คักแท้แท้ แพรอีโป้
(มหัศจรรย์ ผ้าขาวม้า)
อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ถูกเรียกรวม ๆ ว่าปัจจัย ๔ ล้วนแต่เกิดจากการที่มนุษย์ได้ศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อตอบโจทย์ในการดำรงชีวิต ภูมิปัญญาอันเนื่องด้วยปัจจัยสี่นั้นมีมากมายนัก เฉพาะเรื่องเครื่องนุ่งห่มอย่างเดียวก็เกินกว่าจะพรรณนาได้หมดสิ้น คราวนี้จึงนำเอามรดกวัฒนธรรมเรื่องราว ผ้าขาวม้า มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่าน
ผ้าขาวม้า ผ้าขาม้า กามาร์บันด์
ผ้าขนาดยาววา กว้างศอก มีลวดลายตารางหลากสี ในพจนานุกรมมีคำว่า “ยีโป้” อธิบายว่า “ผ้าหนา ๆ ใช้คาดไหล่คาดพุง” คนอีสานออกเสียงเป็น “อีโป้” แต่ปัจจุบันคนไทยทุกภาครู้จักกันในชื่อ “ผ้าขาวม้า” ที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องนุ่งห่มสามัญประจำบ้าน เพราะผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาแสนนาน จนหลายคนเข้าใจว่า “ผ้าขาวม้า” เป็นคำไทยแท้ ๆ เพราะทั้งรูปศัพท์และความผูกพัน เหมือนจะอยู่เคียงคู่กันจนแยกไม่ออกกับคนไทย แต่งานวิจัยของอาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง ได้อธิบายไว้ว่า “ผ้าขาวม้า” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “กามา” (Kamar) ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า “กามาร์บันด์” (Kamar band)
“กามาร์” หมายถึง เอว หรือท่อนล่างของร่างกาย
“บันด์” หมายถึง พัน มัด รัด หรือคาด
เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกัน “กามาร์บันด์” จึงหมายถึง “สิ่งที่พันมัดรัดคาดอยู่ที่เอว” น่าสนใจว่าในภาษามลายูมีคำว่า “กามาร์บัน” (Kamarban) ภาษาฮินดีมีคำว่า “กามาร์บันด์” (Kamar band) และในภาษาอังกฤษมีคำว่า “คัมเมอร์บันด์” (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอวในชุดทักซิโด (Tuxedo) แต่ผ้าเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะลวดลายตารางอย่างเช่นผ้าขาวม้าในความรับรู้ของคนไทย ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้ทำให้รากเหง้าและที่มาของคำว่า “ผ้าขาวม้า” ห่างไกลจากวัฒนธรรมไทยออกไปไม่น้อย
แต่นั่นหาใช่ประเด็นที่เราจะยอมรับเสียทีเดียวว่า ผ้าขาวม้า เรารับมาจากเปอร์เซีย เพราะอาจจะรับมาเพียงคำเรียกชื่อผ้าขาวม้าเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วผ้าพันมัดรัดคาดขนาดยาววา กว้างศอก มีลวดลายตารางนี้ น่าจะเป็นของที่เกิดอยู่กับอีสานมาแสนนาน
ยังมีการอธิบายความแบบพื้นบ้านของชาวอีสาน ที่ผู้เขียนจำเรื่องเล่าของคุณยายพัฒน์วัฒนสาร เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
