“การเต้นรำของพระศิวะ : มุมมองของสสารฮินดูในแสงแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่”

“การเต้นรำของพระศิวะ : มุมมองของสสารฮินดูในแสงแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่”

“…ครั้งนี้เป็นโอกาสเดียวและโอกาสสุดท้ายของเจ้าที่จะได้ประจักษ์ความจริงอันไม่คลอนแคลนเสียที เจ้าจงดูท่าอันข้าจะแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกในกาลบัดนี้ เจ้าจะได้แลเห็นการสร้างโลกและการทำลายโลกปรากฏอย่างชัดแจ้งในมหานาฏยะ คือการฟ้อนรำอันยิ่งใหญ่ของข้า แล้วเจ้าจะรู้ว่าเจ้าคือใคร ข้าคือใคร และสกลจักรวาลทั้งหมดนี้คือใคร ผู้ที่ได้เห็น ผู้ที่ได้ยิน จะเข้าถึงความจริงแห่งพระเจ้า เขาผู้นั้นจะไม่มีวันตกต่ำเสื่อมถอยสู่สภาพต่ำทรามอีกเลย เพราะเขาจะถึงความหลุดพ้นทุกข์ชั่วนิรันดร เนื่องจากเขาได้ถึงความจริงนี้แล”


ตรัสเสร็จ ฤษีหนุ่มก็แปรร่างอันตรธานไป กลายเป็นภาพองค์พระมหาเทพอันทรงศักดิ์มหิมา มีความสง่าภาคภูมิหาที่เปรียบมิได้ ทรงรูปลักษณ์อันงามเปล่งปลั่ง มีพระเมาลีมุ่นสูงเสียบไว้ด้วยพระจันทร์เสี้ยว (จันทรกลา) อันงามงอน และพราวพร่างด้วยสายแม่คงคาสวรรค์อันสดใสปานแก้ว แล่นฉวัดเฉวียนอยู่รอบพระเศียร พระเป็นเจ้าทรงยืดพระกายอันสูงใหญ่ผุดผ่องราวงาช้างประทับยืนเต็มที่ มีดวงพระเนตรแจ่มจรัสราวดวงดาวผกายพรุก


ทันใดพระศิวะเป็นเจ้าก็ทรงชูกลองทมรุ (กลองสองหน้าใบเล็ก มีที่จับอยู่กึ่งกลาง) ในพระหัตถ์ขวาขึ้นสูง แล้วนิ้วพระหัตถ์อันเรียวงามปานกลีบดอกไม้ก็สะบัดกวัดแกว่งแต่เบา ๆ ณ บัดนี้ก็เกิดสำเนียงนุ่มนวล กระหึ่มไปทั่วจักรวาล เป็นสำเนียงให้จังหวะการฟ้อนรำอันเร้นลับและศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า นทานตะ อันเป็นสัญญาณว่าพระเป็นเจ้าจะเริ่มการแสดงมหานาฏยะพิเศษสุดในกาลบัดนี้

สิ้นเสียงกลองทมรุดัง พรึม พรึม พรึม พรึม พรึม พระอิศวรเป็นเจ้าก็เริ่มยกพระกรขึ้นสู่ระดับพระอุระ กระชับปลายนิ้วทั้งสองหัตถ์เข้าหากันมั่นคง พร้อมกับแยกพระบาทออกจากกันในท่ารำแรกเริ่มว่า ตลปุษปปุฏะ (ท่าดอกไม้ตูม) จากนั้นก็ปล่อยพระกรทั้งสี่ลงสู่ระดับเข่า แบพระหัตถ์เป็นท่าที่ ๒ ซึ่งเรียกว่าท่า วรรติตะ (ท่าเปิดเผย) พอถึงท่ารำที่ ๓ คือท่า วลิโตรุกะ อันเป็นท่าย้ายต้นขาเบี่ยงจากกัน ก็ทรงเอี้ยวพระองค์นิดหนึ่ง พอจะไปสู่ท่าที่ ๔ คืออปวิทธะ อันเป็นท่า นกแก้วจิก โดยทรงยกพระหัตถ์ขวาช้อนขึ้นสู่พระถัน อีกพระกรหนึ่งทิ้งลงท้าวพระอูรุ (ต้นขา) กำลังจะเปลี่ยนแม่ท่านั้นเอง ก็มีเสียงอึงอื้อราวกับเกิดพายุใหญ่พัดผ่านมาในป่า พระเป็นเจ้าทรงหันพระพักตร์ไปดูสาเหตุ ก็ทอดพระเนตรเห็นพญายักษ์แคระชื่อมูลยกะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอสูรที่มีฤทธิ์ร้ายกาจที่สุดตนหนึ่ง กำลังควงกระบองวิ่งรุดหน้ามาอย่างเร็วราวลมพัด หน้าของมันแสยะแยกเขี้ยว ตาถลนลุกแดงราวถ่านไฟ จ้องถมึงทึงที่องค์พระเป็นเจ้าอย่างพยาบาทมาดร้าย พระศิวะก็ทรงทราบด้วยพระญาณอันลึกลับทันทีว่า มันคือสาวกของบรรดาฤษีทุศีล เมื่อมันเห็นฤษีอาจารย์ของมันเพลี่ยงพล้ำเสียท่า มันปราดเข้ามาทันทีเพื่อจะแก้แค้นแทนอาจารย์ของมัน


