Tao Dialogue 3 บทวิจารณ์ มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

บทวิจารณ์ มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

Tao Dialogue 3

บทสนทนา ‘ต่อเต้าความ’ ใน มหากาพย์ชนชาติไท “เต้าตามไต  เต้าทางไท” 

อารยวิถี ‘เต้า’

โดย  สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

เมื่อศาสตราจารย์พิเศษชลธิรา สัตยาวัฒนา (อาจารย์ชล) เชื้อชวนผมให้เขียนถึงคำว่า ‘เต้า’ ใน ‘เต้า’ ตาม ไต  ‘เต้า’ ทางไท อันเป็นบรรพสองของ “มหากาพย์ชนชาติไท” ทางหนึ่งจึงนับเป็นเกียรติยิ่งอีกครั้ง จากคราวก่อนที่ได้รับความเมตตาให้โอกาสเขียนถึงคำว่า ‘ด้ำ’ ผีบรรพชนผู้เฝ้าปกปักรักษาสายโคตรตระกูล ในมหากาพย์ฯ บรรพแรก: ‘ด้ำ’ แถน กำเนิดรัฐไท (ชลธิรา พ.ศ.๒๕๖๑) หากทางหนึ่งจำนับเป็นความหนักใจยิ่ง จนเอ่ยเอื้อนกับอาจารย์ชลว่า กลัวเขียนแล้วไม่เข้าท่าเข้าทาง ทว่ากลับได้รับแรงบันดาล พร้อมคำครูมากคุณค่า “อ่านให้ลึก ตรึกให้ซึ้ง ตรึงให้อยู่ ดูให้ดี ตีให้แตก ตามอัธยาศัย” ทางพายหน้าจึงมีไว้ให้บาก ป่ายซ้ายบ้ายขวาไปแต่เพียงถ่ายเดียว 

(‘พาย’ เป็นคำเดียวกับคำว่า ‘ภาย’  แปลว่า ข้าง ข้างๆ ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้  เป็นคำไทที่ใช้กันมาหลากหลายในจารึกหลักต่างๆ และตีความต่างๆ กันออกไป ซึ่งเมื่อใช้มุมมองรากคำพยางค์เดียวเข้าจับ จะได้ความหมายกลางๆ ว่า ข้าง ข้างเคียง; เป็นคำชุดเดียวกับ พาย โพย ผ่าย ฝ่าย บ่าย ป่าย บ้าย พ่าย เป็นต้น)     

อาจารย์ชลยึด ‘เต้า’ เป็น ‘คำสำคัญ’ (Keyword) ในการส่องนำทางสืบเสาะร่องรอยชาติพันธุ์ ‘คนพูดไท’ ไต่บันไดเวลาลัดเลาะย้อนขึ้นผ่านลำดับชั้น ‘ฟอสซิลทางวัฒนธรรม’ พยายามเข้าให้ถึงต้นด้ำโคตรวงศ์ จับรหัสนัย ‘เต้า’ ที่แฝงตัวอยู่พายใต้สัญญะ ‘เตา (หม้อ) สามขา’ ที่มีขาอวบคล้าย ‘เต้านม’ ของเพศแม่ ซึ่งพัฒนาเป็นลำดับจาก ‘หินสามเส้า’ เตาไฟรุ่นต้นแบบชนิดเปิดแหกแรกดึกดำบรรพ์ เป็นเครื่องบอกเหตุ อาจถึงขั้นพัวพันร่วมสมัยกับ ‘วัฒนธรรมหลงซาน’ และ ‘วัฒนธรรมหยางเส้า’ อันเก่าแก่หลายพันปี บนฟากฝั่งตะวันออกของแผ่นดินจีน

การปั้นแต่งอเยดยุดยื้อ ‘เตา’ ให้มีขาอวบคล้าย ‘เต้านม’ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ อาจารย์ชลชี้ว่าเป็นการสะท้อนไหวสะบัดตัวของวิถีความเชื่อแห่ง ‘เพศแม่’ ที่ล้ำลึกดำดิ่งอยู่พายใน ผ่าน ‘รูปลักษณ์’ พายนอก เช่นในทางจิตวิทยา ‘เต้านมแม่’ คือสื่อความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างแม่กับลูก เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงสำคัญแรกเริ่ม ต่อความอยู่รอดของลูกอ่อนแรกเกิด ในทางปรัชญา สื่อความหมายในเชิง ‘ทดเทิด’ ต่อสถานภาพของ ‘ผู้หญิง’ ผู้ถือเป็นใหญ่ ดังสำนวนเก่าที่ว่า ‘หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว’ เป็นความมั่นคงหลักของชุมชนมาแต่ครั้งยุคโบราณ

(‘อเยดยุดยื้อ’ หมายถึง การเสกสรรปั้นแต่ง โดยคำว่า ‘อเยด’ เป็นคำของพวกไทดำ แปลว่า ทำ ตรงกับคำว่า ‘เย็ด’ และ ‘เฮ็ด’)

และในทางภาษา ได้เชื่อมถ้อยร้อยคำ ‘เตา’ เข้ากับ ‘เต้า’ ต่อเนื่องยัง ‘เส้า’ จนถึง ‘เสา’ คัดถ้อยความมาดังนี้

“ในมุมมองทางภาษาศาสตร์เชิงสังคม  เสียงของคำว่า ‘เตา’ และ ‘เต้า’              รวมทั้ง ‘เส้า’ และ ‘เสา’ ใกล้เคียงกัน สนิทสนมกลมกลืนกัน ทั้งเสียงและความหมาย  ชุดคำนี้ จึงน่าจะเป็นชุดคำที่ ‘คนไทเดิม’ และ|หรือ ‘ชุมชนที่พูดภาษาไท-กะได’ ดั้งเดิม ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นจาก ‘รากศัพท์’ ร่วมเชื้อสาย ซึ่งน่าจะเป็น ‘คำมรดก’ (ไท-กะได| ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน) ที่มีการปรับเสียง~เลื่อนเสียง~กลายเสียง~กลืนเสียง และคลุกเคล้าความหมายเชิงมโนทัศน์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แตกลูกคำต่างๆ ให้มีความหมายใกล้เคียงกัน  เพื่อสื่อความเข้าใจร่วมกันได้ภายในชุมชน 

ชุดคำลักษณะนี้มี ‘ความดั้งเดิม’ ขนานแท้ เพราะมีจุดกำเนิดของคำและ      

ความหมายที่ประกอบสร้างจาก สิ่งใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดในยุคแห่งสังคมชุมชน

แบบบรรพกาลในอันที่จะยังชีพให้รอด และดำเนินวิถีชีวิตชุมชนได้ยั่งยืน

(Survival and Sustainable) อันประกอบปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานตามแผนภูมิ

ข้างล่างนี้

คน | การสืบพันธุ์ |  vs  | ไฟ | อาหาร |   vs   |หลักแหล่ง | ที่อยู่อาศัย

            /เต้า/                               /เตา/                     /เสา/           /เส้า/

อย่างไรก็ดี แม้อาจารย์ชลจะเชื่อมโยงคำว่า ‘เตา’, ‘เต้า’, ‘เส้า’ และ ‘เสา’ เข้าไว้ด้วยกัน อย่างชนิดน่าสนใจใฝ่ค้นหา  หากในการสืบสาวกล่าวความเป็นลำดับถัดจากนี้ไป ผมจะขอจับ ‘เต้า’ เป็นปมหลักเท่านั้น

