จิตแพทย์ ในชาติพันธุ์อีศาน

พิธีบายศรีสู่ขวัญ บ้านหญ้าปล้อง (ภาพ : หญ้าปล้องศรีสะเกษ)

จิตแพทย์ (psychiatrist) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านจิตเวชศาสตร์ และได้รับการรับรองให้ทำการรักษาความผิดปกติทางจิต จิตแพทย์ทุกคนถูกฝึกให้วินิจฉัยโรคและจิตบำบัด เนื่องจากจิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์อยู่เองด้วยและสามารถวินิจฉัยโรคผู้ป่วยได้ จิตแพทย์จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มสาขาผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตจำนวนจำกัด ที่สามารถจ่ายยาเพื่อรักษาอาการทางจิตของผู้ป่วยได้ตลอดจนสามารถสั่งตรวจร่างกาย สั่งและอธิบายการทดลองในห้องปฏิบัติการและตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองและสั่งให้มีการถ่ายภาพสมอง อย่างเช่น การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก และการสแกนโพซิตรอนอีมิสชัน โทโมกราฟีให้ผู้ป่วยได้ ในขณะที่ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตสาขาอื่น เช่น นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดพยาบาลจิตเวช ฯลฯ ซึ่งมิใช่แพทย์ จะไม่สามารถสั่งจ่ายยาและสั่งการรักษาดังกล่าวได้เอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบในแต่ละประเทศด้วย โดยปกติจิตแพทย์จะร่วมทำงานเป็นทีมกับบุคลากรสาธารณสุขสาขาอื่น ๆ ในการรักษาผู้ป่วยรายหนึ่ง ๆ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ๒๕/๐๒/๒๕๕๗)

*****

จิตแพทย์ในชาติพันธุ์อีศานที่กล่าวถึงนี้ หมายถึง บุคคลที่ผ่านการเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมจนได้รับการยกย่องให้เป็นจารย์ (อาจารย์), เป็นทิด (บัณฑิต) มีความเชี่ยวชาญ รอบรู้ทางด้านไสยศาสตร์และจริยศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันก็มีความรู้เรื่องศาสตร์การรักษาผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพรและเวทย์มนต์คาถา โดยเฉพาะหมอสูตรและการสูตรขวัญ

การสูตรขวัญ หมายถึง การปลอบประโลมและการฟื้นจิตใจคนขวัญเสียให้ปกติโดยการเรียกขวัญ และการส่งเสริมจิตใจที่ปกติอยู่แล้วให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้นอีก ในชีวิตประจำวัน หลายคนอาจเผชิญหน้ากับวิกฤติ, สถานการณ์เลวร้ายหรือเจ็บป่วยอย่างหนักและรอดตายมาได้ คนที่ตกอยู่ในภาวะนี้เป็นใครก็ต้องขวัญเสีย ขวัญหาย จิตใจไม่ปกติอยู่ในสภาพวิตกกังวล ฟั่นเฟือน เลื่อนลอย คลุ้มคลั่ง เป็นคนที่จิตใจไม่ปกติ ซึ่งก็หมายถึงการเจ็บป่วยทางจิตนั่นเอง หากปล่อยปละละเลยไปอาจเป็นคนบ้า จึงต้องรักษาเบื้องต้นด้วยการสูตรขวัญโดยหมอสูตรขณะเดียวกันคนที่จิตใจปกติ แต่มีเรื่องต้องเผชิญกับอนาคต เช่น ไปเป็นนักบวช, ไปแต่งงาน, ไปรับตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่, ไปทหาร, ไปสงคราม, ไปเผชิญยังต่างแดน ฯลฯ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับขวัญและกำลังใจจากพ่อแม่, ญาติพ้อง จึงต้องมีพิธีการสูตรขวัญขึ้นโดยหมอสูตร ดังนั้น หมอสูตรจึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งของสังคมชุมชนโบราณมาจนถึงปัจจุบันนี้

การสูตรขวัญเป็นประเพณีมาแต่โบราณ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อผืนแผ่นดินนี้มีคน ผืนแผ่นดินนี้ก็มีหมอสูตร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ? เพราะแม้แต่เด็กทารกตกใจ ร้องไห้ พ่อแม่ก็ยังมีการโอ๊ะโอ๋ปลอบประโลมเรียกขวัญให้หยุดร้องไห้ “มาเยอ…ขวัญเอย” นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการสูตรขวัญ แม้จะไม่เป็นพิธีการก็ตาม การสูตรขวัญเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ แผ่อิทธิพลความเชื่อฝังลึกในจิตวิญญาณของมนุษย์แถบลุ่มนํ้าโขง เจ้าพระยา ฯลฯ เป็นพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคลอันดีแก่ชีวิต บุคคลที่จะประกอบพิธีกรรมนี้ได้ต้องเป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดในพิธีสูตร พิธีกรรมนี้เกี่ยวกับจิตวิทยา ฉะนั้น หมอสูตรจึงเปรียบเสมือนจิตแพทย์

