ดอกจาน [Palasha] ‘เล็บแดงแห่งกามเทพ’…มิ่งไม้มหามงคล

ดอกจาน [Palasha]

‘เล็บแดงแห่งกามเทพ’… มิ่งไม้มหามงคล

แดงดอกจาน
ดั่งจะจูบทุกหัวใจ
แดงทองกวาว
เร้าใจที่มีรักฯ

(“เดือนสาม – ลมรักล่องแผดโผยโปรยผ่านมา”

พนม นันทพฤกษ์ ตีพิมพ์ใน โลกหนังสือ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๒)

สีแดงเริงร่าแห่งดอกจานยามบานตระการมีพลังร้อนแรงจนฝรั่งตั้งฉายาว่า “เปลวไฟในพนา” – frame of the forest แต่ชาวภารตะเปรียบเปรยได้งดงามไพเราะกว่าว่า ดอกจานคือ “กามเทวนะขา – เล็บ (แดง) แห่งกามเทพ” เจาะดวงใจผู้มีรัก…

เพราะเหตุนี้หรือเปล่า บางพื้นที่ในภาคอีสานจึงจัดงาน “วันดอกจาน” ในช่วงวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก…

เดือนกุมภาพันธ์ อย่างน้อยก็มีงานใหญ่สองแห่งในภาคอีสาน เช่น งาน “กินดอง ล่องแพ แลดอกจานบานที่แก้งสนามนาง” อำเภอแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา, งาน “สนม เมืองดอกจาน” ที่ อ.สนม จ.สุรินทร์

และมีพื้นที่กำลังโดดเด่นด้วยต้นจานหรือทองกวาว เช่น โรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา จ.เลย ซึ่งมีทุ่งดอกจานบานสะพรั่ง, เกาะกลางหนองหลวง หรือ “เกาะทองกวาว” เนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย, เส้นทาง ดอกคำใต้-จุน ระยะทางยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากอำเภอดอกคำใต้ไปอำเภอจุน บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๑ สองข้างทางจะมีต้นดอกทองกวาวตลอดความยาว ๒๐ กิโลเมตร ในเดือนกุมภาพันธ์ดอกทองกวาวจะบานสะพรั่ง สวยงามอย่างยิ่ง เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอำเภอดอกคำใต้ ฯลฯ

ว่าไปแล้วดอกจานหรือทองกวาวนี้ ก็นับเป็นดอกไม้ยอดนิยมของคนไทยได้ ด้วยเหตุว่า ดอกไม้ชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำ จังหวัดในประเทศไทยถึงสี่จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน, อุดรธานี และ อำนาจเจริญ (จานเหลือง)

เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก, เป็นดอกไม้และสีประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น รวมทั้งเป็นสีของหัวนิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน” ด้วย

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ทองกวาว/ดอกจาน ( Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ พบทั่วไปในอินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย

ในเมืองไทย ทองกวาวมีชื่ออื่นอีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)

ขอให้ชื่อในภาษาอื่น ๆ ไว้ด้วย (มีประโยชน์ในทางวิชาประวัติศาสตร์อาเซียนด้วย เพราะรัฐโบราณในอาเซียนได้รับอิทธิพลภาษาจากชมพูทวีปมากมาย)

ในอินเดีย (ซึ่งมีภาษาถิ่นมากมาย) มีชื่อดังนี้

ภาษา SANSKRIT : Palasha kinsuka ภาษา Hindi : Dhak, Palasha , Chichra tesu , desukajhad , chalcha , kankrei ภาษา Kannada : Muttuga mara, Palasha ภาษา Malayalam : Plasu, Chamata ภาษา Tamil : Chammatta, Parasa ภาษา Telugu : Moduga ภาษา Bengali : Palash ภาษา Gujarati : Khakara ภาษา Marati : Palas ภาษา Oriya : Kinjuko ภาษา Urdu : Palashpapra ภาษา Persian : Palah ภาษา Punjabi : Chichra

ภาษาอัสสัม Assamese : Polash (Polax)

ภาษาชวา : Ploso

ภาษาพม่า : Pauk

(ข้อมูลจาก Wikipedia ภาษาอังกฤษ)

สำหรับชื่อภาษาบาลี-สันสกฤตที่จะพบบ่อยในเมืองไทยคือ “ปารัช” และ “กิงสุกะ”

ลักษณะทั่วไป

ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๕-๑๕ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งตํ่าคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคลํ้าค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีนํ้ายางใส ๆ ไหลออกมา ทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง

ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคลี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยมี ๓ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยที่ปลายเป็นรูปมนเกือบกลม ใบย่อยด้านข้างรูปไข่เบี้ยวกว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๙-๑๗ ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสากเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ มม.

ดอก ออกเป็นช่อแบบไม่แตกแขนง ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๒-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกมีขนสีนํ้าตาล ยาว ๓-๔ ซม. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว ๑.๓ ซม. ส่วนบน แยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ ห้ากลีบ มีขนสีนํ้าตาลดำปกคลุมตลอด กลีบดอกยาว ๗ ซม. มีห้ากลีบ ขนาดไม่เท่ากันคล้ายดอกถั่ว กลีบด้านล่างรูปเรือแยกเป็นอิสระดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๖ ซม. ดอกมีทั้งสีแสดและสีเหลืองสด ดอกสีเหลืองพบที่เชียงรายเชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ฯลฯ

ผล ผลเป็นฝักแบนรูปบรรทัดกว้าง ๓.๕ ซม. ยาว ๑.๕ ซม. ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลือง มีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน มีเมล็ดเดียวตรงปลายฝัก

(ข้อมูลจากวิกีพีเดีย –ภาษาไทย)

ประโยชน์

๑. ดอกใช้ย้อมสีผ้า โดยจะให้สีแดง

๒. ลำต้นเมื่อนำมาสับเป็นแผลจะมียางไหลออกมา สามารถนำมาใช้แทนยาง Kino ได้ หรือที่เรียกว่า Bengal Kino ชาวอินเดียโบราณใช้ยาง (ภาษาฮินดีเรียก kamarkas ) เป็นส่วนผสมของอาหารบางประเภท และเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพร มีคุณสมบัติเป็นสาร astringent (ทำให้หดตัว, รัดแน่น, สมาน, ยาฝาดสมาน, ยาสมานแผล, ยาห้ามเลือด) ช่างเย็บหนังในอินเดียใช้เป็นกาว

“Kamarkas” มีความหมายว่า กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงและยืดหยุ่น ในสมัยโบราณผู้หญิงอินเดียทั่วไปมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร จึงได้ใช้สรรพคุณทางยาของทองกวาวเป็นยาบำรุงร่างกายโดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลังนอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้กลับมามีรูปร่างดังเดิมหลังคลอดรวมทั้งนำมาใช้บำรุงรักษาผิวพรรณเพื่อเพิ่มความงาม

๓. เส้นใยจากเปลือกสามารถทำเป็นเชือกหลวม ๆ และกระดาษได้ ทางอินเดียใช้รากทำเชือก

๔. ใบสดนำมาใช้ห่อของ บางท้องที่ในไทยใช้ใบตากมะม่วงกวน ห่อขนมตาล ว่าทำให้หอมน่ากินขึ้นอินเดียโบราณใช้ใบสดเป็นภาชนะ (กระทง)

ในหมู่บ้านชนบทอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นมหาราษฎร์โบราณ มีประเพณีให้ “ว่าที่ลูกเขย” ใช้ใบต้นดอกจาน (หลายใบ) และใบตองกล้วย (ใบเดียว) เย็บเป็นกระทงใส่อาหารได้เรียบร้อยสวยงามบรรจุนํ้าแกงได้ เรียกกันว่า Patravali (ภัทรวไล) ว่าที่พ่อตาจึงจะอนุญาตให้แต่งงานกับลูกสาวตนได้ (ประเพณีนี้สูญหายละเลิกไปเมื่อประมาณร้อยปีก่อน)

๕. ทางไทยว่าใบใช้เป็นอาหารสำหรับช้างและวัวควายได้ แต่ทางอินเดียว่าใบมันหยาบ วัวควายไม่ชอบกิน

๖. เนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีนํ้าหนักเบาและหดตัวมาก จึงสามารถใช้ทำกระดานกรุบ่อนํ้า ทำเรือขุดหรือเรือโปงใช้ชั่วคราว หรือใช้กั้นบ่อนํ้า ร่องนํ้าและกังหันนํ้าได้, ทางอินเดียนิยมว่าถ่านไม้ดอกจานมีคุณภาพดี

ดอกจาน – สัญลักษณ์แห่งฤดูบานใหม่และความรัก

ในวรรณคดีสันสกฤต “ดอกจาน” หรือ “ทองกวาว” เป็นสัญลักษณ์การมาถึงของฤดูบานใหม่ (spring) และสีสันแห่งความรัก