ในภาษาไท-กะได คำเรียกเต้านม (breast) ว่า ‘เต้า’ เข้าใจว่าเป็นคำที่ใช้กันเฉพาะหมู่ลาว-ไท เรียกแยกจากหน้า ‘อก’ (chest) ที่นักภาษาศาสตร์คาดว่าน่าจะเป็นคำยืมจีนโบราณ ในภาษาลาวและภาษาอีสาน 

นอกจากหมายถึงเต้านมแล้ว ยังกินความถึงลูกอย่างลูกเต้า บักน้ำเต้า และสิ่งของที่มีรูปร่างเหมือนลูกน้ำเต้า (ปรีชา พิณทอง พ.ศ.๒๕๖๑) คล้ายคลึงกับพวกไทลุ่มเจ้าพระยา เช่นคัดบางส่วนจากพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔  ความว่า

เต้า ๒

(๑)  (กลอน) น. นม เช่น แสงสอดลอดในพระไทรพราย เดือนบ่ายต้องเต้าเจ้าวันทอง (ขุนช้างขุนแผน), บัวตูมติดขั้วบังใบ บังใบท้าวไท ว่าเต้าสุดาดวงมาลย์ (อนิรุทธ์)

(๒)  (กลอน) น. นํ้าเต้า เช่น ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง (อภัย)

(๓) น. ลักษณนาม เรียกนมหรือพูลูกตาล เช่น นมเต้าหนึ่ง ตาล ๒ เต้า

(๔) น. เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะฐานนูนขึ้นอย่างเต้านม

(๕) น. เรียกภาชนะที่มีรูปคล้ายนํ้าเต้า เช่น เต้าปูน เต้านํ้า

(๖)  (ราชา) น. ภาชนะขนาดเล็กสำหรับใส่น้ำ รูปกลมมนคล้ายหม้อปากแคบ        มีฝาปิด เรียกว่า พระเต้า เช่น พระเต้าทักษิโณทก พระเต้าทรงกรวด พระเต้าเบญจครรภ

(๗)  (ราชา) น. นม, เต้านม, เรียกว่า พระเต้า.

ในความเห็นของผม แบบ ‘สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล’  ความหมายของ ‘เต้า’ ซึ่งล้นเลยไปกว่า ‘เต้านม’  ยังฐานะของพืชที่เรียกด้วยชื่อท้องถิ่นว่า ‘น้ำเต้า’ (gourd) เป็นสิ่งน่าสนใจ ชวนให้จกจ้วงล้วงความ โดยเฉพาะรูปทรง ‘โป่งป่องล่องลอย’ เป็นพืชชนิดแรกๆ ของโลกที่ผู้คนรู้จักตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ถูกนำมาใช้ประโยชน์สารพัด ตั้งแต่กินเนื้อ เปลือกแห้งแข็งและเบา ทำเป็นถ้วยใส่อาหาร หม้อเก็บน้ำ เก็บเมล็ดพันธุ์ เครื่องดนตรี จนถึงทุ่นลอยน้ำ เช่นอ้างอิงจากบทความเชิงวิชาการเรื่อง “An Asian origin for a 10,000-year-old domesticated plant in the Americas” (Erickson และคณะ ค.ศ. 2005)  ความว่า

“The bottle gourd has been grown worldwide for thousands of years, usually not as a food source, but for the value of its strong, hard-shelled, and buoyant fruits, which have long been prized as containers, musical instruments, and fishing floats (5). This lightweight “container crop” would have been of particular importance to human societies before the advent of pottery and settled village life.”

แปลความ:

ลูกน้ำเต้าถูกปลูกกระจายตัวอยู่ทั่วโลกมาแล้วหลายพันปี มักไม่นิยมนำมากิน แต่ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของเปลือกแข็งและลอยน้ำได้ ทำเป็นหม้อเก็บเข้าของ เครื่องดนตรี และทุ่นตกปลา. หม้อบรรจุน้ำหนักเบาชนิดนี้ ควรมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อชุมชนมาก่อนการเข้ามาของเครื่องปั้นดินเผา และการลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปงชุมชน.    

ในเขตทวีปเอเชีย เศษชิ้นส่วนของน้ำเต้าจากหลายๆ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ตรวจวัดอายุเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงกลางขึ้นไปถึงต้น ‘ยุคโฮโลซีน’ (Holocene epoch) เช่น

แหล่งขุดค้นในประเทศไทย ‘ถ้ำผีแมน’ ที่ประเมินอายุทางโบราณคดีไว้ในช่วง 7,000-10,000 ปีล่วงมาแล้ว หรืออายุทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 8,500-9,000 ปี (ฐานข้อมูลฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

แหล่งขุดค้นในประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมโจมอน (Jomon culture) ‘Torihama’ และ ‘San’nai Maruyama’ อายุราวช่วง 6,000-8,000 ปีก่อน (Fuller และคณะ ค.ศ. 2010)

แหล่งขุดค้นในประเทศจีน แถบปากแม่น้ำแยงซี ‘Tianluoshan’ อายุราว 6,600-6,900 ปีก่อน และแถบตอนกลางของแม่น้ำแยงซี ‘Chengtoushan’ กำหนดอายุราวช่วง 6,000-6,500 ปีก่อน (Fuller และคณะ ค.ศ. 2010)

ในทางธรณีวิทยา ‘ยุคโฮโลซีน’ ถือเป็นยุคอบอุ่น (ล่าสุด) ของโลก นับว่าเกิดขึ้นเมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคาบวงรอบสั้นๆ เกิดวนเวียนซ้ำๆ มาหลายครั้ง สลับกับห้วงเวลาน้ำแข็งอันเหน็บหนาว ยาวนานหลายหมื่นถึงกว่าแสนปี พายใต้ ‘ยุคไพลสโตซีน’ (Pleistocene epoch) ที่นับอายุถึงราว 2.5 ล้านกว่าปีที่แล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคอบอุ่นโฮโลซีน ระดับน้ำทะเลในช่วงก่อตัวสูงสุดของห้วงเวลาผืนน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เมื่อราว 20,000 ปีที่แล้ว อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันราว 120 เมตร หลังจากนั้นไม่นาน อุณหภูมิสูงขึ้น ผืนน้ำแข็งเริ่มละลายหดหาย น้ำทะเลท่วมเอ่อท้นเข้าแทนที่ และเมื่อถึงราว 15,000 ปีที่แล้ว น้ำแข็งละลายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องหลายพันปี ผลทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมทะลักขึ้นมาอีกนับร้อยเมตร จนหยุดพักการละลายตัวเมื่อย่างเข้าช่วงกลางยุคโฮโลซีน ราว 6,000 ปีที่แล้ว (Gornitz ค.ศ. 2007) 

