X – สมัย

เมื่อ x – สมัย… ถ้าเป็นเด็กบ้านนอกคอกนาแถบถิ่นดินอีศานในยุค Gen -X
ภาพบรรยากาศเหล่านี้คงทำให้หวนถึงอะไรหลายอย่าง

เมื่อสมัยเรียนในระดับชั้นป.โท จำาได้ว่ามีอยู่ชั่วโมงหนึ่งที่อาจารย์ท่านถามนิสิตวัยห่ามในห้องว่า “ในห้องนี้มีคน Gen ไหนกันบ้าง”

“Y ค่ะอาจารย์” เสียงสาวน้อยที่สุดในห้องตอบด้วยน้ำเสียงสนิทสนม

“ก็น่าจะมีคนเดียว ส่วนมากก็จะเป็น X เนาะ” อาจารย์ท่านยิ้ม ๆ

มึนตึบ…ยอมรับครับว่าไม่รู้เรื่องเลย อาจารย์ก็ขยายแต่เรื่องหลักการบริหารในแต่ละยุคสมัย ไม่ได้ขยายเรื่อง x เรื่อง y ต่อ เลยได้แต่เก็บเอาความสงสัยกลับมาถามผู้รู้ Google จึงได้รู้เรื่อง Gen พอเลา ๆ ซึ่งพอสรุปได้ว่า…

มนุษย์บนโลกเรานี้จะมีพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ หรือค่านิยมในการดำาเนินชีวิตที่แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัยที่เกิด ซึ่งขณะนี้สามารถจัดกลุ่มได้ ๘ กลุ่ม หรือ 8 Generation หรือ 8 Gen นั่นแหละ ซึ่งก็คือ

๑. Lost Generation คือ คนที่เกิด พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๔๓ เป็นยุคสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เสียชีวิตหมดแล้ว

๒. Greatest Generation คือ คนที่เกิด พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๔๖๗ ซึ่งเป็นยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนกลุ่มนี้เป็นกำลังหลักในการสู้รบ และกลายมาเป็นกำลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากยุติสงครามแล้วด้วย ในช่วงสภาวะบีบคั้นเช่นนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีความคิดเห็น ความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน คือ เชื่อในรัฐบาล เชื่อในอำนาจรัฐ มีความเป็นชาตินิยม

๓. Silent Generation คือคนที่เกิด พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ ผู้คนมีชีวิตที่ยากลำบาก เนื่องจากภาวะสงครามที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องทำงานหนัก ผู้หญิงเริ่มออกทำงานนอกบ้านแทนผู้ชายที่ต้องไปสู้รบ ในยุคนี้จึงมีคนเกิดน้อย คนรุ่นนี้มีความเคร่งครัดถือระเบียบแบบแผนมาก

๔. Baby Boomer คือคนที่เกิดใน พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๐๗ เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นยุคที่แต่ละประเทศเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนักจากภาวะสงคราม มีค่านิยมในการมีลูกหลายคนเพื่อเป็นกำลังแรงงาน จึงมีการเกิดมากในยุคนี้ และน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีมากที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็อยู่ในช่วงของการก้าวย่างสู่วัยชราแล้ว คนรุ่นนี้จะมีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี มีความประหยัดอดออม

๕. Generation X (Gen – X ) คือคนที่เกิดใน พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นยุคที่โลกเริ่มมั่งคั่งแล้ว จึงได้ใช้ชีวิตอย่างสบาย ชอบอะไรง่าย ๆ ไม่เป็นทางการไม่ยึดขนบธรรมเนียมประเพณีมากนักยอมรับเรื่องการอยู่ก่อนแต่ง การหย่าร้างเพศที่ ๓ ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ยุคนี้จะคนละขั้วกับยุค Baby Boomer เนื่องจากการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรทรัพยากร จึงได้มีการควบคุมอัตราการเกิด อย่างเช่นในจีนรณรงค์ให้มีลูกได้เพียงคนเดียว

๖. Generation Y (Gen – Y) คือคนที่เกิดใน พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๔๐ เป็นยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจก็เจริญเติบโตอย่างมาก พ่อแม่เอาใจใส่ลูกเป็นอย่างดีเด็กในยุคนี้จึงมักถูกตามใจตั้งแต่เด็ก ได้ในสิ่งพ่อแม่ไม่ค่อยได้ ไม่ชอบถูกบังคับใช้อยู่ในกรอบมีอิสระในความคิด แต่ไม่ค่อยมีความอดทนมีความสามารถในการทำงานเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ชอบงานด้านไอที

๗. Generation Z (Gen – Z ) คือคนที่เกิดใน พ.ศ. ๒๕๔๐ ขึ้นไป ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยเด็กและย่างเข้าวัยรุ่นในขณะนี้ พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย จึงมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้เร็ว เพราะพ่อแม่ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือเด็กกลุ่มนี้จะถูกเลี้ยงโดยคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ เพราะทั้งพ่อและแม่ของตัวเองต้องออกไปทำงาน

๘. Generation C (Gen – C ) คือกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามช่วงอายุ แต่แบ่งตามพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ก็คงไม่ได้หมายถึงรุ่น Gen – Y และรุ่น Gen – Z เพราะคนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคของการสื่อสารอยู่แล้ว แต่คือคนในรุ่น Baby Boomer และกลุ่ม Gen – X นั่นเอง ซึ่งในอดีตคนสองรุ่นนี้ไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนเลย

พินิจดูก็เข้าเค้าอย่างเขาว่า โดยเฉพาะบุคลิกลักษณะของคนในยุค Gen – C เพราะเป็นยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์กวาดต้อนเอาคนทุกยุคทุกสมัยมารวมสุมกันไว้ได้ เป็นสมัยที่เทคโนโลยีครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นกันถ้วนทั่วกลายเป็นสังคมก้มหน้าอย่างเขาว่าจริง ๆ จะตงิดใจบ้างก็ในประเด็นที่ว่า “คน Gen X เป็นยุคที่โลกเริ่มมั่งคั่งแล้ว จึงได้ใช้ชีวิตอย่างสบาย” มันใช่หรือ?

เพราะเด็ก Gen X อย่างผมยังต้องไต้ตะเกียงทำการบ้าน เขียนกระดานชนวน

เพราะเด็ก Gen X อย่างผมยังไม่มีแม้เกิบจะใส่ ไม่มีซ่งในจะนุ่ง

เพราะเด็ก Gen X อย่างผมยังได้ขี่วัวขี่ควาย ย่ำเดินแต่ทางดินทราย

เพราะเด็ก Gen X อย่างผมยังต้องเทียวตักน้ำอาบ เทียวหาบน้ำกินจากส่าง (บ่อ) ที่อยู่ไกลเกือบกิโลฯ

อาจเป็นแค่ความตงิดใจที่ฝังมาจากอดีตเพราะจริง ๆ แล้วก็เข้าใจได้อยู่ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงหรือกระแสเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้นมันคือระลอกคลื่นที่ต้องแผ่กระจายมาจากจุดกำเนิด ซึ่งส่วนมากก็จะมาจากสังคมของฝรั่งมังค่า กว่าจะข้ามน้ำข้ามทะเลแผ่มาถึงเมืองหลวงของประเทศไทย แผ่มาถึงจังหวัด แผ่มาถึงอำเภอ แผ่มาถึงตำบลหมู่บ้าน โดยเฉพาะบ้านนอกบ้านนาในภาคอีศานซึ่งเป็นปลายสายของนโยบาย ก็ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ เด็ก Gen X ที่อยู่ในเมืองหรือใกล้เมืองเขาอาจจะเริ่มมั่งคั่งเริ่มได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายแล้ว แต่เด็กบ้านนอกคอกนาอย่างเรามันก็ต้องช้ากว่าเกณฑ์ไปบ้าง แต่อย่างไรเสียโดยส่วนตัวก็เห็นว่ายุค X หรือ X – สมัย หรือระยะเวลาในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๒๒ คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสังคมอีศาน

ในทางเศรษฐกิจและสังคมมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ การที่ประเทศไทยเริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรอบนโยบายในการพัฒนาประเทศ มีการใช้แผนฯ ฉบับแรกในระหว่างปี ๒๕๐๔ – ๒๕๐๙ ซึ่งเน้นเพิ่มผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ ผู้ใหญ่ลีมีการตีกลองประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามแผนพัฒนาฯ “…สุกรนั้นไซร้ คือม้าน้อยธรรมดาม้าน้อย ม้าน้อยธรรมดา…” แม้จะไม่เข้าใจในแนวนโยบายที่ชัดเจนแต่ก็ถือว่ามีการถ่ายทอดลงสู่ชาวบ้าน สังคมไทบ้านนอกบ้านนาเราจึงเริ่มมีทิศทางตามนโยบาย

ในทางการเมือง เป็นยุคที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร ๕ ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้ง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย โดยผลที่ตามมาคือมีนักศึกษาปัญญาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ตามแนวอุดมการณ์จนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้แผนที่ภาคอีศานถูกแต้มด้วยสีชมพู สีแดงหลายจุด

ในทางการทหาร เป็นยุคที่มีการตั้งฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยเพื่อทำสงครามอินโดจีนตั้ง ๗ ฐาน โดยในภาคอีศานมีถึง ๔ ฐาน หนึ่งในนั้นคืออุดรธานี ผลพวงจากฐานฯ (ที่) ทับลงในการรบครั้งนั้นคือปรากฏการณ์เขยฝรั่งในเวลาต่อมา

ในด้านการคมนาคม เป็นยุคที่มีการขยายถนนมิตรภาพจากนครราชสีมาถึงหนองคายพร้อมโครงการถนนเชื่อมทั่วภาคอีศาน ทำให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกมากยิ่งขึ้น การเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้คน รวมถึงการเดินทางไปทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะที่กรุงเทพกรุงไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น

ในด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคอีศานคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีการสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๐๙ เช่นกัน

ในด้านการสื่อสาร เป็นยุคที่มีสถานีวิทยุกระจายเสียงเกิดขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปี ๒๕๑๕ มีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จำนวน ๖๔ สถานี และสถานีวิทยุวปถ. ในเครือกองทัพบก จำนวน ๒๑ สถานี วิทยุธานินทร์ทำให้ข้อมูลข่าวสารทั้งของรัฐของราษฎร์ รวมถึงความบันเทิงหลายรูปแบบหลากไหลไปได้อย่างถ้วนทั่วและรวดเร็ว …ฯลฯ เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้อีศานเมื่อ X – สมัย คือหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลอีกอย่างที่ช่วยยืนยันก็คือ เขื่อนในภาคอีศานเกือบทั้งหมด ทั้งที่สร้างเพื่อการชลประทาน ทั้งที่สร้างเพื่อการผลิตไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นในยุคนี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีการเริ่มซื้อพลังงานไฟฟ้าจากสปป.ลาวด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เกษตรเพื่อการเพิ่มรายได้ และความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามีการขยายเพิ่มมากขึ้น อีศานในยุคนี้จึงถือเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน

จริง ๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะนั่นแหละ แต่ช่วงก่อนยุค X การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นไปอย่างเนิบช้า การจดจารก็ยังด้อยประสิทธิภาพ เราจึงไม่ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต้องสืบค้นจริง ๆ ถึงจะเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงขณะที่ช่วงหลังยุค X การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเสมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงนอกจากคนที่เฝ้าสังเกตจริง ๆ นี่ถ้าสมมุติว่ายุคสมัยคือเส้นทางดินที่มนุษย์เราเดินผ่าน ช่วงเริ่มต้นก่อนเข้ายุค X ก็คงเปรียบเหมือนทางดินที่เป็นพื้นแข็ง เหยียบย่างลงอย่างไรก็ไม่เห็นร่องรอยพอเข้าช่วงยุค X พื้นดินเริ่มอ่อนนุ่ม เหยียบย่างเห็นร่องเห็นรอยชัดเจน พ้นจากยุค X ดินก็เริ่มเป็นเลนตม เหยียบย่างลงไปเลนแหลวก็หุบกลืนไม่เหลือรอย คนในยุค X จึงน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะ X – Man แดนอีศานอย่างผม เพราะสังคมอีศานบ้านนอกคอกนาเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะได้รับแรงกระเพื่อมจากระลอกคลื่น ความเปลี่ยนแปลงจึงเนิบช้าเหมือนภาพสโลโมชั่น ไทบ้านนอกมีโอกาสซึมซับรับความเปลี่ยนแปลงได้ละเมียดละไมกว่าไทในเมือง เห็นเส้นแบ่งความเปลี่ยนแปลงได้ชัด สังคมไทบ้านนอกก็ไม่ได้ซับซ้อน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงต่างจับต้องได้และรับรู้กันอย่างถ้วนทั่ว

บ้านไหนมีลูกสาวลูกชายกลับจากกรุงเทพกรุงไทย เด็กอย่างพวกเราก็จะไปซอมดูอยู่ไม่ห่าง

บ้านไหนได้จักรยานมาใหม่ เด็ก ๆ อย่างพวกเราก็จะแวะเวียนไปชื่นชม คุยอวดเรื่องชื่อชิ้นส่วนที่รู้จัก

บ้านไหนได้โทรทัศน์ใหม่ เด็ก ๆ อย่างพวกเราก็จะไปซ่องซอมอแล รอเวลาเจ้าบ้านเขาเปิดทีวี

ณ ชานชาลา C ที่ที่คนทุก Gen มายืนออเพื่อรอโดยสารไปสถานีหน้านี้ X – Man แดนอีศานอย่างผมจึงมีเรื่องและภาพที่ทับซ้อนมากมาย

พูดเรื่องระบบ HSR … ผมนึกถึงบรรยากาศการเดินตัดทุ่ง/เดินข้ามหมู่บ้านเพื่อไปดูหนัง/ฟังลำ บรรยากาศขี่เกวียนฝ่าทางดินทรายขนข้าวขึ้นเล้า นึกถึงการหัดขี่จักรยาน นึกถึงภาพรถม้าที่วิ่งผ่านหมู่บ้าน นึกถึงรถสองแถวอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน นึกถึงช่วงเวลาหกปีในการปั่นจักรยานไปเรียนในเมือง นึกถึงมอเตอร์ไซค์คันแรก

พูดเรื่อง Smartphone … ผมนึกถึงบรรยากาศตอนที่ได้รับการไหว้วานให้เขียนจดหมายถึงคนนั้นคนนี้ นึกถึงเสียงเกราะเสียงกอลอของผู้ใหญ่บ้านเวลาเรียกประชุม นึกถึงภารกิจไปรษณีย์สมัยปั่นจักรยานไปเรียนในเมืองนึกถึง “ชาย ชมพู”, “โดม จินดา” แห่ง จส.๓ ร้อยเอ็ด นึกถึงตอนอยู่ชายแดนที่ได้โทรเลขลาผู้กอง

พูดถึงเรื่อง SWOC … ผมนึกถึงบรรยากาศตอนไปหาบน้ำที่ส่างแม่ใหญ่ออง นึกถึงคุไม้ขี้ซีนึกถึงไม้คาน นึกถึงส่างโบกวัด นึกถึงส่างบาดาลพ่อใหญ่อวน นึกถึงแอ่งน้ำ นึกถึงโอ่งมังกรนึกถึงโอ่งแดง นึกถึงบรรยากาศเข็นรถขนน้ำยามบุญ

พูดถึงเรื่อง LED … ผมนึกถึงไม้ลำปอ นึกถึงขี้ไต้ขี้กระบอง นึกถึงตะเกียงน้ำมันก๊าด นึกถึงตะเกียงเกิ้งตอนไปยามเบ็ด นึกถึงตะเกียงจ้าวพายุ นึกถึงตะเกียงแก๊ส นึกถึงหม้อแบต นึกถึงบรรยากาศตอนไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน

พูดถึงเรื่อง Intertrain … ผมนึกถึงหนังกลางแปลง ทั้งแบบพากย์สดและเสียงในฟิล์มทั้งแบบขอข้าว แบบขายยา แบบปิดวิก แบบแนวงันบุญ นึกถึงต้นมะพร้าวรอบสนามโรงเรียน นึกถึงหนังบักป่องบักแก้ว นึกถึงหมอลำกลอน หมอลำเรื่อง หมอลำเพลิน นึกถึงเวทีหมอลำตามวัดต่าง ๆ นึกถึงบรรยากาศการไปดูโทรทัศน์เครื่องแรกของหมู่บ้าน นึกถึงเธคเคลื่อนที่ในงานบุญ

