ภูมินามแม่นํ้าโขง : หลันชางเจียง กิวลุ่งเกียง เก้าลวง กาหลง

ภูมินามแม่นํ้าโขง : หลันชางเจียง กิวลุ่งเกียง เก้าลวง กาหลง

เรื่องราวของแม่นํ้าโขงเป็นมหากาพย์หลากสีสันที่เล่าขานไม่มีวันจบสิ้น ไม่ว่าจะหยิบยกประเด็นใดที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงขึ้นเสวนาล้วนแต่สร้างสีสันอันน่าติดตามทั้งสิ้น สายน้ำที่มีความยาวถึง ๔,๙๐๙ กิโลเมตรที่พาดผ่านจากจีน พม่า ลาว ไทย  กัมพูชา ถึงเวียดนาม ย่อมทําให้แต่ละท้องถิ่นมีนามเรียกขานแม่น้ำโขงที่แตกต่างกันออกไป และต่างมีเรื่องเล่าที่พยายามอธิบายความหมายของแม่นํ้าโขงตามทัศนะของตน ดังที่จะได้ร่วมกัน “เปิดผ้าม่านกั้ง” เรื่องราวของ “ภูมินามแม่นํ้าโขง”

หลันชางเจียง

เรื่องราวจากหนังสือ “โขงนทีสีทันดร” ของ ธีรภาพ โลหิตกุล สํานักพิมพ์ทางอีศานได้กล่าวถึงภูมิศาสตร์ของแม่น้ำโขงจากต้นกำเนิดในที่ราบสูงชิงไห่ – ธิเบต ประเทศจีน อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญของเอเชียอีก ๔ สาย คือ หวงเหอ แยงซี สาละวิน และพรหมบุตร

แม่นํ้าโขงมีจุดเริ่มต้นจากหิมะที่ระดับความสูงกว่า ๕,๐๐๐ เมตร จากระดับนํ้าทะเลปานกลาง หิมะเหล่านี้จะละลายกลายเป็นธารนํ้าแข็ง จนเป็นสายนํ้า ไหลเข้าสู่จังหวัดตี๋ชิ่ง ซึ่งในบริเวณนี้จะมีแม่น้ำที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงชิงไห่ – ธิเบต ๓ สาย ได้แก่

๑. นู่เจียง 怒江 หรือ แม่นํ้าสาละวิน

๒. หลันชางเจียง (แม่นํ้าล้านช้าง) 澜沧江 หรือ แม่นํ้าโขง (湄公河 เหมยกงเหอ)

๓. จินซาเจียง 金沙江 หรือ แม่นํ้าแยงซี จากชื่อของแม่นํ้าโขงที่ชาวจีนเรียกว่า “หลันชาง” ทําให้มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ “ล้านช้าง” ซึ่งเป็นชื่ออาณาจักรสําคัญตอนใต้ของจีน แต่ในภาษาจีนโบราณ “หลันชางเจียง” มีความหมายเฉพาะว่า “แม่นํ้าร้ายที่สูงชันและไหลเชี่ยว”

หลันชางเจียงไหลผ่านเขตยูนนานอันเป็นพื้นที่สูงชันทําให้เกิดกระแสนํ้าร้ายที่สูงชันและไหลเชี่ยว จนกระทั่งหลันชางเจียงเริ่มสงบเมื่อเข้าสู่พื้นที่ราบลุ่ม อันเป็นเขตอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ไตในพื้นที่สิบสองปันนา อันเป็นดินของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า  ไทลื้อ

จากอักษรภาพ “เจี๋ยกู่เหวิน” ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน (ภาพซ้ายสุด) “หลง” ก็คือ “พญางูที่สวมมงกุฎ (มีหงอน)” คำว่า “หลง – มังกร” ทำให้สับสนกับตัว “มกร” พาหนะของวิรุณเทพ เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคพระเวท (ควบคุมนํ้า, มหาสมุทร และฝน) ซึ่งรูปประติมากรรมมกรที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียทําเป็นรูปจระเข้

