จีนาภิวัตน์กับอาเซียน (๑) ความร่วมมือด้านต่าง ๆ
ทางอีศาน ฉบับที่๑๐ ปีที่๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
คอลัมน์: รายงาน “ทางอีศาน”
ผู้เขียน: ทองแถม นาถจำนง
ประชาคมอาเซียนมี ๓ เสาหลัก คือ เศรษฐกิจ, ความมั่นคง, สังคมและวัฒนธรรม
๓ เสาหลักหรือสามด้านนี้ หน่วยราชการ,องค์กรเอกชน และสื่อมวลชนทั่วไป มักให้ความสำคัญสนใจแต่ด้านเศรษฐกิจ กระทั่งเรียก “ประชาคมอาเซียน” ว่า AEC ซึ่งผิด AEC คือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งเป็นเสาเดียวหรือด้านเดียวเท่านั้น
ข้าพเจ้าเขียนถึงประชาคมอาเซียนในด้าน “สังคมและวัฒนธรรม” เป็นหลัก และได้นำเสนอมามากแล้ว บทความนี้จึงขอเสนอมุมมองด้านเศรษฐกิจบ้าง
คนทั่ว ๆ ไปมักเห็นเพียงว่า “ประชาคมอาเซียน” มีสมาชิก ๑๐ ประเทศ แต่จริง ๆ แล้ว“อาเซียน” ได้ผูกโยงเข้ากับประเทศใหญ่อื่น ๆ ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเรียกว่า อาเซียนบวกสาม- ASEAN PLUS 3
กรอบความร่วมมืออาเซียน + ๓ (ASEAN + 3) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม ๓ ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งชุมชนเอเชียตะวันออก (East Asian Community) โดยให้อาเซียนและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน + ๓ เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามเมื่อปี ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
ผู้นำของประเทศสมาชิกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออกฉบับที่ ๒ (Second Joint Statement on East Asia Cooperation: Building on the Foundations of ASEAN Plus Three Cooperation) พร้อมกับเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน (ASEAN+3 Cooperation Work Plan (2007 – 2017)) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระยะยาว และผลักดันให้เกิดชุมชนอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือใน ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสังคม วัฒนธรรมและการพัฒนา และด้านการส่งเสริมกรอบการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ และกลไกต่าง ๆ ในการติดตามผล โดยแผนความร่วมมือดังกล่าวทั้ง ๕ ด้านนี้ ถือเป็นการประสานความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประเทศในเอเชียตะวันออกมากยิ่งขึ้น
อาเซียน + ๓ ประกอบด้วยสมาชิก ๑๓ ชาติ คือ ๑๐ ชาติสมาชิกอาเซียน รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า ๒,๐๐๐ ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรโลก แต่เมื่อรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกัน จะทำให้มีมูลค่าถึง ๙ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณร้อยละ ๑๖ ของ GDP โลก ขณะที่ยอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันจะสูงถึง ๓.๖ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองต่างประเทศของโลก ตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอาเซียน + ๓ จะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
จากความร่วมมือดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับผลประโยชน์ในกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียนบวก + ๓ (FTA Asian + 3) มูลค่าประมาณ ๖๒,๑๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๗,๙๔๓ ล้านดอลลาร์ ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน คือประมาณ ๗,๘๘๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเวียดนามคาดว่าจะได้รับประโยชน์มูลค่าประมาณ ๕,๒๙๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและผูกพันใกล้ชิดกับอาเซียน เศรษฐกิจของจีนจะส่งผลกระทบต่ออาเซียนมาก ชาวอาเซียน ชาวไทยชาวอีสาน ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากอิทธิพลของจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงควรติดตามข้อมูล ศึกษาแนวคิด ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายอำนาจทางการเมือง การทหาร ของจีนอย่างใกล้ชิด
การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community-AEC) ในปี ๒๕๕๘ นอกจากชาติในอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนและค้าขายระหว่างกันแล้ว ประเทศ “คู่เจรจา” โดยเฉพาะมองการณ์ไกลถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับก่อนกระแส AEC เสียอีก
จีนเข้าไปขยายเศรษฐกิจใน ๓ ประเทศของอาเซียนมานานแล้ว ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เมื่อยี่สิบปีก่อนจีนมีนโยบายให้มณฑลยูนนานเป็นประตูสู่ภาคตะวันตก เป็นฐานขยายเศรษฐกิจไปสู่เมียนมาร์ อินเดีย และอาเซียน ทำให้เมืองไทยเกิดกระแส “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” อยู่พักใหญ่รัฐบาลจีนยกระดับเมือง “คุนหมิง” ให้เป็นศูนย์ทางการค้าสำคัญแห่งที่ ๔ นอกเหนือจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว เพื่อให้คุนหมิงเป็นเหมือน “เมืองหน้าด่าน” ในการค้าขายกับอาเซียน ตามมาด้วยการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่อันดับ ๔ ของประเทศ โดยวางคุนหมิงให้เป็นศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ที่จะนำเงินสกุล “หยวน” ออกสู่อาเซียน
เมื่อมณฑลยูนนานเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมากแล้ว รัฐบาลกลางได้ปรับนโยบาย เปลี่ยนให้เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง-กวางสี เป็นฐานที่มั่นในการรุกทางเศรษฐกิจต่ออาเซียน โดยตั้งเป้าหมายรุกเข้าไทยเป็นหลัก แล้วขยายต่อไปสู่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ
ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างจีนกับอาเซียน
อาเซียนกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน – จีน (Framework Agreement on ASEAN – China Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางสำหรับการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้สามารถสรุปการเจรจาและลงนามในความตกลงด้านการค้าสินค้าระหว่างอาเซียน-จีน (Agreement on Trade in Goods of the Framework Agreement on Comprehensive Economic Co-operation between the ASEAN and China) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
การเปิดเสรีการค้าสินค้า
การเปิดเสรีการค้าสินค้า แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program) และการลดภาษีสินค้าทั่วไป
– การลดภาษีสินค้า Early Harvest Program จะครอบคลุมสินค้าเกษตรภายใต้พิกัดศุลกากรตอนที่ ๐๑-๐๘ (สัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ปลา ผลิตภัณฑ์นม ไข่สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ต้นไม้ พืชผักที่บริโภคได้ ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้) รวมทั้งสินค้าเฉพาะ (Specific products) ที่มีผลเฉพาะกับประเทศที่ตกลงกันสองฝ่ายเท่านั้น เช่น ไทยกับจีนได้ตกลงที่จะเร่งลดภาษีระหว่างกันอีก ๒ รายการคือ ถ่านหินแอนทราไซต์และถ่านหินโค้ก/เซมิโค้ก โดยให้จีนและอาเซียนเดิม ๖ ประเทศเริ่มต้นการลดภาษีในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ และลดภาษีลงเป็น ๐% ภายในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ และให้ความยืดหยุ่นกับอาเซียนใหม่ ๔ ประเทศ ในอัตราและระยะเวลาเริ่มลดภาษี แต่ต้องลดภาษีเป็น ๐% ภายในปี ๒๕๕๓ (แนวทางและระยะเวลาการลดภาษีสินค้า Early Harvest Program) ทั้งนี้สำหรับสินค้าที่มีมาตรการโควตาภาษี เช่น หอมและกระเทียม จะลดเฉพาะอัตราภาษีในโควตาเท่านั้น
ในการนี้ เนื่องจากไทยและจีนเห็นศักยภาพด้านการค้าระหว่างกันในสินค้าเกษตรพิกัดศุลกากร ๐๗-๐๘ (ผัก และผลไม้) ทั้งสองฝ่ายจึงได้เห็นชอบและร่วมลงนามในความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน (Agreement between the Government of the People’s Republic of China and the Government of the Kingdom of Thailand on Accelerated Tariff Elimination under the Early Harvest Programme of the Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation between ASEAN and China) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ โดยให้นำสินค้าในสองหมวดนี้มาเร่งลดภาษีระหว่างกันก่อนประเทศอาเซียนอื่น ๆ โดยให้ลดอัตราภาษีให้เหลือ ๐% ภายในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ซึ่งต่อมาสิงคโปร์ได้เข้าร่วมลงนามในความตกลงฯ นี้ด้วย
– การลดภาษีสินค้าทั่วไป ได้แบ่งรายการสินค้าออกเป็น ๒ รายการ ได้แก่ รายการสินค้าปกติ (Normal Track) ซึ่งมีอัตราภาษีสุดท้าย คือ ๐% และรายการสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการความคุ้มครอง และจะมีระยะเวลาการลด/เลิกภาษีมากกว่าสินค้าปกติดังนี้
• สินค้าปกติ (Normal Track) : กำหนดให้ลดอัตราภาษีที่สูงกว่า ๒๐% ให้เหลือ ๒๐% ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ ส่วนภาษีที่มีอัตราต่ำกว่า ๒๐% ให้ลดอัตราภาษีลงตามลำดับ และอัตราภาษีของสินค้าทั้งหมดจะต้องลดลงเหลือ ๐% ภายในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ (๕ ปี) พร้อมกับให้สินค้าจำนวน ๑๕๐ รายการได้รับความยืดหยุ่นให้ลดภาษีเหลือ ๐% ได้ถึงปี ๒๕๕๕ (๗ ปี) รวมทั้งให้เพิ่มสินค้าที่จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ ๐-๕% จากจำนวน ๔๐% ในปี ๒๕๔๘ เป็น ๖๐% ในปี ๒๕๕๐
• สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) : จะมีได้ไม่เกิน ๔๐๐ รายการ และไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าการนำเข้า โดยกำหนดให้ลดอัตราภาษีเหลือ ๒๐% ในปี ๒๕๕๕ และมีอัตราภาษีสุดท้ายอยู่ที่๐-๕% ในปี ๒๕๖๑ ส่วนสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Track) ได้ตกลงในเบื้องต้นที่จะกำหนดไม่ให้เกิน ๔๐% หรือ ๑๐๐ รายการของสินค้าอ่อนไหวทั้งหมด โดยต้องเลือกหลักเกณฑ์ที่มีจำนวนรายการน้อยกว่า และลดอัตราภาษีเหลือ ๕๐% ในปี ๒๕๕๘ ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้รับสิทธิการลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน จะต้องมีแหล่งกำเนิดของสินค้าตามกฎเกณฑ์ที่ได้ตกลงกัน คือ สินค้าบางประเภทต้องใช้วัตถุดิบภายในทั้งหมด (Wholly Obtained) ส่วนสินค้าอื่น ๆ ต้องมีมูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ภายในประเทศไม่ต่ำกว่า ๔๐% โดยสามารถนำมูลค่าของวัตถุดิบจากทุกประเทศสมาชิกมารวมกันได้ นอกจากนี้อาเซียนและจีนได้จัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเฉพาะ (Product Specific Rules: PSR)
พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้สามารถใช้มาตรการปกป้อง เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศจากผลของการเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีน อาทิ การทะลักของสินค้านำเข้าที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสินค้า / อุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าที่ได้รับผลกระทบให้เท่ากับอัตราภาษีทั่วไปที่เก็บจากประเทศสมาชิก WTO ในช่วงเวลาเดียวกัน และสามารถใช้มาตรการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ความตกลงการค้าสินค้ามีผลบังคับใช้ จนถึง ๕ ปีหลังจากวันสิ้นสุดของการยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรของสินค้านั้น ๆ นอกจากนี้ อาเซียนและจีนได้จัดทำความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท เพื่อเป็นข้อผูกพันในการดำเนินการเมื่อเกิดข้อพิพาทจากการเปิดเสรีอาเซียน – จีนด้วย
การเปิดเสรีด้านการค้าบริการ
อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลงด้านการค้าบริการ พร้อมข้อผูกพันการเปิดตลาดกลุ่มที่ ๑ ได้แล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๐ ณ เมืองเซบูสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยความตกลงฯ ครอบคลุมธุรกิจบริการภาคเอกชนทุกสาขา โดยไม่ครอบคลุมการให้บริการและการจัดซื้อจัดจ้างบริการโดยรัฐสำหรับระดับการเปิดตลาดของแต่ละประเทศจะระบุอยู่ในตารางข้อผูกพันของแต่ละประเทศ และปรากฏอยู่ในส่วนแนบท้ายความตกลงฯ ทั้งนี้ ไทยเสนอผูกพันเปิดตลาดภายใต้กรอบที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ต่างชาติประกอบธุรกิจได้ คือให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้โดยถือหุ้นไม่เกินร้อยละ ๔๙ และมีเงื่อนไขอื่นตามกฎหมายเฉพาะสาขา เช่นในสาขาวิชาชีพต้องเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพกำหนด
ข้อผูกพันสาขาการเปิดตลาดกลุ่มแรก
– ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยเสนอผูกพันเปิดตลาดในระดับสูงกว่าที่เปิดตลาดภายใต้ WTO แต่ต่ำกว่าที่เปิดตลาดให้กันเองในอาเซียนโดยกิจกรรมที่ไทยเสนอเปิดตลาดเพิ่มขึ้นจากข้อผูกพันภายใต้ WTO ครอบคลุมกิจกรรมบริการบางประเภทในสาขาวิชาชีพ การศึกษา บริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางเรือ
– สำหรับจีนเสนอเปิดตลาดเพิ่มเติมจากข้อผูกพันภายใต้ WTO โดยครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการขนส่งสินค้าทางถนน และบริการธุรกิจอื่น ๆ
ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-จีน (ASEAN-China Investment Agreement)
การเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน-จีน ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน-จีน จะมีพันธกรณีหลักที่สำคัญคล้ายคลึงกับพันธกรณีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในความตกลงเพื่อการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุนที่ไทยจัดทำกับต่างประเทศรวมถึงจีน
ความตกลงฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๒
– สรุปสาระความตกลง
– AGREEMENT ON INVESTMENT OF THE FRAMEWORK AGREEMENT ON COMPREHENSIVE ECONOMIC CO-OPERATION BETWEEN THE ASSOCIATION OF SOUTHEAST ASIAN NATIONS AND THE PEOPLE’S REPUBLIC OF CHINA
– ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมด้านต่าง ๆ ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
อาเซียนและจีน รวมทั้งไทย มีกำหนดจะร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน ๕ สาขา ได้แก่เกษตรกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุน และการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ ศุลกากร การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การจัดตั้งศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาความตกลงให้มีการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRA) การดำเนินการตามแผนงานในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน
ตัวอย่างรูปธรรมด้านความร่วมมืออาเซียน-จีน
“หลายปีมานี้ นับวันจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนต่าง ๆ มีความร่วมมือในด้านการเกษตรใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งค่อย ๆ พัฒนากลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ เป็นต้นมา จีนและสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ลงนามเพื่อต่ออายุ “บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางการเกษตร” ซึ่งได้ผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับอาเซียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
กระทรวงเกษตรจีนคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและเอกลักษณ์ของการพัฒนาการเกษตรในประเทศอาเซียน ได้จัดการฝึกอบรมและการประชุมสัมมนาหลายครั้ง ดำเนินการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางการเกษตร เลือกประเทศที่มีเงื่อนไขพร้อมดำเนินโครงการสาธิตเพื่อกระชับความร่วมมือทางการเกษตรแบบพหุภาคีระหว่างจีนกับอาเซียน
โครงการความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับอาเซียน สอดคล้องกับจุดสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของประเทศอาเซียน จึงได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากรัฐบาลประเทศที่มีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือนี้ เช่น โครงการสาธิตข้าวนาพันธุ์ผสมแห่งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตรระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ได้ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวของฟิลิปปินส์อย่างมาก โครงการฯ นี้เป็นจุดสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของรัฐบาลฟิลิปปินส์ จึงได้รับการสนับสนุนจากวงการต่าง ๆของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ และขยายบทบาทในด้านการสาธิตและส่งเสริมข้าวนาพันธุ์ผสม และเครื่องจักรการเกษตรของจีนอย่างเต็มที่ปูพื้นฐานให้กับความร่วมมือในระยะต่อไป เช่นเดียวกับกรณีเวียดนามซึ่งได้จัดสรรเงินจำนวน ๔ ล้านหยวนให้กับ “โครงการสาธิตเครื่องอุปกรณ์ อาหารสัตว์ระหว่างจีนกับเวียดนาม” และเร่งกระบวนการดำเนินงาน ทั้งขยายเนื้อหาของโครงการให้กว้างขวางขึ้นด้วย
เศรษฐกิจและการค้า
การลงนามใน “ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุน” ระหว่างจีนและอาเซียนนั้น ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันอย่างมากเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนอย่างสมบูรณ์ ภายหลังการลงนามและปฏิบัติการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสินค้า การบริการและการลงทุน จึงถือได้ว่าเป็นการเสร็จสิ้นการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนอย่างทั่วด้านในปี ๒๐๑๐ และภายใต้วิกฤติการเงินโลกในปัจจุบัน การเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีฯที่สิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจและความตั้งใจของจีนและอาเซียนที่จะร่วมแรงร่วมใจกันรับมือวิกฤติการเงิน ส่งเสริมการค้าเสรีต่อไป และคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่มีประสิทธิผลในการฟื้นฟูความมั่นใจ และร่วมกันต่อต้านความยากลำบากของทั้งสองฝ่าย
การคมนาคม
ตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ จีนและอาเซียนจัดตั้งกลไกการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจีน-อาเซียน ได้จัดการประชุม ๗ ครั้ง และปฏิบัติตาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการคมนาคม จีน-อาเซียน” ที่ลงนามเมื่อปี ๒๐๐๔ ดำเนินโครงการความร่วมมือในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานหลายรายการ เปิดเส้นทางการคมนาคมทางเรือ ทางบกและทางอากาศหลากหลายเส้นทาง ดำเนินความร่วมมือในด้านการกู้ภัยในน่านน้ำทะเล ความปลอดภัยทางทะเลป้องกันและขจัดมลภาวะที่ก่อขึ้นโดยเรือ
ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ ๗ ที่จัดขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๘ สองฝ่ายได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการคมนาคมในอีก ๑๐-๑๕ ปีข้างหน้าระหว่างจีนและอาเซียน ซึ่งนับเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามข้อเสนอที่นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน เสนอในที่ประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ ๑๐ ที่จัดขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๗ช่องทางใหญ่ ๗ สาย ที่เป็นแบบ “๔ ตั้ง ๓ ขวาง” ครอบคลุมโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งทางบกทางทะเลและทางอากาศ ๙๐ รายการซึ่งสามารถเชื่อมต่อเมืองสำคัญและแหล่งผลิตอุตสาหกรรมและการเกษตรของจีนและอาเซียนได้
การคลังและการเงิน
ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนปี ๑๙๙๙ การประชุมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอาเซียนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือ “๑๐ + ๓” ครั้งแรกและการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “๑๐ + ๓” ครั้งแรก จัดขึ้นที่กรุงฮานอย เมืองหลวงเวียดนาม และกรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ากลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการคลัง “๑๐ + ๓” ก่อรูปขึ้นในขั้นพื้นฐานแล้ว
จนถึงปัจจุบันกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการคลัง ๑๐ + ๓ มีการจัดประชุมรัฐมนตรีการคลัง ๑๒ ครั้ง จุดสำคัญในปัจจุบันคือ ผลักดันกระบวนการความเป็นแบบพหุภาคีของข้อเสนอเชียงใหม่ และพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
ในด้านกลไกช่วยเหลือทางเงินทุนส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๒๐๐๐ การประชุมรัฐมนตรีการคลังลงมติผ่านข้อเสนอเชียงใหม่ที่มีการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคีเป็นเนื้อหาสำคัญ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือแก้ไขความยากลำบากด้านสภาพคล่องในระยะสั้นภายในภูมิภาคเพื่อให้การเงินระหว่างประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๐๐๑ เป็นต้นมา จีนและญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์รวม ๖ ประเทศ ต่างลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกันทั้งหมด ๖ ฉบับ จนถึงปลายปี ๒๐๐๘ ด้วยความส่งเสริมของข้อเสนอเชียงใหม่ ประเทศ ๑๐ + ๓ ได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคีทั้งหมด ๑๖ ฉบับ โดยมียอดเงินรวมถึง ๘๔,๐๐๐ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๓ เดือนพฤษภาคม ปี ๒๐๐๙ ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย การประชุมรัฐมนตรีการคลัง ๑๐ + ๓ (อาเซียน+จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ครั้งที่ ๑๒ ได้บรรลุความเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญของการก่อตั้งคลังสำรองเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กระบวนการความเป็นแบบพหุภาคีของข้อเสนอเชียงใหม่ประสบผลคืบหน้า
ข้อเสนอว่าด้วยการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (หรือ เอบีเอ็มไอ) เสนอขึ้นโดยประเทศไทยเมื่อปี ๒๐๐๓ ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เอบีเอ็มไอได้ขยายบทบาทส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรส่วนภูมิภาค ส่งเสริมให้พันธบัตรและผู้ลงทุนมีความหลากหลาย การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของตลาดพันธบัตรด้วยดี
เพื่อประสานทรัพยากรและเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมปี ๒๐๐๘ การประชุมรัฐมนตรีการคลัง ๑๐ + ๓ ที่จัดขึ้นที่กรุงมาดริด ลงมติผ่านโรดแม็พใหม่ของ เอบีเอ็มไอ รวบ ๖ ทีมงานเดิมให้เป็น ๔ ทีมงานใหม่ ปัจจุบันฝ่ายต่าง ๆ กำลังดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องตามโรดแม็พใหม่นี้อยู่.
(ข้อมูลจากกระทรวงการเกษตรจีน กระทรวงพาณิชย์จีน กระทรวงการคมนาคมและการขนส่งจีน และกระทรวงการคลังจีน)
จาก “กรุงเทพธุรกิจ” ๒๐๑๐-๐๔-๐๘