อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ๑ (๘)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ๑ (๘)
หลังองค์พระธาตุพนมพังทลาย ทางวัดได้รวบรวมเศษอิฐที่เกลือการบูรณะมาสร้างเป็นสถูปอิฐตามแบบอูบมุงบรรจุพระอุรังคธาตุเมื่อสมัยพุทธศักราช ๘
“ฮู้จักพระวอพระตาไหม เจ้ากินเกลือบ้านได๋ เคยไปเอาบุญพระธาตุบ่”
เป็นคำถามที่ ผศ.อมฤต หมวดทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้เสมอในยามที่ออกไปเก็บข้อมูลภาคสนามในเรื่องเกี่ยวกับแหล่งเกลือในภาคอีสาน และมักได้ฟังเรื่องเล่าเก่าก่อนเป็นผลพลอยได้
“ในช่วงหมดฤดูทำนา ชาวบ้านว่างเว้นงานการ ผู้มีจิตศรัทธาจะชวนกันไปนมัสการพระธาตุพนม สมัยก่อนไม่ได้มีรถยนต์ก็จะใช้เกวียนหรือเดินเท้าไป อย่างเช่น แม่ใหญ่สมมงษ์ กุนอก นี่ ตอนนี้แกอายุ ๖๔ ปีแล้ว บ้านของแม่สมมงษ์ อยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ โคราชเลยนะ แกก็ใช้วิธีเดินเท้าไป โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-คำชะอี เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนนตัดข้ามภูพาน ทีนี้คนคนหนึ่งใน ๑ วัน จะเดินเท้าได้วันละกี่กิโลเมตรกัน เพราะฉะนั้นแต่ละหมู่บ้านจึงทำที่พักเล็ก ๆ ไว้สำหรับคนแรมทางด้วย”
นั่นเป็นปากคำของคุณยายสมมงษ์ที่ถ่ายทอดผ่านมาทางอาจารย์อมฤต หากไม่ใช่เพราะคำว่า “ศรัทธา” แล้วจะเป็นสิ่งใดไปได้ที่ทำให้คนคนหนึ่งมีจิตใจตั้งมั่นถึงขนาดเดินเท้าจาริกไปมนัสการพระธาตุพนม ฟังแล้วอดทำให้ฉันจินตนาการถึงการรอนแรมผจญภัยแบบนายฮ้อยเคน แห่งนวนิยายนายฮ้อยทมิฬไม่ได้…ฉันเองก็เป็นคนอีสาน ก็อยากจะไปกราบพระธาตุพนมสักครั้งหนึ่งในชีวิตเช่นกัน…แต่ยังไม่ถึงขั้นเดินเท้าไปนะ
“ทำไมต้องเป็นพระธาตุหัวอก และทำไมต้องเป็นที่ภูกำพร้าเท่านั้น?”
เมื่อตอนที่เริ่มศึกษาตำนานพระธาตุพนม โดยส่วนตัวก็ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงต้องเจาะจงกับพระมหากัสสปะว่า พระธาตุส่วนหัวอกจะต้องมาประดิษฐานที่ภูกำพร้าเท่านั้น ซึ่งเอตทัคคะด้านการธุดงค์องค์นี้ก็ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้จะต้องขัดใจกับกษัตริย์ผู้เรืองอำนาจในยุคนั้นก็ตาม…เค้นสมองหาเหตุผลเท่าใดก็ขบไม่แตก จนกระทั่งเจอเอกสารเก่า พิมพ์เผยแพร่เป็นธรรมทานเนื่องในพิธีฌาปนกิจศพขององค์สมเด็จอดีตสังคนายกแห่งราชอาณาจักรลาว กล่าวถึงเรื่องราวในตอนนี้ว่า…
หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จกลับวิหารเชตวัน ไม่นานหลังจากฉันหมูง้วนก็อาเจียนเป็นเลือดและเสด็จปรินิพพานตามนิพพานสูตร แล้วจึงได้เป็นเรื่องที่พระมหากัสสปะได้นำอุรังคธาตุไปไว้ภูกำพร้าตามคำสั่งเสียของพระโคตมพุทธเจ้า
เมื่อพระอัครสาวกกัสสปะได้พาพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป แห่เอาอุรังคธาตุไปภูกำพร้า ครั้นถึงเมืองหนองหานหลวง คนทั้งหลายรู้ข่าวก็พนันกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงว่าถ้าใครก่ออูบมุงได้สำเร็จก่อนดาวเพ็กขึ้น อูบมุงของฝ่ายนั้นจะได้บรรจุอุรังคธาตุ
ปรากฏว่าฝ่ายชายก็ประมาทว่าพวกตนมีเรี่ยวแรงดีกว่าจึงคิดทำสะพานก่อน แถมยังหลงมารยาของฝ่ายหญิงไปช่วยก่อสร้างอีก ฝ่ายหญิงก็ซ้อนแผนอีกชั้นด้วยการเอาโคมไปแขวนไว้ยังยอดไม้ พวกผู้ชายคิดว่าดาวเพ็กขึ้นจริงจึงหยุดมือ ในขณะที่ฝ่ายหญิงได้สร้างต่อไปจนเสร็จ อูบมุงของฝ่ายหญิงจึงมีชื่อว่า “อิตถีมายานารายณ์เจงเวง” ส่วนอูบมุงของผู้ชายได้ชื่อว่า “ภูเพ็กมุสา”
แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่มีอูบมุงของฝ่ายใดได้บรรจุพระอุรังคธาตุ เนื่องจากพระมหากัสสปะไม่เห็นควรละเมิดคำสั่งเสียของพระพุทธเจ้าที่จะเอาไปไว้ที่ภูกำพร้า…ต้องไว้ที่ภูกำพร้าเนื่องจาก
พระยาศรีโครตบูรณ์นั้นในชาติก่อนได้เอาลูกนกและไข่แลนมาขายกิน กรรมนั้นจึงทำให้ปราศจากพ่อแม่ลูกเมีย สถานที่นี้จึงได้ชื่อว่า “ดอยกัปณะคีรี” (ภูกำพร้า)
ส่วนเหตุที่พระพุทธเจ้าสั่งให้เอาอุรังคธาตุมาสถาปนาไว้ที่นี่ ก็เพราะว่าพระยาศรีโครตบูรณ์นี้เป็นเชื้อหน่อพุทธางกูรเสมอดั่งหัวอกของพระองค์ จึงต้องเป็นพระธาตุส่วนหัวอกซึ่งจะต้องไว้ที่ภูกำพร้าเท่านั้น
พระธาตุพนมองค์เดิมที่บูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครเวียงจันทน์: ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนมพระธาตุพนมที่บูรณะขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม: ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนมพระธาตุพนมในยุคปัจจุบันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงได้ชื่อว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างทางพุทธศาสนาที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานอนุสาวรีย์ธาตุเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ ญาคูขี้หอม ผู้นำชาวบ้านกว่า ๓,๐๐๐ คน ในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม
เป็นคนอีสาน เกิดมาชาติหนึ่งต้องไปกราบพระธาตุพนมสักครั้ง” เป็นคำกล่าวติดปากของชาวอีสานรุ่นใหญ่ที่ฉันได้ยินติดหูมาแต่เล็กแต่น้อย
แม้ว่าฉันอาจจะไม่ได้เดินเท้ามานมัสการแบบคุณยายสมมงษ์ แต่ในที่สุดฉันก็ได้มาอยู่ที่นี่แล้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ครั้งสองพันปีที่แล้ว สถานที่สุดท้ายในการรอนแรมตามรอยพระพุทธบาทในตำนานพระธาตุหัวอก “พระธาตุพนม”
ปรกติแล้วฉันเป็นคนที่กลัวแดดกลัวผิวหน้าเกิดฝ้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ในวันนี้กลับลืมเรื่องที่กังวลไปจนสนิทใจ แม้จะกล่าวคำสาธุการนมัสการจบไปแล้วแต่ก็ยังไม่อยากกลับเร็วเกินไปนัก ยังอยากชื่นชมสถาปัตยกรรมที่เบื้องหน้าอีกสักหน่อย
โดยไม่ต้องใช้เครื่องไทม์แมชชีน จินตนาการของฉันล่องลอยไปถึงพุทธศักราช ๘ ในสมัยที่อาณาจักรศรีโครตบูรรุ่งเรือง สถานที่นี้ได้สร้างสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุขึ้นเป็นครั้งแรก มีพญาทั้ง ๕ อาณาจักร พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป และพระมหากัสสปะเป็นประธาน
การก่อสร้างในสมัยแรกนั้นใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยมแล้วเผาให้สุกทีหลัง กว้างด้านละ ๒ วา สูง ๒ วา ข้างในเป็นโพรงมีประตูเปิดปิดทั้ง ๔ ด้าน ภายหลังอัญเชิญพระอุรังคธาตุเข้าประดิษฐาน แต่ก็ยังไม่ได้สถาปนาให้สมบูรณ์[๑]
[๑] ยังไม่ได้ปิดให้มิดชิด
ครั้นกาลเวลาล่วงเข้าพุทธศักราช ๕๐๐ จึงได้รับการบูรณะครั้งที่ ๑ โดยมีพญาสุมิตธรรมวงศา และพระอรหันต์ ๕ รูป เป็นประธาน ในการบูรณะครั้งนั้นได้ต่อเติมให้สูงขึ้นประมาณ ๒๔ เมตร เป็นลักษณะศิลปะสมัยขอม-จาม มีการอัญเชิญพระอุรังคธาตุออกจากอูบมุงไปไว้ใจกลางชั้นที่ ๒ ครั้งนี้จึงได้ปิดมิดชิดทั้ง ๔ ด้าน การสถาปนาจึงสมบูรณ์
หลังจากผ่านร้อนผ่านฝนนับพันปี ลุถึงพุทธศักราช ๒๒๓๖ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ยาคูขี้หอม) แห่งนครเวียงจันทน์จึงได้ชักนำชาวบ้านให้ร่วมกันบูรณะและต่อเติมองค์พระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก ๔๓ เมตร เป็นศิลปะแบบล้านช้าง มีการจัดสร้างผอูบสำริดครอบเจดีย์ที่บรรจุบุษบกและผอบบรรจุพระอุรังคธาตุอย่างแน่นหนา มีการจารึกดวงพระธาตุบนแผ่นทองว่าชื่อ “ทาดปะนม” ซึ่งแล้วเสร็จในพุทธศักราช ๒๒๔๕
และในพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๔ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งนั้นจอมพลป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรอันมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้า สร้างครอบพระธาตุองค์เดิมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไป และต่อยอดให้สูงขึ้นไปอีก ๑๐ เมตร รวมเป็น ๕๗ เมตร
พระธาตุปะนมยืนหยัดตระหง่านจนกระทั่งฤดูฝนพุทธศักราช ๒๕๑๘ ฝนตกติดต่อกันหลายวันทำให้ส่วนฐานที่เริ่มชำรุดเสียหายมากขึ้น แล้วในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ ศูนย์รวมจิตใจพี่น้องสองฝั่งโขงก็ถึงแก่กาลพังทลายลง กรมศิลปากรได้เข้ามาเร่งบูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๒ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จมาบรรจุพระอุรังคธาตุ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๒
พระธาตุองค์ใหม่ที่เบื้องหน้าของฉันตอนนี้ดูเป็นศิลปะอันผสมผสาน คือ ส่วนล่างเป็นศิลปะจามหรือเขมรก่อนเมืองพระนคร มีลวดลายสลักอิฐประดับบนเสาติดผนังที่มุมทั้ง ๔ ด้าน ซุ้มประตูคดโค้งมีใบระกาแหลมขนาดใหญ่ เหนือขึ้นไปคือเรือนธาตุจำลองหนึ่งชั้นต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ และส่วนบนเป็นยอดทรงบัวแหลมในศิลปะล้านช้างทรงเพรียวสูง ประดับด้วยปูนปั้นปิดทองเป็นลายก้านต่อดอก
นึกถึงตอนที่องค์พระธาตุล้มในตอนนั้น ทราบข่าวว่าพบสมบัติที่คนโบราณร่วมบรรจุเป็นพุทธบูชานั้นมีจำนวนไม่น้อย รวมถึงผอูบสำริดที่บรรจุพระอุรังคธาตุด้วย การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของทางวัดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด
ท่ามกลางวัตถุโบราณมากมาย แต่สิ่งที่ฉันมองหาคือ “บุษบกทองคำ” ที่เคยเห็นภาพประกอบจากบทความในนิตยสารทางอีศานฉบับที่ ๖ ปีที่ ๑ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ ซึ่งได้เล่าถึงตอนที่พระธาตุพนมล้มว่า ได้พบผอูบสำริดขนาด ๑ ตัน ภายในนั้นยังมีเจดีย์ศิลา ภายในเจดีย์ศิลานั้นพบแผ่นทองดวงจารึกและบุษบกทองคำ ภายในบุษบกทองคำนั้นมีตลับเงิน ภายในตลับเงินนั้นมีผอบทองคำซ้อนอีก ๓ ชั้น จึงเป็นผอบแก้วที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ๘ องค์ ประดิษฐานอยู่ในนั้น ส่งกลิ่นหอมเย็นจากน้ำมันจันทน์ที่หล่อเลี้ยงอยู่ในนั้น
ซึ่งจากภาพประกอบนั้นเห็นว่าบุษบกทองคำเสียหายชำรุด ก็คิดเองเออเองว่าทางกรมศิลปากรคงจะจัดสร้างอันใหม่ขึ้นเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุแทน ส่วนอันที่ชำรุดนี้คงจะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ก็พบเพียงผอูบสำริด ส่วนบุษบกทองคำนั้นกลับไม่ปรากฏ ใครหนอจะให้คำตอบแก่ฉันได้ หัวคิ้วของเจ้าหน้าที่ภายในพิพิธภัณฑ์ขมวดมุ่นราวกับจะผูกเป็นโบว์ ดูจะงงงวยกับสิ่งที่ฉันถามหาอยู่ไม่น้อย และเมื่อไม่ได้ความกระจ่างใด ฉันจึงได้แต่เก็บความสงสัยนี้กลับบ้านมาด้วยกัน
*****
ในตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า พญาทั้ง ๕ ผู้สร้างพระธาตุพนมในยุคแรกได้ให้คนไปนำมาจากที่ต่างๆ รวม ๔ ต้น ได้แก่ เมืองกุสินารายณ์ เมืองพาราณสี เมืองลังกา และเมืองตักศิลา ฝังไว้ทั้ง ๔ มุมรอบพระธาตุเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีปและให้เป็นสิริมงคลแก่ชาวโลกทั้งปวงทางด้านทิศเหนือของพระธาตุพนมมีม้าศิลา ๒ ตัว คือม้าพลาหกและม้าอาชาไนย ตามตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงว่า สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงว่าพระอุรังคธาตุได้กระทำปาฏิหาริย์ โดยลอยออกจากอูบมุงทางทิศเหนือ จากตำราม้าของเก่าและตำราม้าคำโคลงได้กล่าวถึงม้าทั้ง ๒ ว่า ม้าพลาหก นั้นมี ๑๔ ลักษณะสีสัน แต่ก็ล้วนวิ่งได้อย่างรวดเร็วแม้กระทั่งแสงอาทิตย์ยังตามไม่ทัน ส่วนม้าอาชาไนยนั้นอยู่ในตระกูลสินธพ ๘ เป็นม้าแสนรู้ ตัวเดียวก็สู้ศึกได้นับร้อยเป็นสามารถ
ผอูบสำริดบรรจุพระอุรังคธาตุ ภาพโดย คุณพงษ์เมธี แสงฤทธิ์บุษษกทองคำทรงหอบูชาข้าว ส่วนยอดชำรุดเล็กน้อย : ภาพจากนิตยสารทางอีสาน ฉบับที่ ๖ ปีที่ ๑ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ความสลับซ้บซ้อนในการบรรจุพระอุรังคธาตุ โดย เรียงลำดับดังนี้ หมายเลข ๑ ผอบแก้วที่บรรจุพระอุรังคธาตุอยู่ พบในผอบทองคำหมายเลข ๒ ผอบทองคำหมายเลข ๒ พบในผอบทองคำหมายเลข ๓ ผอบทองคำหมายเลข ๓ พบในผอบทองทองคำหมายเลข ๔ ผอบทองคำหมายเลข ๔ พบในตลับเงินหมายเลข ๕ ตลับเงินหมายเลข ๕ พบในบุษบกทองคำหมายเลข ๖ บุษบกทองคำหมายเลข ๖ พบในเจดีย์ศิลา และเจดีย์ศิลาอยู่ในผอูบสำริด : ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนมพระอุรังคธาตุ ๘ องค์ สีดอกพิกุลแห้ง ๒ องค์ สีดอกพิกุลสด ๓ องค์ และสีขาวคล้ายงาช้าง ๓ องค์ : ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนม
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๒
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต