บทบาทของท้าวพมแห่งอัตตะปือ ในการช่วยเจ้าฟ้างุ่มรวบรวมดินแดนล้านช้าง
บทบาทของท้าวพมแห่งอัตตะปือ
ในการช่วยเจ้าฟ้างุ่มรวบรวมดินแดนล้านช้าง
ข้อมูลเรื่องราวการรวบรวมดินแดน จาก “นครรัฐ” ยกระดับขึ้นเป็นต้นเค้าของ “อาณาจักรล้านช้าง” นั้น เอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาลาว หาอ่านยากมาก หนังสือประวัติศาสตร์ลาว ฉบับภาษาลาวที่แพร่หลายใช้อ้างอิงกันก็คือ ฉบับของท่านมหาสิลา วีละวง ฉบับเดียว เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เจ้าฟ้างุ่มลี้ภัยไปอยู่ดินแดนลาวใต้ แล้วราชสำนักอาณาจักรพระนคร (นครธม) ได้อุ้มชูเลี้ยงดู จนกระทั่งสนับสนุนกำลังทหาร ให้เจ้าฟ้างุ่มตั้งกองทัพยกขึ้นไปตีเมืองต่าง ๆ ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จนกระทั่งได้ขึ้นครองราชย์เมืองเชียงดงเชียงทอง (ต่อมาได้ชื่อว่า “หลวงพระบาง”)
กองทัพของเจ้าฟ้างุ่มยกขึ้นไปจากอาณาจักรพระนครหลวง จะต้องผ่านดินแดนลาวใต้ก่อน ข้อมูลประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ยังมีน้อยในเอกสารภาษาไทย ข้าพเจ้าจึงปริวรรตถ่ายคำข้อมูลเหล่านี้จากเอกสารภาษาลาว “ปะวัดติสาด และกานเคื่อนไหวปะติวัด อัตตปือ” เขียนโดย ท่านบุนทัน จันทะกาลี หน้า ๔๕ – ๔๘ ดังต่อไปนี้
“๕. ท้าวพม ได้ขึ้นเสวยราชย์แทน พะยาบาอัด อยู่เมืองโชก เมืองชุงคอกช้าง
เมื่อท้าวพมได้ขึ้นเสวยราชย์แทนพ่อ ก็ได้สร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมือง โดยถือเอาการสร้างวัดวาอารามให้เป็นสิ่งสาธารณประโยชน์ ท่านได้ปฏิสังขรณ์ วัดหายโศก ให้สวยงาม แล้วได้สร้างเจดีย์ชื่อว่า พระธาตุดอยโศก อยู่วัดหายโศก กลางเมืองโชก หลายคนไม่รู้ จึงเรียกเมืองนี้ว่า เมืองโศก โดยอิงกับชื่อวัดหายโศกและพระธาตุอโศก ถ้าจะเรียกให้ถูกแท้ต้องเป็น เมืองโชก (โชค) เมืองชุงคอกช้าง
คำว่า “โชก” นั้น ในสมัยก่อนเชื่อกันว่า ถ้าหมอคล้องช้างไปรวมตัวกันอยู่ที่นั่น แล้วจึงออกไปคล้องช้าง ถือว่า หมาน (หมายถึงโชคดี …ผู้ถ่ายคำ) ทุกครั้ง ถ้าไปรวมตัวกันที่อื่น จะไม่โชคไม่หมาน ดังนั้นจึงตั้งชื่อเมืองนี้ว่า เมืองโชก เมืองหมาน