แผ่นดินอุษาคเนย์ในห้วงเวลาน้ำแข็ง กินเขตแดนกว้างขวางเวิ้งว้างใหญ่โต ชนิดทั่วโขงเขตข้อง ‘แผ่นดินซุนด้า’ (Sundaland) ซึ่งมีขนาดพอๆ กับทวีปยุโรป ได้เชื่อมร้อยภาคพื้นทวีปกับภาคพื้นหมู่เกาะในปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด  ตอนกลางเป็นที่ราบท้องทุ่งสะวันนา (savanna corridor) ชนิดดั้งเดิม พาดผ่านจากเหนือยันใต้เส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยแม่น้ำสามสายหลัก หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลทอดยาวผ่านอ่าวไทยไปออกทะเลจีนใต้ ใกล้ๆ กับหมู่เกาะนาทูน่า ทุกวันนี้ แผ่นดินซุนด้าส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ผืนน้ำในระดับไม่กี่สิบเมตร ตั้งแต่ทะเลอ่าวไทยต่อเนื่องลงไปจนสุดทะเลชวา (Bird และคณะ ค.ศ. 2005)

เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชนิดพลิกกลับขั้วใน ‘ห้วงเปลี่ยนผ่าน’ จากหนาวเย็นแห้งแล้งกลายเป็นอบอุ่นชุ่มชื้น น้ำแข็งละลายน้ำทะเลทะลักท่วมโลก  ตลอดช่วงปลายยุคไพลสโตซีนจนถึงกลางยุคโฮโลซีน กินเวลาเกือบหนึ่งหมื่นปี คงไม่ใช่โลกที่สงบเท่าใดนัก  ดังสะท้อนจากงานวิจัยสภาพภูมิอากาศแถบอาร์กติกในช่วงต้นยุคโฮโลซีนเมื่อไม่นานนี้ว่า อุณหภูมิต้นยุคโฮโลซีนเมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว มีการแกว่งตัวสุดขั้ว  จุดที่อุ่นที่สุดเกิดเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว ด้วยอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบันถึง 7 องศา เซลเซียส เนื่องจากการแผ่รังสีและการไหลท้นของกระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกที่รุนแรง และราว 9,500 ลงมาถึง 8,000 ปีที่แล้ว อุณหภูมิได้ลดต่ำลง เนื่องจากการท่วมทะลักของมวลน้ำจืดจากการละลายของน้ำแข็ง (Bilt และคณะ ค.ศ. 2019)

พลังกดทับถาโถมบนบ่าบ่าวอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง โดยเฉพาะต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มไม่ห่างชายฝั่งทะเล ย่ำย้ำซ้ำแล้วซ้ำรุ่นให้ต้องเขยิบก้นกอย ลอยคอถอยหนีน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า คงยากที่วัฒนธรรมหรืออารยธรรมใดๆ จะก่อตัวขึ้นอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ต้องอดทนรอจนย่างเข้าสู่กลางยุคโฮโลซีน เมื่อความปั่นป่วนในห้วงเปลี่ยนผ่านมืดดำ ได้สงบราบคาบลงเกือบสิ้นแล้ว ความเป็นไทของฝูงคนทั้งหลายถึงได้โผล่พ้นผิวน้ำ

คือเหตุการณ์กล่าวขานอันลือเลื่องยาวนาน ครอบงำพร่ำบ่มจดจำฝังใจไม่รู้ลืม   จนกลายเป็นตำนาน ‘น้ำท่วมโลก’ ของผู้คนในถิ่นต่างๆ ทั่วทั้งโลก รวมถึงย่านอุษาคเนย์และจีนตอนใต้ ที่บ่าล้นไปด้วยตำนาน ‘น้ำท่วมโลก’ อย่างน่าสนใจชนิดพกพา หนีบคีบบีบติดตัว เกี่ยวพันแนบแน่นกับ ‘น้ำเต้า’ ทุ่นลอยน้ำและหม้อเก็บเมล็ดพันธุ์ ทั้งในฐานะผู้โอบอุ้มลอยล่อง รูดรอดตลอดถึงยังฝั่ง และในฐานะผู้โอบอุ้มให้กำเนิดเหล่าฝูงคน พายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก

ดังที่ ศาสตราจารย์ Dang Nghiem Van นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเวียดนาม ผู้ศึกษาตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกและต้นกำเนิดฝูงคนในอุษาคเนย์ ได้เขียนบทความเรื่อง “The Flood Myth and the Origin of Ethnic Groups in Southeast Asia” ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 กล่าวไว้ท่อนหนึ่งว่า

“The gourd was the most common vessel used for escape, and in many cases it was also the gourd that gave birth to the ethnic group.               So we much consider it not only as a means of escape but also as a supernatural element that protected couple.  

Among 236 tales collected in continental Southeast Asia, 129 tales speak of couple escaping danger by means of a gourd. If we compare these results to the 63 out of 95 tales of our first collection (Dang Nghiem Van 1972:55).

The proportion of tales attributing the escape to the gourd has decreased, since the new tales are mostly collected in the Tai Nguyen and Truong Son highlands, where the gourd is not a prominent motif. Tales relating to the gourd occupy more than half of the origin tales in northern Indochina, northeast India and southern China.

A distinct set of variants is typical of Lao and Tay-Thai groups, involving a sacred gourd that grows from the nostril of a water buffalo

(see Nguyen Tan Dac 1985).]

แปลความ:

‘น้ำเต้า’ เป็นเรือชูชีพชนิดสามัญสุดในการช่วยให้รอดชีวิต และในหลายๆ กรณี ก็เป็นผู้ให้กำเนิดฝูงคนเผ่าต่างๆ. ดังนั้น เราต้องไม่มองแค่มุมของเรือช่วยชีวิต หากขยายความถึงสิ่งเหนือธรรมชาติผู้ปกป้องคู่เชื้อชีวิต.

ในจำนวนตำนานเล่าขาน ๒๓๖เรื่อง ที่เก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ในภาคผืนทวีป อุษาคเนย์ พบว่ามีถึง ๑๒๙ เรื่อง ที่คู่บ่าวสาวใช้เรือน้ำเต้าพาหลบหนี. ถ้าเปรียบเทียบกับการเก็บข้อมูลในคราวแรก ที่พบว่ามีถึง ๖๓ เรื่อง จากทั้งหมด ๙๕ เรื่อง ใช้เรือน้ำเต้า;

จะเห็นว่ามีสัดส่วนน้อยลง, นั่นเพราะว่าเรื่องเล่าในครั้งหลัง ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจาก Tai Nguyen และ Truong Son ซึ่งเป็นเขตภูเขา ไม่นิยมแนวน้ำเต้ามากนัก. เรื่องเล่าขานที่เกี่ยวโยงกับน้ำเต้านับแล้วมีมากเกินครึ่ง ในแถบตอนเหนือของอินโดจีน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และตอนใต้ของจีน.

ส่วนเรื่องเล่าของพวกลาว-ไทต่างออกไป  เกี่ยวข้องกับน้ำเต้า ที่งอกออกมาจาก    รูดั้งควาย.

