จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมการปกครองตนเอง


“แก่นชีวิต ความคิดฝัน สนั่น ชูสกุล”
๒.

รฦก

๕ ปีที่จากไป

ส นั่ น  ชู ส กุ ล

[๗ ธันวาคม ๒๕๐๒ ~ ๖ เมษายน ๒๕๕๙]

***

จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมการปกครองตนเอง

เพื่อนที่เป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ที่เมืองไทยนี้แปลกกว่าที่อื่นในยุคเดียวกัน การพูดถึงและให้คุณค่ากับความเป็น “ชุมชน” มีสูงมาก ทั้งในวงวิชาการ องค์กรชาวบ้าน แวดวงราชการ ในส่วนขององค์กรพัฒนาภาคเอกชนนั้นถือว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นกระแสคิดหลักของขบวนที่ยึดถือกันมาตลอดสองสามทศวรรษ แม้แต่พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงดำริเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ หรือรูปธรรมในโครงการพระราชดำริทั้งหลาย

ขณะที่ในกระแสการพัฒนาทั่วโลกที่ชี้นำด้วยอุดมการณ์ทุนนิยมเสรีนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การล่มสลายของชุมชนเกษตรกรรม สังคมชุมชนถูกแยกสลายไปเป็นสังคมใหม่ที่นับถือคุณค่าปัจเจกนิยม การจัดตั้งทางสังคมก็เป็นการจัดตั้งกลุ่มองค์กรและเครือข่ายรายรอบโรงงานอุตสาหกรรมและย่านพาณิชยกรรม และเกิดสิ่งที่ “โชติช่วง นาดอน” เรียกว่า กลุ่มผลประโยชน์ย่อย ใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลาย

การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการสถาปนา “รัฐชาติ” ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองนั้น พบว่าแทบไม่มีที่ยืนที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับชุมชนท้องถิ่น แต่กลับมองชุมชนท้องถิ่นว่าไม่มีศักยภาพ อย่างที่เกิดวาทกรรมสร้างให้ภาคเกษตรกรรมในชนบทนั้นล้าหลัง ตกอยู่ในภาวะ “โง่ จน เจ็บ” เป็นตัวสร้างปัญหาหรือเหนี่ยวรั้งการพัฒนา ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปลดปล่อยฉุดดึงเข้าร่วมกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมด้วยข้ออ้างของการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติ และต้องสลายแล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐภายใต้ข้ออ้างของความเป็นชาติเดียวกัน จะว่ากันตรง ๆ ก็คือ การดำรงอยู่ของชุมชนนั้นเป็นอุปสรรคโดยตรงของการพัฒนาในระบบทุนนิยม

สังคมไทยก็คงจะหลีกเลี่ยงกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ไปไม่พ้น แต่ไฉนกระแสการเคลื่อนไหวสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน” จึงปรากฏตัวส่งเสียงดังอย่างนั้นในท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมเสรี

มีข้อวิพากษ์มากมายต่อแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง บ้างถูกพิจารณาว่าเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสู้กับการพัฒนากระแสหลักของรัฐและทุน และแนวคิดนี้มิได้มาจาก “ชาวบ้าน” อย่างแท้จริง แต่เกิดจากการประดิษฐ์สร้างขึ้นโดยปัญญาชนภายนอกที่โรแมนติค บ้างว่าแนวคิดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมสถานะบารมีและพยุงผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ที่แน่นอนในสังคมสมัยใหม่

ในทางวิชาการก็ยังมีข้อถกเถียงเข้มข้นว่า สำนักแนวคิดชุมชนมองความเป็นจริงด้านเดียว คือมองเห็นแต่ภาคส่วนดี ๆ ของชุมชน เน้นการอธิบายถึงโครงสร้างภายในชุมชนที่มีความกลมกลืนกันในชุมชน ความเป็นญาติมิตร ความมีน้ำใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสันโดษ ไม่ชอบความรุนแรง และมองชุมชนเป็นหน่วยความสัมพันธ์ที่เป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไร้ความขัดแย้งภายใน ฯลฯ จึงถูกมองว่ามีลักษณะของความเพ้อฝัน ขาดความสมจริง มองชุมชนหยาบไป ที่จริงแล้วทุกสังคมมีความขัดแย้ง มีลักษณะชนชั้น และมีการต่อสู้ต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา

การก่อเกิดของแนวคิด “ชุมชน” ในระดับสากลนั้นมีมานาน ทุกที่ที่มีการกดขี่ไล่ล่า แย่งชิงทรัพยากรไปจากมือของชาวชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ล้วนมีแรงต้านการต่อสู้ต่อรองจากชุมชน แม้ชุมชนท้องถิ่นที่ถูกรุกรานทั้งหลายจะลุกขึ้นต้านอำนาจภายนอกในทุกแห่งทุกหน แต่ด้วยความด้อยกว่าทางเทคโนโลยีและการควบคุมจัดการสมัยใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจึงอยู่ในภาวะถดถอยอ่อนเปลี้ย

แต่ท่ามกลางการพัฒนาที่คุกคามต่อชุมชนท้องถิ่นและการลุกขึ้นขืนต้านทั่วทุกมุมโลก ในที่สุดก็ค่อยๆ เผยให้เห็นว่า โดยแท้จริงแล้ว “ชุมชน” หรือหน่วยของการอยู่ร่วมกันของคนบนอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ นั้น เป็นการจัดตั้งตัวเอง มีข้อผูกพัน มีระบบระเบียบของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน ยึดโยงให้อยู่ร่วมกันได้โดยสงบ และเมื่อมีภาวะขัดแย้งภายในระหว่างสมาชิกชุมชน ก็จะมีกระบวนการและกลไกในการแก้ปัญหาภายใน ชุมชนยังมีระบบจัดการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ชุมชนค่อย ๆ สั่งสมแบบแผนของการทำมาหากิน การดำรงชีวิต วิธีคิด ความเชื่อ อุดมคติ จนกลายเป็นวิถีหนึ่ง ๆ ขึ้นมา ตามลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์หรือตามฐานนิเวศที่เขาดำรงชีวิตอยู่ กล่าวได้ว่าชุมชนเป็น “ประดิษฐกรรม” ที่สำคัญของมนุษย์ทั่วโลก

สำหรับในสังคมไทยนั้น หลังจากมีประสบการณ์การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมที่ทำลายล้างฐานทรัพยากรและสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาสองทศวรรษ นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ผ่านการต่อสู้ทางสังคมและการพัฒนาชนบทมายาวนาน ได้สรุปประสบการณ์ยกระดับขึ้นเป็นแนวคิดวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม ในการสร้างทางเลือกใหม่เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมเรียกกันว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

ช่วงหลังปี ๒๕๒๐ องค์กรพัฒนาเอกชนได้ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ กล่าวได้ว่าช่วงนั้นเป็นยุคของการปฏิบัติทดลองและค้นคว้าเกี่ยวกับทางเลือกของสังคมกันอย่างจริงจัง หลังการเพลี่ยงพล้ำของขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทย มีการสร้างคำขวัญที่ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีกระบวนการทำงานสำคัญคือการส่งผู้ปฏิบัติงานลงไปทำงานเกาะติดใกล้ชิดชุมชน กระตุ้นให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้และแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาของตน ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว มีการศึกษาประสบการณ์การพัฒนาชุมชนของต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะประสบการณ์งานพัฒนาของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งนักพัฒนารุ่นเก่าหลายคนยังมีบทบาทต่อเนื่องถึงช่วงนั้น

คำหลักที่แสดงเป้าหมายและกระบวนการงานพัฒนาในขณะนั้น เช่น การพึ่งตนเองของชุมชน การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม องค์กรประชาชน การศึกษาชุมชน การสร้างผู้นำกองทุนชุมชน ธนาคารข้าว ผ้าป่าข้าว ธนาคารยา ธนาคารวัวควาย ธนาคารน้ำ เกษตรผสมผสาน คุณภาพชีวิต ปุ๋ยปอบ่อส้วม รวมกลุ่มประชุมสัมมนา ฯลฯ

แนวคิดประสบการณ์ตัวจริงจากพื้นที่ถูกถ่ายทอดผ่านเวทีสัมมนา และมีวารสาร “สังคมพัฒนา” เป็นเวทีความคิดที่แหลมคม แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนถูกนำเสนออย่างเป็นระบบครั้งแรกในการสัมมนาเรื่อง “วัฒนธรรมไทยกับการพัฒนาชนบท” เมื่อ ๒๓–๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๔ ที่สวางคนิวาส สมุทรปราการ จัดโดยสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้นก็มีการจัดพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เช่น “ศรัทธาพลังชุมชน” ของบุญเพรง บ้านบางพูน (บำรุง บุญปัญญา : ๒๕๒๗) “จารึกไว้ในยุคสมัยที่ซับซ้อน” และ “สายธารสำนึกและความทรงจำ” ของ อภิชาต ทองอยู่ (๒๕๒๘) “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในการพัฒนา” ของ บาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหาร (๒๕๓๐) ฯลฯ

กระแสความคิดและความเคลื่อนไหวสำคัญทั้งทางสากลและในประเทศที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน คือ

(๑) ผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงการอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ จากการประชุมวาติกันที่ ๒ (๒๕๐๕ – ๒๕๐๘) พระสังฆราชทั่วโลกได้สร้างข้อตกลงใหม่ในการอธิบายศาสนาว่า ศาสนจักรต้องเกี่ยวพันกับโลกนี้ รับรู้แก้ไขปัญหาของมนุษย์ การยอมรับฐานะของความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยไม่จำเป็นต้องประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชนและศาสนจักรต้องเป็นผู้รับใช้มิใช่ผู้อื่นมารับใช้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้นักบวชชายหญิงเข้าไปมีบทบาทเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย

(๒) การเพิ่มความช่วยเหลือจากทางสากลต่อองค์กรพัฒนาเอกชน ในช่วงหลังปี ๒๕๒๐ เกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวางขององค์กรพัฒนาเอกชน และ

(๓) ความตื่นตัวของปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย จากยุคประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึงช่วงความเพลี่ยงพล้ำของอุดมการณ์สังคมนิยมในสังคมไทย และจากการตระหนักถึงการคุกคามอย่างรุนแรงของทุนนิยมต่อชุมชนหมู่บ้านขณะที่เห็นว่าชุมชนหมู่บ้านยังมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอยู่

ขณะที่นักพัฒนาองค์กรเอกชนเคลื่อนไหวแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนท่ามกลางปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ก็มีนักวิชาการเป็นแรงหนุนเสริมในการค้นคว้า พัฒนาทางทฤษฎีอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะจากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนักพัฒนาและชาวบ้าน โดยทำการวิจัยเพิ่มความชัดเจนของแนวคิดนี้ในมิติต่าง ๆ เช่น มิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจชุมชน และมิติความเป็นสากล จนกระทั่งการพัฒนาข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ระดับชาติ อย่างไรก็ดี ดูคล้ายกับว่าพลังการเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน กับพลังทางวิชาการของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จะเพิ่มแรงหนุนส่งซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี จน ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประกาศว่า “ปัจจุบันแนวคิดสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนสำคัญได้หลอมรวมเข้ากับแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนแล้ว”

ในที่นี้จะประมวลเอาหลักสำคัญ ๆ ของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่มีการนำเสนอจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

อุดมการณ์และหลักการของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

๑. ชุมชนมีวัฒนธรรมของตนอยู่แล้ว มีระบบคุณค่าที่รวบรวมมาได้จากประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชุมชน คือให้คุณค่าแก่ความเป็น “คน” และแก่ “ชุมชน” ที่มีความผสมกลมกลืน คุณค่าของธรรมชาติ การเชื่อถือสิ่งเหนือธรรมชาติ และคุณธรรมจริยธรรมตามหลักศาสนา วัฒนธรรมชุมชนยังคงอยู่และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเพราะชุมชนมีกลไกผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม แม้มีปัจจัยใหม่เข้ามา แต่สิ่งเดิมก็ยังคงอยู่ สำนักวัฒนธรรมชุมชนเห็นว่า “วัฒนธรรม” เป็นพลังผลักดันการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่สุด จะใช้ประโยชน์ได้เมื่อมีการปลุกให้สมาชิกแห่งชุมชนมีจิตสำนึกรับรู้ในวัฒนธรรมของตน

๒. ชุมชนมีสถานะเป็นสถาบันหนึ่งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีโครงสร้าง กลไกภายในเป็นระบบ ๆ หนึ่งของตัวเอง เป็นรูปแบบสังคมที่มีอายุยืนนาน ไม่ว่าธรรมชาติข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความเป็นหมู่บ้านหรือเป็นชุมชนก็คงทนมาเป็นเวลาหลาย ๆ ร้อยปี ลักษณะเช่นนี้ คือ มีความเป็นสังคมในตัวของมันเองแสดงถึงความเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่เป็นอิสระ มีแบบแผนระบบการผลิต ระบบการจัดการทรัพยากร ระบบสุขภาพ ระบบความรู้ ระบบการเรียนรู้ศึกษา ระบบการปกครอง ระบบยุติธรรมของตนเอง จากการค้นคว้าของ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แห่งสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ท่านได้พบความจริงที่กว้างขวางออกไปอีกว่า วัฒนธรรมชุมชนไทยเป็นวัฒนธรรมที่มีอาณาเขตครอบคลุมกว้างขวาง เป็นวัฒนธรรมกลางที่ชุมชนต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ตอนบนมีร่วมกัน ถือเป็นวัฒนธรรมนานาชาติที่ชุมชนหมู่บ้านชาติต่าง ๆ ใช้ร่วมกันอย่างสมัครใจ ถือเป็นวัฒนธรรมร่วม

๓. ชุมชนมีระบบเศรษฐกิจระบบหนึ่งของตัวเอง มีครอบครัวและชุมชนเป็นหน่วยการผลิต มีเป้าหมายของตัวเองคือมุ่งให้ครอบครัวพอเพียงที่จะดำรงชีพได้และชุมชนอยู่รอด และผลิตซ้ำตัวเองได้ ผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง แม้อาจผลิตเพื่อขายก็เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวไม่ใช่ให้มีกำไรสูงสุดให้ร่ำรวย ใช้แรงงานสมาชิกในครอบครัวตัวเองเป็นหลัก มีน้ำใจและความเอื้ออาทร ความเป็นญาติมิตรเป็นเครื่องร้อยรัดส่วนต่าง ๆ ของระบบ จัดสรรและแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์เอกชนไม่มีความเด็ดขาด ในหลายกรณีชุมชนและเครือข่ายชุมชนมีส่วนในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรและผลผลิต

จากการค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวางของสำนักวัฒนธรรมชุมชนยังพบอีกว่า ระบบเศรษฐกิจชุมชนดำรงอยู่คู่กับระบบทุนนิยมในปัจจุบัน เศรษฐกิจชุมชนเป็นชีวิตการทำมาหากินของชาวไทยจำนวนมากที่สุด คิดในแง่ของจำนวนชีวิตใหญ่กว่าระบบทุน

สำหรับสังคมไทย ลักษณะการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบทุนนิยมมีความเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าด้วยปัจจัย ๓ ประการ คือ (๑) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอดีต (๒) ลักษณะชุมชนหมู่บ้านที่ให้ความมั่นคงและมีแรงยึดเหนี่ยวภายในสูง และ (๓) ลักษณะพิเศษของรัฐและทุนนิยมไทยที่ไม่เข้าไปจัดการการเปลี่ยนแปลงแบบแผนผลิตในชนบทเหมือนในประเทศยุโรป แต่เป็นลักษณะของการขูดรีดส่วนเกิน (ในปัจจุบันปัจจัยที่ ๑ และ ๓ อาจลดลง)

๔. ทางด้านสังคมการเมือง ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กันผ่านระบบเครือญาติ มีการปกครองและการจัดการความสงบเรียบร้อยภายในโดยระบบอาวุโส มีผู้นำที่มีบารมีได้รับการเคารพยกย่องในชุมชน สมาชิกชุมชนมีความผูกพันกลมเกลียวเพราะมีความเคารพนับถือในผีบรรพบุรุษเดียวกัน และเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นสิ่งคอยควบคุมพฤติกรรมของคน ก่อให้เกิดกฎเกณฑ์ข้อห้ามให้ความชอบธรรมแก่การดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผน รวมทั้งคติทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ ที่เข้ามาผสมกลมกลืนในวิถีความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีของชุมชน สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้สมาชิกชุมชน “เป็นคนบ้านเดียวกัน” อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลและประนีประนอม เมื่อเกิดความแตกแยกขัดแย้งก็จะมีกลไกภายในไกล่เกลี่ยตัดสิน คือ ระบบว่าความโดยผู้อาวุโสและเครือญาติ

๕. ชุมชนกับสังคมภายนอก ชุมชนมิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นในท้องถิ่นเดียวกันในลักษณะ “เครือข่าย” และมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและทุนมาทุกยุคทุกสมัย การรุกคืบเข้ามาของระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐราชการนั้นได้เข้ามาในลักษณะครอบงำ บั่นทอนการดำรงอยู่ของชุมชน ทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองดึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตลาด มีการทำลายล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นฐานดำรงชีวิตของชาวชุมชนให้เสื่อมโทรมลง ทำลายโครงสร้างการปกครองดูแลตนเองของชุมชนให้ขึ้นต่อการปกครองของรัฐและระบบราชการ ทางด้านสังคมวัฒนธรรมเกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คุณค่าทางวัฒนธรรมที่ดีงามในแบบแผนการดำเนินชีวิตถูกทำลายลง ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมตัวใครตัวมัน แก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบ กอบโกยกำไร ความยกย่องนับถือคนดีถูกแทนที่ด้วยการนับถือเชื่อฟังคนรวย ฯลฯ สำนักวัฒนธรรมชุมชนเห็นว่าการใช้ “ความเจริญ” ตามแนวสังคมตะวันตกมาเป็นแบบแผนชี้นำการพัฒนาประเทศเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำลายชุมชน ทำลายความดีงามในอดีต มากกว่าจะเป็นการพัฒนาให้สิ่งดีงามในอดีตเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

๖. ทางเลือกการพัฒนาตามแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนเชื่อว่า แม้ฐานเศรษฐกิจของชุมชนและทรัพยากรจะถูกทำลายเสียหายลงไปบ้าง แต่ “จิตสำนึก” หรือ “พลังทางวัฒนธรรม” นั้นยังคงอยู่ สามารถสร้างความเข้มแข็งของชุมชนขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่รูปแบบภายนอกอาจแตกต่างไปจากเดิม หลักสำคัญคือ เป็นการพัฒนาที่ไม่ทำลายล้างสถาบันชุมชน แต่มุ่งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและอยู่ร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

มีการเสนอทางเลือกดังนี้

๖.๑ การพัฒนาต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมชุมชน ต้องรื้อฟื้นคุณค่าดั้งเดิมที่ชุมชนมีมาประยุกต์สร้างสรรค์ทางเลือกขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่การถอยหลังไปสู่สังคมเก่าในอดีตซึ่งเป็นไปไม่ได้ ต้องสร้างแบบแผนการผลิตและแบบแผนการดำรงชีวิตขึ้นมาใหม่ภายใต้คุณค่าที่ดีงามแบบดั้งเดิม เช่น การตั้งกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว กลุ่มออมทรัพย์ เหล่านี้คือคุณค่าแห่งการสร้างหลักประกันความมั่นคงร่วมกันหรือสวัสดิการของชุมชน นักพัฒนาและปัญญาชนของชุมชนควรร่วมกับชาวบ้านวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชน ทำให้ชาวบ้านตื่นและตระหนักในเอกลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง ค้นพบจิตสำนึกอิสระของชุมชน เห็นคุณค่าของการรวมตัวเป็นชุมชน เห็นภัยจากการครอบงำจากวัฒนธรรมภายนอกที่เอารัดเอาเปรียบ กระบวนการนี้จะทำให้เกิดอุดมการณ์ต่อสู้ที่มีพลัง

๖.๒ การพัฒนาต้องเน้นกระบวนการกลุ่ม การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อคงความเป็นชุมชนไว้ มิใช่เน้นปัจเจกชนนิยมที่คำนึงถึงแต่การต่อสู้แข่งขันทำลายล้างกันอย่างการพัฒนากระแสหลัก การรวมกลุ่มรวมตัวกันในรูปของการจัดการองค์กร เช่น สหกรณ์ สหพันธ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันและสร้างอำนาจในการต่อรองกับภายนอก สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน สร้างความร่วมมือกับคนกลุ่มอื่นในสังคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ปัญหา

๖.๓ ทางด้านการผลิตนั้นควรอยู่บนหลักการ “ผลิตเพื่อให้ทุกคนมีกินมีใช้ แล้วค่อยเอาส่วนที่เหลือส่งออก (ขาย)” จากนั้นก็มีการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ, เน้นใช้ทรัพยากรท้องถิ่น, การค้าขายแลกเปลี่ยนภายใน, เทคโนโลยีที่กำกับเองได้, พัฒนาคุณภาพประชากร, เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ หลักการนี้ถูกพัฒนามาอธิบายการสร้างทางเลือกการพัฒนาด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ธุรกิจชุมชนและอาชีพทางเลือกอื่น ๆ หลายด้านในเวลาต่อมา

๖.๔ ชุมชนต้องมีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดูแลและรักษา มิใช่ทำลายล้างธรรมชาติอย่างการพัฒนากระแสหลัก เพราะธรรมชาติจะช่วยคงความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนไว้ได้

๖.๕ ข้อเสนอทางเลือกสำหรับสังคมไทย สำนักวัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะคณะดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้พัฒนายกระดับข้อเสนอทางนโยบายระดับชาติ ที่สำคัญคือ

๑) การพัฒนาด้านวัฒนธรรมและยกระดับสถาปนาวัฒนธรรมชุมชนเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ เพราะ “ระบบชุมชน” ยังดำรงอยู่เป็นระบบใหญ่ที่สุดของประเทศ

๒) การประสานระบบเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับเศรษฐกิจทุนนิยม ประกอบขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจแห่งชาติเป็น “เศรษฐกิจสองระบบ”

๓) การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นมาสู่ “องค์การบริหารของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น” หรือคืนอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินชีวิตให้แก่ชาวบ้านนั่นเอง

ประสบการณ์อันต่อเนื่องของนักเคลื่อนไหวสังคมและนักพัฒนา รวมทั้งการค้นคว้าของนักวิชาการอย่างเอาจริงเอาจัง ได้ก่อรูปเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนี้ขึ้น ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนทวนความเคลื่อนไหวทางสังคมในประมาณกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ท่านจะเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีเป้าหมายสู่การดำรงอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีการพึ่งตนเอง การลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่ชุมชนพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิต การมีส่วนร่วมกับรัฐในการพัฒนา ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระแสการกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง-การจัดการตนเองการเกิดขึ้นของสถาบันใหม่ ๆ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชน องค์การอิสระหลาย ๆ องค์กร

เหล่านี้กล่าวได้ว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ได้แสดงตัวตนลื่นไหลเข้าไปในองคาพยพต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราคงได้กล่าวถึงกันต่อไปถึงการเคลื่อนไหวในปริมณฑลต่าง ๆ ของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งการแตกตัวทางแนวคิดท่ามกลางการคลี่คลายของสถานการณ์ทางสังคม และข้อถกเถียงสำคัญ.

**

ประวัติย่อ สนั่น ชูสกุล

การสมรส

แต่งงานกับ นางวิจิตรา ชูสกุล มีบุตร ๒ คน คือนายนาคร ชูสกุล และ นางสาววรรณลีลา ชูสกุล อาศัยอยู่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเลขที่ ๑๐๕/๖ หมู่บ้านธารธนา ถนนโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.สุรินทร์

การงาน

– ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๓ ประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ปี ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ : กองบรรณาธิการฝ่ายสังคมศึกษาสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช (กทม.)

– ปี ๒๕๒๕ – ๒๕๒๗: งานพัฒนาชุมชนโครงการพัฒนาหมู่บ้านชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สุรินทร์

– ปี ๒๕๒๘ – ๒๕๓๔ : ผู้ประสานงานโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม (อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์)

– ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๓๘ : ฝ่ายข้อมูล คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)

– ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒ : บรรณาธิการวารสารดอกติ้วป่า

– ปี ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการโครงการทามมูล

– ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙ : หัวหน้าโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษาภาคอีสาน

– ปี ๒๕๔๔ – ปัจจุบัน : บรรณาธิการโครงการหนังสือดอกติ้วป่า, บรรณาธิการ www.esaanvoice.net

– เป็นอาจารย์พิเศษโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ม.ราชภัฏสุรินทร์

– เป็นคอลัมนิสต์ วารสารสุรินทร์สโมสร, นิตยสาร “ทางอีศาน”

– ทำสวน ทำนา ปลูกป่า พื้นที่ ๑๐ ไร่ ที่บ้านแจรน ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์

ผลงานเขียน

๑. งานวิจัย

– ภาวะหนี้สินชุมชนอีสานใต้ (๒๕๓๑) สนับสนุนโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสานใต้

– กรณีศึกษาการปลูกมะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน ตามโครงการสี่ประสาน (๒๕๓๕)

– ระบบนิเวศน์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ายุ่งป่าทาม-กรณีป่าทามราศีไศล จ.ศรีสะเกษ (๒๕๓๘) สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

– วิจัยภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรในป่านุ่งป่าทาม (๒๕๔๕) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนลุ่มน้ำมูล (๒๕๕๐) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ฯลฯ

๒. กรณีศึกษาและงานค้นคว้าทางวิชาการ

– ยูคาลิปตัสบนแผ่นดินอีสาน (๒๕๓๙) ประกอบการประชุมวิชาการและเผยแพร่โดยเครือข่ายป่าที่ดินอีสาน

– เมื่อลุ่มน้ำมูลถูกพัฒนา (๒๕๔๗) เอกสารการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ปี ๒๕๔๙ โดยเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย

– เขื่อนราษีไศล : รายจ่ายแสนแพงเพื่อความเป็นข่าว (๒๕๔๕) ประกอบการสัมมนาทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และจัดพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “ข่าวที่ไม่เป็นข่าว”

– จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่การค้นหาสังคมทางเลือก (๒๕๕๐) นำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ฯลฯ

๓. หนังสือที่เขียนและเป็นบรรณาธิการ

– หนังสือ “ป่าทาม ป่าไทย” (กองทุนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

– บทเรียนรู้นโยบายสาธารณะ พื้นที่ชุ่มน้ำ (สสส., ๒๕๔๙)

– ป่าชุมชนอีสาน (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– ประสบการณ์วนเกษตร (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๔๐)

– คู่มือการจัดการป่าทามโดยองค์กรชุมชน (โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคอีสาน, ๒๕๔๖)

– ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำโลก (โครงการทามมูล, ๒๕๕๐)

ฯลฯ

๔. บทความ – สารคดี

– บทความ บทรายงาน สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม งานพัฒนาชุมชน เผยแพร่ในนิตยสารวารสารและเวบไซต์ต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐ ชิ้น

๕. นวนิยายที่จัดพิมพ์แล้ว

– “ผู้คุ้มครอง” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๑)

– “อีกโค้งหนึ่งก็ถึงแล้ว” (สำนักพิมพ์ดอกติ้วป่า, ๒๕๔๕)

๖. หนังสือรวมเรื่องสั้น

– “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” (สำนักพิมพ์อิงฟ้า, ๒๕๔๓)ได้รับรางวัล

ากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงนสัปดาห์หนังสือแ

– “บริษัทไทยไม่จำกัด” (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (S.E.A Write Award) ปี ๒๕๕๑

– “พันธุ์อุดมการณ์” (สำนักพิมพ์อินทนิล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, พฤษภาคม ๒๕๕๗)

๗. รางวัลวรรณกรรมที่ได้รับ

– รางวัลช่อการะเกด (๒๕๓๖) จากเรื่องสั้น – ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – หิมพาล (๒๕๓๗)

– รางวัลชมเชยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย จากเรื่องสั้น – ถนนไปชายเล (๒๕๓๘)

ฯลฯ

ประกาศเกียรติคุณที่ได้รับ

– งานวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา ได้รับรางวัลเป็นงานวิจัยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๐ ของ สกว.

– รางวัลวรรณกรรม ๖ รางวัล

– ศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ใน ๗๗ คนในวาระ ๗๗ ปีมหาวิทยาลัยฯ (๒๕๕๔)

– ศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๕๖

– รางวัล สันติประชาธรรม (พิเศษ) สำหรับบุคคลที่อุทิศตัวเพื่อสังคมตามแนวทางอาจารย์ป่วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเป็นสมาชิกองค์กรและบทบาททางสังคม

– เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน (๒๕๓๘-ปัจจุบัน)

– ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา

– อนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ และคณะทำงานเรื่องทรัพยากรน้ำ สำนักนายกรัฐมนตรี

– คณะอนุกรรมการด้านการจัดการที่ดิน น้ำ ทรัพยากรฯในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย

– กรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเขื่อนหัวนา, เขื่อนราษีไศล-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ฯลฯ

วาระสุดท้าย

สนั่น ชูสกุล เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ด้วยอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และมีไข้สูง คุณหมอได้ตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเพื่อส่งไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสนั่นได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ผลการพิสูจน์ชิ้นเนื้อไม่พบว่าเป็นอะไร คุณหมอได้แนะนำว่าอาจต้องพิสูจน์ชิ้นเนื้ออีกรอบ ครอบครัวจึงตัดสินใจพาสนั่นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. ซึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์อีกรอบ พร้อมทั้งการเจาะไขสันหลัง จึงพบว่าสนั่นเป็นมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ครอบครัวตัดสินใจพาสนั่นกลับบ้าน มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ และสนั่นได้สิ้นใจในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ นับเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา ๑ เดือน รวมสิริอายุได้ ๕๖ ปี ๔ เดือน.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com