อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

หากโลกนี้มีเวทมนตร์สิ่งนั้นเห็นจะเป็น “แม่น้ำโขง” ที่เบื้องหน้าของฉันนี่เอง ก็จะไม่ให้เรียกว่าเวทมนตร์ได้อย่างไร ลองนึกถึงความมหัศจรรย์ของมันดูสิ จากเกล็ดหิมะเล็ก ๆ บนดินแดนหลังคาโลก เมื่อโดนความร้อนจากแสงตะวันจึงค่อย ๆ เปลี่ยนสถานะเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ ที่รวมกันจนเป็นลำธาร เซาะโขดหิน รินไหล จนกลายเป็นมหานทีที่ไหลผ่านถึง ๗ ประเทศอย่างภาคภูมิ เป็นที่กำเนิดสัตว์หลายสายพันธุ์จนถึงปัจจุบันยังมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อยู่เสมอ

ไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่ยังหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณในฐานะผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวรรณกรรมทางพุทธศาสนาอย่าง “อุรังคธาตุนิทาน” ตำนานโบราณที่ทำให้ฉันไม่อาจอยู่บ้านเฉย ๆ ได้อีกต่อไป…

เมื่อ ๗ เดือนก่อน…

บังเอิญฉันได้อ่านเรื่องราวการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพต จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีความเป็นมาว่า ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีภิกษุไทยเดินทางไปบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ ลังกาทวีป ปรากฏว่าเมื่อไปถึงศรีลังกา ภิกษุท้องถิ่นจึงถามด้วยความสนเท่ห์ว่า รอยพระพุทธบาทอยู่ที่สุวรรณบรรพตก็มี เหตุใดจึงต้องดั้นด้นมาถึงศรีลังกา

ฝ่ายพระสงฆ์ไทยเมื่อกลับมาถึงก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองต่าง ๆ สืบค้นหาร่องรอยพระพุทธบาท กระทั่งไปพบที่จังหวัดสระบุรี จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และเมื่อทรงพระราชดำริว่าเป็นรอยพระพุทธบาทตามที่ภิกษุลังกาบอก ก็ทรงบังเกิดความปีติเป็นล้นพ้นว่าประเสริฐกว่าสิ่งสมมุติที่สร้างขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาเจดียสถาน มีมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทไว้ รวมถึงสังฆารามและพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาท…

เรื่องราวการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพตจึงมีความเป็นมาดังนี้ แต่ชะรอยภิกษุลังกาผู้ทักท้วงเห็นจะไม่รู้จักตำนานอุรังคธาตุนิทานเป็นแน่ ไม่เช่นนั้นบันทึกการค้นหาร่องรอยพระพุทธบาทในยุคนั้นคงจะยืดยาวเป็นมหากาพย์ยิ่งกว่านี้

อุรังคธาตุนิทาน เป็นตำนานที่ผูกโยงกับการสร้างพระธาตุซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคุณค่าในการศึกษาเรื่องทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและประเทศเพื่อนบ้านรวมอยู่ด้วย เนื้อหาของนิทานปรัมปรานี้ได้เล่าถึงตำนานพญานาค ตำนานอาณาจักรยิ่งใหญ่ทั้ง ๗ ในอดีต คือ เมืองศรีโคตรบูร (ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่เมืองหนองคาย -อุบลราชธานี) เมืองหนองหานหลวง (ตั้งอยู่บริเวณหนองหานสกลนคร) เมืองหนองหานน้อย (บริเวณอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี) เมืองสาเกต (เป็นเขตจังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองกุรุทนคร (เมืองอโยธยา) เมืองจุลณี (อยู่ในเขตเวียดนาม) เมืองอินทปัฐ (กัมพูชาสมัยโบราณ) นานนางอุษา-ท้าวบารส พุทธทำนาย รอยพระพุทธบาทการกลับชาติมาเกิดของพระยาผู้ครองแต่ละเมือง การสร้างพระธาตุพนม การปกปักรักษาโดยเทวดา และ ตำนานการสร้างกรุงเวียงจันทน์