อาทิ:  

ตำนานของพวกขมุ (Khmu) โดดเด่นอยู่ในกลุ่มมอญ-เขมร เล่าว่าเมื่อฝนตกติดต่อกันจนน้ำท่วมโลก พี่บ่าวน้องสาวเข้าไปอาศัยอยู่พายในท่อนไม้ ตามคำบอกของหนูไผ่ ใช้เป็นทุ่นลอยเอาชีวิตรอดจากน้ำท่วม  เมื่อน้ำลดเหลือรอดเพียงสองคน ในที่สุดจึงได้เสียอยู่กินและมีลูกออกมาเป็นน้ำเต้า เอาไปตั้งไว้บนชั้นเหนือเตาไฟ วันหนึ่งกลับมาบ้านได้ยินเสียงฝูงคนในน้ำเต้า จึงเอาไม้แหลมรี ปรี่เข้าแทงน้ำเต้าให้แตกปริเปิดรู ผู้คนพากันกรูตามก้นล้นออกมา ไล่จากพวกขมุ ไทย ลาว ลื้อ เวียด และจีน (Dang ค.ศ. 1993)

ตำนานของพวกเย้า (Yao) หรือเมี่ยน เล่าในท่อนหนึ่งว่าเทพสายฟ้ามอบซี่ฟันให้เด็กชายผู้มีน้ำใจช่วยเหลือตัวเองขณะถูกจับ เอาไปหว่านและงอกขึ้นเป็นน้ำเต้าลูกใหญ่  จากนั้นฝนตกหนักจนน้ำท่วมใหญ่ เด็กชายพาน้องสาวและสัตว์เลี้ยงเป็นคู่ๆ เข้าไปอาศัยในน้ำเต้าต่างรวงรัง พาลอยไปขึ้นฝั่งที่ตีนเขา  คืนหนึ่งทั้งคู่นอนหลับอยู่คนละฟากน้ำ เกิดต้นไม้งอกออกจากท้องของทั้งคู่เข้าพัวพันกัน ไม่นานปีน้องสาวคลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้า เมื่อเปิดออกเห็นเมล็ดอยู่เต็มไปหมด จึงช่วยกันหว่านลงดิน ไล่ตั้งแต่ที่ลุ่มขึ้นไปยังบนเขา ที่ลุ่มหว่านเมล็ดเยอะกว่า ประชากรในที่ลุ่มจึงมากกว่าบนเขา (Dang ค.ศ. 1993)

ตำนานของพวกจ้วงแถบกวางสี มีเทพสร้างโลกสำคัญคือ แม่โล่กั๊บ (MuLuojia) ปู้โล่โถ (BuLuotuo) และ ปู้เผก (BuBo) แล้วยังมีเทพฟ้าร้องฟ้าแมลบ และพญามังกร โดยตำนานแพร่หลายตำนานหนึ่งเล่าเค้าโครงคล้ายกับของพวกเย้า และอีกตำนานเล่าแตกต่างไปบ้างว่า พี่บ่าวน้องสาวไต่บันไดขึ้นไปเจอเทพเจ้าเมืองฟ้า และได้รับเมล็ดน้ำเต้าให้ลงมาปลูก จนได้ลูกน้ำเต้ายักษ์ ไม่นานเกิดฝนแสนห่าตกหนักต่อเนื่องจนน้ำท่วมแผ่นดินทั้งหมด  สองพี่น้องเข้าไปอาศัยในน้ำเต้าล่องลอยไป  เมื่อน้ำลดเหลือรอดอยู่เพียงสองคน จึงกลายเป็นคู่ชีวิตแพร่เผ่าพันธุ์เหล่าลูกหลานในเวลาต่อมา (Ou พ.ศ. 2561)   

ตำนานของพวกลาวล้านช้าง ในพงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ ๒  กล่าวถึงการสร้างโลกของพญาแถนหลวง เริ่มแต่ส่งปู่ลางเชิง ขุนเด็ก ขุนคาน ผู้มลากมากดีลงมาปกครองและสั่งสอนผู้คนยังเมืองลุ่ม สืบลำดับบ้านเมืองเรื่อยมาจนถึงครั้งที่ผู้คนไม่เชื่อฟัง หมดสิ้นความ ‘ยำเกรง’ ต่อแถนฟ้าอีกต่อไป จึงบันดาลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เสียคราวหนึ่ง บรรดาขุนปกครองต่างแล่นพล่าน รีบพากันต่อแพพวงหนีน้ำกลับขึ้นไปเฝ้าแถนฟ้า พอน้ำลดหมดแล้วจึงขอกลับลงมาฟื้นฟูบ้านเมืองพร้อมควายตัวหนึ่ง  อยู่ไม่นานควายตายลง เกิดเครือ ‘น้ำเต้าปุง’ งอกขึ้นจากซากรูจมูกควายตัวนั้น และออกเต้ามาสามลูก พอลูกเต้าเติบใหญ่พร้อมเสียงอื้ออึงคลั่กๆ ของผู้คนอยู่พายใน จึงใช้สิ่วกับหลักแหลมเจาะรูเต้าให้แตกออก บรรดาฝูงผู้คนบ่รู้หลวกทั้งหลายก็พลั่กพากันกรูหลากหลั่งไหลออกมามากมาย      (หอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๕๗)

และตำนานของพวกไทดำ ‘ความโตเมือง’ เล่าว่าเมื่อปู่เจ้าชูโค้มฟ้าตัดสายขึงฟ้าดินให้แยกออกจากกัน พญาแถนโกรธเกรี้ยวยิ่ง สั่งดวงตาวันให้ปริแสงร้อนแรงแผดเผา จนเกิดความแห้งแล้งไปทั่วทุกหัวระแหง ปู่เจ้าชูโค้มฟ้าจึงปั้นแต่งพลีปาดปัดเซ่นสังเวย ฝนเลยตกติดต่อกันเนิ่นนานจนน้ำท่วมทั้งเมืองลุ่ม ล้างคนเก่าเหง้าเดิมหมดสิ้น แล้วพญาแถนจึงเอาฝูงคนเกล้าเหล่าพันธุ์ใหม่ รวมพันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา และหนังสือสอนสั่งหลายหลากลาย ใส่ไว้ในน้ำเต้าปุงพุ่งลงมายังเมืองลุ่ม พร้อมกับเสาด้ำค้ำผืนฟ้ายันแผ่นดิน (Chamberlain ค.ศ. 1985)     

ส่วนตำนานของพวกหมู่เกาะออสโตรเนเซียนนั้น พบเรื่องราวน้ำท่วมใหญ่ใกล้เคียงในพวกฟิลิปปินส์ บนเกาะลูซอน ถือเป็นตำนานเล่าขานกันทั่วไปของผู้คนที่นั่น ซึ่งมีผู้รอดชีวิตแค่เพียงพี่บ่าวน้องสาว และกลายเป็นคู่ผัวตัวเมียต้นวงศ์วานในท้ายที่สุด หากความแตกต่างที่อาจหล่นหายระหว่างเส้นทางคือ ไม่พบเรือน้ำเต้าช่วยชีวิตแต่อย่างใด (Parnickel ค.ศ. 2000)

ลุถึงนาทีนี้ จึงอยากขอย่ำย้ำระหว่างบรรทัดว่า ด้วยข้อสนับสนุนเชิงธรณีวิทยาควบโบราณคดี ‘น้ำท่วมโลก’ ได้ช่วยขับเน้นบทบาทของ ‘น้ำเต้า’ ให้สำคัญโดดเด่นโป่งป่องอย่างเต็มกำลัง จากทุ่นลอยน้ำและหม้อเก็บเมล็ดพันธุ์ชนิดพกพา กลายเป็นเรือช่วยชีวิตและผู้ให้กำเนิดเชื้อเผ่าพันธุ์  หากไม่มีเหตุ ‘น้ำท่วมโลก’ ผลของ ‘น้ำเต้า’ ก็อาจไม่โดนใจเท่าใดนัก  ในขณะเดียวกัน ‘น้ำเต้า’ ก็ส่องแสงกระพริบลิบๆ ย้อนกลับคืนยัง ‘น้ำท่วมโลก’ สะท้อนบ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของความจริงเบื้องหลัง ก่อนกาลปรากฏตัวของฝูงชนคนพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี

ในแวดวงลาว-ไท นักเล่าประวัติทางมานุษยวิทยาต่างยึดถือ ‘กำเนิดฝูงคน’ จากสายแนน ‘น้ำเต้าปุง’ พุงโป่งพอง เป็นแก่นกลางของเรื่องราวด้วยกันแทบทั้งสิ้น  ดังที่อาจารย์ชลได้เขียนไว้ในหนังสือ ‘ด้ำ’ แถน กำเนิดรัฐไท บทที่ ๒๖  ‘ตำนานน้ำเต้าปุง ของปู่ลางเชิง ว่าด้วยทฤษฎีกำเนิดมนุษย์’ คัดมาส่วนหนึ่งความว่า

“ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าจะเป็นนักไท-ไต-ไทยศึกษาฝั่งสยาม หรือ นักลาวศึกษาของทั้งสองฝั่งโขง ล้วนแล้วแต่มีความรู้สึกซาบซึ้งชื่นชมกับ ‘กำเนิดฝูงคนจากน้ำเต้าปุง’ ของปู่ลางเชิง 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็ได้นำเอาสารัตถะในตำนานนี้มาใช้เป็นปฐมบทของ การเปิดตัวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรอย่างเป็นทางการแต่แรกตั้ง  มีงานวิจัยและบทความวิชาการจำนวนมากวิเคราะห์และอ้างอิงถึง “ตำนานกำเนิดมนุษย์ชาวแถน” แห่งอุษาคเนย์มากมาย

วารสารวิชาการและนิตยสารหลายฉบับก็ให้ความสนใจ ‘เล่น’ กับเรื่องนี้ เช่น นิตยสารศิลปวัฒนธรรม รวมถึงนิตยสารทางอีศานฉบับหนึ่ง ก็ได้ให้ความสำคัญกับ “เทวตำนานโคตรวงศ์แถน ตอนกำเนิดฝูงคนจากน้ำเต้าปุง” นี้เป็นพิเศษถึงกับขึ้นหน้าปก…”

พลางขยับเรื่องราวสืบสาวขยายต่อท่ามกลางความลางเลือน เพื่อพยายามเอื้อมให้ถึงนามธรรมขั้นพื้นฐาน แบบนิสัยส่อสันดาน ผู้ซึมซาบแผ่อิทธิพลพ้นขอบเขตเฉพาะตัวของ ‘เต้านม’ และ ‘น้ำเต้า’ เช่นที่ได้อ้างอิงกล่าวความเป็นต้นมา พอสังเกตได้เลาๆ ว่า ‘เต้า’ ในบางทีบางอารมณ์ อาจมีแก่นใจอยู่ตรง ‘การโอบอุ้ม’ เน้นที่ ‘เชื้อเผ่าพันธุ์’        

เมื่อสอบเทียบคำเรียก ‘เต้านม’ ในภาษาตระกูลหลักๆ ของย่านนี้ ใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันออกไป เช่น คำจีนโบราณสืบสร้างไว้ว่า *[q](r)əŋ (Baxter และ Sagart ค.ศ. 2014) ใกล้เคียงกับคำม้งดั้งเดิมว่า *ntrəŋ A  (Ratliff ค.ศ. 2010), พวกออสโตรเนเซียนดั้งเดิมใช้ว่า *nunuh (Blust & Trussel ค.ศ. 2020, female breast)

ยกเว้นคำออสโตรเอเซียติกดั้งเดิมว่า *toːh ซึ่งสืบสร้างมาจากคำเรียกของกลุ่มมอญ-เขมรที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ ได้แก่ พวกกะตู, บะห์นาริก, เขมร, เปียริก, มอญ และหมู่เกาะนิโคบาร์ (Sidwell และ Rau ค.ศ. 2015)   

ในร่องเดียวกัน เมื่อสอบเทียบคำเรียก ‘น้ำเต้า’ เกือบทั้งหมดก็ใช้คำต่าง เช่น คำในกลุ่มจีน-ทิเบต เช่น คำจีนโบราณสืบสร้างไว้สองคำว่า *bˁru {*(Cə.)[b]ˁru} และ *bew {*(Cə.)[b]ew} (คำจีนยุคกลางว่า bæw และ bjiew, Baxter และ Sagart ค.ศ. 2014), โลโลดั้งเดิมว่า *(ʔə) pu² (Bradley ค.ศ. 1979), กุกิ-ชินดั้งเดิมว่า *ʔum ⪤ *ʔam (VanBik ค.ศ. 2009), คำในกลุ่มออสโตรเอเซียติก เช่น มอญดั้งเดิมว่า *lul (Diffloth ค.ศ. 1984), เวียดดั้งเดิมว่า *p-luk (Ferlus ค.ศ. 2007), คาสีดั้งเดิมว่า *klɔŋ (Sidwell ค.ศ. 2012), ปะหล่องดั้งเดิมว่า *pleeʔ lVŋ (Sidwell ค.ศ. 2010), บะห์นาริกดั้งเดิมว่า *pluːj (Sidwell ค.ศ. 2011), คำในกลุ่มออสโตรเนเซียน เช่น มาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตกดั้งเดิมว่า *labuq (bottle gourd), ฟิลิปปินส์ดั้งเดิมว่า *tabayaR, โอเชียนิกดั้งเดิมว่า *ŋapa (Blust & Trussel ค.ศ. 2020)

ยกเว้นคำของพวกม้งดั้งเดิมว่า *tuw A (Ratliff ค.ศ. 2010)

(หลายคำศัพท์ที่ใช้อ้างอิง มาจากข้อมูลที่เคยมีการรวบรวมไว้โดยคุณ Andrew C. Hsiu ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้)

จะเห็นว่าคำเรียก ‘เต้า’ ของพวกลาว-ไทนั้นมีความเสถียรสูง เมื่อเทียบกับคำของพวกอื่นๆ เพราะใช้เรียกทั้งใน ‘เต้านม’ และ ‘น้ำเต้า’ รวมถึงขยายไปยังคำเรียกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ เช่น การประชุมรวมตัว ใช้ในภาษาอีสานตอนเหนือ (ปรีชา พิณทอง พ.ศ. 2561) หรือการ (ล่อง) ไป (ลอย) มา ใช้ในกลุ่มของพวกไท เช่น ไทลุ่มเจ้าพระยาว่าไปหรือมา ไทพ่าเก่และไทเหนือว่ามาถึง (พจนานุกรมไทยฯ พ.ศ.๒๕๕๔)  ซึ่งเป็นความเสถียรในการใช้คำและความหมาย ที่เข้าใจว่าเต็มไปด้วยสำนึกสะท้อนจากประสบการณ์เก่าแก่ ที่แฝงฝังอยู่พายในก้นบึ้งของจิตใจ ที่เป็น ‘ฟอสซิลทางวัฒนธรรม’ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาแต่ครั้งกระโน้น โดยเฉพาะนามธรรมแห่ง ‘การโอบอุ้มเชื้อเผ่าพันธุ์’