ในวรรณคดีเรื่อง “คีตะโควินทัม” – GitaGovindam กวี “ชัยเทพ” – Jayadeva เปรียบดอกจานกับเล็บสีแดงของกามเทพที่เจาะดวงใจของผู้มีรักทุกคน

ต้นดอกจานดูจะเป็นต้นไม้ในดวงใจของผู้มีกวีในหัวใจ มหากวีชาวปัญจาบ Harinder Singh Mahboob เปรียบต้นดอกจานว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งบทกวีของท่าน, อาศรม “สันตินิเกตัน” ของท่าน ระพินทรนาถ ฐากูร ก็เนืองแน่นไปด้วยต้นดอกจาน ดอกจานบานตระการงามเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของงานเฉลิมฉลองวสันตฤดูในสันตินิเกตัน, เมืองปาลาสี ในแคว้นเบงกอล ได้ชื่อตามต้นไม้นี้ ซึ่งภาษาเบงกอลเรียกว่า Palashi

กวีล้านนาเขียนถึงชายหนุ่มผู้หวังเชยชมดอกทองกวาว ที่อยู่สูงลิ่วไว้น่าสะเทือนใจมากว่าพี่หมายปองดอกทองกวาวช่อที่สูงที่สุดของต้น ที่หล่นรายบนพื้นนั้นหาสนใจไม่แต่ชายเดินดิน ฤๅจะสู้หมู่ปักษีอันบินสูงได้ พี่ต้องตรอมใจตายแน่ ๆ เพราะมิอาจได้ชมเชยทองกวาวสวรรค์

“ทองกวาวทังช่อช้อย       สิมพลี

หลายหล่นเต็มปฐพี           แผ่นหล้า

ยลบนหมู่ปักษี                   แสวงเสพ ชุมเอย

ตายชื่อลางแล้วกล้า           มิได้เชยชม”

            (นิราศหริภุญชัย)

ต้นดอกจานกับทวยเทพอินเดีย

“ต้นดอกจาน” (ปารัช) เป็นภาคส่วนหนึ่งของ “อัคนีเทพ” เรื่องนี้ไมมี่รายละเอียดในภาษาไทย พบเพียงเรื่องย่อ ๆ ว่า ต้นดอกจานเป็นภาคหนึ่งขององค์อัคนีเทพ โดยพระนางปารวตี (พระอุมา) ลงโทษสาปให้พระอัคนีเทพกลายเป็นต้นดอกจาน เนื่องจากมารบกวนล่วงลํ้าความเป็นส่วนตัวของพระศิวะกับพระนางปารวตี

เรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้มีในเรื่อง “กำเนิดพระขันทกุมาร” ที่แพร่หลายเป็นภาษาไทย เหล่าเทวดาและฤาษีพากันไปขอพระศิวะให้กำเนิดโอรสเพื่อปราบอสูรร้าย พระอัคนีแปลงเป็นนกพิราบล่วงลํ้าเข้าไป จึงถูกธาตุ “เตชะ” ของพระอิศวร พระอัคนี รุ่มร้อนด้วยพิษธาตุเตชะ จนต้องบินลงไปในแม่นํ้าคงคา… เรื่องยืดยาวออกไป และมีรายละเอียดต่าง ๆ อีกมาก บางเรื่องก็ว่าพระอัคนีเอาขันทกุมารไปซ่อน…

“ไฟ – เตชะ” ของพระศิวะนั้น เห็นทีจะเป็นอสุจิที่จะให้กำเนิดโอรสพระศิวะนั่นเอง น่าสังเกตว่ามเหสีของพระอัคนีนั้นชื่อนางสวาหะ (พระวายุนำอสุจิพระอิศวรไปใส่นางสวาหะ กำเนิดเป็นหนุมาน)

ดอกปารัช หรือดอกจานนี้ก็เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้บูชาพระนางปารวตีกันมากชนิดหนึ่งในเขต Telanggana region ของแคว้นอันทรประเทศ (Andha Pradesh) ดอกปารัช หรือดอกจาน เป็นดอกไม้พิเศษในการบูชาพระศิวะ ในเทศกาลศิวะราตรี (Shivratri) ในภาษา Telugu เรียกต้นดอกจานว่า Modugu chettu

ในแคว้น Kerala เรียกต้นดอกจานว่า ‘plasu’ and ‘chamata’ พราหมณ์เกอราล (Kerala Brahmin) นับถือว่าไม้ดอกจานเป็นไม้พิเศษใช้ในพิธีบูชาไฟ (อัคนีโหตร)

วิกีพีเดียภาษาไทยให้ข้อมูลว่า ต้นดอกจานเป็นพืชที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดูใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ไม้ต้นดอกจานใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์

ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาต้นไม้นั้น มีมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว จนถึงทุกวันนี้คติความเชื่อเคารพบูชาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังไม่หมดสิ้นไป ความเชื่อเรื่องนี้มีต่าง ๆ นานาแตกต่างกันไปในแต่ละเผ่าพันธุ์และพื้นที่

เช่นนอกจากเคารพบูชาต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ความเชื่อในบางท้องที่ยังเกี่ยวโยงกับจำนวน (ตัวเลข) ด้วย เช่น ในอินเดียมีความเชื่อว่า หากใครปลูกต้นมะม่วงห้าต้น ในสวนสาธารณะหรือริมถนนแล้ว จะปลดปล่อยบรรพชนทุกคนของผู้นั้นจากเบื้องทุกข์  หากใครปลูกต้น Siriha หกต้นจะคุ้มครอง “ครุฑโลก” หากใครปลูกดอกจาน (Palasha) เจ็ดต้นจะได้เกิดในพรหมโลก และอุทุมพร-จันทรโลก (five mango trees (amra-s) planted in a public garden or along the avenue would liberate all of one’s ancestors; six Siriha-s planted secure Garuda-loka; seven Palasha-s would merit Brahma-loka and Udumbara-s – Chandra-loka. อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง Some Plants and Flower’s religious and medical significance” ใน google)

ชาวไทยช่วยกันปลูกต้นดอกจาน-ทองกวาวกันคนละเจ็ดต้นโดยด่วน แล้วทุกคนจะได้พบความสุขแห่งพรหมโลก

ใครมีที่ดินก็ปลูกให้มาก ใครไม่มีที่ดินนำไปปลูกในที่ดินของเพื่อน หรือนำไปปลูกป่ากันเถิด บุญกุศลจะเห็นทันตา

มิ่งไม้มหามงคลทางพุทธศาสนา

ในทางพุทธศาสนา เรียกต้นดอกจานว่า “กิงสุกะ” ต้นดอกจานเป็นไม้มหามงคล บางท่านเรียกว่า “โพธิญาณพฤกษา” เพราะเป็นร่มไม้ที่พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ประทับตรัสรู้ ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พระนามว่า “พระเมธังกรพุทธเจ้า” ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ดอกจาน

กิงสุโกปมชาดก– คนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม

มีชาดกคำสอนพุทธธรรมเรื่องที่เกี่ยวกับต้นดอกจาน (กิงสุกะ) โดยตรงอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ กิงสุโกปมชาดก

ความว่า พระศาสดาเมื่อประทับอยู ่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกิงสุโกปมสูตร ตรัสพระธรรมเทศนา ดังนี้ ได้ยินว่า ภิกษุ ๔ รูปเข้าไปเฝ้าพระตถาคตทูลขอกรรมฐาน พระศาสดาทรงบอกกรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นเรียนกรรมฐานไปสู่ที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน ในภิกษุเหล่านั้นภิกษุรูปหนึ่งกำหนดผัสสายตนะ ๖ บรรลุพระอรหันต์แล้ว รูปหนึ่งกำหนดขันธ์ ๕ รูปหนึ่งกำหนดมหาภูต ๔ รูปหนึ่งกำหนดธาตุ ๑๘ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลคุณวิเศษที่ตนบรรลุแด่พระศาสดา

ในบรรดาภิกษุเหล่านั้นมีรูปหนึ่งเกิดความปริวิตกว่ากรรมฐานเหล่านั้นมีข้อแตกต่างกัน แต่นิพพานเป็นอย่างเดียวกัน ภิกษุทั้งหมดบรรลุอรหันต์ได้อย่างไร จึงทูลถามพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่าดูก่อนภิกษุ เธอก็ไม่ต่างกันกับพี่น้อง ๔ คนที่เห็นต้นดอกจาน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงแสดงเหตุนี้แก่ข้าพระองค์เถิด

ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า…

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระโอรส ๔ พระองค์ วันนี้โอรสทั้ง ๔ ตรัสเรียกสารถีมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนสหาย พวกเราอยากเห็นต้นดอกจาน ท่านจงแสดงต้นดอกจานมาให้พวกเราดูเถิด สารถีรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักแสดง แต่ไม่แสดงแก่ราชบุตรทั้ง ๔ พร้อมกัน ให้ราชบุตรองค์หนึ่งประทับนั่งบนรถไปก่อน พาไปในป่าแล้วชี้ให้ดูต้นดอกจานในเวลาสลัดใบว่า นี้คือต้นดอกจาน อีกองค์หนึ่งให้ดูในเวลาออกใบอ่อน อีกองค์หนึ่งให้ดูเวลาออกดอกอีกองค์หนึ่งให้ดูเวลาออกผล