แต่สำหรับสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเรื่องอุรังคธาตุ-นิทานพเนจรนี้ ฉันได้เลือกหยิบยกมาเฉพาะตอนที่เรียกว่า “บั้นฮอยพระบาท” ซึ่งกล่าวถึงการเสด็จมาเยือนดินแดนลุ่มน้ำโขงของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ ซึ่งไม่ได้มาแบบธรรมดา ๆ นะ แต่เป็นการเสด็จมาทางอากาศ! จากนิทานมุขปาฐะที่บอกเล่าปากต่อปาก จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงได้มีการจดจารลงในใบลาน และกลายเป็นลายแทงขุมทรัพย์อันเย้ายวนที่ทำให้หัวใจของฉันเต้นแรงตั้งแต่แรกเห็น ชีพจรกระตุกจนต้องเก็บสัมภาระออกพเนจรอีกครั้งหนึ่ง…

(โปรดติดตามต่อการออกพเนจร)


แผนที่แสดงอาณาเขตตามตำนานอุรังคธาตุนิทาน ปรับปรุง โดย ผศ.อมฤต หมวดทอง จะสังเกตเห็นว่าเมื่อตัดเส้นพรมแดนประเทศในปัจจุบันออก จะพบว่าตำแหน่งที่ตั้งพระธาตุพนมนั้นตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณ

นิทานนินทานาค…

ปฐมกัลป์นิทานอุรังคธาตุ

มีนาค ๒ ตัวเป็นเพื่อนรักกัน ต่างอาศัยอยู่ในหนองแส1 โดย “พินทะโยนาควัตตี” อาศัยอยู่หัวหนอง และ “ทะนะมุนละนาค” อาศัยอยู่ท้ายหนอง เพื่อนรักทั้งสองให้สัญญากันว่าหากมีสัตว์ตกลงไปในหนอง ไม่ว่าจะหัวหนองหรือท้ายหนองก็จะแบ่งกันกิน โดยมี “ชีวายะนาค” ซึ่งเป็นหลานของทะนะมุนละนาคเป็นสักขีพยาน

วันดีคืนดีมีช้างมาตกอยู่ท้ายหนอง ทะนะมุนละนาคก็แบ่งให้เกลอรักกิน ต่อมามีเม่นมาตกที่หัวหนอง พินทะโยนาควัตตีก็ปันกลับคืนไปให้เป็นการตอบแทน แต่นาคผู้อาศัยอยู่ท้ายหนองกลับคิดเปรียบเทียบว่า เนื้อสัตว์ที่ตนแบ่งให้เพื่อนนั้นมีขนเส้นเล็กจ้อยเนื้อยังมากมายนัก ในขณะที่เนื้อเม่นที่เพื่อนปันมามีขนยาวเป็นศอกน่าจะเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ เหตุใดเพื่อนจึงปันมาน้อยนัก จึงไปแจ้งหลานผู้เป็นพยานรู้เห็น แล้วก็สะบั้นความสัมพันธ์เข้าโรมรันพันตู

นาคทั้ง ๒ เกี้ยวพันขบกัดกันในน้ำจนหนองแสขุ่นเป็นตม สัตว์น้ำก็ล้มตายเป็นอันมาก เทวดาที่รักษาหนองแสมาห้ามก็ไม่ฟัง เทวดาจึงไปแจ้งแก่พระอินทร์ เมื่อทราบเรื่องท้าวสักกะจึงให้ท้าวจตุโลกบาลมาไล่นาคตัวต้นเรื่องพร้อมทั้งหลานออกจากหนองแส

ชีวายะนาค จึงใช้อกขุดดันให้เป็นร่องแม่น้ำแม่น้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า “อุรังคะนที” หรือ “แม่น้ำอู” และต่อมาได้ร่วมเดินทางกับ ทะนะมุนละนาค ได้ขุดแม่น้ำไปยังตีนดอยนันทะกังฮี เรื่อยไปจนถึงเมืองสีโคตรบอง โดยนับจากอุรังคนทีไปจนถึงที่อาศัย ของทะนะมุนละนาค เรียกว่า “แม่น้ำ ทะนะนทีเทวา” หรือ “แม่น้ำโขง”