ในความเห็นของผม ควรเป็นคำเก่าที่หลงเหลือสืบทอดส่งสันดานกันลงมาในพวกลาว-ไท แม้ว่าส่วนหนึ่งไปคล้ายคำเรียก ‘เต้านม’ ของออสโตรเอเซียติกสืบสร้างดั้งเดิมว่า *toːh และส่วนหนึ่งไปคล้ายคำเรียก ‘น้ำเต้า’ ของม้งดั้งเดิมว่า *tuw A รวมถึงนัยยะของการล่องไปในพวกเขมรก็ตาม (ที่ขอทิ้งไว้เป็นคำถามปลายเปิดเพื่อค้นคว้าความพัวพันกันต่อไป)

หากข้อสนับสนุนต่อ ‘เต้า’ บนนามธรรมแห่ง ‘การโอบอุ้มเชื้อเผ่าพันธุ์’ อาจฟังดูเหมือนเลื่อนลอยไม่หนักแน่นเท่าใดนัก  ถ้าจะให้ลึกถึงขั้น ‘ดั้งเดิม’ ควรต้องผ่านการสอบยันจากทางออสโตรเนเซียน ญาติพี่น้องร่วมสาแหรก ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai) ผู้อยู่บนไม้คานก้านเดียวกันให้ได้เสียก่อน ซึ่งนับเป็นความลำบากยากแค้น เพราะแม้มีตำนาน ‘น้ำท่วมโลก’ หากขาดแคลนซึ่ง ‘น้ำเต้า’ แม้แต่คำและความหมายก็ยังเรียกใช้แตกต่าง

แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อครุ่นคิดมองคำ ‘เต้า’ ผ่านตำนาน ‘น้ำเต้า’ จากมุมของ ‘ผู้โอบอุ้มลอยล่อง’ และ ‘ผู้โอบอุ้มให้กำเนิดเหล่าฝูงคน’ กลับพบร่องรอยบางประการที่พอได้คืบคลานลูบคลำ เนื่องเพราะปรากฏคำเก่าแก่ของออสโตรเนเซียนอยู่สองคำคือ *taw ล่องลอย, ทุ่น (float, buoy) และ *Cau คน บุคคล, ความเป็นผู้เป็นคน (person, human being) 

*taw ล่องลอย, ทุ่น (float, buoy):

คำว่า *taw /เตา/ ถือเป็นหนึ่งในรากคำพยางค์เดียว (monosyllabic root) อันเก่าแก่ของทางออสโตรเนเซียน ที่จำแนกแยกแยะไว้โดยศาสตราจารย์ Robest A. Blust และ R. David Zorc เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว หมายถึง ล่องลอย, ทุ่น (float, buoy) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับรากคำพยางค์เดียว *puŋ /ปุง/ กลุ่มก้อน (bunch, cluster) และล่องลอย (to float) โดยรากคำ *taw ได้แฝงฝังตัวในหมู่คำสองพยางค์หลายคำของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน เช่น

Cebuano เรียก hátaw โผล่ให้เห็นชั่ววูบ (appear for a moment on a surface), Maranao เรียก atao ล่องลอย (float, drift), ถ้าเรียก taltao จะหมายถึงทุ่นลอย (buoyant), Bare’e เรียก nanto ลอยตัว, ล่องแพ (to float, to raft), Pangasinan เรียก patáw ทุ่น, ลอยตัว (buoy; to float), Ilokano เรียก taŋgaltáw ทุ่น, ลอย (buoy, float), Cebuano เรียก utaw-útaw ลอยตัว (to float)    

คำมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตกดั้งเดิม *lantaw หรือ *le(n)taw หรือ *paletaw หรือ *Rátaw ลอยตัว (to float)

*Cau คน บุคคล, ความเป็นผู้เป็นคน (person, human being): 

คำสืบสร้างดั้งเดิม (Proto-Austronesian) ว่า *Cau /ตซาอุ/ เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายกว้างขวางในแทบทุกหมู่เหล่าของพวกออสโตรเนเซียน หมายถึง คน บุคคล, ความเป็นผู้เป็นคน (person, human being)  โดยเสียง *C- นี้ สืบสร้างโดยศาสตราจารย์ Robert A. Blust ให้เป็นเสียงกักเสียดแทรก ปุ่มเหงือก (alveolar affricate) ไม่มีในภาษาไท แยกออกจาก *t- /ต/ เสียงหยุด ปุ่มเหงือก ไม่ก้อง (unvoiced alveolar stop) ในขณะที่ศาสตราจารย์ John U. Wolff กำหนดให้มีแค่เสียง *t- /ต/ อย่างเดียวเท่านั้น และให้คำนี้เป็นรากคำพยางค์เดียวว่า *taw ผู้ชาย (man) 

พวกชนเผ่าฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน ใช้ในคำที่มีความหมายคล้ายๆ กันว่า คน บุคคล, ความเป็นผู้เป็นคน เช่น Papora เรียก sō, Pazeh เรียก saw, Thao เรียก caw, Hoanya เรียก sau, Tsou เรียก cou และ Puyuma เรียก Taw

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตก ครอบคลุมหมู่เกาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ใช้ด้วยถ้อยคำความหมายในทำนองเดียวกับพวกฟอร์โมซาน และบางพวกเพิ่มนัยยะของ ผู้ชาย, ปัจเจกชน, คนชุมชน (man, individual, people) เช่น Itbayaten เรียก tawo, Ilokano เรียก táo, Isneg เรียก táo, Pangasinan เรียก táo, Tagalog เรียก táʔo, Bikol เรียก táwo, Hanunóo เรียก táwu, Bantuqanon เรียก tawo, Aklanon เรียก táwo, Kalamian Tagbanwa เรียก tao, Hiligaynon เรียก táwu, Palawan Batak เรียก táo, Cebuano เรียก táwu, Klata เรียก ottow, Blaan (Koronadal) เรียก to, Maloh เรียก tau(tu), Tonsea เรียก tou, Dampelas เรียก too, Balaesang เรียก too, Ampibabo-Lauje เรียก too, Uma เรียก tau, Bare’e เรียก tau, Tae’ เรียก tau

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขากลาง แถบหมู่เกาะปาปัวนิวกินี และพวกโอเชียนิก ชาวเลผู้กระจัดกระจายตัวไปตามหมู่เกาะน้อยใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก จนถึงนิวซีแลนด์ และหมู่เกาะฮาวาย ส่วนใหญ่ก็เรียกใช้ด้วยรูปคำและความหมายที่ไม่แตกต่างจากพวกสาขาตะวันตก

สังเกตว่า ในเชิงรูปคำ *taw และ *Cau คล้ายกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงขึ้นต้น t-/C- เสียงสระ -a-/-a- และเสียงปิดท้าย -w/-u  ยิ่งถ้าเทียบกับคำสืบสร้างของ John U. Wolff  *taw ก็คือรูปคำเดียวกัน ในเชิงความหมาย  ถึงจะดูห่างไกลระหว่าง ‘ล่องลอย, ทุ่น’ กับ ‘คน บุคคล, ความเป็นผู้เป็นคน’  แต่ถ้าใช้นัยยะของ ‘การอุ้มชูโผล่ปรากฎตัว’ เข้าทดสอบ อาจพอเห็นการเหลื่อมซ้อนพัวพันของความหมาย

