หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๐ ปีที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: แก่นเมือง
Column: Noble Monks
ผู้เขียน: ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต


“ใคร ๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไร ก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ต้องเห็นตัวมันเสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง”
(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี / จากธรรมเทศนาเรื่องความโง่ของคนโง่)

พระมหาเถระในภาคอีสานมีหลายรูป ขณะที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เป็นเคารพของคนสองฝั่งในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะสายวิปัสนาจารย์นั้น ผู้ถือเสมือนเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ลูกศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นั้น พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกอย่างเคารพบูชาว่า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายย่อมเป็นหนึ่งมหาเถระที่คนไทย-ลาว สองฝั่งให้ความเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง

พระเดชพระคุณ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ชาติภูมิเดิมกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ (ปีขาล) ในครอบครัวชาวนาตระกูล เรี่ยวแรง ณบ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือจังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของ นายอุตส่าห์ และนางครั่ง มีพี่น้อง ๑๐ คน โดยหลวงปู่เทสก์ เป็นคนรองสุดท้อง

ก่อนที่หลวงปู่จะบรรพชานั้นท่านได้อยู่ปฏิบัติและติดตาม พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เมื่อคราวที่แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมเดินธุดงค์มายังบ้านสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จึงได้ถือโอกาสติดตามออกธุดงค์ และบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ โดยมี พระอาจารย์หลุย เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาไปศึกษาธรรมที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบลฯ และเรียนหนังสือที่วัดศรีทองจนกระทั่งวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดสุทัศนาราม โดยมี พระมหารัฐ รฏฺฐปาโล ป.ธ.๕ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมี พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ต่อมาได้ออกธุดงค์ไปกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้มีโอกาสวาสนากราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทำให้มีกำลังจิตกำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง

ครั้งสมัยที่ท่าน หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปพำนักทางภาคเหนือ หลวงปู่เทสก์ได้จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบท่านอาจารย์ใหญ่ที่ป่าเมี่ยงดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณจังหวัดลำพูน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดอรัญญาวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นเวลา ๙ พรรษา หลังจากนั้นได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีอีก ๒ พรรษา และเมื่อออกพรรษากาล พ.ศ. ๒๔๙๒ ไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นที่อาพาธ ที่วัดบ้านหนองผือ นาในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรมะในภาคใต้กับคณะญาติธรรมโดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ตั้งวัดธรรมยุตขึ้นเป็นวัดแรกให้เกาะภูเก็ตและจำพรรษาอยู่ ณ จังหวัดภูเก็ตนานถึง ๑๕ ปี จนได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต (ธ) เป็นรูปแรกได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในพระราชทินนามที่ พระนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาจารย์

ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่ถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร กับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลังจากออกพรรษาในปีต่อมาจาริกมาที่วัดหินหมากเป้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เป็นการถาวร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ จนกระทั่ง วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัญญวาสี ด้วยปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากาโร) วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้นำพัดยศ และตราตั้งไปถวายพระเดชพระคุณหลวงปู่ถึง วัดหินหมากเป้ง

วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชีและผู้แสวงบุญทั้งหลาย บริเวณโดยรอบสะอาดเรียบร้อยและเงียบสงบ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธุ์ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขง ทัศนียภาพสวยงามได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓

คำว่า “หินหมากเป้ง” นั้นมาจากชื่อหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงที่หน้าวัดนี้เองอันมีรูปลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่า คนพื้นนี้เขาเรียกว่า เต็ง หรือ เป้งยอย คำว่าหมาก เป็นภาษาถิ่น ผลไม้หรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็นลูกแล้วเขาเรียกหมากขึ้นหน้า เช่น หมากม่วงหมากพร้าว เป็นต้น

ธรรมะของหลวงปู่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เช่น

พูดเรื่อง ธรรม มันกว้างมาก ธรรม คือธรรมดา

สภาพอันหนึ่งซึ่งเป็นของจริงเรียกว่า ธรรมะมันกว้าง แต่เมื่อเรามาพูดกันเรื่องธรรมะที่เราปฏิบัติ โดยเฉพาะคือ ปฏิบัติสุจริต ทำชอบ ทำดีนั่นเรียกว่า ธรรมะ ทำชั่ว ก็เรียกว่า ธรรม เหมือนกัน

แต่เราไม่นิยมจะเอาคำนั้นมาพูด คำว่า ธรรมกว้างมาก ดีก็เรียกว่า ธรรม ชั่วก็เรียกว่า ธรรมไม่ดีไม่ชั่วก็เรียกว่า ธรรม

ในตัวของเราทั้งหมด คือ รูปธรรม นามธรรมก็เรียก ธรรม

ถ้าพูดเฉพาะทางปฏิบัติเรียกว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เราดี เพื่อเราจะได้รับความสุข

ในปัจฉิมวัยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ หลวงปู่เทสก์ได้ย้ายที่จำพรรษากลับไปพำนักที่วัดถ้ำขาม บนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนครอีกครั้ง

วัดถ้ำขามขณะนั้นมี พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย เป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งอำนวยความสะดวกทุกประการ โดยหลวงปู่พำนักอยู่ที่กุฏิเก่าที่ท่านอาจารย์ฝั้นเคยอยู่ เมื่อท่านได้มารับอากาศและสัมผัสสถานที่ที่วัดถ้ำขาม ไม่นานสุขภาพร่างกายก็ฟื้นฟูขึ้นอย่างน่าแปลก การฉันอาหารกลับมีรสชาติดี การสรงน้ำก็สดชื่น อาการอ่อนเพลียที่เคยเป็นและโรคภัยบางอย่างก็หายไปเองโดยปริยาย ซึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ และ นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ก็ยังติดตามมาเยี่ยมเยียนดูแลสุขภาพหลวงปู่อยู่มิได้ขาด รวมทั้งคณะแพทย์ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลพรรณานิคม (โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น), โรงพยาบาลพังโคน, โรงพยาบาลสว่างแดนดิน และโรงพยาบาลสกลนคร

เหตุหนึ่งที่หลวงปู่เทสก์ตัดสินใจอยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำขามกับพระอาจารย์เขี่ยมเรื่อยมาเพราะสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งอาพาธหนักครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เวลาประมาณ ๒๑.๔๕ น. สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี ๗๑ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์

ผู้เขียนยังจดจำบรรยากาศในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เมื่อวันที่ ๘มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ดี ในวันนั้น ทั้งก่อนหน้างานและหลังวันงาน พระเถราจารย์และคลื่นศรัทธาจากทั่วสารทิศมุ่งตรงไปยังวัดหินหมากเป้งรวมทั้งพี่น้องที่อยู่ฝั่ง สปป.ลาว ก็ข้ามมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น

ธรรมะ คำสอน ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีถูกนำมาเผยแผ่อย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปหนังสือและเล่าผ่านอัตโนประวัติของหลวงปู่ฯ สมกับเป็นเนื้อนาบุญของผู้คนสองฝั่งโขงโดยแท้.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com