ช่วงพลบค่ำ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในย่านพระนคร พิณและแคนบรรเลงขนาบไปกับกีตาร์โปร่งอย่างกลมกลืน ทั้งนักร้องและนักดนตรีต่างสวมเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว พวกเขาดูคล้ายวงดนตรีพื้นบ้านจากภาคอีสานทั่วไป ทว่าทำนองนั้นแปลกใหม่จนให้ความรู้สึกต่างจากเดิม สมกับเป็นวงดนตรีอีสานคลาสสิกวงแรกของโลก
“หมาเก้าหาง” คือชื่อวงดนตรีที่นำดนตรีพื้นบ้านอีสานและดนตรีร่วมสมัยมาบรรเลงร่วมอย่างเข้ากันดี
“ลึกซึ้งในรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน เท่าทันอนาคต”นี่คือคำขวัญขององค์กรสังคมของภาคอีสานหลายองค์กร ทั้งนิตยสารทางอีศาน รายเดือน รวมถึง “หมาเก้าหาง” วงดนตรีที่มีเป้าหมายจะส่งต่อดนตรีอีสานไปสู่คนรุ่นต่อไป ผ่านความร่วมมือของ “ซัน” ปรัชญา นันธชัย หัวหน้าวง และอาจารย์ปรีดา ข้าวบ่อ กวีชาวอีสานและบรรณาธิการนิตยสาร ทางอีศาน ที่คอยจุดประกาย สนับสนุน และหล่อเลี้ยงเจตนารมณ์ของวงนี้เรื่อยมาค่ำคืนนั้นฉันมีโอกาสพูดคุยกับซัน นันธชัย หัวหน้าวงหรือพี่ใหญ่ของวงหมาเก้าหาง แบบที่เขาเรียกตัวเอง ชายหนุ่มวัย 27 ปี กล่าวถึงแนวดนตรีแบบ “อีสานคลาสสิก” ที่เขาและเพื่อนร่วมวงทุกคนตั้งใจสรรสร้างผ่านบทเพลงอย่างภาคภูมิใจนิยามของดนตรีใหม่ที่ผสมผสานแนวเพลงพื้นบ้านร่วมกับเทคนิคแบบร่วมสมัยนี้ ไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจเสียงพิณเสียงแคนในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงให้บรรเลงต่อไป แต่อาจช่วยจุดประกายเสียงดนตรีในใจของคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย
ก้าวแรกของหมาเก้าหาง
“บางหมู่บ้านไม่มีเสียงพิณเสียงแคนแล้ว ทั้งที่ฟังแล้วให้พลังชีวิตแก่พี่น้องเรา ก็เลยคิดว่าควรจะมีดนตรีดี ๆ สอดแทรกความเป็นพื้นบ้านเข้าไปเล่นให้ผู้ชมผู้ฟังได้มีพลังชีวิต มาทำงาน ต่อสู้ แล้วก็แก้ไขปัญหาที่เจอ” อาจารย์ปรีดา ข้าวบ่อ ผู้เปรียบเสมือนก้าวแรกของหมาเก้าหางกล่าวถึงสาเหตุที่ก่อตั้งวงดนตรีนี้ขึ้นมา
ซันเล่าว่า จุดเริ่มต้นของวงดนตรีหมาเก้าหางเกิดขึ้นในปี 2560 เมื่ออาจารย์ปรีดาริเริ่มความคิดให้มีวงดนตรีที่สืบทอดศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านของอีสานเพื่อสานต่อให้คนรุ่นใหม่ เวลานั้นประจวบเหมาะกับที่ซันกลับมาฝึกสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จึงตัดสินใจรวบรวมรุ่นน้องและลูกศิษย์มาร่วมวงกัน
ชื่อ “หมาเก้าหาง” มาจากเรื่องเล่าปรัมปราในแถบอุษาคเนย์ กล่าวไว้ว่าแต่ก่อนนั้น มนุษย์ดำรงชีพอยู่ด้วยการกินเผือกกินมัน เมื่อมีมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เผือกมันไม่พอเลี้ยงชีพทุกคน มนุษย์จึงส่งหมา ซึ่งแต่ก่อนมีหางทั้งหมดเก้าหาง ขึ้นไปขโมยเมล็ดพันธุ์ข้าวจากสวรรค์ แต่เทวดาจับได้จึงฟาดสายฟ้าหมายจะบั่นคอหมา แต่โดนหางแปดหางแทน ตั้งแต่นั้นมามนุษย์เลยปลูกข้าวกินเป็นอาหารหลักของผู้คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ขณะที่บ้านเรามีปัญหา ผู้คนมีอุปสรรคในชีวิต เสียงพิณเสียงแคนก็น้อยลง หมาเก้าหางจึงกลับมาเพื่อจะรับใช้ทุกคนด้วยเสียงดนตรี เหมือนกับหมาในตำนานที่ไปนำเมล็ดข้าวมาให้ผู้คนแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้กิน แต่หมาเก้าหางของเรานำศิลปะ วรรณคดี เครื่องดนตรี เสียงพิณ เสียงแคน มาให้ผู้คนได้ฟัง” อาจารย์ปรีดากล่าว
จากดนตรีหมอลำพื้นบ้าน สู่อีสานคลาสสิก
ซันและวงดนตรีหมาเก้าหางนิยามผลงานเพลงของพวกเขาว่าเป็นดนตรีแนว “อีสานคลาสสิก” มีเนื้อความที่พูดถึงคนอีสานและชุมชนในแถบภาคอีสานเป็นหลัก
นิยามความคลาสสิกในแบบของหมาเก้าหางนั้นไม่ได้หมายถึงดนตรีที่มีย่านเสียงครบ หรือมีการจัดวางเซสชันที่สมบูรณ์แบบตามที่ดนตรีแถบตะวันตกกำหนดไว้ หากแค่หมายถึงความลงตัวของการผสานวัฒนธรรมผ่านเสียงเพลงแบบสมัยใหม่
เพลงที่หมาเก้าหางนำมาเล่นมีทั้งรีมิกซ์บทเพลงอีสานที่เป็นที่รู้จักให้ทันสมัย บรรเลงดนตรีโดยนำบทกวีของนักกวีชาวอีสานหลาย ๆ ท่าน มาจัดเรียงเป็นชุดความคิดและร้อยเรียงเป็นบทเพลง และนำบทเพลงสมัยก่อนที่มีคุณค่ามา cover
นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยดึงเอกลักษณ์ความเป็นอีสานจากภาษา เครื่องดนตรี รวมไปถึงเนื้อความ แต่ก็ไม่ได้จำกัดเครื่องดนตรีหรือเทคนิคแค่ในวัฒนธรรมของดนตรีพื้นบ้านของแถบภาคอีสาน
ภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ซันและวงหมาเก้าหางต้องการ คือการสร้างพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านได้มาร่วมร้องเพลงด้วยได้ โดยมีพวกเขาเป็นคนบรรเลงดนตรี
“เราทำเพลงใหม่โดยคิดคอนเซ็ปต์ แล้วเอาเสียงดนตรีมารับใช้ ผมถือว่าเสียงดนตรีที่เราเล่น เป็นผู้รับใช้อารมณ์ รับใช้เจตนาของเราเพื่อที่จะสร้างเรื่องราว” ซันกล่าว
“เราให้เกียรติเสียงพิณและเสียงแคนว่าเป็นราชากับราชินีเครื่องดนตรีอีสานที่จะขาดไม่ได้ หมาเก้าหางนำเสนอดนตรีของลุ่มแม่น้ำโขง เพราะเรามีความรู้เกี่ยวกับบ้านเรามากกว่าที่อื่น แต่ก็นำเครื่องดนตรีที่เราพอเล่นได้มาใช้ ทุกชิ้นบนโลกเลยนะ ไม่ได้จำกัดแค่เครื่องดนตรีอีสานอย่างเดียว”
สิ่งสำคัญที่ทำให้เพลงของวงหมาเก้าหางกินใจคนอีสาน ทั้งคนที่ยังคงอยู่ในชุมชนและคนที่จากบ้านมาไกลนั้น คือเนื้อความที่สะท้อนชีวิต สังคม รวมไปถึงค่านิยมที่ผู้คนรู้สึกตรงใจกับชีวิตของตนเอง ดังเช่นเพลง “ถ่าลูกแน่เด้อ” ที่ซันได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งไปเล่นดนตรีที่กรุงเทพฯ และได้พบเจอกับพี่น้องชาวอีสานที่ทำงานตามแคมป์งาน พวกเขาอยู่เมืองกรุงมา 30 ปีแล้ว อาศัยในห้องพักที่ไม่ได้ใหญ่มากและได้กลับบ้านแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นคือช่วงปีใหม่กับช่วงสงกรานต์
“ก็คิดว่า แล้วเขาไม่ลำบากหรือวะ? ทำไมถึงทนอยู่แบบนี้ คำตอบก็คือความจน เพราะเขาอยากจะส่งลูกเรียนให้จบ อยากให้ที่อีสานมีบ้านหลังใหญ่ ๆ ถึงแม้จะได้กลับไปนอนแค่ปีละไม่กี่ครั้ง กลับบ้านไปแล้วได้ใส่ทอง อันนี้มันสะท้อนค่านิยมความมีหน้ามีตานะ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วทุกคนควรจะมีความสุขในทุกช่วงเวลาของชีวิต” ซันเอ่ย
“เป็นคนบ้านนอก ออกจากบ้านมา หวังตายดาบหน้าอยู่ในเมืองใหญ่…ครอบครัวยากจนต้องสู้ทนไป แต่ไม่เคยลืมคนอยู่หลัง”
ท่อนหนึ่งของเนื้อเพลง “ถ่าลูกแน่เด้อ” ที่สะท้อนความคิดของผู้คนที่จากบ้านมาทำงานในเมืองหลวงเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว
ซันบอกกับฉันว่าพวกเขาไม่ปรารถนาที่จะทำเพลงที่ชี้นำหรือโน้มน้าวให้มาเห็นด้วย เนื่องจากทุก ๆ ความคิดที่ถ่ายทอดลงไปในบทเพลงนั้นมีหลายแง่มุม พวกเขาจะรู้สึกยินดีมากกว่าหากผู้ฟังทุกคนเปิดใจและเข้าถึงดนตรี และใช้มันเพื่อปลอบประโลมจิตใจในวันที่เหนื่อยล้าได้
“เอกลักษณ์ของความเป็นอีสานที่อยู่ในเพลงพวกนี้ก็คือภาษาและเครื่องดนตรี แต่พี่เชื่อว่าความรู้สึกของผู้ฟังที่ตีความเพลงนั้น ๆ สำคัญที่สุด เวลาเสพดนตรีอยากให้ทุกคนฟังแล้วเข้าถึง ไม่ต้องมาเข้าใจเราก็ได้ เพลงบางเพลงมันไม่ได้เศร้าเพราะเนื้อหานะ แต่เศร้าเพราะความรู้สึกผู้ฟังมากกว่า บางเพลงไม่ได้สนุกสนาน แต่ผู้รับสารสัมผัสได้ถึงความสนุก บางทีผู้รับฟังกับผู้สร้างเพลงไม่จำเป็นต้องเข้าใจตรงกันก็ได้ แต่ขอให้สิ่งนั้นมีอานุภาพที่จะช่วยเหลือกัน และเติมเต็มให้กันโดยสมบูรณ์”
ไกลบ้านและกลับบ้าน
ถึงแม้ซันจะเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนด้วยสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางออกจากชุมชน
ช่วงวัยรุ่นของซันนั้นเต็มไปด้วยการเดินทางมากมาย เริ่มจากการจากบ้านเกิดที่จังหวัดบึงกาฬในวัย 13 ปี เพื่อมาตามความฝันในเส้นทางสายดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ สถานที่ที่ซึ่งกลายเป็นบ้านอีกหลังของเขา
ทั้งบ้านเกิดอย่างจังหวัดบึงกาฬและวิทยาลัยฯ ที่เขาเติบโตมาต่างเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ดี ซันไม่ปฏิเสธ ในที่นั้นมีทั้งคำชมและความเคารพด้วยฝีมือที่เก่งกาจ แต่สัญชาตญาณของวัยแรกรุ่นก็ยังคงเรียกร้องให้เขาออกเดินทางต่อ เพื่อตามหาสิ่งที่ไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร และยากเกินกว่าจะมีใครมาพร่ำสอน
ซันเลือกเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตามหาบทเรียนเหล่านั้น
“พอถึงจุดหนึ่ง ความรักที่มีให้วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ยังอยู่นะ แต่ความอยากอยู่มันไม่เหลือแล้ว หลักสูตรวิทยาลัยนาฏศิลป์เนี่ยมันโอนย้ายได้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีห้องเรียนเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ พี่ก็เลยใช้ช่องนี้ของหลักสูตรย้ายไปเชียงใหม่” ซันกล่าว
ถึงแม้ระบบของวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั้ง 12 แห่งในประเทศไทยจะเอื้ออำนวยให้นักศึกษาโอนย้ายได้ แต่ก็แทบไม่เคยมีใครยื่นขอเพื่อไปศึกษาต่อที่จังหวัดอื่นด้วยเหตุผลแบบซันมาก่อน ทำให้เขาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
“ตอนยื่นหนังสือครั้งแรกเนี่ย เขาโยนหนังสือใส่หน้าพี่เลย บอกว่าไม่ให้ ครั้งที่ 2 เขาก็ยื่นคืนอีกครั้งแล้วบอกว่า กลับไปพิจารณาอีกรอบได้มั้ย เขาอุตส่าห์จะลงทุนเขียนให้พี่เป็นเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยน 1 ปี ขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ใจพี่มันไม่อยู่แล้ว ปีเดียวมันไม่พอ อาจจะด้วยวุฒิภาวะของเด็กด้วย แล้วก็ความใจร้อน ประมาณว่าถ้าไม่ได้แบบนี้ ไม่เอา ครั้งที่ 3 เขาไม่คุยด้วยแล้ว เซ็นให้เลย”
เมื่อย้ายไปเชียงใหม่ได้สำเร็จ ซันก็พบประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต
ที่กาฬสินธุ์กับที่เชียงใหม่นั้นต่างกันมาก ทุกคนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์นั้นรู้จักเขา แต่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่นั้น ซันถึงกับบอกว่ารู้สึกไร้ตัวตนราวกับหมาสักตัวยังไม่รู้จักเขาเลยทีเดียว
สิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากสถานภาพของเขาที่วิทยาลัย ก็คือความเข้มงวดต่อกฎของวิทยาลัย จากที่เดิมซันมักจะเป็นนักศึกษาต้นแบบ แต่งกายเรียบร้อยและเข้าเรียนทุกคาบ แต่เมื่อมายังเชียงใหม่นั้น เขาก็เริ่มไว้ผมยาวและไม่ใส่ชุดนักศึกษา ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะว่าเขาต้องการมาหาประสบการณ์และความรู้นอกห้องเรียน
“พี่อยากมาเที่ยว อยากมาหาความรู้ที่พี่ไม่มี” ซันกล่าว
ซันยังบอกกับฉันอีกว่า เมื่อแรกเริ่มที่ไปอยู่เชียงใหม่นั้น เขาแทบไม่ได้เล่นดนตรีอีสานเลย เนื่องจากมีกลุ่มคนอีสานหลายคนที่นำดนตรีอีสานไปเผยแพร่ที่นั่น เขาจึงเบนจุดสนใจไปสำรวจแนวดนตรีใหม่ ๆ ผันตัวจากการเป็นนักดนตรีเป็นผู้ชม
ซันไม่ได้เสพดนตรีเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสังเกตเสน่ห์บางอย่างของดนตรีที่เขาไม่สามารถเรียนรู้ในหลักสูตร
“ไม่ได้เข้าผับเพื่อไปเต้น แต่ไปฟังดนตรี มันเป็นศาสตร์ที่ดนตรีไทยกับดนตรีพื้นบ้านของเราขาด คือในทางทฤษฎีเนี่ยมันเป็นตัวหนังสือที่ร่ายรำไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงของการแสดง ในผับต่าง ๆ ที่เป็นดนตรีเฉพาะทาง มันทำให้เราเห็นชีวิตของโน้ตดนตรีจริง ๆ” ซันกล่าว
เหมือนกับวัยรุ่นหลาย ๆ คนที่เดินทางออกจากบ้าน ในช่วงเวลานั้นซันคาดหวังว่าจะลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ เพราะที่นั่นเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้เขานับไม่ถ้วน เขามีความสุขมากจนคิดว่าหากมีเส้นทางที่จะอยู่ต่อหลังเรียนจบก็คงจะดี
แต่สุดท้ายแล้วโชคชะตาก็นำพาให้ซันตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดที่บึงกาฬอีกครั้ง
เหตุผลหลักที่ทำให้เขากลับบ้าน คือครอบครัวที่ประกอบไปด้วยแม่และน้องชาย รวมถึงคำชักชวนจากอาจารย์ในแวดวงนักกวีอีสานอย่างอาจารย์ปรีดา ข้าวบ่อ และอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่กล่าวกับเขาว่า “ซัน ผมว่าคุณควรกลับไปทำอะไรให้ภาคอีสานนะ อย่าเอาความสามารถที่มีอยู่นั้นไปอยู่ที่อื่นเลย”
ซันจึงกลับมาฝึกสอนให้ลูกศิษย์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ และเรียนจบปริญญาตรีอย่างสมบูรณ์
เมื่อนั้นเองที่เขาคิดสร้างพื้นที่ที่ทำให้เด็กวัยรุ่นทุกคนที่โหยหาการผจญภัยและอยากเติมเต็มความฝันเช่นที่เขาเคยผ่านมา ได้มีโอกาสทำเช่นนั้นโดยไม่ต้องจากชุมชนของตนเองไปไกล
โครงการ “โรงเรียนบ้านนอก” จึงเริ่มต้น
โรงเรียนบ้านนอก แหล่งบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ยก “ความเจริญ” มาไว้ยัง “บ้านเกิด”
นอกจากวงดนตรีหมาเก้าหาง ซันยังเป็นผู้ริเริ่มสร้าง “โรงเรียนบ้านนอก” พื้นที่ที่เด็กนักเรียนโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ได้มาเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาสนใจ
เขาไม่ได้เพียงช่วยต่อลมหายใจที่กำลังรวยรินให้ดนตรีพื้นบ้าน แต่ยังมองการณ์ไกลไปถึงการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เขาตั้งใจอนุรักษ์ไว้
ซันสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำตามความฝัน ไม่ใช่แค่ในด้านดนตรี แต่เป็นศาสตร์ทุกแขนง ทั้งนี้เพื่อที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่า บ้านเกิดของพวกเขามีพื้นที่ให้ทำตามความฝันเสมอ ไม่จำเป็นที่จะต้องจากบ้านไปไกล
“คิดอยากมีห้องสมุดเล็ก ๆ ให้เด็กที่บ้าน อยากสอนดนตรีฟรีให้เด็กที่สนใจ พี่ไม่ได้เรียนครูเพราะอยากเป็นครู แต่แม่อยากให้เป็น พอตั้งโรงเรียนบ้านนอกขึ้นมาเลยพิสูจน์ให้แม่เห็นแล้วว่าพี่เป็นครูได้ แค่ไม่เป็นข้าราชการแค่นั้นเอง (หัวเราะ)” ซันกล่าวติดตลก
โรงเรียนบ้านนอกใช้พื้นที่ในเขตบ้านของซันที่บึงกาฬ มีแม่ของเขาเป็นคนดูแล แรกเริ่มจะใช้พื้นที่ข้างบ้าน แต่เมื่อมีเด็กเยอะขึ้น ประกอบกับมีการเล่นดนตรี สมาชิกทุกคนจึงกังวลว่าเสียงจะดังรบกวนคนอื่นในชุมชนได้ จึงตัดสินใจย้ายมาจัดกิจกรรมตรงพื้นที่สวนแทน
ต่อมาได้ช่วยกันต่อเติมจนมีบ้านขนาดย่อม ๆ ทำให้ตอนนี้โรงเรียนบ้านนอกมีลักษณะเป็นบ้านสวนที่เต็มไปด้วยแหล่งความรู้และความบันเทิงใจให้เด็ก ๆ
ในโรงเรียนบ้านนอกจะมีหนังสือที่ซันเคยอ่านตอนเด็ก ๆ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามความสนใจของเด็กแต่ละคน เช่นไม้และอุปกรณ์งานฝีมือสำหรับเด็กที่สนใจงานช่าง ตอนเย็นเปิดสอนดนตรีให้คนที่สนใจเรียนฟรี
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของโรงเรียนบ้านนอกที่ซันมองว่าสำคัญที่สุด คือการพูดคุยและกินข้าวด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของแต่ละคน
“โรงเรียนบ้านนอกเหมือนเป็นกระบอกชาร์จไฟให้ชีวิต การกลับไปชุมชนครั้งนี้เราไม่ได้มองว่ามันน่าเบื่อ”
อาจเป็นเพราะการผจญภัยทั้งหมดที่เขาผ่านมา ทั้งการลองผิดลองถูกและการตามหาบทเรียนที่ห้องเรียนไม่ได้สอน ทำให้เขากลับมาป้อนบทเรียนนั้นให้เด็ก ๆ ในชุมชน
บทเรียนที่พวกเขาก็ไม่อาจตามหาได้ในหลักสูตรสำเร็จรูป
อนาคตของหมาเก้าหาง
“เส้นทางที่เราเลือกเดิน อาจจะเผชิญมากอุปสรรค…ขอเพียงเรามีใจรัก ถึงแม้จะหนัก ล้านอุปสรรคย่อมแพ้เราไป”
นี่คือส่วนหนึ่งในบทเพลง “เส้นทางที่เราเลือกเดิน” ของวงดนตรีหมาเก้าหาง
“ถ้าเป็นในแวดวงเล็ก ๆ ของกลุ่มนักดนตรี ก็จะมีผลตอบรับเป็นเสียงวิจารณ์ เขารอดูว่าเราจะทำออกมายังไง แต่ในแวดวงของกลุ่มครูดนตรี ส่วนใหญ่เราจะมีเครดิตค่อนข้างมาก ฉะนั้นเวลาทำอะไรออกไปก็เลยมีคนโจมตีน้อย มีแต่คนที่จะหยิบยืมไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ ด้วยซ้ำ” ซันกล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้มเมื่อพูดถึงผลตอบรับเบื้องต้น
การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ เป็นเรื่องท้าทายและคาดเดายากเสมอ แต่วงหมาเก้าหางก็ทำดนตรีที่ผู้คนให้การยอมรับได้ในเวลาไม่นาน
“แต่ว่าในความป็อปปูล่าร์นั้น เราก็มองว่ายังสร้างผลได้น้อย เบื้องต้นยังไม่เจอคนที่ถึงกับอยากไปนั่งรับฟังเพลงของเรา หรืออาจจะเป็นเพราะเพลงเรายังไม่ดีก็ได้ พี่มองเป็นสองมุม” ซันกล่าว
แนวดนตรีแบบอีสานคลาสสิกเป็นรูปแบบใหม่ที่ดัดแปลงแนวดนตรีพื้นบ้าน ทำให้หลายคนอาจมองว่าเป็นการดัดแปลงวัฒนธรรมอันงดงาม ผลตอบรับจึงแตกต่างกันไป
“ก็อาจจะมีผลตอบรับทางลบบ้างนะ ความชอบหรือไม่ชอบเนี่ยในวงการนักดนตรีเองเรารับกันได้ แต่ถ้าในแง่ของผู้ฟัง เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับเขาให้ชอบเรา แล้วที่สำคัญก็คือ มันไม่ใช่เรื่องของเราด้วยที่จะไปบอกเขาให้ชอบ” ซันตอบอย่างหนักแน่น แสดงถึงความมั่นคงต่อแนวทางเพลงที่เขาและเพื่อนร่วมวงตั้งใจสร้าง แม้ในตอนนี้อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็ตาม
ส่วนอนาคตของวงหมาเก้าหางนั้น ซันบอกกับฉันอย่างหนักแน่นว่า เขาและเพื่อนร่วมวงไม่ปรารถนาที่จะเข้าร่วมค่ายเพลงใหญ่ ๆ ถึงแม้นั่นอาจจะหมายถึงโอกาสก้าวหน้า แต่พวกเขาก็ได้พิจารณากันอย่างดีแล้วว่า จุดมุ่งหมายและอุดมการณ์นั้นไม่คุ้มที่จะนำไปเสี่ยงเพื่อตอบสนองโลกของทุนนิยม
“รู้อยู่ว่า ถ้าเข้าค่ายเพลงอาจจะสุขสบายขึ้น มีคนคอยโปรโมตเพลงให้ แต่ก็คงจะต้องยอมรับในสิ่งที่จะสูญเสียอีกหลาย ๆ อย่าง รวมถึงเอกลักษณ์ของตัวเองด้วย เพราะจะกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ” ซันกล่าว
เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเงินตรานั้น เป้าหมายในการประกอบอาชีพก็คงเป็นการได้มาซึ่งทุน ที่ทำให้พวกเขาหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและคนที่รักได้ หากแต่วงหมาเก้าหางได้พยายามมองข้ามจุดที่จะทำให้รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอย่างการเข้าค่ายเพลง เพื่อรักษาเป้าหมายของวงที่แท้จริงตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
“เป้าหมายของเราคือการเป็นทางเลือกหนึ่งของวงดนตรีพื้นบ้านทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในภาคอีสาน วงดนตรีพื้นบ้านที่ได้ทำตามสิ่งที่อยากทำ แล้วก็มีผู้คนที่พร้อมจะรับฟัง” ซันปิดท้าย
ท่ามกลางเสียงแคนและพิณที่ยังคงบรรเลงเคียงคู่ไปกับเครื่องดนตรีร่วมสมัยอื่น ๆ ดนตรีที่พวกเขาบรรเลงคงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า วัฒนธรรมและดนตรีเป็นศิลปะที่ลื่นไหลต่อการปรับตัว และยั่งยืนต่อการอนุรักษ์เสมอ หากได้รับการเอาใจใส่ที่เพียงพอ
การมาเยือนของยุคโลกาภิวัตน์อาจไม่ใช่จุดจบของวัฒนธรรมพื้นบ้านในสังคมไทย เมื่อถูกนำไปประยุกต์เพื่อต่อลมหายใจ อย่างเช่นดนตรีอีสานที่ถูกนำไปดัดแปลงเพื่อถ่ายทอดมิติใหม่ ๆ ให้กับแนวดนตรี และสืบทอดเอกลักษณ์ของดนตรีอีสานพื้นบ้านต่อไป
หากทุกวัฒนธรรมได้รับการอนุรักษ์เช่นนี้ได้ ก็คงจะดี
เรื่อง : กันตาภา วรวิทยานนท์
ภาพ : อัครพนธ์ ธนาภิวัฒน์
ที่มา : Sarakadee Magazine
สนับสนุนโดย#วิริยะประกันภัย#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์#nikon#ยาดมตราโป๊ยเซียนกิจกรรมโดย #SarakadeeMagazine#ค่ายสารคดี#ค่ายสารคดีครั้งที่17#RoadtoHometown#นักเขียน#ช่างภาพ#วิดีโอครีเอเตอร์