รากคำพยางค์เดียว *taw บนความหมายของการล่องลอย ทุ่นพยุงตัว ทางหนึ่งสื่อนัยยะถึง ‘เครื่องชูชีพ’ ต่างๆ เช่น เรือ แพ จนถึงน้ำเต้า ผู้ช่วยพยุงให้คนรอดชีวิตจากการจมน้ำตาย ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้เป็นอย่างดีกับนัยยะของ ‘น้ำเต้า’ ในฐานะผู้โอบอุ้มให้เชื้อชีวิตรอดจากภัยน้ำท่วม เพื่อเริ่มต้นเผ่าพันธุ์ใหม่

คำสืบสร้างดั้งเดิม *Cau บนความหมายของ คน บุคคล และความเป็นผู้เป็นคน สื่อนัยยะอย่างตรงไปตรงมาถึงสาระสำคัญของ ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่ถูกยอยกนับถือว่า ‘ฉลาดล้ำอย่างที่สุดบนผืนพิภพ’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ‘อารยะ’ สูงส่งเหนือกว่าพวกดิบเถื่อนทั้งหลาย สั่นพ้องเข้าจังหวะอย่างสนิทแนบกับนัยยะของ ‘น้ำเต้า’ ในฐานะหม้อโอบอุ้มให้กำเนิดเหล่าฝูงคนเกล้าพันธุ์ใหม่ พายหลังน้ำท่วมโลก

ถึงแม้ทางพวกหมู่เกาะออสโตรเนเซียนจะไม่มีการกล่าวถึงตำนาน ‘น้ำเต้า’ อันถือเป็นสำนึกร่วมแห่งอุษาคเนย์ถึงจีนตอนใต้  หากนัยยะที่ปรากฏอยู่ในคำดั้งเดิมทั้งสอง *taw และ *Cau ที่แทบกลืนกลายรวมเป็นหนึ่ง ก็เสมือนเห็นภาพเงาสะท้อนของตำนาน ‘น้ำเต้า’ ทาบทับอยู่ตลอดเวลา นี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเป็นแน่

และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญด้วยเช่นกัน ที่ลาว-ไทและออสโตรเนเซียนต่างกำมือยึดกุมคำ ‘เต้า’ และ *taw/*Cau ในการสื่อถึงนัยยะของ ‘น้ำเต้า’ และ ‘เงา’ ทั้งในแง่ของผู้โอบอุ้มล่องลอยและผู้โอบอุ้มให้กำเนิด หรือพูดให้ชัดลงไปก็ว่า ทั้งคู่พูดจาภาษาบ้านเดียวกัน ซึ่งเป็นเครื่องช่วยยืนยันถ่วงน้ำหนักถึงความ ‘ดั้งเดิม’ ของ ‘เต้า’ ของพวกลาว-ไท ในฐานะ ‘การโอบอุ้มเชื้อเผ่าพันธุ์’ ได้อย่างดีเยี่ยม    

(ถ้าในเชิงนี้ คำเรียก ‘น้ำเต้า’ ของม้งดั้งเดิมว่า *tuw A เมื่อประกอบเข้ากับตำนาน ก็อาจถือเป็นคำร่วมภาษากันมาแต่ครั้งปางก่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง)

ดังนั้น ‘จากทุ่นลอยน้ำและหม้อเก็บเมล็ดพันธุ์ชนิดพกพา กลายเป็นเรือช่วยชีวิตและผู้ให้กำเนิดเชื้อเผ่าพันธุ์’ ในความเห็นของผม ห้วงสำนึกของผู้คนต่อ ‘น้ำเต้า’ จึงมีความจำเพาะเป็นอย่างยิ่ง 

ถึงแม้ในตำนานจะกล่าวขานถึงเรือแพขอนไม้ลอยคอช่วยชีวิต หากการ ‘ถือกำเนิดใหม่’ หลังมหาวิบัติภัย ล้วนต้องอาศัย ‘น้ำเต้า’ ในฐานะของผู้ให้การโอบอุ้มค้ำจุนทั้งสิ้น เช่น หญิงชายคู่ต้นเหง้ารอดชีวิตเพราะน้ำเต้า  แม้คู่ที่รอดชีวิตเพราะท่อนไม้ก็คลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้าที่มีฝูงคนหรือเมล็ดพันธุ์ผู้คนอยู่พายใน  ฝูงคนใหม่ถูกใส่ไว้ในน้ำเต้าพุ่งลงมาจากเมืองบน หรือฝูงคนเกิดพายในน้ำเต้าปุงผู้ผุดโผล่ขึ้นจากรูดั้งซากควาย  เป็นเงื่อนไขเจาะจงที่มีเพียง ‘น้ำเต้า’ เท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษจากเมืองฟ้าให้อยู่เหนือผู้อื่น ชนิดพูนโพนบนนัยยะสูงสุดแห่งความเป็น ‘ผู้เชื้อ’

การใช้ว่า ‘ผู้เชื้อ’ ในง่าแง่หนึ่งก็เพื่อชี้ถึงโครงคร่าวของ ‘เต้า’ ว่าคือ ผู้โอบอุ้มให้ชีวิตของคนฝูงใหม่ได้เริ่มต้น เป็นกล้าพันธุ์ใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติของ ‘human being’ เป็นผู้เป็นคนโดยแท้จริง ฉลาดล้ำ ปัญญาเลิศ และมีอารยะ ขยับขยายถึง ‘people’ ผู้คนชุมชน แปงบ้านแปงเรือน ตั้งหลักแหล่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก่อร่างสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ พายหลังการชำระล้างให้หมดสิ้นไปของโลกใบเก่า ‘ผู้ไร้ซึ่งอารยะ’ ด้วยตำนานอภิมหากาพย์ ‘น้ำท่วมโลก’

ซึ่งโลกเก่าของ ‘ผู้ไร้ซึ่งอารยะ’ นั้น ทางหนึ่งมาจากการที่ผู้คนเมืองลุ่มต่างพากันละเลย ‘คำสอนสั่ง’ หมดสิ้นความ ‘เคารพยำเกรง’ ต่อพญาแถนเมืองบน ดังที่เล่าขานไว้ในพงศาวดารล้านช้าง คัดจากบริเฉทที่ ๒ มาท่อนหนึ่งว่า

“เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้กินเข้าให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินขึ้นก็ให้ส่งขาได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟังคามแถน แม้นใช้มาบอกสองทีสามที ก็บ่ฟังหั้นแล ๏ แต่นั่น แถนจึงให้น้ำท่วมเมืองลุ่ม ลีดเลียงท่วมเมืองเพียงละลายคนทั้งหลายก็ฉิบหายมากนักชะแล”

ดังที่อาจารย์ชลได้อธิบายไว้ในบทที่ ๒๖ เรื่องเดียวกันกับที่เคยยกอ้าง คัดมาดังนี้

“ขณะเดียวกัน ‘บทวรรณกรรม’ นี้ ก็จัดว่าเป็นต้นแบบหนึ่งของการสร้าง        ‘วาทกรรม’ ทางการเมืองที่แนบเนียน แฝงฝังไว้ด้วยปรัชญาทางการเมือง          การปกครอง ผ่านระบบความเชื่อเรื่อง ‘การถือด้ำแถน’ – การเคารพยำเยง    บรรพชนสืบต่อกัน เพื่อการจัดระเบียบทางสังคมอย่างมีจิตวิทยาเบื้องลึก    (Depth Psychology)”

