บทบาทนักการเมืองรุ่นแรกของอีสาน (๔)

บทบาทนักการเมืองรุ่นแรกของอีสาน (๔)

ทางอีศาน ฉบับที่๑๑ ปีที่๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: อีสาน แผ่นดินแห่งการต่อสู้
Column: Esan Land of the Struggle
ผู้เขียน: ป.ม.ส.

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายก รัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คนที่ ๓

อำนาจจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่กล้าใช้ในสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม

ความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจ อันดำรงอยู่ในปัจจุบัน คือระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่เริ่มก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่มีสภายุคแรก (แต่งตั้ง ๗๐ คน) และตั้งแต่มีรัฐบาลชุดแรกจากระบอบใหม่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เผชิญกับแรงบีบคั้นจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตระหนกตกใจกับ เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อันมีลักษณะก้าวหน้าล้ำยุคและโน้มเอียงไปทางสังคมนิยมว่า เป็นแนวคอมมิวนิสต์จึงรวมหัวกันต่อต้าน โดยกระทำการเสมือนรัฐประหาร ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทน (๑ เมษายน ๒๔๗๖) และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ต่อมา ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ๒๔๗๖ บีบบังคับให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส

นั่นเป็นยกแรกของการประลองกำลังของสองขั้วอำนาจ หลังจากนั้นไม่นาน คณะราษฎรก็ยึดอำนาจคืน ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ แล้วแต่งตั้งให้ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าคณะราษฎรมีความเด็ดขาดและกล้าแต่งตั้งเสียตั้งแต่แรก เหตุการณ์เช่นที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากระทำคงไม่เกิดขึ้น

เมื่อการต่อต้านการอภิวัฒน์ครั้งแรกได้ผลในระดับหนึ่ง แม้จะถูกยึดอำนาจคืน กลุ่มอำนาจเก่าก็ได้ใจ รวบรวมไพร่พลแล้วก่อการโค่นล้มรัฐบาลคณะราษฎรด้วยกำลังทหาร โดยใช้กองกำลังทหารจากนครราชสีมาเป็นหัวหอก ฝ่ายรัฐบาลแต่งตั้งให้นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นผู้บัญชาการกองบังคับการ ผสม นำกำลังทหารเข้าตอบโต้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ มีการปะทะกันหนักที่ชานพระนครด้านเหนือ ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ ตุลาคมฝ่ายกบฏล่าถอย ในที่สุดทหารฝ่ายรัฐบาลก็ยึดนครราชสีมาได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏลี้ภัยไปทางอินโดจีนฝรั่งเศส

เหตุการณ์นี้ ทำให้สถานะการนำของพันโทหลวงพิบูลสงคราม โดดเด่นขึ้นมา

เห็นได้ว่าการต่อต้านการอภิวัฒน์เริ่มจากสภาแล้วรุกถึงรัฐบาล ก่อนจะลามออกไปยังข้างนอกขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีมิได้เป็นคนในกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายก่อการยึดอำนาจมาได้ ไฉนจึงไว้วางใจให้เข้ากุมอำนาจในห้วงสำคัญยิ่งยวดนี้เล่า ความแตกแยกแบ่งข้างของคณะราษฎรภายหลังต่อมา ก็เป็นผลจากการแต่งตั้งให้คนนอกเข้ามากุมอำนาจแต่เบื้องแรกนั่นเอง

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะแรกของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งภาวะที่สภาก็ดี รัฐบาลก็ดี มิได้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรง ไม่มีพรรคการเมือง จะเรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยขาลอย” ก็ไม่ผิด

แต่ในปัจจุบันนี้ ฝ่ายค้านก็ดี ฝ่ายรัฐบาลก็ดี มีพรรคการเมือง (ทั้งเก่าแก่และไม่เก่าแก่) มีสมาชิกพรรค มีฐานประชาชนสนับสนุนที่แน่นอน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยขาลอยอีกต่อไป

แต่ก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามตีกรอบจำกัดหน้าที่ และพยายามสกัดตัดขาให้ลอยเหมือนในอดีต ซึ่ง ส.ส.อีสานรุ่นแรก เขาแหวกกรอบจำกัดปฏิบัติหน้าที่กันอย่างไร จึงได้มีบทบาทโดดเด่นปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้ง ๆ ที่ขาลอย เราจะได้ศึกษารายละเอียดกันในหัวข้อหน้า

วิถีแห่งอำนาจกับบทบาทนักประชาธิปไตย

การก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นหัวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นับเป็นบทบาทก้าวสำคัญของคณะราษฎร ว่ากันว่าในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่ามาเป็นระบอบใหม่ ตลอดเวลา ๕ ปีแรก (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๘๑) ถ้าไม่ได้นายทหารผู้ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอย่างพันเอกพหลฯ เป็นผู้นำ ชะตากรรมของคณะราษฎรอาจมีอันเป็นไปก่อนได้มาใช้อำนาจวางรากฐานประชาธิปไตย เป็นต้นว่าการร่างรัฐธรรมนูญ การวางเค้าโครงเศรษฐกิจของชาติซึ่งถึงแม้จะเป็นเหตุให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องระเห็จหนีไปลี้ภัยชั่วคราว แต่การขึ้นมามีอำนาจของพระยาพหลฯ ก็ทำให้คณะรัฐมนตรีสามารถแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และนำ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับเข้ามาดำเนินการวางรากฐานประชาธิปไตยต่อได้

อนึ่ง ถึงแม้จะเผชิญการกบฏจากกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ในระหว่าง วันที่ ๑๑ – ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ รัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ ครั้งแรก ตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจิตใจอันแน่วแน่ในแนวทางประชาธิปไตยของผู้นำซึ่งมาจากสายทหาร

นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลา ๕ ปี แห่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ เผชิญกับการทดสอบหลายครั้ง ทั้งจากกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามหาทางฟื้นอำนาจ และทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนฯ ซึ่งยังใหม่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การแสดงบทบาทขาดไปบ้าง เกินไปบ้าง อย่างในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลพระยาพหลฯ ลาออกเป็นครั้งแรก (ตามวิถีทางประชาธิปไตย) เพราะแพ้มติในสภาฯ ด้วยคะแนน ๗๓ ต่อ ๒๕ งดออกเสียง ๔๑ กรณีเรื่องการจำกัดยาง ก่อนได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง (การเมืองสองฝั่งโขง – อ้างแล้ว)

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ รัฐบาลพระยาพหลฯ เผชิญปัญหาอีกครั้ง จากการที่ นายเลียง ไชยกาล และ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สอง ส.ส.หนุ่มเมืองอุบลฯ กับคณะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ในกรณีอื้อฉาวจากการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูก โดยไม่ได้ประกาศต่อสาธารณชน แม้ในการลงมติรัฐบาลจะได้เสียงสนับสนุนพอแต่พระยาพหลฯ ก็ลาออก (เพราะมีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมีชื่อพัวพันกับการซื้อขายด้วย) ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัย (พีรยา มหากิตติคุณ จากผลงานแนวคิดและบทบาททางการเมืองของ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่รวมอยู่ในหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ และ ๔ รัฐมนตรีอีสาน + ๑)

จะเห็นว่าทั้งการลาออกและกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพระยาพหลฯ ล้วนเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษนักประชาธิปไตยดังกล่าวมา ทำให้พระยาพหลฯ นำรัฐนาวาฝ่าคลื่นลมมรสุมจนตลอดรอดฝั่ง กระทั่งอายุสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่ ๑ หมดสิ้นลง (โดยครบวาระ) รัฐบาลพระยาพหลฯ จัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรก (สมาชิกประเภทที่ ๑ รุ่นที่สอง) ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีสมาชิกประเภทที่ ๑ เพิ่มขึ้นเป็น ๙๑ คน เมื่อรวมกับสมาชิกประเภทที่ ๒ (ตั้งเพิ่ม ๑๓ คน) ก็เป็นจำนวน ๑๘๒ คน พระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับเลือกให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนี่ง ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๐

