(21) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (21-04-2020)

(21) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (21-04-2020)

#ขอร้องคนรวยช่วยคนจน

ขอร้องคนรวยช่วยคนจน ไม่ว่าจะขอเงินหรือขออะไร รวมไปถึงขอความคิดเห็น กลายเป็นประเด็น เพราะมีคำถามมากมาย ที่ส่วนใหญ่ไม่ถามธรรมดาแต่วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงเป็น “รัฐบาลขอทาน” ด้วยบรรยากาศกดดันจากพรบ.ฉุกเฉิน ความทุกข์จากโรคระบาด ขาดรายได้ ไม่มีจะกิน

รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย “ขอเงินคนรวย” มาตลอด เพราะมาจากแนวคิดการพัฒนาแบบไม่เท่าเทียม (Unequal Development Theory) ที่ให้คนรวยรวยก่อน แล้วจะดึงคนจนขึ้นไป พัฒนาภาคอุตสาหกรรมก่อน ภาคเกษตรค่อยตามมาทีหลัง เชื่อว่าเมื่อคนรวยมีเงิน ก็จะช่วยคนจน ไม่ช่วยก็จะ “ขอร้อง” ให้ช่วย

ทฤษฎีการพัฒนาแบบนี้ทำให้ระบบโครงสร้างสังคมไทยไม่เท่าเทียม เพราะให้โอกาสคนรวยมากกว่าคนจน ทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง ที่หวังให้คนรวยช่วยคนจนนั้น ก็ช่วยแบบเอาเปรียบ จ้างแรงงานถูก ๆ กดขี่ค่าจ้าง กดราคาค่าวัตถุดิบที่ให้ชาวบ้านปลูกเลี้ยง

คนจนจึงเป็นหนี้ซ้ำซากและถาวร หาทางออกไม่เจอ ไปกู้ ธกส. ไม่มีเงินจ่ายเพราะน้ำท่วมฝนแล้ง ราคาผลผลิตตกต่ำก็ไปกู้พ่อค้าไปคืน ธกส. เพื่อจะได้เป็นลูกหนี้ที่ดี และกู้ ธกส.ได้ใหม่เอาไปคืนพ่อค้า กู้ไปกู้มาปีแล้วปีเล่า ที่สุดบางส่วนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ นรกบนดิน

ขอเงินพ่อค้าก็อาจได้เศษเนื้อข้างเขียง CSR หรือความรับผิดชอบทางสังคของบรรษัทก็เป็นเพียงลิเกโรงใหญ่ ประชาสัมพันธ์ตัวเอง สงเคราะห์ ปีศาจในคราบนักบุญ

CSR จริงๆ หมายถึง ความรับผิดชอบทางสังคมต่อพนักงาน ต่อผู้บริโภค ต่อสังคม คือ ความยุติธรรมในทุกกระบวนการ แต่นายทุนก็บิดเบือนทำให้เป็นเรื่องการทำบุญ การประชาสัมพันธ์

ตราบใดที่ระบบโครงสร้างยังบิดเบี้ยวไม่เป็นธรรม จะสร้างความเท่าเทียม แก้ความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

มีนายทุนกี่เจ้าผลิตเหล้า รัฐบอกว่าอนุญาตให้ทุกคน แต่กฎหมายที่ออกมาทำให้โอกาสทุกคนทำได้จริงหรือ ถ้าเป็นธรรมและเท่าเทียม จะต้องให้โอกาสทุกคน กฎหมายที่แยกแยะศักยภาพของคนที่มีไม่เท่ากัน คนมีเงินร้อยย่อมน้อยกว่าเงินล้าน แต่กฎหมายทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันแบบ “บางคนเท่าเทียมกว่าคนอื่น” (someone more equal than others – Animal Farm, George Orwell)

ทำไมประเทศเยอรมนีมีเบียร์หลายพันยี่ห้อ ใคร ๆ ก็ผลิตได้ แม้แต่ในหมู่บ้าน ในครัวเรือน มีกฎกติกาสำหรับทุกคนที่สามารถปฏิบัติตามได้ คนผลิตน้อย ผลิตในชุมชน ไม่ได้ต้องเสียภาษีและมีกติกาเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่

ทำไมประเทศในยุโรปมีไวน์หลายพันยี่ห้อ ผลิตโดยสหกรณ์ โดยองค์กรชุมชน โดยครัวเรือน หรือโดยบริษัทก็ทำได้ทั้งนั้น มีกฎกติกาแยกแยะรองรับหมด

อ้างศีล 5 แต่รัฐก็มือถือสากปากถือศีล หน่วยงานและพนักงานรัฐได้รับการสนับสนุน ได้ค่าตอบแทนจากนายทุนเหล้า จึงขมีขมันไล่จับเหล้าเถื่อน ทั้ง ๆ ที่ข้าวก็ข้าวเขา น้ำก็น้ำเขา ไฟก็ไฟเขา หม้อก็หม้อเขา เขาทำกินก็ไม่ได้ ไปซื้อก็แพง ถ้าให้โอกาสเท่าเทียมเขาคงไม่ต้องต้มเหล้าเถือน ดูประเทศลาว ที่ใคร ๆ ก็ต้มเหล้ากินเองได้ ถ้าอยากขายก็ไปขออนุญาต เท่านั้น

เมืองไทยเป็นรัฐราชการ มีนายทุนหนุนอยู่ อยู่ในสภา ในคณะกรรมการทุกกระทรวง ที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคม การเมือง ทุกภาคส่วนมีตัวแทน “นายทุน” หมด นโยบายที่ออกมา กฎหมายที่ออกมา มาตรการที่ออกมา จึงอยู่ใต้ร่มเงาของ “ทุนนิยม” ที่ไม่มีทางยอมเสียเปรียบ

ลองนึกถึงเรื่องสารพิษ 3 ตัว ที่คนเกือบลืมไปแล้วบ้างสิ (พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต) เห็นเงาทะมึนของใครอยู่ข้างหลังบ้าง

ดูเรื่องเหล้าเบียร์ เห็นนายทุนกี่คนใครบ้างอยู่เบื้องหลัง ดูเรื่องค้าปลีกสะดวกซื้อสิ นโยบายที่เอื้อใคร ใครให้กฎหมายที่เอื้อนายทุนใหญ่ให้ขยายค้าปลีกแทบจะไร้ขอบเขต ทำให้ร้านโชห่วยถึงดับสลายไป ใครทำให้คนเล็ก ๆ ไม่มีที่ยืนในสังคม ทำให้คนไทยกลายเป็นลูกจ้างทุนใหญ่ไปหมด

ตอนรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ตั้งคณะกรรมการมากมาย ลองกลับไปดูว่าใครบ้าง คนนอกทั้งหมดเป็นตัวแทน “นายทุน” โดยไม่มีตัวแทนชาวบ้านหรือภาคประชาชนเลย

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสท์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ขุนศึกนายทุนจับมือกันทรงพลังมากกว่ากฎหมาย” ไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงมีปัญหาตลอดมา กินรวบประเทศไทย

ถ้าคิดว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางก็ย่อมจะ “ปรึกษา” ประชาชน ไม่ใช่ปรึกษา “นายทุน”

อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย ข้าราชการวิจัยในหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน รวมกันมีเป็นแสนทำอะไรตอนนี้ที่มีโรคระบาด ทำไมรัฐบาลไม่ให้บุคลากรที่มีความรู้เหล่านี้ลงจาก “หอคอยงาข้าง” ไป “ถามชาวบ้าน” บ้างว่า เขามีปัญหาและความต้องการอะไร

นักศึกษาก็มีนับล้านคน สามารถเป็นผู้ช่วยวิจัยไปเก็บข้อมูลได้ว่า คนทำงานในเมืองบริษัทห้างร้านตกงาน โรงงานที่ปิดไป คนขายของข้างถนน คนในระบบเศรษฐกิจไม่ทางการ SMEs ร้านค้าเล็กใหญ่ที่ปิดไป คนรับจ้างรายวัน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ ชาวไร่ชาวนาที่ฝนแล้ง ขายผลผลิตไม่ได้ ไม่ว่าผัก ผลไม้เต็มตลาดและสองข้างทาง

ไปถาม “นายทุน” ก็จะได้คำตอบแบบนายทุน ที่รักษาผลประโยชน์ของนายทุน แต่อาจอาบด้วย “เมตตาจิต” แสดงความเห็นใจชาวบ้าน และให้คำตอบแทนชาวบ้านว่าพวกเขาต้องการอะไร มีปัญหาอะไร คำตอบที่ประสานสอดคล้องกับคำตอบของข้าราชการที่นั่งอยู่ในห้องแอร์

สังคมที่ยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ สังคมอุปถัมภ์ อำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม ทำให้คนจนขึ้นต่อคนรวย ประชาชนขึ้นต่ออำนาจปกครอง

แล้วจะไม่แปลกใจว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงร่อนจดหมายไปขอคนรวย 20 อันดับแรก เพราะแค่ 20 ตระกูลนี้น่าจะมีสินทรัพย์มากกว่าครึ่งหรือสองในสามของคนไทยทั้งประเทศ ที่รวยไม่ใช่เพราะโชคช่วย หรือทำบุญไว้มาก หรือขยันกว่าคนอื่น แต่เพราะโครงสร้างสังคมไทยเอื้อเปิดทางให้พวกเขา มือก็เลยยาวออก ยิ่งยาวก็ยิ่งสาวได้สาวเอา

แต่ถามว่า อำนาจกับเงินอย่างเดียว แก้ปัญหาได้หรือ ทุนทางสังคม ทุนทางปัญญาของคนอีก 60 กว่าล้านคน ถ้าระดมกัน ผนึกพลังกัน จะไม่มากกว่าสินทรัพย์ของนายทุนและอำนาจของขุนศึกหรือ

สังคมแบบนี้กลายเป็น “สังคมขี้ขอ” ยามวิกฤติโควิดระบาดก็ขอให้คนรวยช่วยคนจน ขอให้ลดค่าโทร. ค่าอะไรก็ได้ที่จะช่วยเยียวยา ค่าน้ำ ค่าไฟ จากรัฐวิสาหกิจ เพราะถ้าไม่ช่วย ชาวบ้าน “อยู่ไม่ได้” สังคมไทยก็ “อยู่ไม่ได้” นายทุนก็อยู๋ไม่ได้ บริษัท รัฐวิสาหกิจก็อยู่ไม่ได้ อย่างนี้จะช่วยเพราะเมตตาหรือเพราะกลัวตัวเองจะอยู่ไม่ได้ด้วย

เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจแบ่งปัน กับเศรษฐกิจอุปถัมภ์ที่ขอเงินคนรวย อะไรโลกสวยกว่ากัน ฝันเฟื่องมา 60 ปี ตั้งแต่ 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ให้คนรวยช่วยคนจน

จริยธรรมแบบมือถือสากปากถือศีล สังคมไทยไม่มีทางออกจากกับดัก วงจรอุบาทว์ และหลุมดำนี้ได้

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com