การใช้ว่า ‘ผู้เชื้อ’ ในอีกง่าแง่ก็เพื่อชี้ถึงโครงคร่าวของ ‘เต้า’ ว่า ผู้ที่โอบอุ้มให้ชีวิตของคนฝูงใหม่ได้เริ่มต้นนั้นคือ ‘เพศแม่’ โดยเอกสิทธิ์ หรือ ‘ในแบบวิถีแม่เป็นใหญ่ (Matriarchy)’ ที่ไม่อาจโต้แย้งใดๆ เป็นผู้ที่กำหนดชะตาชีวิตของเชื้อไขว่า ลอยหรือจม รอดหรือล่ม เป็นหรือตาย ซึ่ง ‘เต้านม’ เป็นสิ่งแรกที่ลูกอ่อนได้อาศัยยังชีวิตหลังคลอด จึงเป็นนัยยะซ้อนทับนัยยะของการใช้คำ ‘เต้า’ ในการเรียก ‘เต้านม’ ทั้งในเชิงรูปทรงเนินนูนที่คล้ายกับลูกน้ำเต้า และในเชิงของผู้โอบอุ้มหล่อเลี้ยงชีวิต ดังที่อาจารย์ชล ได้เขียนไว้ว่า             

 “ในมุมมองทางจิตวิทยา ‘รูปลักษณ์’ ที่บ่งชี้อัตลักษณ์ของผู้หญิง คือ ‘เต้านม’   ซึ่งให้ทั้งความสุขทางเพศแก่ผู้ชาย ให้ทั้งน้ำนมแก่ลูก ยังความอยู่รอดให้กับชีวิตทารกแรกเกิดและหล่อเลี้ยงให้เติบโต นัยยะสำคัญอันลึกซึ้งเหลือคณานับเหล่านี้ รูปพรรณสัณฐานของ ‘เต้านม’ จึงเป็น ‘รูปสัญญะ’ ที่มีความหมายซับซ้อนในก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ เพราะ ‘ผู้หญิง’ มีบทบาทสำคัญ ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ทางการผลิตด้านการเกษตร และสร้างผลผลิต กำลังแรงงาน ในครอบครัวและชุมชน (Productivity and Fertility)” 

ดังนั้นคำว่า ‘เต้า’ บนนามธรรมดั้งเดิมแห่ง ‘การโอบอุ้มเชื้อเผ่าพันธุ์’ เช่น ‘ผู้เชื้อ’ จึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือ เป็นกระจกสะท้อนชั้นเยี่ยม ถึงสถานะของ ‘ผู้อเยดปั้นแต่งอารยธรรม’ ที่สำคัญที่สุดผู้หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยเฉพาะในห้วงเปลี่ยนผ่าน ‘น้ำท่วมโลก’ ที่คาบเกี่ยวตั้งแต่ปลายห้วงเวลาน้ำแข็งอันเหน็บหนาวจนถึงย่างเข้ากลางยุคอบอุ่น  เป็นผู้นำมาซึ่งวัฒนธรรมหรืออารยธรรมใหม่ สลักเสลากล่อมเกลาให้ ‘คนเป็นคน’ ขึ้นมาอย่างมี ‘อารยะ’ ในยุคก่อนกาลที่ ‘คนเป็นคน’ รู้จักนำ ‘น้ำเต้า’ มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นอารยธรรมวิถีแห่ง ‘เต้า’ เฉกเช่นอารยธรรมวิถีแห่งเครื่องปั้นดินเผา นั่นกระมัง

ในท้ายสุด หากผิดพลาดประการใด ผมต้องขออภัยเป็นอย่างสูง และขอปิดการสืบสาวกล่าวคำความหมายของ อารยวิถี ‘เต้า’ ไว้แต่เพียงเท่านี้  

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔  (ปรับปรุง ๒ กันยายน ๒๕๖๕)      

*** โปรดติดตามตอนต่อไป Dam~Tao Dialogue   โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

***

อ้างอิง:

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. ๒๕๖๑. ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม.

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.db.sac.or.th/archaeology)

ปรีชา พิณทอง. พ.ศ. 2561. ภาษาอีสาน “เต้า”. พจนานุกรมภาษาอีสาน. (www.isan108.com)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

หอพระสมุดวชิรญาณ. พ.ศ.๒๔๕๗. พงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ ๒. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณ สะพานยศเส. (www.th.wikisource.org)

OU MAN. พ.ศ. 2561. ตำนานสร้างโลกของกลุ่มชนชาติไท-จ้วง: โลกทัศน์ ความเชื่อและพิธีกรรม. ดุษฎีนิพนธ์ สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยบูรพา.

Baxter, William H. and Sagart, Laurent. 2014. Old Chinese reconstruction, version 1.1 by GSR 2014-09-20. New York: Oxford University Press. (www.ocbaxtersagart.lsait.lsa.umich.edu)

Bird, M.I., Taylor, D., Hunt, Ch. 2005. Palaeoenvironments of insular Southeast Asia during the Last Glacial Period: A savanna corridor in Sundaland?. Quaternary Science Reviews 24 (20-21): 2228-2242. (www.researchgate.net)

Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2010: revision 2020. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Chamberlain, James R. 1985 and revision 1991. The Black Tai Chronicle of Muang Mouay: Chulalongkorn University. (www.sealang.net)

Dang, Nghiem Van. 1993. The Flood Myth and the Origin of Ethnic Groups in Southeast Asia. The Journal of American Folklore Vol. 106, No. 421, pp. 304-337. American Folklore Society. (www.jstor.org)

Erickson, D.L., Smith, B.D., Clarke, A.C., Sandweiss, D.H., Tuross, N. 2005.           An Asian origin for a 10,000-year-old domesticated plant in the Americas. PNAS. (www.doi.org/10.1073/pnas)

Fuller, D.Q., Hosoya, L.A., Zheng, Y., Qin, L. 2010. A Contribution to the Prehistory of Domesticated Bottle Gourds in Asia: Rind Measurements from Jomon Japan and Neolithic Zhejiang, China. Economic Botany Vol. 64, No. 3,  pp. 260-265. (www.jstor.org)

Gornitz, Vivien. 2007. Sea Level Rise, After the Ice Melted and Today.             NASA Goddard Institute for Space Studies. (www.giss.nasa.gov)

Greenhill, S.J., Blust, R., & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.nz)

Parnickel, Boris. 2000. Taiwanese Incest Myths and Their Possible Western Malayo-Polynesian Derivates. Oriente Moderno Nuova serie, Anno 19 (80), No. 2, ALAM MELAYU IL MONDO MALESE: LINGUA, STORIA, CULTURA, pp. 287-299. Istituto per l’Oriente C. A. Nallino. (www.jstor.org)

Shorto, Harry. 2006. A Mon-Khmer Comparative Dictionary. Pacific Linguistics.

Van Der Bilt, W.G.M., D’Andrea, W.J., Werner, J.P., Bakke, J. 2019. Early Holocene Temperature Oscillations Exceed Amplitude of Observed and Projected Warming in Svalbard Lakes. Geophysical Research Letter Volume46, Issue24 28. (www.agupubs.onlinelibrary.wiley.com)

Wolff, John U. 1999. The monosyllabic roots of Proto-Austronesian.                     In Elizabeth Zeitoun and Paul Jen-kuei Li, eds. 1999. Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics: 139-194.        Taipei, Taiwan: Academia Sinica. (www.en.wiktionary.org)

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com