ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ด แจงที่มาคำขวัญจังหวัด‘สิบเอ็ดประตูเมืองงามฯ’ อ้างอิงแผนที่เข้าเมืองโบราณ มี 11 ช่องทาง
ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ด แจงที่มาคำขวัญจังหวัด ‘สิบเอ็ดประตูเมืองงามฯ’ อ้างอิงแผนที่เข้าเมืองโบราณ มี 11 ช่องทาง
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ดร.สาธิต กฤษลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จากกรณีที่เนื้อหาตอนหนึ่งในบทความเรื่อง “สุนทรภู่ ถึง ร้อยเอ็ด ของกระทรวงวัฒนธรรม” เขียนโดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการ ที่ระบุ “เมืองร้อยเอ็ดประตู” อยู่ในคัมภีร์อุรังคธาตุ หรือหนังสือตำนานพระธาตุพนม มรดกความทรงจำแห่งโลก จากการประกาศรับรองของยูเนสโก “เมืองสิบเอ็ดประตู” ไม่มีในหนังสืออุรังคธาตุ แต่ถูกบิดเบือนปลอมแปลงโดยข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีในอุรังคธาตุฉบับอื่น ซึ่งเป็นเท็จ แต่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ไม่ใส่ใจข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยไม่แก้ไขให้ตรงตามหลักฐาน แล้วอ้างว่าไม่เกี่ยวกับ วธ.กลับโยนให้ จ.ร้อยเอ็ด โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่รักษาข้อมูลเรื่องสิบเอ็ดประตูตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งคำขวัญที่ใช้ในปัจจุบันคือ “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ” นั้น ที่มาของคำขวัญอ้างอิงข้อมูลจากคำขวัญแรกเริ่มเดิมที พ.ศ.2529 ของ จ.ร้อยเอ็ด คือ “ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บุญผะเหวด”
ดร.สาธิตกล่าวอีกว่า โดยเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงคำขวัญของ จ.ร้อยเอ็ด เริ่มจากปี พ.ศ.2547-2549 สมัยที่นายนพพร จันทรถง ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้น มีดำริว่า จ.ร้อยเอ็ด ได้มีสิ่งหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในเมืองร้อยเอ็ด เช่น งานบุญผะเหวด ข้าวหอมมะลิ เจดีย์ชัยมงคลผ้าไหมสาเกต ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าฯ จึงปรึกษานายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ว่าสามารถเปลี่ยนคำขวัญเดิมที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2529 ได้หรือไม่ นายบรรจงจึงเข้าหารือพระธรรมฐิติญาณ สมณศักดิ์ขณะนั้น ปัจจุบันคือพระพรหมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง ซึ่งตอบว่าเปลี่ยนได้เลย จะได้ทันเหตุการณ์ ทันสมัย จากนั้นจึงนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำขวัญเข้าที่ประชุม โดยนายนพพรจึงได้ตั้งรองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุม โดยมีทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายวีระ วุฒิจำนงค์ นายสังคม ค้อชากุล นายจำเนียร พรรณทวี นายนักรบ มุราลี และนายบรรจง รวมทั้ง ตน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น
“ในที่ประชุม นายจำเนียรเสนอว่าน่าจะออกแบบสอบถามไปสู่พี่น้องประชาชนชาว จ.ร้อยเอ็ด และนักเรียนโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเขียนคำขวัญเข้ามาเพื่อประกวด โดยนายจำเนียรตั้งกติกาไว้ว่าให้คำขวัญเป็นลักษณะกลอนสี่สุภาพ มี 8 ประโยค และในคำขวัญต้องมีคำบังคับว่า ผ้าไหมสาเกต งานบุญผะเหวด ทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิ บึงพลาญชัย และพระเจ้าใหญ่ และต้องไม่มีคำว่า จ.ร้อยเอ็ด อยู่ในคำขวัญที่ส่งเข้าร่วมพิจารณาคัดเลือกด้วย จากนั้นทาง จ.ร้อยเอ็ดจึงได้ส่งหนังสือประกาศเรื่องดังกล่าวออกไป ต่อมามีคนส่งคำขวัญเข้ามาร่วมการคัดเลือกประมาณ 100 ราย แต่คำขวัญที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นมีประมาณ 10 ราย จากนั้นจึงได้นำคำขวัญที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น เข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา ที่ประชุมได้คัดเลือกคำขวัญให้เหลือ 3 ราย” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สาธิตกล่าวอีกว่า หลังจากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกคำขวัญที่เหลือ 3 ราย ว่าคำขวัญใดเหมาะสมที่จะให้เป็นคำขวัญ จ.ร้อยเอ็ดใหม่ที่ใช้ในปัจจุบัน นั่นคือ “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ”
