เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)

เงินฮ้อยตอกตราครุฑ สมัย ร. ๒ ของสยาม

อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วครับว่าหลังจาก พ.ศ.๒๒๕๐ อาณาจักรล้านช้างที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตได้แตกออกเป็น ๓ อาณาจักรคือ อาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทน์ (มีดินแดนครอบครองภาคกลางของลาว และภาคอีสานของไทยเกือบทั้งหมดยกเว้นอีสานใต้) อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง (มีดินแดนครอบครองภาคเหนือของลาวและบางส่วนของเวียดนาม) และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก (มีดินแดนครอบครองภาคใต้ของลาวและภาคอีสานใต้ของไทย) ทำให้อาณาจักรทั้งสามอ่อนแอลง ทั้งยังขัดแย้งกันเองภายในทำให้กองทัพสยามเห็นเป็นโอกาสเข้าครอบครองดินแดนแถบนี้และตกเป็นเมืองขึ้นของสยามหรือไทยใน พ.ศ.๒๓๒๒ ตรงกับสมัยธนบุรีของสยาม

ภายหลังตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามที่สยามกำหนดตลอดทั้งเกณฑ์กำลังพลมาช่วยตามที่สยามมีคำสั่งขนไป ส่วนการปกครองภายในนั้นสยามให้อิสระในการปกครองตัวเอง แต่การแต่งตั้งกษัตริย์หรือผู้ปกครองต้องได้รับการยินยอมจากสยาม ทั้งนี้สยามได้นำตัวบุคคลสำคัญตลอดจนราชบุตรและราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักร ไปเป็นตัวประกันที่กรุงเทพฯ เพื่อมิให้เกิดการแข็งเมืองในเวลาต่อมา

เรื่องของเงินตราก็เช่นเดียวกัน พบว่าเงินฮ้อยของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ที่พบในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย มีการใช้สัญลักษณ์ของสยามตอกลงบนเงินตรา ตราสัญลักษณ์ที่ใช้ส่วนมากเป็นตราประจำรัชกาลหรือราชลัญจกรของกษัตริย์สยาม คือ ตราอุณาโลมของรัชกาลที่ ๑ ตราครุฑของรัชกาลที่ ๒ ตราปราสาทของรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น

เงินฮ้อยที่ตอกตราอุณาโลมของสยามนี้ที่พบส่วนมากมีขนาดเดียวคือ ขนาดประมาณ ๖๐ กรัม หรือ ๕ บาทของล้านช้าง ตอกตราอุณาโลมไว้ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งตอกตราอักษร “ร” ของล้านช้างซึ่งอาจหมายถึงตัวย่อของ “รัตนโกสินทร์” ของสยาม ส่วนเงินพดด้วงตราอุณาโลมของสยามนั้น พบว่าก็มีหลงเหลือและมีการขุดพบที่กำแพงนครเวียงจันทน์อยู่เช่นกัน นั่นแสดงว่าในอดีตมีการนำเงินพดด้วงจากสยามมาใช้ในอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ด้วย

เงินฮ้อยอีกตราหนึ่งที่พบจำนวนค่อนข้างมากคือ เงินฮ้อยตราครุฑ สมัยรัชกาลที่ ๒ ของสยามขนาดที่พบมีทั้งขนาด ๖๐ และ ๑๒๐ กรัม หรือ ๕ บาท และ ๑๐ บาทของล้านช้าง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าความสัมพันธ์ของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และสยาม ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ ของสยามนั้น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก เนื่องจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นพระสหายสนิทกับเจ้าอนุวงศ์ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองล้านช้างเวียงจันทน์ ในขณะนั้นทั้งสองพระองค์เติบใหญ่ และเป็นเพื่อนเล่นกันในวังมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์เพราะเจ้าอนุวงศ์ถูกจับมาเป็นตัวประกันที่กรุงเทพฯ ก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าฟ้าฉิม (รัชกาลที่ ๒ ในเวลาต่อมา) มีบันทึกว่าสมัยหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ ๒ สร้างส่วนในพระราชวังแล้วเสร็จ ได้มีสาส์นไปถึงเจ้าอนุวงศ์ให้มาชมสวนและปรึกษาหารือข้อราชการ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของสยามและล้านช้างเวียงจันทน์ภายหลังเจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองเมืองเวียงจันทน์แล้วจึงค่อนข้างดีมาก

เมื่อรัชกาลที่ ๒ ของสยามสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ ของสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งมีเจ้าอนุวงศ์เป็นกษัตริย์อยู่ดังเดิมนั้น มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้งนี้มาจากช่วงสมัยรัชกาลที่๓ ทรงเร่งพัฒนาบ้านเมือง และเกณฑ์ไพร่พลชาวลาวจำนวนมากมาเป็นแรงงานขุดคลอง สร้างกำแพง ตลอดจนทำสงคราม ทำให้พลเมืองล้านช้างได้รับความลำบากอย่างหนัก อีกทั้งมีกองสักเลขของสยามไปตระเวนสักเลขคนลาว เพื่อให้เป็นคนบังคับของสยาม ทำให้ชาวลาวแถบภาคอีสานในปัจจุบันได้รับความลำบากมากจากการถูกสักเลข

เจ้าอนุวงศ์ก็ทรงตระหนักดีในเรื่องนี้และทรงไม่พอพระทัยกษัตริย์สยามเป็นทุนอยู่แล้ว จึงทรงคิดรวบรวมไพร่พลยกทัพมาตีกรุงเทพฯ เพื่อปลดแอกแยกตัวเป็นเอกราชจากสยาม แต่ทำไม่สำเร็จ ถูกกองทัพสยามตอบโต้กลับจนพ่ายแพ้ ภายหลังสยามได้เผาเมืองเวียงจันทน์จนวอดทั้งเมือง เพื่อไม่ให้คืนสภาพเป็นเมืองดังเดิมได้ใน พ.ศ.๒๓๗๑ เจ้าอนุวงศ์และเชื้อพระวงศ์สายล้านช้างเวียงจันทน์ก็ถูกกำจัดไปแทบสิ้นจากสงครามครั้งนั้น (สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้)

เงินฮ้อยที่ตอกตราปราสาท สมัยรัชกาลที่ ๓ ของสยาม นี้พบเจอได้น้อยมาก ๆ ในรูปเป็นเงินฮ้อยขนาด ๑๒๐ กรัมหรือ ๑๐ บาทของล้านช้าง ที่ตรงกลางตอกตราปราสาท ด้านข้างตอกตราครุฑสมัยรัชกาลที่ ๒ ของสยาม แสดงให้เห็นว่าเงินฮ้อยชิ้นนี้ผลิตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ โดยตอกตราครุฑไว้เพียงด่านละตรา แล้วมาตอกตราปราสาทสมัยรัชกาลที่ ๓ ในภายหลัง

การพบเจอเงินฮ้อยตราปราสาทนี้ค่อนข้างน้อย สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าความสัมพันธ์ของสยามกับล้านช้างช่วงนี้ไม่ค่อยดีมากนัก จนนำไปสู่สงครามและการทำลายล้างซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล ดังได้กล่าวมาแล้ว

ส่วนเงินตราของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางที่อยู่ทางตอนเหนือนั้น ก็ได้ผลิตเงินฮ้อยที่มีรูปร่างไม่เหมือนในอดีต เพื่อให้มีความแตกต่างจากเงินตราอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ที่มีความบาดหมางกันมาโดยตลอด เงินตราของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางเป็นเงินฮ้อย แบบมีติ่งยื่นออกจากตัวเงิน ลำตัวมีตุ่มไม่มากนัก บางชิ้นมีหลุมที่ตัวเงิน ขนาดที่พบมีเพียงขนาดเดียวคือ ๑๒๐ กรัม หรือ ๑๐ บาท

ในช่วงที่ตกเป็นประเทศราชของสยามเฉกเช่นอาณาจักรล้านช้างอื่น ๆ นั้นเงินตราที่ผลิตขึ้นก็ได้มีการนำตราสัญลักษณ์ของสยามมาตอกไว้บนตัวเงินด้วยเช่นกัน แต่ใช้ตราจักรซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรีมาตอกไว้บนตัวเงินแทนการใช้ตราราชลัญจกรของกษัตริย์สยาม ดังเช่นเงินฮ้อยของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

จากรูปจะเห็นได้ว่า ตราจักรในเงินฮ้อยของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางมีสองสมัยคือ ตราจักร ๘ กลีบและไม่มีจุดกลางกลีบเป็นจักรสมัยรัชกาลที่ ๑ ของสยาม ส่วน ตราจักร ๖ กลีบและมีจุดกลางกลีบเป็นจักรสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือ ๓ ของสยาม

เงินตราชนิดมีติ่งและตอกตราจักรนี้ น่าจะผลิตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ของสยาม ภายหลังจึงมาตอกตราจักรของสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือ ๓ ของสยามเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยและการันตีว่าเป็นเงินตราที่ทางราชการออกมาใช้จ่ายเงินตราชนิดนี้ส่วนมากจะพบแถวภาคเหนือของลาว เช่น หลวงพระบาง หลวงน้ำทา พงสาลี เป็นต้น แต่ก็พบจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากว่าอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางได้ผลิตเงินตราอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เคยผลิต (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) จึงอาจทำให้มีการผลิตเงินฮ้อยดังกล่าวในปริมาณไม่มากนัก

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของเงินตรากับสัญลักษณ์ของสยาม ที่มีอิทธิพลในดินแดนล้านช้างในฐานะเจ้าประเทศราช แม้ภายหลังจากเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางดูจะเป็นเพียงอาณาจักรเดียวในอาณาจกรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรที่ธำรงความเป็นอาณาจกรไว้ได้ ภายหลงที่กองทัพไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ยกทัพไปปราบอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก (ผู้ครองนครคคือเจ้าราชบุตรโย้ ราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์) และได้ทำลายนครเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบ ภายหลังไทยจึงเข้าไปดูแลและควบคุมเรื่องการปกครองในดินแดนที่เคยเป็นของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และของล้านช้างจำปาสักบางส่วน

แม้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางได้รับความดีความชอบในการช่วยกำราบอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์โดยสยามไม่เข้าไปยุ่งเรื่องการปกครองภายในมากนัก แต่ภายหลังสยามก็ได้เข้าไป มีบทบาทในราชสำนักหลวงพระบางมากขึ้น จนทำให้อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางหันไปพึ่งฝรั่งเศสซึ่งต่อมาฝรั่งเศสจึงได้ถือโอกาสเข้ามายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทำให้อาณาจักรของคนลาวล้านช้างทั้งสองฟากฝั่งแยกออกจากกัน ทั้งที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน

เรื่องราวเงินตราของอาณาจักรล้านช้างยังมีอีกมากครับ และอีกนานาสาระที่น่าเรียนรู้ฉบับหน้ามาฟังกันต่อครับ ฉบับนี้พอส่ำนี้ก่อนเนาะพี่น้อง สะบายดี !!!

****

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

อีบุค ที่ www.mebmarket.com

Related Posts

ห.หีบ
ปิดเล่ม ทางอีศาน 23
“อู่น้ำแอ่งอารยธรรม”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com