ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ ๑)

ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ ๑)

Report : รายงานทางอีศาน
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๖๙
ปีที่ ๖ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๑
ประวี ศรีนอก


เมื่อได้ทราบว่าต้องติดตาม “ลาว คำหอม” ไปพบปะพูดคุยกับเด็กที่เข้าค่าย “จุดประกายความใฝ่ฝัน เพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรม” ที่โรงเรียนนราธิวาส วันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ จัดโดยโครงการจัดตั้งสมาคมศิลปะและวรรณกรรมป่านวงเดือน ร่วมกับกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เพื่อส่งเสริมการเขียน การบันทึก การอ่าน และให้ความสำคัญกับงานศิลปะขั้นพื้นฐาน ความตื่นเต้นดีใจผสมวิตกกังวลหวาดกลัวก็ประดังกันเข้ามา

นานมาแล้วมีคณะครูได้พาเด็ก ๆ ใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้กลุ่มหนึ่ง มาพบลุง “ลาว คำหอม” ที่ไร่ธารเกษม เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดตามประสาเด็ก แต่เมื่อเวลาจะจากกันเด็ก ๆ ไม่อยากไป มีเด็กคนหนึ่งเข้ามากอดลุงแล้วร้องไห้บอกว่า “หนูไม่อยากกลับบ้าน หนูอยากอยู่กับคุณตาทีนี่” สะเทือนใจผู้ได้ยิน โถ! บ้านหนูผู้ใหญ่เขาห้ามไม่ให้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านอย่างเสรีซินะ

เมื่อสายการบินแอร์เอเชียเข้าใกล้สนามบินนราธิวาส ภาพท้องทะเลสีครามตัดกับหาดทรายสีขาวยาวไกลขนาบด้วยสีเขียวของแผ่นดิน สวยสมดังที่ “แพรวา” บอกไว้ให้จองที่นั่งริมหน้าต่างเพราะวิวสวยมาก ยามเที่ยงแสงแดดร้อนระอุ เราต้องเดินเข้าตัวอาคารขนาดเล็ก รอรับกระเป๋าแล้วได้พบ “แพรวา” (คุณคเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร) ผู้นำในการจัดค่ายกับ อ.สฤษดิ์ ผาอาจ นักเขียน ทำงานที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา มารับเข้าไปที่โรงเรียนเพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเขียนและศิลปินชาวใต้หลายท่าน ที่ศาลาริมน้ำของโรงเรียนมีแม่น้ำบางนรากว้างใหญ่ใสสะอาดไหลผ่าน

“นี่อะไรคะ” ฉันถามเมื่อเห็นเจ้าแท่งสีขาวขนาดเท่าก้านไม้ขีดห่อหนึ่ง

“บุหรี่ที่ทำจากใบจากอ่อน มวนกับยาเส้นที่หั่นฝอยละเอียดมาก” หลายคนจัดการสูบให้ดูระหว่างนั่งคอยอาหาร แถวนี้มีต้นจากขึ้นเยอะ

ช่วงบ่ายนี้ลุงมีปาถกฐากับเด็ก ๆ ในหัวข้อ “วรรณกรรมกับเด็กในพื้นที่พหุวัฒนธรรม” โดย มี อ.สฤษดิ์เป็นพิธีกร

คุณย่อง (ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์) นักเขียนอิสระได้ต้อนรับเราอย่างดีเยี่ยม เสร็จจากงานได้พาเราไปพักบ้านริมแม่น้ำบางนราที่อ่าวมะนาว ใกล้ ๆ พระตำ หนักทักษิณราชนิเวศน์ สวยสงบร่มเย็น พร้อมทั้งแนะนำอาหารแปลก ๆ ปลาสด ๆ ที่ได้ชื่อว่าปลาสองน้ำ คือน้ำจืดและน้ำเค็มมาพบกัน เป็นปลาที่อร่อยที่สุดในโลก ฉันติดใจพริกหยวกสอดไส้ แกงมะเขือยาว มาหละ แปลว่า ขี้เกียจ เป็นแป้งทอด ผสมเครื่องมีน้ำจิ้มคล้ายน้ำจิ้มไก่เป็นอาหารมุสลิม แต่ที่แปลกมาก ๆ คือ ขนมอาซูรอ เป็นขนมที่ร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในหมู่บ้านนำของ เช่น ข้าวสาร มันถั่วเขียว ฟักทอง มะพร้าว น้ำตาล ข่า ตะไคร้ พริกไทยดำ ใครมีอะไรที่บ้านก็ถือเอามากวนรวมกัน ช่วยกันออกแรงกวนในกระทะใบใหญ่ เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยปลาป่นและไข่เจียว รสชาติเป็นขนมหวานมันที่มีกลิ่นเครื่องเทศ อร่อยแปลก ๆ ขนมนี้มีประวัติเล่าว่าน้ำจะท่วมโลก ให้เตรียมเสบียงนี้ไปขึ้นเรือ คนที่เชื่อก็ได้รอดตาย คนไม่เชื่อก็ตกนรกไป

