การสูญหายของภาษาในชาติพันธุ์อีศาน
กวยดีง – คนรู้
ไฮ เกิ้ด กอน กวย – ฉัน คือ ลูก คน
เกิ้ด กัว โธฺระ โพ – เกิด อยู่ บ้าน โพ
โป กัว โธฺระ ระเพือง คะนาน – โต อยู่ บ้านหนอง ขนาน
ไฮ เกิ้ด ขฺรู ไฮ เกิ้ด นัก คีน – ฉัน เป็น ครู ฉัน เป็น นัก เขียน
คีน โธฺระ คีน แธฺร – เขียน บ้าน เขียน นา
คีน ไธฺระ คีน ซูน – เขียน ไร่ เขียน สวน
คีน ตะ งึ กวย โด๊ะ – เขียน ลมหายใจ คน ไว้
อัน มู มอง ดีง กวย – ให้ พวก คุณ รู้ คน
อัน กวย ดีง กวย – ให้ คน รู้ คน
ในบรรดาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเพียงชาติพันธุ์ลาวและเขมรเท่านั้นที่มีภาษาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นของตนเอง นอกจากนั้นมีเพียงภาษาพูด การที่มีเพียงภาษาพูดทำให้ภาษาของชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีโอกาสสูญหายได้เร็วขึ้นและปัจจัยสำคัญนั้นคือ บรรดาชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์อื่นในประเทศเดียวกัน ยกตัวอย่างชาติพันธุ์กวยของข้าพเจ้า ภาษากวยนี้จัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร ภาษากลุ่มออสโตร- เอเชียติก
ภาษากลุ่มออสโตร-เอเชียติก (Austro-Asiatic languages) เป็นภาษากลุ่มใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนในอินเดียและบังกลาเทศ ชื่อนี้มาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า “ใต้” และชื่อทวีปเอเชียในภาษากรีก ดังนั้นชื่อของภาษาตระกูลนี้จึงหมายถึงเอเชียใต้ ในบรรดาภาษากลุ่มนี้ทั้งหมด ภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร และภาษามอญเป็นภาษาที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ยาวนาน และเฉพาะภาษาเวียดนามกับภาษาเขมรเท่านั้นที่เป็นภาษาทางการ ภาษาที่เหลือมักเป็นภาษาที่พูดโดยชนกลุ่มน้อย ภาษาตระกูลออสโตร – เอเชียติกมีการแพร่กระจายตั้งแต่อินเดีย บังกลาเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แยกจากกันด้วยบริเวณที่มีผู้พูดภาษาตระกูลอื่นอยู่ จึงเชื่อกันว่าภาษาตระกูลนี้เป็นภาษาดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียตะวันออก
ชาติพันธุ์กวยของข้าพเจ้าเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาในกลุ่มนี้โดยไม่มีภาษาเขียน สาเหตุที่บรรดาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ไม่มีภาษาเขียนนั้นเกิดจากไม่สามารถตั้งหมู่บ้านชุมชนเป็นหลักแหล่งให้เป็นบ้านเป็นเมืองที่เข้มแข็ง มีอาณาเขตและมีอำนาจการปกครองของตนเองอย่างอิสระต่อเนื่องยาวนาน หากเป็นแต่เพียงชนกลุ่มน้อยที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลจากการระบาดของเชื้อโรค ความแห้งแล้ง เกิดอุทกภัย วาตภัย และที่สำคัญคืออพยพหนีจากการรุกราน การกดขี่ข่มเหงจากชาติพันธุ์อื่นที่เข้มแข็งกว่า ฉะนั้น จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะสร้างสรรค์งานด้านศิลปะ วรรณกรรม วัฒนธรรมของตนให้เกิดขึ้นได้ การสั่งสมบ่มเพาะจนเกิดการประดิษฐ์ภาษาขึ้นมา ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เมื่อไม่มีบ้านเมืองที่มั่นคงถาวรและไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง จึงต้องตกเป็นทาสหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของชาติพันธุ์อื่นถูกบังคับให้รับวัฒนธรรมชาติพันธุ์อื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
บรรดาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ชาติพันธุ์ลาวและชาติพันธุ์เขมรจะมีภาษาเขียนของตนเอง แต่สองชาติพันธุ์นี้ก็ไม่ได้ใช้ภาษาเขียนของชาติพันธุ์ตนในการสื่อสารแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองการปกครองของราชอาณาจักรสยาม และมีศูนย์กลางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมอยู่ที่ภาคกลาง แม้ชาติพันธุ์ลาวและชาติพันธุ์เขมรจะมีอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีที่โดดเด่นและเข้มแข็งเพียงใด ก็จำเป็นต้องยอมรับวัฒนธรรมสยามที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยเฉพาะด้านการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนตามระบบการจัดการศึกษาของรัฐ พร้อมทั้งประกาศใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางหรือภาษาราชการ หน่วยงานทุกแห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดและภาษาเขียน โรงเรียนซึ่งถือเป็นหน่วยของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาเดียวในการจัดการเรียนการสอน ตำราเรียน และวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ก็ใช้ภาษาไทยทั้งสิ้น นี่คือ การบังคับโดยตรงจากรัฐ