“ผ้าข้าวม้า มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (เข้าทำนองคิดอะไรไม่ออกบอกว่ามาจากแขกและอ้างยุคพุทธกาลไว้ก่อน) สมัยก่อนผู้คนนุ่งห่มผ้าพื้นสีขาวใช้สอยกันทั้งในวังและนอกวัง รวมถึงผ้านุ่งของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงนุ่งไปในวันออกบวช โดยมีนายฉันนะเกาะหางม้ากัณฑกะติดตามไปด้วย ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษบวชแล้วม้ากัณฑกะก็เสียใจอกแตกตาย จึงเหลือเพียงนายฉันนะที่รับภาระหน้าที่ในการนำเครื่องทรงของเจ้าชายสิทธัตถะ กลับไปถวายพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดายังเมืองกบิลพัสดุ์ระหว่างครํ่าครวญถึงเจ้าชายผู้ทรงพรตและม้าคู่บุญที่สิ้นลมไป นายฉันนะนึกขึ้นได้ว่า หากนำเฉพาะเครื่องทรงกลับไปถวาย แต่ไม่นำม้าไปด้วยคงจะถูกกล่าวหาว่าตนนำม้ากัณฑกะนั้นไปขายเสียแล้ว จึงต้องหาวิธีนำม้าไปด้วย แต่ครั้นจะนำเอาม้าทั้งตัวกลับไปนับว่าเหลือวิสัยเกินกำลัง นายฉันนะจึงได้ตัดเฉพาะส่วนขาของม้ากัณฑกะข้างหนึ่งห่อพันด้วยภูษาผ้าทรงของเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วพันไว้กับเอว กลับไปกราบทูลความจริงเรื่องที่เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชต่อพระเจ้าสุทโธทนะ ด้วยเหตุนี้เอง ผ้าที่ผูกเอวจึงถูกเรียกว่า “ผ้าขาม้า” หรือ “ผ้าขาวม้า” ซึ่งชาวอีสานบางแห่งออกเสียงเพี้ยนเป็น ผ้าขะม้า”
เรื่องนี้ผู้เขียนนึกขึ้นได้ทีไร เป็นต้องอมยิ้มคิดถึงอารมณ์ศิลปินและปฏิภาณของผู้เล่าอธิบายความเสมอมา
ไม่ว่าเรื่องราวของผ้าข้าวม้าจะมีที่ไปที่มาจากไหนอย่างไร แต่สำหรับคนอีสานแล้ว คำว่าผ้าขาวม้า น่าจะเป็นคำคุ้นหูเมื่อไม่ถึงห้าสิบถึงหกสิบปีมานี้ เพราะก่อนหน้านี้คนอีสานเขาไม่เรียกผ้ากว้างศอกยาววาลวดลายตารางนี้ว่า “ผ้าขาวม้า” แต่มีชื่อเรียกอื่นที่หลากหลาย
ขอบคุณภาพจาก : http://www.otoptoday.com
แพรอีโป้ ผ้าสารพัดชื่อ
หากจะอธิบายเรื่องผ้าขาวม้า โดยยึดชื่อนี้เป็นหลัก แล้วอธิบายตามทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ที่ว่าทุกสรรพสิ่งต้องมีจุดเริ่มต้นแล้วแพร่หลายไปสู่ที่อื่น ๆ นักวิชาการคงต้องอธิบายว่า เพราะชื่อเดิมมีว่า “กามาร์บันด์” ดังนั้น ผ้าชนิดนี้เดิมถือกำเนิดในแถบเปอร์เซียแล้วแพร่หลายเข้ามาสู่อุษาคเนย์ ข้ามเขาใหญ่มาสู่แผ่นดินอีสาน และดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง แล้วเปลี่ยนนามเป็น ผ้าขาวม้า เป็นแน่แท้
