบ้านเกิด อยู่ไปไม่มีงานทำ ไม่มีกิน รัฐบาลก็สั่งหยุดการคมนาคมทั้งหมด ชาวบ้านจะเดินกลับบ้านก็ถูกกักถูกห้ามอีก สุดท้ายคนก็ไม่ไหว

แม้แต่ในเยอรมนีก็มีคนจำนวนมากผิดหวังกับมาตรการคลายล็อควันก่อน ที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะคลายมากกว่านั้น อนุญาตให้ร้านค้าที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 800 ตร.ม.เปิดได้ ยังห้ามเปิดห้างใหญ่ ร้านอาหาร โบสถ์ทุกศาสนา โรงเรียน และการชุมนุมใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องรอไปถึงปลายสิงหา ร้านตัดผมทำผมเปิดต้นพฤษภา (ยุคฮิปปี้น่าจะกลับมา ปล่อยผมยาวดูดี)

รัฐบาลกลางเยอรมันที่ตัดสินใจเรื่องนี้บอกว่า ยังไงก็ขอให้อดทนไปอีกหน่อย เพราะถ้าคลายล็อคเร็วไป ไวรัสกลับมาคงยากที่จะเอาอยู่ จะร้ายแรงกว่าเดิม ชาวบ้านบอกว่าก็ขู่ไปเรื่อย

จะเห็นว่า ประเทศทั่วโลกมีมาตรการแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ล็อคเข้ม (hard lock down) แบบจีน ไปจนถึงไม่ล็อคดาวน์อย่างเบลารุส หรือล็อคเบา (soft lock down) แบบสวีเดน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงในลักษณะนี้ ไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน จึงมีแนวคิดแนวทางหลากหลาย

จึงมีกรณีอย่างฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรที่ตัวเลขพุ่งขึ้นทุกวัน ที่ตัดสินใจขยายเวลาล็อคดาวน์ออกไปอีกหลายสัปดาห์ ยังความขุ่นเคืองให้ประชาชนจำนวนมาก ขณะที่อิตาลีกับสเปนเริ่มคลายมาตรการเล็ก ๆ เพื่อปลอบใจประชาชน แม้ตัวเลขยังสูงอยู่ก็ตาม

มีกรณีสวีเดนที่น่าศึกษาว่า ทำไมจึงมีมาตรการแบบเบาจนดูเหมือนว่าชีวิตดำเนินไปตามปกติ จนหลายคนรวมทั้งนายทรัมป์ออกมาบอกว่า สวีเดนมีแนวคิดแบบ “ภูมิต้านทานหมู่” (herd immunity) คือปล่อยให้ระบาดไปเรื่อย ๆ จนหยุดเองเมื่อระบาดไปถึงร้อยละ 70 ของประชากร ก็จะเกิดภูมิต้านทานทั้งชาติ ซึ่งสวีเดนปฏิเสธ

เพราะถ้าปล่อยเช่นนั้นจริง สวีเดนซึ่งมีประชากร 10 ล้านคน ต้องให้ติดเชื้อ 7 ล้านคน และคนเสียชีวิตอาจประมาณ 1-2 ล้านคน ซึ่งคงเป็นราคาที่ “แพงเกินไป” และเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนคนสวีเดนจะยอม แม้ว่ารัฐธรรมนูญประเทศนี้ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนสูงมาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลใช้มาตรกร “ล็อคเบา” เพราะเขาฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร และไม่ตัดสินใจคนเดียว

นายทรัมป์บอกว่า สวีเดนกำลังรับผลกระทบหนัก คนติดเยอะ ตายมาก เขาพูดเช่นนี้เพื่อปลอบคนอเมริกันที่อยากให้อเมริกาคลายล็อคว่า ดูสวีเดนไว้เป็นตัวอย่าง (ที่ไม่ดี) แกบอกว่า มาตรการของอเมริกานั้นดีที่สุดแล้ว แกไม่เขินที่จะให้คะแนนการแก้ปัญหาโควิด-19 ของตัวเอง 10 เต็ม 10 แม้ว่า “อเมริกามาก่อน” ใครจริง ๆ ในจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาดนี้

คนสวีเดนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับมาตรการล็อคเบาของรัฐบาล แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูง (วันนี้ 12,540 คน ตาย 1,333 คน) และเพิ่มขึ้นต่อวันค่อนข้างสูง และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศต่าง ๆ ว่า สวีเดนกำลังเล่นกับความตาย หรือเป็นเกมรัสเซียนรูแล็ต (ปืนมีกระสุนนัดเดียว ผลัดกันยิงขมับตัวเอง แบบฉากในหนัง The Deer Hunter ในสงครามเวียดนามที่ผมเรียกว่าเกม “โป้งเดียวจอด” )

แต่สวีเดนก็บอกว่า เขามีมาตรการที่น่าจะเหมาะสมกับวิถีของชาวสวีเดน กับรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ แม้คนต่างชาติเดินทางไปสวีเดนจะเห็นเหมือนว่าทุกอย่างเป็นปกติ คนยังไปกินข้าวร้านอาหาร ไปซื้อของ ไปทำงาน เด็ก ๆ ยังไปโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม คนยังไปอาบแดดเต็มสวนสาธารณะในวันอากาศดี ซึ่งไม่มีในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

แต่คนสวีเดนก็บอกว่า เราห้ามการชุมนุมเกิน 50 คน ปิดโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ส่วนการรักษาระยะห่างทางสังคมก็เป็นข้อแนะนำ ไม่ได้บังคับ รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าคนมีสามัญสำนึกดีพอ คิดเองได้ ดูแลตัวเองได้ คนสวีเดนจำนวนมากจึงเลือกทำงานที่บ้าน ไม่เสี่ยงออกไปในที่มีคนมาก ๆ อย่างร้านอาหาร ซื้อของ และอื่น ๆ คนที่ออกไปก็เสี่ยงเอง

สวีเดนบอกว่า การล็อคดาวน์คนเดือนสองเดือนเป็นเรื่องที่ยากจะทนได้ และก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นเช่นนั้นในประเทศต่าง ๆ ซึ่งก็พยายามหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อคลง

สวีเดนบอกว่า แม้วันนี้จะมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตที่สวีเดนมากกว่าที่เดนมาร์กและนอร์เวย์ สองประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาตรการล็อคดาวน์เข้ม คนติดเชื้อน้อยกว่า ตายน้อยกว่าเท่าตัว พวกเขาเชื่อว่า เมื่อสองประเทศนั้นปลดล็อค ไวรัสจะกลับมาและคนจะติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าสวีเดน เพราะไวรัสตัวนี้เราไม่สามารถ “กำจัด” (suppress) ได้หมด เราทำได้เพียง “จัดการ” (manage) มันให้ได้เท่านั้น สวีเดนเชื่อว่า พวกเขากำลังจัดการมันอย่างถูกวิธีแล้ว

คงไม่มีใครผิดใครถูก เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการระบาดแบบนี้ ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันหมดยิ่งกว่ายุคสมัยใด ๆ “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว” วันนี้จึงจริงยิ่งกว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ คงต้องรอให้มันผ่านไปแล้วมาดูกันว่า วิธีไหนถูกกว่าวิธีไหน ดูกันที่ผล

ประเทศไทยก็เหมือนหลายประเทศ การล็อคดาวน์ส่งผลทุกด้าน ทางสังคมเศรษฐกิจและกระเทือนการเมือง คนเริ่มทนไม่ไหวกับมาตรการล็อคดาวน์ และการไม่มีจะกินจะใช้ การเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ไม่ทันการณ์ อาจจะกลายเป็นโศกนาฏกรรม “กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่” อย่างที่คุณดนุพล แก้วกาญจน์เตือนไว้ก็ได้

แม้ว่าสถานการณ์ของไทยไม่ได้เลวร้ายเกินไปนักถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแต่ละวันน้อย แต่กระนั้นทางรัฐบาลก็ยังไม่อยากให้ “ลดการ์ด” ลง เห็นกรณีญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่ตัวเลขกลับมาพุ่งแล้วก็กลัวว่า ไทยจะเป็นแบบเดียวกัน การลงทุนลงแรงไปมากมายก่อนนี้จะเสียเปล่า

ก็พอฟังได้ แต่ปัญหาใหญ่สุดวันนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลก็พยายามเยียวยาด้วยมาตรการมากมาย แต่ดูเหมือนว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นและอาจจะลุกลามไปไกลจนแก้ไขยาก เกิดจากการบริหารจัดการโดยหน่วยงานราชการ “แบบราชการ” และฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ สับสน นี่ก็เห็นตั้งกรรมการเต็มไปด้วยปลัดกระทรวงต่าง ๆ เพื่อทำงานนี้อีก

ทั้ง ๆ ที่มีคนมีความรู้ความสามารถในเรื่องการทำข้อมูล การบริหารจัดการจากภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย รัฐบาลไม่ได้ระดม “คน” เหล่านี้มาช่วยกันทำงานให้มากที่สุด วิธีคิดวิธีทำแบบเดิม ๆ แก้ปัญหาไม่ได้ คนมีความรู้มีปัญญามากมายเต็มบ้านเต็มเมืองกลับไม่ใช้

ประเทศเกาหลีได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากในการจัดการกับการระบาดนี้ โดยไม่ได้มีการล็อคดาวน์แบบเข้ม คนยังออกไปกินข้าว ซื้อของ ทำงาน แต่เขามีวิธีการติดตามผู้ติดเชื้อ คนป่วย ผู้เสี่ยง ได้หมดทุกคนจนจัดการให้กักตัว หรือไปรักษา

เกาหลีทำได้เพราะ “รู้เท่าทัน” ตามทัน จัดการโคโรน่าไวรัสได้ โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจนเกินไป เพราะเกาหลีระดมคนมีความรู้ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ลงทุนตรวจ (test) อย่างมากมายตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งได้ผลคุ้มทางเศรษฐกิจและสังคม เป็น “การขาดทุนที่เป็นกำไร”

แทนที่เราจะดูแต่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ น่าจะดูเกาหลีและไต้หวันด้วยก็จะดี แทนที่จะเอาแต่ข้าราชการทำงาน หาคนเก่ง ๆ จากทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำงาน จะได้พลังปัญญาที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวแบบยั่งยืนได้ดีกว่า

ใช้วิธีสั่งและสอนอย่างเดียวไม่พอ ใช้อำนาจกับเงินอย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com