ฟ้าผ่า ฟ้าแผด

(ซ้าย) เพิงผาอายุสี่พันปี ที่ผาเปียนจื่อ 卡子岩 จังหวัดเหวินซาน มณฑลยูนนาน (ถิ่นชนชาติจ้วง สาย “นุง”) ภาพมนุษย์นก – รูปเคารพของคนดึกดำบรรพ์
(ขวา) ภาพตัวฟ้าผ่า (เจ้าฟ้าแผดขวานคำ ของชาวไทมาว ไทอาหม) ในตำราหมอผี ของชาวนุงในเหวินซาน

เรื่องฟ้าร้อง ฟ้าผ่า คนไทยปัจจุบันอธิบายทางวัฒนธรรมได้เพียงว่า นางมณีเมขลาขยับดวงแก้วเป็นฟ้าแลบสว่าง รามสูรขว้างขวานเป็นฟ้าผ่า สรุปว่าคนไทยต้องพึ่งพาเทวดาแขก ทำฟ้าร้องฟ้าผ่าให้

เทพนิยายจีน “เหลยกง – เทพแห่งฟ้าผ่า” มีหน้าตาเป็นนก มีปีก คล้องกลองรอบคอ มักจะผ่าผิดที่ทำให้คนที่ไม่สมควรตายต้องตาย เจ้าสวรรค์จึงให้นางฟ้ามาแกว่งผ้าให้เกิดแสงแวววับ (เป็นฟ้าแลบ) เพื่อให้เหลยกงทำฟ้าผ่าถูกที่ถูกทาง ไม่ทำฟ้าผ่าไปถูกคนตาย นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องประสมประสานหลายแหล่งหลายยุคเข้าด้วยกัน

เทพฟ้าผ่ามีรูปร่างเป็นนกนี่ น่าจะสืบทอดจากคติชนของชาวไป่เยวี่ยดึกดำบรรพ์ทางภาคใต้ของจีน

ส่วนเรื่องนางฟ้านั่น น่าจะได้อิทธิพลเรื่องนางเมขลาจากอินเดีย

แล้วบรรพชนตระกูลภาษาไท-กะได มีเรื่องเทพฟ้าผ่าหรือไม่ ?

เครื่องแต่งกายของหญิงชาวนุงในเหวินซาน (เหมือนนก)

โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง แหล่งปลูกข้าวเก่าแก่เจ็ดพันปีให้หลักฐานเรื่องชนพื้นเมืองภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเคารพบูชานก

การที่คนไป่เยวี่ยดึกดำบรรพ์จะคิดว่า “เทพฟ้าผ่า” ซึ่งอยู่บนฟ้ามีปีกเหมือนนก จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

นิทานดึกดำบรรพ์ของชาวจ้วงในกวางสีเรียกเทพฟ้าผ่าว่า “โตผ่า” “โต” ก็คือ “ตัว” ในภาษาไทย “ผ่า” อักษรจ้วงสมัยนี้เขียนว่า bjaj “โตผ่า” ก็คือตัวฟ้าผ่า หรือ ตัวฟ้า ?

“ตัวผ่า หรือ ตัวฟ้า” นี้ ในนิทานของชาวจ้วงมีบทบาทด้านร้ายเสียมากกว่าด้านดี

อย่างเช่น ผูกขาดหวงแหนพันธุ์ข้าวเอาไว้ไม่ยอมให้มนุษย์มีข้าวปลูกกิน จนกระทั่ง “หมาเก้าหาง” ขึ้นเมืองบน (ฟ้า) ไปขโมยเมล็ดพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ได้สำเร็จ หมาสูญเสียหางไปแปดหาง แต่มนุษย์ก็ได้พันธุ์ข้าวมาปลูกกิน

ตัวฟ้า – ตัวผ่า มีกลองโลหะ (กลองทอง, มโหระทึก, ฆ้องบั้ง, กลองกบ ฯลฯ) เป็นของวิเศษประจำตัวสำหรับเรียกฝน มีกบเขียดเป็นลูกน้อง (บ้างก็ว่าเป็นลูก) ตัวฟ้า-ตัวผ่า ใช้ให้กบเขียดมาสอดแนมสืบความลับของมนุษย์ มนุษย์จับตัวได้บังคับให้บอกความลับเรื่องอาวุธกลองทองของตัวฟ้า – ตัวผ่า มนุษย์จึงสร้างกลองทอง

(มโหระทึก) ไว้ต่อสู้กับตัวฟ้า-ตัวผ่า และเรียกฝนได้เอง

ตำนานกำเนิดโลกของไทอาหม (ไทอาหมมีต้นเค้าเหล่ากออยู่ที่เมืองมาวหลวง คืออำเภอเต๋อหง ยูนนาน ปัจจุบัน) มีกล่าวถึง “เจ้าฟ้าแผดขวานคำ” ความหมายน่าจะคือ เจ้าแห่งฟ้าร้อง (ฟ้าแผด) และฟ้าผ่า (มีขวานคำเป็นอาวุธ) ซึ่งตรงกับ “ตัวผ่า – ตัวฟ้า” ของชาวจ้วงนั่นเอง

ตำนานไทอาหมกล่าวถึงแต่ชื่อ “เจ้าฟ้าแผดขวานคำ” มิได้กล่าวถึงบทบาทของเจ้าฟ้าแผดตนนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นหลักฐานว่าเคยมีเทพแห่งฟ้าผ่าของตนเอง ไม่ต้องยืมบทบาทของ “รามสูร” แขก

****

คอลัมน์ คำเก่าอย่าฟ้าวลืม เรื่อง  ฟ้าผ่า ฟ้าแผด  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๘ | ธันวาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

กำเนิดแคน
เรื่องข้าวที่เขา (ทองแถม) ไม่ได้เล่าให้ฟัง
ข้าว เงือก นกส่งวิญญาณ อีกหนึ่งความเชื่อแก่นคติชนไท ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com