ข้างบ้านคุณย่องมีลานดินกว้าง คุณย่องอธิบายว่าเป็นท่าเรือสำหรับรับมะพร้าวจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีเกาะปลูกมะพร้าวเป็นพันเกาะ ที่นั่นลูกละ ๓ บาทมาถึงไทยตกลูกละ ๑๐ บาท ถูกกว่ามะพร้าวของไทยที่ขายลูกละ ๒๐ บาท

ตอนเช้าคุณย่องพาไปกินติ่มซำในตัวเมือง ไม่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เราจะเห็นด่านตรวจที่มีบังเกอร์กระสอบทราย ยางรถ ลวดหนาม เป็นระยะ ๆ บางด่านมีทหารถือปืน ต้องเปิดหน้าต่าง คุณย่องกล่าว “สวัสดีครับ” กับทหารทุกด่าน ใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้นี้มีด่านเยอะมาก โดยเฉพาะใกล้สถานที่ราชการต่าง ๆ และโรงเรียน ถ้าขับรถเวลากลางคืนเจอด่านต้องเปิดหน้าต่าง ปิดไฟหน้าแล้วเปิดไฟในรถ

“ชาวบ้านรู้สึกอย่างไรกับเหตุรุนแรงค่ะ”

“ก่อนระเบิด บ้านเมืองจะเงียบสงบผิดปกติเหมือนมีการส่งสัญญาณให้รับรู้กัน พอระเบิดตู้มชาวบ้านร้านค้าจะพากันปิดประตูหน้าต่างเงียบสนิท

แต่เดี๋ยวนี้พอระเบิดตู้ม เขารีบเปิดประตู แล้วค่อย ๆ แง้มออกมาดู พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะอุทานว่า “อ๋อ…เหรอ” แล้วทำงานกันตามปกติ ถ้าระเบิดแล้วก็จะไม่มาระเบิดซ้ำที่เก่าอีก วนไประเบิดที่อื่น เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจริงมีมากกว่าที่ออกข่าว”

“พวกครูบาอาจารย์ที่จอดรถในโรงเรียนทุกคันจอดรถเอาหัวออก เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ ถ้าเกิดตูมตามขึ้นมาจะได้ออกรถหนีทัน” ผู้เล่าคือ อ.ธิดา วรรณลักษณ์ นักเขียนนามปากกา “เทียนทัดดาว วรรณลักษณ์” ท่านเคยนำรายได้จากการรวมเล่มเรื่องสั้นไปซ่อมรั้ว รร.บ้านปอเนาะ อ.สุไหงปาดี

ใกล้ ๆ ร้านกาแฟดีเด่นที่เราทานอาหารเช้า มีตึกแถวเก่า ๆ สองชั้นโบราณ สวยงามในสไตล์ชิโนโปรตุกิสหลังหนึ่ง ซึ่งเจ้าของได้ทิ้งไว้ให้นกนางแอ่นอยู่ นอกจากหลังนี้ยังมีคนปลูกตึกสูง ๆ ให้นกนางแอ่นอยู่อีกด้วย เพราะการเก็บรังนกขายทำรายได้ดี กลางเมืองยังมีแพะเดินอยู่ บางร้านเคยถูกระเบิดแล้วมีบังเกอร์มาป้องกัน

เสร็จแล้วเราเข้าไปดูเด็ก ๆ ทำกิจกรรมกัน มีหัดวาดภาพกับ “ครูแว” (แวอารง แวโนะ) และ “ครูดา” (ซูไรดา เดวาดาแล) หัดแต่งเพลงกับครูติ๊ก ไทลากูน หัดแต่งเรื่องสั้น/นวนิยายกับจเด็ด กำจรเดช (นักเขียนซีไรต์) และครูอื่น ๆ อีกหลายท่านมาร่วมให้ความรู้กับเด็ก วันนี้ลุงยังคงมีเด็ก ๆ มารุมขอลายเซ็นขอถ่ายรูป เท่าที่พบสังเกตได้ถึงความใสซื่อและร่าเริง ขณะที่กำลังรุมขอลายเซ็น เด็กคนหนึ่งยกมือไหว้ขอโทษบอกว่า “เพื่อนกันค่ะ หนูจะเตะก้นมัน” ฉันต้องแอบหัวเราะเด็ก ๆ ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน เมื่อวานก็มีเยอะ เพราะหลังจากลุงพูดเสร็จ คุณครูก็บอกว่าใครไม่รู้จักคำสิงห์ ศรีนอก หรือ “ลาว คำหอม” ก็ไปเปิดกูเกิ้ลดู

เด็ก ๆ ที่นี่เรียนหนัก วันจันทร์ถึงศุกร์เรียนตามปกติ ตอนเย็นเรียนอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน วันเสาร์ อาทิตย์ต้องไป รร.ตาดีกา ซึ่งสอนวิชาทางศาสนาอิสลามให้เด็ก ๆ

เรื่องที่น่าตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ คือคืนนี้มีกิจกรรมดนตรีอีสาน คือวงโปงลางจากวิทยาลัยนาฏศิลปจังหวัดกาฬสินธุ์ ทีมงานคุณปรีดา ข้าวบ่อ มี น.ส.วิมลรัตน์ สุวมาตร (อุ้ม) นายปรัชญา นันธะชัย (ซัน) นายธัญญาเทพ ครองแสนเมือง (เชษ) สมาชิกบางคนของวง “หมาเก้าหาง” นี้เคยไปแสดงที่ต่างประเทศมาแล้ว ผู้แสดงระดับชนะเลิศประกวดแคนที่หนึ่งของประเทศไทยก็มี ก่อนไปพวกเขาได้แสดงให้กลุ่มศิลปินผู้ใหญ่และแขกชม

ที่บ้านคุณย่องริมฝั่งแม่น้ำบางนรา เสียงแคนพิณและขลุ่ยภูไท สะกดให้ผู้ชมเงียบสนิท ฟังแล้วรู้สึกอ้างว้าง ว้าเหว่ หลับตามองเห็นทุ่งหญ้าแห้งแล้งกว้างไกลสุดสายตา

อาหารมื้อเช้าอีกวันที่คุณย่องแนะนำคือ ข้าวราดแกงเป็ดเทศ ที่ร้านยะกังโภชนา ซึ่งฉันสังเกตเห็นหลายบ้านนอกจากนิยมเลี้ยงแพะแล้วยังเลี้ยงห่านและเป็ดเทศอีกด้วย คุณย่องให้สังเกตอีกคือ ถ้าหมู่บ้านไหนเลี้ยงแมวจะเป็นมุสลิม ถ้าเลี้ยงสุนัขจะเป็นชาวพุทธ ซึ่งมีอยู่เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในดินแดนแถบนี้ แกงเผ็ดเป็ดเทศราดข้าวมาชิ้นโต ๆ น้ำแกงเข้มข้นด้วยเครื่องเทศประเภทเมล็ดผักชียี่หร่าหอมกรุ่น ออกรสหวานเล็กน้อย ที่ร้านนี้ฉันพบขนมข้าวต้มมัดสามเหลี่ยมผสมถั่วมัดเล็ก ๆ น่ารักมากชื่อตุ้มปั๊ด และขนมพื้นบ้านที่ชื่อ อาเกาะ นิยมทานกันในเทศกาลถือศีลอด

วันสุดท้ายของชาวค่ายจากเด็กๆ หลายโรงเรียนที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน กินนอนร่วมกัน เด็ก ๆ หาโอกาสเช่นนี้ยาก ลุงคำสิงห์และผู้อำนวยการโรงเรียนนราธิวาส คุณประภาส ขุนจันทร์ ร่วมเซ็นชื่อมอบเกียรติบัตรแก่เด็ก ๆ จำนวน ๑๒๐ คน เมื่อแจกเสร็จลุงได้กล่าวปิดงาน มีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมากมาย

เสร็จพิธีเราไปทานอาหารกลางวันที่บ้านทอนเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีอาชีพต่อเรือกอและหมู่บ้านเงียบเหงา ร้านอาหารแบบบ้าน ๆ ที่เราทานมีอาหารทะเลสดอร่อยและราคาถูก ถ่ายรูปกันที่ป้ายท่ามกลางแดดร้อนจัด ลมพัดแรงมาก คุณย่องพาเรานั่งรถเลียบไปทางขนานกับหาดทรายสีขาวยาวเหยียดเงียบสงบ ไร้นักท่องเที่ยว ผ่านอู่ต่อเรือกอและหางสั้น เพราะต้องใส่เครื่องยนต์แบบเรือหางยาว

“หาดที่นี่เขาเรียกว่าหาดว้าเหว่ เพราะไม่มีคนมาเที่ยว ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวมุสลิม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กลางคืนไม่มีใครกล้ามากางเต้นท์นอน”

“เสียดายหาดสวยอย่างนี้ ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นนะคะ” ฉันคิดและพูดแบบคนนอก

 


เย็นนี้เราเดินทางไปสุไหงปาดี (สุไหง แปลว่าคลอง ปาดีแปลว่า ข้าวเปลือก) เพื่อชมการแสดง“ปันจักสีลัต” เส้นทางที่ต้องผ่านเขตเจาะไอร้องสองข้างทางเป็นป่าทึบ สลับสวนยางร้าง นาน ๆ จะมีรถผ่านมาสักคัน พบรถปิ๊กอัพบรรทุกหมากมาเต็มคันรถ ทราบจากคุณย่องว่าหมากที่ผ่าตากแห้ง กก.ละ ๑๐๐ บาท ใช้ทำสีย้อมผ้า แน่นอนว่าแถวนี้เป็นพื้นที่สีแดง เพราะมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมาก ที่จำได้แม่นยำคือ การปล้นปืนที่ค่ายทหารปี ๒๕๔๗ ได้ปืนไป ๔๑๓ กระบอก ทหารตาย ๔ คน ก่อนปล้นปืนมีการเผาโรงเรียน ๒๐ แห่งในนราธิวาสเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ กว่าจะถึงที่หมายเรานั่งเอวบิดเพราะผ่านด่านจำนวนมาก ที่วางสิ่งกีดขวางสลับเยื้องเป็นฟันปลา โดยเฉพาะตรงหน้าโรงเรียนที่คุณย่องบอกว่า ครูของผมถูกยิงตายที่หน้าโรงเรียนนี้ผ่านกลุ่มทหารพรานชุดดำ ถือปืนยาวเดินอยู่ริมถนน

สุไหงปาดีเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่กลางเมืองประกอบด้วยห้องแถวไม้สองชั้น ในความรู้สึกฉันดูคล้าย อ.เชียงคาน มองดูหงอยเหงา เพราะเคยถูกระเบิดหลายครั้ง จุดนัดพบของเราที่ร้านญาติคุณย่อง ฉันได้กล้วยหอมมาเลย์ ชื่อยูลาบือราแง อร่อยมาก เด็ก ๆ ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงไปทานห่อใหญ่ ถั่วลิสงมาจากบุรีรัมย์ค่ะ ขอบคุณในน้ำใจของท่าน

จากถนนใหญ่แยกเข้าหมู่บ้านประมาณ ๑๐ กม. เป็นป่าทึบเปลี่ยว ดูน่ากลัว ต้องชม “แพรวา” ว่าเธอกล้าหาญที่บุกบั่นมาถึงที่นี่ เมื่อถึงหมู่บ้านบาโงยือริง ต.สากอ อ.สุไหงปาดี เป็นเวลาห้าโมงเย็น เราได้รับการต้อนรับจากป๊ะมาหามะ สามะ อย่างอบอุ่นเสียงตัดพ้อต่อว่า ถ้ามาช้ากว่านี้แม่บ้านจะเทส้มตำทิ้งหมด เพราะ “แพรวา” นัดไว้บ่ายสอง