นั่นคือการฉายภาพฝ่ายบริหารพอสังเขปหัวข้อต่อไปนี้จะฉายภาพของฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านบทบาทอันโดดเด่นของ ส.ส.อีสานรุ่นแรก

บทบาทอันโดดเด่นของนักการเมืองอีสาน

สิ่งสำคัญที่เป็นตัวกำหนดบทบาทของนักการเมือง หรือ ส.ส.ในสภา ว่าจะเป็นเช่นไรมีอยู่ ๒ ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือหนึ่ง สภาพภายนอก อันได้แก่ปัญหาของราษฎรทั้งหลายในพื้นที่ที่เลือก ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่ รวมทั้งพรรค, ฝ่ายหรือกลุ่มที่ ส.ส.สังกัด ตลอดถึงสภาพแวดล้อมอื่น ๆ และสถานการณ์ในห้วงเวลาที่ ส.ส.คนนั้นทำหน้าที่อยู่

ด้านที่สอง คือสภาพภายใน อันได้แก่จุดยืนทางความคิด และทรรศนะทางการเมืองของนักการเมืองคนนั้น ๆ

ทั้งสองส่วนนี้ส่งผลถึงกันและกัน ก่อให้เกิดบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังปรัชญาหรือแนวคิดที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในเป็นมูลฐาน”

เมื่อนำแนวคิดนี้ไปมอง เราจะเห็นบทบาทอันโดดเด่นของ ส.ส.รุ่นแรกของอีสานหลายคน โดยเฉพาะ ๒ ส.ส.หนุ่มจากอุบลาชธานี คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเลียง ไชยกาล

เริ่มจากการประชุมสภาครั้งแรก (วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๗๖) เพื่อเลือกประธานสภาและรองฯ ๒ คน และการประชุมครั้งที่สอง ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และแถลงนโยบายของรัฐบาล ส.ส.อีสานได้พบความจริงว่า ตัวแทนจากอีสานได้รับความสนใจจากรัฐบาลและจากสมาชิกภูมิภาคอื่นน้อยมาก ทั้งที่อีสานมี ส.ส.ถึง ๑๙ คน (คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๓๕ ของ ส.ส.จากการเลือกตั้งทั้งหมด ๗๘ คน) แต่ไม่ได้ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ ๒ ในการเสนอพระยาเสนาภิมุข ส.ส.นครราชสีมา เข้าแข่งขัน ได้คะแนนแค่ ๑๒ เสียง น้อยกว่าตัวแทนจากภาคอื่นทั้งหมด งดออกเสียง ๒ คน ส่วนอีก ๗ เสียงของอีสานหายไป (อาจเนื่องจากไปสนับสนุนตัวแทนภาคอื่น กับมีคนจากถิ่นอื่นไปสมัครเป็น ส.ส.อีสาน เช่นที่นครพนม – ผู้เขียน)

ในการจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรี มี ส.ส. จากภาคใต้ได้รับเชิญให้เข้าเป็นรัฐมตรี ๑ คน คือพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ส.ส.จากสตูล และภาคเหนือ ๑ ตำแหน่งคือ พระดุลยธารณปรีชาไวท์ส.ส.จากจังหวัดเชียงราย ส่วน ส.ส.จากอีสานไม่ได้
รับตำแหน่งเลยสักคน (ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ จาก การเมืองสองฝั่งโขง)

ยิ่งกว่านั้น ในการแถลงนโยบายในส่วนของกระทรวงเศรษฐการ ที่พูดถึงโครงการชลประทานในแผนงาน ๔ ปีของรัฐบาล ไม่มีโครงการก่อสร้างชลประทานในจังหวัดทางภาคอีสานเลยแม้แต่โครงการเดียว อย่างดีก็แค่แถลงว่า กำลังสำรวจอยู่…

