(8) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (27/3/20) ศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต

(8) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (27/3/20)

ศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต​

@ เชื่อหรือไม่ว่า ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา คนตายมากที่สุดไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือสงคราม แต่เพราะไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต แค่มาลาเรียโรคเดียวหลายพันปีที่เกิดก็นับไม่ได้แล้วว่าตายเท่าไร

การระบาดใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์มีนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งสำคัญ คือ

1.ศตวรรษที่ 6 “โรคห่าจัสติเนียน” ตาย 50 ล้านคน ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในยุคนั้น

2.”ความตายสีดำ” (Black Death) โรคห่าในศตวรรษที่ 14 ตาย 200 ล้านคน

3.ไข้ทรพิษ (smallpox) แค่ศตวรรษที่ 20 ตาย 300 ล้าน แม้มีวัคซีนมาตั้งแต่ปี 1796

4.ไข้หวัดสเปน (Spanish flu) เมื่อปี 1918 ตาย 50-100 ล้าน ประชากรโลก 1 ใน 3 ติดเชื้อนี้

5.โรคเอดส์เกิดเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ตายสะสม 32 ล้านคน ติดเชื้อ 75 ล้าน และยังเพิ่มทุกวัน

การแพร่กระจายของไวรัสต้องการ “โฮสท์” คือเซลล์ส่วนอื่นในร่างกายเพื่อเป็น “โรงงานผลิตซ้ำ” ขยายตัว ซึ่งทำได้ 40 ล้านเท่าของความสามารถของมนุษย์ แพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีก 2.5 คน และทวีคูณ คนจึงตามการระบาดไม่ค่อยทัน มาตรการออกมาทีหลังไวรัสเสมอ

ส่วนแบคทีเรียแพร่กระจายไปได้ด้วยตัวมันเองในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ ปัญหาวันนี้ คือ อาการดื้อยา ต้องพัฒนายาตัวใหม่ตลอดเวลาเพื่อจะได้ตามแบคทีเรียให้ทัน ส่วนหนึ่งมาจากคนที่ใช้ยาปฏิชีวนะผิดวิธี ใช้ “มั่ว” ไปหมด เอะอะก็ยาปฏิชีวนะ เป็นหวัดนิดเดียวหรือเป็นไข้หวัดที่มาจากไวรัสก็ไปใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเขื้อไวรัสไม่ได้ นอกจากจะติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จึงให้ยาปฏิชีวนะ แต่คนจำนวนมากก็ไปซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง

นักระบาดวิทยาบอกว่า ปีหนึ่งมีคนตาย 33,000 คนจากการดื้อยา และที่น่ากลัว คือ เมื่อดื้อยามากขึ้น ติดเชื้อนิดเดียวก็อาจตายได้ อย่างที่เห็นคนเป็นแผลเล็กๆ ไม่ดูแล ไม่หาหมอ ตายไปก็มี เพราะคนวันนี้ “เปราะบาง” มากขึ้น (vulnerable) ภูมิต้านทานต่ำ

ไวรัสเองก็มีการขยายพันธุ์ใหม่ไปเรื่อยๆ วัคซีนที่พัฒนากันขึ้นมาบางอย่างก็คลายมนต์ขลัง ยังความสงสัยในประสิทธิภาพ อย่างโรคหัดที่กลับมา ทั้งๆ ที่มีวัคซีนตั้งนานแล้ว

การระบาดของโรคเหล่านี้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโลก องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ไข้หวัดใหญ่ในปี 2018 ทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายกว่า 133 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีของญี่ปุ่น ส่วนโควิด19 แค่เริ่มต้นก็ประเมินแล้วว่า คงมีผลกระทบกว่าไข้หวัดใหญ่อย่างแน่นอน เพราะแค่ “ยกแรก” สหรัฐอเมริกาก็ใช้งบประมาณเยียวยาถึง 66 ล้านล้านบาท เยอรมันเริ่มที่ 25 ล้านล้านบาทและอาจเพิ่มอีก ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคงมากกว่านี้หลายเท่า เยียวยาอย่างไรก็ไม่ได้หมด

นักระบาดวิทยา นักสังคมวิทยาวิจารณ์ว่า โลกตอบโต้โควิด19 ด้านหนึ่งก็สุดก้าวหน้า ค้นหาพันธุกรรม พัฒนายาและวัคซีนอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีโบราณเหมือนยุคกลาง คือ “ปิดสังคม” (shut down society) คำที่เราคุ้นมากกว่า คือ lock down เมือง ประเทศ อย่างที่ทำกัน และ social distancing ถือระยะห่างทางสังคม

วิจารณ์ต่อไปว่า โลกวันนี้ตอบโต้โดย “ปิดสวิชองคาพยพทุนนิยม” เลยทีเดียว หรือใช้คำว่า “ทำคีโมระบบเศรษฐกิจโลก” ซึ่งเป็นศัพท์เปรียบเทียบกับการรักษามะเร็ง ทำคีโมฆ่าเชื้อมะเร็ง แต่ก็ทำลายเซลล์ดีๆ อื่นๆ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมไปด้วย ถ้ารอดตายก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูตัวเองนาน อย่างไรก็ไม่เหมือนเดิมอีก

ถ้าเป็นยุคกลาง บางกรณีอาจถึงขึ้นต้องเผาบ้านเพื่อฆ่าหนูและเชื้อกาฬโรค ซึ่งกระจายไปทุกซอกทุกมุม จากนั้นก็ต้องสร้างบ้านใหม่

โลกไม่พร้อมรับมือโรคระบาด อย่างที่บิลล์ เกตส์วิจารณ์ตั้งแต่ปี 2015 แล้วว่า โลกพร้อมรบแต่ไม่พร้อมรับโรคระบาด และก็เป็นจริงกับการมาของโควิด19 ระบบสาธารณสุขของประเทศส่วนใหญ่ไม่พร้อม รวมไปถึงองค์การอนามัยโลกก็ถูกวิจารณ์ว่า รับมือโควิด19 ไม่ได้ ไม่พร้อม ต้องมีการปฏิรูปองค์กรนี้ และต้องให้งบประมาณมากกว่านี้ เพราะเท่าที่มีอยู่ยังน้อยกว่างบประมาณโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐเสียอีก

@ นักระบาดวิทยาบอกว่า สาเหตุของการระบาดใหญ่ในโลกวันนี้ น่าจะมาจากหลายสาเหตุ

1.ประชากรโลกที่เพิ่มเป็น 2 เท่าในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา คนติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง

2.มีสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ 1960 ในปริมาณมากกว่าตลอดประวัติศาสตร์รวมกัน ไวรัสแพร่จากสัตว์มาสู่คน

3.โลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกันทั้งโลก มีผลกระทบกันทั้งหมด คนเดินทางไปมาสะดวก ไวรัสไปกับคนกับกระเป๋าเดินทางระบาดไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้นเพราะ “ใครๆ ก็บินได้”

@ ประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ คนวันนี้อายุยืนกว่าคนสมัยก่อนจริงหรือ งานวิจัยจำนวนมากให้ข้อคิดที่น่าสนใจ เพราะถ้าดูตัวเลขเฉลี่ยอายุของคนแล้วอาจคิดว่า คนวันนี้อายุยืนกว่า แต่นั่นเป็นการคิดเฉลี่ย

เช่น ในศตวรรษที่ 19 คนอายุเฉลี่ย 29 ปี เพราะตายตอนเกิด ตายยังเด็ก ติดเชื้อ ไม่มีวัคซีน ไม่มียาปฏิชีวนะ ในปี 1960 อายุคนเฉลี่ย 52.5 ปี วันนี้อยู่ที่ 72 ปี แต่ละประเทศแตกต่างกันไป อย่างสหราชอาณาจักรวันนี้อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 79 ปี คงเป็นเพราะระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดีและก้าวหน้า

งานวิจัยพบว่า ปี 2018 อายุขัยเฉลี่ยชะลอลง คาดว่าอายุคนอาจจะถึงจุดพีคแล้วก็ได้ แต่ก็มีการวิจัยพบว่า การเฉลี่ยอายุเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เข้าใจอายุขัยจริงๆ ของคนโบราณ ซึ่งขึ้นอยู่กับโรคระบาดและปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมากกว่า ตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไป คนโบราณจำนวนมากก็อายุยืนยาวอาจเท่าคนวันนี้

สองพันปีก่อนคนอายุ 70-80 ปีก็มีมากมาย จากข้อมูลและบันทึกทางประวัติศาสตร์ คนมีฐานะดี อนามัยดี ไม่ต้องไปรบไปทำสงครามอายุยืนยาว คนจนกินอยู่ไม่ดี ทหารที่ต้องออกรบ อายุสั้นกว่า เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้รวมกับที่ตายจำนวนมากด้วยโรคระบาด อายุเฉลี่ยจึงน้อยกว่าคนวันนี้

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน คนเล็กเกิดมาปีเดียวก็ตาย คนโตอายุยืน 50 ปี ลูกสองคนนี้อายุเฉลี่ยเพียง 25 ปี หรือเคยมีงานวิจัยที่เยอรมันหลายปีก่อนที่บอกว่า อายุเฉลี่ยของหมอฟันที่นั่นเพียง 47 ปี เพราะทำงานหนักและติดเชื้อจากคนไข้ แต่หมอฟันอายุมากกว่า 70-80 ปีมีมากมาย

ที่น่าสนใจ คือ คนตายวันนี้ด้วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อย่างมะเร็ง หัวใจ เส้นเลือดตีบตัน เบาหวาน ทุกปีรวมแล้วมากกว่าโรคติดต่อที่ระบาดใหญ่ด้วยซ้ำ ทำให้ต้องพิจารณาคุณภาพชีวิตของคนที่มีอายุยืนยาวด้วย เพราะป่วยติดเตียง 10 ปีหรือมากกว่า เป็นปัญหาสังคมไม่น้อย และผู้ป่วยเรื้อรังและติดเตียงมีมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ได้ด้วยยาและการประคับประคองของการแพทย์ บางคนอยู่ห้องไอซียูนาน มีสายระโยงระยางมากมาย ค่าใช้จ่ายสูง กระทบครอบครัว ญาติพี่น้อง ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

(ข้อมูลบางส่วนนำมาจากบทความ Covid-19: The History of pandemics โดย Bryan Walch ในเวป BBC)

“พระเจ้าทรงให้อภัยเสมอ มนุษย์ให้อภัยเป็นบางครั้ง ธรรมชาติไม่ให้อภัยเลย” (พระสันตะปาปาฟรันซิสตรัสกับผู้เชี่ยวชาญในปี 2015) (God always forgives, man sometimes, nature never)

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com