เสียงทักทายพร้อมจับมือจากแขกและฝ่ายเจ้าของบ้าน

“อัสลามมูอาลัยกุม” (ขอความสันติสุขความเมตตาจากพระอัลลอฮ์จงมีแด่ท่าน)

“วาอาลัยกุมมุสลาม” (ขอพรนั้นจงมีแด่ท่านเช่นกัน)

เครื่องดนตรียกมาตั้งหน้าบ้าน พร้อมยกโต๊ะอาหารมาวางให้แขก มีส้มตำที่ทานกับข้าวเกรียบมันขี้หนูต้ม น้ำหวาน

สีลัต เป็นศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่า ต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซีย มีท่ารำที่สวยงาม ดนตรีที่ประกอบไปด้วยปี่กลอง ฯลฯ เริ่มด้วยบทไหว้ครูก่อนพอสู้จริงดนตรียิ่งคึกคัก ฉันสังเกตเห็นว่าเขาใช้กำลังภายในด้วย ดูนิ้วที่เกร็งสั่นระริก เหมือนมวยไทยผสมกังฟู

เมื่อจบการแสดง ฝั่งเราก็โชว์วงแคน แล้วมีการขอให้แสดงดนตรีผสม ฝั่งเขาเงี่ยหูฟังสักพักก็บรรเลงตามได้ ผสมกลมกลืนได้อย่างไพเราะออกแนวคึกคักคืนนี้จะมีการแสดงดิเกฮูลู ป๊ะอยากให้เราอยู่ชมมากแต่คณะเรามีภารกิจต่อได้แต่แสดงความเสียดายที่ไม่ได้ชม

ก่อนจากลาลุงได้โอบกอดป๊ะ (เรียกตาม “แพรวา”) พูดว่า

“เป็นน้องชายนะ นี่พี่ชาย”

ป๊ะได้มอบสะตอดองให้ลุง มันขี้หนูหนึ่งถุงปุ๋ยและปลาดุกที่เตรียมย่างเลี้ยง แต่ย่างไม่ทันก็ขนขึ้นรถปิ๊กอัพ ป๊ะบ่นว่าอยากให้มาหน้าผลไม้ เพราะที่บ้านสากออุดมสมบูรณ์ด้วยเงาะ มังคุด ลองกอง

“ค่ะ เราจะมาเยี่ยมอีก”

“เหมือนเรามาให้กำลังใจ มาเป็นเพื่อนไม่ให้เขาโดดเดี่ยวเกินไปนะ” ลุงพูดขณะนั่งรถกลับออกมา “แพรวา” บอกว่าชาวบ้านปลื้มใจมากตื่นเต้นมากที่
ลุงมาเยี่ยม

เราเดินทางต่อยามค่ำคืนผ่านสุไหงโกลก ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ฉันคิดว่าใหญ่กว่าบางจังหวัด เปรียบเทียบได้ที่ตึกรามบ้านช่อง ถนนกว้างใหญ่สี่เลนประดับไฟสวยงาม ในเซเว่นมีผู้คนมากมาย “แพรวา”บอกว่าในแถบชายแดนใต้นี้เซเว่นไม่มีซาลาเปากับเหล้าขายคุณย่องบอกว่า เมื่อก่อนมีผับ บาร์ โรงแรม มากกว่านี้ หลังจากถูกวางระเบิดสองสามครั้งก็หายไปเยอะ

คืนนี้เราพักที่ตากใบลากูนซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ

คำว่า ตากใบ หมายถึง การตากใบเรือ สมัยโบราณถิ่นนี้มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติจึงมีเรือใบมาจอดมากมาย ไม่น่าเชื่อว่าที่ตากใบมีโรงงานผลิตเนื้อหมูป่าที่ใหญ่ที่สุด เพราะหมูป่าชอบบุกมากินพืชในสวนของชาวมุสลิม เมื่อดักจับได้ก็จะเรียกชาวไทยพุทธไปจับ แลกด้วยบุหรี่ ๒ มวนก็พอ ชาวมุสลิมฝั่งมาเลย์ก็จะเรียกให้คนไทยเข้าไปปราบหมูป่าด้วยเช่นกัน

อ่าน ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ 2)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ความยากจนและเครื่องชี้วัด
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com