(7) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (26/3/20) #จิตอาสาพาฝ่าวิกฤติ

(7) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (26/3/20) #จิตอาสาพาฝ่าวิกฤติ

โควิด19 ได้เปิดเผยอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ คือ ความดีงาม ความมีน้ำใจ ความเสียสละ ผู้คนไม่นิ่งดูดาย แต่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความหวังและกำลังใจให้กัน ปลุกความเชื่อมั่นร่วมกันว่า ที่สุดก็จะฝ่าฟันปัญหา และชนะวิกฤตินี้ได้ด้วยกัน

@ ที่อังกฤษ มีการประกาศให้ลงทะเบียน “จิตอาสา” เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้นเมื่อเช้าวันพุธก็เห็นตัวเลข 250,000 คน ระดมกันทุกสาขาอาชีพ หน่วยงาน องค์กร แพทย์พยาบาล 11,000 คนกลับมาช่วยงาน นักเรียนแพทย์พยาบาลปีสุดท้าย 24,000 คนอาสามาช่วยงาน กว่า 1,000 องค์กรร่วมลงทะเบียนพร้อมที่จะช่วยเหลือ

ประมาณกันว่า มีคนกว่า 1.5 ล้านคนที่กักตัวอยู่ในบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ Covid-19 Mutual Aid UK หน่วยงานเอกชนจึงก่อเกิดและประสานเรื่องนี้ มีการจัดแบ่งกลุ่มจิตอาสาไปตามเส้นทางหรือถนนบ้าง ตามโรงพยาบาลบ้าง หรือทั้งเมือง โดยให้คนอายุมากกว่า 18 สุขภาพดีลงทะเบียนในเฟสบุ๊ก

จากนั้นก็ให้สมาชิกไปแจกใบปลิวตามบ้านและที่พักเพื่อบอกว่า มีจิตอาสาช่วยได้ถ้าท่านต้องการ ไปซื้อของ รับของ รับยา ไปส่งจดหมายส่งของที่ไปรษณีย์ หรือต้องการโทร.ไปขอคำปรึกษา หรือคุยแก้เหงาด้วยก็ได้ พร้อมกับให้เบอร์โทร. เพราะคนจำนวนมากตกงาน สูญเสียรายได้ เครียดและป่วยไม่ใช่ด้วยไวรัสนี้ แต่ความดันขึ้น หรือโรคประจำกำเริบ

แต่ทางองค์กรที่ประสานเครือข่ายก็ให้มีการฝึกอบรมแกนนำเพื่อให้มีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมปลอดภัยทั้งจิตอาสาและผู้รับความช่วยเหลือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้กัน เอาข้าวของวางไว้หน้าประตู ให้จ่ายเงินร้านค้าทางธนาคารอนไลน์ ไม่มีค่าส่งค่าไปรับอยู่แล้ว

แต่ก็มีบางงานที่จิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือในบ้าน อย่างงานดูแลเด็กเล็กแทนพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานที่ยังจำเป็นอยู่ อย่างแพทย์ พยาบาล คนขายอาหารตามร้านตามห้าง หรือที่ทำงานจำเป็นอื่นๆ หลายคนมีลูกที่ไม่ต้องไปโรงเรียนหรืออนุบาล มีจิตอาสาไปช่วยนับเป็นการแบ่งเบาอย่างสำคัญ

หรือไปช่วยสอนดนตรีแก้เหงา ฆ่าเวลา ติวการเรียนก็ทำได้อย่างเด็กที่เตรียมสอบจบเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงวัย ผู้ใหญ่ที่มีปัญหา รวมไปถึงการไปช่วยทำอาหาร ทำขนมก็มีคนเสนอตัว

Covid-19 Mutual Aid UK ตอนแรกมีคนทำงานประสานเพียง 8 ตอนนี้มีคนประสานถึง 4,000 คน เพราะงานได้แพร่กระจายไปทั่วสหราชอาณาจักร จิตอาสาก็มีจำนวนมากขึ้น มีการบริการอีกหลายอย่างเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ บุคลากรทางการแพทย์ที่เกษียณที่กลับมาช่วย หรือนักศึกษาแพทย์พยาบาลปีสุดท้าย ช่วยไปติดตามผู้ต้องสงสัยที่ถูกกักตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาลสนาม ที่ยังไม่เป็นผู้ป่วย รวมทั้งไปช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์พยาบาลที่โรงพยาบาล ซึ่งสถานการณ์ดูจะหนักขึ้นเรื่อยๆ

