ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนาเขียนขึ้นในโอกาสรับรางวัล “จิตร ภูมิศักดิ์”“วัน จิต(ร)เสรี” ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๗ พิจารณารางวัลและจัดพิธีมอบ ณ ลานจักรพงษ์โดย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิ จิตร ภูมิศักดิ์
วันที่ ๒๕ กันยายน “๙๔ ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์” เวียนมาบรรจบครบรอบในปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ความสำคัญของ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่เดิมอาจจะรู้กันในวงจำกัด แต่ตลอดระยะ ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ผลสะเทือนจากการรับรู้ประวัติชีวิตและผลงานอันมีค่าของเขา ได้กลายเป็น ‘วงวัตร’ ของ “ความรู้ ความจริง และความงาม” ที่เป็นระลอกคลื่นอันทรงพลัง แผ่กระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางหลายชั้นหลายระดับ มีคนรุ่นใหม่มาเข้าร่วมสมทบมากขึ้นในแต่ละปี ยากที่จะคำนวณเชิงสถิติได้
หากตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลสารสนเทศหลายแพลตฟอร์ม ตามมาด้วยสมองกลอัจฉริยะ AI หลายสำนัก เท่าที่ได้ลองสุ่มสอบถามดู สามารถให้คำตอบได้หลายถ้อยกระทงความเกี่ยวกับ “ชีวิตและงานของ จิตร ภูมิศักดิ์” จนกระทั่งเรื่องราวชีวิตความเป็นมาของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่อาจเป็นเรื่องลึกลับ, ต้อง “ปกปิด”, กล่าวถึงไม่ได้, หรือแม้หากว่ามีใครไม่อยากให้กล่าวถึง ก็ไม่อาจปิดกั้นมิให้ได้ข้อมูล หรือปิดปากกันได้สนิทเช่นแต่ก่อนกาล ที่เคยเป็นมาใน “รั้วเทวาลัย” คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานศึกษาเก่าแก่ซึ่งมีสถาปัตยกรรมอาคารสลักเสลาสง่างามด้วยช่องประตูโอ่โถงซุกซ่อน “ความลับ” ประเภท “ปกปิด” (ปาก) ไว้เหลือคณานับ มีทั้ง “ความลับ” ชั้นบนสุดในเชิงโครงสร้างสถาบัน และ “ขบวนการปิดลับ” ภายในซอกหลืบบานหับประตู ในเครือข่ายกิจกรรมนิสิตทุกยุคสมัยย้อนหลังกลับไปได้กว่า ๗๐ ปี
มาถึงทุกวันนี้ “ความลับ” หลายเรื่องได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว และมีอยู่มากจนตามอ่านตามฟังกันไม่หวาดไม่ไหวในสื่อสังคมสำนักต่างๆ ข้ามชาติข้ามทวีป แม้อยู่ไกลกันคนละซีกโลกสุดหล้าฟ้าเขียว ก็สามารถสืบค้นหาอ่านหาฟังกันได้ โดยเฉพาะกรณี จิตร ภูมิศักดิ์ ถูก “โยนบก” โดยเพื่อนนิสิตต่างคณะ แต่กลับถูกพิจารณาภาคทัณฑ์ ตัดสินลงโทษให้พักการเรียนถึงหนึ่งปีการศึกษากับอีกหลายเศษเดือนเศษวัน โดยกระบวนการจัดการภายใต้โครงสร้างอำนาจในนาม “คณะกรรมการ” ประกอบด้วยอาจารย์คณะอักษรศาสตร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ชราภาพและล่วงลับไปแล้ว การกล่าวขานเลื่องลือถึงวีรภาพอันสง่างามของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ภายในรั้วสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินาม “จุฬาลงกรณ์” จัดโดยสภานิสิตจุฬาฯ ก็ดี และสโมสรนิสิตคณะใดก็ดี หรือแม้แต่การเขียนการพูดการกล่าวขวัญถึงโดยนิสิตคนใดคณะใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นผลจากการเรียนรู้ สิ่งที่เป็น “ความรู้ ความจริง และความงาม” โดยแท้จริง