“คำว่า สิบเอ็ดประตู เมืองงาม นั้น ได้มาจากแผนที่สมัยก่อน หรือแผนที่ทหาร แผนที่เข้าเมือง จ.ร้อยเอ็ด ที่มีอยู่ 11 ช่องทาง พอดี หรือที่เรียกว่า 11 หัวเมือง หลังจากที่ได้คำขวัญใหม่แล้ว ผู้ว่าฯ นพพร จึงได้นำคำขวัญดังกล่าวมาประกาศใช้ให้เป็นคำขวัญประจำ จ.ร้อยเอ็ด มาเรื่อยๆ จนถึงสมัยผู้ว่าฯ สมศักดิ์ ขำทวีพรหม มีผู้ที่เกิดข้อกังขาถึงคำขวัญที่ใช้อยู่ โดยต้องการให้จัดการชำระล้างคำขวัญดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเกี่ยวกับค้นคว้าทางใบลาน นายสุวัฒน์ ลีขจร และคณะ และฝ่ายจดหมายเหตุและประวัติศาสตร์ นายสังคม ค้อชากุล นายจำเนียร พรรณทวี และผม เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จ.ร้อยเอ็ด จึงได้ส่งข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) พิจารณาข้อมูลความถูกต้อง โดยอาจารย์ มมส สรุปในที่ประชุมว่าทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครถูก และไม่มีใครผิด เพราะคำขวัญก็พิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบุคคลที่อยู่ในสมัยก่อน ผู้ว่าฯ สมศักดิ์ จึงบอกทั้ง 2 ฝ่าย ให้ใช้ได้ทั้ง 2 แนวทาง ทั้งนี้ ยืนยันว่า จ.ร้อยเอ็ด ไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งนายสุวัฒน์ก็อยู่ในที่ประชุมที่ผู้ว่าฯ สมศักดิ์ ประกาศเรื่องการใช้ทั้ง 2 แนวทางด้วย” ดร.สาธิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ออกเอกสารชี้แจงที่มา และความหมายของเมืองร้อยเอ็ดนี้ โดย นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่องเมืองร้อยเอ็ด (ประตู) หรือทวารวดี แปลภาษาแขก เป็นภาษาลาว ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2537 หน้า 168-171ไว้ดังนี้ “เมืองร้อยเอ็ด” หนึ่งในเมืองโบราณของไทยที่มีอายุราว 1,000 ปีมาแล้ว จากข้อความในเอกสารโบราณระบุว่าเมืองนี้มีชื่อเต็มว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู” หมายถึง เมืองที่มีประตูถึง 101 ประตู ความหมายที่เกินจริงนี้ นำมาสู่ข้อสงสัยของนักวิชาการรุ่นหลัง และแย้งว่าเมืองร้อยเอ็ดอาจไม่ได้หมายถึงเมืองที่มี 101 ประตู เพราะหากพิจารณาตามหลักอักขรวิธีโบราณ การเขียนเลข 101 ต้องอ่านว่า สิบ-เอ็ด (10-1) ดังนั้น เมืองนี้จึงควรชื่อ “สิบเอ็ดประตู” แต่คนสมัยต่อมาไม่เข้าใจหลักการอ่านแบบโบราณ จึงเรียกเพี้ยนเป็นร้อยเอ็ดประตู
“อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยพบข้อมูลว่ามีการนับจำนวนประตูของเมืองร้อยเอ็ดว่ามี 11 หรือ 101 ประตู และเมื่อตรวจสอบเอกสารโบราณพบว่า เมื่อกล่าวถึงเมืองร้อยเอ็ด จะเขียนว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู ทั้งสิ้น ไม่เคยเขียนว่า 101 ประตู ดังนั้น ชื่อร้อยเอ็ดประตูจึงเป็นชื่อที่ถูกต้องแต่แรกอยู่แล้ว” บทความระบุ
บทความดังกล่าวระบุอีกว่า เมืองร้อยเอ็ดประตู สื่อถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่แผ่ขยายอำนาจไปยังเมืองบริวาร หรือเข้ามาสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่ศูนย์กลางจากบริวารที่อยู่โดยรอบทั้ง “ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ” นอกจากนี้ ยังมีชื่อเมืองอีกเมืองหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกันคือ “ทวารวดี” ซึ่งปรากฏตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 และใช้สืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา ดังปรากฏในนาม “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ทวารวดีแปลตามรูปศัพท์ว่า “เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง” เท่ากับว่าเมืองนี้มีประตูนับพันล้อมรอบเมือง ซึ่งเป็นคำกล่าวเกินจริง แต่หากพิจารณาเทียบกับเมืองร้อยเอ็ดประตู จะให้ความหมายเช่นเดียวกัน คือเป็นเมืองศูนย์กลางครอบคลุมออกไปโดยทั่วทิศทาง
บทความระบุต่อว่า ในตำนานอุรังคธาตุ ที่เรียบเรียงใน พ.ศ.2081 มักกล่าวถึงเมืองร้อยเอ็ดประตูคู่กับกรุงศรีอยุธยาโดยตลอด สันนิษฐานว่าพระยาศรีไชยชมพูผู้เรียบเรียง อาจจะคุ้นเคยกับชื่อกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา จึงได้นำคำว่าทวารวดีมาดัดแปลงเป็นภาษาพื้นเมืองว่าร้อยเอ็ดประตู การแปลชื่อแขก (บาลี-สันสกฤต) เป็นชื่อพื้นเมืองปรากฏทั่วไปในเอกสารโบราณ ซึ่งชื่อเมืองทวารวดีกับเมืองร้อยเอ็ดประตู มีความหมายเดียวกัน คือแสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางจักรวาลอยู่ที่นี่ และมีความหมายบางส่วนคล้ายกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่โรม”
ขอขอบคุณภาพและข่าวจากมติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4051831