ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
บทความโดย: Guy Intarasopa
ปีกซ้ายปีกขวา โยธาไหลออก หอกง้าวทั้งปืน ลูกแม้งดำโดน เขาโตนออกค่าย คนฮ้ายไล่ฟัน ไทขันไล่ต้อน เลือดข้อนไหลนอง ตายกองต้นไม้ พ่องล้มคานไป เป็นหมู่เป็นกอง ละวองละหวู่ ตายอยู่กางคุ้ง พ่องยังหนีได้ ฮ่องไห้หาเมีย เขาตีเขาฟาด โอกาด(ทาส)เนืองนอง ฮ้องคางหิวไห้ เศิกไล่ครัวลง เขาปลงเขาฆ่า กินหญ้าคังโทม เศิกโจมแผ่นผ่าน ไทม่านไทยวน ทั้งพวนทั้งลาว ญิงสาวฮ้องไห้ เศิกได้ปันกลับ น้ำเนตรนองตา เชียงเดชเชียงงา วัดวาสูญเศร้า
(บทกวีลาวนิรนาม จากหนังสือความเป็นมาคนอีสาน โดย ผไท ภูทา)
การเทครัวชาวลาวล้านช้างครั้งที่ ๒ ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๓๓๔ และ พ.ศ.๒๓๓๗
หลังจากเสร็จศึกกับล้านช้างในปี พ.ศ.๒๓๒๒ กรุงธนบุรีก็เกิดจลาจลขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๕ เจ้าพระยาจักรี(ก่อนหน้านี้คือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่๑) และสถาปนาน้องชายคือ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาถ(วังหน้า) และย้ายเมืองหลวงมายังอีกฝั่งของกรุงธนบุรี โดยให้สร้างพระบรมหาราชวังขึ้น จากนั้นก็สร้างวัดพระแก้วเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตที่นำมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นประดิษฐานที่วัดแจ้ง กรุงธนบุรี
วัดพระแก้วที่สร้างขึ้นนี้ส่วนมากใช้ช่างชาวลาว โดยยึดรูปแบบของวัดพระแก้วที่เวียงจันทน์ ดังนั้นสถาปัตยกรรมและโครงสร้างวัดพระแก้ว กรุงเทพฯจึงคล้ายกับวัดพระแก้วหรือหอพระแก้วเวียงจันทน์
หลังจากสร้างวัดพระแก้วแล้วเสร็จจึงย้ายองค์พระแก้วจากวัดแจ้ง มายังวัดพระแก้วอันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังดังเช่นวัดพระศรีสรรเพ็ช กรุงศรีอยุธยา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และในราวปี พ.ศ.๒๓๒๖ รัชกาลที่๑ โปรดให้เจ้านันทเสนกลับไปครองนครเวียงจันทน์ พร้อมกันนั้นพระราชทานพระบางคืนแก่เจ้านครเวียงจันทน์องค์ใหม่ด้วย
ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพใหญ่เข้าตีกรุงเทพฯ เรียกสงครามครั้งนั้นว่า สงครามเก้าทัพ เพราะยกทัพมาถึง ๙ ทัพ ๙ เส้นทาง ศึกครั้งนั้นสยามเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไพร่พลชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมา แต่สยามเป็นฝ่ายได้ชัย พม่ายกทัพกลับ
หลังจากเสร็จศึกกับพม่า สยามคงแลเห็นถึงภัยจากพม่าที่จะมาถึงไม่ช้าไม่เร็วในอนาคต จึงรีบสะสมไพร่พล ในราวปี พ.ศ.๒๓๒๙ กองทัพสยามทั้งทัพบกและทัพเรือบุกตีอาณาจักรปัตตานี กวาดต้อนเชลยชาวปัตตานีมาหลายหมื่นคน เชลยปัตตานีนี้ เป็นชาวมุสลิม สยามกวาดต้อนไปไว้ที่อยุธยาจำนวนมาก อีกส่วนหนึ่งแบ่งมาไว้รอบๆพระนคร ซึ่งปรากฏเป็นชุมชนชาวมุสลิมในปัจจุบันจำนวนมากแถบบางกะปิ ราษฎร์บูรณะ ราชเทวี และอีกหลาย ๆ ที่(เรื่องนี้ผมคงจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)
ส่วนเชลยจากหัวเมืองลาวนั้นสยามเร่งให้มีการกะเกณฑ์และกวาดต้อนมาไม่ขาดสาย โดยถือเป็นความชอบของนายทัพที่สามารถกวาดต้อนเชลยลาวมาได้
ในราวปี พ.ศ.๒๓๓๐ เจ้านันทเสนที่มีความเคียดแค้นเจ้าสุริยะวงศ์เจ้านครหลวงพระบาง ที่นำกองทัพมาตีเวียงจันทน์ช่วยสยามตั้งแต่ศึกปี ๒๓๒๒ ได้มีใบบอกมายังกรุงเทพว่าเจ้าสุริยะวงศ์คิดการเป็นกบถ รัชกาลที่ ๑ มีบัญชาให้เจ้านนันทเสนนำกองทัพตีหลวงพระบางจับเจ้าสุริยะวงศ์ส่งตัวมายังกรุงเทพ ทัพเวียงจันทน์ตีนครหลวงพระบางแตก และจับตัวเจ้าสุริยะวงศ์ส่งลงไปกรุงเทพเพื่อสอบสวน ภายหลังเจ้าสุริยะวงศ์ถูกปล่อยตัวกลับมาครองเมืองดังเดิม