แล้วนำเอาความตระหนักรู้ดังกล่าวสื่อต่อสังคม เพื่อร่วมแก้ปัญหามายาคติของความหวาดกลัว (ภยาคติ) ว่ายังมี ‘ภัยมืดเชิงโครงสร้าง’ มากำกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้จมอยู่ในวังวนแห่งความหวาดกลัว ทั้งๆ ที่โลกภายนอกทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรม นวัตกรรมการเกษตร และการพัฒนาข้ามขั้นอย่างก้าวกระโดดด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์สารสนเทศ ระบบการสื่อสารไร้สาย และสมองกลอัจฉริยภาพที่มีทักษะด้านต่างๆ ใกล้เคียงสมองและแรงงานมนุษย์ กระทั่งใช้เหตุผลขบคิดชั่งตรองได้เหนือมนุษย์ในบางกรณีจิตร ภูมิศักดิ์ ต้องละจากโลกไปอย่างกะทันหันด้วยกระสุนปืนที่จงใจเด็ดชีวิตของเขา ณ หมู่บ้านชายป่าแห่งหนึ่ง มีหลักฐานข้อมูลชี้ชัดว่า จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงเสียชีวิตในชายป่า ที่บ้านหนองกุง อําเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครแต่จิตรจากโลกไปแต่เพียงกายรูปเท่านั้น
ผลงานวิชาการอันลุ่มลึกและงานสร้างสรรค์อันทรงพลัง ‘เพื่อชีวิต เพื่อประชาชน เพื่อมนุษยชาติ’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงอยู่ยั้งยืนยงคงคู่นามอันไม่อาจมีวันลบเลือนได้ ในบรรดา “องค์ความรู้ร่วมสมัย” ที่ได้กลายเป็น “Digital footprint in Cloud” ของ คนชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” มีอาทิเช่น“จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิด นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ คนสำคัญคนหนึ่งของไทย เขาเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2473 เป็นลูกของ นายศิริ ภูมิศักดิ์ เสมียนสรรพสามิต กับ นางแสงเงิน ฉายาวงศ์ ภายหลังทั้งคู่ได้แยกทางกัน จิตร ภูมิศักดิ์ จึงเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่” ยากที่จะสืบสาวว่า แม่คนที่ชื่อว่า “นางแสงเงิน” ซึ่งมีชีวิตที่แร้นแค้น ในสถานภาพ “Single mom” เป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ต้องเลี้ยงลูกมาอย่าง “ปากกัดตีนถีบ” ให้เติบโตมาจนได้ดีทางวิชาการเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เป็นภาวะยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทยในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
“แม่แสงเงิน” ไม่ใช่เลี้ยงจิตรคนเดียว จิตรยังมีพี่สาวร่วมแม่ คือ “พี่ภิรมย์ ภูมิศักดิ์” พี่น้องทั้งสองคนถึงจะเติบโตร่วมกันมาในสภาพยากจน แต่เรียนได้ดีมาก สอบเข้าศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทั้งสองคน ตามประวัติ พี่ภิรมย์กรุยทางนำหน้ามาก่อน เข้าเรียนเป็นนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ที่ตั้งอยู่ข้างๆ จุฬาฯ นั้นเอง ก่อนที่จะสามารถสอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้วิชัย นภารัศมี นามปากกา “เมือง บ่อยาง”เป็นศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ รุ่นหลัง “จิตร ภูมิศักดิ์” ร่วม ๒๐ ปี นับเป็นนิสิตที่ได้รับผลสะเทือนทางความคิดจากการ “สืบสาวประวัติ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้มาก่อนกาล” มากที่สุดคนหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าในขณะนี้ เขาอาจเป็นผู้ที่มี “งานต้นฉบับลายมือเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์” สะสมไว้จำนวนมากที่สุด แต่สังคมวิชาการอักษรศาสตร์โดยเฉพาะในเทวาลัย แม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือแม้จะ ‘รู้ค่าควรเมือง’ ของนิสิตเก่าอักษรศาสตร์นาม “จิตร ภูมิศักดิ์ ~ เขาคือนักคิดนักเขียน ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน” แต่ก็ไม่ใคร่กล้าขานรับเต็มปากเต็มคำ คงจะคิดกันเอาเองว่า “ยังขานรับแซ่ซ้องไม่ได้”…หรือไม่ก็ “ยังไม่ถึงเวลา” ทั้งๆ ที่การเผยความลับเรื่องเกี่ยวกับ “จิตร ภูมิศักดิ์” ภายในรั้วเทวาลัย ได้ผันผ่านมาแล้วถึงกว่า ๕๐ ปี และ “พิพิธภัณฑ์ จิตร ภูมิศักดิ์” ควรมีการจัดตั้งอย่างสมเกียรติ ณ เทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างปีพ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๙ ชลธิรา (กลัดอยู่) สัตยาวัฒนา ขณะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ริเริ่มสืบค้นหาประวัติชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตเก่ารุ่นพี่หลายรุ่น จาก “ชิ้นส่วนชีวิต” ที่เหมือนเศษเครื่องถ้วยลายครามที่แตกกระจัดกระจาย
โดยเริ่มจากสืบค้นเอกสารสิ่งพิมพ์หายากในช่วงที่จิตรเริ่มเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวซึ่ง “ไม่อาจสืบค้นได้” ภายในอาคารเทวาลัยอันขรึมขลังเก่าแก่ เพราะไม่มีอาจารย์ท่านใดหรือแม้แต่นักการภารโรงแม่บ้านคนใดกล้าปริปากพูดถึง “จิตร ภูมิศักดิ์” ทั้งๆ ที่เมื่อสืบสาวไปแล้วก็พบว่ามีบางท่านเคยเรียนร่วมชั้นเรียนหรือบ้างก็เรียนร่วมรุ่นกันมาในอาคารเทวาลัยแห่งนี้ จุดเริ่มต้นของความสนใจ “จิตร ภูมิศักดิ์” ของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา (กลัดอยู่) แต่แรกเริ่มเดิมที มิได้เริ่มต้นจากความตื่นตัวทางการเมือง หากเป็นความสนใจทางวิชาการ โดยเฉพาะด้านวรรณคดีศึกษาและวรรณคดีวิจารณ์ ทั้งในเชิงศาสตร์และศิลป์ เนื่องจากเลือกทำวิจัยเพื่อเสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาภาษาไทย ด้านวรรณคดี ที่เน้น “การวิจารณ์วรรณกรรมแผนใหม่” (New Criticism) ในกระบวนการสืบค้นองค์ความรู้และทบทวนวรรณกรรม ชลธิราต้องอ่านหนังสือด้านวรรณคดีวิจารณ์สำนักคิดต่างๆ ของทางวงวิชาการตะวันตกเป็นจำนวนมาก เพื่อสกัดมาทดลองใช้กับการวิจารณ์วรรณคดีไทย แม้ว่าในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การนำวรรณคดีวิจารณ์แผนใหม่แบบตะวันตกมาใช้กับวรรณคดีไทย” (ชลธิรา กลัดอยู่ ๒๕๑๓) จะยังไม่ได้เน้นแนววิจารณ์แบบมาร์กซิสม์ แต่ก็มีการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ ที่จุดประเด็นความสนใจส่วนตัว เพื่อที่จะศึกษาและฝึกเขียนบทวิจารณ์แนวมาร์กซิสต์ในระยะต่อไป ผลจากการนี้จึงนำไปสู่การสืบค้นอย่างจริงจังเพื่อสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ว่า สำหรับในเมืองไทยนั้น ความคิดลัทธิมาร์กซ์เข้ามาเมื่อไร ในวงวิชาการไทยใครใช้ลัทธิมาร์กซ บ้าง และใช้อย่างไร ในสาขาใด จากการอ่านเอกสารอย่างกว้างขวางทำให้พบชื่อนักคิดนักเขียนที่ใช้ทฤษฎีลัทธิมารกซ์ในวงการหนังสือจำนวนหนึ่ง นำโดย สุภา ศิริมานนท์ ผู้มีส่วนสำคัญยวดยิ่งในการวางพื้นฐานความเข้าใจเรื่องมาร์กซิสม์ในวงวิชาการไทยอย่างเป็นระบบ
ส่วนในด้านการประยุกต์สู่งานศิลปะ วรรณกรรม และวรรณคดีวิจารณ์ ก็พบว่ามี “นายผี” หรือ อัศนี พลจันทร (นามจริง) เป็นผู้นำร่องเพื่อนนักคิดนักเขียนในรุ่นของท่านอย่างเอาจริงเอาจัง ตามมาด้วยคนรุ่นหลังเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ (นามจริง) ที่ได้ศึกษาผลงานของผู้บุกเบิกนำร่องอย่างสนใจ เอาการเอางาน และก้าวตามผู้นำพาปูอิฐก้อนแรกๆ ที่แม้จะขรุขระ ด้วยความเคารพ “ผู้มาก่อน” และมุมานะศึกษา ฝึกปรือตน จนสามารถนำพาให้ผู้คนคิดเห็น คล้อยตาม และร่วมเดินทางสู่เส้นทางสายใหม่เพื่อยกระดับสังคมไทยที่ยังติดหล่มจมปลักอยู่ในกับดักเชิงโครงสร้างอำนาจนิยมศักดินาสวามิภักดิ์จากการสืบค้นเอกสารหายากจำนวนมากและอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง พบว่ามี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นรุ่นพี่ เคยเรียนอยู่ที่คณะเดียวกัน คือที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำงานวิชาการไว้มากมาย โดยเฉพาะด้านศิลปะวิจารณ์และวรรณคดีวิจารณ์ เช่นในหนังสือรวมเล่ม ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ในนามปากกา “ทีปกร” (แปลว่า ผู้ถือดวงประทีป, ผู้ให้แสงสว่าง) แต่นักเขียนรุ่นพี่คนนี้เคยถูก “โยนบก”, พักการเรียน, ติดคุกติดตะราง, แล้วก็หายตัว “เข้าป่า” ไป เป็น ‘ชีวิตที่ลึกลับ’ อันน่ารันทดของรุ่นพี่อักษรศาสตร์คนหนึ่ง ที่เก่งกาจสามารถกว่าอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์อีกหลายๆ ท่าน จึงเกิดมีความสนใจและแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะติดตามแกะรอย จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเอาจริงเอาจัง จึงได้หาหนทางไปสัมภาษณ์บุคคลนอกรั้วเทวาลัย รายต่อราย อย่างไม่ลดละ โดยเริ่มต้นจาก “สุภา ศิริมานนท์” นักลัทธิมาร์กซชาวไทยชื่อเสียงโด่งดังที่ตนพบจากการอ่านเอกสารหายาก เป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่ชลธิราเคยรู้จักมักคุ้นกับคุณสุภา ศิริมานนท์ ตั้งแต่ยังเรียนอนุบาล เนื่องจากเป็นเพื่อนกับ “ป้อม” ~ พิมพ์สุดา ศิริมานนท์ (ลูกสาวคนเดียวของ สุภา – จินดา ศิริมานนท์) ที่ “โรงเรียนอนุบาลสุวรรณวิทย์”
โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาภาษาไทย ด้านวรรณคดี เน้น “วรรณคดีวิจารณ์” โดยตรงนั้น ชลธิราไม่เคยสนใจหรือรับรู้มาก่อนเลยว่า ผู้ที่ชลธิราเรียกขานมาแต่วัยเด็กว่า “แด๊ดดี้” (และเรียกแม่ของเพื่อน คือ คุณจินดา ศิริมานนท์ ว่า “หมั่มมี้”) เป็นบุคคลสำคัญเช่นไรในแง่ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย, ประวัติการหนังสือพิมพ์, การนำเข้าลัทธิมาร์กซ และอิทธิพลของท่านที่มีต่อกวี นักคิดนักเขียน ศิลปิน และวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ทั้งสองครอบครัวสนิทสนมกันมาก สำหรับแด๊ดดี้และหมั่มมี้แล้ว ชลธิรา คือ “ดวงดาว” เป็นชื่อที่ทั้งสองท่านคิดตั้งให้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยท่านไม่เคยเรียกขานชลธิราด้วยชื่ออื่นใดเลย นอกจาก “ดวงดาว”ภูมิหลังของ “ดวงดาว” อันมีความหมายพิเศษเฉพาะเช่นนี้ “ดวงดาว” จึงมีสิทธิพิเศษที่จะขอนัดพบ “แด๊ดดี้” สุภา ศิริมานนท์ ได้ทุกเมื่อ ที่ “ดวงดาว” ต้องการ เช่นเมื่อว่างเว้นจากงานสอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือในยามเย็นก่อนเดินทางกลับบ้าน “ดวงดาว” ก็จะขึ้นรถเมล์จากจุฬาฯ ไปแวะเยี่ยมคุยกับ “แด๊ดดี้” ที่ทำงานแถวถนนสาธร เฝ้าซักถามทุกเรื่องที่สงสัยเกี่ยวกับ “ชีวิตลึกลับ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เนื่องจาก “อาจารย์ชลธิรา” ไม่อาจเสาะหาสืบค้นหรือได้คำตอบใดๆ จากคณาจารย์อาวุโสในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือแม้แต่จากนักการภารโรงวัยอาวุโสที่ทำการมาตั้งแต่ก่อน จิตร ภูมิศักดิ์ เข้ามาใช้ชีวิตใน “เทวาลัย”
เมื่อเสร็จจากการสัมภาษณ์คุณสุภา จนได้เรื่องได้ราวเกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ไประดับหนึ่งแล้ว เรื่องที่ยังค้างคาใจ หรืออดีตอันลึกลับที่ “แด๊ดดี้” ไม่อาจรู้ได้ หรือพอรู้แต่ตอบไม่ได้กระจ่าง “แด๊ดดี้” ก็จะเขียนจดหมาย แนะนำ “ดวงดาว” ให้ไปพบกับบุคคลที่ “แด๊ดดี้” ไว้วางใจและมั่นใจว่าสามารถบอกเล่า เรื่องราว ฟื้นความจำ อย่างเคารพอดีต และให้ข้อมูลที่ตรวจสอบย้อนทวนกันได้ ต่อกันไปเป็นทอดๆ จนในที่สุด “ดวงดาว” ก็สามารถประมวล “ภาพร่าง” ที่ลึกลับของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สำเร็จ จากนั้นจึงได้ยกร่างต้นฉบับ เขียนและเรียบเรียง โดยผ่านการอ่านอย่างมืออาชีพของ “แด๊ดดี้” และรับรองโดยผู้บอกข้อมูลที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อจริง บางท่านมิให้แพร่งพรายเลยว่าได้รับรู้เรื่องราวที่ถูกกดทับไว้ยาวนานมาจากใคร การเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในขณะนั้น มีช่องทางเผยแพร่ คือ วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์ ที่อาจารย์ชลธิรามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการก่อตั้งและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในกองบรรณาธิการวารสาร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นลูกศิษย์ชั้นเรียนต่างๆ ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ “ชลธิรา” เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ภาควิชาภาษาไทยนั้นเองจากการนี้ ชลธิราจึงมีโอกาสรื้อฟื้นเรื่องราว สร้างความกระจ่างและให้ความเป็นธรรมกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในอีกช่วงหนึ่งของชีวิตหลังจากถูก “โยนบก” และ “พักการเรียน” แล้ว เป็นช่วงเวลาที่เมื่อจิตรเร่งเรียนให้จบจนสอบได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว และเริ่มทำงานเป็นอาจารย์พร้อมกันไปกับเรียนต่อระดับปริญญาโท แต่ทว่าภัยคุกคามจิตรก็ยังไม่จบไม่สิ้น จิตรต้องเผชิญปัญหาใกล้เคียงกันในสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่ง เมื่อจำเป็นต้องระบุชื่อสถาบันการศึกษานั้นเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล โดยมีฉากเหตุการณ์และสถานที่จริงรองรับ ชลธิราจึงต้องคิดค้นหากลวิธีการนำเสนอโดยการดำเนินเรื่องแบบ “เล่าเรื่อง จิตร