พูดถึงเรื่อง Tutor … ผมนึกถึงกระดานชนวน ไม้บรรทัดไม้ไผ่ กระดานดำ ก้อนหิน นึกถึงลูกฟุตบอลรั่ว สนามหมากหญ้า นึกถึงนักกีฬาตีนเปล่า นึกถึงคำสอนวิธีกินปลาให้ได้นานที่สุด นึกถึงจักรยานแก่นหล่อน นึกถึงมอนิคม

พูดถึงเรื่อง ATM… ผมนึกถึงการรับจ้างร้อยใบยาสูบ จับคางคกจับตุ๊กแกขาย นึกถึงการรับจ้างขุดสระ นึกถึงโรงงานน้ำแข็งเอเชียไอซ์นึกถึงค่ายมวย ส.ธนิกุล

พูดถึงเรื่อง Dreamworld… ผมนึกถึงคืนเดือนหงายกับทางดินทรายหน้าบ้าน นึกถึงคืนผีเสี่ยงตอนเล่นโป้งแปะ นึกถึงเม็ดมะขาม นึกถึงบักงิ้วแลกยางยืด นึกถึงกองฟาง นึกถึงโพนต้นมะขามใหญ่ นึกถึงสระน้ำอาวแหวง นึกถึงหนังสติ๊ก นึกถึงฟุตบอลสานก้านมะพร้าว นึกถึงไพ่ใบไม้ ไพ่ปฏิทิน นึกถึงท่าเตะสะกายคิกของไอ้มดแดง

พูดถึงเรื่อง Pizza … ผมนึกถึงครกมองนึกถึงข้าวหัวหงอก ข้าวมัน ข้าวต้มมัด ข้าวต้มหมก ข้าวหลาม ข้าวจี่ทาไข่ นึกถึงข้าวเขียบน้ำตดหมา นึกถึงบรรยากาศการบีบข้าวปุ้นใส่บุญผะเหวด นึกถึงหัวมันหัวกลอย นึกถึงคั่วเม็ดมะขาม นึกถึงเงินเหรียญสลึง ห้าสิบสตางค์นึกถึงหมากฝรั่ง นึกถึงขนมอมฮอลล์

ยุคสมัยอาจมีการสิ้นสุด แต่การเปลี่ยนแปลงไม่มีจุดจบ คลื่นระลอกแล้วระลอกเล่ายังสาด บางลอนซัดรุนแรงจนเสียท่า บางลอนพัดเพื่อมเพียงไหวให้รู้สึก บางลอนนำบางสิ่งมา บางลอนพัดพาบางสิ่งไป

คน X – สมัย ไทบ้านนอกอย่างผมโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นหลายอย่างปะทุและลุกโชนขึ้นต่อหน้า

คน X – สมัย ไทบ้านนอกอย่างผมโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นหลายสิ่งเริ่มหรี่และมอดดับลงต่อตา

ณ ชาน C… นี่อาจเป็นชาลาสุดท้ายที่คน X มีโอกาสได้สัมผัส

ระหว่างรอ… กาละนี้จึงเป็นเทศะอันดีที่ X – Man อย่างผม จะได้รำพันรำพึงเผื่อเพื่อนร่วมชราได้ร่วมรำลึก พร้อมกันนี้ก็จะเป็นโอกาสเล่าขานให้เพื่อนร่วมชาลาได้รับรู้ร่องรอยขีดขว่านของยุคสมัย

โปรดติดตาม

ข้อมูลอ้างอิง/ศึกษาเพิ่มเติม

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. การคมนาคมในอีสาน : หก ทศวรรษก่อนและหลังเปิดถนนมิตรภาพ. ทางอีศาน : ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑

การแบ่งยุคสมัย. https://highlight.kapook. com/view/83492

ตำนานวิทยุทรานซิสเตอร์. https://www. komchadluek.net

เขื่อน. https://th.wikipedia.org/wiki/ เขื่อน

ขอบคุณภาพจาก Facebook ; Wisuwat Buroot

****

คอลัมน์  X-Man แดนอีศาน  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๙๘| มิถุนายน ๒๕๖๓

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 98
ประเด็นที่ท้าทาย
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ 98
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com