เป็นเหตุให้ ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ส.ส.จังหวัดหนองคาย อดตั้งคำถามเอากับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการไม่ได้

“…ภูมิภาคในแถบอีสานนั้น…เป็นที่ราบสามารถปลูกพืชพันธ์ได้ดี แต่ว่าแถบนั้นอัตคัตน้ำเวลาฝนตกลงมาแล้วย่อมจะไหลลงไปสู่ที่ต่ำ…การทำนาของราษฎรอาศัยน้ำเป็นสำคัญ ปีใดฝนไม่ตกหรือตกน้อย…การทำนาก็ไม่ได้ผล ราษฎรถึงกับอดอยาก ทำให้ข้าวราคาสูง…ข้าพเจ้าคิดว่าทางกระทรวงเศรษฐการควรจะระลึกถึงอีสานบ้าง…” (การเมืองสองฝั่งโขง – อ้างแล้ว)

นี่คือปฐมบทในการปะทะกันระหว่างผู้แทนราษฎรกับภาครัฐ ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน และการกระจายทรัพยากรไปสู่ภูมิภาคเพียงการประชุมสภาครั้งแรก ๆ ส.ส.อีสานก็ได้เห็นความไม่เท่าเทียม และการไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรของรัฐบาลกลางต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในภาคอีสาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ !

เรื่องการจัดสรรงบประมาณอันไม่เท่าเทียมและการกระจายรายได้อันไม่เป็นธรรมนี้ เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นักการเมืองอีสานต่อสู้มาแต่ยุคเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าทุกวันนี้ !

ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลมาจากคณะราษฎร ซึ่งอ้างประชาธิปไตยและความเสมอภาคเท่าเทียม ในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง ถ้าไม่มีอคติหรือความระแวงแคลงใจใด ๆ ก็ย่อมมองเห็นได้ไม่ยากว่า ราษฎรอีสานนั้นจะเป็นฐานกำลังสำคัญของตน ให้การสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริงขึ้นมาได้

ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เริ่มฉายแววโดดเด่น

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.หนุ่มจากอุบลราชธานี เริ่มมีบทบาทเด่นขึ้นจากการเป็นนักอภิปรายในสภา เป็นผู้กล้านำเอาปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรมานำเสนอในสภา ไม่เพียงเฉพาะราษฎรในจังหวัดอุบลฯ อันเป็นพื้นที่ทางการเมืองของเขาเท่านั้น หากแต่รวมเอาปัญหาของคนทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาค หรือจะเรียกว่าทั้งประเทศมาเสนอเป็นวาระในสภา ในที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปราย พร้อมทั้งเสนอแนะทางแก้ให้กับรัฐบาลผลงานของเขาเห็นได้จากกระทู้, ญัตติและร่างพ.ร.บ.ต่าง ๆ ที่เขาเสนอต่อที่ประชุมสภาไม่ขาดสาย ตลอดสมัยอายุสภาชุดเลือกตั้ง (พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๘๐) (พีรยา มหากิตติคุณ จากงาน แนวคิดและบทบาททางการเมืองของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ – อ้างแล้ว)

เพียงสมัยประชุมสภาปีแรก ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็แสดงบทบาทเป็น “ดาวสภา” ด้วยการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นถึง ๑๙๐ ครั้ง มากกว่า ส.ส. คนอื่น ๆ (นักการเมืองสองฝั่งโขง – อ้างแล้ว)

ในการแสดงจุดยืนเพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวอีสาน ที่ได้รับความทุกข์ร้อนในเรื่องการเสียภาษีอากรนั้น ส.ส.ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ส.ส.เลียงไชยกาล สองคนกล้าจากอุบลฯ ได้เปิดประเด็นอภิปรายในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลดพิกัดเก็บเงินอากรค่านา พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งรัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอ โดยมีเหตุผลว่า จะลดอากรค่านาลงจากที่เคยเก็บในปีก่อนซึ่งอัตราเดิมสูงกว่านี้ ลดลงมาเก็บกึ่งเดียว เนื่องจากราคาสินค้าตกต่ำกว่าแต่ก่อนมาก… ซึ่ง ส.ส. ในสภาทั้งหลายเห็นชอบด้วย

แต่ ส.ส. จากอีสานยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนามากกว่านี้ โดยเฉพาะชาวนาภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่ยากจน โดยเห็นว่ารัฐน่าจะเก็บภาษีตามลักษณะภูมิประเทศ บางคนเห็นว่ารัฐไม่ควรเก็บภาษีเลยด้วยซ้ำหรือรัฐน่าจะมีหนทางอื่นที่ไม่ใช่เก็บภาษีจากชาวนา (น่าจะได้ความคิดมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม – ผู้เขียน)

นายเลียง ไชยกาล อภิปรายเป็นคนแรกว่า“…ฟังคำของรัฐบาลก็รู้สึกว่ารัฐบาลมีความกรุณาอยู่มาก…ข้าพเจ้าอยากจะกราบเรียนให้รัฐบาลทราบต่อไปอีกว่า ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ราคาข้าวหาบละ ๒ บาท ๗๓ สตางค์ ทางภาคอีสานหาบหนึ่งราคาเพียง ๖๐ สตางค์เท่านั้น เรื่องอากรค่านา ข้าพเจ้าเองได้เคยกราบเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการคลังว่า ทางภาคอีสานเดือดร้อน บางคนทำนาไม่ได้ก็ต้องเสียอากรค่านา และลดจากฐานะคนทำนามาเป็นคนขอทาน…”

ส่วนนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อภิปรายว่า “…ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนราษฎรจากบ้านนอก จึงรู้สึกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบายความทุกข์ร้อนของราษฎรให้รัฐบาลทราบ โดยเฉพาะเมื่อก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ ทางมณฑลภาคอีสาน…มีการเก็บภาษีอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินรัชชูปการ…เมื่อต้นปีที่แล้วมานี้เอง ราษฎรมาเสียเงินรัชชูปการ หาเงินไม่ได้ มีมาเพียง ๓ บาทเท่านั้น ก็หาบไก่มาเพื่อจะเอามาขายแล้วผสมเสียเงิน…ให้พอกับที่จะต้องเสียเงิน ๔ บาท…และในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้นเองรัฐบาลได้ประกาศลดอัตราการเก็บภาษีลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง อากรค่านาจึงไม่ได้เก็บในอัตราปกติ…ข้าพเจ้าเสนอความเห็นเรื่องค่านานี้อย่างยืดยาว…แต่รัฐบาลตอบข้าพเจ้าเพียง ๓ บรรทัดว่าการลดค่านาตามนั้นจะกระทบกระเทือนถึงการเงินของประเทศ…”

ส.ส.ทองอินทร์ อภิปรายต่อไปว่า “…ถ้าเราเทียบทางอื่น คือในทางกฎหมายที่ออกมาโดยมากก็มาจากผู้ที่มีรายได้ เราคิดดูว่า ราษฎรทำงานตลอดปีได้เงิน ๑๘ บาท จะต้องเสียภาษีอากร ๑๘บาทนี้ทั้งทุน ทั้งแรง ต้องเสียไป ๒ บาท เป็นค่าภาษีอากร ผู้ที่มีรายได้เดือนละ ๒๐๐ บาท ปีหนึ่งก็ ๒,๔๐๐ บาท ส่วนผู้ได้ ๑๘ บาทเสีย ๒ บาท ผู้ที่ได้ ๒,๔๐๐ บาทไม่ต้องเสียเลย ราษฎรถูกเก็บเช่นนี้จึงอยากจะหาทางผ่อนแก่เขา”