ในที่สุดบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายต่างก็ซึมซับและยอมรับภาษาไทยจนเกิดค่านิยมว่าผู้ใดสามารถฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ถือว่า เป็นบุคคลที่มีการศึกษา มีความก้าวหน้า เป็นคนทันสมัย เป็นที่ยอมรับนับถือยกย่องจากบุคคลทั่วไป จนเกิดพฤติกรรมหลงในภาษาไทยและลืมภาษาของตนเอง
คำว่า “ลาวลืมชาติ” เป็นคำพูดที่เยาะเย้ยถากถางกันเองอย่างเจ็บปวดที่สุด ทั้งนี้เพราะบนแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ชาติพันธุ์ลาวเป็นชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุด มากกว่าชาติพันธุ์ลาวในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเสียอีก ชาติพันธุ์อื่นต่างยอมรับและใช้ภาษาลาวในการสื่อสารติดต่อ ค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน อาจกล่าวได้ว่าไม่มีชาติพันธุ์ใดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พูดภาษาลาวไม่ได้ แม้จะพูดสำเนียงแปลกแปร่งไปอย่างไรก็เป็นภาษาลาวอยู่ดีและสามารถรับรู้เข้าใจกันได้ แต่คนในชาติพันธุ์ลาวเองในจำนวนไม่น้อยที่ถูกครอบงำด้วยภาษาไทยและวัฒนธรรมภาคกลางจนไม่พูดภาษาลาว และแก้ตัวไปว่า “ผมเกิดในภาคอีสานก็จริง แต่ผมโตในกรุงเทพฯ” จึงเกิดการเยาะเย้ย ถากถางกันด้วยคำว่า “ลาวลืมชาติ”
ความอายในความเป็นลาวนั้น เกิดจากชนชาติในภาคกลางดูถูกดูแคลนคนลาวและวัฒนธรรมลาวจนจัดให้เป็นพวก “กรามใหญ่ ดั้งหัก ปากหนา กินข้าวเหนียว” ระบบการศึกษา ตำราเรียนก็ล้วนแต่นำวัฒนธรรมภาคกลางที่หลงตนเองว่ายิ่งใหญ่กว่าชนชาติใดมายัดใส่สมองจนเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด ค่านิยม ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน คนลาวที่มีการศึกษาและมีความก้าวหน้าในระบบราชการหรือการประกอบธุรกิจอื่น ๆ มักจะใช้ภาษาไทยในการสนทนาปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว เช่น พูดภาษาไทยกับลูกและหลาน จนเมื่อลูกหลานโตขึ้นก็ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถพูดภาษาลาวได้ ทั้งที่เชื้อชาติกำเนิดเป็นคนลาว
ในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรก็เช่นเดียวกัน ชาวเขมรส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการพูดภาษาลาว น้อยนักที่จะพูดภาษาลาวให้เหมือนกับสำเนียงลาวแท้ ๆ ชาวเขมรจึงหันไปใช้ภาษาไทย แม้จะพูดภาษาไทยสำเนียงเขมรก็ยังง่ายกว่าพูดภาษาลาว คนเขมรที่มีการศึกษาและมีความก้าวหน้าในระบบราชการ หรือการประกอบธุรกิจอื่น ๆ มักจะใช้ภาษาไทยในการสนทนาปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว เช่น พูดภาษาไทยกับลูกและหลาน จนเมื่อลูกหลานโตขึ้นก็ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถพูดภาษาเขมรได้ ทั้งที่เชื้อชาติกำเนิดเป็นคนเขมร
ในกรณีข้าพเจ้า, ภาษาแรกของข้าพเจ้าคือภาษากวย เพราะแม่เป็นชาวกวย, ยายเป็นชาวกวย ภาษาที่สองคือภาษาเขมร เพราะตาเป็นชาวเขมรและไม่ยอมพูดภาษาอื่นใดนอกจากภาษาเขมร เมื่อไปเรียนหนังสือโรงเรียนในหมู่บ้านชาวกวย ภาษาที่สามจึงเป็นภาษาไทย เพราะครูพูดภาษาไทย เมื่อไปเรียนหนังสือในอำเภอและต่างจังหวัดจึงมีภาษาที่สี่คือภาษาลาว เมื่อรับราชการครูในหมู่บ้านชาวลาวและสมรสกับคนลาว ภาษาชีวิตประจำวันจึงเป็นภาษาลาวและภาษาไทย
ข้าพเจ้าไม่ใช่กวยลืมชาติเพราะข้าพเจ้าไม่รู้จะพูดภาษากวยกับใคร ในสังคมในแวดล้อมที่อยู่มีแต่คนลาวที่พูดภาษาลาวและพูดภาษาไทย เมื่อกลับไปยังบ้านเกิดจึงได้พูดภาษากวยและภาษาเขมรกับญาติพี่น้อง ข้าพเจ้าจึงเขียนพจนานุกรมภาษากวยด้วยภาษาไทย แปลเป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อภาษากวยสูญหายไปแล้วก็ยังจะพอเห็นร่องรอยของภาษากวย
ขณะเดียวกัน ภาษาของชนกลุ่มน้อยมีจำกัด ไม่สามารถใช้ศัพท์ใดอธิบายเหตุการณ์ อธิบายความรู้และเรียกชื่อสิ่งของได้ จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาลาวและภาษาไทย ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อย่าว่าแต่ภาษาของชนกลุ่มน้อย แม้แต่ภาษาไทยเองก็ไม่มีคำศัพท์มาทดแทนได้จึงจำต้องพูดทับศัพท์ตามภาษานั้น ๆ บทบาทของภาษาลาวจึงมาแทนที่ภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ บทบาทของภาษาไทยจึงมาแทนที่ภาษาลาว, ภาษาเขมร และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ และบทบาทของภาษาสากลก็เริ่มจะแผ่ขยายมาแทนที่ภาษาไทย, ภาษาลาว, ภาษาเขมร และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ
นี่คือเหตุผลที่ว่า ภาษาของชาติพันธุ์ที่อ่อนด้อยกว่าจึงเริ่มจะสูญหายไป…
*****
เรื่อง การสูญหายของภาษาในชาติพันธุ์อีศาน คอลัมน์อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๒๒ | กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW