ปริศนาพระแก้วมรกต จากปาฏลีบุตรถึงนครอินทปัตถ์

ปริศนาพระแก้วมรกต จากปาฏลีบุตรถึงนครอินทปัตถ์

พระแก้วมรกต หรือ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เปรียบได้ดั่งมหากาพย์แห่งสุวรรณภูมิ ปรากฏรายละเอียดอยู่ใน “ตำนานรัตนพิมพวงศ์” ซึ่งรจนาโดยพระพรหมราชปัญญา พระภิกษุชาวล้านนา มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างรัชกาลของพระเจ้าติโลกราชถึงพระเมืองแก้ว หรือช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21ถือเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนาที่เกิดความนิยมในการรจนาด้วยบาลีปกรณ์

แม้ว่าชาวอินเดีย-ลังกา-พม่า จักยืนยันว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องของพระแก้วมรกตในประเทศของพวกตนมาก่อน กอปรกับรูปแบบศิลปกรรมของพระแก้วมรกตเองก็ได้มีนักโบราณคดีหลายท่านออกมาชี้ให้เห็นว่าเป็น “ศิลปะยุคล้านนาสกุลช่างเชียงแสน-พะเยา” สร้างราว 500-600 ปีมานี่เอง

กล่าวคือสร้างขึ้นร่วมสมัยกับยุคที่เขียนตำนาน เพียงแต่มีการลากยาวย้อนยุคกลับไปสู่อดีตเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่องค์พระพุทธรูป

อย่างไรก็ดี ในละแวกเพื่อนบ้านแถบสุวรรณภูมิ ชื่อของพระแก้วมรกต นอกเหนือจากแผ่นดินล้านนาที่ปรากฏอยู่ในตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารโยนก และพงศาวดารเหนือแล้ว ยังมีการเขียนถึงอยู่ด้วยในพงศาวดารหลวงพระบาง และพงศาวดารกรุงกัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ เงื่อนงำของพระแก้วมรกต ระหว่าง “ตำนาน” กับ “องค์พระปฏิมากร” จึงสร้างปริศนาอย่างไม่รู้จบว่ามีความน่าเชื่อถือจริง มากน้อยแค่ไหน

เส้นทางอันยาวไกลของพระแก้วมรกตที่เราพอจะคุ้นๆ กันอยู่นั้น เริ่มขึ้นที่ประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ. 500 โดยพระอินทร์กับพระวิสสุกรรมได้นำหินหยกสีเขียวขุ่นมาสลักเป็นพระพุทธรูปถวายแด่พระนาคเสนเถระ ณ กรุงปาฏลีบุตร พระนาคเสนเฉลิมนามว่า “พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต” จากนั้นได้ทำนายว่าตราบใดที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ แแว่นแคว้นใดก็ตาม พระแก้วมรกตก็จักเคลื่อนย้ายไปสถิต ณ แผ่นดินผืนนั้น

โดยมีชื่อทวีปทั้ง 6 เรียงกันคือ ชมพูทวีป ลังกาทวีป กัมโพชอโยฌวิสัย โยนกทวีป สุวรรณทวีป และ ปมหลวิชัย

มีข้อสังเกตว่า พระแก้วมรกตได้ผ่านการประดิษฐานตามคำทำนายมาแล้วจริงถึง 5 ทวีป ณ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครของเราย่อมหมายถึงสุวรรณภูมิ หรือสุวรรณทวีป

ถ้าเช่นนั้น ปมหลวิชัยคือทวีปอะไรอยู่ที่ไหน หากคำพยากรณ์เป็นจริง ก็ขอให้ช่วยกันระแวดระวังพระแก้วมรกตไว้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน เพราะการเดินทางนั้นยังไม่สิ้นสุด

น่าสงสัยเหมือนกันว่า ในเมื่อคนแต่งเรื่องพระแก้วมรกต เป็นคนในโยนกทวีป ไฉนจึงไม่ให้จุดอวสานจบลงที่ล้านนา?