คำว่า “ชุง” (ซุง) คือ คอกฝึกช้างของคนโบราณ ถ้าคล้องช้างมาได้ เขาจะเอาไปใส่ไปฝึกในคอกดังกล่าว ใช้เวลาวันเดียวก็รู้ความ ถ้าเอาไปใส่ไว้ในที่อื่น ต้องใช้เวลาถึง ๒-๓ เดือนก็ยังไม่รู้ภาษาคน ฉะนั้นจึงย้ายเมืองจาก ละมามเหนือ แล้วเรียกว่า เมืองซุงคอกช้าง ซึ่งอยู่ต่อแยกกันกับ เมืองโชก (คือเซกองในตอนนั้น)
๖. พะยาพม ช่วยพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้างุ่มที่มาคล้องช้างที่อัตตะปือ
ในสมัยที่พะยาพมปกครองเมืองโชก เมืองชุงคอกช้าง ปี ๑๓๓๖ (คริสต์ศักราช) อยู่นั้น พะยาอินทะปัดถานคร (อินทปัตถ์นคร) เจ้าแผ่นดินเขมรที่นครธม ได้ตกลงกับเจ้างุ่ม ผู้เป็นลูกกษัตริย์ลาวล้านช้าง-เชียงทอง ที่ลงมาพักอาศัยอยู่เมืองอินทะปัดนะคอนว่า ให้เจ้าฟ้างุ่มกลับคืนไปเสวยราชย์อยู่ล้านช้าง-เชียงทอง เพราะว่าพระบิดาได้สวรรคตแล้ว มีแต่อาว์เป็นผู้ขึ้นครองราชสมบัติ
พะยาอินทปัดถานะคอน พาบ่าวเลี้ยง อาวเลี้ยง (พี่เลี้ยง อาว์เลี้ยง – หมายถึงเจ้าพนักงานพี่เลี้ยง ของเจ้าฟ้างุ่ม…ผู้ถ่ายคำ) ขึ้นมาตามแม่น้ำโขง เมื่อมาถึงปากเซกองที่ไหลลงใส่แม่น้ำโขง จึงเดินทางมาตามลำน้ำเซกอง ขึ้นมาถึงเมืองโชก เมืองชุงคอกช้าง หลังจากนั้นก็ได้มอบกลุ่มคนเหล่านี้ให้แก่พะยาพม เพื่อให้พาไปคล้องช้างตามป่าดงพงไพรของเมืองรามะลักองกาน (อัตตะปือ) และขอระดมพลทหาร ๑,๐๐๐ คน
พะยาพม ได้แต่งเสนาช้างทั้งหลาย เอาช้างต่อ พาพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้างุ่ม ออกหาคล้องช้าง จึงได้ช้างมาทั้งหมด ๑๐๐ ตัว เมื่อฝึกช้างและทหารเรียบร้อยแล้ว พะยาพมก็นำไปถวายแก่พะยาอินทะปัดถานะคอน และเจ้าฟ้างุ่ม ที่นครธม ประเทศเขมร
เมื่อพะยาอินทะปัดถานะคอน ได้รับช้าง ๑๐๐ ตัวและกองทหาร ๑,๐๐๐ คน ก็ปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ยก นางแก้วเก็งยา ผู้เป็นลูกสาว ให้เป็นพระมเหสีของเจ้าฟ้างุ่ม พร้อมทั้งมอบดินแดนและไพร่พลที่ได้ครอบครองไว้ แต่สมัย เมืองรามะลักองกาน ที่กลายเป็นเมืองร้างเพราะภัยแล้งนั้น คืนให้แก่เจ้าฟ้างุ่ม นับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา เมืองรามะลักองกาน จึงขึ้นกับเมืองล้านช้างและเชียงดงเชียงทอง
ส่วนพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้างุ่มที่ถูกแต่งตั้งให้ไปคล้องช้างอยู่เมืองรามะลักองกานกับพะยาพม ที่เมืองรามะลักองกานเป็นเวลาสี่ปีนั้น ได้แต่งงานกับหลานสาวของพะยาพม และได้ลูกด้วยกันสามคน ชื่อว่า บาวาง, บาวัง และนางอ่อนช้อย แต่นั้นมาเชื้อสายของเจ้าฟ้างุ่ม ก็มีลูกหลานเชื้อหน่อแนวสืบทอดกันมาหลายชั่วคน บางคนได้เป็นพระยาครองเมืองรามะลักองกานที่เมืองโชกเมืองชุงหลายสิบปี
