จันทน์เทศ ไม้ที่มีค่าควรเมือง

จันทน์เทศ ไม้ที่มีค่าควรเมือง

ต้นจันทน์เทศ

ไม้รู้จักจันทน์เทศหรือครับ ไม่แปลกอะไร คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักไม่เคยเห็น ไม่รู้ด้วยซํ้า ว่าเอาไปทําอะไร กลิ่นเป็นอย่างไรก็นึกไม่ออก ใครบางคนบอกก็อยู่ในเครื่องแกงมัสมั่นไง โธ่ ก็มีเครื่องเทศตั้งหลายอย่าง แยกกลิ่นไม่ได้หรอก หากแต่กลิ่นของจันทน์เทศนี้กลับเป็นที่คุ้นเคยของชาวตะวันตก ความชื่นชอบในกลิ่นของเครื่องเทศจากตะวันออกนี้ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งแก่พ่อค้าคนกลาง หากยังเป็นสาเหตุของสงครามนองเลือดหลายต่อหลายครั้ง และเป็นเหตุให้เกาะเล็ก ๆ ที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา

จันทน์เทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร ใบดกทึบ ผลกลมขนาดลูกมะนาว สี เหลืองนวล ปริแตกเป็น ๒ ซีกเมื่อแก่ เนื้อผลหนาค่อนข้างแข็ง ไม่นิยมกินสด หากนำไปเชื่อม หรือแช่อิ่ม เป็นของกินเล่น แต่ส่วนที่มีค่ายิ่งคือเมล็ด ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่เรียกลูกจันทน์ (nutmeg) มีกลิ่นหอม และเยื่อหุ้มเมล็ดที่เรียก ดอกจันทน์ (mace) สีแดงสด ซึ่งเปลี่ยนสีนํ้าตาลเมื่อแห้ง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของจันทน์เทศ คือจำเพาะใน หมู่เกาะบันดา (Banda islands) ประเทศ อินโดนีเซีย ปัจจุบันหมู่เกาะบันดาเป็นส่วนหนึ่ง ของหมู่เกาะโมลุกกะ (Molucca islands) ดินแดนที่ถูกขนานนามว่า “หมู่เกาะเครื่องเทศ” เชื่อกันว่า เครื่องเทศจากตะวันออก เช่น พริกไทย กานพลูอบเชยและลูกจันทน์ ไปถึงยุโรปเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว โดยพ่อค้าชาวอาหรับ ผ่านทางอินเดียและตะวันออกกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ๆ ไม่ว่าเครื่องถ้วยชาม ผ้าไหม หรือ แม้กระทั่งอัญมณี แล้วเครื่องเทศเบากว่า มีราคาแพงกว่า และดึงดูดทั้งพ่อค้าและโจรมากกว่า

เป็นที่รู้กันว่าโลกในยุคสมัยที่ยังไม่มีตู้เย็นนั้น การถนอมอาหารทําได้เพียงตากแห้ง ดอง เค็ม และหมักเปรี้ยว เครื่องเทศจากโลกตะวันออกเหล่านี้ช่วยถนอมอาหาร และดับกลิ่นของเนื้อสัตว์ที่เริ่มเน่า และยังใช้เป็นเครื่องยา สำหรับรักษาและป้องกันโรคบางอย่าง เช่น แก้ปวดหัว ลดไข้แก้ปวดท้อง และเป็นยาบํารุงกาม แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทําให้มันมีราคาแพงลิบลิ่ว เพราะคนที่มีเงินซื้อเครื่องเทศมาใช้ได้ก็คงไม่จําเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ที่เก็บไว้หลาย ๆ วัน ในขณะที่ประสิทธิผลทางยา หรือป้องกันโรคระบาด เช่น กาฬโรค ก็ไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน

เอาเป็นว่ากลิ่นของลูกจันทน์คงต้องถูกใจชาวยุโรปอย่างมาก ลองนึกถึงคาราวานสินค้า เมื่อหกเจ็ดร้อยปีก่อน รอนแรมฝ่าความยากลําบากและโจรผู้ร้ายนับไม่ถ้วน ซึ่งอาจรวมทั้งจอมโจร “ซินแบด” เป็นเวลาหลาย ๆ เดือน แต่เมื่อรอดมาถึงยุโรปได้ผลตอบแทนนั้นคุ้มค่านัก เพราะลูกจันทน์หนักหนึ่งปอนด์ แลกวัวตัวอ้วน ๆ ได้ถึง ๗ ตัวทีเดียว

การค้าเครื่องเทศในยุโรปมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อสุลต่านเมห์เหม็ด ที่ ๒ แห่งอาณาจักรออตโตมัน เขายึดเมืองคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูล) ของไบเซนไทน์ ใน พ.ศ.๑๙๙๖ ปิดฉากความรุ่งเรืองของอาณาจักรโรมันตะวันออก ความเป็นอริระหว่างชาวคริสเตียนกับมุสลิม และการปิดกั้นเส้นทางการค้า เป็นแรงผลักดันให้ยุโรป ต้องหาเส้นทางใหม่ไปสู่ตะวันออกด้วย คําขวัญ “เพื่อพระคริสต์และเครื่องเทศ” (for Christ and spices) ที่เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า เพื่อ ตลบหลังพวกมุสลิม และเพื่อสินค้าราคาแพง นั่นเอง

เกือบสี่สิบปีต่อมา กองเรือของสเปนที่นําโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส มุ่งไปทางตะวันตก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปพบแผ่นดินโลกใหม่ที่พวกเขาเข้าใจผิดว่าเป็นอินเดียหกปีให้ หลัง กองเรือปอร์ตุเกสที่นําโดย วาส โก ดากามา ก็สามารถแล่นลงใต้อ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่ปลายสุดของทวีปแอฟริกา วกขึ้นเหนือลัดเลาะขอบทวีป แล้วข้ามมหาสมุทร ไปขึ้นฝั่งที่เมืองท่ากาลิกัตของอินเดียได้สําเร็จ ทําให้ความพยายามในการหาเส้นทางเพื่อ “พระคริสต์และเครื่องเทศ” บรรลุความสําเร็จได้แม้เพียงครึ่งหนึ่ง แต่เป็นครึ่งที่เปิดโฉมหน้าใหม่ของการค้า และการล่าอาณานิคม ที่นําโดยเรือปืน

ในตอนนั้น มีเพียงปอร์ตุเกสกับสเปน ที่ขับเคี่ยว ชิงไหวชิงพริบกัน เพื่อครอบครองเส้นทางการค้าเครื่องเทศ เพื่อให้มีศักยภาพทางการค้าทัดเทียมคู่แข่ง ปอร์ตุเกสจึงยอมให้พวกดัทช์ รับช่วงการค้าเครื่องเทศ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความมั่งคั่งให้พ่อค้าชาวดัทช์ในเวลาต่อมา

ในตอนนั้น พวกพ่อค้าท้องถิ่นในเอเชีย ล้วนปิดบังแหล่งที่มาของเครื่องเทศราคาแพง จน กระทั่งใน พ.ศ.๒๐๕๔ ปอร์ตุเกสจึงได้พบว่าหมู่เกาะภูเขาไฟเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค ที่อยู่ระหว่างบอร์เนียวกับนิวกินีที่ชื่อ หมู่เกาะบันดา นั้นเป็นต้นกำเนิดของลูกจันทน์ เครื่องเทศราคาแพง และอาจเป็นเพียงแหล่งเดียวในโลกยุคนั้นด้วย