แต่ขออย่าเชื่อตามนั้นไปเสียทีเดียว เพราะการทอผ้าในแผ่นดินอีสานมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยที่ผู้คนยังไมมี่ตัวหนังสือใช้มีหลักฐานยืนยันจากการพบเครื่องมือทอผ้าและเศษผ้าในหลุมขุดค้นที่บ้านเชียง ซึ่งน่าจะมีอายุไม่ตํ่ากว่า ๓,๐๐๐ ปี ดังนั้น การทอผ้าในแผ่นดินอีสานจึงมีมาก่อนแล้ว ก่อนที่ “กามาร์บันด์” จะข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยามาถึงแผ่นดินโขงชีมูล และดูเหมือนผ้าลายตานี้จะเป็นลายพื้นฐานที่ไม่ต้องเรียนรู้จากแดนไกล ต่างคนต่างคิดได้เอง เพราะไม่ใช่ลวดลายที่สลับซับซ้อน
ด้วยเหตุที่มีการติดต่อค้าขายของคนลุ่มแม่นํ้าโขงชีมูลกับภายนอก ทำให้ต้องใช้ภาษาที่เข้าใจได้ทั้งคนในและคนนอก เช่น เมื่อคนอีสานเรียกก้อนโลหะลํ้าค่าว่า “คำ” คนมอญเรียกสิ่งนั้นว่า “ทอง” จึงไม่แปลกที่จะเรียกรวมกันว่า “ทองคำ” เพื่อความเข้าใจของทุกฝ่าย เช่นเดียวกันกับผ้ากว้างศอกยาววาลายตารางนี้ ที่คนอีสานไม่ได้เรียกว่าผ้าขาวม้า แต่เมื่อต้องติดต่อค้าขายกับคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เรียกผ้าชนิดนี้จนติดปากว่าผ้าขาวม้า เนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับชาวเปอร์เซีย คนอีสานจึงเรียกตามเขาว่า “ผ้าขาวม้า” เพื่อให้เข้าใจกันทุกฝ่าย เพราะจะให้ออกเสียงว่า กามาร์บันด์ คงขัดลิ้นกันไม่น้อย
การที่ผ้ากว้างศอกยาววาลวดลายตารางที่มีประโยชน์ในการพันมัดรัดคาด ถือกำเนิดในดินแดนอีสานอย่างเป็นอิสระแก่กัน คือต่างคนต่างคิดได้ ผ้านี้จึงมีชื่อเรียกหลากหลาย ตามลักษณะบ้าง ตามประโยชน์ใช้สอยบ้าง หรือแม้กระทั่งเรียกตามลวดลาย เพราะไม่ได้มีใครผูกขาดว่าเป็นต้นฉบับในการผลิต
หากเราเอาผ้ากว้างศอกยาววาลวดลายตารางนี้ไปถามผู้เฒ่าผู้แก่ในอีสานแต่ละท้องที่จะได้สุนทรียรสของชื่อเรียกผ้าพันมัดรัดคาดนี้ที่แตกต่างกัน อาทิ ผ้าเคียนแอว ผ้าคาด ผ้าด้ามแพรด้าม ผ้าลาย แพรลาย ผ้าตา ผ้าตาหม่อง ผ้าลายตาหมากหาบ ผ้าตาโหล่ง แพรปลาไหล แพรไส้เอี่ยน ผ้าอีโป้ แพรอีโป้
จะเห็นได้ว่า คนอีสานไม่ได้เรียกว่า “ผ้าขาวม้า” มาแต่เดิม เพิ่งมาเรียกเมื่อต้องซื้อขายกับคนต่างถิ่นในภายหลัง ดังนั้น คนเฒ่าคนแก่ทั้งหลายจึงสะดวกใจที่จะเรียกคำเดิมที่ใช้มาแต่ก่อน ทั้งผ้าด้าม ผ้าลาย แพรไส้เอี่ยน และแพรอีโป้ เพราะความคุ้นชินและถูกลิ้นมากกว่า
ลายผ้า ลายตา
ลวดลายผ้าแพรของชาวอีสานที่ใช้อวดความงามในเชิงช่างได้มีการถ่ายทอดไว้มากมายดังที่ อาจารย์สมชาย นิลอาธิ ได้บันทึกไว้สามารถแบ่งออกได้เป็นลายที่ได้ความคิดจากสัตว์ เช่น ลายนาคน้อย ลายนาคใหญ่ ลายนกยูงลำแพน ลายนกกระจอกคู่ ลายงูเหลือม ลายแมงงอด (ลายแมงป่อง) ลายไก่ ลายช้าง ลายนกแก้ว ลายปลาสร้อย ลายจอนฟอน (ลายพังพอน) ลายเต่า เป็นต้น
ลายที่ได้ความคิดจากพืช ส่วนใหญ่มักจะเป็นลายที่ได้ความคิดจากดอกไม้ และรูปทรงของต้นไม้ที่พบเห็นกันได้ในธรรมชาติแวดล้อม เช่น ลายดอกแก้ว ลายดอกมะลิ ลายต้นสน (สนเดี่ยวสนคู่ สนเล็ก) ลายกุหลาบ ลายดอกหมาก ลายดอกพิกุล ลายดอกขิก ลายดอกจันทร์ ลายดอกบัว ลายดอกผักแว่น เป็นต้น บางลายที่ได้ความคิดจากเถาว์ ก้านและใบก็มีบ้าง เช่น ลายก้านสี่ดอก ลายกาบ ลายผักกูด ลายเครือ ลายก้านแย่ง เป็นต้น
ลายที่ได้ความคิดจากวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนคิดประดิษฐ์สร้างกันขึ้นมาก่อนเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตทั่วไป เช่น ลายตาข่ายลายขอ ลายปราสาท ลายโคมต่าง ๆ (โคมห้า โคมเจ็ด โคมเก้า) ลายเสมา ลายหงอนก่อง (ยอดฝากล่องข้าวที่ใช้ใส่ข้าวเหนียว) ลายขาเปีย (ไม้ขาเปียที่ใช้เปียฝ้าย) ลายห่วง ลายกุญแจ ลายหน้าบัน(จะเหมือนลายกาบที่ได้ความคิดจากพืช) ลายขันหมากเบ็ง (ขัน หรือพานบายศรี) ลายตะเภาหลงเกาะ ลายกระติบข้าว เป็นต้น
ลายที่คิดเอง หรือ ลายเบ็ดเตล็ด เช่น ลายตา ลายเชิง ลายวง ลายเกี้ยว ลายกง ลายเผ่า หรือเพา ลายหน่วย เป็นต้น
ชาวอีสานมีคำเรียกการทอผ้าติดปากว่า “ตํ่าหูกตํ่านาค” คำว่า “ตํ่าหูก” หมายถึงการทอผ้า ดังนั้นคำว่า “ตํ่าหูกตํ่านาค” จึงหมายถึงการทอผ้าเป็นลายพญานาค ซึ่งสัมพันธ์กับคติดั้งเดิมของชาวอีสานที่ถือว่าลายนาคเป็นลวดลายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดหมี่ ผ้าจกหรือผ้าขิด ล้วนมีลายนาคที่บรรพชนสร้างสรรค์ไว้เป็นแม่แบบทั้งสิ้น การทอผ้าจึงหาใช่จะทำผ้าให้เป็นผืนได้เท่านั้น แต่ต้องทำให้เป็นลวดลายโดยเฉพาะลายนาค
นอกจากนี้ ยังมีผญาอีกบทหนึ่งว่า “ต่ำหูกบ่เป็นแจ ตํ่าแพรบ่เป็นฝากะต่าต้อน เลี้ยงหม้อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน บ่ให้เอาผัว”
“ตํ่าหูกบ่เป็นแจ” คือทอผ้าลายประแจจีนได้ไม่สวยงามไม่เป็นเหลี่ยมมุม ส่วนคำว่า กะต่าต้อน คือเชี่ยนหมากที่นิยมแกะสลักเป็นลวดลายประแจจีน คำว่า “ตํ่าแพรบ่เป็นฝากะต่าต้อน” จึงหมายถึง การทอผ้าลายประแจจีนได้ไม่สวยงามเช่นกัน ส่วน “เลี้ยงหม้อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน” คือไม่รู้วัยของหนอนไหม หรือเลี้ยงไหมไม่เป็น ถ้าหญิงสาวอีสานยังทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ จะยังไม่ให้ออกเรือนไปมีสามี
ทั้งลายนาคและลายประแจจีนที่คนอีสานกล่าวถึง จึงเป็นบรรทัดฐานว่า ลายผ้าลายแพรที่คนทอชาวอีสานแต่กาลก่อนต้องมีความรู้ความชำนาญ คือ ทั้งลายนาคและลายประแจจีน ทำให้น่าคิดว่า กำเนิดของลายผ้าของคนลุ่มแม่นํ้าโขงในการทำผ้าเคียนหรือผ้าคาดสำรับออกงานนั้นนอกจากจะทำเป็นผ้าสีพื้นแล้ว น่าจะมีลวดลายพื้นฐานคือ แพรลายนาคและลายประแจจีน เป็นหลักด้วย
