ปิดเล่ม
ทางอีศาน ฉบับที่๑๓ ปีที่๒ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
การปรับปรุงรูปเล่มในฉบับเดือนเมษายน มีเสียงสะท้อนด้านดี ชมเชยมาพอสมควร ทำนองว่าเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนเสียงวิจารณ์ข้อผิดพลาดบกพร่อง เราน้อมรับเป็นข้อเตือนใจตลอดไป
นักอ่านหลายท่านมาให้กำลังใจกันถึงบูธ “ชนนิยม” ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ท่านฝากฝังขอให้ทำ “ทางอีศาน” ให้อยู่รอด
นี่เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้ทีมงาน…เราวิเคราะห์กันว่า เราสามารถทำ “ทางอีศาน” ปีที่สองได้ตลอดรอดฝั่งแน่นอนจุดที่ยังกังวลอยู่บ้างคือ จะทำอย่างไรให้“ทางอีศาน” มีหลักประกันว่าจะมั่นคงไปถึงห้าปีสิบปี ยี่สิบปี และยาวนานตลอดไป
จุดอ่อนของเราคือ ยังขาดทีมงานด้านธุรกิจที่ช่วยหารายได้มาสนับสนุนเป็นทุนทำหนังสือ “ทางอีศาน” ให้มั่นคงยาวนานไปนาน ๆ และขาดทีมงานรุ่นหนุ่มสาวที่จะมาสืบสานงานต่อไปในอนาคต
เพื่อนพ้องน้องพี่มีคำแนะนำอะไรดี ๆ ช่วยเราคิดด้วยนะครับ
ทีมงานของเรานอกจากจะมีภาระทำหนังสือรายเดือนฉบับนี้แล้ว ยังทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับองค์กรอื่น ๆ อีกมาก ถึงขั้นไม่มีวันหยุดวันว่าง…เราเปิดกว้าง ยินดีรับความช่วยเหลือทุก ๆ ด้าน จากท่านที่รัก “ทางอีศาน”
“ทางอีศาน” ฉบับเดือนเมษายนที่ผ่านมาและเดือนพฤษภาคมนี้ เราเสนอเรื่องราวด้านวัฒนธรรมต่อเนื่องกัน ฉบับเดือนมิถุนายนนอกจากย้อนรำลึกปีที่ ๘๑ ของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง “๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕” แล้ว เราขอเสนอประวัติศาสตร์การเมืองของอีสานบ้าง
อีสานมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของภาคอีสานคือใครกันบ้าง
และแต่ละท่านมีวิสัยทัศน์อย่างไร ? มองคนอีสานอย่างไร ? จะมีรายละเอียดในฉบับเดือนมิถุนายน เตรียมซื้อเก็บไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ประจำบ้าน แต่ถ้าท่านเป็นสมาชิกก็ไม่ต้องเร่งรีบไปหาซื้อ เราจะส่งถึงมือท่านในซองบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามครับ