ผักปลูกในสารละลาย…มุมมองจากธรรมชาติ

ผักปลูกในสารละลาย…มุมมองจากธรรมชาติ

ผักปลูกในสารละลายหรือ… รู้จักสิ… เขาเรียก “ไฮโดรโปนิกส์” ใช่ไหม อร่อยดีนะ เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง หาซื้อได้ทั่วไปแล้ว ตามตลาดนัดก็ยังมี

คงมีคนรอบข้างคุณสักคนพูดเช่นนี้ เมื่อถามถึงผักที่ปลูกในสารละลาย ทั้งที่เมื่อราว ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เจ้าผักใบเขียว ใบม่วง ที่ปลูกโดยใช้น้ำผสมสารเคมีแทนดินเหล่านี้ ยังเป็นพืชปริศนา ดูราวกับผักในโดมแก้วของนักบินอวกาศ มีราคาแพง ปรากฏอยู่ในจานอาหารของผู้รักสุขภาพ มีการศึกษา และมีเงิน เท่านั้น ผักเหล่านี้ปลูกยากง่ายแค่ไหน มีประโยชน์มากน้อยอย่างไร บางคนว่ามีสารไนโตรเจนที่อาจก่อมะเร็งได้ จริงหรือไม่ ลองพิจารณา

คนทั่วไปรับรู้ว่า ปลูกต้นไม้ก็ต้องใช้ดิน ยกเว้นพืชน้ำหรือพืชที่เกาะไม้เกาะหินอยู่เดิมตามธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อปลูกแล้วต้นไม้ไม่เจริญเติบโตสมบูรณ์อย่างที่หวัง ก็มักโทษว่า เป็นเพราะดินไม่ดี ก็ต้องปรับปรุงดิน ใส่น้ำ ใส่ปุ๋ยไปตามที่เข้าใจ ได้ผลดีก็แล้ว ๆ ไป ถ้าไม่ได้ผล แก้แล้วแก้อีกไม่ได้ คราวนี้ก็โทษคนปลูกว่า “มือร้อน”

ความเป็นจริงมีอยู่ว่า พืชใช้ดินด้วยเหตุสองประการคือ เป็นที่ยึดเกาะของรากเพื่อความมั่นคงของต้นพืช และเป็นแหล่งของสารอาหาร ดังนั้น ถ้ามีอะไรสักอย่างจับยึดต้นพืชให้มั่นคงได้ และทำให้พืชได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเลย…ใช่หรือไม่

ใช่แน่นอนครับ ขอเพียงมีวัตถุที่สามารถจับยึดต้นพืชได้ เช่น ผ้า ตาข่าย กระดาษ โฟม ฯลฯ ที่ไม่ผุเปื่อยโดยง่าย หรือคงทนอยู่ได้นานไม่น้อยกว่าอายุพืช ส่วนสารอาหารนั้นจะละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งต้องปรับให้มีความเข้มข้น และความเป็นกรด – ด่าง ที่เหมาะสม รากพืชจึงจะสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้ โดยอาศัยหลักคิดเช่นนี้ นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ แพทริก บลังค์ (Patrick Blanc) จึงได้สร้างสวนปราศจากดินที่เรียกกันว่า สวนแนวตั้ง (vertical garden) ครั้งแรกเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้วที่บ้านในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ในประเทศไทยเองก็มีสวนแนวตั้งของนายบลังค์อยู่ ๓ แห่ง อวดโฉมโดดเด่นอยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำในเมืองหลวง

แพทริก บลังค์ (Patrick Blanc) ผู้บุกเบิกการปลูกพืชในสารละลาย
สวนแนวตั้งบนตึกในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

สวนแนวตั้งของแพทริก บลังค์ มีรูปลักษณ์เป็นกำแพงสูงที่มีต้นพืชล้มลุกนานาชนิด หลากสี หลากทรง เกาะอาศัยอยู่บนแผ่นผ้าสักลาดที่ปูทับกำแพงด้านนั้น พืชได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากน้ำที่ถูกปล่อยจากด้านบนซึมผ่านแผ่นผ้าลงมา แล้วใช้ปั๊มดูดกลับขึ้นไปปล่อยลงมาใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป สวนเช่นนี้ นอกจากต้องอาศัยเทคโนโลยีในการควบคุมความเข้มข้นและอัตราการไหลของสารอาหารแล้ว ยังต้องใช้พลังงานในการดูดสารละลายกลับ ปรับอุณหภูมิ แสง ความชื้น และยังต้องอาศัยคน ตัดแต่ง ดูแลกำจัดแมลง ศัตรูพืช และวัชพืช รวมเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อย

การปลูกผักในสารละลายก็อาศัยหลักการเช่นเดียวกัน รากของผักจุ่มแช่ในน้ำที่มีสารอาหารและอากาศละลายอยู่ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นเพียง ๑ – ๒ เดือน จึงไม่ต้องปรับแต่งควบคุมอะไรมากนัก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงท่อน้ำ โฟม ปั๊มอากาศแบบที่ใช้ในตู้ปลา สารอาหาร และเมล็ดพันธุ์ผัก ทั้งหมดที่กล่าวมา มีขายเป็นชุดสำเร็จรูป ปลูกกินก็สบายใจ ปลูกขายก็ได้สตางค์ สรุปว่า สะดวก และประหยัด

สารเคมีที่เติมลงไปในน้ำให้พืชดูดไปใช้นั้น เป็นสารอาหารพื้นฐานเท่าที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่งเท่านั้น พืชไม่ได้เก็บสะสมสารอาหารเหล่านี้มากมายหรือเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง ตามที่บางคนหวาดกลัวแต่ประการใด

การปลูกผักไม่ใช้ดินนี้ มักไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง เหตุผลเบื้องต้นคือ เป็นผักอายุสั้น ไม่ทันโตเรียกแมลงได้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดได้ง่าย จึงปลอดเชื้อ ปลอดโรค ในกรณีที่มีแมลง ศัตรูพืชรบกวน ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ปลอดโรคปลอดแมลง หรือทำในโรงเรือน คลุมด้วยตาข่าย ได้ทั้งนั้น สรุปว่า “คนปลูกปลอดพิษ คนกินปลอดภัย” เมื่อไม่มีโรคและแมลงรบกวน ผักปลูกในสารละลายจึงไม่จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันในธรรมชาติ การคุกคามของเชื้อจุลชีพและแมลงศัตรูพืช กระตุ้นให้พืชนั้นสร้างสารเคมีเพื่อป้องกันตนเอง อาจเป็นพิษต่อแมลง หรือทำให้ต้นพืชมีกลิ่นรสที่แมลงไม่ชอบ หรือมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ไม้ต้นที่รอดจากภัยคุกคามนั้นมาได้จึงแข็งแรง อยู่รอดเพื่อสืบพืชพันธุ์ได้ต่อไป 

ตัวอย่างที่ผมได้ประจักษ์กับตนเองครั้งหนึ่งคือ เมื่อ ๔ – ๕ ปี ที่แล้ว ในช่วงปลายฤดูแล้ง มีแมลงปีกแข็งจำพวกด้วงน้ำมัน (blister beetle) ชนิดหนึ่ง พากันรุมโจมตีต้นไม้ในสวน มากบ้างน้อยบ้าง รสชาติใบของไม้ต้นไหนไม่ถูกปากก็กินน้อยหน่อย ที่ชอบก็รุมกินจนโกร๋นหมดแล้วก็ย้ายไปรุมกินต้นอื่น ผมมีมะไฟอยู่ต้นหนึ่ง ให้ผลมา ๒-๓ ปีแล้ว ถูกรุมกินจนแทบไม่เหลือใบ ชั่งใจอยู่นานว่าควรใช้สารเคมีฆ่าแมลงหรือไม่ ที่สุดก็ตัดสินใจไม่ใช้ นึกในใจว่าแล้วแต่บุญกรรมเถิด ปรากฏว่ามะไฟต้นนั้นรอด ออกผลดกในปีต่อมาและไม่มีแมลงมากัดกินอีกเลย

สารเคมีที่พืชสร้างเป็นอาวุธต่อสู้กับแมลงนั้น ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อพืช คนก็เอามาใช้ประโยชน์ได้ เช่นกลั่นออกมาเป็นน้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลง หรือสกัดเป็นยา เป็นเครื่องสำอางมากมาย สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว โครงสร้างทางเคมีของสารเหล่านี้ เป็นต้นแบบใหม่ ๆ ให้พวกเขาได้ดัดแปลงเป็นยาแผนปัจจุบันอันทรงอานุภาพได้อย่างไม่รู้จบ

ในความรู้สึกของคน สารส่วนใหญ่ที่เป็นอาวุธของพืช มักมีรสขมหรือฝาด ผักที่ปลูกในสารละลาย ไม่จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันจึงปลอดรสขม คนส่วนใหญ่ชอบกินสด กินสุก ดีทั้งนั้น หากคนส่วนน้อยบอกจืดชืด กินแล้วไม่คล้ายรสผัก แบบที่ถ้าไม่ใช่ยามรักแล้ว ต้มน้ำกินไม่ได้ อ้างอิงความเห็นคนกินส่วนใหญ่จึงสรุปว่า รสชาติดี

