สี่ตำนานครูเพลงอีสาน

ทางอีศาน ฉบับที่ ๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: เรื่องจากปก
Column: Cover Story
ผู้เขียน: มหา สุรารินทร์

๐ หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแลงค่ำลงมา
แอ๊บแอ๊บเขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องฮวานฮวาน
เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน

“อีสานบ้านของเฮา” สะท้อนความชื่นชะอุ่มของแผ่นดินอีสาน ผ่านบทเพลง เพลง “อีสานบ้านของเฮา” ร้องโดย เทพพร เพชรอุบล ฝีมือการแต่งของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา มีลีลาแบบกาพย์ยานี ๑๑ เพลงนี้ให้อารมณ์ต่างจากบทกวี “อีศาน” ของ “นายผี”

๐ ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปีฯ

“อีสานบ้านของเฮา” เนื้อหาพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอีสานที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต มีสายน้ำสาขาย่อยแบบเส้นเลือดฝอยกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคแล้วไหลลงสายเลือดใหญ่ คือ แม่น้ำโขง

“เทพพร เพชรอุบล” ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามของวงการเพลงลูกทุ่ง ทั้งความเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง เคยออกเทปในนาม สี่เด็ดเพชรอีสาน ซึ่งมีดาว บ้านดอน, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สนธิ สมมาตร, เทพพร เพชรอุบลและในบางช่วงจะมี ร้อยเอ็ด เพชรอีสาน มาร่วมกลุ่มบ้าง

แต่ก็ยังมีขุนพลเพลงอีสานที่โดดเด่นอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

และรุ่นน้องอย่าง พรศักดิ์ ส่องแสง,สมโภชน์ ดวงสมพงษ์, สมหมายน้อย ดวงเจริญเป็นอาทิ

ในมุมของคนปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลังนักร้องชื่อดังนั้น อีสานเองก็มี สี่ตำนานครูเพลงสร้างสีสันในวงการลูกทุ่งเมืองไทยอย่างมาก อาจเรียกได้ว่า ผู้สำแดงพลังลาวชาวอีสาน ผ่านเสียงเพลง สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิต และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บอกเล่าผ่านบทเพลงยุคสมัยได้อย่างคมชัดผนวกกับความสละสลวยทางภาษาที่นักแต่งได้แต่งขึ้นกลมกลืนกับเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนของนักร้อง

ตำนานครูเพลงรุ่นใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือว่าเป็นตำนานผู้บุกเบิก เช่น ครูเบญจมินทร์ หรือ ตุ้มทอง โชคชนะ ราชาเพลงรำวงจากอุบลราชธานีเจ้าของเพลง รำเต้ย, ชายฝั่งโขง และเป็นต้นแบบของ สุรพล สมบัติเจริญ พร้อมกับนำทำนองเพลง “อารีดัง” ของเกาหลีมาเผยแพร่

เฉลิมชัย ศรีฤๅชา เจ้าของเพลง เบิ่งโขง ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้ง ปอง ปรีดา ชาวขอนแก่นผู้สร้างสรรค์ตำนานเพลงแห่งโขงสองฝั่ง

สงเคราะห์ สมัตณภาพงศ์ ครูเพลงเมืองชัยภูมิ ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดังของ เพลิน พรหมแดน ไม่ว่าจะเป็น ชัยภูมิบ้านพี่, คนโคราช, ข่าวสด ๆ จนเป็นตำนานคู่บุญของเจ้าพ่อเพลงพูด

สี่ตำนานครูเพลง ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ นับเรียงตามความอาวุโส ดังนี้ สัญญา จุฬาพร หรือ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ ขุนพลเพลงจากเมืองเลย หนังสือ “ลูกทุ่งอีสาน” ของ แวง พลังวรรณ เขียนประวัติครูเพลงเมืองเลยท่านนี้ไว้ว่า

สันต์ ศิลปะสิทธิ์ เป็นชาวจังหวัดเลย เป็นนักแต่งเพลงที่มีผลงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ใช้ชื่อ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ และ สัญญา จุฬาพร ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้ในการร้องเพลงสมัยที่ยังอยู่กับวงจุฬารัตน์