@ ที่เยอรมัน มีการก่อตั้งกลุ่มเล็กๆ ตามเมืองต่างๆ โดยรวมกลุ่มผ่านทางเฟสบุ๊ก อย่างที่เมืองคาร์ลสรูห์ ทางทิศตะวันตก ติดชายแดนฝรั่งเศส มีการตั้งกลุ่มช่วยเพื่อนบ้าน จากเล็กๆ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ และแยกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม ช่วยเหลือผู้สูงอายุ

กลุ่มเหล่านี้มีอยู่แทบทุกเมืองในขณะนี้ คล้ายกับที่อังกฤษ ช่วยไปซื้ออาหาร ซื้อยา ข้าวของที่จำเป็น รวมทั้งช่วยดูแลเด็ก เลี้ยงเด็กที่พ่อแม่ต้องไปทำงานที่ยังต้องทำอยู่อย่างที่โรงพยาบาลและงานบริการสาธารณะต่างๆ

ที่เยอรมันอาจต้องระมัดระวังเรื่องการจ่ายเงินค่าอาหาร ยา หรือของที่จิตอาสาไปรับมา เพราะคนเยอรมันไม่ค่อยชอบใช้บัตรเครดิตหรือออนไลน์ ยังชอบใช้เงินสดกัน จิตอาสาส่วนใหญ่ก็เป็นคนละแวกบ้านไม่มีปัญหาที่จะไปรับเงินสดไปจ่าย เรื่องเล็กๆ ที่ฝ่ายประสานงานต้องจัดการอบรมจิตอาสา ให้คำแนะนำว่า ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัยทุกฝ่าย

@ ที่สหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานไม่แสวงกำไรที่บริการสาธารณะมากมายในภาวะปกติอยู่แล้ว ในโอกาสวิกฤติก็เร่งระดมความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น มีเป็นพันเป็นหมื่นองค์กรในทุกรัฐ อย่าง “ธนาคารอาหาร” “คลับเด็กชายเด็กหญิง” “กาชาด” และอื่นๆ รวมทั้งการรวมตัวตั้งกลุ่มจิตอาสาใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย

อย่างสมาคมคนอินเดีย-อเมริกันที่ตอนแรกก็เน้นการช่วยเหลือนักศึกษาอินเดียในอเมริกาซึ่งมีอยู่กว่า 250,000 คน ตอนนี้ก็ขยายไปช่วยคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักศึกษาใน 300 มหาวิทยาลัยที่ปิด นักศึกษาหลายคนมีปัญหา เครียด ไม่มีรายได้พิเศษที่เคยมี สมาคมมีแพทย์ 20 คน ให้คำแนะนำ มีจิตอาสา 400 คนใน 20 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐที่คอยให้ความช่วยเหลือ ประสานงาน รวมทั้งรับโทรศัพท์จากพ่อแม่นักศึกษาที่โทร.มาจากอินเดียด้วยความห่วงใยลูก

เมื่อปี 1988 มีการประชุมนานาชาติเรื่องจิตอาสาที่กรุงวชิงตัน ดีซี ประธานาธิบดีเรแกนพูดในวันเปิดการประชุมที่ผู้เข้าร่วมหลายพั้นคนจากทั่วโลก ผมนั่งฟังอยู่ จำประโยคแรกของเขาได้ดีที่ว่า “สหรัฐอเมริกาเกิดมาจากจิตอาสาและเติบโตมาด้วยจิตอาสา”

ขณะที่ผู้นำเป็นห่วงเศรษฐกิจและฐานเสียงของตนเองมากกว่าสุขภาพของประชาชน รัฐบาลทะเลาะกัน แย่งอำนาจกัน ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเอง ทำให้เห็นด้านดีและจิตอาสาของผู้คน ทำให้ลืมหรือปลงกับด้านลบของผู้นำและนักการเมืองได้บ้าง