การเข้าถึงแหล่งกำเนิดของลูกจันทน์ สร้างความมั่งคั่งให้กับปอร์ตุเกสและพ่อค้าชาวดัทช์ได้ หกสิบกว่าปีก็ถึงคราวสิ้นสุดลงใน พ.ศ.๒๑๒๓ เมื่อปอร์ตุเกสตกอยู่ใต้การปกครองของสเปน อีก ๒๓ ปีต่อมา พวกพ่อค้าชาวดัทช์ได้ก่อตั้งองค์กรทางการค้าที่มีชื่อเป็นทางการว่า สหบริษัท อินเดียตะวันออก (The United East Indian Company) หรือที่คนทั่วไปรู้จักว่าบริษัทดัทช์อินเดียตะวันออก ทำการสำรวจค้าขาย เผยแพร่ศาสนา และ…แย่งยึดทรัพยากรจากโลกตะวันออก

ที่หมู่เกาะบันดา นับแต่ชาวตะวันตกเข้าไปค้าขายสุลต่านผู้ปกครองใช้นโยบายเป็นกลาง อย่างเคร่งครัด ไม่ยินยอมให้สิทธิพิเศษแก่ชาวยุโรปชาติใด ๆ จึงไม่มีการผูกขาดการค้าลูก จันทน์โดยชาติใดชาติหนึ่ง แต่นั่นก็ทำให้ไม่มีชาติใดชาติหนึ่ง ออกหน้าคุ้มครองสุลต่านและชาวเกาะด้วย

ใน พ.ศ.๒๑๖๔ บริษัท ดัทช์อินเดียตะวันออก ใช้กําลังขับไล่อิทธิพลของชาวยุโรปอื่น ๆ ออกจากหมู่เกาะบันดา เข้ายึดครองเกาะต่าง ๆ กวาดล้างผู้ที่ต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม โดยการประหารชีวิตผู้ชายที่มีอายุเกิน ๑๕ ปีทุกคนผู้นำหมู่บ้านถูกตัดหัวเสียบประจาน การเข่นฆ่านองเลือดดําเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายใน ๑๕ ปี ประชากรชาวเกาะที่มีอยู่ราว ๑๕,๐๐๐ คน เหลือไม่ถึง ๖๐๐ คน

ไม่เพียงเท่านั้น พวกดัทช์ยังกําหนดให้รักษาต้นจันทน์เทศไว้ในเฉพาะพื้นที่ ๆ พวกเขา ปกปักรักษาได้เท่านั้น ส่วนต้นที่อยู่ในพื้นที่ ๆ ดูแลได้ยากนั้นให้ถอนทำลายทิ้งเสียให้หมด และ ยังออกกฎห้ามมีเมล็ดจันทน์เทศในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษประหาร ยิ่งไปกว่านั้นเมล็ดลูกจันทน์เทศที่เก็บมาได้ทุกเมล็ด ต้องนํามาแช่ในนํ้าปูน เพื่อไม่ให้งอกเป็นต้นใหม่ได้อีก

การครอบครองแหล่งกําเนิดและการผูกขาดการค้า ส่งผลให้บริษัท ดัทช์อินเดีย ตะวันออก ซึ่งมีพนักงานกว่า ๕๐,๐๐๐ คนทั่วโลก เรือสินค้าติดอาวุธกว่า ๒๐๐ ลํา และกําลังรบอีกกว่า ๓๐,๐๐๐ นาย เป็นบริษัทที่รํ่ารวยที่สุดในโลกในเวลานั้น ถึงกับสามารถแบ่งปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ถึงร้อยละ ๔๐ ของเงินลงทุน

ที่หมู่เกาะบันดา พวกดัทช์ครอบครองได้เกือบทุกเกาะ ยกเว้นเกาะรัน (Rhun) ซึ่งเป็น อาณานิคมแห่งแรกในโลก ที่อังกฤษครอบครอง มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๔๖ ดัทช์เริ่มโจมตีเกาะนี้เมื่อ พ.ศ.๒๑๕๙ ใช้เวลาถึง ๔ ปีจึงพอควบคุมเกาะนี้ได้บ้าง แต่อังกฤษก็ยังไม่ยอมแพ้มีการสู้รบกันอีกหลายครั้ง กินเวลาถึงครึ่งศตวรรษในที่สุด ดัทช์และอังกฤษ จึงได้ทําข้อยุติสงครามที่เรียกว่า สนธิสัญญาเบรดา (Treaty of Breda) ใน พ.ศ.๒๒๑๐ กำหนดให้ดัทช์สามารถครอบครองเกาะรัน แลกเปลี่ยนกับเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในทวีปอเมริกา ที่เดิมเป็นของดัทช์แต่อังกฤษแย่งยึดไปเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๗

ต่อมา พวกดัทช์กลับเข้ามายึดเกาะนี้อีก การสู้รบจบลงด้วยสนธิสัญญาเวสต์มินสเตอร์ ใน พ.ศ.๒๒๑๗ ที่กําหนดให้เกาะนี้อยู่ความครอบครองของอังกฤษ (ในเวลานั้น) อย่างถาวร

เกาะนี้มีชื่อในปัจจุบันว่า เกาะแมนฮัตตัน เป็นเขตการปกครองหนึ่งในห้าของรัฐนิวยอร์ก ด้วยพื้นที่เพียง ๕๙.๑ ตารางกิโลเมตร และ ประชากรราว ๑.๖ ล้านคน ทำให้เกาะแมนฮัตตันเป็นพื้นที่ ๆ มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หนาแน่นมากกว่ากรุงเทพฯ ๗.๕ เท่า แมนฮัตตันเป็นศูนย์กลางธุรกิจ วัฒนธรรม และการเงินที่สําคัญของโลก ตลาดหลักทรัพย์ นิวยอร์ก ตลาดหลักทรัพย์ แนสแด็ก (NASDAQ) สื่อวิทยุ โทรทัศน์ชั้นนําของโลก พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัย และที่ตั้งของสํานักงานใหญ่สหประชาชาติล้วนตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้

ย้อนกลับมาที่หมู่เกาะบันดา ใน พ.ศ.๒๓๑๓ ชาวฝรั่งเศสชื่อปิแอร์ พัวเฝรอะ (Pierre Poivre) ลักลอบนําต้นกล้าจันทน์เทศ ไปปลูกในสวนที่เกาะมอริเชียสในทวีปแอฟริกา และไปสู่แปลงปลูกในหมู่เกาะแคริบเบียน ได้สําเร็จส่งผลให้ เกรนาดา (Grenada) ประเทศที่เป็นเกาะภูเขาไฟในทะเลแคริบเบียน กลายเป็นผู้ส่งออกลูกจันทน์รายใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา

ใน พ.ศ.๒๓๒๑ มีภูเขาไฟปะทุ ทําให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่ทําลายแปลงปลูกต้นจันทน์เทศไปครึ่งหนึ่ง ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๕๒ อังกฤษกลับเข้ามายึดหมู่เกาะบันดาโดยใช้กําลัง การเจรจา และสู้รบยืดเยื้อไปอีก ๘ ปีอังกฤษจึงยอมคืนหมู่เกาะนี้ให้กับดัทช์

และนั่นก็หลังจากที่อังกฤษได้เพาะต้นกล้าจันทน์เทศจํานวนมาก ไปปลูกที่ปีนัง สิงคโปร์ อินเดีย ซีลอน และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ถึงตอนนี้การผูกขาดการค้าผลผลิตจากจันทน์เทศ ทําไม่ได้อีกแล้ว

ส่วนเกาะเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า รัน แม้ยังคงมีต้นจันทน์เทศอยู่เป็นพยานความรุ่งเรืองในอดีต ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและท้องทะเล กลับเป็นสิ่งเดียวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละไม่ถึง ๕๐๐ คน ชาวพื้นเมืองกลับมามีชีวิตเรียบง่าย ด้วยประชากรราวหนึ่งพันคนบนพื้นที่ไม่ถึง ๓ ตาราง กิโลเมตร และไม่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ ใด ๆ เกาะนี้ถูกลืมเลือนอย่างสมบูรณ์แล้ว

****

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๑| พฤษภาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ภูมินามแม่นํ้าโขง : หลันชางเจียง กิวลุ่งเกียง เก้าลวง กาหลง
เข้าจํ้า ผอกผี
อมตะอีศาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com