The Tai Era เบิกฟ้าปีใหม่ไท ไตศักราช (๑)
วันนี้…วันดี
เมื่อวานนี้ (ศุกร์ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑) ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
วันนี้ (เสาร์ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑) คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑
สังคมชาวกรุงอาจจะไม่ทันได้ตระหนักกันอย่างทั่วถึงว่าเป็นวันที่มีความสำคัญแต่เก่าก่อน แต่สำหรับ “ชาวไทใหญ่” นั้น วันนี้คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวไททั้งมวล ยิ่งไปกว่านั้น ชาวกรุง (ไทย) คุ้นชินกับปี พ.ศ. (พุทธศักราช)
นักวิชาการ (ไทย) จำนวนไม่น้อยก็ถนัดที่จะบรรยาย เขียน สอนลูกศิษย์ และอ้างอิงด้วยปี ค.ศ. (คริสต์ศักราช)
แต่ท่านทราบไหมว่า ชาวไทใหญ่มีการใช้ “ปี ต.ศ. (ไตศักราช)” ร่วมกัน
วันนี้… อาจารย์ชลได้รับจดหมายจากปราชญ์ชาวไทใหญ่ท่านหนึ่ง มีข้อความว่า
“เรียน ท่านอาจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ที่เคารพ
สุขสันต์ วันปีใหม่ไตครับ
สวัสดี ปีใหม่ ๒๕๖๒ (๒๐๑๙) ล่วงหน้าด้วยในวารดิถีปีใหม่ไทใหญ่ ไตศักราช (ต.ศ.๒๑๑๓) นี้ ขอกราบอาราธนาคุณพระคุณเจ้า/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ท่านอาจารย์เคารพ ศรัทธา ดลบันดาลให้อาจารย์ทั้งครอบครัวประสบแต่ ความสุข มีสุขภาพแข็งแรงตลอดปีใหม่นี้ และตลอดไปครับ
ไตศักราช (ต.ศ.๒๑๑๓) ปีใหม่ไทใหญ่ (ตามหลักจันทรคติของไต) เหลินเจ๋ง ขึ้นหนึ่งค่ำ (ไทย-เดือนอ้าย ขึ้นหนึ่งค่ำ) ปีนี้ ตรงกับ วันที่ ๘ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑ เวียนมาครบรอบหนึ่งปีแล้ว…”
ในจดหมายฉบับนี้ ก็เหมือนอย่างเคย ท่านเขียนเรื่องราวที่น่าสนใจมามากมาย
เรื่องราวลึกซึ้งจนเมื่อหลายเดือนก่อน ได้เอ่ยปากชักชวนท่านว่า วงวิชาการไทยและคนไทยเรายังรู้จักเรื่องราวของพี่น้องชาวไทใหญ่กันน้อยมาก มาร่วมกันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไทใหญ่” สักเล่มดีไหม…
หนังสืออาจจะขายไม่ได้มาก แต่เชื่อว่าจะมีคนสนใจอ่านแน่นอน
ท่านก็ตกปากรับคำอย่างไม่ลังเล และเป็นฝ่ายเขียนทยอยส่งมาเป็นระยะ ๆ โดยชลธิราเป็นฝ่ายตั้งโจทย์นำร่อง ท่านเป็นฝ่ายตอบโจทย์ แต่ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ชลธิราก็วุ่น ๆ กับเรื่องอื่นหลายเรื่อง (จริง ๆ) ท่านกลับเป็นฝ่ายตั้งเรื่องตั้งประเด็นที่น่าสนใจชวนฉุกความคิดนึกมากขึ้น
บัดนี้เวลาล่วงเลยจนครบขวบปี ที่ “ไทน้อย-ไทใหญ่” ได้ปุจฉา-วิสัชนากันผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต
โดยยังไม่ทันได้ “นัดพบ” กันเลย
จนถึงวันนี้….วันขึ้นปีใหม่ไท “ไตศักราช ๒๑๑๓”
ชลธิรา-ผู้น้อยชาวไทย คงต้องทำงานกับ ผู้ใหญ่-ชาวไทใหญ่ท่านนี้ อย่างจริงจังเสียที
ปราชญ์ไทใหญ่ท่านนี้ ชาวไทใหญ่ด้วยกันเรียกขานท่านว่า “จายจื้นคำแหลงยอดไต”
ในจดหมายที่เขียนถึงชลธิรา ท่านลงนามว่า “ชายชื้น คำแดงยอดไตย”
ที่ชลธิรายังรีรอ ไม่กล้าลงมือเขียนเรื่อง “ไทใหญ่” สักทีนั้น ก็เพราะรู้ดีว่า “เรื่องมันใหญ่มาก-ระดับมหากาพย์” ทีเดียวเชียว แต่ความรู้เรายังน้อย “เร่งศึกษา” เท่าไร ก็รู้สึกว่า “ยังไม่พอ”
ท่านจายจื้นคำแหลงยอดไต ดูเหมือนว่าจะอ่านใจชลธิราออกกระมัง จึงหยอดคำให้กำลังใจมาพร้อมกับคำอำนวยพรในวันปีใหม่ไตข้างต้นว่า
“ไม่ต้องห่วง, ท่านอาจารย์เป็นผู้ศึกษาเรื่องไทใหญ่ ท่านอาจารย์ควรรู้ละเอียดมากกว่าคนอื่น คนใดสนใจถามสิ่งใด ท่านอาจารย์จะตอบได้ทันที เพราะว่างานเขียนของเรา เป็นงานเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้สนใจได้รับรู้และเข้าใจอย่างดี ผมจะเขียนตามแนวทางของเราไปเรื่อย ๆ ต่อไปหากมีโอกาสอำนวยที่ไหนหรือจุดไหน ผมจะทำความเข้าใจที่นั่นทันที เช่นจากการเริ่มต้นติดต่อกันสองเรามาถึงวันนี้ ท่านอาจารย์ได้สัมผัส ‘คำไต’ รวมแล้วมีพอจะนำมาตั้งเป็นตัวอย่างการศึกษาได้ดี”
เอาเป็นว่า ได้ฤกษ์งามยามดีแล้วนะคะ
มี “ปราชญ์ยอดไต” มาอวยชัยให้พร พร้อมกับยินดีมอบความรู้อันหาค่ามิได้ให้
ขอเราจงมาเริ่ม “ไตศักราช” กัน
นับแต่วันนี้ ‘เหลินเจ๋ง ขึ้นหนึ่งค่ำ’ เป็นต้นไป…
*****
ชลธิรา สัตยาวัฒนา เขียนเมื่อ เสาร์ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑
ชายชื้น คำแดงยอดไตย เขียนเมื่อ ไตศักราช ๒๑๑๓ เหลินเจ๋ง ขึ้น ๑ ค่ำ (ปีใหม่ไทใหญ่)
บาเรนด์ เจ. เทอร์ล (ฺBarend J. terwiel) และ ชายชื้น คำแดงยอดไตย
Chaichuen Khamdaengyodtai
ชายชื้น คำแดงยอดไตย
– อาจารย์พิเศษสอนภาษาไทใหญ่ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
– การจัดทำแคตตาล็อกต้นฉบับของฉาน ที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก (2538-2540); หอสมุดแห่งรัฐในเบอร์ลิน (1997) และห้องสมุดรัฐบาวาเรียในมิวนิค (พ.ศ.2541-2542)ประเทศเยอรมนี
– สมาชิกของโครงการ DoBeS, เพลงดั้งเดิมและบทกวีของ Upper Assam – เอกสารภาษาศาสตร์และชาติพันธุ์หลายแง่มุมของ Tangsa, Tai และชุมชน Singpho ใน Margherita, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศอินเดีย ทำงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับภาษาไท ตุลาคม – ธันวาคม 2007 และตุลาคม – ธันวาคม 2008
– ผู้บริหารมูลนิธิวัดปาเป้า, วัดไทใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่
– ผู้ประสานงานศูนย์วัฒนธรรมและวรรณคดีไท จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
– หนังสือที่ตีพิมพ์ – “Shan Manuscripts Part One” Shan Catalogues ใน Hamburg, Berlin และ Munich, เยอรมนี, ตีพิมพ์ใน Stuttgart, 2003, Germany;
– พจนานุกรมไทใหญ่ – ไทย กับการออกเสียงสัทอักษรสากล ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
– การอ่านวรรณกรรมในประเพณีพิธีกรรมของชาวไทยใหญ่: ลักษณะเด่น ภูมิปัญญา และคุณค่า 2013 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แห่งประเทศไทย
*****
The Dawn of the Tai วิธีวิทยาเจาะเวลาหา ‘ยุคเพรางาย’ ~ อรุณรุ่งของชนชาติไท (๓)
“ความล่องคง” ประวัติศาสตร์ขับขานของชนชาติไท (๔)