ในปี ๑๓๓๙ เจ้าฟ้างุ่มได้ยกทัพขึ้นมาตามแม่น้ำโขง พอมาถึงปากเซกอง ถึงเมืองรามะลักองกานที่ตั้งอยู่ เมืองโชกเมืองชุง เจ้าฟ้างุ่มได้ปรึกษาหารือ และขอความช่วยเหลือจากพะยาพม ในการปรับปรุงกองทัพเพื่อไปตีเอาเมืองต่าง ๆ พะยาพมเห็นดี ให้มีการฝึกซ้อมทหารม้า ทหารช้างและทหารราบ เป็นเวลา ๓๐ วัน ที่เมืองรามะลักองกาน เมื่อฝึกทหารเรียบร้อยแล้ว พะยาพมได้ประกอบทหารเติมอีก ๕๐๐ คน ช้าง ๒๕ ตัว พร้อมด้วยเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ครบชุด หลังจากนั้นกองทัพของพะยาพม และกองทัพของเจ้าฟ้างุ่มก็ไปตีเอาเมือง ปากกบ (ผู้ถ่ายคำ – ไม่ทราบว่า “เมืองปากกบ” อยู่ที่ไหน แต่พิจารณาตามภูมิศาสตร์แล้ว น่าจะเป็นเมืองใหญ่อยู่ในเขตแขวงสะหวันนะเขต เพราะเมื่อเจ้าฟ้างุ่ม ตีได้เมืองปากกบแล้ว เดินทางต่อขึ้นไปตีเมืองกะบอง คือศรีโคตรตะบองในแวงคำม่วนปัจจุบัน) พะยาพม ได้ฟันคอ พะยาพมมะทัด (พรหมทัต) เมืองปากกบ ตายคาหลังช้าง เมื่อได้เมืองปากกบแล้ว จึงตั้งหลานชายของพะยาพมมะทัดขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน
ต่อมาพะยาพมและเจ้าฟ้างุ่ม ได้ยกทัพไปตีเอา เมืองกะบอง พะยานันทเสน เจ้าเมืองกะบองกลัวตาย จึงขี่ช้างหลบหนี กองทัพพะยาพมและเจ้าฟ้างุ่มไล่ติดตามทัน และจับไปที่ ปากทอด แล้วประหารชีวิตที่นั่น
เมื่อตีเมืองกะบอง (หรือ กะบองขอน หรือ เมืองนคร …ผู้ถ่ายคำ) ได้แล้ว พะยาพมและเจ้าฟ้างุ่ม ได้แต่งตั้งน้องชายของพะยานันทะเสน ขึ้นเป็นพระยาปกครองเมือง และบังคับให้พระยากะบองคนใหม่ ส่งส่วยเป็นช้าง ๑๐๐ ตัว คนเลี้ยงช้าง ๒๐๐ คน และข้อยหญิง ข้อยชายอีก ๒๐๐ คน
ในเวลาที่ประทับอยู่มืองกะบอง เจ้าฟ้างุ่มและพะยาพม ยังแต่งตั้งให้กองทัพไปตีเอาหัวเมืองต่าง ๆ คือ เมืองพะยาจำปา, เมืองพะยาจิ่ม, เมืองพะยาจาม, เมืองพะยาดอกชักแค และเมืองพะยาสะนัง เมื่อได้หัวเมืองเหล่านี้แล้ว ก็บังคับให้ส่งส่วยเป็น ผ้ากั้ง ผ้าไหม ทองคำ ช้างและม้า
ต่อมาทั้งสองพระองค์พากันยกทัพข้ามน้ำหินบูน ไปถึงเมืองเวียง จับเจ้าเมืองเวียง ประหารชีวิต แล้วตั้งน้องชายพะยาเวียงขึ้นเป็นพะยาเวียงแทน นอกจากนั้นยังได้ตั้ง พะยาเมืองหลวง, พะยาเมืองนาน, พะยาเมืองวัง, พะยากะตาก, พะยาชะโปน ให้ส่งส่วยผ้าไหม ผ้ากั้งเพดาน และข้อยข้าให้เจ้าฟ้างุ่ม
หลังจากนั้นกองทัพของพะยาพมและของเจ้าฟ้างุ่ม ก็ตั้งทัพอยู่ปากน้ำกะดิง พะยาสามคอน เจ้าเมืองพะนำรุ่ง (หรือ พระน้ำฮุ่ง …ผู้ถ่ายคำ) ยกทัพออกมาสู้รบ เจ้าฟ้างุ่มปรึกษาหารือกับพะยาพมว่า ควรจะให้ใครออกสู้รบก่อน พะยาพมแนะนำว่า ควรให้ บาจีแข้ คุมกองทัพออกต่อสู้ทดสอบดูก่อน บาจีแข้ ออกรบ และจับ พะยาสามคอน ได้ แล้วมัดไปทิ้งลงน้ำที่ปากน้ำบาบาด (อาจจะเป็นปากน้ำปะกัน ใต้น้ำหินบูนลงไป)
ต่อมาพะยาพมและเจ้าฟ้างุ่ม ก็ยกทัพหลวงไปตีเเอาหัวเมืองต่าง ๆ จนถึงเมืองเชียงทอง จนได้ขึ้นเสวยราชย์อาณาจักรล้านช้าง ถึงปี ๑๓๔๔ เจ้าฟ้างุ่ม จึงได้อนุญาตให้ พะยาพม กลับคืนสู่เมือง รามะลักองกาน”
แผนที่ลาวใต้ปัจจุบัน เมืองโชก เมืองซุงคอกช้างโบราณอยู่แถบเมือง “ละมาม” (ในแขวงเซกอง ปัจจุบัน)
“ผู้ถ่ายคำ” ขอสรุปความดังนี้
๑. กองทัพของเจ้าฟ้างุ่ม มีกำลังคนลาวที่จงรักภักดีต่อเจ้าฟ้างุ่ม, ทหารของกษัตริย์นครธม, ไพร่พลชนเผ่าจากลาวใต้ เช่น ไพร่พลของพญาพม เมืองรามะลักองกาน (อัตตะปือ-เซกอง) ภายหลังยังได้กองทหารจากเมืองพวนมาสมทบอีกด้วย จึงเข้ายึดครองเชียงดงเชียงทองอย่างง่ายดาย
๒. เจ้าฟ้างุ่ม ได้ครองราชย์เชียงดงเชียงทอง ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๗ พระเจ้าอู่ทอง – รามาธิบดีที่ ๑ สถาปนากรุงอโยธยา พ.ศ. ๑๘๙๓
๓. ลาวใต้เป็นแดนกันชนระหว่างอาณาจักรพระนคร กับ ล้านช้าง ในเอกสารชิ้นนี้ แม้จะระบุว่า กษัตริย์อาณาจักรพระนคร ยกดินแดนลาวใต้ (รามะลักองกาน) ให้กับเจ้าฟ้างุ่ม แต่อำนาจการปกครองควบคุมของฝ่ายล้านช้างก็น่าจะยังเป็นไปแบบหลวม ๆ ดังจะเห็นว่า แม้จนถึงสมัยพระไชยเชฐาธิราช ก็ยังมีการแข็งข้อต่อล้านช้าง พระไชยเชษฐาธิราชต้องยกทัพไปปราบจนกระทั่งสูญหายไป
๔. ชนชั้นปกครองในลาวใต้ช่วงต้น น่าจะมีเชื้อสายผสมระหว่าง ลาว – เขมร -ชนเผ่า จนเมื่อสถาปนาเป็นอาณาจักรจำปาศักดิ์ ประมุขจึงเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ล้านช้าง
เซกอง ดินแดนสิบสามชนเผ่า ภาพจากเรื่อง “ลุยเดี่ยวเที่ยวเมืองในหุบเขา ติดชายแดนเวียดนาม แขวงเซกอง ประเทศลาว” https://pantip.com/topic/34491619