เขาคือเจ้าของผลงานเพลงที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ จากนักร้อง-นักแหล่พ่อเพลงภาคกลางมาเป็นนักร้องแนวลาวอีสาน ด้วยเพลง ลาก่อนบางกอก และเปลี่ยน “นักร้องเพลงหวานอาชีพ” อย่าง พนม นพพร ให้มาโด่งดังด้วยเพลงแนวอีสานด้วยเพลง เซิ้งสวิง

ในหนังสือเล่มเดียวกันยังยกตัวอย่างเพลงที่ครูเพลงท่านนี้แต่งให้นักร้องชื่อดังระดับตำนาน เช่นเพลง ลาก่อน-บางกอก, สาวสมัยใหม่ ให้กับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลง ทุ่งทองรวงทิพย์ ให้กับ ไพรวัลย์ ลูกเพชร กล่อมน้อง, ระฆังสวาท ให้กับ ทูล ทองใจ และทหารเสือราชินี, สัจจะผู้หญิงของ นกน้อย อุไรพร ตายซ้ำสา ของ เสน่ห์ เพชรบูรณ์ เจ้าของเสียงเพลง สิบหมื่น, แม่ร้อยใจ และเพลง แต่งงานกันเด้อ ของ สนธิ สมมาตร

นอกจากนี้ยังมีเพลง ฝนตกบ้านน้อง, แม่, ซำมาคักแท้น้อ, เซิ้งกระติ๊บข้าว, เซิ้งแห่นางแมว, แก้มเปิ่นเวิน เป็นอาทิ ปัจจุบัน ครูสัญญา จุฬาพร ยังวนเวียนอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง เป็นพี่ใหญ่ที่เคารพสำหรับนักแต่งรุ่นน้องและครูของคนรุ่นหลัง

ตำนานที่สอง พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ปราชญ์เพลงแห่งอุบล เพลงแรกในชีวิตการเป็นนักแต่งเพลง คือ ดาวบ้านนา แต่งให้กับ สมนึก นิลเขียว นักร้องหนุ่มรูปหล่อเสียงดีจากเมืองเพชรบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงหวานคลาสสิกผสมกลิ่นอายลิเก และไพรวัลย์ยังร้องเพลงนำในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลำน้ำมูล ที่ครูพงษ์ศักดิ์เป็นผู้อำนวยการสร้างอีกด้วย

เพลง ทุ่งรัก ของ ศรคีรี ศรีประจวบ ที่ครูพงษ์ศักดิ์แต่งนั้นภาษางดงามมาก จนหลายคนหลงคิดว่าเป็นเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ยังมีเพลงอื่น ๆ ที่ภาษางดงามมากอีก เช่น เสียงซุงเว้าสาว, ตะวันรอนที่หนองหาน

เพลง สาละวันรำวง ที่ครูแต่งให้กับลูกศิษย์คนสำคัญอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นเสมือนสะพานเชื่อมวัฒนธรรมสองฝั่งโขงผ่านบทเพลงก่อนหน้านั้นมีเพลง สาวคนโก้ และ สาวชุมแพของขุนพลเพลงเมืองสุพรรณท่านนี้ด้วย

ส่วนเพลง อีสานบ้านของเฮา นั้นครูพงษ์ศักดิ์ประมวลความเป็นภาคอีสาน ทั้งวัฒนธรรมการอยู่การกิน การประกอบอาชีพ เรียกว่าได้บรรยากาศอีสานครบถ้วนสมบูรณ์เลยทีเดียว เมื่อบวกกับเสียงร้องโทนสนุกสนานรื่นเริง ของ เทพพร เพชรอุบล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เพลงนี้มีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก จากเพลง “อีสานบ้านของเฮา” สำทับความเป็นอีสานตามมาด้วยเพลง ลำนำอีสาน

นอกจากนี้ยังมีเพลงดังข้ามยุคสมัยเป็นอมตะไม่ว่าจะเป็นเพลง รอรักใต้ต้นกระโดน ของ ดาว บ้านดอน ด่วน บขส., แคร์ด้วยหรือน้อง, ดอกอ้อริมโขง, อดีตรักทุ่งอีสาน ของ สนธิ สมมาตร รักร้าวหนาวลม ของ บรรจบ เจริญพร ร้องแก้กับ ผ่องศรี วรนุช, เพลง รักลาอย่าเศร้า, คำหมอบอก ของ พรสวรรค์ ลูกพรหม ดวงใจคนจน, หนาวเดือนห้าแล้งเดือนหก ให้กับ รังษี บริสุทธิ์ ฯลฯ

อีกหนึ่งในตำนานผู้ยังมีลมหายใจอยู่ นพดล ดวงพร ผู้สร้างตำนาน วงเพชรพิณทอง วงดนตรีพูดอีสานอันลือลั่น ครูนพดล ดวงพร ชื่อจริงว่า ณรงค์ พงษ์ภาพ เกิดที่บ้านท่าวังหิน อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี บิดาเป็นหมอลำกลอนมารดาเป็นนักร้องเพลงโคราช

ณรงค์ พงษ์ภาพ เคยเป็นเด็กในวงดนตรีคณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ นานหลายปี ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์และร่วม วงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ นพดล ดวงพร ให้

ต่อมาได้แยกไปก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทอง ที่โด่งดังในภาคอีสาน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่มาของชื่อวงเพชรพิณทองมาจากไหน? เป็นมายังไง และเหตุการณ์ที่ประทับใจครูเพลงผู้นี้ไม่เคยลืมคืออะไรจากข้อมูลประวัติศิลปินเพลงท่านนี้บอกว่า

นพดล ดวงพร ได้ยกวงไปแสดงที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวะพอดีกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปที่นั่นและพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่คล้ายกีตาร์ แต่ว่ามีสายเพียง ๓ สายดีดได้ไพเราะมาก ๆ นั่นคือ พิณ ในหลวงทรงเห็นว่าเป็นของแปลก พระองค์ท่านทรงรับสั่งขอลองดีดดูอย่างสนพระทัยเป็นพิเศษ ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่นพดลเป็นที่สุด และสิ่งที่นพดลจำใส่เกล้าไว้ไม่มีวันลืมคือ ในหลวงทรงมีรับสั่งว่าให้รักษาศิลปะดนตรีพื้นบ้านอันนี้ไว้ให้ดี ๆ

นพดล ดวงพร ก้มลงกราบแทบพระบาทด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นพดลถือว่านี่คือมงคลชีวิตที่ยิ่งใหญ่อย่างที่สุดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อวงดนตรีตนเองเสียใหม่ จากวง นพดล ดวงพร เป็นวง “เพชรพิณทอง” เอาชื่อพิณที่ในหลวงทรงโปรดมาเป็นมงคลนาม และหวังจะสนองพระราชปรารภของพระองค์ท่านด้วยนั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อวง เพชรพิณทอง

สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวง เพชรพิณทอง คือ ทองใส ทับถนน มือพิณอันดับหนึ่งของเมืองไทย ที่เล่นประจำอยู่กับคณะมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวงเพชรพิณทอง นอกจากนี้ได้ปั้นนักร้องขึ้นมาประดับวงมากมาย เช่น นกน้อย อุไรพร, วิเศษ เวณิกา, กำไล พัชรา, ชุติมา ดวงพร, นพรัตน์ ดวงพร, เทพพร เพชรอุบล ฯลฯ และทีมตลก ลุง แนบ, หนิงหน่อง แท็กซี่, ใหญ่ หน้ายาน, จ่อย จุกจิก, อีเจ้ย ฯลฯ