ภูมิศักดิ์” ผ่านปากของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งได้มาจากปากคำของอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรบางท่านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของ “อาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์” โดยใช้นามแฝง สมมติตัวเองว่าชื่อ “สิริอุสา พลจันท์” อาจารย์ผู้นี้ มีตัวตนจริง ให้สัมภาษณ์ชลธิราที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ราวปลายปี พศ.๒๕๑๘ ว่าได้มีโอกาสรู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะเป็น “ศิษย์”
เมื่อครั้งจิตรไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษให้นักศึกษาคณะจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งเธอกำลังศึกษาอยู่ ในเวลานั้นนักศึกษาศิลปากรส่วนใหญ่อ่อนทางด้านภาษาอังกฤษ ผู้บริหารจึงหา “ครู” ที่เก่งด้านนี้มาช่วยสอน อาจารย์จิตรสอนไปได้พักหนึ่งจน “ได้ใจนักศึกษา” ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่เกิดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือมีอาจารย์บางท่านและนักศึกษาบางพวกบางกลุ่ม รับไม่ได้กับเนื้อหาในหนังสือประจำปีของศิลปากร ทึ่จิตรเขียนและมีส่วนร่วมจัดทำกับศิษย์นักกิจกรรมที่นี่ ปรากฏว่าหนังสือถูกเก็บ ห้ามเผยแพร่ แม้แต่ ‘ภาพปั้นแมกซิม กอร์กี้’ ก็ถูกทำลาย เพราะไปเข้าใจว่าเป็น ‘ภาพปั้นสตาลิน’ (นักศึกษาคนนี้ ต่อมาก็ได้ยกระดับพัฒนาภูมิปัญญาและจิตวิญญาณสูงขึ้น ต่อมาได้เป็นกวีมีขื่อเสียงโด่งดัง แต่ในช่วงที่เป็นนักศึกษานั้น มีความคิดแนวอนุรักษ์นิยมและจารีตนิยม ยังรับไม่ได้กับทัศนะที่ฉีกกรอบแหวกแนวออกไปจากแบบแผนที่คุ้นเคยกันมาแต่เดิม)ในภาพรวม
ผลการสืบค้นจากเอกสารหายากบางฉบับ พบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้ชีวิตบัณฑิตศึกษา (Graduate Studies) อย่างเอาจริงเอาจัง และคงเตรียมบ่มเพาะตนเองไปศึกษาต่อขั้นปริญญาเอกในต่างประเทศ เพราะมีทั้งโอกาสและช่องทางที่จะเป็นไปได้ด้วยเหตุเป็นมาเช่นว่า ชื่อ ‘สิริอุสา พลจันท์’ จึงสวมบทบาท “ผู้หญิง ผู้รู้ ผู้กล้า ผู้รักสัจธรรม” มากเพียงพอ ที่จะหาญเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในรั้วมหาวิทยาลัยเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งให้ชนรุ่นหลังได้รับทราบ ผลงานวิจัยเนียนๆ ของ ‘สิริอุสา พลจันท์’ ได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์ในวารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์ ในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ โดยกองบรรณาธิการ (นิสิตอักษรศาสตร์) ที่เข้มแข็งและกล้าหาญทางจริยธรรม มี ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เป็นบรรณาธิการ เข้าใจว่า วิชัย นภารัศมี ก็ร่วมส่วนอย่างมีนัยยะสำคัญในกองบรรณาธิการชุดนี้ * สิริอุสา พลจันท์. “อาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ กับ ชาวศิลปากร”, ใน วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑-๑๒, เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๑๙ (พิมพ์ครั้งแรก); ในหนังสือ ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียน ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ปุยฝ้าย, พฤษภาคม ๒๕๒๓, น.๒๙-๖๑.(พิมพ์ครั้งที่สอง)แม้ว่า “อักษรศาสตร์พิจารณ์” ที่ออกมาในระยะต้น จะยังไม่โดดเด่นเข้มข้นทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ (ด้วยขีดจำกัดแห่งพื้นที่ทางโครงสร้างวัฒนธรรมทรงอำนาจ) เท่า