ใช่แต่ไม่ขม คนกินผักที่ปลูกในสารละลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกินสด ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่เป็นใบก็นุ่ม ที่เป็นก้านก็กรอบ ต่างจากผักปลูกแบบดั้งเดิมที่ทั้งแข็งทั้งเหนียว

เพราะอะไรนะหรือ ตามธรรมชาติ พืชและสัตว์มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปลักษณ์ที่มองเห็น และองค์ประกอบทางเคมี ตามวัยที่มากขึ้น ที่อายุน้อยเนื้อก็นุ่ม ผิวก็นวล ที่แก่เนื้อก็เหนียว หนังก็เหี่ยว คงเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ทั้งโคทั้งคนไม่ว่าแก่หรือหนุ่มจึงชอบกินหญ้าอ่อน

คนที่เคยตัดหยวกกล้วยมาปรุงเป็นอาหาร ย่อมทราบดีว่าหยวกกล้วยที่อ่อนนุ่มนั้น มาจากกล้วยที่ยังไม่มีดอกที่เรียกหัวปลีเท่านั้น ผ่านวัยมีปลีไปแล้วหยวกก็แข็งหยาบ จนแม้จะเอาไปเลี้ยงหมูยังต้องหั่นให้ละเอียด แล้วจึงตำหรือต้มหมูจึงจะยอมกิน

ผักที่แก่หรือมีดอกแล้วก็เช่นกัน ก้านใบ แผ่นใบ แข็งขึ้นเหนียวขึ้น รสชาติจัดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี เพื่อรองรับการผสมเกสร และแบกรับน้ำหนักของผลและเมล็ด ผักเช่นนี้ อาจไม่เหมาะสำหรับกินสด แต่ถ้าปรุงให้เหมาะหลายคนกลับชอบ อาหารพื้นถิ่นของชาวเหนืออย่างหนึ่ง เรียก แกงผักกาดจอ ปรุงโดยใช้ผักกาดต้นเล็กที่เริ่มมีดอก แบบที่ชาวกรุงมองว่าแคระแกร็น แกงกับน้ำต้มกระดูกหมู หรือหมูสามชั้น ปรุงรสให้เปรี้ยวเค็มด้วยน้ำมะขามเปียก และกะปิ ปลาร้า หรือถั่วเน่า (ถั่วเหลืองนึ่งสุกแล้วหมัก) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสอง หรือสามอย่าง กินแนมกับพริกแห้งทอด เข้ากันดี

ผักกาดที่ใช้ปรุงเป็นแกงผักกาดจอ เดิมเป็นผักกาดแบบที่ชาวกรุงเรียก ผักกวางตุ้ง ผ่านการปลูก การคัดเลือกพันธุ์โดยความแห้งแล้งตามธรรมชาติ กลายเป็นผักสายพันธุ์แก่แดด อายุยังไม่มากก็ริมีดอก ปรุงเป็นแกงแล้วยังมีรสขมฝาดเล็กน้อย รู้สึกได้ถึงผิวสัมผัสที่เป็นเส้นเป็นกาก คนเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่นอกตัวเมืองบอก…เฮามัก

วันนี้ ผู้คนรู้จักและคุ้นเคยกับผักปลูกในสารละลายมากขึ้น คนหนุ่มสาว มีการศึกษา อาจเรียกชื่อผักสลัดชื่อฝรั่งว่า กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฯลฯ ได้ด้วยความรูสึกภูมิใจ คนป้า คุณลุงผู้รักสุขภาพ อาจเรียกชื่อแปลกหูนี้ไม่ได้ แต่ก็ชี้ให้คนขายรู้ได้

มองผักปลูกในสารละลาย ท่านเห็น ท่านรู้สึกถึงอะไร ความสะอาด ความทันสมัย ความมีสุขภาพดี หรือเห็นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ ปกป้องตนเองไม่ได้ เกิดและตายไปเพื่อสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่น

ธรรมชาติเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่คนรับรู้ธรรมชาติผ่านอายตนะภายใน อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งหาความเที่ยงตรง แม่นยำ ปราศจากอคติได้ยาก

รัก เกลียด ดี ชั่ว เป็นเรื่องของคนเท่านั้น 

ขั้นตอนการนำรากผักจุ่มในสารละลาย
ผักกวางตุ้ง หนึ่งในวัตถุดิบสำหรับปรุงแกงผักกาดจอ
ปัจจุบันผักปลอดสารพิษที่วางจำหน่ายในร้านค้า รวมถึงอาหารประเภทสลัด มีส่วนประกอบของผักที่ปลูกในสารละลายมากขึ้น

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๐ | สิงหาคม ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

คำโตงโตย
ฮีตเดือนเก้า
ดวงตาใหม่
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com