กิวลุ่งเกียง

หนังสือ “วัฒนธรรมข้าวไท” โดย ทองแถม นาถจํานง ได้อธิบายคติการนับถือเจ้าแห่งนํ้าของคนในลุ่มแม่นํ้าโขงว่าแต่เดิมนับถือ “เงือก” ที่ไม่ใช่ mermaid ของฝรั่งหรือเงือกมีขาของลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาอย่างที่สุนทรภู่อธิบายไว้ แต่เงือกตามคติของกลุ่มคนในลุ่มแม่นํ้าโขงเป็น “ผีนํ้า” มีหัวเป็นจระเข้จนกระทั่งจินตนาการเกี่ยวกับเจ้าแห่งน้ำของกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปเป็นพญางูสวมมงกุฎ หรืองูมีหงอน ดังที่ปรากฏในอักษรภาพ “เจี๋ยกู่เหวิน” คติเรื่องผีน้ำที่เป็นพญางูสวมมงกุฎได้เข้ามาซ้อนทับความเชื่อเรื่องเงือกอย่างแนบสนิท ทําให้คติเรื่องเจ้าแห่งนํ้าได้เปลี่ยนจากเงือกเป็นมังกร หรืองูมีหงอนในที่สุด

ชาวจ้วงเรียกมังกรว่า “หลง” ส่วนไทลื้อในสิบสองปันนาเรียกมังกรว่า “ลวง” เป็นเจ้าแห่งนํ้าตามคติอย่างจีนที่แพร่เข้ามาในลุ่มแม่นํ้าโขงก่อนคติพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

ลุ่ง ล่ง หลง เป็นภาษาจีนมีความหมายว่า มังกรดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น “กิวลุ่งเกียง” หรือ “จิ๊วล่งจาง” จึงมีความหมายว่า “มังกรทั้งเก้า” ซึ่งภูมินามแม่นํ้าโขงในความหมายนี้ได้ถูกบันทึกไว้โดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ในหนังสือ ไทยสิบสองปันนา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ นอกจากนี้ยังมีนิทานอธิบายถึงภูมินามแม่น้ำโขง เกี่ยวกับมังกรทั้งเก้าอันเป็นที่มาของชื่อ “กิวลุ่งเกียง” ว่า

“…มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อนางส้า อาศัยอยู่ริมแม่นํ้า แถบภูเขาเลาซัน วันหนึ่งนางส้าได้ไปหาปลาที่แม่นํ้าโขง มีขอนไม้ใหญ่ไหลมาถูกตัวนาง ทำให้นางบังเกิดความรู้สึกประหลาด ต่อมาไม่นานนางส้าก็มีครรภ์คลอดเป็นบุตรชายออกมา ๑๐ คน

วันหนึ่งขอนไม้ที่นางไปถูกต้องนั้นได้กลับกลายเป็นมังกรใหญ่ ผุดขึ้นเหนือน้ำ ร้องถามนางว่า “ลูกข้อยอยู่ที่ไหน”

นางส้าตกใจพาบุตรของตนวิ่งหนีเว้นแต่บุตรคนสุดท้ายซึ่งพาหนีไปไม่ทันมังกรจึงเข้ามาเลียเด็กนั้น แล้วลงนํ้าโขงหายไป

เมื่อเด็กทั้งสิบของนางส้าเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม นางก็สู่ขอบุตรสาว ๑๐ คนของเพื่อนบ้านข้างเคียงให้เป็นภรรยา ส่วนบุตรชายคนสุดท้องนั้น ต่อมาได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านับตั้งแต่นั้น ตระกูลนี้ก็มีบุตรหลานแพร่หลายไปเป็นชนชาติไต…”

นิทานข้างต้นทำให้เห็นคติชนของคนในลุ่มแม่นํ้าโขงที่มีต่อมังกรหรือลวง ในฐานะเจ้าแห่งนํ้าที่มีอํานาจสามารถบันดาลให้คุณให้โทษ จนผู้คนสองฝั่งโขงต้องเคารพยําเกรง และถูกนํามาเรียกขานเป็นภูมินามแม่นํ้าโขงว่า “แม่นํ้ามังกรทั้งเก้า” หรือ “แม่นํ้าลวงทั้งเก้า”

เก้าลวง

จากภูมินามแม่น้ำโขงตามคติของไทลื้อสิบสองปันนาที่ให้ชื่อแม่นํ้าโขงว่า “แม่นํ้ามังกรทั้งเก้า” หรือ “แม่น้ำลวงทั้งเก้า” แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดในตํานานเรื่องใดเลยว่า นาคทั้ง ๙ แห่ง แม่น้ำโขงคือใคร ผู้เขียนพบว่าในตำนานอุรังคธาตุนั้นได้กล่าวถึงบทบาทของนาคกับการเกิดแม่น้ำโขง โดยในตํานานเล่าไว้ว่า แต่เดิมในหนองแสมีนาคสองสหาย ฝ่ายหนึ่งชื่อ “พินทโยนกวตินาค” อาศัยอยู่หัวหนองฝั่งหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งชื่อ “ธนมูลนาค” อาศัยอยู่หางหนองฝั่งหนึ่ง ธนมูลนาคมีหลานชื่อ “ชีวายนาค”

ธนมูลนาคกับพินทโยนกวตินาคได้ให้สัญญาต่อกันว่า หากมีสัตว์ตกลงมาในบริเวณที่อยู่ของตนจะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งส่งให้แก่กัน  อยู่มาวันหนึ่งมีช้างมาตกลงที่หางหนอง ธนมูลนาคจึงได้แบ่งเนื้อช้างครึ่งหนึ่งไปให้แก่พินทโยนกวตินาค ต่อมา มีเม่นตกลงมาที่หัวหนองพินทโยนกวตินาคได้แบ่งเนื้อเม่นครึ่งหนึ่งไปให้แก่ธนมูลนาค ปรากฏว่า ธนมูลนาคไม่อิ่มจึงตั้งข้อสังเกตว่าเม่นมีขนที่ยาวใหญ่ตัวคงจะใหญ่ เนื้อเม่นที่พินทโยนกวตินาคแบ่งมาให้จึงน่าจะไม่ถึงครึ่ง ทําให้นาคทั้ง ๓ จึงเกิดการทะเลาะขบกัดกันจนนํ้าหนองแสขุ่น ฝูงสัตว์ทั้งหลายล้มตาย พระอินทร์จึงสั่งให้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มาขับไล่พินทโยนกวตินาคธนมูลนาค และชีวายนาคออกจากหนองแส ความในตอนนี้ปรากฏในตํานานอุรังคธาตุว่า

“…ในกาลปางก่อนพุ้นแท้แล นาโคราชา ยังมีพญานาค ๒ ตัว สหายฺยเกวสฺสติ ก็อยู่เซิ่งอันเป็นสหายแห่งกันอยู่ในนํ้าหนองแสที่นั้น ตัว ๑ ชื่อว่า พินทโยนกวตินาค ตัว ๑ ชื่อว่า ธนมูลนาค อยู่หั้นแล พินทโยนกวตินาคตัวนั้นอยู่หัวหนอง ธนมูลนาคอยู่ท้ายหนองที่นั้น กับทั้งนาคตัวหลานตัวหนึ่ง ชื่อว่า ชีวายนาค

พญานาคทั้ง ๒ ให้สัจจะปฏิญาณแก่กันว่าดังนี้ผิว่า สัตว์ตัวใดหากมาตกหัวหนองก็ดีแลท้ายหนองก็ดี ราทั้ง ๒ จงรักกันด้วยอันเลี้ยงชีวิต จงแบ่งปันกันกินเทอญ ราจาเอาหลานราตัวชื่อวาชีวายนาคนี้เป็นสักขีแก่ราทั้ง ๒ เทอญ ว่าดังนี้ นาคก็เอาปฏิญาณซึ่งกันฉันนี้ก็มีหั้นแล แล้วก็พรากจากกันหั้นเมือมาสู่ที่อยู่หั้นก็มีแล

แต่นั้นมาไปภายหน้า บ่นานเท่าใด เอโกนาโค ยังมีในวันหนึ่ง ช้างสารตัว ๑ ก็มาตกหางหนองที่นั้น พญานาคตัวชื่อว่าธนะมูลนาคก็ไปปาดเถือเอาซี้นได้แล้วก็มาแบ่งพูดซี้นเคิ่ง ๑ เมือปันให้พินทโยนกวตินาคกินก็พออิ่ม

อยู่มาได้ ๒-๓ วัน เม่นตัวหนึ่งมาตกกํ้าหัวหนอง พญานาคตัวช่อว่า พินทโยนกวตินาคก็เอามาปาดเถือยังซี้นแล้วก็แบ่งปันพูดซิ้นเคิ่งหนึ่งปันไปให้ตอบพญาธนมูลนาคทางหางหนองเคิ่ง ๑ หั้นแล ก็บ่พออิ่มที่นั้นธนมูลนาคก็นำไปดูทางหัวหนองก็เล่าเห็นขนเม่นยาวค่าศอก กุทโธ ก็ลวดมีคำเคียดมากนัก ก็เอาขนเม่นมาให้ชีวายนาคตัวเป็นหลานตัวเป็นสักขีเบิ่งดูด้วยคําว่า อันว่าสัจจะปฏิญาณอันราจักเลี้ยงชีวิตแห่งเราติดกับด้วยพินทโยนกวตินาคนี้ก็ขาดเสียแล้วแล เมื่อเราได้ช้างสารขนมันก็น้อยก็สั้นตัวมันก็ยังใหญ่นัก เราเอาไปปันกันก็พออิ่มแท้ดีหลีนา เม่นตัวนี้รอยว่าตัวใหญ่หลายกว่าช้างสารตัวนั้นบ่สงสัยซะแล

ว่าดังนั้นแล้ว แต่นั้นพญานาคทั้ง ๒ ก็เคียดต่อกันมากนักก็ลวดวิวาทผิดเถียงกันแล้ว ก็จีงลวดเล็วกุมขบตอดเกี้ยวพันกันไปทั่วหนองทุกแห่ง น้ำหนองแสก็ขุ่นมัวมากนัก สัตว์สิ่งทั้งหลายฝูงอยู่ในนํ้าที่นั้นก็ตายไปหมดเสี้ยงแล ที่นั้นเทวดาฝูงเป็นใหญ่อยู่รักษาหนองแสไปห้ามก็บ่ฟัง เทวดาทั้งหลายจีงพร้อมกันออกเมือไหว้พญาอินทร์ ๒ จีงให้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มาขับนาคทั้ง ๓ ตัวนั้นหนีจากหนองแสหั้นแล…”

การที่นาคทั้งสามตัวใช้หน้าอกดั้นแผ่นดินออกจากหนองแส ทําให้เกิดเป็นแม่นํ้าเรียกว่า น้ำคองอก หรือเรียกเป็นคำบาลี ว่า อุรังคนที หรือแม่นํ้าอูในพื้นที่ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ส่วนแม่นํ้าที่เกิดจากพินทโยนกวตินาคที่ได้ดั้นแผ่นดินไปทางเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดเป็นแม่น้ำเรียกว่า แม่น้ำพิงหรือแม่นํ้าปิง และทําให้เมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่าโยนกวตินคร เรื่องราวของกําเนิดแม่นํ้าอูและแม่นํ้าพิง ส่วนธนมูลนาคและชีวายนาคได้ดั้นแผ่นดินเกิดเป็นแม่น้ำผ่านดอยนันทกังฮี เมืองศรีโคตรบอง เรียกแม่นํ้านี้ว่าธนนทีคือ แม่นํ้าของหรือแม่นํ้าโขง ปรากฏในตํานานอุรังคธาตุว่า

“…นาคทั้ง ๒ จีงพันเกี้ยวกันออกหนีคือว่า ธนมูลนาคแลชีวายนาค เอาหัวอกปุ้นแผ่นดินก็เพพังไปเป็นคองอันเลิกแล ชีวายนาค ควัดเป็นคองแม่นํ้ามานําคองอกแห่งตนไป จีงได้ชื่อ นํ้าคองอก แล แต่นั้นจีงเรียกว่า อุรังคนที ความโลกว่า น้ำอู แลพญานาคตัวชื่อว่าพินทโยนกวติ นาคจีงควัดเป็นแม่น้ำเมื่อมาทางเมืองเชียงใหม่พุ้น จีงเรียกชื่อว่าเป็น แม่น้ำพิง แล เมืองอันนั้นจีงเรียกชื่อว่า เมืองโยนกวตินคร ตามชื่อนาคตัวนั้นหั้นแล

…ธนมูลนาคแลชีวายนาคก็ควัดเป็นแม่น้ำมาตีนดอยนันทกังฮี เท่าเถิงเมืองศรีโคตรบอง แต่น้ำอุรังคนทีมาฮอดธนมูลนาคตั้งอยู่จีงเรียกชื่อว่าธนนที ไทแปลว่า แม่นํ้าของ หั้นแล…”

นอกจากนาคทั้ง ๓ ที่ออกมาจากหนองแสจนเกิดเป็นแม่นํ้าโขงแล้ว ยังทําให้ฝูงนาคต้องอพยพออกมาจากหนองแสเช่นกัน โดย ตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึงนาคอีก ๒ ตัวที่อพยพออกมาได้แก่ สีสาสัตตนาคไปอยู่ที่ดอยนันทกังรี สุวรรณนาคไปอยู่ที่ภูปู่เวียน กุทโธทปาปนาคไปอยู่ที่หนองบัวบาน ปัพพารนาคควัดออกไปอยู่ภูเขาลวง สุกขรนาค หัตถีนาคไปอยู่เวินหลอด นอกจากนาคแล้ว ฝูงเงือกงูทั้งหลายได้ตามไปอยู่เป็นบริวารพญานาคด้วยแต่มีพญาเงือกตัวหนึ่งกับพญางูตัวหนึ่งไม่อยู่กับฝูงนาคทั้งหลาย จึงควัดแผ่นดินออกเป็นแม่นํ้าชื่อว่า นํ้าเงือกงู ต่อมาเรียกว่า น้ำงึม ส่วนนาคที่กลัวผีและยักษ์ได้ไปอยู่ที่ลี่ผี ปรากฏความตามตํานานอุรังคธาตุว่า

“…เมื่อนั้น ส่วนว่านาคทั้งหลายมีสุวรรณนาค กุทโธทปาปนาค ปัพพารนาค สุกขรนาคหัตถี สีสาสัตตนาค มี ๗ หัว คหัตถีนาค เป็นเค้า แลนาคทั้งหลายฝูงเป็นบริวารมากนัก อยู่น้ำหนองแสนั้นบ่ได้ เหตุว่านํ้าหนองแสขุ่นมัวเสียมากนักจีงออกมาอยู่แคมน้ำเหนือบก ผีเห็นนาคทั้งหลายออกมาอยู่เหนือบกดังนั้น เขาก็มาหวงแหนกินซากว่านาคจักมายาดชิงกินดอมเขาก็ลวดกระทําร้ายให้เป็นอนตายแก่นาคทั้งหลายด้วยพยาธิเจ็บไข้ผอมเหลืองต่าง ๒ เป็นต้น ลางพ่องก็ตายไป แม่นว่าเงือกก็ดั่งเดียว นาคทั้งหลายจีงเอากันหนีจากแคมหนองแสหั้นนำคองน้ำอุรังคนที แล้วจีงควาหาที่อยู่ลี่ผีสางทั้งหลายแล นาคแลเงือกงูทั้งมวล ก็ล่องนําแม่นํ้าของลงมาใต้

สีสาสัตตนาคจีงอยู่เพียงดอยนันทกังรีหั้นสุวรรณนาคจีงลงมาอยู่เพียงภูปู่เวียน กุทโธทปาปนาคจีงเล่าควัดแต่นํ้าธนนทีนั้น ออกไปเกลื่อนเพเป็นหนองบัวบานไว้แล้วก็อยู่หั้น ลํานั้นนาคทั้งหลายตัวใดมักอยู่ที่ใดก็ไปอยู่ที่นั้นหั้นแลฝูงเงือกงูทั้งหลายอยู่  เป็นบริวารก็ไปนำซุแห่ง

ปัพพารนาคควัดออกไปอยู่ภูเขาลวง พญาเงือกตัว ๑ พญางูตัว ๑ บ่มักอยู่แกมนาคทั้งหลายจีงควัดออกเป็นแม่นํ้าอัน ๑ ว่า นํ้าเงือกงู ลุนมานี้จีงว่า นํ้างึม ก็ว่า แต่นั้นมาตราบต่อเท่าบัดนี้แล

สุกขรนาค หัตถีนาคจีงอยู่เวินหลอด นาคฝูงย่านผียักษ์เป็นนัก เอากันไปเถิงที่อยู่ธนมูลนาคอยู่เมืองศรีโคตรบองใต้ดอยกัปปนคิรี คือว่า ภูกําพร้า จีงควัดแต่นั้นไปเท่าถึงเมืองอินทปัตถนครเท่าฮอดน้ำสมุทร แต่นั้นจีงว่า น้ำลี่ผี มาเท่าบัดนี้หั้นแล…”

จะเห็นได้ว่า ตํานานอุรังคธาตุในตอนที่กล่าวถึงนาคกับการทำให้เกิดแม่น้ำโขง มีนาค ๙ ตัว ที่เกี่ยวข้องกับการกําเนิดแม่นํ้าโขง โดยที่ตํานานอุรังคธาตุได้ให้รายละเอียดที่น่าสนใจที่ช่วยอธิบายถึงนาคทั้ง ๙ ตัวที่เป็นที่มาของภูมินามแม่นํ้าโขงว่านาค ๙ ตัวนั้น ประกอบด้วย ๑.พินทโยนกวตินาค ๒.ธนมูลนาค ๓.ชีวายนาค ๔.สุวรรณนาค ๕.กุทโธทปาปนาค ๖.ปัพพารนาค ๗.สุกขรนาค ๘.สีสาสัตตนาค และ ๙.หัตถีนาค

กาหลง

ในหนังสือพะเยา มาจากไหน ? โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้อธิบายเกี่ยวกับแม่น้ำกาหลง ซึ่งเป็นชื่อที่พบในวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง และพระลือว่า ชื่อแม่น้ำกาหลงในวรรณกรรมทั้งสองเรื่องเพี้ยนมาจาก “เก้าลวง” โดยในวรรณกรรมเรื่องพระลอได้อธิบายตําแหน่งเมืองแมนสรวงของพระลอว่าอยู่ทาง “ทิศตะวันออกหล้า แหล่งไล่สีมา ท่านนา” สวนเมืองสรองของพระเพื่อน พระแพง มีตำแหน่งอยู่ทาง “ทิศตะวันตกไท้ท้าวอะคร้าวครอบครองยศ” แต่ไม่ได้บอกว่าใช้อะไรเป็นจุดอ้างอิง จึงไม่สามารถกําหนดตําแหน่งได้ว่า เมืองแมนสรวงและเมืองสรองอยู่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของอะไร

เมื่อพิจารณาจากตอนพระลอเสียงน้ำข้ามแม่นํ้ากาหลงที่ว่า “ถึงแม่นํ้ากาหลง ปลงช้างชิด ติดฝั่ง นั่งสําราญรี่กัน แล้ว ธ ให้ฟันไม้ทําห่วงพ่วงเป็นแพสรรพเสร็จ ธ ก็เสด็จข้ามแม่นํ้าแล้วไส้”

ความในตอนนี้อธิบายได้ว่า จุดอ้างอิงระหว่างเมืองแมนสรวงและเมืองสรองคือแม่นํ้าเพราะพระลอต้องต่อแพข้ามไป ดังนั้น เมืองแมนสรวงของพระลอจึงอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่นํ้ากาหลง ในขณะที่เมืองสรองของพระเพื่อนพระแพงอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้ากาหลง

เคยมีผู้ตั้งประเด็นว่า แม่นํ้ากาหลงคือแม่นํ้าที่อยู่ใกล้ ๆ กับเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงใหม่ แต่ลํานํ้านั้นชื่อนํ้าแม่ลาว ดังนั้น ชื่อเวียงกาหลงจึงไม่เกี่ยวกับแม่นํ้ากาหลงในวรรณคดีเรื่องพระลอ

สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงสรุปว่า แท้จริงแล้ว “แม่นํ้ากาหลง” คือ “แม่นํ้าโขง” หรือ “แม่นํ้าของ” ที่พบในโคลงท้าวฮุ่งท้าวเจือง โดยชื่อนํ้ากาหลงมาจากเก้าลวงหมายถึงพญานาค ๙ ตัวนานเข้าชื่อเก้าลวงจึงเพี้ยนไปเป็นกาหลง

เปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้ได้ประชุมเรื่องราวอันว่าด้วย “ภูมินามแม่นํ้าโขง” มาเป็นบรรณาการแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นคติชนอันหลากหลายของนานาชาติพันธุ์ ที่ร่วมกันเป็นเจ้าของครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่นํ้าโขงมายาวนาน โดยอาศัยสายนํ้าแห่งนี้บ่มเพาะผลิตสร้างและส่งต่ออารยธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ตราบเท่าที่แม่น้ำโขงยังไหลผ่าน ภูมินามแม่น้ำโขง : หลันชางเจียง กิวลุ่งเกียง เก้าลวง กาหลง จะยังคงเล่าขานไม่มีวันจบสิ้น

******

คอลัมน์  เปิดผ้าม่านกั้ง  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๑| พฤษภาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เข้าจํ้า ผอกผี
จันทน์เทศ ไม้ที่มีค่าควรเมือง
อมตะอีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com