ท่านที่สี่ของตำนานครูเพลง คือ สุรินทร์ ภาคศิริ เสือปืนไวจากอำนาจเจริญ มีชื่อจริงว่า ชานนท์ ภาคศิริ ใช้ชื่อจัดรายการวิทยุว่า ทิดโส โปข่าว หรือ ทิดโส สุดสะแนน เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ (ม.๖ เดิม) จากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ มีพรแสวงและพรสวรรค์ในการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์ และคณะเทพศิลป์ ๒ ที่ไปปักหลักเปิดการแสดงที่บ้านต่างจังหวัดสมัยเรียนมัธยมปีที่ ๓ และเริ่มแต่งกลอน นวนิยาย เรื่องสั้น และแต่งเพลงเชียร์กีฬาของโรงเรียน พอจบ ม. ๖ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามหาความฝันของชีวิต ศึกษาด้านการเป็นนักร้องนักประพันธ์ด้วยการอาศัยชายคากุฏิวัดนรนารถสุนทริการาม เทเวศร์ พึ่งใบบุญข้าวก้นบาตรพระ มีอุปสรรคด้านการศึกษาเล่าเรียนจึงหันมาแต่งเพลง ประพันธ์กลอน เรื่องสั้น และฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครู ก. แก้วประเสริฐ ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี

ขณะเดียวกันก็ได้สอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง ฉะนั้นครูจึงพูดเล่นเสมอ ๆ ว่า อดีตคือ “คนรับจ้างหลวงเฝ้าคุก” และผลงานหลาย ๆ เพลงก็มาจากเหตุการณ์ในคุก เช่นเพลง ผ้าขาวม้า ของวงรอยัลสไปรท์

ผลงานชิ้นแรก ๆ คือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอน ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร ตอนหลัง ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นำมาร้องใหม่ และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะหมอลำ

จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดัง ๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, ไวพจน์ เพชร สุพรรณ, สนธิ สมมาตร, กาเหว่า เสียงทอง, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร, เรียม ดาราน้อย, วงรอยัลสไปรท์, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สันติ ดวงสว่าง, เอ๋ พจนา, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น

ครูสุรินทร์แต่งเพลงแรกในการบันทึกแผ่นเสียงของนักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่นเพลง หนองหานสะอื้น ให้ พรไพร เพชรดำเนิน แล้วต่อมา พรไพร เพชรดำเนิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากเพลง งานนักร้อง ในปี ๒๕๑๔ เพลง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย ของ ดำ แดนสุพรรณ, เพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ ใจพระ (ภายหลังคือ บรรจบ เจริญพร)

เพลงที่สร้างชื่อให้มากที่สุดคือ วอนลมฝากรักของ บุปผา สายชล อ.ส.รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้งยังแต่งเพลงแนวช้าให้กับนักร้องที่ถนัดเพลงแนวสนุกอย่าง ศักดิ์สยาม ในเพลงทุ่งกุลาร้องไห้ จนได้รับรางวัลลูกทุ่งกึ่งศตวรรษทหารเกณฑ์ผลัด ๒ ทำให้ ศรชัย เมฆวิเชียร แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลงนี้ หนาวลมที่เรณู ของศรคีรี ศรีประจวบ กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม หอมกลิ่นดอกคำใต้ ให้กับนักร้องเสียงดีเมืองขอนแก่น ก้องเพชร แก่นนคร หนุ่ม นปข. ของ สุริยา ฟ้าปทุมลำกล่อมทุ่ง ของ ไพรินทร์ พรพิบูลย์ ลูกทุ่งคนยาก ให้กับ สนธิ สมมาตร

โดยเฉพาะเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์คุณไชย ที่นับเป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสานทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลายเป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง

ขอน้อมคารวะครูเพลงรุ่นก่อนที่ล่วงลับผู้ได้สร้างบริบททางสังคมผ่านบทเพลง ขอแสดงมุทิตาจิตต่อสี่ครูเพลงลูกทุ่งอีสานผู้ยังมีลมหายใจ และน้อมจิตบูชาแทน ธูปเทียนแพ, พานดอกไม้, หญ้าแพรก, ดอกมะเขือ, ดอกเข็ม ด้วยบทเพลงของครูครับ.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com