@ บ้านเราก็มีจิตอาสาในภาวะวิกฤตินี้มากมาย นอกจากการบริจาคเงิน อุปกรณ์การแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็น ยังมีกลุ่มที่อาสาทำอาหารไปส่งแพทย์พยาบาลที่โรงพยาบาลราชวิถี บำราศนราดูร เห็นว่าเริ่มจาก “เจ๊จง” ที่โด่งดังเรื่องข้าวหมู่ทอดและข้าวแกงต่างๆ

เธอเป็นที่รู้จักไม่เพียงเพราะความสำเร็จทางธุรกิจที่มีสาขาหลายแห่งเท่านั้น แต่เพราะความใจกว้างต่อลูกค้า ความมีน้ำใจต่อผู้ลำบากยากไร้ และในยามวิกฤติก็ไม่รีรอที่จะทำข้าวกล่องวันละ 1,200 กล่อง ส่งแพทย์พยาบาลที่ทำงานหนักที่โรงพยาบาล เป็นมูลค่า 30,000 บาทที่เธอเชื่อว่า เมื่อทำไปก่อนก็จะมีคนช่วยสมทบ

คงไม่มีแต่เจ๊จง มีคนมีน้ำใจ มีจิตอาสาอีกมากมายที่บริจาคเงินให้โรงพยาบาล อาหารให้บุคลากรที่ทำงานหนัก รวมไปถึงผู้ยากลำบาก ตกงานและทำงานบริการอื่นๆ อย่างที่เคยเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่วินมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว ที่มีน้ำใจช่วยบริการรับส่งคนฟรี คนเหล่านี้อาจไม่รวยเงิน แต่รวยน้ำใจ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าคนที่รวยเงินแต่ไม่มีน้ำใจให้สังคม

คนรวยมีน้ำใจก็มี บริจาคเงิน อุปกรณ์การแพทย์ สถานที่ โรงแรมห้องพักเพื่อเป็นที่กักบริเวณผู้สงสัยหรือติดเชื้อไม่มีอาการ หรือแม้แต่เป็นโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยถ้าหากจำเป็น

ที่น่าประทับใจ คือ ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับสั่งให้วัดต่างๆ ตั้งโรงทาน ซึ่งจะช่วยบรรเทาทุกข์คนยากคนจน คนที่ตกทุกย์ได้ยากเพราะโรคระบาดนี้ คงไม่มีที่นั่งให้รับประทาน แต่รับกลับบ้าน ถ้าวัดในทุกจังหวัด ทุกอำเภอทำได้ ก็จะบรรเทาทุกข์และเยียวยาสถานการณ์ได้ไม่น้อย

วัด คือ จุดนัดพบแห่งการแบ่งปัน ความเมตตาเอื้ออาทร คนมีมากกว่าช่วยคนมีน้อยกว่า คนรวยช่วยคนจน เพราะในยามวิกฤตินี้ ทุกคน “เสมอภาคกัน” ไม่มีใครอยู่ยงคงกะพัน เสี่ยงเจ็บป่วยด้วยกัน ตายไปก็อยู๋ในโลงเท่ากัน เอาอะไรไปด้วยไม่ได้

@ สามัคคีช่วยชีวิตให้รอดได้ (Solidarity for survival) ดูป่าโกงกางริมทะเล ไม่ว่าพายุแรงกล้าขนาดไต้ฝุ่นหรือแม้แต่สึนามิก็ยังมิอาจทำลายได้ เพราะต้นไม้แม้มีลำต้นเล็กๆ แต่เกาะเกี่ยวกันเป็นตาขายยึดกับดินและน้ำ แน่นหนายิ่งกว่าปราการแข็งกำแพงเหล็ก

เครือข่ายสังคมพลเมืองที่เข้มแข็งจะเอาชนะวิกฤติโควิด 19 ได้

ขอบคุณภาพปกจาก http://www.nurse.cmu.ac.th/web/FONEventDetail.aspx?id=22663

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com