เมื่อชมพูทวีปเกิดจราจลราวปี พ.ศ. 800 กษัตริย์กรุงปาฏลีบุตรนามพระเจ้าศิริกิตติกุมาร ได้นำพระแก้วมรกตลงสู่สําเภาลี้ภัยไปยังลังกาทวีป พระเจ้าแผ่นดินลังกา (ตำนานไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงปีติยินดีเป็นที่ยิ่ง

ผ่านไปอีก 200 ปี ประมาณ พ.ศ.1000 พระเจ้าอนิรุทธแห่งกรุงพุกามส่งพระราชสาส์นไปยังลังกา เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกพร้อมกับพระแก้วมรกต ตำนานบางเล่มระบุว่าทางลังกายินดีมอบให้ แต่สำเภาที่บรรทุกพระแก้วมรกตถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน ในขณะที่บางตำนานบอกว่าทางลังกาอิดเอื้อน กระทั่งพระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร แคว้นกัมพูชา กรีฑาทัพมาช่วงชิงขอพระแก้วมรกตตัดหน้าพระเจ้ากรุงพุกามชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด

หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ กรุงอินทปัตถ์ช่วงระยะหนึ่ง (ไม่ได้ระบุว่านานแค่ไหน) กระทั่งแผ่นดินของพระเจ้าเสน่ห์ราช (บ้างก็ว่าสมัยของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์) ได้เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน เหตุเพราะกษัตริย์ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมดีแต่รังแกเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์

แผ่นดินกัมพูชาก็มิอาจรองรับพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์นั้นได้อีก ทำให้พระมหาเถระรูปหนึ่ง (ไม่ได้ระบุนาม) แอบอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสําเภาหนีไปถวายพระเจ้าอาทิตยราช เจ้าผู้ครองนครอโยฌยา

ขอพักตำนานเรื่องพระแก้วมรกตไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อมิให้หลงประเด็นที่ต้องการจะวิเคราะห์

ปัญหาก็คือ ตำนานเรื่องนี้มีลักษณะ “กึ่งเรื่องเล่า-กึ่งอ้างอิงเหตุการณ์จริง” คือมีความพยายามที่จะหยิบยกนามของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในประวัติศาสตร์มาเป็นพยานเพื่อเพิ่มน้ำหนัก

เริ่มจาก “พระนาคเสน” ซึ่งเรารู้จักกันดีถึงกิตติศัพท์ว่าเคยเป็นผู้อาสาพระเจ้ากนิษกะ โต้ตอบปัญหากับ “เมนานเดอร์” แม่ทัพกรีก ที่เตรียมรุกรานชาวอินเดีย ทว่าเมนานเดอร์จนมุมต่อปริศนาธรรมต้องยอมพ่ายแพ้ หันมานับถือศาสนาพุทธ เปลี่ยนนามเป็น “พญามิลินท์” ยุคนั้นตรงกับ พ.ศ. 500-600 ถือเป็นยุคแรกของการสร้างพระพุทธปฏิมาเป็นรูปเคารพ ในทางศิลปกรรมเรียกว่า ศิลปะแบบคันธารราษฎร์

ซึ่งถ้าหากตำนานเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในยุคพระนาคเสน-พญามิลินท์ พุทธศิลป์ของพระแก้วมรกต ย่อมเป็นรูปแบบคันธารราษฎร์ แต่นี่กลับไม่ใช่

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า วัดที่พระนาคเสนได้รับพระแก้วมรกตนั้น มีชื่อว่าวัดอโสการาม อันเป็นชื่อเดียวกันกับวัดอโสการามที่เชียงใหม่ อีกนามหนึ่งของวัดป่าแดงหลวง วัดที่มีการรจนาตำนานพระแก้วมรกตนั่น

ในขณะที่มีการเอ่ยถึงพระนาคเสน บุคคลที่มีตัวมีตนเป็นๆ แต่ครั้นพอมาถึงตอนที่กล่าวถึงกษัตริย์กรุงลังกา กลับไม่ระบุพระนามให้แน่ชัด มีแต่เพียงศักราช พ.ศ. 800 เท่านั้นที่พอจะให้คลำทางได้บ้างว่าควรตรงกับรัชกาลใด

จะเป็นพระเจ้าโคฐาภัย (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.796-809) หรือพระเจ้าเชฏฐติสสะ (พ.ศ.809-819) ล่ะหรือ? แต่เมื่อประเมินดูภาพรวมแล้ว ทั้งสองรัชกาลนี้กรุงอนุราธปุระในลังกาต่างก็เกิดเหตุจราจลวุ่นวาย มีการเผยแผ่มาของศาสนาพุทธลัทธิมหายานที่สำนักอภัยคีรี พระสงฆ์หลายรูปที่เลื่อมใสนิกายใหม่นี้ถูกปราบต้องหลบหนีไปอินเดีย ดูๆ แล้วรัชสมัยนี้ไม่น่าจะเหมาะสมกับแผ่นดิน “เนื้อนาบุญ” ในการรองรับพระแก้วมรกตจากอินเดียได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการ หนีเสือปะจระเข้

แต่หากเราไม่สนใจตัวเลขกลมๆ มองเลยลงมาอีกสักนิด พบว่าปี พ.ศ. 854 สมัยของพระเจ้าสิริเมฆวัณณะมหาราชองค์หนึ่งแห่งลังกานั้นน่าสนใจกว่า เพราะพระองค์ทรงได้รับพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว มาจากแคว้นกลิงคราฐของอินเดียซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าสมุทรคุปต์

อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รจนารัตนพิมพวงศ์ อาจต้องการสื่อถึงเหตุการณ์สำคัญล้อหน้าประวัติศาสตร์ตอนนี้ก็เป็นได้ เพียงแต่ระบุศักราชคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย

ที่น่าสนใจยิ่ง คือการเอ่ยนามของมหาราชแห่งกรุงพุกาม “พระเจ้าอนิรุทธ” หรือ “อโนรธา” ไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ต้องขอประทานโทษด้วยที่ศักราชมีความแตกต่างกันอย่างมากถึง 500-600 ปี

พระเจ้าอนิรุทธมหาราช ครองราชย์ระหว่างปี 1587-1620 ไม่ใช่ พ.ศ.1000 เหมือนที่ในตำนานระบุ พระองค์เป็นบุคคลที่มักถูกนำมาอ้างถึงบ่อยๆ ไม่เพียงแต่ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตเท่านั้น แต่ยังปรากฏนามว่าเป็นผู้สร้างพระสิขีปฏิมาศิลาดำอีกด้วย (เรื่องหลังนี้เนื้อหาอีนุงตุงนังเข้าไปใหญ่ เพราะเอายุคสมัยของอโนรธาผู้นี้ไปพัวพันกับเหตุการณ์สมัยพระนางจามเทวี ซึ่งเกิดก่อนราว 3-4 ศตวรรษ)

สรุปง่ายๆ ก็คือคนสมัยก่อน เมื่อต้องการเอ่ยถึงกษัตริย์พม่า ไม่รู้จะเรียกขานนามว่าอย่างไรดี เลยเหมาใช้ชื่อ “อนิรุทธ” เอาทั้งหมด

แต่การใช้ชื่อ “อนิรุทธ” ในตำนานพระแก้วมรกตครั้งนี้หาใช่ไร้หลักฐานไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรพุกามกับลังกามีอยู่จริงในสมัยของพระองค์ แต่เป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรกัน

ความจริงมีอยู่ว่า รัชสมัยของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 แห่งราชวงศ์โปลนนาลุวะในลังกา (1589-1653) ได้มีชาวโจฬะจากอินเดียใต้ยกทัพมารุกราน พระเจ้าวิชัยพาหุทราบกิตติศัพท์ความเข้มแข็งเด็ดขาดของพระเจ้าอนิรุทธจึงได้ขอความช่วยเหลือ เมื่อพระเจ้าอนิรุทธช่วยขับไล่พวกโจฬะแล้ว พระเจ้าวิชัยพาหุมีพระราชประสงค์จักฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่สูญหายไปจากลังกา พระเจ้าอนิรุทธจึงได้ส่งพระมหาเถระพร้อมคัมภีร์พระไตรปิฎก รวมทั้งช้างเผือก 1 เชือกไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา ขากลับสมณทูตของพุกามได้ทูลขอพระเขี้ยวแก้ว แต่พระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 มอบองค์จำลองมาให้ หลังจากนั้นไม่นานพระสงฆ์ในลังกาต้องนำพระเขี้ยวแก้วไปซ่อนไว้ในถ้ำที่แคว้นโรหณะ

เห็นได้ว่าพระภิกษุผู้รจนารัตนพิมพวงศ์ คงได้ยินได้ฟังเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพุกามกับลังกามาแล้ว ยิ่งชื่อของอนิรุทธนั้นโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวล้านนามาตั้งแต่ครั้งหริภุญไชย เพียงแต่อาจไม่ทราบระยะเวลาที่แน่ชัด พร้อมกันนั้นก็คงได้ยินเรื่องการขอคัมภีร์พระไตรปิฎกระหว่างพุกามกับลังกาด้วยเช่นกัน ทว่าอาจสับสนว่าใครเป็นฝ่ายขอใคร