ศึกครั้งนี้เชลยลาวจากหลวงพระบางถูกส่งไปเป็นส่วยหลายพันครัวเรือน ทั้งนี้อาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ อาณาจักรต้องส่งส่วยแก่สยาม เป็นเครื่องของที่สยามกำหนด รวมทั้งส่วยที่เป็นคนลาว ดังนั้นคนลาวล้านช้างจึงถูกส่งลงไปภาคกลางของสยามเรื่อยมา
ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ มีการเกณฑ์คนลาว คนเขมรจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเชลยเดิมและที่ส่งมากจากล้านช้างอีกหลายกลุ่ม ขุดคลองพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่วัดเชิงเลนขึ้นมาถึงวัดสะแก (วัดสระเกษในปัจจุบัน) ไปถึงวัดบางลำภูให้ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง ขุดคลองหลอดจากคูเมืองเดิมสองคลองออกไปบรรจบคูใหม่นอกเมือง แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกษ พระราชทานนามว่า คลองมหานาค
ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ ทัพเจ้านันทเสนเจ้านครเวียงจันทน์เข้าตีเมืองพวน เมืองแถง (เดียนเบียนฟู ในปัจจุบัน) กวาดต้อนไทพวน ไทดำ ได้จำนวนมาก ส่งลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อขอแลกกับเชลยชาวเวียงจันทน์แถวเมืองสระบุรี แต่คำขอได้รับการปฏิเสธ ชาวไทดำ ไทพวนที่ถูกส่งลงไปครั้งนี้ให้ไปอยู่แถบเฉลิมกรุงที่เคยเรียกว่าถนนบ้านลาว บางส่วนให้ไปอยู่แถบนครนายก
เหตุการณ์ที่เจ้านันทเสนขอแลกเชลยไทพวน ไทดำ กับเชลยชาวเวียงจันทน์นี้ ได้ส่งผลให้ราชสำนักสยามไม่ไว้วางใจเจ้านันทเสน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๓๓๗ มีผู้ฟ้องร้องว่าเจ้านันทเสนและพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมคิดการเป็นกบถ ทัพจากกรุงเทพฯนำกำลังขึนมาตีเวียงจันทน์ จับเจ้านันทเสนและพระบรมราชาส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ ทั้งยังกวาดต้อนชาวลาวลงไปกรุงเทพฯอีกครั้ง เจ้านันทเสนถูกคุมขังและไต่สวนที่กรุงเทพฯ ภายหลังสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ (นัยว่าถูกประหารชิวิตหรือถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์)
ในปี พ.ศ.๒๓๓๘ รัชกาลที่ ๑ จึงแต่งตั้งเจ้าอินทวงศ์ พระอนุชาเจ้านันทเสนขึ้นไปครองเวียงจันทน์
การกวาดต้อนคนลาวครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือในปี พ.ศ.๒๓๕๘ และ พ.ศ.๒๓๖๐ ราวสมัยรัชกาลที่ ๒ มีการส่งส่วยและครัวลาวจากแถวเมืองภูครังหรือภูฆัง(หลวงพระบาง) ชาวลาวกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่าลาวครั่ง ชาวลาวครั่งถูกกวาดต้อนมาหลายพันครัวเรือนถูกส่งมาพักแถบเมืองพิษณุโลก เล้วส่งต่อมายังกรุงเทพฯ ครัวลาวจำนวนนี้ถูกส่งไปไว้แถบเมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี อย่างไรก็ตามมีการกวาดต้อนชาวลาวครั่งมาอีกหลายระลอก ดังปรากฏชุมชนลาวครั่งจำนวนมากในหลายจังหวัดเช่น จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดราชบุรี จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น
คงไม่มีการกวาดต้อนชาวลาวล้านช้างครั้งใดจะมากเท่ากับการกวาดต้อนชาวลาวล้านช้างที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ ในคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ดังที่ผมจะเล่าให้ฟังในคราวต่อไป
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)