ต่อมาราชบุตรทั้ง ๔ พี่น้องประทับนั่งพร้อมหน้ากัน จึงไต่ถามกันขึ้นว่า ชื่อว่าต้นดอกจานเป็นเช่นไร องค์หนึ่งตรัสว่า เหมือนตอไหม้ไฟ องค์ที่สองตรัสว่า เหมือนต้นไทร องค์ที่สามตรัสว่า เหมือนชิ้นเนื้อ องค์ที่สี่ตรัสว่า เหมือนต้นซึก ทั้ง ๔ พระองค์ไม่ตกลงตามคำของกันเและกัน จึงไปเฝ้าพระบิดาทูลถามว่าข้าแต่พระบิดา ชื่อว่าต้นดอกจานเป็นอย่างไร เมื่อพระราชาตรัสว่า พวกเจ้าว่ากันอย่างไรเล่า จึงกราบทูลพระราชาตามที่ถกเถียงกัน พระราชาตรัสว่า พวกเจ้าแม้ทั้งสี่ได้เห็นต้นดอกจานแล้ว เป็นแต่สารถีผู้แสดงต้นดอกจาน พวกเจ้ามิได้ไต่ถามจาระไนออกไปว่า ในกาลนี้ต้นดอกจานเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนั้นความสงสัยจึงเกิดขึ้นแก่พวกเจ้า ตรัสคาถาแรกว่า :

ท่านทุกคนเห็นต้นดอกจานแล้ว ยังจะสงสัยในต้นดอกจานนั้น เพราะเหตุไรหนอ ท่านทั้งหลายหาได้ถามสารถีให้ถี่ถ้วนในที่ทั้งปวงไม่

พระศาสดาทรงแสดงเหตุนี้แล้วตรัสว่า แน่ะ ภิกษุ เหมือนอย่างพี่น้องทั้ง ๔ เกิดความสงสัยในต้นดอกจาน เพราะมิได้ไต่ถามให้ถ้วนถี่ฉันใด แม้เธอสงสัยเกิดขึ้นในธรรมนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระองค์ได้ตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :

บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวง เหมือนพระราชบุตร ๔ พระองค์ทรงสงสัยในต้นดอกจานฉะนั้น

เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า เหมือนอย่างพี่น้องเหล่านั้นสงสัยแล้ว เพราะไม่เห็นต้นดอกจานทุกฐานะฉันใด ธรรมทั้งปวงแยกประเภทเป็นผัสสะ ๖ อายตนะ ขันธ์ ภูต และธาตุ ชนเหล่าใดไม่ได้ให้เกิดด้วยวิปัสสนาญาณทั้งปวง คือมิได้แทงตลอด เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เหมือนพี่น้องทั้งสี่สงสัยในต้นดอกจานต้นเดียวกันฉันนั้น

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล

ต้นดอกจาน นอกจากทุก ๆ ส่วนจะมีคุณค่าเป็นประโยชน์, ยามฤดูบานใหม่ดอกสีสดใสจะเบ่งบานปลุกอารมณ์รัก, เป็นไม้มงคลทั้งในทางพราหมณ์และทางพุทธศาสนาแล้ว ยังสามารถสอนปริศนาธรรมให้กับเรา

มาช่วยกันปลูกต้นดอกจานหรือทองกวาวกันให้ครบคนละเจ็ดต้นเถิด

การปลูกเลี้ยง

ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

การปลูก : นิยมปลูกลงในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก ๕๐ x ๕๐ ซม. ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา ๑ : ๒ ผสมดินถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะต้นดอกจานเป็น

ไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร

การดูแล : ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้งต้องการปริมาณนํ้าปานกลาง ควรให้นํ้า ๗-๑๐ วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา ๒:๓ กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ ๓-๕ ครั้ง

ความเชื่อแบบไทย : คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นดอกจานไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ควรปลูกต้นดอกจานไว้ทางทิศใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ และเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

**นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๔ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๗

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ด อ ก จ า น (Palasha) “เล็บแดงแห่งกามเทพ”…มิ่งไม้มหามงคล
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
ทองกวาว/จาน ในมิติทางการแพทย์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com