แต่สำหรับแพรอีโป้นั้น ลวดลายที่วิจิตรพิสดารคงไม่มีความจำเป็น เพราะต้องสงวนลวดลายสวย ๆ ไว้สำหรับผ้าที่ใส่อวดกันในงานบุญประเพณี จะนำมาประดิษฐ์ประดอยกับผ้าสารพัดประโยชน์ที่ใช้ในการพันมัดรัดคาดนั้นน่าจะเกินความจำเป็น ชาวอีสานจึงใช้การสลับสีของไหมหรือฝ่ายที่ใช้ทอทั้งเส้นยืน เส้นพุ่ง ที่ชาวอีสานเรียกว่า ทางตํ่า กับ ทางเครือ เพื่อทำให้เกิดลวดลายตารางเป็นลายเฉพาะของแพรอีโป้
แพรอีโป้กับชีวิตชาวนาอีสาน
สังคมชาวอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาโดยอาศัยนํ้าฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น วัฏจักรในรอบปีของชาวอีสานจึงมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลร้อนฝน หนาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยวงเวียนชีวิตชาวนาในการผลิตข้าวจะเริ่มจากการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งกินเวลายาวนานประมาณ ๗ – ๘ เดือน ตลอดช่วงฤดูฝนจนสิ้นสุดฤดูหนาวในแต่ละปี ช่วงเวลาที่ชาวนาอีสานว่างเว้นจากการทำนาจึงมีระยะเวลา ๔ – ๕ เดือนในช่วงฤดูร้อน
แต่ใช่ว่าเขาเหล่านั้นจะว่างเว้นจากการงานในช่วงฤดูร้อน เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายหลังจากตรากตรำมาทั้งปี งานในช่วงฤดูร้อน จึงเป็นเรื่องของการเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการจัดงานบุญประเพณี เพื่อเป็นเสบียงไว้สำหรับโลกหน้า
มีคำพูดของคนอีสานที่ว่า “ว่างจากยามนา ผู้หญิงเฮ็ดผ้า ผู้ชายเฮ็ดไผ่” คือยามว่างจากฤดูทำนา ผู้หญิงจะทอผ้า ผู้ชายจะทำงานจักสานบทบาทของผู้หญิงในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวจึงเป็นการทอผ้าไว้สำหรับคนในครอบครัว หรือสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นทุนชีวิตไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า แพรอีโป้ เป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของผู้หญิงในเวลาว่างจากท้องไร่ท้องนา
ด้วยเหตุที่แพรอีโป้มีประโยชน์ไม่น้อยในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตช่วงไหนล้วนมีแพรอีโป้เป็นเครื่องนุ่งห่มประจำกายทั้งชายหญิง ทั้งใช้นุ่ง ใช้ห่ม ใช้แทนพัดลม แทนหมอน ให้ทำเปลไกวลูก จนกระทั่งใช้ผูกคอตายยามผิดหวัง เหมือนดั่งนางอั้วที่ผิดหวังจากความรัก เธอได้เอาแพรอีโป้ไปผูกคอตายบูชาความรัก
ซึ่งแพรอีโป้ของนางอั้วทำจาก “ไหมคำ” ไปใช้ผูกคอตาย ดังในกลอนลำที่ว่า “มือถือได้ไหมคำเคียนคาด ลงจากปราสาทกว้างทั้งไห้ฮํ่าไฮ”
ความมหัศจรรย์ของแพรอีโป้จึงอยู่ที่ ผ้าขนาดยาววากว้างศอกไม่ต้องมีการตัดเย็บเป็นทรวดทรงที่พิสดาร ไม่ต้องมีนักออกแบบระดับโลกมาเนรมิต แต่ด้วยความเรียบง่ายของผ้าผืนเดียวนี้ ด้วยภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ทำให้แพรอีโป้เข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกอิริยาบถของชีวิตตั้งแต่ตื่นถึงเข้านอน ตั้งแต่เกิดถึงตาย หรือแม้กระทั่งใช้คุณภาพแพรอีโป้เป็นเครื่องการันตีคุณภาพผู้หญิงที่ชายหนุ่ม จะเลือกมาเป็นคู่ครอง
แพรอีโป้ของดีต้องมีโสก
การจะมีแพรอีโปไว้คู่กาย บางคนถึงขั้นถือเคล็ดถือตำรา เพื่อเลือกสรรผ้ามงคลไว้ใช้งานตามคติชนชาวอีสาน ความยาวของผ้าจะมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมงคลหรืออัปมงคล ดังนั้นผู้ใช้ผ้าต้องมีการเลือกผ้าที่เข้าตำรา โดยคติความเชื่อนี้ชาวอีสานเรียกว่า “โสก” ซึ่งไม่ได้หมายถึงความโศกเศร้า แต่หมายถึง โฉลก อันเป็นคำนามมีความหมายว่า โชค โอกาส หรือ ลักษณะซึ่งมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ถ้าดีเรียกว่าถูกโฉลก แต่ถ้าไม่ดีเรียกว่าไม่ถูกโฉลก มักกำหนดด้วยการดูลักษณะ วัดขนาด นับจำนวน เป็นต้น
โฉลก คนอีสานเรียก โสก มีตำราเพื่อพิจารณาโสกทั้งของคน สัตว์ และสิ่งของ ว่าสิ่งนั้นเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล
สำหรับผ้านั้น การวัดโสกจะ แทก หรือ วัดขนาดความยาวของผ้าด้วยการใช้มือของเจ้าของผ้ากำตั้งแต่ กก ถึง ปลาย คือจากชายข้างหนึ่งถึงชายข้างหนึ่ง แล้วกล่าวคำแทกโสกไปตามลำดับที่กำแทก คำแทกโสกมีว่า
“ผ้าห่อแฮ่ – ผ้าแผ่เชิง – ผ้าสะเอิงกีบม้า – ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ – ผ้าก้องแขนคำเก้ากิ่ง – ผ้าแด่มิ่งมารดา – ผ้าปิตาปันให้ – ผ้าได้แล้วห่มผีนอน”
คำแทกโสกดังกล่าวนี้เป็นการทำนายความเป็นมงคล หรือไม่เป็นมงคล ของผ้าตามความเชื่อของคนอีสาน ซึ่งมีคำทำนายว่า หากกำแทกโสกผ้าไปตกข้อความลำดับที่ ๑ ถึงลำดับที่ ๔ คือ “ผ้าห่อแฮ่ ผ้าแผ่เชิง ผ้าสะเอิงกีบม้า ผ้าไปค้าเสียห้าพันคำ” ทำนายว่าเป็นผ้าไม่ดี ไม่เป็นมงคล ถ้ากำแทกโสกผ้าไปตกข้อความลำดับที่ ๖ และ ๗ คือ “ผ้าแด่มิ่งมารดา ผ้าปิตาปันให้” จะเป็นผ้าที่เป็นมงคล มีคนนิยมชมชอบ แต่ถ้ากำแทกโสกผ้าไปตกข้อความลำดับที่ ๘ คือ “ผ้าได้แล้วห่มผีนอน” ถือเป็นผ้าที่ไม่ดี เจ้าของผ้าจะเจ็บไข้ได้ป่วย
แพรอีโป้ผืนหนึ่ง ๆ ของชาวอีสาน จึงไม่ใช่แค่ผ้าใช้งานที่รับบทหนักเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นผ้าคู่ชี่วิตที่น่า สนใจ เรื่องราวของแพรอีโป้ ทั้งประโยชน์ ทั้งประวัติ ทั้งความมหัศจรรย์ ที่ได้พรรณนามานี้ คงจะทำให้เราไม่ปฏิเสธว่า ผ้าขนาดกว้างศอกยาววามีลวดลายตารางนี้ มันช่างแสนวิเศษ ดังที่คนอีสานต้องอุทานว่า “คักแท้แท้ แพรอีโป้” ซึ่งชาวกรุงคงพร้อมจะขานรับว่า “โอ้ มหัศจรรย์ ผ้าขาวม้า” เป็นแน่แท้