เครื่องประกอบของการสูตรขวัญก็คือ พานบายศรีสู่ขวัญที่ทำจากใบตองม้วนเป็นกรวย ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้นและ ๙ ชั้นตามฐานะ ในกรวยเสียบด้วยดอกไม้และห้อยด้ายขาว, เหลือง ไว้ผูกแขน ในพานมีข้าวสาร มีไข่ไก่หรือไก่ต้มทั้งตัว เพื่อจะปอกเปลือกดูลักษณะไข่แล้วทำนายหรือฉีกดูคางไก่แล้วทำนายส่วนใหญ่แล้วจะทำนายไปทางดี และมีเทียนเล็กอีกคู่หนึ่ง คำว่า “บายศรี” เป็นภาษาเขมร หมายถึงข้าวกินที่เป็นสิริมงคล อันแสดงว่าพิธีกรรมนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเขมรที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คำว่า “สู่ขวัญ” หมายถึง เรียกขวัญมาสู่ผู้ป่วยทางจิตหรือผู้เข้าพิธีกรรม ในระหว่างที่สูตรขวัญจึงมีการโปรยข้าวสารแล้วเรียกขวัญว่า “มาเยอขวัญเอย..” หลังจากสูตรขวัญแล้วก็จะมีการผูกข้อต่อแขนให้กำลังใจให้คำอวยพร ผู้ป่วยทางจิตหรือผู้เข้าพิธีกรรมจึงเกิดพลังมหาศาล ขนลุก ปลาบปลื้ม ตื้นตันถึงกับกลั้นนํ้าตาไม่อยู่

การสูตรขวัญนี้ไม่เพียงแต่สูตรขวัญรักษาจิตหรือเพิ่มพลังจิตของคน หากยังมีการสูตรขวัญให้แก่สัตว์และวัตถุสิ่งของอื่นที่เกี่ยวกับชีวิตคนด้วย เช่น การสูตรขวัญ ช้าง ม้า วัว ควาย เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ใหญ่ มีคุณูปการสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในการสู้ศึกสงคราม ในการทำมาหากินจนเกิดความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ส่วนการสูตรขวัญวัตถุสิ่งของนั้น มีการสูตรขวัญพระพุทธรูป สูตรขวัญเสาเรือน สูตรขวัญขึ้นบ้านใหม่ สูตรขวัญข้าว สูตรขวัญเกวียน ฯลฯ พิธีการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ เป็นการเสริมพลังจิตใจในการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน

การแสดงที่ดัดแปลงจากการเล่นสะเองของชาวกูย
ภาพ : ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์

นอกจากการสูตรขวัญแล้วยังมีกิจกรรมหรือพิธีกรรมอื่น ๆ อีกที่จัดขึ้นเพื่อ “รักษาจิตป่วยไข้ จิตไม่ปกติ” อาจจะเป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากการสูตรขวัญหรือไม่ก็ได้ นั่นคือ การใช้การฟ้อน ขับร้องและเล่นดนตรีบำบัด

พิธีกรรมนี้ได้แก่ การเล่น “มะม็วด” ของชาติพันธุ์เขมร คำว่า “มะม็วด” นี้เพี้ยนมาจากคำว่า “แมเม็อด” หมายถึง แม่ผู้ป้องปากบอกกล่าวถึงผีบรรพบุรุษและเทวดาบนสวรรค์ วิงวอนขอประทานขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย เครื่องดนตรีประกอบด้วยสะกวล (กลองโทน), ฆ้อง, แคน, ปี่, กรับ ผู้ชายเล่นดนตรี ผู้หญิงร้องและรำฟ้อนในปะรำพิธีตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น,หรือจากหัวคํ่ายันสว่าง ดนตรีนี้เป็นปฐมบทของเพลงกันตรึมในเวลาต่อมา., การเล่น “สะเอง” ของชาติพันธุ์กูย/กวยที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติพันธุ์เขมร บางแห่งเรียกว่า การเล่นสะเอิง. เครื่องดนตรีมีกลองโทน, แคน, การเล่น “นางออ” ของชาติพันธุ์กวยที่รับอิทธิพลจากชาติพันธุ์ลาว มีการขับลำประกอบเสียงแคนส่งถึงผีแถนเทวดาให้ปกปักรักษาชีวิต การเล่น “กำฟ้า” ของชาติพันธุ์พวน “พิธีกรรมเหยา” ของชาติพันธุ์ผู้ไทและโส้เป็นพิธีกรรมการรักษาคนป่วยด้วยวิธีตามความเชื่อเรื่องผี พิธีหมอเหยามีความเป็นมา คือ เมื่อมีคนเจ็บป่วยที่ใด ผ่านการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วยังไม่หายญาติคนป่วยนั้นจะไปหาหมอเหยาให้มาประกอบพิธีเสี่ยงทายดู เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำของผีหรือ “ผิดผี” จึงต้องทำพิธี “เหยา” เพื่อ “แก้ผี” ว่าที่ผู้เจ็บป่วยนี้ผิดผีด้วยสาเหตุใด ผีต้องการอะไรจะได้แต่งแก้หรือปฏิบัติตาม เชื่อว่าเมื่อทำการแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยก็จะหายเป็นปกติ การประกอบพิธีเหยานั้นจะกระทำโดยหมอเหยา หรือเรียกว่า ผีหมอ หมอเหยาจะทำพิธีเซ่นผี ติดต่อสื่อสารกับผีโดยการร้องรำประกอบดนตรีประเภทแคน คำร้อง และการ “รำผีฟ้า”ของชาติพันธุ์ลาว

นี่คือความเชื่อของกลุ่มคนในชาติพันธุ์อีศานมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ซึ่งยังหาที่พึ่งจากศาสนาและการสาธารณสุขไม่ได้ เมื่อประสบกับความเดือดร้อนใด ๆ จึงต้องหันไปวิงวอนขอความช่วยเหลือจากผีบรรพบุรุษและผีแถน เพราะชาติพันธุ์เหล่านี้เชื่อว่ามีชาติกำเนิดมาจากผีแถน

การละเล่นเหล่านี้ เชื่อกันว่า “ผีเข้าทรงร่างผู้เล่น” เป็นผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เดิมทีข้าพเจ้าไม่เชื่อ แต่เมื่อเห็นมารดาซึ่งเป็นนางสะเองใหญ่เล่นสะเอง ข้าพเจ้าจึงเชื่อ สาเหตุเริ่มจากมารดาข้าพเจ้าป่วยเรื้อรังมานาน กว่าจะหายจากการป่วยไข้ก็ใช้เวลานับปี จนมีการบนบานว่า หากหายป่วยจะเล่นสะเองเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มารดาข้าพเจ้าไม่เคยดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่พอผีสะเองเข้าทรงร่าง มารดาข้าพเจ้าเรียกหาเหล้ามาดื่ม ยกขวดกรอกลงปากสามสี่ครั้งก็หมดขวดและเรียกหาขวดต่อไป เรียกหาบุหรี่มาสูบ เอาบุหรี่ยาซองยาเส้นให้จุดสูบแล้วก็บอกว่าไม่เอา จนต้องมวนพริกแห้งให้สูบ จึงสูบไป ดื่มเหล้าไป ฟ้อนไปจากหัวคํ่าจนสว่างคาตา สิ่งนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อ

นางรำฟ้อนที่เล่นในพิธีกรรมนี้ ผีจะเข้าทรงร่างจริงหรือไม่, ไม่สำคัญเลย แต่พลังของการแสดงออกพลังของดนตรี และพลังจากญาติพี่น้องที่มาดูมาชมมาอยู่เป็นเพื่อนย่อมส่งผลให้  “ผู้ป่วย” เกิดพลังใจอย่างมหาศาล เมื่อมีพลังใจดีแล้วพลังทางร่างกายก็จะเกิดขึ้นด้วย ทำให้คนป่วยกลายเป็นคนหายป่วยได้

นับแต่เรื่องสูตรขวัญจนถึงพิธีการละเล่นต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นจิตวิทยาหรือเป็นกลอุบายที่สร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดพลัง ผู้ที่เป็นหมอสูตร, นางรำฟ้อน, นักดนตรี ถือว่าเป็นจิตแพทย์ของสังคมโบราณที่มีคุณค่าต่อจิตใจและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

******

เรื่อง จิตแพทย์ในชาติพันธุ์อีศาน คอลัมน์อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน นิตยสาร ทางอีศาน ฉบับที่ ๒๔ | เมษายน ๒๕๕๗

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

Related Posts

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
ทองกวาว/จาน ในมิติทางการแพทย์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com