ปิดเล่ม
“พลังคนอีสานสำคัญมาก การพัฒนาไม่ใช่เฉพาะจังหวัด แต่ต้องทำทั้งภาคอีสาน ต้องสร้างความหวังให้คนรุ่นใหม่ของอีสานช่วยกันพัฒนาให้อีสานเจริญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ระยะสั้น ๆ แต่ยาวนานตลอดไป การรวมตัวของคนอีสานในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นการพลิกวิกฤติที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาให้เป็นโอกาส ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานทั้งระบบ” (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ : ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ “งานสัมมนายุทธศาสตร์ประชารัฐกับการขับเคลื่อนอีสานทศวรรษใหม่”)
รัฏฐาธิปัตย์กำลังจะนำพาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ไปทางไหน ?
มีเรื่องราวที่เราจะนำมาเสนอใน “ทางอีศาน” อีกมากในฉบับต่อ ๆ ไป
เดือนนี้ขอนำวิสัยทัศน์ของรัฐที่เสนอไว้เมื่อปีที่แล้ว ๒๕๕๙ มาเสนออย่างย่นย่อก่อนเท่านั้น
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีปาฐกถาหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย อนาคตเศรษฐกิจอีสาน” ในงานสัมมนา เปิดยุทธศาสตร์ประชารัฐกับการขับเคลื่อนอีสานทศวรรษใหม่ ครั้งที่ ๑ สรุปย่อ ๆ ว่า
โอกาสของภาคอีสานกำลังจะมา เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร วัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งมีศักยภาพสูงมาก จะนำเอาพลังเหล่านั้นมาใช้อย่างไรช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ภาคอีสานจะได้รับการพัฒนา แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นภูมิภาคใหญ่เป็นอันดับแรกของประเทศ มีประชากร ๑ ใน ๓ ของประเทศ มีทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ มีความขยัน อดทน ทำงานได้ทุกประเภท มีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงเป็นดินแดนที่ยากจนที่สุด มีความเหลื่อมลํ้าด้านรายได้มากที่สุด มองไปข้างหน้าเห็นโอกาสของภาคอีสานกำลังจะมา เนื่องจากความเจริญย้ายจากฝั่งตะวันตกมาสู่ตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้อาณาบริเวณนี้กลายเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ของโลก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร สิ่งทอ ฯลฯ มีฐานการผลิตในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ กลุ่มนี้คือหัวใจแท้จริงของอาเซียน การพัฒนาอีสานจึงต้องมองว่าอีสานเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศ GMS หรือกลุ่มประเทศลุ่มนํ้าโขง (ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนยูนนาน) ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเชื่อมกัน คมนาคมเชื่อมกัน การใช้แรงงานร่วมกันในฐานะที่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี
พิจารณาแล้ว คนอีสานคงจะไม่ได้…อะไรนักชาวบ้านระดับล่างน่าจะ “เสีย” มากกว่า “ได้”
เพราะวิสัยทัศนของรัฐ มุ่งจะเอาแต่ “ทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร วัตถุดิบ” จากภาคอีสาน
อันที่จริงในภาคอีสานก็เกิดความตื่นตัว ศึกษาค้นคว้าหายุทธศาสตร์พัฒนาอีสานในทศวรรษหน้ากันไว้ไม่น้อยแล้ว
แต่ขณะนี้ภาครัฐตัดสินใจไปแล้วว่า จะพัฒนาอภิโครงการในภาคตะวันออกเป็นภาคแรก (ดูคอลัมน์ “เบิ่งไทย”) การพัฒนาเมืองและอภิมหาโครงการด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงนั้น จะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกก่อน
เรื่องนี้ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของคนอีสาน ?
คอลัมน์ : ปิดเล่ม
Column : Last But Not Least
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๖๑
ปีที่ ๖ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐
ฉบับ ก้าวที่กล้าปีที่ ๖