“อู่น้ำแอ่งอารยธรรม”
บทบรรณาธิการ “อู่น้ำแอ่งอารยธรรม”
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๓
ปีที่ ๒ เดือนมีนาคม ๒๕๕๗
ฉบับ “หลวงพระบางเมืองโบราณ”
แม่นํ้าโขงเป็นมหานทีของโลก มีสายนํ้าสาขาจากภูเขาและที่ราบสูงน้อยใหญ่ไหลสมทบมากมายมนุษย์ได้อาศัยอยู่กิน ได้สร้างสมเสพวัฒนธรรมกันอยู่ทุกซอกผาและตามแหล่งที่ราบลุ่ม
ย้อนไปก่อนมีเส้นขีดแดนประเทศ กลุ่มเผ่าเหล่าชนได้รวมตัวกันอยู่ตามสภาพธรรมชาติ มีวิถีชีวิต การดื่มกิน ที่พักอาศัย ภาษา นิทาน ตำนานความคิดความเชื่อ แสดงออกด้วยแบบแผนเดียวกัน
ส่วนหนึ่งของเขตราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันหมู่บ้านตำบลเมืองทางด้านภาคเหนือ และโดยเฉพาะภาคอีสาน ที่อยู่ในแอ่งอารยธรรมแม่นํ้าโขงเราต่างมีวัฒนธรรมร่วมกับอีกฟากฝั่งแม่น้ำและตามสายสาขาแม่นํ้าต่าง ๆ
ดังนั้น หากจะสืบสาวเรียนรู้เรื่องราวรากเหง้าตนเองจึงต้องก้าวข้ามเส้นเขตแดนสมมติ และรวมทั้งต้องรู้ว่ามีความสัมพันธ์ ผสมผสาน ถ่ายเทรับเชื่อข้ามวัฒนธรรมกันไปมา
นอกจากเรียนรู้ตนเองแล้ว เราจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านอาเซียน ญาติมิตรในอุษาคเนย์และแอ่งอารยธรรมอื่น ๆ ทั่วโลก
คนอีสานจึงล่องแม่นํ้าโขงไปรู้จักชีวิตและโลกร่วมกับพี่น้องแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพราะเราเกิดในแอ่งอารยธรรมเดียวกัน เริ่มที่หลวงพระบางกันเลย…
น้อมคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ…