ไม่มีชาติใดเป็นศัตรูกันทางประวัติศาสตร์

ไม่มีชาติใดเป็นศัตรูกันทางประวัติศาสตร์

วันวาน
ดินแดนภาคใต้ของประเทศจีนปัจจุบันนับตั้งแต่ใต้แม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) ลงมาจนถึงอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร (คืออาเซียนทั้งหมด) มีต้นเค้าอารยธรรมดั้งเดิมร่วมกันคือ “วัฒนธรรมข้าว”

หลักฐานการเพาะปลูกข้าวในช่วงปลายยุคหินใหม่เก่าแก่ถึง ๗,๐๐๐ ปี ขุดพบที่ “เหอหมู่ตู้” มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน

การเพาะปลูกข้าวก่อให้เกิด “วัฒนธรรม” ร่วมกัน ร่องรอยที่ชัดเจนคือ สัญลักษณ์นกสองหัว (การเคารพบูชานก เกี่ยวพันกับการเพาะปลูกข้าว) หรือ “หลิงหลิงโอ” ซึ่งพบที่แหล่งโบราณคดี “เหอหมู่ตู้” นั้นยังพบในฟิลิปปินส์และพบที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรีด้วย

พื้นที่บริเวณตั้งแต่ใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมาจนถึงอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทรยุคดึกดำบรรพ์มีชนเผ่าอาศัยอยู่มากมายหลายเผ่าชื่อเก่าแก่ที่สุดที่คนหัวเซี่ย – จีนดั้งเดิมที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห) เรียกพวกนี้คือ “ไป่ผู – ผูร้อยจำพวก” (๓,๐๐๐ ปีที่แล้ว) ต่อมาเรียกว่า “ไป่เยวี่ย – เยวี่ยร้อยจำพวก” (๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว)

“ไป่เยวี่ย” เป็นชื่อเรียก “กลุ่มวัฒนธรรม” ไม่ใช่ชื่อเรียกชนเผ่าหรือชนชาติ

ไป่เยวี่ยเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ใหญ่มากประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าที่ใช้ตระกูลภาษาหลายตระกูล อาทิ ตระกูลภาษาไท – กะได, ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (ภาษาของชนชาติเกาซานในไต้หวัน และภาษาของชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก), ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (มอญ-เขมร), ตระกูลภาษาม้ง-เย้า

ย่อภาพลงมามองพื้นที่เฉพาะไทยและอินโดจีน ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ก็คือผู้คนในตระกูลภาษาเหล่านี้นั่นเอง มีวัฒนธรรมเก่าแก่แพร่หลายใช้ร่วมกันมาก่อนที่วัฒนธรรมฮั่นจากลุ่มแม่น้ำหวงเหอ และวัฒนธรรมจากชมพูทวีปจะแพร่อิทธิพลเข้ามา ก่อให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เกิดเป็นวัฒนธรรมระดับ “เมือง” ระดับแว่นแคว้นพันธมิตรนครรัฐ จนถึงระดับอาณาจักรในบางพื้นที่ชนชั้นปกครองในแต่ละแว่นแคว้นนครรัฐมักเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน

แว่นแคว้นใดเจริญรุ่งเรืองทางการค้า มีอำนาจสูง ก็จะมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม กำหนดการใช้ภาษา และศิลปะด้านต่าง ๆ

ห้วงเวลาพัฒนาการที่กำหนดได้ค่อนข้างชัดก่อเกิด “วัฒนธรรมมอญ” (ทวารวดี) ที่มีพื้นฐานทางศาสนาพุทธ กับ “วัฒนธรรมขอม” ที่มีพื้นฐานทางศาสนาฮินดู แว่นแคว้นวัฒนธรรมมอญและแว่นแคว้นวัฒนธรรมขอม ก็ประกอบส่วนด้วยหลายเผ่าหลายตระกูลภาษา ชนชั้นปกครองของแว่นแคว้นเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนกลุ่มชาติพันธุ์ได้

และทางด้านการเมือง ชนชั้นปกครองก็จะเกี่ยวดองกันทางสายเลือดข้ามเผ่าพันธุ์ เป็นต้นว่า “ขุนเจื๋อง” ในมหากาพย์ท้าวฮุ่งขุนเจื๋อง มีเมียทั้งนางเม็ง นางขอม นางไท นางแกว ในช่วงสมัยหนึ่ง วัฒนธรรมทั้งในด้านการปกครอง ด้านศิลปะ ด้านสถาปัตยกรรม ของเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีความเจริญ มีอำนาจเศรษฐกิจและการทหาร ย่อมมีบทบาทเด่นครอบงำ

วัฒนธรรมของฟูนันรุ่งเรืองครอบงำอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมา “เจินล่า” หรือ “จ้านลา” (บันทึกของหลวงจีนอี้จิง) มีอำนาจล้มแคว้นฟูนันได้ ประมุขของเจินล่าที่ล้มฟูนันลงได้ ชื่อ “ภววรรมัน” มีเชื้อสายมาจากฟูนัน แต่มาได้ชายาเป็นเจ้าหญิงของเจินล่า (นางนาค) ชื่อ “กัมพุชราชลักษมี” (ดูเรื่อง “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” : จิตร ภูมิศักดิ์)

ข้าพเจ้าเชื่อแนวคิดของ ดร.ธิดา สาระยา ว่าดินแดนต้นเค้าของเจินล่าคือ “อีสานใต้” ในดินแดนไทยปัจจุบัน

“ภววรรมัน” และองค์ชาย “จิตรเสน” (ชื่อวงศ์ของประมุขเจินล่าเดิมใช้ “เสนะ” ภายหลังจึงไปใช้ “วรรมัน” ตามวัฒนธรรมฟูนัน) ขยายอำนาจ สร้างพื้นที่ความเจริญขึ้นเป็นวัฒนธรรมพระนครหลวง “ยโสธรปุระ” (นครธม) อันรุ่งเรืองอย่างมหัศจรรย์ รวมทั้งขยายอำนาจมาถึงที่ราบสูงโคราช แล้วขยายลงไปทางปราจีนบุรี

แต่ไม่ว่าศูนย์กลางอำนาจทางการค้าการเมือง การทหาร จะอยู่ที่นครใด ผู้คนที่ประกอบตัวเป็นราษฎรอยู่ใต้อำนาจของประมุขนครนั้น ๆ ก็คือ เผ่าพันธุ์ ๓-๔ ตระกูลภาษาที่ได้เล่าไว้ข้างต้น เช่น ขแมร์, กวย, ชอง, ลัวะ (ละว้า), มอญ, ไท, ลาว, จาม, ระแด, จราย ฯลฯ และมีวัฒนธรรมพื้นฐานร่วมกันคือ “วัฒนธรรมข้าว” นั่นเอง

การผสมผสานกันทางสายเลือดและวัฒนธรรมนั้นแนบแน่นใกล้ชิด จนอาจกล่าวได้ว่าผู้คนในดินแดนนี้ล้วนเป็นเครือญาติกัน

แว่นแคว้นที่มีคนไทเป็นชนชั้นปกครองก็เคยใช้ภาษาขแมร์ ใช้หลักการปกครอง รับศิลปะวัฒนธรรมหลายอย่างมาใช้

ดังเช่นในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ภาษาในราชสำนักใช้ภาษาขแมร์ ภาษาในวรรณคดีก็ยังใช้ภาษาขแมร์กันมาก

อโยธยาเก่านั้นเรืองอำนาจขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอยู่ในทำเลการค้าสากล ความเสื่อมโทรมของยโสธรปุระที่สำคัญเกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการปกครองภายใน และอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้กษัตริย์และพระราชวงศ์ต้องลี้ภัยมาอาศัยอยู่ที่อโยธยาจนน้ำลดจึงกลับไปนครธม

ต่อมาอยุธยาเข้มแข็งขึ้นมาก จนถือตัวว่าเป็นศูนย์กลางอำนาจแทนศูนย์กลางเก่าที่ยโสธรปุระแล้วในที่สุดอยุธยาก็มีชัยเหนือยโสธรปุระ แต่วัฒนธรรมราชสำนักนครธมก็ถูกถ่ายเทมาไว้ที่อยุธยา

เมื่ออยุธยารุ่งเรืองมากขึ้นอีก มีก้าวกระโดดทางวัฒนธรรมการปกครอง เช่นการปฏิรูปในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมาสยามกลับเป็นฝ่ายถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่กัมพูชาตลอดมา จนกระทั่งฝรั่งเศสแย่งเอาดินแดนกัมพูชาไปเป็นเรื่องปกติในห้วงประวัติศาสตร์ที่จะมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากแว่นแคว้นที่เจริญมีอำนาจสูงกว่าแว่นแคว้นที่คนไทเป็นประมุขก็เคยรับวัฒนธรรมขแมร์มาใช้อย่างเต็มที่ มาถึงยุคสมัยปัจจุบันจึงไม่น่าจะเอาเรื่องวัฒนธรรมมาเป็นประเด็นก่อความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ

แน่นอนว่าในยุคโบราณ แว่นแคว้นข้างเคียงกันในทุกภูมิภาค ล้วนมีการสงครามระหว่างกันมาตลอด แต่นั่นเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ประเทศในยุโรป ๒,๐๐๐ ปีมานี้รบราฆ่าฟันกันหนักหนาสาหัสกว่าภูมิภาคสุวรรณภูมิมากนักยกตัวอย่างบางรัฐรบกันถึง ๑๐๐ ปีไม่มีหยุด แล้วปัจจุบันนี้จะถือว่าสองประเทศนั้นยังเป็นศัตรูกันทางประวัติศาสตร์อยู่อีกหรือ

บางคนชอบแสดงความรู้สึกว่า ไทยกับพม่าเป็นศัตรูคู่แค้นกัน ไทยกับกัมพูชาเป็นศัตรูกันทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ

โลกพัฒนามาถึงศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว พัฒนาความคิด จิตสำนึก กันบ้างเถิด

ในประชาคมอาเซียน จะต้องไม่มีประเทศใดที่เป็นศัตรูกันทางประวัติศาสตร์

 

วันหน้า
ในยุค “รัฐชาติ” ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองถูกยกอ้างว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผลประโยชน์ของชาติ

ความรักชาติเคยถูกขยายให้เป็นเรื่อง “ลัทธิคลั่งเชื้อชาติ”

ความขัดแย้งเกี่ยวกับพรมแดนระหว่างชาติยังมีอยู่ในหลายภูมิภาค แต่ในบางภูมิภาคก็มีการเปลี่ยนแปลงในระดับคุณภาพ คือก้าวข้ามพ้นปัญหาพรมแดนไปแล้ว อย่างเช่นในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศที่รุนแรงในขณะนี้มักเป็นเรื่องพรมแดนทางทะเล สาเหตุก็เนื่องมาจากดินแดนที่แย่งชิงกันนั้น มีทรัพยากรที่มีราคาแพงอยู่ใต้พื้นทะเล ดังเช่น

กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับเกาะเตี้ยวอฺวี๋หรือเซนกากุ หมู่เกาะพาราเซลหรือซีซา หมู่เกาะสแปรตลีหรือหนานซา ฯลฯ กรณีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้วจะเห็นว่าเป็นปัญหาที่เริ่มต้นจาก “ชนชั้นปกครอง” ของทั้งสองประเทศ

เหตุที่ปัญหาขยายตัวรุนแรงขึ้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกี่ยวพันกับการปักปันพรมแดนไหล่ทวีป อันมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล

การปักปันพรมแดนบนบกมีผลต่อการแบ่งปันพื้นที่ไหล่ทวีปในทะเลด้วย เมื่อผลประโยชน์มากมายมหาศาลความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

แต่ก็มีข้อควรคิดด้วยว่า
๑. ผลประโยชน์ที่ชนชั้นปกครองแย่งชิงกันนั้น จะตกเป็นประโยชน์มาถึงมวลประชาชนชั้นล่างกี่มากน้อย การปกป้องผลประโยชน์ของชาติโดยประชาชนของแต่ละชาติ ควรคำนึงด้วยว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์แท้จริงมากน้อยเพียงใด

๒. ผลประโยชน์ที่หวังจะได้เมื่อขุดเจาะทรัพยากรขึ้นมานั้น ตราบใดที่ชนชั้นปกครองของสองประเทศยังขัดแย้งทะเลาะกันหรือกระทั่งปะทะสู้รบกัน ตราบนั้นก็ไม่อาจจะขุดเจาะขึ้นมาเป็นประโยชน์เป็นรายได้ให้ใครได้เลย

๓. ยิ่งถ้าเกิดรบรากัน เช่นถ้าญี่ปุ่นกับจีนรบกัน นั่นก็คือหายนะของจีน-ญี่ปุ่นและชาวเอเชียทั้งหมดด้วย การแก้ปัญหาจึงต้องเดินแนวทางสันติวิธีเท่านั้น ซึ่งแม้จะมีความยากลำบาก แต่ถ้าประเทศคู่ขัดแย้งมีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ดีงามคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะกระจายแบ่งให้ถึงมวลประชาชนชั้นล่างอย่างแท้จริง การยุติปัญหาขัดแย้งเรื่องพรมแดนก็จะสำเร็จได้แน่

ทางอีศาน ฉบับที่๑๑ ปีที่๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: วันวานกับวันหน้า
Column: Days Behind And Days Ahead
ผู้เขียน: โชติช่วง นาดอน

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com