พอพญายักษ์แคระปรี่เข้ามาถึงองค์ในระยะกระชั้นชิด พระตรีศุลีก็ยกพระหัตถ์ซ้ายตบเปรี้ยงเข้าที่ร่างของอสูรเตี้ยเต็มที่ ทำให้ร่างของมันปลิวหวือกระเด็นไปนอนคว่ำหน้าติดดิน ลุกไม่ขึ้น พยายามยักแย่ยักยันจะลุกขึ้นมาอีก พระศิวะเป็นเจ้าก็ย่างพระบาทเข้าไปใกล้ ยกพระบาทขวาขึ้นกระทืบหลังยักษ์แคระเต็มแรงจนหลังหัก แล้วพระเป็นเจ้าก็เขย่งปลายพระบาทซอยเต้นตามจังหวะการฟ้อนรำ หันเหียนพระองค์ไปมา พระหัตถ์ทั้ง ๔ ก็ร่ายรำต่อไปตามกรณะ (ท่ารำแม่บท) ที่ ๕, ๖, ๗, ๘ เรื่อยไปจนจบกระบวนวิธีถึงท่า ๑๐๘ ในระหว่างที่ทรงฟ้อนรำไปมา เหยาะย่างอยู่บนหลังยักษ์แคระนั้น ก็ปรากฏอัคนิมาลา คือเปลวไฟรูปวงกลม ประดุจดังรัศมีส่องแสงฉายฉานพลุ่งโพลงจับท้องฟ้าและแผ่ซ่านไปทั่วจักรวาล ทรงเต้นเร็วขึ้น ๆ พระหัตถ์ทั้ง ๔ ก็เปลี่ยนแปรสลับสล้างขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างว่องไว บางคาบก็แตกแขนงออกไปเป็น ๑๐ แขน กวัดแกว่งทิพยาวุธอันมีรัศมีรุ่งโรจน์ สีเขียว แดง เหลือง พรรณรายวูบ ๆ วาบ ๆ บางครั้งพระกรก็หดลงเหลือเพียง ๒ กร แล้วก็กลับเป็น ๔ กรดังเก่า ด้วยพระพักตร์ผุดผ่องดังแขไขดวงกลางนภากาศ พระโอษฐ์ยิ้มพราย และพระเนตรหรี่จนเกือบปิดสนิทเหมือนทรงอยู่ในห้วงภวังค์อันลึกซึ้ง พระเป็นเจ้าก็แสดงให้แจ้งหมดซึ่งความลี้ลับมหัศจรรย์ของจักรวาล ของชีวิตและความเป็นไป จักรวาลนี้สร้างมาอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร คงอยู่อย่างไร และแตกทำลายไปอย่างไร ผู้ที่เห็นการฟ้อนรำ นทานตะ เท่านั้นที่เข้าใจความหมาย เขาเท่านั้นที่จะเข้าถึงความลี้ลับทั้งมวล อันแสดงออกด้วยการฟ้อนรำมหาศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะผู้เป็นเจ้า และเมื่อเขาได้เห็นแล้ว เขาก็จะยุติการพูดตลอดไป เพราะสิ่งที่เขาเห็นคือความจริงอันสุดยอด เขาไม่อาจจะบรรยายให้ใคร ๆ รู้ได้อีก เพราะมันเหนือเหตุผลใด ๆ ที่จะกล่าว ที่จะประเมินและจะคาดคะเน เขารู้ว่ามันเป็นความจริงที่สัมผัสได้ด้วยใจเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ด้วยสมอง และด้วยประการฉะนี้ เมื่อภาษาหัวใจพูดไม่ได้ ไฉนภาษาพูดใด ๆ ที่สมองสั่งจะสามารถพูดแทนได้เล่า


การฟ้อนรำอันมหัศจรรย์นี้แสดงถึงการสร้างโลก การถนอมโลก และการทำลายโลก
ผู้ฟ้อนรำคือพระเจ้า และสิ่งที่ทรงแสดงก็คือกิจของพระเจ้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่สร้างโลกขึ้นมาจนถึงการทำลายโลกในที่สุด
การกระทำนั้นแสดงออกด้วยท่าฟ้อนรำ ความลี้ลับของพระเจ้าและความลี้ลับของจักรภพก็คืออันเดียวกัน นั่นคือการฟ้อนรำนี้แล
ใครเข้าใจก็ถึงความหลุดพ้นจากสังสาระทั้งมวล
ใครไม่เข้าใจ เขาก็ได้เห็นแต่เพียงศิลปะอันงามสุดยอดเป็นขวัญตาไปชั่วชีวิตเท่านั้น
เสียงดนตรีเริ่มแผ่วเบาลงตามลำดับ กลองทมรุส่ายช้าลง ๆ จนหยุดนิ่งสนิท…


[ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, “ภารตนิยาย : นิยายโรแมนติก ๑๐๐ เรื่องจากคลังวรรณกรรมโบราณ”. สำนักพิมพ์แม่คำผาง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๖๓, หน้า ๓๕๓ ~ ๓๕๕]

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com