พินทะโยนาควัตตีนาค ขุดร่องน้ำไปทางเชียงใหม่ แม่น้ำนั้นได้ชื่อว่า “แม่น้ำพิน” หรือ“แม่น้ำปิง” และเมืองได้ชื่อ โยนกนาควัตตีนครตามชื่อนาค

กล่าวถึงหนองแสเมื่อน้ำขุ่นข้น สัตว์ทั้งหลายต่างพากันล้มตาย พวกผีก็มารุมกินกัน นาคทั้งหลาย ได้แก่ สุวัณณะนาค กุทโธปาปนาค ปัพพาระนาค สุกขะหัตถีนาค สีสัตตะนาค ถะหัตถีนาคต่างก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จึงพากันออกมาทั้งริมน้ำและบนบก พวกผีก็คิดว่านาคจะมาแย่งกินซากสัตว์จึงเข้ามาทำร้าย พวกนาคและงูที่รอดตายก็พากันยอมเป็นบริวารของพญาสุวรรณนาคและอพยพไปอาศัยอยู่ภูกู่เวียน

ตั้งแต่นั้นพวกนาคตัวอื่น ๆ ที่อยู่ไม่เป็นสุข เช่น

ปัพพาระนาค ขุดร่องน้ำไปอาศัยอยู่ภูเขาลวง

พวกพญางู ที่ไม่อยากอยู่กับพวกนาคก็ขุดออกมาเป็นแม่น้ำสายหนึ่งเรียกว่า “แม่น้ำเงือกงู” ต่อมาเรียก “แม่น้ำงึม”

สุกขหัตถีนาค อาศัยอยู่เวินสุก

กล่าวถึง “ทะนะมุนละนาค” ผู้อาศัยอยู่เมืองศรีโคตรบอง ก็ยังขุดร่องน้ำต่อจากนั้น ผ่านไปยังเมืองอินทปัตถนคร ยาวถึงแม่น้ำสมุทร ร่องน้ำนี้เรียกว่า “หลี่ผี” ภายหลังแม่น้ำที่เป็นที่อาศัยของทะนะมุนละนาคนั้นเกิดท่วมเป็นแก่ง มันจึงขุดต่อร่องน้ำไปยังเมืองกุลุนทนคร ร่องน้ำนี้จึงได้ชื่อว่า “มุนละนที” หรือ “แม่น้ำมูน” ตามชื่อพญานาคตนนั้น

ส่วนชีวายะนาคเองก็เริ่มขุดอีกครั้งจากมุนละนที จนถึงเมืองของพญาสุระอุทกะ ผู้ปกครองหนองหานหลวง ตั้งแต่นั้นมาแม่น้ำนั้นก็ได้ชื่อว่า “ชีวายะนที” หรือ “แม่น้ำชี” ตามชื่อนาคนั้น

************

แนะนำผู้เขียน

“หมอผึ้ง” – สัตวแพทย์หญิงนัทธ์หทัย วนาเฉลิม มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเธอรักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มงานเขียนจากบันทึกการทำงานจนเป็นนักเขียนประจำในนิตยสาร “พลอยแกมเพชร” ฝึกและเข้าอบรมการเขียน พัฒนาทักษะจนเกิดงานสารคดีศิลปวัฒนธรรมเรื่อง “สะกดรอยสินไซ” ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลอัมรินทร์อวอร์ด ต่อมามีผลงานตามนิตยสารต่าง ๆ รวมทั้งที่ อสท. ซึ่งเน้นสมบัติศิลป์ของภาคอีสาน

“หมอผึ้ง” เคยมอบสารคดีชุด “เที่ยวทั่วทีป” ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร “ทางอีศาน” ของเรามาแล้ว และผลงานชุดนี้ก็เกิดจากหัวใจที่ปรารถนาให้ผู้คนรู้ซึ้งถึงความงดงามในด้านต่าง ๆ ของภาคอีสาน โดยครั้งนี้เน้นวรรณกรรมพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อความศรัทธาที่เป็นแก่นรากนำไปสู่วิถีดำเนินชีวิต และผู้คนก็เชื่อมร้อยโยงกันตั้งแต่ครั้งยังไร้เขตเส้นพรมแดนประเทศมานานโพ้น

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๒ (๖)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๓ (ตอนที่ ๗)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ๑ (๘)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com