“วารสารอักษรสาส์น” ที่ สุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ ในช่วง จิตร ภูมิศักดิ์ ถูก “โยนบก” แต่ก็จัดว่าเป็นวารสารก้าวหน้าล้ำยุคที่สุดฉบับหนึ่งในเวลานั้น ที่จัดทำโดยนิสิตอักษรศาสตร์ ถือกำเนิดมาในรอยต่อแห่งยุคสมัยที่ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” เริ่มทอแสง และ”ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” เริ่มเบ่งบาน ต่อจากนั้น “หนังสือปกแดง ๆ” หลายเล่มหลากสำนวนจากสำนักพิมพ์ชื่อต่างๆ ก็เริ่มเลื่อนไหลออกจากแท่นพิมพ์ หลากท่วมแผงหนังสือหน้ามหาวิทยาลัยต่างๆ หนึ่งในแผงหนังสือปกแดงที่ถือว่าส่งผลสะเทือนในวงกว้าง คือ หนังสือรวมบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ในชื่อว่า กวีการเมือง มีอิทธิพลล้ำลึกต่อกวีและหนุ่มสาวแห่งยุค “ยุติการแสวงหา” (เพราะว่าได้พบแล้ว) เนื้อหาของบทกวีใน “กวีการเมือง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีบทบาทขับเคลื่อนขบวนการ “คนเดือนตุลาฯ” เป็นอย่างสูง ส่งผลยาวไกลจนถึงขั้น “เดินทัพทางไกล” เป็นระลอกน้อยๆ หลายทิศทาง “เข้าป่า” ไปศึกษาดูงานกัน ตั้งแต่ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาประชาชน “๖ ตุลาคม ๒๕๑๙” แล้วก็ลุกลามกลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากหลากไหลเข้าป่าใหญ่ไพรพงดงลึกทั่วทุกภาคของประเทศไทยหลัง
“กรณีนองเลือด ๖ ตุลาฯ”ทวีป วรดิลก ผู้เขียนหนังสือ “จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก” เล่าว่า จิตรเคยเล่าเรื่องตลกที่ตัวเองถูกหมายหัวจากอาจารย์จุฬาฯ ระดับปราชญ์ใหญ่ของไทยในอดีตว่า “…ในการสอบภาษาไทยซึ่งพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เป็นอาจาย์สอนและก็เป็นผู้ตรวจคำตอบของนิสิตทั้งห้อง (ปีหนึ่ง) ท่านวานเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบว่า ‘ช่วยไปดู คำตอบของนิสิตคนนี้ เลขที่…เขาชื่ออะไร…คำตอบอย่างนี้ คะแนนเต็มร้อยน่าจะให้ร้อยเต็ม’ …ครั้นเจ้าหน้าที่กลับมารายงานพระยาอนุมานฯว่า “นิสิตคนนี้ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์”‘ท่านอาจารย์เจ้าคุณ’ หรือ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ผู้มาบรรยายพิเศษให้กับนิสิตอักษรศาสตร์ และนักศึกษาศิลปากรต่อเนื่องมาหลายรุ่น จนถึงรุ่น ‘สิริอุสา พลจันท์’ ก็อุทานว่า “เขาชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์หรือ? ตั้งใจจะให้ร้อย ต้องตัดเสียสามคะแนน ขืนให้เต็มร้อย มันจะกำเริบใหญ่”จิตร ภูมิศักดิ์ มีงานเขียนจำนวนมากในหลายนามปากกา ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการเมือง เป็นทั้งกวีและนักแต่งเพลงที่เยี่ยมยอดยงยุทธ์
ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ มีผู้ติดตามศึกษามาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าได้เสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่งไปกว่า ๕๐ ปีล่วงแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.เคร็ก เรย์โนลด์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาค้นคว้าชีวิตและงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สร้างวาทกรรมไว้ว่า“…จิตรเป็นผู้ ‘มีการก่อเกิดสองครั้ง’ ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นการกำเนิดแห่ง ‘ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์’ นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจนยุคสมัยปัจจุบัน”สภาพบ้านเมืองที่ลุ่มๆ ดอนๆ ทางการเมือง มีการทำรัฐประหารวนซ้อนกันหลายระลอก นักศึกษา ปัญญาชน นักการเมือง ที่เห็นปัญหาบ้านเมืองและทุ่มโถมตัวเองเข้าสู่กระแสการต่อสู้รูปการณ์ต่างๆ ต้องถูกจับกุมคุมขังกันมาหลายระลอก ที่ตายไปแล้วเพราะประท้วงอดอาหารก็มี ที่ถูกอุ้มหายไปก็มี ที่ต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตนอกประเทศก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี แม้จนถึงปัจจุบันมีความเป็นไปได้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ คงจะต้อง “เกิดใหม่” อีกหลายรอบ เพราะความจำเป็นของสถานการณ์
“ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์” มีความเป็นพลวัต เป็นสิ่งมีชีวิต เพราะจิตรคือ “ต้นแบบ” ที่มีชีวิต เลือดเนื้อ และพลังไฟฝันอันเริงแรง ที่ให้แรงบันดาลใจแก่หนุ่มสาวนักฝันนักอุดมคติอย่างไม่มีวันดับมอด บทกวีที่เรียบง่าย สื่อสารชัดเจน แต่ตีความได้ลึกซึ้ง และบทเพลงอันมีเสน่ห์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีทั้งที่คึกคัก ดุดัน มีชีวิตชีวา และที่แว่วหวาน พาฝัน กังวานในหัวใจ สามารถปลุกปลอบให้หนุ่มสาวนักอุดมคติลุกขึ้นยืนท้าทายอธรรม ต่อต้านอำนาจนำที่ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน อย่างไม่สยบ ไม่ลดละ ไม่ยำเกรง หนุนเนื่องกันไปจากรุ่นสู่รุ่นแม้เวลาผันผ่านไปอีกหลายทศวรรษ การเปิดเผยชีวิตและผลงานอันมีค่าควรแก่การสรรเสริญของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ปีต่อปี และคงจะสืบเนื่องไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่อำนาจรัฐยังไม่เป็นของประชาชน
“จิตร ภูมิศักดิ์ กวีนักคิด~นักรบของประชาชน ไม่มีวันตาย”#ชลธิราสัตยาวัฒนา#สิริอุสา พลจันท์————-แหล่งค้นคว้าและอ้างอิง*
คลังสะสมงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในวาระรำลึกถึง วันเกิด จิตร ภูมิศักดิ์ (๒๕ กันยายน ๒๔๗๓) โดย วิชัย นภารัศมีสิริอุสา พลจันท์ และกองบรรณาธิการ.“จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้เกิดก่อนกาล, และบทความบทกวี ที่เกี่ยวเนื่อง.วารสารอักษรศาสตร์พิจารณ์, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ช่วงปี 2517-2519.
“จิตร ภูมิศักดิ์ กับกรณีโยนบก 28 ตุลาคม 2496” และ“จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก” โดย ทวีป วรดิลกเผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 กันยายน พ.ศ.2559.สืบค้นจาก : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1015