และแน่นอนที่สุด พระพรหมราชปัญญาต้องทราบเรื่องการขอพระเขี้ยวแก้วไปยังกรุงพุกาม จึงได้นำเอารายละเอียดเหล่านี้มาผูกโยง แต่งเป็นเหตุการณ์ในตำนานพระแก้วมรกต ดูเผินๆ แล้วสมจริงเพราะมีการอ้างชื่อบุคคลสำคัญอย่างอโนรธา แต่ผิดฝาผิดตัวไปนิด

เพราะในความเป็นจริงนั้นพระเจ้าอนิรุทธเขาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว อุตส่าห์ยกทัพมาช่วยเหลือลังกาให้พ้นจากเงื้อมมือโจฬะ พร้อมยังนำเอาพระไตรปิฎกมามอบให้อีก แต่กลับถูกจารึกนามในตำนานพระแก้วมรกตว่าเป็นคนเกเร แรกๆ ยกทัพมาขอคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้ไปแล้วยังเกิดความโลภอยากได้พระแก้วมรกตอีกองค์ ซ้ำบุญไม่ถึงสู้กษัตริย์ขอมไม่ได้

สะท้อนให้เห็นว่า ภาพลักษณ์ชาวลังกาในสายตาของพระภิกษุล้านนานั้นเปรียบเสมือนหิ้งบูชาอันสูงสุดเสมอ ทั้งๆ ที่บางยุคบางสมัยลังกาก็เคยเพลี่ยงพล้ำ ถึงกับต้องขอความช่วยเหลือจากพม่าให้ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนามาแล้ว

หันมามองกษัตริย์กัมพูชาดูบ้าง ว่ามีใครไหมที่เคยยกทัพไปตีลังกาเพื่อแย่งชิงพระพุทธรูปองค์สำคัญ ถ้ามี วรมันองค์นั้นก็ต้องศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ซึ่งส่วนใหญ่กษัตริย์ขอมมักเป็นฮินดู หรือไม่ก็พุทธมหายาน แล้วจะไปเกี่ยวข้องอะไรกับกรุงลังกาซึ่งเป็นพุทธเถรวาทเล่า?

ตำนานตอนนี้ไม่ได้ระบุศักราชเสียด้วย แต่ก็พออนุโลมได้ว่า ต้องอยู่ในช่วงไล่เลี่ยหลังสมัยพระเจ้าอนิรุทธกับพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 เล็กน้อย

ถ้าเช่นนั้นควรตรงกับสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรยโสธรปุระ ใช่หรือไม่ เนื่องจากครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1553-1593 แถมยังมีชื่อพ้องจองกับที่ตำนานระบุไว้ว่า “นารายณ์สุริยวงศ์” ความเป็นจริงก็คือ สูริยวรมันที่ 1 พระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่นิยมชมชอบในศาสนาฮินดูมากกว่าพุทธ มีการเติบโตและขยายตัวของเทวาลัยขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด

หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเอากองทัพเรือไปช่วงชิงพระแก้วมรกตที่ชาวพุกามเขาอยากได้แต่อย่างใดเลย ยกเว้นเสียแต่ว่าลมเพลมพัดพาเรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตมาเกยตื้นที่ปากอ่าวเมืองอินทปัตถ์เอง

ในเมื่อแผ่นดินขอม (อินทปัตถ์) ครั้งกระนั้นนับถือฮินดู แน่นอนว่าฟ้าดินย่อมอาเพศเป็นเหตุให้พระแก้วมรกตต้องจรลีเร่ร่อนมาสู่กรุงอโยชฌา

ถือเป็นการปรากฏขึ้นครั้งแรกของพระแก้วมรกตบนแผ่นดินสยาม แต่ดูเหมือนยังไม่พ้นภาพรวมของกัมโพชทวีป เพราะยังมิได้ขึ้นสู่โยนก แต่ก่อนจะข้ามไปยังโยนก ปริศนาหนึ่งที่คาใจนักโบราณคดีทั้งประเทศมานานก็คือ “อโยชฌา” ที่ว่านั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ อยุธยา ชัยนาท ลพบุรี หรือลำพูน?

***

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ Pensupa Sukkata

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com