มี ส.ส. อีสานอภิปรายสนับสนุนหลายคนแสดงถึงการรวมตัวกันช่วยเหลือราษฎรอีสานอันเป็นฐานเสียงของตน และมี ส.ส. จากภาคอื่นอภิปรายสนับสนุนด้วย แต่การลงมติก็เป็นไปตามที่รัฐบาลเสนอ (ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ – การ เมืองสองฝั่งโขง – อ้างแล้ว)

อนึ่ง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ในฐานะเคยรับราชการครู และเคยเป็นนายอำเภอ ก่อนลาออกมาสมัคร ส.ส.ได้มองเห็นความไม่สามัคคีกันระหว่างราษฎรภาคเหนือและใต้ (หมายถึงคนไทยถิ่นอื่นกับคนอีสาน – ผู้เขียน) จากการดูถูกชาติพันธุ์ จึงได้ทำบันทึกถึงคณะรัฐมนตรี (แทนการเสนอญัตติอภิปรายในสภา) เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (นับตามปฏิทินใหม่ คือปี ๒๔๗๗) ให้หาหนทางแก้ไขเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

“…เมื่อได้รับราชการที่จังหวัดอุบลฯ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และนครพนมก็ดี ข้าพเจ้าสังเกตเห็นข้าราชการบางท่าน ที่เป็นคนไทยกลางที่ไปรับราชการในถิ่นนั้น ๆ มักดูถูกเหยียดชาติกำเนิดของบุคคล เช่น “ไอ้ลาวตาขาว”, “ลาวปลาร้า”, “ไอ้ลาว” ลาวอย่างนั้นลาวอย่างนี้อีกจิปาถะ บางทีโกรธให้ราษฎร แทนที่จะกล่าวตามธรรมเนียมที่อารยชนเค้าปฏิบัติต่อกัน ก็มักดุด่าและสาวความถึงชาติกำเนิด…บางท่านถกถึงภาษาพูด เช่นภาษาลาวมันหยาบโลนอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น เรื่องดังนี้มักมีอยู่เสมอ ๆ และข้อสำคัญซึ่งข้าพเจ้าสำเหนียกมานานก็คือว่า บุคคลที่เป็นคนพื้นเมือง ถ้าหากเข้ารับราชการก็มักจะถูกกดโดยธรรมชาตินี้ เป็นความจริงแท้ ๆ …”

เรื่องอคติทางเชื้อชาติ ดังที่ ส.ส.รุ่นแรกของอีสานประสบนี้ ตราบปัจจุบันก็ยังไม่ลบเลือนหายซ้ำหนักข้อขึ้นไปอีก กระทั่งกลายเป็น “วาทกรรม” ประจำชาติพันธุ์ไปเลยว่า “พวกโง่”

ซึ่งความจริง ในโลกนี้มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เห็นคนอื่นโง่กว่าตัวเอง !

การรวมกลุ่มของ ส.ส.อีสานกับการตระเตรียมตั้งพรรคการเมือง

เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของระบอบใหม่กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือคณะราษฎรเอง ยังไม่กำหนดให้มีพรรคการเมือง ซ้ำยังมีสิทธิตั้ง ส.ส. ประเภท ๒ จำนวนเท่ากับ ส.ส. ประเภทที่ ๑ (มาจากการเลือกตั้ง) เข้ามาสนับสนุนรัฐบาล และเป็นตัวคานกับ ส.ส. ประเภทที่ ๑ การทำหน้าที่ในสภาของ ส.ส. ประเภท ๑ จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก แทนการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลตามหน้าที่ กลับจะกลายเป็นว่ารัฐบาลควบคุมการทำหน้าที่ของ ส.ส.เสียเอง

แต่ ส.ส. ประเภทเอาการเอางานก็หาทางออกโดยการรวมกลุ่มร่วมลงชื่อในญัตติ หรืออภิปรายสนับสนุนในประเด็นที่แต่ละคนเห็นด้วย โดยเฉพาะ ส.ส. จากภาคอีสานนั้น ถ้าไม่รวมกลุ่มสนับสนุนกันก็ขาดพลังต่อรองกับรัฐบาล ในการที่จะได้รับการเหลียวแลราษฎรในภาคอีสานของตนการเสนอญัตติหรือร่าง พ.ร.บ. ใด ๆ ก็หามีประโยชน์ไม่ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภา

ด้วยเหตุนี้ ส.ส. ชั้นนำอย่าง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล หรือ นายสนิท เจริญรัฐ ส.ส.หนุ่มจากนครราชสีมา จึงกระตือรือร้นในการรวมกลุ่ม ส.ส. หาพันธมิตรในการทำหน้าที่และด้วยความเอาจริงเอาจัง มีเหตุมีผลในการอภิปราย หาความรู้ เตรียมตัวดีในการนำเสนอต่อที่ประชุม จึงมักได้รับการสนับสนุนทั้งจาก ส.ส. อีสานด้วยกัน รวมทั้ง ส.ส. ภาคอื่นด้วย

ในการรวมกลุ่มที่ปรากฏหลักฐานมี ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มที่หนึ่งมีจำนวน ๓๓ คน กลุ่มนี้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลในการดำเนินงานกันที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ซึ่งนายสนิทเคยทำงานอยู่ และตัวนายสนิทเองเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมประสาน (การเมืองสองฝั่งโขง อ้างข้อเขียนของนายสนิท เจริญรัฐ พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๘๐) กลุ่มนี้มีความโน้มเอียงไปทางสนับสนุนรัฐบาล จนต่อมาบางคนเช่นนายสนิท ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์

กลุ่มที่สองไปรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันที่ “บ้านดิษยบุตรปาตี้” ของ นายไต๋ ปาณิกบุตร ส.ส. พระนคร นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล สังกัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ส.ส. จากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งกลุ่มนี้ประชุมกันทุกวันอาทิตย์ โดยเชิญผู้มีความรู้ในแขนงวิชาการต่าง ๆ เช่นเรื่องแร่ เรื่องยางพาราตลอดจนถึงความรู้ในการบริหารราชการแผ่นดินมาให้ความรู้ เพื่อให้สมาชิกรอบรู้ในหลาย ๆ ด้าน (การเมืองสองฝั่งโขง – อ้างจากงานเขียนของ พีรยา คูวัฒนศิริ)

การจับกลุ่มรวมตัวกันเช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำหน้าที่ในสภาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กับทั้งหาความรู้ให้กว้างขวางเพื่อพร้อมในการอภิปรายญัตติต่าง ๆ หรือร่าง พ.ร.บ. ต่าง ๆ ทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เสนอ หรือฝ่าย ส.ส.เสนอเอง ให้เกิดประโยชน์กับราษฎรที่เลือกพวกตนเข้าเป็นตัวแทน

อีกด้าน เป็นเสมือนการตระเตรียมในการตั้งพรรคการเมืองในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ ส.ส.จากอุบลฯทั้งนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเลียง ไชยกาลแสดงออกชัดเจนเป็นลำดับ

ในบทที่ห้า จะได้เสนอบทบาทของ ส.ส. อีสานรุ่นที่ ๒ ที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยตรง ซึ่งจะปรากฏชื่อของนักการเมืองชั้นแนวหน้าของอีสานและของประเทศไทย อย่าง นายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, นายฟอง สิทธิธรรม และ นายเทพ โชตินุชิต เป็นต้น ขณะที่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล ซึ่งได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสภาอีกสมัยก็ทำหน้าที่เข้มข้นขึ้น ถึงขั้นกล้าที่จะแสดงตัวเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายพันเอกพระยาพหลฯ ผู้อำลาตำแหน่ง

ยุคของหลวงพิบูลสงคราม คือยุคที่ไทยเผชิญกับปัญหาท้าทายมากมาย ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ


Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com